มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ความเป็นมาของพจนานุกรมพุทธศาสน์
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต ได้จัดทำพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาไทย-บาลี-อังกฤษ เล่ม
เล็กๆ เล่มหนึ่งเสร็จสิ้น (เป็นฉบับที่มุ่งคำแปลภาษาอังกฤษ ไม่มีคำอธิบาย ต่อมาได้เริ่มขยายให้พิสดารใน พ.ศ. ๒๕๑๓
แต่พิมพ์ถึงอักษร “ฐ” เท่านั้นก็ชะงัก) และในเดือนกันยายน ปีเดียวกันนั้น ก็ได้เริ่มงานจัดทำพจนานุกรมพระพุทธ
ศาสนา ที่มีคำอธิบาย ๒ ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งหมวดธรรม แต่เมื่อทำจบเพียงอักษร “บ” ก็
ต้องหยุดค้างไว้ เพราะได้รับการแต่งตั้งโดยไม่รู้ตัวให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แล้วหันไปทุ่ม
เทกำลังอุทิศเวลาให้กับงานด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงได้หวนมาพยายามรื้อฟื้นงาน
พจนานุกรมขึ้นอีก คราวนั้น พระมหาสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ (ต่อมาเป็นพระวิสุทธิสมโพธิ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) มองเห็นว่างานมีเค้าที่จะพิสดารและจะกินเวลายาวนานมาก จึงได้อาราธนาพระมหา
ประยุทธ์ (เวลานั้นเป็นพระศรีวิสุทธิโมลี และต่อมาเลื่อนเป็น พระราชวรมุนี) ขอให้ทำพจนานุกรมขนาดย่อมขึ้นมาใช้
กันไปพลางก่อน พระศรีวิสุทธิโมลี ตกลงทำงานแทรกนั้นจนเสร็จให้ชื่อว่า “พจนานุกรมพุทธศาสตร์” มีลักษณะเน้น
เฉพาะการรวบรวมหลักธรรม โดยจัดเป็นหมวดๆ เรียงตามลำดับเลขจำนวน และในแต่ละหมวดเรียงตามลำดับอักษร
แล้วได้มอบงานและมอบทุนส่วนหนึ่งให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดพิมพ์เผยแพร่ จำหน่ายเก็บผลประโยชน์บำรุง
การศึกษาของพระภิกษุสามเณร เริ่มพิมพ์แต่ พ.ศ.๒๕๑๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงเสร็จ ต่อมา พ.ศ.๒๕๒๒ กรมการ
ศาสนา กระทรวงศึกษาธิการขออนุญาตพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๘,๐๐๐ เล่ม นอกจากนั้น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ได้จัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นและผู้เรียบเรียงเองจัดแจกเป็นธรรมทานเพิ่มเติมบ้าง เป็นรายย่อย หนังสือหมดสิ้นขาดคราวใน
เวลาไม่นาน
ส่วนงานจัดทำพจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับเดิม ยังคงค้างอยู่สืบมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้จัดทำจึงมีโอกาสรื้อ
ฟื้นขึ้นอีก คราวนี้เขียนเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เน้นคำอธิบายภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษมีเพียงคำแปลศัพท์หรือความ
หมายสั้นๆ งานขยายจนมีลักษณะเป็นสารานุกรม เขียนไปได้ถึงอักษร “ข” มีเนื้อความประมาณ ๑๑๐ หน้ากระดาษ
พิมพ์ดีดพับสาม (ไม่นับคำอธิบายศัพท์จำพวกประวัติ อีก ๗๐ หน้า) ก็หยุดชะงัก เพราะในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นั้นเอง มี
เหตุให้ต้องหันไปเร่งรัดงานปรับปรุงและขยายความหนังสือ “พุทธธรรม” ซึ่งกินเวลายืดเยื้อมาจนถึงพิมพ์เสร็จรวม
ประมาณสามปี งานพจนานุกรมจึงค้างอยู่เพียงนั้นและจึงยังไม่ได้จัดพิมพ์
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวัดพระพิเรนทร์จัดงานรับพระราชทานเพลิงศพ พระครูปลัดสมัย กิตฺติทตฺโต เจ้าอาวาสวัด
พระพิเรนทร์ ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชวรมุนี ได้จัดทำพจนานุกรม ประเภทงานแทรกและเร่งด่วนขึ้นอีกเล่มหนึ่ง เป็น
ประมวลศัพท์ในหนังสือเรียนนักธรรมทุกชั้น และเพิ่มศัพท์ที่ควรทราบในระดับเดียวกันเข้าอีกจำนวนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า
“พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับครู นักเรียน นักธรรม” มีเนื้อหา ๓๗๓ หน้า เท่าๆ กันกับพจนานุกรมพุทธศาสตร์ (๓๗๔
หน้า) เสมือนเข้าชุดเป็นคู่กัน เล่มพิมพ์ก่อนเป็นที่ประมวลธรรมซึ่งเป็นหลักการหรือสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา
ส่วนเล่มพิมพ์หลังเป็นที่ประมวลศัพท์ทั่วไปเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อธิบายพอใช้ประโยชน์อย่างพื้นๆ ไม่กว้างขวาง
ลึกซึ้ง
ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ มีท่านผู้ศรัทธาเห็นว่า พจนานุกรมพุทธศาสน์ ขาดคราว จึงขอพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน มหา
จุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ทราบ ก็ขอร่วมสมทบพิมพ์ด้วย เพื่อได้ทำหน้าที่ส่งเสริมวิชาการทางพระพุทธศาสนา กับ
ทั้งจะได้เก็บผลกำไรบำรุงการศึกษาในสถาบัน และได้ขยายขอบเขตออกไปโดยขอพิมพ์พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับ
ครู นักเรียน นักธรรม ด้วย แต่ผู้เรียบเรียงประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือทั้งสองเล่มนั้นก่อน อีกทั้งยังมีงาน
อื่นยุ่งอยู่ด้วย ยังเริ่มงานปรับปรุงทันทีไม่ได้ จึงต้องรั้งรอจนเวลาล่วงมาช้านาน ครั้นได้โอกาสก็ปรับปรุงเพิ่มเติมพจนา-
นุกรมพุทธศาสตร์ก่อนจนเสร็จ แล้วเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการจัดพิมพ์ ระหว่างนั้น มีงานอื่นแทรกอยู่เรื่อยๆ ต้องรอ
โอกาสที่จะปรับปรุงอีกเล่มหนึ่งที่เหลืออยู่ และได้ตั้งใจว่าจะพิมพ์ตามลำดับเล่มที่ปรับปรุงก่อนหลัง
ในการพิมพ์พจนานุกรมพุทธศาสตร์ มีข้อพิจารณาที่จะต้องตัดสินใจและปัญหาที่จะต้องแก้ไขหลายอย่าง รวม
ทั้งการทดลองและตรวจสอบเกี่ยวกับความสามารถในการพิมพ์ด้วย ซึ่งล้วนเพิ่มความล่าช้าให้แก่การจัดพิมพ์ โดย
เฉพาะคือการพิมพ์ภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน ซึ่งในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้มีตัวบาลีโรมันเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว หลังจากผ่าน
พ้นเวลาช้านานในการปรึกษาสอบถามและศึกษางานกับโรงพิมพ์ใหญ่โตบางแห่งแล้ว ก็พอยุติได้ว่า ในประเทศไทย
คงมีโรงพิมพ์เพียง ๒ แห่งเท่านั้นที่มีอุปกรณ์ครบครันพอจะพิมพ์อักษรบาลีโรมันได้ตรงตามแบบนิยมอย่างแท้จริง แต่
ก็ติดขัดปัญหาใหญ่ว่าแห่งหนึ่งต้องใช้ทุนพิมพ์อย่างมหาศาล อีกแห่งหนึ่งคงจะต้องพิมพ์อย่างช้าเป็นเวลาแรมปี เมื่อได้
พยายามหาทางแก้ปัญหาต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็มาลงเอยที่ทางออกใหม่ คือ สั่งซื้ออุปกรณ์ประกอบด้วยจานบันทึก และ
แถบฟิล์มต้นแบบสำหรับใช้พิมพ์อักษรบาลีโรมัน จากบริษัทคอมพิวกราฟิค สิ้นเงิน ๒๔,๐๐๐.๐๐ บาท และสิ้นเวลารอ
อีก ๒ เดือนเศษ อุปกรณ์จึงมาถึง ครั้นได้อุปกรณ์มาแล้วก็ปรากฏว่ายังใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ ต้องให้นักเรียงพิมพ์ผู้
สามารถหาวิธียักเยื้องใช้ให้สำเร็จผลสิ้นเวลาพลิกแพลงทดลองอีกระยะหนึ่ง และแม้จะแก้ไขปัญหาสำเร็จถึงขั้นที่พอ
นับว่าใช้ได้ ก็ยังเป็นการเรียงพิมพ์ที่ยากมาก นักเรียงพิมพ์คอมพิวกราฟิคส่วนมากพากันหลีกเลี่ยงงานนี้ แม้จะมีนัก
เรียงพิมพ์ที่ชำนาญยอมรับทำงานนี้ด้วยมีใจสู้ ก็ยังออกปากว่าเป็นงานยากที่สุดที่เคยประสบมา ต้องทำด้วยความระมัด
ตั้งใจเป็นพิเศษ และกินเวลามากถึงประมาณ ๓ เท่าตัวของการเรียงพิมพ์หนังสือทั่วๆ ไป
ระหว่างระยะเวลาเพียรแก้ปัญหาข้างต้นนี้ ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ๒๕๒๗ มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอด
ฟ้า” ในพระบบรมราชูปถัมภ์ ณ วัดพระเชตุพน ได้ขอพิมพ์หนังสือ “Thai Buddhism in the Buddhist World” ของพระ
ราชวรมุนี ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ต้องใช้อักษรพิมพ์บาลีแบบ
โรมันกระจายอยู่ทั่วไป แม้จะไม่มากมายนัก แต่ก็ได้กลายเป็นดังสนามทดสอบและแก้ปัญหาในการใช้อุปกรณ์ที่สั่งซื้อ
มานี้ เป็นสนามแรก และนับว่าใช้ได้ผลพอสมควร
พอว่าหนังสือ Thai Buddhism สำเร็จ แต่ยังไม่ทันเสร็จสิ้น ก็ถึงช่วงที่ ดร. สุจินต์ ทังสุบุตร ติดต่อขอพิมพ์
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับครู นักเรียน นักธรรม ในงานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์จิตร ทังสุบุตร ผู้เป็นบิดา เวลา
นั้น พจนานุกรมเล่มหลังนี้ได้เคยปรับปรุงเพิ่มเติมไว้บ้างแล้วเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับปรุงจริงจังตามลำดับใน
โครงการ จึงตกลงว่าจะพิมพ์ตามฉบับเดิมโดยใช้วิธีถ่ายจากฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๒ แก้ไขแทรกลงบ้างเท่าที่จำเป็น แต่
เมื่อต้นฉบับถึงโรงพิมพ์ๆ อ้างว่า ฉบับเดิมไม่ชัดพอที่จะใช้วิธีถ่าย จะต้องเรียงพิมพ์ใหม่ จึงกลายเป็นเครื่องบังคับว่าจะ
ต้องพยายามปรับปรุงเพิ่มเติมให้เสร็จสิ้นไปเสียในการพิมพ์คราวนี้ทีเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนลงแรงและเปลือง
เวลาซ้ำซ้อนหลายคราว พอดีเกิดข้อยุ่งยากติดขัดทางด้านโรงพิมพ์เป็นอันมาก จนหนังสือเสร็จไม่ทันงานและต่อมาเจ้า
ภาพต้องเปลี่ยนโรงพิมพ์ กลายเป็นโอกาสให้รีบเร่งงานปรับปรุงเพิ่มเติมแข่งไปกับกระบวนการพิมพ์ แม้จะไม่อาจทำ
ให้สมบูรณ์เต็มตามโครงการ แต่ก็สำเร็จไปอีกชั้นหนึ่ง และทำให้เปลี่ยนลำดับกลายเป็นว่าเล่มที่กะจะพิมพ์ทีหลังกลับ
มาสำเร็จก่อน นอกจากนั้น การพิมพ์ของเจ้าภาพครั้งนี้ ได้กลายเป็นการอุปถัมภ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปด้วย เพราะ
ได้ลงทุนสำหรับกระบวนการพิมพ์ขั้นต้นและขั้นกลางเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อพิมพ์ใหม่ไม่ต้องเสียค่าเรียงพิมพ์ และค่าทำ
แผ่นแบบพิมพ์ใหม่อีก ลงทุนเฉพาะขั้นกระดาษขึ้นแท่นพิมพ์และทำเล่ม เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปเป็นอันมาก
อนึ่งในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้มีข้อยุติที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย คือ การปรับปรุงชื่อของพจนานุกรมทั้งสองให้เรียก
ง่าย พร้อมทั้งให้แสดงลักษณะที่แตกต่างกัน พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับครู นักเรียน นักธรรม เปลี่ยนเป็น “พจนา-
นุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์เรียกใหม่ว่า “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวล
ธรรม”
งานปรับปรุงและจัดพิมพ์พจนานุกรมพุทธศาสตร์ (ฉบับประมวลธรรม) ผ่านเวลามาถึงบัดนี้ ๑ ปีเศษแล้ว กะ
ว่าจะเสร็จสิ้นในระยะต้น พ.ศ. ๒๕๒๘ ระหว่างนี้ หนังสืออื่น ๆ แม้แต่เล่มที่นับว่าพิมพ์ยาก ดังเช่นเล่มที่ออกชื่อแล้ว
ข้างต้น ก็สำเร็จภายในเวลาอันสมควร ไม่ต้องนับหนังสือที่งานพิมพ์อยู่ในระดับสามัญ ซึ่งปล่อยงานให้ผู้ที่ขอพิมพ์รับ
ภาระเองได้ เว้นแต่ตามปกติจะต้องขอพิสูจน์อักษรเพื่อความมั่นใจสักเที่ยวหนึ่ง งานพิมพ์ระดับสามัญที่ผ่านไปในช่วง
เวลานี้ รวมทั้งการพิมพ์ซ้ำ “ธรรมนูญชีวิต” ประมาณ ๑๒ ครั้ง สมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิมพ์ซ้ำ
“ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม” ธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ซ้ำ (๒ ครั้ง) “พุทธธรรม ฉบับปรุงและ
ขยายความ” มูลนิธิโกมลคีมทอง รวบรวมพิมพ์ “ลักษณะสังคมพุทธ” และ “สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย” สำนักพิมพ์
เทียนวรรณพิมพ์ “ค่านิยมแบบพุทธ” และ “รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม เพื่อสังคมไทยร่วมสมัย” ซึ่งวีระ สมบูรณ์
แปลจากข้อเขียนภาษาอังกฤษของพระราชวรมุนี ที่ต่อมา CSWR มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำลงพิมพ์ในหนังสือ “Attitudes
Toward Wealth and Poverty in Theravada Buddhism” (ในชุด SWR Studies in World Religions) ซึ่งจะพิมพ์เสร็จในต้น
ปี ๒๕๒๘ ความที่กล่าวมานี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นการเกิดขึ้นของพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ท่ามกลางงานคู่เคียง และ
งานแทรกซ้อนทั้งหลาย พร้อมทั้งความยากและความละเอียดซับซ้อนของงานพิมพ์พจนานุกรมนี้ ที่ต่างจากหนังสือ
เล่มอื่น ๆ
แม้ว่าพจนานุกรมทั้งสองนี้ จะเป็นผลงานธรรมทาน อุทิศแด่พระศาสนา เช่นเดียวกับหนังสืออื่นทุกเล่มของผู้
เรียบเรียงเท่าที่เคยพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว ผู้ประสงค์สามารถพิมพ์ได้โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์หรือค่าตอบแทนสมนาคุณใด ๆ
ก็จริง แต่ผู้เรียบเรียงก็มิได้สละลิขสิทธิ์ที่จะปล่อยให้ใคร ๆ จะพิมพ์อย่างไรก็ได้ตามปรารถนา ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีโอกาส
ควบคุมดูแลความถูกต้องเรียบร้อยของงาน ซึ่งผู้เรียบเรียงถือเป็นสำคัญอย่างยิ่ง
ไม่ว่าการพิมพ์จะยากลำบากและล่าช้าปานใด เมื่อดำเนินมาถึงเพียงนี้ ก็มั่นใจได้ว่าจะสำเร็จอย่างแน่นอน เจ้า
ภาพทั้งหลายผู้มีศรัทธาจัดพิมพ์เผยแพร่ ก็ได้สละทุนทรัพย์บำเพ็ญกุศลธรรมทานให้สำเร็จ เป็นอันลุล่วงกิจโปร่งโล่ง
ไป คงเหลือแต่เพียงมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเท่านั้น ที่มีเค้าจะประสบปัญหาและกลายเป็นปัญหา เนื่องจากได้แจ้ง
ขอพิมพ์พจนานุกรมทั้งสองนั้นอย่างละ ๑,๐๐๐ เล่ม ทั้งที่ตามความเป็นจริงยังไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ่ายเพื่อการนี้เลย ทั้งนี้
เพราะเหตุว่าแม้แต่เงินทุนสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินการศึกษาที่เป็นงานหลักประจำในแต่ละวัน ก็ยังมีไม่เพียงพอ
การที่ตกลงใจพิมพ์พจนานุกรมจำนวนมากมายเช่นนั้น ก็เป็นเพียงการแสดงใจกล้าบอกความปรารถนาออกไปก่อน
แล้วค่อยคิดแก้ปัญหาเอาทีหลัง