อัญญสมานาเจตสิก - อัญญาโกณฑัญญะ

อัญญสมานาเจตสิก เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้
ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว มี ๑๓ แยกเป็น ก. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง) คือ ผัสสะ (ความ
กระทบอารมณ์) เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ) ข. ปกิณณ-
กเจตสิก
(เจตสิกที่เรี่ยราย คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง) คือวิตก (ความ
ตรึกอารมณ์) วิจาร (ความตรองอารมณ์) อธิโมกข์ (ความปักใจในอารมณ์) วิริยะ ปีติ ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์)

อัญญสัตถุเทศ การถือศาสดาอื่น จัดเป็นความผิดพลาดสถานหนัก (ข้อ ๖ ในอภิฐาน ๖)

อัญญสัตววิสัย วิสัยของสัตว์อื่น, วิสัยของสัตว์ทั่ว ๆ ไป

อัญญาโกณฑัญญะ พระมหาสาวกผู้เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นบุตร
พราหมณ์มหาศาล เกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดใน
บรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของสิทธัตถกุมาร และเป็นผู้เดียวที่ทำนายว่า พระกุมารจะทรงออกบรรพชา
ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน มีคติเป็นอย่างเดียว ต่อมาท่านออกบวชตามเสด็จพระสิทธัตถะ ขณะ
บำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระเบญจวัคคีย์ และได้นำคณะหลีกหนีไป เมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา
กลับเสวยพระกระยาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรด ท่านสดับปฐมเทศนาได้ดวงตาเป็นธรรม
ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า
โกณฑัญญะ ที่ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ เพราะเมื่อท่านฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า และได้ธรรมจักษุ
พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ๆ” (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ) คำว่า อัญญาจึงมารวม
เข้ากับชื่อของท่าน ต่อมาท่านได้สำเร็จอรหัตด้วยฟังอนัตตลักขณสูตร ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู (รู้
ราตรีนาน คือ บวชนาน รู้เห็นเหตุการณ์มากมาแต่ต้น) ท่านทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ฝั่งสระมันทากินี ในป่าฉัททันต
วัน แดนหิมพานต์ อยู่ ณ ที่นั้น ๑๒ ปี ก็ปรินิพพานก่อนพุทธปรินิพพาน ดู โกณฑัญญะ ด้วย