อารยะ - อารักษ์, อารักขา

อารยะ คนเจริญ, คนมีอารยธรรม; พวกชนชาติ อริยกะ (ตรงกับบาลีว่า อริย แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายต่างกัน)

อารยชน ชนที่เจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดีงาม, คนมีอารยธรรม

อารยชาติ ชาติที่เจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดีงาม

อารยธรรม ธรรมอันดีงาม, ธรรมของอารยชน, ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดีงาม; ในทางธรรม หมายถึง กุศล
กรรมบถ ๑๐

อารยอัษฏางคิกมรรค ทางมีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ดู มรรค

อารักขกัมมัฏฐาน กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาตน, กรรมฐานเป็นเครื่องรักษาผู้ปฏิบัติให้สงบระงับ ซึ่งควรเจริญเป็น
นิตย์ เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงไว้ มี ๔ อย่างคือ ๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าที่มีใน
พระองค์ และทรงเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า ๓. อสุภะ พิจารณาร่าง
กายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม ๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตนเป็นธรรมดา

อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายและรักษา
การงานไม่ให้เสื่อมเสียไป (ข้อ ๒ ในทิฏฐธัมมิกัตถฯ)

อารักขา การขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง เมื่อมีผู้ปองร้ายข่มเหง หรือถูกลักขโมยสิ่งของ เป็นต้นเรียก
ว่า ขออารักขา ถือเป็นการปฏิบัติชอบตามธรรมเนียมของภิกษุแทนการฟ้องร้องกล่าวหาอย่างที่ชาวบ้านทำกัน เพราะ
สมณะไม่พอใจจะเป็นถ้อยความกับใครๆ

อารักษ์, อารักขา การป้องกัน, การคุ้มครอง, การดูแลรักษา