อารัญญกวัตร - อาราธนา

อารัญญกวัตร ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า, ธรรมเนียมที่ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงถือปฏิบัติ ตามพุทธบัญญัติที่มาในวัตต-
ขันธกะ จัดเป็นหัวข้อได้ดังนี้ ก. ๑. ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอาถุงบาตรสวมบาตรแล้วคล้องบ่าไว้ พาดจีวร
บนไหล่ สวมรองเท้า เก็บงำเครื่องไม้เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่างแล้วลงจากเสนาสนะ (ที่พักอาศัย) ไป ๒. ทราบว่า
“บัดนี้จักเข้าหมู่บ้าน” พึงถอดรองเท้า เคาะต่ำๆ แล้วใส่ถุงคล้องบ่าไว้ นุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิ
ซ้อนเป็นสองชั้นกลัดลูกดุม ชำระบาตรแล้วถือเข้าหมู่บ้านโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน ไปในละแวกบ้านพึงปกปิดกาย
ด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง เมื่อจะเข้าสู่นิเวศน์ พึงกำหนดว่า เราจักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ ไม่พึงรีบร้อนเข้า
ไป ไม่พึงรีบร้อนออกมา พึงยืนไม่ไกลเกินไป ไม่ใกล้เกินไป ไม่นานเกินไป ไม่กลับออกเร็วเกินไป เมื่อยืนอยู่ พึง
กำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกสังฆาฏิด้วยมือซ้ายน้อมบาตรเข้าไป
ด้วยมือขวา ใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับภิกษา ไม่พึงมองดูหน้าสตรีผู้ถวาย พึงกำหนดว่าเขาประสงค์จะถวายแกง
หรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยสังฆาฏิแล้วกลับโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน เดินไปในละแวก
บ้าน พึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง ๓. ออกจากบ้านแล้ว (หลังจากฉันและล้างบาตรแล้ว) เอา
บาตรใส่ถุง คล้องบ่า พับจีวร วางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป ข. ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงจัดเตรียมน้ำดื่มไว้ พึงจัดเตรียมน้ำ
ใช้ไว้ พึงติดไฟเตรียมไว้ พึงจัดเตรียมไม้สีไฟไว้ พึงจัดเตรียมไม้เท้าไว้ ค. พึงเรียนทางนักษัตรไว้ (ดูดาวเป็น) ทั้งหมด
หรือบางส่วน พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ

อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านแต่อยู่ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น
(ข้อ ๘ ในธุดงค์ ๑๓)

อารัมภกถา คำปรารภ, คำเริ่มต้น, คำนำ

อาราธนา การเชื้อเชิญ, นิมนต์, ขอร้อง, อ้อนวอน (มักใช้สำหรับพระสงฆ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์)