อินทรียสังวร - อิสิปตนมฤคทายวัน

อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส
ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ (ข้อ ๑ ใน
อปัณณกปฏิปทา ๓, ข้อ ๒ ในปาริสุทธิศีล ๔, ข้อ ๒ ในองค์แห่งภิกษุใหม่ ๕

อิริยาบถ การเคลื่อนไหวของร่างกาย, อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

อิรุพเพท คำบาลีคัมภีร์หนึ่งในไตรเภท ตรงกับที่เรียกอย่างสันสกฤตว่า ฤคเวท, ดู ไตรเพท

อิศวร พระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ ตามปกติหมายถึงพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย

อิสระ ผู้เป็นใหญ่, เป็นใหญ่, เป็นใหญ่ในตัวเอง, เป็นไทแก่ตัว ไม่ขึ้นแก่ใคร

อิสรภาพ ความเป็นอิสระ

อิสราธิบดี ผู้เป็นเจ้าใหญ่เหนือกว่าผู้เป็นใหญ่ทั่วไป, ราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

อิสริยยศ ยศคือความเป็นใหญ่, คู่กับเกียรติยศ (ยศ คือ เกียรติ หรือ กิตติคุณ)

อิสสา ความริษยา, ความรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเขาได้ดี, เห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้, ไม่อยากให้ใครดีกว่าตน, ความคิด
ตัดรอนผู้ที่ดีกว่าตน, ความหึงหวง (ข้อ ๓ ในมละ ๙, ข้อ ๗ ในอุปกิเลส ๑๖)

อิสิ, อิสี ผู้แสวงหาคุณความดี, ผู้ถือบวช, ฤษี

อิสิคิลิบรรพต ภูเขาชื่ออิสิคิลิ เป็นภูเขาลูกหนึ่งในห้าลูก ที่เรียกเบญจคีรี ล้อมรอบพระนครราชคฤห์

อิสิปตนมฤคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อ อิสิปตนะ อยู่ใกล้เมืองพาราณสี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ บัดนี้ เรียก สารนาถ