อุปสรรค - อุปสัมปทาเปกขะ

อุปสรรค ความขัดข้อง, สิ่งที่เข้าไปขัดข้อง, เครื่องกีดกั้น, สิ่งขัดขวาง

อุปสัมบัน ผู้ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุหรือภิกษุณีแล้ว, ผู้อุปสมบทแล้ว ได้แก่ภิกษุและภิกษุณี เทียบ อนุปสัมบัน

อุปสัมปทา การบวช, การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี; วิธีอุปสมบทมีทั้งหมด ๘ อย่าง แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ อย่าง
คือ ๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง
๒. ติสรณคมนูปสัมปทา หรือสรณคมนูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวก
ทำในยุคต้นพุทธกาล เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก เมื่อทรงอนุญาต วิธีที่ ๓ แล้ว วิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชา
สามเณร ๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อ
คณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็นวิธีที่ใช้สืบมาจนทุกวันนี้; วิธีอุปสมบทอีก ๕ อย่างที่เหลือเป็นวิธีที่ทรง
ประทานเป็นการพิเศษจำเพาะบุคคลบ้าง ขาดตอนหมดไปแล้วบ้าง ได้แก่ (จัดเรียงลำดับใหม่ เอาข้อ ๓. เป็น ข้อ ๘.
ท้ายสุด) ๓. โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการรับโอวาท เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปะ
๔. ปัญหาพยากรณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาของพระพุทธองค์ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่โสปาก
สามเณร ๕. ครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา (หรือ อัฏฐครุธรรม ปฏิคคหณูปสัมปทา) การอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘
ประการ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ๖. ทูเตนะ อุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยทูต เป็นวิธีที่
ทรงอนุญาตแก่นางคณิกา (หญิงโสเภณี) ชื่ออัฑฒกาสี ๗. อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา การอุปสมบทมีวาจา ๘ คือ ทำด้วย
ญัตติจุตตถกรรม ๒ ครั้งจากสงฆ์ทั้งสองฝ่ายคือจากภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง จากภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่ง ได้แก่การอุปสมบท
ของภิกษุณี ๘. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา (ข้อ ๓. เดิม)

อุปสัมปทาเปกขะ บุคคลผู้เพ่งอุปสมบท คือผู้มุ่งจะบวชเป็นภิกษุ, ผู้ขอบวช, นาค