มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
แถลงการจัดทำหนังสือ
ประกาศพระคุณ ขอบคุณ และอนุโทนา (ในการพิมพ์ครั้งที่ ๑)
หนังสือนี้เกิดขึ้นในเวลาเร่งด่วน แต่สำเร็จได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของผู้ร่วมสำนักและด้วยการใช้วิธีลัด
คือ ขอให้พระเปรียญ ๔ รูป แห่งสำนักวัดพระพิเรนทร์ นำคำศัพท์ทั้งหลายในหนังสือศัพท์หลักสูตรภาษาไทย สำหรับ
นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก รวม ๓ เล่ม ไปเรียงลำดับอักษรมา แล้วผู้จัดทำปรุงแต่งขยายออกเป็นพจนานุกรม
พุทธศาสตร์เล่มนี้
หนังสือศัพท์หลักสูตรภาษาไทย ๓ เล่มนั้น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ใน
คราวที่คณะสงฆ์เพิ่มวิชาภาษาไทยเข้าในหลักสูตรนักธรรมทั้งสามชั้น หนังสือแต่ละเล่มแบ่งออกเป็น ๓ ภาค ตามวิชา
เรียนของนักธรรม คือ พุทธประวัติ (อนุพุทธประวัติ และพุทธานุพุทธประวัติ) ธรรม และวินัย รวม ๓ เล่ม เป็น ๙ ภาค
มีศัพท์จำนวนมาก แต่คงจะเป็นเพราะการจัดทำและตีพิมพ์เร่งรีบเกินไป หนังสือจึงยังไม่เข้ารูปเท่าที่ควร ประจวบกับ
ทางคณะสงฆ์ได้ยกเลิกวิชาภาษาไทยเสียอีก หนังสือชุดนี้จึงทั้งถูกทอดทิ้งและถูกหลงลืม เหตุที่ผู้จัดทำมานึกถึงหนังสือ
นี้ ก็เพราะระหว่างนี้ กำลังเขียนสารานุกรมพุทธศาสน์ฉบับกลางค้างอยู่ จึงมีความเกี่ยวข้องกับหนังสือจำพวกประมวล
ศัพท์และพจนานุกรมอยู่บ่อยๆ เมื่อปรารภกันว่าจะพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระครู
ปลัดสมัย กิตฺติทตฺโต เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ เวลาผ่านล่วงไปก็ยังไม่ได้หนังสือที่จะพิมพ์ ผู้จัดทำนี้รู้ตัวว่าอยู่ใน
ฐานะที่จะต้องเป็นเจ้าการในด้านการพิมพ์ จึงได้พยายามมาแต่ต้นที่จะหลีกเลี่ยงการพิมพ์หนังสือที่ตนเขียนหรือมีส่วน
ร่วมเขียน ครั้นเห็นจวนตัวเข้าคิดว่าหากนำหนังสือศัพท์หลักสูตรภาษาไทย ๓ เล่ม ๙ ภาคนั้นมาปรับปรุงตกแต่งเพียง
เล็กน้อย ก็จะได้หนังสือที่มีประโยชน์พอสมควร และขนาดเล่มหนังสือก็จะพอเหมาะแก่งาน เมื่อนำมาหารือกัน ก็ได้
รับความเห็นชอบ จึงเริ่มดำเนินการ เมื่อแรกตกลงใจนั้น คิดเพียงว่า นำศัพท์ทั้งหมดมาเรียงลำดับใหม่เข้าเป็นชุดเดียว
กันเท่านั้นก็คงเป็นอันเพียงพอ จากนั้นโหมตรวจเกลาอีกเพียง ๔-๕ วัน ก็คงเสร็จสิ้นทั้งตนเองก็จะเป็นผู้หลีกเลี่ยงจาก
ความเป็นผู้เขียนได้ด้วย แต่เมื่อทำจริงกลายเป็นใช้เวลาปรุงแต่งเพิ่มเติมอย่างหนักถึงค่อนข้างเดือนจึงเสร็จ จำต้องทำ
ต้นฉบับไป ทยอยตีพิมพ์ไป ขนาดหนังสือก็ขยายจากที่กะไว้เดิมไปอีกมาก ศัพท์จำนวนมากมายในศัพท์หลักสูตร ที่ซ้ำ
กันและที่เป็นคำสามัญในภาษาไทยได้ตัดทิ้งเสียมากมาย คำที่เห็นควรเพิ่มก็เติมเข้ามาใหม่เท่าที่ทำได้ทัน คำที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งเห็นว่ามีข้อควรรู้อีกก็เสริมและขยายความออกไป กลายเป็นหนังสือใหม่ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง มีลักษณะแปลกออกไปจาก
ของเดิม หลีกเลี่ยงความเป็นผู้เขียนหรือร่วมเขียนไม่พ้น อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในศัพท์หลักสูตรนั้นก็ยังคงเป็นส่วน
ประกอบเกือบครึ่งต่อครึ่งในหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาที่มาจากหนังสือศัพท์หลักสูตรเหล่านั้นแยกตามแหล่งได้เป็น ๓ พวก
ใหญ่ คือ พวกหนึ่งเป็นความหมายและคำอธิบายที่คัดจากหนังสือแบบเรียนนักธรรม มีนวโกวาท และวินัยมุข เป็นต้น
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พวกที่สองได้แก่คำไทยสามัญ
หรือคำเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดี ซึ่งคัดคำจำกัดความหรือความหมายมาจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๔๙๓ พวกที่สามคือนอกจากนั้นเป็นคำอธิบายของท่านผู้รวบรวมและเรียบเรียงหนังสือศัพท์หลักสูตรเหล่านั้น
เอง ส่วนครึ่งหนึ่งที่เพิ่มใหม่ คัดหรือปรับปรุงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) คือผู้
จัดทำนี้เองบ้าง ปรุงขึ้นใหม่สำหรับคราวนี้ ซึ่งบางส่วนอาจพ้องกับในสารานุกรมพุทธศาสน์ฉบับกลาง อันเป็นวิทยา
ทานที่จะพิมพ์ออกต่อไปบ้าง ได้จากแหล่งอื่นๆ รวมทั้งแบบเรียนนักธรรมที่กล่าวมาแล้วบ้าง
หนังสือนี้เรียก “พจนานุกรมพุทธศาสน์” ให้ต่างจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ที่ได้จัดทำและตีพิมพ์ไปก่อนแล้ว
เพราะพุจนานุกรมพุทธศาสตร์แสดงเฉพาะข้อที่เป็นหลักหรือหลักการของพระพุทธศาสนา อันได้แก่คำสอนที่เป็น
สาระสำคัญ ส่วนหนังสือเล่มนี้รวมเอาสิ่งทั้งหลายที่เรียกกันโดยนามว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาอย่างทั่วไป มีทั้งคำสอน
ประวัติ กิจการ พิธีกรรม และแม้สิ่งที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้พจนานุกรมพุทธศาสน์นี้
จะมีขอบข่ายกว้างขวางกว่าพจนานุกรมพุทธศาสตร์แต่ก็หย่อนกว่าในแง่ความลึกและความละเอียด เพราะเขียนแค่พอรู้
ตลอดจนมีลักษณะทางวิชาการน้อยกว่า เช่น ไม่ได้แสดงที่มา เป็นต้น การที่ปล่อยให้ลักษณะเหล่านี้ขาดอยู่นอกจาก
เพราะเวลาเร่งรัดและขนาดหนังสือบังคับแล้ว ยังเป็นเพราะเห็นว่าเป็นลักษณะที่พึงมีในสารานุกรมพุทธศาสน์ฉบับ
กลาง หรือแม้ฉบับเล็กที่ทำอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ดี ด้วยเนื้อหาเท่าที่มีอยู่นี้ หวังว่า พจนานุกรมพุทธศาสน์
คงจักสำเร็จประโยชน์พอสมควร โดยเฉพาะแก่ครูและนักเรียนนักธรรม สมตามชื่อที่ได้ตั้งไว้
การที่หนังสือนี้สำเร็จได้ นอกจากอาศัยคัมภีร์ภาษาบาลีที่ใช้ปรึกษาค้นคว้าเป็นหลักต้นเดิมแล้ว ยังได้อาศัย
อุปการะแห่งแบบเรียน ตำรา และความช่วยเหลือร่วมงานของผู้เกี่ยวข้องหลายท่านดังได้กล่าวแล้ว ณ โอกาสนี้:
จึงขออนุสรพระคุณแห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์แบบเรียน
นักธรรมไว้ อันอำนวยความหมายและคำอธิบายแห่งศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย จำนวนมาก มีทั้งที่ทรงวางไว้
เป็นแบบ และที่ทรงแนะไว้เป็นแนว
ขออนุโมทนาต่อคณะกรรมการชำระปทานุกรม ซึ่งทำให้เกิดมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓
ที่อำนวยความหมายแห่งคำศัพท์ที่มีใช้ในภาษาไทย
ขออนุโมทนาขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือศัพท์หลักสูตรภาษาไทยของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คือ อาจารย์
แปลก สนธิรักษ์ ปธ.๙ อาจารย์สวัสดิ์ พินิจจันทร์ ปธ.๙ อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ปธ.๙ และพระมหาจำลอง ภูริปญฺโญ
(สารพัดนึก) พธ.บ.,M.A. Ph.D. ผู้เก็บรวบรวมศัพท์และแสดงความหมายของศัพท์ไว้ได้เป็นจำนวนมาก
พระเปรียญ ๔ รูป คือ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ พระมหาแถม กิตฺติภทฺโท พระมหาเฉลิม ญาณจารี และ
พระมหาอัมพร ธีรปญฺโญ เป็นผู้เหมาะสมที่จะร่วมงานนี้ เพราะเคยเป็นนักเรียนรุ่นพิเศษแห่งสำนักวัดพระพิเรนทร์ ซึ่ง
ได้มาเล่าเรียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณร และได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิดของพระครูปลัดสมัย กิตฺติทตฺโต ใน
ฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่แห่งสำนักเรียนทั้งสี่รูปนี้ นอกจากเป็นผู้จัดเรียงลำดับศัพท์ในเบื้องต้นแล้ว ยังได้ช่วย
ตรวจบรู๊ฟ และขวนขวายในด้านธุรการอื่นๆ โดตลอดจนหนังสือเสร็จ ชื่อว่า เป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือพจนานุกรมพุทธ
ศาสน์นี้
คณะวัดพระพิเรนทร์ ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และศิษย์ ได้ช่วยสนับสนุนด้วยการบริจาคร่วมเป็นทุนค่าตีพิมพ์บ้าง
กระทำไวยาวัจการอย่างอื่นบ้าง โดยเฉพาะในเวลาทำงานเร่งด่วนที่ต้องอุทิศเวลาและกำลังให้แก่งานอย่างเต็มที่เช่นนี้
ทางฝ่ายพระสงฆ์ พระภิกษุถวัลย์ สมจิตฺโต และทางฝ่ายศิษย์นายสมาน คงประพันธ์ ได้ช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดสัปปายะ
เป็นอย่างมาก แม้ท่านอื่นๆ ที่มีกุศลเจตนาสนับสนุนอยู่ห่างๆ มีพระภิกษุฉาย ปญญาปทีโป เป็นต้น ก็ขออนุโมทนาไว้
ณ ที่นี้ด้วย
ขออนุโมทนาต่อทางโรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม ที่ตั้งใจตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ โดยฐานมีความสัมพันธ์กับวัดพระพิ
เรนทร์มาเป็นเวลานาน และมีความรู้จักคุ้นเคยกับท่านพระครูปลัดสมัยโดยส่วนตัว จึงสามารถตีพิมพ์ให้เสร็จทันการ
แม้จะมีเวลาทำงานจำกัดอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ขออนุโมทนาตลอดไปถึงผู้ทำงานทั้งหลาย มีช่างเรียง เป็นต้น ที่มีน้ำใจช่วย
แทรกข้อความที่ขอเพิ่มเติมเข้าบ่อยๆ ในระหว่างบรู๊ฟโดยเรียบร้อย ทั้งที่เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับงานที่เร่ง
ทางฝ่ายการเงินแจ้งว่า ทุนที่มีผู้บริจาคช่วยค่าตีพิมพ์หนังสือยังมีไม่ถึง ๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท) “ทุน
พิมพ์พุทธศาสนปกรณ์” ได้ทราบจึงมอบทุนช่วยค่าตีพิมพ์เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองหมื่นบาท)
ทุนพิมพ์พุทธศาสนปกรณ์นั้น เกิดจากเงินที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา (ส่วนมาก คือ เมืองนิว
ยอร์ค ชิคาโก ฟิลาเดลเฟีย และบางเมืองในนิวเจอร์ซี) บริจาคเพื่อเป็นค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้จัดทำ
หนังสือนี้ในโอกาสต่างๆ และผู้จัดทำได้ยกตั้งอุทิศเป็นทุนพิมพ์หนังสือทางพระศาสนาซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์มาก
กว่า การนำทุนนั้นมาช่วยค่าพิมพ์หนังสือเล่มนี้ แม้เป็นเรื่องฉุกเฉินนอกเหนือจากโครงการ แต่ก็ยังอยู่ในวัตถุประสงค์
จึงขออุทิศกุศล ขออำนาจบุญราศีอันเกิดจากการจัดทำและจัดพิมพ์หนังสือนี้ จงเป็นพลวปัจจัย อำนวยให้ท่านพระครู
ปลัดสมัย กิตฺติทตฺโต ประสบสุขสมบัติในสัมปรายภพ ตามควรแก่คติวิสัย ทุกประการฯ

“ผู้จัดทำ”