สมเพช - สมาทปนา

สมเพช ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า สลดใจ ทำให้เกิดความสงสารแต่ตามหลักภาษาตรงกับ สังเวช

สมโพธิ การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

สมโภค การกินร่วม; ดู กินร่วม

สมโภช งานฉลองในพิธีมงคลเพื่อความรื่นเริงยินดี

สมภพ การเกิด

สมมติ การรู้ร่วมกัน, การตกลงกัน, การมีมติร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน; การที่สงฆ์ ประชุมกันตกลงมอบหมายหรือ
แต่งตั้งภิกษุให้ทำกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สมมติภิกษุเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี สมมติภิกษุ
เป็นภัตตุเทศก์ เป็นต้น; ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า ตกลงกันว่า ต่างว่า

สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ คือโดยความตกลงหรือยอมรับร่วมกันของมนุษย์ ได้แก่พระราชา พระราชเทวี พระราช
กุมาร (ข้อ ๑ ในเทพ ๓)

สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ คือ โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ เช่น นาย ก. นาย ข. ช้าง ม้า มด โต๊ะ
หนังสือ พ่อ แม่ ลูก เพื่อน เป็นต้น ซึ่งเมือกล่าวตามสภาวะ หรือโดยปรมัตถ์แล้ว ก็เป็นเพียงสังขาร หรือนามรูป หรือ
ขันธ์ ๕ เท่านั้น; คู่กับปรมัตถสัจจะ

สมรภูมิ ที่ร่วมตาย, สนามรบ

สมสีสี บุคคลผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับสิ้นชีวิต คือ บรรลุอรหัตตผล ในขณะเดียวกับที่สิ้นชีวิต; นี้เป็นความหมายหลัก
ตามพระบาลี แต่ในมโนรถปูรณี อรรถกถาแห่งอังคุตตรนิกาย ให้ความหมายสมสีสี ว่าเป็นการสิ้นอาสวะพร้อมกับ
สิ้นอย่างอื่นอันใดอันหนึ่งใน ๔ อย่างและแสดงสมสีสีไว้ ๔ ประเภทคือ ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับหายโรค เรียกว่าโรค
สมสีสี ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับที่เวทนา ซึ่งกำลังเสวยอยู่สงบระงับไปเรียกว่า เวทนาสมสีสี ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับการ
สิ้นสุดของอิริยาบถอันใดอันหนึ่ง เรียกว่า อิริยาบถสมสีสี ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับสิ้นชีวิต เรียกว่า ชีวิตสมสีสี สมสีสี
ในความหมายหลักข้างต้น ก็คือ ชีวิตสมสีสี; อย่างไรก็ดีในอรรถกถาแห่งปุคคลปัญญัติ เป็นต้น แสดงสมสีสีไว้ ๓
ประเภท และอธิบายต่างออกไปบ้าง ไม่ขอนำมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

สมันตจักขุ จักษุรอบคอบ, ตาเห็นรอบ ได้แก่พระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ เป็นคุณสมบัติพิเศษของ
พระพุทธเจ้า (ข้อ ๕ ในจักขุ ๕)

สมันตปาสาทิกา ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ. ใกล้
จะถึง ๑๐๐๐ โดยปรึกษาอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน ชื่อมหาปัจจริย และกุรุนที

สมัย คราว, เวลา; ลัทธิ; การประชุม; การตรัสรู้

สมาคม การประชุม, การเข้าร่วมพวก ร่วมคณะ

สมาจาร ความประพฤติที่ดี; มักใช้ในความหมายที่เป็นกลางๆ ว่า ความประพฤติ โดยมีคำอื่นประกอบขยายความ
เช่น กายสมาจาร วจีสมาจาร ปาปสมาจาร เป็นต้น

สมาทปนา การให้สมาทาน หรือชวนให้ปฏิบัติคือ อธิบาย ให้เห็นว่าเป็นความจริง ดีจริง จนใจยอมรับที่จะนำไป
ปฏิบัติ; เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดี (ข้อก่อนคือสันทัสสนา, ข้อต่อไปคือ สมุตเตชนา)