สารี - สารีบุตร

สารี ชื่อนางพราหมณีผู้เป็นมารดาของพระสารีบุตร

สารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมือง
ราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่
เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ
อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่อ
อุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองคนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ
คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก แต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่ง
อุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมในติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอน ได้
ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชก
ที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตร
ได้ฟังฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ
ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในทางมีปัญญามากและเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็น
กำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็นพระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่าน
ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น
ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็น
มิจฉาทิฐิ ให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลักจากปลงศพแล้ว พระจุน
ทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระ
เชตวัน เมืองสาวัตถี (ถรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการเช่น เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดง
ออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ (นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และราธพราหมณ์ (ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่ง
ทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ) สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว (ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร ๗ ขวบ)
เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก (เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้า
สามารถหลายรูป) และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธ เป็นต้น