สุขของคฤหัสถ์ - สุคโต

สุขของคฤหัสถ์ สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี และควรขวนขวายให้มีอยู่เสมอมี ๔ อย่างคือ ๑. สุขเกิดจาก
ความมีทรัพย์ (ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงของตน โดยทางชอบธรรม) ๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ (เลี้ยงตนเลี้ยงคนควร
เลี้ยง และทำประโยชน์) ๓. สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ๔. สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ (มีสุจริตทั้ง กาย วาจา
และใจ), เฉพาะข้อ ๔ ตามแบบเรียนว่า สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

สุขสมบัติ สมบัติคือความสุข, ความถึงพร้อมความสุข

สุขาวดี แดนที่มีความสุข, เป็นชื่อสวรรค์ของพระอมิตาภพุทธ ฝ่ายมหายาน

สุขุม ละเอียด, ละเอียดอ่อน, นิ่มนวล, ซึ้ง

สุขุมาลชาติ มีพระชาติละเอียดอ่อน, มีตระกูลสูง

สุคต ผู้เสด็จไปดีแล้ว, เป็นพระนามพระพุทธเจ้า ดู สุคโต ด้วย

สุคตประมาณ ขนาดหรือประมาณของพระสุคต คือ พระพุทธเจ้า, เกณฑ์หรือมาตราวัดของพระสุคต

สุคตาณัตติพจน์ พระดำรัสสั่งของพระสุคต

สุคติ คติดี, ทางดำเนินที่ดี, สถานที่ที่ดีที่สัตว์โลกซึ่งทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด ได้แก่มนุษย์และเทพ ดู คติ, ทุคติ

สุคโต “เสด็จไปดีแล้ว” คือทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปสู่ที่ดีงามกล่าวคือพระนิพพาน, เสด็จ
ไปได้ด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่
ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึงทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางผิดคือ กาม
สุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัส
ดีและนำให้เกิดความสวัสดี แม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้าย ก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัยเสด็จผ่านไป
แล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์
แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง, ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ประกอบด้วย
ประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และแก่บุคคลที่ควรตรัส (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)