ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
พระราชชัยกวี

(ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)
ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)
ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๔

****************************************

ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย

                  โอกาสของการบรรยายครั้งเดียวเป็นพิเศษเช่นนี้ อาตมามีความเห็นว่า ควรจะได้กล่าวถึงเรื่องซึ่งเป็นใจความสำคัญ เป็นข้อสรุปความของหลักธรรมะจะเหมาะกว่าอย่างอื่น ฉะนั้นจึงได้ตั้งใจที่จะได้กล่าวถึงใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา โดยหวังอยู่ว่า ถ้าจับใจความหรือแนวที่เป็นใจความสำคัญทั้งหมดของพุทธศาสนาได้แล้ว จะเป็นการง่ายสะดวกอย่างยิ้งในการที่จะศึกษาก้าวหน้าออกไปอย่างกว้างขวาง ถ้าจับใจความหรือแนวไม่ได้จะสับสน และจะรู้สึกว่ามันมากมาย แล้วจะเพิ่มขึ้นๆ จนมากมายเหลือที่จะจำ จะเข้าใจ หรือจะปฏิบัติ

                  อันนี้เป็นมูลเหตุของความล้มเหลว เพราะทำให้เกิดความท้อถอย และมีความสนใจที่พร่าหรือลางเลือนออกไปทุกที ในที่สุดก็คล้ายๆ กับว่า เหมือนกับแบกความรู้ตั้งมากมายเข้าไว้ แล้วไม่สามารถที่จะศึกษา หรือประพฤติปฏิบัติให้เป็นชิ้นเป็นอันได้

                  ฉะนั้น ขอให้สนใจที่จะทบทวนหรือฟังในลักษณะที่จะจับใจความสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ ความรู้ชนิดที่เป็นหลักมูลฐาน สำหรับ เข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง อาตมาขอเน้นตรงที่ว่ามันเป็นหลักมูลฐานเพราะความรู้ชนิดที่ไม่ใข่หลักมูลฐานก็มี และเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องก็มี คือมันเขวออกไปทีละน้อยๆ จนเป็นพุทธศาสนาใหม่ หรือถึงกับเป็นพุทธศาสนาเนื้องอก ที่งอกออกไปเรื่อยๆ

                  ที่ว่า หลักพระพุทธศาสนาขั้นมูลฐาน นั้น หมายความว่ามันเป็นหลักที่มีจุด มุ่งเฉพาะไปยังความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเองที่ทุกคนอาจเห็นได้ โดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่น นี้อย่างหนึ่ง นี่คือส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งที่เป็นหลักมูลฐาน

                  ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย ไม่ยอมพยากรณ์ อย่างปัญหาที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรไปเกิด เกิดอย่างไร ได้รับผลอย่างไร อย่างนี้มันไม่ใช่เป็นปัญหาที่มุ่งตรงไปยังเรื่องของความดับทุกข์ และยิ่งกว่านั้น มันยังไม่เป็นพุทธศาสนา ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่อยู่ในขอบวงของพุทธศาสนา เพราะไม่ได้มุ่งหมายที่จะดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่ง ผู้ถามนั้นก็ได้แต่เชื่อตามผู้พูดดายไป เพราะว่าผู้ตอบก็ไม่อาจจะเอาอะไรมาแฉให้เห็นได้ ได้แต่พูดไปตามความจำและความรู้สึก ผู้ฟังก็ไม่อาจเห็นสิ่งนั้นได้ ก็ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป มันก็เลยเตลิดออกไปนอกเรื่องทีละนิดๆ จนเป็นเรื่องอื่นไป ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ และอยู่ในลักษณะที่ผู้ฟังต้องเชื่อตามผู้พูดอย่างหลับหูหลับตาเรื่อยไป แล้วเดินออกไปนอกขอบวงของความดับทุกข์ยิ่งขึ้นทุกที

                  ทีนี้ถ้าหากว่า ไม่ตั้งปัญหาอย่างนั้น จะตั้งปัญหาเรื่องว่า มีความทุกข์หรือไม่ และ จะดับทุกข์ได้อย่างไร นี่พระพุทธเจ้าท่านยอมตอบ ตอบทุกๆ คำ ผู้ฟังจะเห็นจริงได้ทุกคำ โดยไม่ต้องเชื่อดายไป ไม่ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป ก็เลยเห็นจริงยิ่งขึ้นทุกทีๆ จนเข้าใจในเรื่องนั้นได้ และ ถ้าเข้าใจถึงขนาดทำความดับทุกข์ได้นั้น นั่นก็หมายถึงความเข้าใจที่เป็นไปถึงที่สุด จนถึงกับรู้ว่าแม้เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มีคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ คือ มีความรู้ถึงขนาดที่มองเห็นโดยประจักษ์ว่า ไม่ได้มีตัวตนหรือของตน มันเป็นแต่ความรู้สึกว่า ตัวกู ของกู ที่รู้สึกขึ้นมาตามความโง่ ความเขลา ที่ไปหลงตามสิ่งที่มาแวดล้อมปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรพวกนี้ พอมองชัดขนาดที่ดับทุกข์ได้อย่างนี้แล้ว สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานั้นก็หายไป ความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู เหล่านี้ก็ไม่มีเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครเกิดอยู่ที่นี่ มันจึงไม่มีใครตายแล้วไปเกิดใหม่ ปัญหาที่ถามว่าตายแล้วเกิดใหม่หรือไม่? จึงเป็นปัญหาที่เขลาที่สุด และไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเลยเพราะเหตุนี้

                  เพราะเหตุว่า พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะบอกให้รู้ว่า ไม่มีคนที่เป็นตัวเราหรือของเรานั้นไม่มี มีแต่ความเข้าใจผิดของจิตที่ไม่รู้ สิ่งที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแต่ร่างกายกับจิตใจ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ มันมีอาการเป็นกลไก mechanism ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่ในตัวของมันเอง ถ้าผิดวิธีก็เกิดความโง่ความหลงขึ้นมา จนทำให้รู้สึกว่า มีตัวเราเป็นของเรา ถ้าถูกวิธีมันก็จะไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น แต่จะเป็นสติปัญญาอยู่ตามเดิม รู้แจ้งเห็นจริงอยู่อย่างนั้น ว่าว่างจากตัวเราหรือของเรา

                  นี่เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันว่า ในขอบวงพุทธศาสนานั้น ไม่มีปัญหาที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรทำนองนั้น แต่มีปัญหาว่า ทุกข์หรือไม่ จะดับมันอย่างไร และก็รู้จักมูลเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วดับทุกข์เสียได้ และมูลเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือ ความหลง ความเข้าใจผิด ว่ามี ตัวเรา-ของเรา นั่นเอง

                  ฉะนั้น เรื่องตัวเรา เรื่องของเรา เรื่องตัวกู และเรื่องของกูนี้ คือปัญหาเพียงอันเดียว ข้อเดียว และเป็นใจความสำคัญของพุทธศาสนาเพียงข้อเดียว เรื่องเดียวที่จะต้องสะสางให้หมดไป แล้วจะเป็นอันว่ารู้ เข้าใจ และปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้น ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี

                  ที่ว่าหลักมูลฐานนั้น มีส่วนที่เป็นหลักอยู่ไม่มากมาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านเรียกของท่านว่า “มันกำมือเดียว” มันมีเรื่องเพียงกำมือเดียว ไม่มากมายเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมืองหรือทั้งฝ่า ซึ่งในสูตรที่มีอยู่ในสังยุตนิกายเล่าเรื่องนี้ไว้ชัดว่า เมื่อกำลังเดินกันอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าท่านกำใบไม้ที่เรี่ยราดอยู่ขึ้นมากำมือหนึ่งแล้วถามภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า ใบไม้ที่กำขึ้นมานี้กับใบไม้หมดทั้งป่า มันมากน้อยกว่ากันกี่มากน้อย ทุกคนก็ได้เห็นว่ามันมากกว่ากันมาก จนเปรียบกันไม่ไหว ถึงแม้พวกเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ก็ลองทำมโนภาพถึงของจริงในเรื่องนี้ ดูให้เห็นชัดว่ามันมากมายยิ่งกว่ากันเสียทีหนึ่งก่อน พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า นี่มันอย่างนี้ คือเรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอนและนำมาปฏิบัตินั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว

                  ข้อความเรื่องนี้ มีคนเอาไปเขียนเป็นนวนิยายอย่างเรื่องกามนิต คนที่เคยอ่านเรื่องกามนิต ก็คงจะสังเกตเห็นเรื่องที่มีอยู่จริงในพระบาลี ซึ่งเป็นเหตุให้ถือได้ว่า หลักมูลฐานที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น เทียบส่วนแล้วมันกำมือเดียว ในเมื่อไปเปรียบเทียบกับของทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งป่าทั้งดง

                  คำว่ากำมือเดียวนี้เราก็ต้องรู้สึกได้ว่า มันเป็นของไม่มากมาย หรือไม่เหลือวิสัย ไม่เกินวิสัยของคนเราที่จะเข้าถึงได้ และเราอาจเข้าใจได้อย่างถูกต้องได้ นี่คือใจความสำคัญในวาระแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกัน ในเมื่อทุกคนจะต้องเข้าใจหลักมูลฐานสำหรับเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

                  ทีนี้ก็มาถึงคำว่า พุทธศาสนา ขอให้เข้าใจคำนี้ตรง หรืออย่างถูกต้องอีกเช่นเดียวกันด้วย ว่าสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้น เมื่อตกมาถึงสมัยนี้แล้วมันพร่ามาก คือมันกว้างขวางไม่ค่อยมีขอบเขต ถ้าเป็นอย่างสมัยพุทธกาลก็ใช้คำอื่นคือคำว่าธรรม หมายถึงธรรมเฉพาะที่ดับทุกข์ เขาไม่ได้เรียกกันว่าพุทธศาสนาอย่างที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ เขาเรียกกันว่า “ธรรม”

                  ถ้าธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เรียกธรรมของพระสมณโคดม ถ้าธรรมะของลัทธิอื่น เช่น นิคันถนาฎบุตร ก็เรียกว่า ธรรมของนิคันถนาฎบุตร

                  ใครชอบใจธรรมของใคร ก็พยายามศึกษาจนเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติตามแนวนั้น กังนั้น จึงมีชื่อเรียกว่า “ธรรม” ล้วนๆ แล้วก็เป็นธรรมะล้วนจริงๆ ไม่มีเปลือกกระพี้ หรือมีส่วนที่มาเกี่ยวข้องทีหลังมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เรามาเรียกสิ่งนั้นว่าพุทธศาสนา แล้วเราเผลอไป หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม คำว่าพุทธศาสนาของเรานี้ มันพร่ากว้างออกไป จนถึงกับรวมเอาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้ามาด้วย

                  ท่านต้องสังเกตดูให้ดีว่า มันมีพุทธศาสนาอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว มันมีสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง ส่วนนี้มากมายเหลือเกิน แล้วเราเอามารวมกันเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าพุทธศาสนา อย่างที่เข้าใจกันเดี๋ยวนี้

                  ลำพังตัวพุทธศาสนาแท้ๆ มันก็มากอยู่แล้ว มากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า ส่วนที่ต้องศึกษาปฏิบัติมีเพียงกำมือเดียว นี้ก็เรียกว่ามากอยู่แล้ว ทีนี้ไปเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเข้ามาอีก เช่นเรื่องประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา เรื่องจิตวิทยาที่ขยายออกไป เช่น ในแง่ของอภิธรรม บางส่วนก็กลายเป็นเรื่องจิตวิทยา บางส่วนก็เป็นรูปของปรัชญาขยายออกไปๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางฝ่ายนั้น ก็ยังมีอีกมากมายหลายแขนง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจึงมีมากมาย และถูกกวาดเอามารวมเข้าไว้ในคำว่าพุทธศาสนา มันเลยทำให้มาก

                  ถ้าคนไม่รู้ ก็ไม่รู้จักจับเอาใจความสำคัญ มันก็เลยเหมือนกับว่าเห็นเป็นของมาก แล้วก็ไม่รู้จะเลือกเอาอันไหนดี เหมือนกับเราเข้าไปในร้านขายของที่มีสารพัดอย่าง จนงงไปหมดทำนองนี้ ก็เลยปล่อยไปตามความรู้สึกสามัญสำนึก นั่นบ้าง นี่บ้าง ตามเรื่องตามราว แล้วส่วนมากก็ไปถูกเอาเรื่องที่ตรงกับกิเลส มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสติปัญญา เลยกลายเป็นเรื่องทำพิธีรีตรองต่างๆ ทำบุญพอสักแต่ว่าให้แล้วๆ ไป หรือเพื่อประกันความหวาดกลัวอะไรบางอย่าง มันเลยไม่ถูกพุทธศาสนาตัวจริง

                  เพราะฉะนั้น ขอให้เรารู้จักแยกสิ่งที่เป็นตัวพุทธศาสนาให้ออกไปเสียจากสิ่งซึ่งเป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันกับพุทธศาสนา แต่เข้ามารวมในชื่อของพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน

                  แม้ในส่วนที่เป็นพุทธศาสนานั้น ก็ยังต้องรู้จักแยกออกไปว่า อะไรเป็นหลักมูลฐาน หรือเป็นใจความสำคัญ ฉะนั้นอาตมาจึงตั้งใจจะกล่าวถึงเรื่องที่เป็นหลักมูลฐานอันสำคัญที่เป็นใจความสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกงงว่าจะพูดในรูปไหนดี

                  ทีนี้ในการที่เข้ามาในโรงพยาบาลนี้ นับเป็นความรู้สึกที่ดลใจหรือเกิดขึ้นเอง คือทำให้นึกขึ้นมาได้เอง ถึงลักษณะอรรถกถาทั้งหลายได้เรียกพระพุทธเจ้าโดยชื่อ ชื่อหนึ่งว่า “แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ” นี่บัดนี้ท่านได้ยินคำว่า “แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ” แล้ว อาตมาก็กล่าวไปตามตัวหนังสือ ท่านไม่อาจเข้าใจในทันทีก็ได้ จึงต้องการคำอธิบายบ้าง

                  ตามความหมายของพระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมะไว้บางหมู่ และตามอรรถกถาที่ต้องการจะอธิบายธรรมหมู่นั้น จึงเกิดมีหลักที่ถือกันว่า มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ ๒ ประเภท คือโรคทางกาย กับ โรคทางจิต บาลีใช้คำว่า “โรคทางจิต” ในครั้งกระโน้น แต่เดี๋ยวนี้ คำว่าโรคทางจิตนี้ มันมีความหมายไม่ตรงกับโรคทางจิตในสมัยอรรถกถาหรือในสมัยพุทธกาล โรคทางจิตในสมัยพุทธกาล หมายถึงโรคทางความคิดเห็น หรือ ทางกิเลสตัณหา แต่ก็เรียกว่าโรคทางจิต

                  เดี๋ยวนี้เราเอาคำว่าโรคทางจิตไปใช้กับโรคทางจิตตามธรรมดาที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย ไปปนกันอยู่กับโรคทางกาย จึงเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจโรคทางฝ่ายวิญญาณ เพราะฉะนั้นจึงขอบัญญัติคำขึ้นมาใหม่เป็น ๓ คำว่า โรคทางการ หรือ Physical Disease โรคทางจิต หรือ Mental Disease สองอย่างนี้เอาไว้ในฝ่ายโรคทางกายหมด แล้วก็มีคำว่า Spiritual Disease นี้และคือโรคในทางวิญญาณ ซึ่งตรงกับโรคทางจิตในสมัยพุทธกาล

                  คำว่า Spiritual และ Mental นี้ ต่างกันลิบ Mental หมายถึงจิตที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกาย สัมพันธ์กันกับกาย ถ้าหากเราเป็นโรคทาง Mental นี้ก็ไปโรงพยาบาลประสาท หรือโรงพยาบาลบ้านสมเด็จฯ มันก็เป็นเรื่องโรคทาง Mental มิได้เป็นเรื่องโรคทาง Spiritual นั้น

                  คำว่า “วิญญาณ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าวิญญาณภูติผีปีศาจ ถูกผีสิง อะไรทำนองนั้น ไม่ใช่ มันหมายถึงวิญญาณหรือจิต หรือมโนส่วนลึกที่มันเป็นโรคได้ด้วยอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ อวิชชา หรือ มิจฉาทิฐิ มันเป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาหรือมิจฉาทิฐิ แล้วก็เป็นโรคทางวิญญาณ คือเห็นผิด เห็นผิดก็เป็นเหตุให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด แล้วก็เป็นโรคตรงที่ คิดผิด พูดผิด ทำผิด

                  ท่านจะเห็นได้ทันทีว่า Spiritual Disease นี้เป็นกันทุกคนไม่ยกเว้นใคร ส่วน Physical Disease, Mental Disease นั้นเป็นกับคนบางคน และเป็นบางเวลา และเรื่องมันก็ไม่มากมายเสียหายใหญ่โตอะไรนัก คือมันไม่ทำให้ใครเป็นทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ได้เหมือนกับโรคทางวิญญาณ

                  เพราะฉะนั้น โรคทาง Physical หรือทาง Mental นี้ ไม่เกี่ยวกันกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นยาแก้โรคทางวิญญาณ หรือไม่เกี่ยวกันกับพระพุทธเจ้า ที่เป็นแพทย์ใหญ่ในทางวิญญาณโดยตรง มันเหลือแต่โรคที่อรรถกถาเรียกว่า “โรคทางจิต” หรือในบัดนี้เราต้องบัญญัติลงไปว่า Spiritual Disease และเรียกว่า “โรคทางวิญญาณ” ดีกว่า

                  เมื่อมันทำให้อาตมานึกถึงข้อที่อรรถกถาเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นนายแพทย์ทางวิญญาณ ก็รู้สึกต่อไปว่า ถือเอาแนวนี้พูดกันรู้เรื่องง่ายกว่า โดยเหตุที่คนทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณ จึงทุกคนต้องรักษาเยียวยาในทางวิญญาณนั่นแหละ คือธรรมะนั่นแหละ คือพุทธศาสนากำมือเดียวที่จะต้องให้เข้าถึง คือเอามาใช้ มากิน มาเยียวยารักษาโรคให้จนได้

                  ที่ต้องสนใจกันต่อไปอีกก็คือว่า มนุษย์เราสมัยนี้ไม่สนใจเรื่องโรคทางวิญญาณ เพราะฉะนั้น ทันจึงเป็นโรคทางวิญญาณกันหนักขึ้น ทั้งทางส่วนตัว และส่วนรวม เพราะเมื่อทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณแล้ว โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นโรคทางวิญญาณไปหมด เป็นโลกที่มีโรคทางจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าวิกฤติการณ์ถาวร ก็เข้ามาแทนที่ของสันติภาพถาวร จะปลุกปล้ำกันอย่างไรๆ มันก็ไม่เป็นสันติภาพแม้ชั่วขณะขึ้นมาได้ อย่าพูดถึงสันติภาพถาวรให้ป่วยการ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายมันเป็นโรคทางวิญญาณ คือทั้งสองฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายถูกและเรียกฝ่ายอื่นว่าเป็นฝ่ายผิดนั้น มันทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นโรคทางวิญญาณ จึงมีแต่เรื่องที่จะสร้างความทุกข์ขึ้นทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น มันเหมือนเครื่องจักรผลิตความทุกข์ขึ้นมาในโลก แล้วโลกนี้จะสงบได้อย่างไร

                  การแก้ไขมีอยู่ว่า ต้องทำให้ทุกคนในโลกนี้หยุดเป็นโรคทางวิญญาณ แล้วมันจะมีอะไรมาแก้? มันก็ต้องมีหยูกยาที่มีไว้เฉพาะโรคนี้ คือธรรมะกำมือเดียวในพระพุทธศาสนาที่จะต้องเข้าให้ถึงให้ได้ นั่นแหละคือคำตอบที่ว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่เป็นที่พึ่งแก่คนในโลกนี้ให้เต็มตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาได้ ทั้งๆที่เราถือกันว่า เดี๋ยวนี้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือมีส่วนที่เข้าใจถูกต้องกันยิ่งกว่าแต่ก่อน

                  จริงอยู่ในข้อที่ว่า มีการศึกษาพุทธศาสนากันมาก และเข้าใจกันมากขึ้น แต่ถ้าไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นโรคทางวิญญาณแล้ว จะเอาพุทธศาสนาไปกิน ไปใช้ ได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้สึกว่าป่วย เราก็ไม่ไปหาหมอ เราก็ไม่กินยา นี่ใครๆ ก็เห็นกันอยู่ ที่นี้คนเราในโลกโดยมาก ส่วนมากก็เป็นอย่างนี้ มันเลยเป็นเรื่องเห่อยา ไปฟังธรรมะ ไปศึกษาธรรมะ ในฐานะที่เป็นยา แต่ไม่รู้สึกตัวว่าเป็นโรค ไปเอามาไว้เพียงสำหรับเก็บไว้ให้รกรุงรัง หรือเอาไว้พูดไว้เถียงกันเล่น จนกลายเป็นทะเลาะวิวาทไปก็มี นี่แหละ ธรรมะยังไม่เป็นที่พึ่งให้แก่โลกได้เต็มที่ก็เพราะเหตุนี้

                  ฉะนั้น ถ้าเราจะตั้งกลุ่มพุทธบริษัทขึ้นอย่างที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ควรจะรู้ความหมายที่แท้จริง ให้กิจการนี้ดำเนินไปตรงจุด คือโดยประการที่ธรรมะนี้ จะช่วยรักษาเยียวยาโรคทางวิญญาณได้โดยตรงและโดยเร็ว อย่าให้พร่าจนไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ทิศไหน ขอให้เป็นไปในรูปที่ว่าเป็นยาอมฤต ศักดิ์สิทธิ์ เพียงกำมือเดียว และใช้ให้มันถูก ใช้ให้มันตรง มันก็จะแก้โรคได้หมด แล้วการที่ตั้งกลุ่มหรือสมาคมขึ้นมาอย่างนี้ก็จะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทำให้มันสำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง อย่าให้เป็นที่น่าหัวเราะเยาะแต่ประการใดแม้แต่นิดเดียว

                  ทีนี้ข้อที่ว่าเป็น โรคทางวิญญาณนั้นคืออย่างไร แล้วจะรักษากันด้วยธรรมะกำมือเดียวอย่างไรนั้น จะวินิจฉัยกันต่อไป

                  คำ “โรคทางวิญญาณ” นั้น ก็คือโรคที่มีเชื้ออยู่ที่ ความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรา หรือว่า ตัวกู หรือ ของกู นั่นเอง ที่มีอยู่ในใจ ประจำอยู่ที่ใจ เป็นเชื้อโรคอยู่แล้ว ก็เบิกบานออกมาเป็นความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู แล้วก็ทำไปตามอำนาจความเห็นแก่ตัว มันจึงเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำให้เดือดร้อนกันทั้งตัวเองและผู้อื่น นี่คืออาการของโรคทางวิญญาณ มันเป็นอยู่ภายใน ฉะนั้น ให้เรียกกันเพื่อจำง่ายๆ ว่า โรคตัวกู-ของกู จะดีกว่า ง่ายกว่า

                  พวกเรามีโรค “ตัวกู-ของกู” กันอยู่ทุกคน แล้วก็รับเชื้อนี้เพิ่มเติมเข้ามาทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง และคิดในใจ ตามประสาคนที่ไม่รู้ เขาเรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ อย่าง คู่กันกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ๖ อย่างด้วยเหมือนกัน คือว่ามีการรับเชื้อหรือสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เป็นโรคนี้ ที่ปรุงแต่งให้เป็นโรคนี้อยู่ทุกคราวที่มีการ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ

                  เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จัก เชื้อ คือ ความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า “อุปาทาน” อุปาทานแปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นมี ๒ อย่าง คือ ยึดมั่นว่าเรา และ ยึดมั่นว่าของเรา

                  ยึดมั่นว่าเรา นั้น คือรู้สึกว่า เราเป็นเรา เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นลูกผู้ชายแพ้ใครไม่ได้ อะไรทำนองนี้ นี่เรียกว่าเรา

                  ทีนี้ ของเรา คือว่า นั่นของเรา นั่นของที่เรารักที่เราชอบ แม้เกลียด ก็ถือว่าเป็นศัตรูของเรา นี่เรียกว่าเป็นของเรา

                  ถ้าอย่างบาลี ก็เรียกว่า “อัตตา” นี่คือตัวเรา “อัตนียา” นี่คือของเรา ถ้าเรียกกว้างออกไป อย่างที่เรียกให้ทุกแขนงของปรัชญาในอินเดีย เขาเรียกว่า อหังการ นี้คือตัวเรา มมังการ นี้คือของเรา อหังการ แปลว่า ทำความรู้สึกว่าเรา เพราะคำว่าอหังการ แปลว่าเรา และ มมังการ แปลว่า ทำความรู้สึกว่าของเรา เพราะคำว่า มะมะ แปลว่า ของเรา

                  ความรู้สึกเป็นอหังการ มมังการ นี้คือตัวอันตรายที่ร้ายกาจที่สุด หรือตัวสิ่งที่เป็นพิษที่ร้ายกาจที่สุด ซึ่งเราเรียกว่า โรคในทางวิญญาณ ในที่นี้ ซึ่งทุกแขนงของปรัชญา หรือธรรมะในอินเดียครั้งพุทธกาล ต้องการจะกวาดล้างสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะเป็นลัทธิอื่นนอกไปจากพุทธศาสนา ก็ต้องการจะกวาดล้างสิ่งที่เรียกว่า อหังการ และ มมังการ นี้ทั้งนั้น มันมาผิดกันตรงที่ว่า ถ้ากวาดล้างสิ่งนี้ออกไปแล้ว เขาเรียกมันใหม่ว่า ตัวตนที่แท้จริง อาตมันบริสุทธิ์ ที่ต้องการ ส่วนพุทธศาสนาเราไม่ยอมเรียกว่า ตัวตนที่บริสุทธิ์ หรืออาตมันที่ต้องการ เพราะไม่ต้องการที่จะยึดถือตัวตนหรือของตนอะไรขึ้นมาอีก เลยจัดเป็นความว่างที่สุด ที่เรียกว่า นิพพาน อย่างในบทที่ว่า นิพพานํ ปรมํ สุญญํ ซึ่งแปลว่า ว่างที่สุดนั่นและคือนิพพาน ก็แปลว่า ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู โดยเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง ไม่เหลือเยื่อใย นั่นแหละคือนิพพาน หรือความหายจากโรคทางวิญญาณ

                  ในเรื่องความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู นี้ มันมีความลับมาก ถ้าไม่สนใจจริงๆ แล้วก็เข้าใจไม่ได้ ว่ามันเป็นตัวการของความทุกข์ หรือเป็นตัวการของโรคทางวิญญาณ

                  สิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรือตัวตนนี้ มันก็ตรงกับคำว่า Ego ในภาษาลาตินที่รู้จักกันดี ถ้าความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวตนเกิดขึ้น เราก็เรียกว่า Egoism เพราะว่าถ้ารู้สึกว่า มีตัวเราแล้ว มันก็ต้องคลอดความรู้สึกว่า ของเรา นี้ตามออกมาด้วยเป็นธรรมดา ช่วยไม่ได้

                  Ego ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต้องแปลว่า Soul คือ อัตตา และมันก็ตรงกับภาษากรีกว่า Kentricon ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Centre คำว่า Kentricon นี้ตรงกับคำว่า Centre ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า ศูนย์กลาง เมื่อ Ego และ Kentricon คือสิ่งๆ เดียวกันแล้ว Soul อัตตานี้ก็เป็นสิ่งที่ถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของสิ่งที่มีชีวิต เป็น Nucleus ที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแยกเอาออกไปได้ หรือไม่สามารถละเว้นจากสิ่งนี้ได้ สำหรับคนธรรมดา

                  จึงเป็นอันว่า ทุกคนที่เป็นปุถุชน จะต้องมีความรู้สึกที่เป็น Egoism อยู่เป็นประจำ แม้ไม่แสดงออกมาให้เห็นชัดตลอดเวลาก็จริง แต่ก็จะแสดงออกมาทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง หรือคิดนึกอะไรขึ้นในใจ ฉะนั้นทุกคราวที่มันเกิดเต็มรูปขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู ให้ถือว่าเป็นโรคโดยสมบูรณ์แล้ว จะโดยอาศัยการเห็นรูป หรือฟังเสียง หรือดมกลิ่น หรือลิ้มรส หรืออะไรก็ตาม ถ้าในขณะนั้นเกิดความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู แล้วละก็ ก็ถือว่าเป็นโรคโดยสมบูรณ์ คือมันเกิดความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวจัดขึ้นมา

                  ตอนนี้เราไม่เรียกว่า Egoism แล้ว แต่เราจะเรียกว่า Selfishness หรืออะไรทำนองนั้น คือมันเป็น Egoism ที่เดือดพล่านและน้อมไปในทางต่ำ หรือผิด หรือข้างที่เห็นแก่ตัวจนไม่ดูหน้าใคร คือไม่เห็นแก่ผู้อื่น ฉะนั้นมันจึงทำอะไรไปข้างเห็นแก่ตัวหมด เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ปรารภตัวเองหมด นี้คืออาการของโรค แสดงออกมาเป็น Selfishness แล้วมันก็ทำอันตรายผู้อื่น และรวมทั้งตัวเองด้วย คือเป็นอันตรายแก่โลกมากที่สุด

                  ที่โลกเราลำบากยุ่งยากอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มีอะไรนอกไปจากสิ่งที่เรียกว่า Selfishness ของแต่ละคน ของแต่ละฝ่ายที่คุมกันเป็นพวกๆ อยู่ในโลกเวลานี้ การที่ต้องรบกันอย่างที่ไม่อยากจะรบก็จำต้องรบกันนี้ มันก็เพราะบังคับสิ่งนี้ไม่ได้ หรือทนต่ออำนาจของสิ่งนี้ไม่ได้ มันจึงเกิดเป็นโรคขึ้นมา

                  โลกนี้มันตั้งขึ้นมาได้ คือมันรับเชื้อเข้ามาแล้วก่อเป็นโรคขึ้นมาได้ ก็เพราะว่าทุกคนไม่รู้จัก สิ่งที่เป็นเครื่องต้านทานโรค กล่าวคือ หัวใจของพุทธศาสนา

                  เดี๋ยวนี้อาตมาได้กล่าวคำว่า “หัวใจของพระพุทธศาสนา” ขอให้เข้าใจคำว่าหัวใจของพุทธศาสนาต่อไป