ปาฐกถาธรรมเรื่อง
ยาระงับสรรพโรค
(ต่อ)
โดย
พุทธทาส ภิกขุ


ปาฐกกถาธรรม
ประจำวันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
แสดง ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี



            
ทีนี้อีกทางหนึ่ง ตรงกันข้าม อย่าช่างหัวมัน ๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่จะต้องช่วย จะต้องแก้ไขแล้วนี่ อย่าช่างหัวมัน ก็เลยมีคำกลอนที่ตรงกันข้ามว่า

เรื่องบิ่นบ้า มัวแต่อ้าง "ช่างหัวมัน"  

 ถ้าเรื่องนั้น เกี่ยวกับเพื่อน มนุษย์หนา

ต้องเอื้อเฟื้อ ปฏิบัติ เต็มอัตรา  

 โดยถือว่า เป็นเพื่อนเกิด แก่เจ็บตาย

การช่วยเพื่อน เหมือนช่วย ตัวเราเอง  

 เมื่อจิตเพ่ง เล็งช่วย ทวยสหาย

ย่อมลดความ เห็นแก่ตัว ลงมากมาย  

 ทุกทุกราย เห็นเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน

เห็นแก่ตัว บางเบา ลงเท่าไร  

 ยิ่งเข้าใกล้ พระนิพพาน เห็นปานนั้น

รอดตัวได้ เพราะไม่มัว ช่างหัวมัน  

 จงพากัน ใคร่ครวญ ถ้วนทุกคน

 

            "ช่างหัวมัน" น่ะมันต้องใช้ในกรณีที่ควรช่างหัวมัน แต่ถ้าในการบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างนี้แล้วก็ไม่ช่างหัวมัน ที่มันจะมาทำให้เราเป็นทุกข์ ยุ่งยากลำบาก รำคาญ หยุมหยิม ๆ ไปเสียหมดนี่ช่างหัวมันเสียบ้าง รู้จักช่างหัวมันทิ้งไปเสียบ้าง ก็ได้เครื่องยามา

๓. เช่นนั้นเอง

            ทีนี้ก็มาถึง "เช่นนั้นเอง" ความเจ็บไข้มันก็มีตามธรรมชาติ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็มีตามธรรมชาติ ความวิบัติที่เราไม่คิดไม่หวัง มันก็ตามธรรมชาติ เราจงเห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ดีชั่ว บุญบาป บวกลบ นี่ก็เป็นเช่นนั้นเอง บุญมันก็ทำให้เวียนว่าย บาปมันก็ทำให้เวียนว่ายในวัฏฏสงสาร ต้องพ้นบุญพ้นบาป ให้เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่บุญไม่บาปมันก็อย่างนี้ มันจึงจะหยุดเวียนว่าย ให้เห็นเช่นนั้นเอง

            คำนี้มันสูงสุดในพระพุทธศาสนาคำหนึ่งด้วยเหมือนกัน จำไว้ว่า "ตถตา" หรือ "ตถาตา" ก็ได้เหมือนกัน แปลว่า "เช่นนั้นเอง" ยิ่งอายุมาก ๆ แก่ชราแล้ว ก็ยิ่งเก่งที่จะใช้ เช่นนั้นเอง ๆ เพราะความเจ็บไข้มันมารบกวนมากขึ้น แก่ชราแล้ว อะไร ๆ โดยรอบข้างมันจะรบกวนมากขึ้น ลูกหลานมันก็มากขึ้น มันก็รบกวนมากขึ้น รู้จักเช่นนั้นเอง

            เห็นว่ามันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวตน คือทีแรกมันเห็นเป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เพราะเปลี่ยนแปลงเรื่อยจึงลำบากยุ่งยาก เลยเป็นทุกข์ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยแหละเป็นทุกข์ แล้วไม่มีใครต้านทานได้ นั่นมันเป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตาคือมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา แล้วก็เห็นว่าเช่นนั้นเอง ก็เห็นสุญญตา ว่างจากตัวตน ๆ ๆ นี่ก็จะเห็นเช่นนั้นเอง ถึงที่สุด เห็นตถาตา ในที่สุด ไม่หวั่นไหว ไม่บวก ไม่ลบ ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่อะไรหมดหรอก ถ้าเห็นเช่นนั้นเองคือ ตถาตา

            ตถา แปลว่า เช่นนั้นเอง ตถะ แปลว่าถึง ตถาคตะ คือ พระตถาคต แปลว่า ผู้ถึงซึ่งเช่นนั้นเอง คือเป็นพระอรหันต์ ผู้ใดมีเช่นนั้นเอง เต็มที่ ไม่มีหวั่นไหว ไม่มีบวก ไม่มีลบ ไม่มีขึ้น ไม่มีลง ไม่มีดีใจเสียใจ ไม่มีอะไรอีกต่อไป นี่เรียกว่า พระตถาคต ถึงซึ่งความเป็นเช่นนั้นเอง คือความคงที่ ๆ อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป ถ้าเห็นเช่นนั้นเองเสียแล้ว มันไม่มีอะไรมายั่วได้ อะไรมาก็ "เช่นนั้นเอง" น่ารักมาก็เช่นนั้นเอง น่าเกลียดมาก็เช่นนั้นเอง น่ากลัวมาก็เช่นนั้นเอง อะไรก็ปรุงแต่งไม่ได้ นั่นแหละคือว่า เห็นเช่นนั้นเอง ก็คงที่ ก็เป็นพระตถาคต คือ เป็นพระอรหันต์

ไม่มีตัวกู-ของกู

            ทีนี้เครื่องยาที่สี่ ก็ "ไม่มีตัวกู-ของกู" ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู นี่คือสติปัญญาสูงสุด จะเห็นว่ามันเป็นตามธรรมดา ตามธรรมชาติ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามอิทัปปัจจยตา ตามปฏิจจสมุปบาท ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไปตามกฎของไตรลักษณ์ ไม่มีอะไรที่จะดึงเอามาเป็นตัวกูของกู ที่จะต่อสู้กับกฎของธรรมชาติได้ แต่ว่าตัวกูของกูนี่มันเกิดมาในใจเพราะความไม่รู้ เพราะอวิชชา เพราะสัญชาตญาณตามธรรมดาของสิ่งที่มีชีวิต มันต้องรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นรากฐานสำหรับจะได้หากิน สำหรับจะได้ต่อสู้ สำหรับจะได้วิ่งหนีอันตราย สำหรับจะได้สืบพันธุ์ไว้อย่าให้สูญพันธุ์

            นี่ละ มันเป็นความรู้สึกของสัญชาตญาณในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ของมนุษย์ก็มี ของสัตว์เดรฉานก็มี ของต้นไม้ต้นไร่ก็มี ความรู้สึกว่าตัวกู แม้แต่ต้นหญ้าไมยราบน่ะ เอามือไปถูกเข้ายังหุบเลย แล้วมันหนีภัย มันรู้จักสงวนตัวกู ความรู้สึกเป็นตัวกูมันมีในสิ่งที่มีชีวิต

            แต่แล้วมันทำให้เกิดปัญหา เกิดความเป็นทุกข์ เกิดความหนักอกหนักใจ อย่ามีตัวกูของกูกันให้มันถึงขนาดนั้นเลย ให้มี "ตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู" ฟังเหมือนกับบ้า มีตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกูนั่นแหละถูกต้อง มีตัวกูที่มันมิใช่ตัวกู เราเรียกว่าตัวกู เราพูดว่าตัวกู เราเห็นว่าเป็นตัวกู จะรักมันอย่างตัวกู แต่อย่าไปถือว่ามันเป็นตัวกูที่แท้จริง มันเป็นความคิดผิด เข้าใจผิดที่เกิดขึ้นมาเอง นี่ "ตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู" พูดอีกอย่างหนึ่งว่า "ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน" นั่นแหละ

            ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนนั่นแหละคือความจริง มันไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริง แต่จิตโง่มันไปเอามาเป็นตัวตนที่แท้จริงของมัน มันจึงมีตัวตนที่มิใช่ตัวตน ไม่มีตัวกูที่แท้จริง มันมีความโง่ทำให้เกิดเป็นความคิดขึ้นมาว่า "ตัวกู" แล้วก็รักสิ่งที่น่ารักแก่ตัวกูนี่ แล้วก็เกลียดโกรธสิ่งที่น่าเกลียดน่าโกรธแก่ตัวกู ตัวกูมันจึงกระโดดขึ้นกระโดดลง กระโดดขึ้นกระโดดลงตามความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบอยู่อย่างนี้ มันเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

            ที่มันมาพบกันเข้าอย่างนี้มันก็เหมือนกับว่า บังเอิญมีธาตุ คือธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลอยมากระทบกันเข้า อาศัยอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เป็นเครื่องผูกพันกันเข้าก็เกิดเป็นสังขารร่างกายนี้ขึ้นมา เป็นร่างกายนี้ขึ้นมา มีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็จะลาจากกันไปอีกละ มันเป็นเพียงเท่านี้ ตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู เหมือนกับของบังเอิญมาพบกันเข้า รวมกลุ่มกันอยู่ชั่วคราว แล้วมันไม่เท่าไหร่ก็จะจากกันไป

            หรือเหมือนกับของยืม ยืมมาไม่เท่าไหร่ก็ต้องส่งคืนเจ้าของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณนี่ยืมมา ทำเป็นตัวกู สักพักหนึ่งแล้วไม่เท่าไหร่มันก็คืนเจ้าของไป นี้ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มีความรู้ในข้อนี้ก็จะได้เครื่องยา ๆ ชื่อ "ไม่มีตัวกู-ของกู" มาทำยา เราจะรู้เรื่องตัวกูของกูกันไว้ให้เพียงพอ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนี้เลย

ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น

            ทีนี้ที่ว่า "ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น" คือ ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น คำว่า "เอา" นี่ เอาด้วยความโง่ ด้วยอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่า กูเอา แล้วกูได้มาเป็นของกู อย่างนี้เรียกว่า เอา ถ้า เอา อย่างนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่น่าเอาหรอก เอาแล้วกัด กัดทั้งนั้นแหละ ไปเอาเข้าแล้วกัดทั้งนั้นแหละ

            "เป็น" ก็เหมือนกัน ด้วยความหมายมั่นอุปาทานว่า กูเป็น กูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ ก็เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นพ่อแม่ เป็นลูก เป็นอะไร เป็นด้วยอุปาทาน นี้มันกัดเอาทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นก็ไปตามรู้สึกว่ามันสมมติ มันชั่วคราว มันทำหน้าที่ชั่วคราว อย่าหมายมั่นให้มันมากมายไปกว่านั้น มีคำกลอนเขียนไว้ว่า

ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข  

 อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน

มันจะสุม เผากบาล ท่านทั้งวัน  

 ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา

เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู  

 มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า

อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา  

 มันดีกว่า "กู-ของกู" อยู่ร่ำไป

จะหามา จะมีไว้ ใช้หรือกิน  

 ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้

โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไร ๆ  

 ผูกยึดไว้ ว่าตัวกู หรือของกู


             ถ้าจะมีอะไร จะหาอะไร จะเก็บอะไร จะกินอะไร จะใช้อะไร ในจิตใจอย่าหมายมั่นว่าเป็น "ตัวกู" เพราะมันจะรู้สึกหนักขึ้นมาในจิตใจ แล้วมันจะมีความไม่ได้ตามต้องการแทรกแซงอยู่เสมอ มันจะเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา จึงว่า ถ้าจะอยู่กันในโลกนี้อย่ามีความสุขแล้ว อย่าไปเอาอะไรมายึดถือว่าเป็นของฉัน มันจะสุมเผากบาลท่านทั้งวัน พูดกันลืม พูดให้มันแรง ๆ ให้มันกันลืมว่า ถ้าเอามาเป็นของฉัน ของกูแล้ว มันก็จะสุมกบาลให้ร้อน เหมือนกับเอาหม้อไฟมาทูนไว้บนศีรษะทั้งวันเลย ปล่อยให้มันเป็นของธรรมชาติ ไปตามเหตุตามปัจจัย ตามอิทัปปัจจยตา ตามปฏิจจสมุปบาท

            ถ้าเอามาไว้ในอำนาจแห่งตัวกู มันก็ต้องต่อสู้กัน เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจนี่ มันก็ต้องต่อสู้กันเอะอะตึงตัง เหมือนกับบ้านเรือนของคนบ้า มีแต่ความทะลึ่งตึงตัง ทะเลาะวิวาท หรือจะโง่เป็นนกเขา นกเขานี่เป็นนกที่ขันว่า "กูของกู ๆ ๆ" ภาษาบาลีก็เรียกนกเขาว่า กูของกู ๆ เหมือนกัน มัยหกะ ๆ พูดเป็นภาษาบาลีไว้ ในบาลีว่า "มัยหกะ" นกเขามันขันว่า "มัยหกะ" แปลว่า กูของกู ๆ

            เพราะฉะนั้น คนที่จะไม่เป็นนกเขา ก็อย่าไปหมายมั่นอะไรว่า เป็นของกู จะหามาก็หามาอย่างธรรมชาติอย่างนั้น เก็บไว้อย่างธรรมชาติ กินก็กินอย่างธรรมชาติ ถ่ายก็ถ่ายไปอย่างธรรมชาตินั้น อย่าให้มีความหมายในสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ว่าเป็น "ของกู" ขึ้นมาเลย

            ทีนี้อีกบทหนึ่งว่า "มีโดยไม่ต้องมีผู้มี" ให้มีการมีตามกฎหมาย เรามีบ้านมีเรือน มีเงินมีทอง ตามกฎหมาย มีได้โดยสมมตินั่นมี แต่ว่าโดยไม่ต้องมีผู้มี คือจิตใจอย่าไปมีเข้า ถ้ามีแล้วมันจะกัดเอา มีคำกลอนเขียนไว้ว่า

ถ้ามีอะไร แล้วใจ รู้สึกเหนื่อย  

 สำนึกเรื่อย ว่ากูมี อย่างนี้หนา

มีทั้งกู ทั้งของกู อยู่อัตรา  

 นั่นอัตตา มาผุดขึ้น ในการมี

ถ้ามีอะไร มีไป ตามสมมติ  

 ไม่จับยุด ว่าของกู รู้วิถี

แห่งจิตใจ ไม่วิปริต ผิดวิธี  

 มีอย่างนี้ ย่อมไม่เกิด ตัวอัตตา

ฉะนั้นมีอะไร อย่าให้มี อัตตาเกิด  

 เพราะสติ อันประเสริฐ คอยกันท่า

สมบูรณ์ด้วย สัมปชัญญ์ และปัญญา  

 นี้เรียกว่า รู้จักมี ที่เก่งเกิน

เป็นศิลปะ แห่งการมี ที่ชั้นยอด  

 ไม่ต้องกอด ไฟนรก ระหกระเหิน

"มีอย่างว่าง ว่างอย่างมี" มีได้เพลิน  

 ขอชวนเชิญ ให้รู้มี อย่างนี้แล


             "มีอย่างว่าง ว่างอย่างมี" คำนี้ลึกมาก ถ้าเข้าใจก็วิเศษ มีอย่างว่างแล้วก็ว่างอย่างมี มีอย่างว่าง ไม่ต้องมีตัวผู้มี ก็มีไปตามสมมติอย่างว่าง แล้วก็ว่างอย่างมี คือว่าง เรียกว่า "ว่าง" แต่มันก็มีการมี มีการมี เราไม่มีอะไร ไม่ถืออะไรเป็นของเรา แต่มันก็มีการมีตามสมมติ มีตามสมมติ กฎหมายช่วยคุ้มครองให้ เงินทองบ้านเรือน ข้าวของ ไร่นา อะไรของเรา เราไม่ได้ยึดถือว่ามี นี่ละ "มีอย่างว่าง ว่างอย่างมี" สองคำนี้จำไว้ให้ดี แล้วมันก็จะไม่มีอะไรกัด

ตายก่อนตาย

            ไอ้เครื่องยาที่ ๖ คือ "ตายก่อนตาย" นี่ฟังยาก แต่ถ้าเข้าใจได้ก็จะวิเศษ ที่จริงมันไม่ได้มีบุคคลตัวตนเราเขา เราคิดว่าเรามีเราอยู่ แล้วพอร่างกายแตกดับ เราก็ว่าเราตาย แต่ถ้าเห็นว่ามันไม่ได้มีเรา มันก็ไม่มีอะไรตาย มันก็เท่ากับตายตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ตายตลอดเวลา นี่เรียกว่า "ตายก่อนตาย" มีคำกลอนเขียนไว้สำหรับเรื่องนี้ว่า

ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี  

 ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง

ตายทำไม เพียงให้ เขาใส่โลง  

 ตายโอ่โถง นั้นคือตาย เสียก่อนตาย

ตายก่อนตาย มิใช่กลาย ไปเป็นผี  

 แต่กลายเป็น สิ่งที่ ไม่สูญหาย

ที่แท้คือ ความตาย ที่ไม่ตาย  

 มีความหมาย ไม่มีใคร ได้เกิดแล

คำพูดนี้ ผันผวน ชวนฉงน  

 เหมือนเล่นลิ้น กะลาวน คนตอแหล

แต่เป็นความ จริงอัน ไม่ผันแปร  

 ใครคิดแก้ อรรถได้ ไม่ตายเอย


             "ตายก่อนตาย" เป็นปริญญาของสวนโมกข์ ใครเรียนจบ ศึกษาจบ ได้ปริญญา "ตายก่อนตาย" คือไม่มีตัวตลอดเวลา ถ้าตายเมื่อตาย มันตายของคนมีตัว มีตัวกู แล้วมันตายก็กลายไปเป็นผี ตายไม่ดีก็ได้ตำแหน่งผีตายโหง ตายเมื่อตาย ก็กลายไปเป็นผี ตายไม่ดีได้เป็นที่ผีตายโหง ตายก่อนตายไม่ใช่กลายไปเป็นผี ยังอยู่ ไม่รู้จักตายนี่แหละตายเสียก่อนตาย หมดตัวกูเสียก่อนตาย จิตเข้าถึงสิ่งที่ไม่รู้จักตาย เข้าถึงอมตธรรม อสังขตธรรม แล้วมันก็ไม่รู้จักตายอีกต่อไป เป็นความตายที่ไม่ตาย

            คนที่ไม่รู้ความหมายฟังไม่ถูก หาว่าเป็นเรื่องเล่นลิ้นตลบตะแลงใช้ไม่ได้ แต่มันกลับเป็นความจริงที่ยิ่ง ว่ามันเป็นสิ่งที่แท้จริงว่า ที่แท้มันไม่ได้มีอะไรเกิด ไม่ได้มีอะไรตาย มันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ธาตุทั้งหลายปรุงแต่งกันขึ้น เป็นไปตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา ไม่ต้องมีตัวตน ไม่ต้องมีของตน

            นี่เราจะต้องดูให้รู้ความจริงที่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไร ดูให้ดี ดูให้ทั่วว่า มันไม่ได้เป็นตัวตน มันเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ มันทำหน้าที่ของมัน ตามเหตุตามหน้าที่แหละ ตาทำหน้าที่ตา หู ทำหน้าที่หู จมูกทำหน้าที่จมูก ลิ้นทำหน้าที่ลิ้น ผมขนเล็บฟันหนังอะไรก็ทำหน้าที่ไปตามนั้น แล้วมันก็หมดปัจจัย มันก็หยุดทำหน้าที่ นี่เป็นเคล็ดที่ลึก ถ้าเข้าถึงได้มันก็พ้นตาย ถ้าเข้าถึงได้มันก็ไม่ตาย คือไม่มีตัวกูอยู่ตั้งแต่เกิดจนดับน่ะ เกิดดับ ๆ ก็เป็นธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติ แต่ว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ที่เกิดดับ ๆ เราเห็นความไม่ตาย เพราะมันไม่มีตัวตนที่จะตาย

            มันมีแต่การไหลไป ๆ เป็นกระแสแห่งการปรุงแต่งของธาตุตามธรรมชาติ ตามกฎของอิทัปปัจจยตา ถ้าเห็นอย่างนี้ เรียกว่า เห็นความตายก่อนตาย ได้ตายเสียแต่ก่อนตาย นี่หกอย่างแล้ว อย่างละชั่ง อย่างละชั่ง

ดับไม่เหลือ

            ทีนี้อย่างที่ ๗ "ดับไม่เหลือ" เรื่องนี้ก็เคยพิมพ์แจกไปแล้ว เรื่องดับไม่เหลือ เราเห็นว่า ต่อสู้ดิ้นรนอยู่นี่เป็นความทรมาณแล้วเป็นทุกข์ คือตัวกู มีตัวกูต่อสู้ มีตัวกูอยู่เท่าไร มันก็มีความทุกข์เท่านั้น ดับตัวกูเสีย มันจะไม่เป็นทุกข์ ดับเหตุดับปัจจัย เข้าถึงความไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็ "ดับไม่เหลือ" เรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ดับอย่างนิพพาน ดับความร้อน ดับกิเลส ดับตัวกู ไม่เกี่ยวกับร่างกายตายหรือไม่ตาย ร่างกายไม่ต้องตายก็ดับได้ ดับไม่เหลือนี่ ร่างกายยังไม่ตาย ยังอยู่นี่ ยังเดินไปเดินมาอยู่นี่ ถ้าดับตัวกูเสียได้ นั่นคือดับไม่เหลือ ไม่มีตัวกูเหลือ

            ไม่มีตัวกูเหลือก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตัว ก็ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เกิดไฟ คือ กิเลส ไม่เกิดไฟ คือความทุกข์ ดับตัวตนเสีย ดับกิเลสเสีย ดับทุกข์เสีย นี่คือดับไม่เหลือ เรายินดีที่จะดับไม่เหลือ พร้อมจะดับไม่เหลือ

ตกกระไดพลอยกระโจน

            ทีนี้ก็พูดประสมโรงเสียเลยว่า ร่างกายนี้มันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ ถ้ามันดับไม่เหลือ มันถึงคราวที่จะดับไม่เหลือก็ดีแล้ว มันจะจบ จบบทเสียที คือมันไม่ต้องมีเครื่องรองรับอยู่อีก แล้วดับเสียทั้งเครื่องรองรับ กายที่เหมือนกับเปลือก จิตใจเหมือนกับเนื้อใน ถ้าจิตใจมันดับ ร่างกายมันก็หมดความหมายไปเอง แต่ถ้าว่าความตายมันมาตัดบทก็ปล่อย สมัครดับไม่เหลือ ถ้ามันเกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บจะตายขึ้นมา จะตายอยู่แหมบ ๆ นี้แล้ว โรคภัยไข้เจ็บรบกวนนี่ก็สมัคร สมัครดับไม่เหลือ ไม่ต้องต่อสู้ ไม่ต้องดิ้นรนให้มันลำบากยุ่งยาก

            เคยยกตัวอย่างว่า แม้เดินไป ควายมาข้างหลังแล้วขวิดปึ๊บให้แล้ว ก็สมัครตายเถอะ ไม่ต้องดิ้นรนให้เป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องอะไร ไม่ต้องเป็นทุกข์ในการตาย ไม่ต้องตายให้เป็นทุกข์ นี่สมัครดับไม่เหลือ หรือว่า เดินอยู่กลางถนนรถยนต์ทับแป๊บเข้าไปแล้วก็พอใจ สมัครดับไม่เหลือ คำเดียวแล้วก็เลิกกัน

            นี่เรียกว่าสมัครที่จะกระโจน ตกกระไดพลอยกระโจน ดับไม่เหลือ เลยไม่มีคนทุกข์ ถ้าว่ามันไม่ตาย มีคนเก็บมารักษาให้หาย มันก็ไม่เป็นไร แต่เราก็ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน ยาศักดิ์สิทธิ์นั้นก็คือความสมัครดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือทำให้ไม่เป็นทุกข์

            เดี๋ยวนี้ก็เตรียมพร้อม เตรียมพร้อมก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังไม่ตาย ขี้เกียจวุ่นวาย ขี้เกียจเวียนว่าย ขี้เกียจเป็นไปตามกรรม ขี้เกียจที่จะยุ่งยากลำบาก สมัครดับไม่เหลือ ข้าพเจ้าพร้อมที่จะสมัครดับไม่เหลือ ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีความกลัว ไม่มีวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์อะไรที่ไหน สมัครดับไม่เหลือแล้ว มันก็จะไม่มีความกลัวว่าจะต้องตาย เพราะมันสมัครดับไม่เหลืออยู่แล้ว จะไปกลัวอะไรอีกที่จะต้องตายน่ะ เป็นยาแก้กลัว ยาแก้ทุกข์อันสุดท้าย เรียกว่า สมัครดับไม่เหลือ อันนี้สำคัญมาก อย่างที่ ๗ นี่ จึงต้องเอา ๖ เท่า

เสกคาถา

            อย่างอื่นเอาอย่างละหนึ่งส่วน ๆ อย่างสุดท้ายเอา ๖ ส่วนให้มันมากเข้าไว้ นี่ก็เสกคาถา "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือของตน" คาถานั้นว่าอย่างนั้น สิ่งทั้งหลานทั้งปวงเป็นสังขตะก็ดี เป็นอสังขตะก็ดี เป็นสังขารก็ดี เป็นวิสังขารก็ดี เป็นอะไรก็ตามเถิด ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่ใคร ๆ จะควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน นี่ละคาถาสูงสุด หัวใจพระพุทธศาสนา เอามาเสกยา

            ยาของเรา ๗ อย่างนี่ มาเคล้ากันใส่หม้อเสกคาถา "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" แต่ว่าคนเสกต้องไม่โง่นะ คนเสกต้องรู้ด้วยว่าหมายความว่าอะไร คนเสกยานี่ต้องรู้ด้วยว่ามันหมายความว่าอะไร อย่าว่าพึมพัม ๆ ไปเฉย ๆ "สิ่งทั้งปวง หรือธรรมทั้งปวง อันใคร ๆ ไม่ควรฝังตัวเข้าไปด้วยความโง่ ว่ามันเป็นตัวกู มันเป็นของกู" ว่าอย่างนี้ก็ได้ ว่าเป็นไทย ๆ อย่างนี้ก็ได้

            ใส่น้ำต้มยาให้เหลือหนึ่งในสาม ให้มันเข้มข้น แล้วกินทุกวัน น่ะ หมายความว่า ทุก ๆ วัน มีความรู้สึกนึกคิดทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ทุกวัน ๆ ต้น ไม่รู้ไม่ชี้ แล้วก็ช่างหัวมัน เช่นนั้นเอง ไม่มีตัวกู-ของกู ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น ตายก่อนตาย ดับไม่เหลือ

สรรพคุณของยา คือ เย็น

            นี้เรียกว่า ยาแก้สรรพโรค หายเป็น นิพพุติ คือ เย็น ชีวิตเย็นเป็นพระนิพพาน เย็นตลอดกาล นิพพุติ เย็นชั่วคราว เย็นยังไม่ถึงที่สุด เป็นนิพพานเย็นถึงที่สุด ไม่มีอะไรที่จะต้องให้เป็นปัญหายุ่งยาก ไม่มีความเป็นบวก ไม่มีความเป็นลบ ไม่มีได้ ไม่มีเสีย ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล ไม่มีอะไรหมด นี่สรรพคุณของยา สรรพคุณของยาทำให้เย็นคือนิพพาน

            นิพพาน แปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าตายหรอก เลิกเข้าใจผิดกันเสียทีเถอะ นิพพานแปลว่าตายน่ะมันผิด พระบาลีคำนี้มันแปลว่าเย็น ๆ คือมันไม่ร้อน ไม่ร้อนเพราะมันไม่ทุกข์ เพราะไม่ทุกข์มันไม่มีกิเลส มันไม่ร้อน มันดับเย็นเป็นนิพพาน ยานี้กินเข้าไปแล้วมีสรรพคุณเย็นอย่างนี้ แก้สรรพโรค คือโรคตัวกูของกู

            ในชั้นกามาวจร เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดากามาวจรก็แก้โรคนี้ได้ ไม่เป็นคนบ้า กามาวจร ชั้นรูปาวจร พรหมโลก ที่มีรูปก็มันบ้าที่จะเป็นรูปพรหม ในอรูปาวจรก็มันจะเป็นบ้า เป็นพรหมที่เป็นอรูป นี่ไม่หลงใหลมัวเมาในกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ก็เรียกว่าหมดสรรพโรค

ทำให้อยู่เหนือโลก

            เป็นโลกอุดร คือ อยู่เหนือโลก เหนือโลกเป็นโลกอุดรน่ะ ไม่ใช่ต้องไปอยู่ในฟ้าในอะไรที่ไหน อยู่กลางโลก แต่ว่าโลกไม่ท่วมทับ โลกนี้ไม่ทำอะไรได้ โลกนี้ไม่ทำให้เป็นปัญหา สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความทุกข์ในโลกมันทำอะไรเราไม่ได้ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกมันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ความดีใจเสียใจในโลกก็ทำอันตรายเราไม่ได้ บุญบาป สุขทุกข์ก็ทำอะไรเราไม่ได้ กุศลหรืออกุศลก็ปรุงแต่งอีกไม่ได้ อยู่เหนือความปรุงแต่งของสิ่งทั้งปวง เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว เหนือทุกอย่าง ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก อิทธิพลใด ๆ อำนาจใด ๆ ฤทธิ์เดชใด ๆ ในโลกนี้ครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ จิตใจนี้มันอยู่เหนือโลกอย่างนี้ นี่เรียกว่า "โลกอุดร"

            ร่างกายมันก็อยู่ในโลกนี้ กินข้าวกินปลาไปตามแบบคนธรรมดาสามัญนี้ หรือว่าจะครองบ้านครองเรือนอะไรตามมีตามได้นี้ แต่อย่าให้ตกอยู่ใต้อำนาจของของที่เป็นคู่ ๆ เป็นบวกเป็นลบ เป็นดีเป็นชั่วนั้นน่ะ ถึงจะเป็นพระอรหันต์ตอนแรก ก็เดินตามรอยพระอรหันต์ให้มันปกติให้มากเข้าไว้ ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลกได้ตามส่วนเหมือนกัน

            คำว่า "โลกอุดร" โลกุตรธรรมนี่เขาลดลงมาถึงพระโสดาบันนะ แม้เป็นพระโสดาบันก็เรียกว่า เริ่มอยู่เหนือโลกแล้ว สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ก็สูงขึ้นไปจนถึงที่สุด กินยานี้แล้วหมดสรรพโรค แล้วจิตใจก็อยู่เหนือโลก ๆ เหนือโลกไปตามลำดับจนถึงที่สุด

ทบทวนฉลากยาให้จำได้ขึ้นใจ

            ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจกันใหม่ เอาฉลากยาไปเหน็บไว้ข้างฝา มอดกินหมดแล้วก็ไม่รู้ ไปดึงเอามาอ่านดูใหม่ ว่ามันหมายความว่าอย่างนี้ แจกไปนานแล้ว คงมีคนได้รับประโยชน์ ก็มาบอกมาติดต่ออยู่บ้างเหมือนกัน แต่เกรงว่ายังน้อยนัก ยังไม่พอ จึงเอามาเตือนอีก เอามาปลุกเป่าอีกว่า ให้หามาตามฉลากยา ค้นหาเครื่องยาจากที่ไหน หาที่เนื้อที่ตัว ที่กาย วาจา ใจ หาให้พบเครื่องยาทั้ง ๗ อย่างนี้ แล้วมาพิจารณา คือ ต้มกิน ๆ น่ะ คือพิจารณาให้เกิดญาณ มองเห็นตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นอย่างนี้ ๆ ๆ ๆ อยู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละสามหน ๑ ช้อนชา ๓ เวลา จิบน่ะ อย่างน้อยวันละ ๓ หนน่ะ มองเห็นความจริงเหล่านี้อยู่ เรียกว่า "กินยาแก้สรรพโรค" เอ้า อ่านดูอีกทีแล้วก็จะจบ ว่า

ต้น "ไม่รู้-ไม่ชี้" นี่เอาเปลือก

ต้น "ช่างหัวมัน" นั้นเลือก เอาแก่นแข็ง

"อย่างนั้นเอง" เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง

ต้น "ไม่มีกู-ของกู" นี้แสวง เอาแต่ใบ

ต้น "ไม่น่าเอา-ไม่น่าเป็น" เฟ้นเอาดอก

"ตายก่อนตาย" เลือกออก ลูกใหญ่ ๆ

หกอย่างนี้ อย่างละชั่ง ตั้งเกณฑ์ไว้

"ดับไม่เหลือ" สิ่งสุดท้าย ใช้เมล็ดมัน

หนักหกชั่ง เท่ากับ ยาทั้งหลาย

เคล้ากันไป เสกคาถา ที่อาถรรพณ์

"สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" อัน

เป็นธรรมชั้น หฤทัย ในพุทธนาม

จัดลงหม้อ ใส่น้ำ พอท่วมยา

เคี่ยวไฟกล้า เหลือได้ หนึ่งในสาม

หนึ่งช้อนชา สามเวลา พยายาม

กินเพื่อความ หมดสรรพโรค เป็นโลกอุดร



            ร้องเพลงเล่นก็ได้ ให้เด็ก ๆ ร้องเพลงเล่นก็ได้ จะได้เตือนสติคนแก่ ๆ ให้ไม่ลืม

            เป็นอันว่าวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องยาแก้สรรพโรค เป็นโลกอุดรอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เคยพิมพ์ฉลากยาแจกไปแล้ว แล้วคนก็พิมพ์แจกต่อ ๆ ไปเป็นอันมาก ทีนี้ก็มาอธิบายให้ชัดเจนเสียอีกที

            กินหมากพลูทำไมกินได้ทุกวันล่ะ กินยาแก้โรคทางจิตกันเสียบ้าง เหมือนกับกินหมากกินพลูน่ะ กินกันบ่อย ๆ ทั้งวัน ไม่เป็นโรคทางวิญญาณ แล้วโรคจิตก็ไม่เกิด โรคกายก็ไม่เกิด จิตวิปริตก็เพราะว่าความรู้ สติปัญญามันวิปริต ร่างกายวิปริตก็เพราะจิตมันวิปริต ฉะนั้นตัดต้นเหตุเสียมาแต่ต้นตอว่า โรคทางวิญญาณก็ไม่มี โรคทางจิตจึงไม่มี โรคทางจิตไม่มี โรคทางกายก็ไม่มี มันไม่โง่ มันไม่เขลา มันไม่ทำอะไรผิดพลาดให้เกิดโรคขึ้นมา

            หวังว่าเราจะเป็นผู้พ้นจากโรคหรือทุกข์สมตามความมุ่งหมายในพระพุทธศาสนาว่า จะอยู่เหนือทุกข์ทั้งปวง คือเหนือโลกทั้งปวง การเหนือโลกทั้งปวงนั้นเองเป็นโลกอุดร

            การบรรยายก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ เปิดโอกาสให้พระคุณเจ้าทั้งหลายสวดพระธรรมคณะสาธยาย ส่งเสริมกำลังใจให้เข้มแข็ง ในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปสืบต่อไป ณ กาลบัดนี้