ธรรมเทศนาธรรมเรื่อง
วิธีชนะความตาย
(อุณหิสสวิชยกถา)

โดย
พุทธทาส ภิกขุ

สวนโมกขพลาราม
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


(จากธรรมเทศนาแสดงในงานฉลองอายุของอุบาสิกาผู้หนึ่ง เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๐๘ ที่จังหวัดเพชรบุรี )


            นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
            อตฺถิ อุณฺหิสฺสวิชโย ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร
            สพฺพสตฺตหิตตฺถาย ตํ ตวํ คณฺหาหิ เทวเตติ
            ธมฺโม สกฺกจฺจํ โสตพฺโพ-ติ

            ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา-ความเชื่อ และวิริยะ-ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา

            หัวข้อธรรมเทศนาในวันนี้ ดังที่ได้ยกขึ้นไว้นั้นมีอยู่ว่า “อตถิ อุณหิสสวิชโย ธมโม โลเก อนุตตโร” มีใจความว่า ธรรมะซึ่งเป็นเหมือนผ้าประเจียดนั้นมีอยู่ในโลก

            เนื่องด้วยการบำเพ็ญกุศล ในวันนี้ เป็นการบำเพ็ญกุศล เพื่อความยืดยาวของอายุ เป็นเหตุให้ระลึกนึกถึง สิ่งซึ่งจะอำนวยให้ สำเร็จตามความประสงค์นั้น สิ่งที่จะอำนวยให้สำเร็จประโยชน์เช่นนี้มิได้มีสิ่งอื่น นอกจากธรรมะ ซึ่งเป็นเหมือนผ้าประเจียด ดังที่มีเรื่องเล่ากันไว้ในคัมภีร์พิเศษบางแห่งว่า เมื่อเทวดาตน หนึ่งเดือดร้อน เนื่องด้วยจะถึงคราวสิ้นสุดลงแห่งอายุ ได้ดิ้นรนมี ประการต่าง ๆ ไม่มีใครจะช่วยให้ความเดือดร้อนนั้นระงับไปได้ ในที่สุดได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระองค์ได้ตรัสถึงธรรมะข้อนี้ คือข้อที่ขึ้นด้วยบทว่า “อตถิ อุณสหิสสวิชโย ธมโม โลเก อนุตตโร” อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่พุทธบริษัทชาวไทยเรา

            เรื่องที่จะกล่าวนี้จะเท็จจะจริงอย่างไรไม่สำคัญ คือไม่ต้องเชื่อตามเรื่องนั้น ๆ ก็ได้ หากแต่ว่าจะต้องพินิจพิจารณาดูด้วยปัญญาของตนเองว่า เรื่องทำนองนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ นี้เป็นกฎเกณฑ์ของพุทธบริษัททั้งหลาย

            พุทธบริษัททั้งหลายไม่เชื่อตามที่บุคคลอื่นบอก การที่เป็นดังนี้ ก็เพราะปฏิบัติตามคำสั่งของพระพุทธเจ้าที่ว่า “อย่าเชื่อตามบุคคลอื่น” ดังที่ปรากฏอยู่ในบาลีเช่น กาลามสูตร เป็นต้น ซึ่งมีคำตรัสไว้ว่า อย่าเชื่อด้วยเหตุที่ว่า ผู้นี้เป็นครูของเรา หรือ อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่า คำกล่าวนี้มีอยู่ในปิฎก

            เราควรจะคิดดูให้ดี ว่าการที่พระพุทะองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้มีความมุ่งหมายอย่างไร : “อย่าเชื่ออะไรโดยที่ไม่มีเหตุผลแต่เพียงว่าผู้นี้เป็นครูของเรา” นี้ย่อมหมายความว่าแม้พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นครูของเรา แต่เหตุใดพระองค์จึงตรัสไม่ให้ เชื่อ. …ข้อนี้เป็นหลักของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอย่างนั้นเอง.

            เมื่อพระองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่ ได้ตรัสไว้ในทำนองนี้จนถึงกับมีการถือกันเป็นหลักทั่วไป : แม้พระสารีบุตรก็ยังได้ยืนยันข้อนี้ แก่พระพุทธเจ้า ในที่เฉพาะพระพักตร์ว่า:- ข้าพระพุทธองค์มิได้เชื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าดอก แต่จักเชื่อความเห็นแจ้งของตนเอง ด้วยตนเอง พระพุทธองค์ได้ทรงสาธุ .

            และข้อที่ตรัสว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุว่าข้อความนี้มีในปิฎก (ไม่ได้พูดถึงไตรปิฎก เพราะว่ายังมิได้มีการจัดเป็นพระไตรปิฎก จึงได้ตรัสแต่เพียงว่า: อย่าเชื่อ เพราะเหตุที่ข้อความนี้ มีในปิฎก) ข้อนี้ก็เหมือนกันกับที่ตรัสว่าอย่าเชื่อแม้แต่พระองค์เองตรัสในทันที : จะต้องพิจารณาดูให้เห็นตามที่เป็นจริง เชื่อด้วยสติปัญญาของตน แล้วจึงเชื่อตามที่ตรัสนั้นหรือตามที่มีอยู่ในปิฎกทั้งหลาย.

            เป็นอันว่า ข้อแรกที่สุดเราจะต้องพินิจพิจารณาดูว่า สิ่งนี้เป็นอย่างไร จะควรเชื่อหรือไม่ .

            ข้อที่กล่าวว่า เทวดาเดือดร้อนด้วยการที่จะต้องสิ้นอายุแล้วไปทูลขอวิธีที่จะระงับความเดือดร้อนนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสคำดังกล่าวนี้ จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพียงไรนั้น เราต้องพิจารณาดู . ถ้าถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้มีขึ้นจริง ๆ คำกล่าวนี้ก็ระบุชัดอยู่ในตัวแล้วว่า “ธรรมะซึ่งเป็นเหมือนผ้าประเจียดนั้นมีอยู่ในโลกนี้.” ธรรมะซึ่งเป็นเหมือนผ้าประเจียด หมายความว่า ธรรมะซึ่งสามารถจะป้องกันอันตรายแม้กระทั่งความตาย

            เมื่อพูดถึงสิ่งซึ่งป้องกันความตาย คนก็จะพากันสงสัยว่า จะป้องกันได้อย่างไร? สิ่งซึ่งจะป้องกันความตายนั้นมีอยู่ ๒ ความหมาย:-

            ความหมายอันหนึ่งก็คือ อย่าให้ตายก่อนอายุขัย นี้หมายความว่า ให้อยู่ไปจนถึงสิ้นอายุขัย เท่าที่จะอยู่ได้เพียงไรนี้ก็อย่างหนึ่ง.

            อีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นการป้องกันโดยสิ้นเชิงคือ ไม่ให้มีความตายโดยประการทั้งปวง นี้เป็นธรรมะสูงสุด. เมื่อเข้าถึงธรรมะสูงสุดนั้นแล้ว คนนั้นจะไม่มีความเกิด ไม่มีความแก่ ไม่มีความตาย เพราะถอนอุปาทานว่า “เรา” ว่า “ตัวเรา” หรือ “ของเรา” เสียได้ , ไม่มีตัวเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ตัวตนของเรา หรือของเขาอื่น; เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่มีความตาย; เป็นผู้ อยู่ เหนือความตาย พ้นจากความตายโดยสิ้นเชิง.

            ธรรมะเป็นเครื่องกำจัดเสีย หรือป้องกันเสียซึ่งความตายมีอยู่เป็นสองความหมายดังนี้ . แต่เหมือนกันตรงที่เรียกว่า “ธรรม” เหมือนกัน: จะป้องกันความตายได้ ชั่วที่จะให้อยู่ไปจนถึงอายุขัยนั้นต้องใช้ธรรมะ; จะป้องกันไม่ให้ตายเลยโดยประการทั้งปวง คือกลายเป็นผู้รู้จัก หรือถึงความไม่ตายที่เรียกว่า “นิพพาน” ไปนี้ก็ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าธรรม เพราะฉะนั้นควรจะพิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นี้ว่ามีอะไรบ้าง; และจะป้องกันความตายได้อย่างไร.

            อาตมาอยากจะให้ท่านสาธุชนทั้งหลาย ได้ทราบถึงความหมายของคำว่า “ธรรม” ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อประโยชน์แก่ การศึกษาธรรมะต่อไปข้างหน้า. คำว่า “ธรรม” โดยความหมายทั่วๆ ไปนั้น มีทางที่จะพิจารณาได้ดังนี้ :-

            ตามภาษาบาลี คำ ๆ นี้ นับว่าเป็นคำประหลาดพิเศษที่สุด; หรือจะถือว่า พิเศษ ประหลาดที่สุดในโลกก็ยังได้ ; เพราะคำว่า “ธรรม” คำเดียวสั้น ๆ; หมายถึงทุกสิ่งไม่ว่าอะไรหมด. ใคร ในภาษาไหน มีคำเช่นคำนี้บ้าง คือคำเดียวหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ว่าอะไรหมด. แต่ในภาษาบาลีนี้มี และเราก็รับเอามาใช้ในภาษาไทยของเราโดยไม่ต้องแปล เรียกว่า “ธรรม” ไปตามเดิม ตามภาษาบาลี ; เมื่ออยากาจะทราบว่า คำว่า ธรรม ได้เล็งถึงอะไรแล้ว ก็มีทางที่จะพิจารณาได้ดังนี้ ;

            นัยอันแรก คำว่า “ธรรม” นี้หมายถึง ธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งในทางวัดวาของเรา มักจะเรียกว่า “สภาวธรรม” ธรรมที่เป็นอยู่เอง, หรือสิ่งที่เป็นอยู่เอง; ถ้าเรียกโดยภาษาชาวบ้าน หรือนักศึกษาอย่างปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่าธรรมชาติ . นัยทีแรกหมายถึงตัวธรรมชาติทั้งหลายทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยกเว้น จะเป็นรูปธรรม, นามธรรม หรือความคิดความนึกอะไรก็ ตาม ซึ่งมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายตามธรรมชาติแล้ว เรียกว่าธรรมชาติทั้งนั้น แต่ภาษาบาลีเรียกว่า “ธมฺม” เฉย ๆ

            นัยที่ ๒ คำว่า “ธรรม” หมายถึง กฎของธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติทั้งหลาย ย่อมมีกฎอยู่ในตัวมันเอง; เช่นสิ่งที่ เรียกว่า ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำ เหล่านี้เป็นธรรมชาติ , แต่ในสิ่งนั้น ๆ มีกฎของธรรมชาติว่าจะต้องเป็นอย่างไร เช่นถูกความร้อนเข้าจะเป็นอย่างไร. ถูกความเย็นเข้าจะเป็นอย่างไร. หรือว่าสังขารร่างกายของเรา หรือของสัตว์ทั้งหลายก็ ตาม แม้ที่สุด แต่ต้นไม้ที่เป็นของธรรมชาติก็ตามย่อมมีกฎเกณฑ์ อยู่ในสิ่งนั้น ๆ ว่าร่างกายนี้จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ ; ต้นไม้ ภูเขา ก้อนอิฐ ก้อนหิน ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็มีกฎเกณฑ์ว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ . ส่วนที่เป็นกฎเกณฑ์นี้เราเรียกว่ากฎของธรรมชาติ แต่กฎของธรรมชาติชนิดนี้ ในภาษาบาลีก็คงเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า “ธมฺม” หรือ “ธรรม” เฉย ๆ อย่างเดียวกัน หรือที่เรามักจะเรียกกันตามภาษาวัดวาอารามนี้ว่า “สัจจธรรม” เมื่อเราเรียกว่าสภาวธรรม เราหมายถึง ตัวธรรมชาติ เมื่อเราเรียกว่าสัจธรรม เราหมายถึงกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

            นัยที่ ๓ นั้น คำว่า “ธรรม” หมายถึง หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ถูกตรงตามกฎของธรรมชาติ อย่างนี้เราเรียกว่า ปฏิบัติธรรม แต่ภาษาบาลีก็คงเรียกว่า “ธมฺม” หรือ “ธัมมะ” เฉย ๆ อยู่นั่นเอง. มนุษย์เกิดมามีกฎของธรรมชาติครอบงำอยู่ มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น ๆ นับตั้งแต่หน้าที่ที่จะแสวงหาอาหารให้มีชีวิตเป็นอยู่ ตลอดถึงหน้าที่ต่าง ๆ ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อสัตว์ ต่อบุคคลที่มาเกี่ยวข้องด้วยจนกระทั่งถึงหน้าที่สูงสุด คือกระทำตนให้พ้นจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง; แม้ที่สุดแต่การปฏิบัติเพื่อให้ลุถึงพระนิพพาน ก็ยังเรียกว่า หน้าที่ของมนุษย์อยู่นั่นเอง และหน้าที่ทั้งหมดนี้ล้วนแต่จะต้องอนุโลมให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ จะฝืนกฎของธรรมชาติไม่ได้ .

            การที่มนุษย์มีความทุกข์ ก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ การที่มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องเอาชนะความทุกข์ให้ได้ จึงต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติด้วย แม้ว่าจะเป็นไปในทำนองตรงกันข้าม ดังนั้น ขึ้นชื่อว่า “หน้าที่” แล้ว จะต้องอนุโลมตามกฎของธรรมชาติทั้งนั้น

            ดังนั้น เป็นอันว่า คำว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมะ” เพียงคำเดียวนี้ หมายถึงของ ๓ อย่างโดยสมบูรณ์ คือ:- ตัวธรรมชาติ อย่างหนึ่ง กฎของธรรมชาตินั้นอย่างหนึ่ง หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาตินั้นอีกอย่างหนึ่ง

            ดังนั้น เป็นอันว่า คำว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมะ” เพียงคำเดียวนี้ หมายถึง ๓ อย่างโดยสมบูรณ์ คือ:- ตัวธรรมชาติ อย่างหนึ่งกฎของธรรมชาติ นั้นอย่างหนึ่งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ นั้นอีกอย่างหนึ่ง

            ท่านสาธุชนทั้งหลาย พิจารณาดูเองก็แล้วกัน ว่าคำ ๆ นี้เป็นที่น่าประหลาดมหัศจรรย์สักเท่าไร เพราะว่าได้รวมสิ่งทุกสิ่งไว้ในคำเพียงคำเดียว

            ที่สำคัญที่สุด ก็คือสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ

            ดังนั้นถ้าเราจะศึกษาดูถึงตำราอันว่าด้วยถ้อยคำ แม้ที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลโน้น คำว่า “ธรรม” นี้ เขาก็แปลกันว่า “หน้าที่ ” หรืออีกอย่างหนึ่งก็ว่า ถ้าไม่เอาศาสนาเป็นเกณฑ์ เอาเพียงภาษาพูดโดยทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ ถามว่า “ธรรมะ”คืออะไร ในปทานุกรมเก่า ๆ เหล่านั้น ก็แปลคำว่า “ธรรม” ว่า “หน้าที่ ”

            ข้อนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า ในบรรดาคำแปล หรือความหมายของคำว่าธรรมทั้งสามอย่างนั้น คำแปลอย่างสุดท้าย คือที่แปลว่า “หน้าที่ ” นั้นสำคัญกว่าคำแปลทั้งหลาย เพราะเหตุว่าเราจะรอดจากความทุกข์ เอาชนะความทุกข์ได้ก็เพราะการทำตามหน้าที่ให้ถูกกฎของธรรมชาติแต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องรู้เรื่องของธรรมชาติ จะต้องรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติไว้ด้วย เราจึงจะสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วเอาชนะทุกข์ได้

            เมื่อเป็นดังนี้ จะเห็นได้ทันทีว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ก็หมายความว่า เรามีความรู้เรื่องธรรมชาติ และเรื่องกฎเกณฑ์ของธรรมชาติไปด้วยในตัว โดยไม่ต้องสงสัย

            ยกตัวอย่างเช่น เรารู้จักทำมาหากิน ประกอบอาชีพให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี อย่าได้เข้าใจว่า เรามีความรู้เพียงหน้าที่อันนี้แท้จริงในความรู้อันนั้น มันมีความรู้เรื่องธรรมชาติรวมอยู่ด้วยแต่ ความรู้หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัตินั้น เป็นส่วนสำคัญ

            เราจึงเพ่งเล็งกันแต่ความรู้เรื่องหน้าที่ หรือทำหน้าที่ให้สำเร็จก็แล้วกัน อย่างนี้ใช้ได้ในกรณีอย่างโลก ๆ ทั่ว ๆ ไป

            แต่ถ้าในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ หรือความดับทุกข์ในขั้นสูงสุดแล้ว จะต้องสนใจเรื่องตัวธรรมชาติ และเรื่องตัวกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ให้มากเป็นพิเศษ

            ดังนั้นเราจึงได้ศึกษาเรื่องขันธ์เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะหรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นตัว ธรรมชาติ กันอย่างละเอียดลออ แล้วก็ ศึกษากฎของธรรมชาติ เช่นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กันอย่างละเอียดลออ แล้วจึงศึกษาเรื่องการปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ตามกฎธรรมชาติ เช่นเรื่องอริยมรรคมีองค์แปดเป็นต้น กันอย่างละเอียดลออ เราจึงสามารถเอาชนะความทุกข์ได้เป็นลำดับ ๆ… จนกระทั่งบรรลุถึงธรรมะสูงสุดคือ นิพพาน ดังนี้

            นี่ เราจะเห็นได้ว่า คำว่า “ธรรม” คำเดียว เป็นคำประหลาดมหัศจรรย์อย่างไร และจะเป็นสิ่งที่มีอานุภาพอย่างยิ่งถึงกับสามารถปะทะความตาย เป็นเหมือนผ้าประเจียดต่อสู้กับมัจจุราชทั้งหลายได้อย่างไร ก็จะได้ดูกันต่อไป

            คนเราถ้าไม่ทำหน้าที่ที่เรียกว่าธรรมแล้ว จะต้องตายเช่นไม่หาอาหารกิน ก็จะต้องตาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน การไม่ทำมาหากินเป็นการไม่ปฏิบัติธรรมะอย่างยิ่ง หรือเป็นการปฏิบัติผิดธรรมะอย่างยิ่ง ในเมื่อธรรมะแปลว่า หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผู้ที่ไม่ทำมาหากินจึงต้องตาย นี้เรียกว่า ไม่มีธรรมะจึงต้องตาย แต่ถ้ามีธรรมะเข้ามา คือ ทำหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วไซร้เขาก็ไม่ต้องตาย นี้เรียกว่า ธรรมะเป็นเหมือนผ้าประเจียดสามารถปะทะกับความตาย ยังบุคคลนั้นให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ ดังนี้

            ทีนี้ การประพฤติทางธรรมจรรยาทั่ว ๆ ไป ที่เกี่ยวกับสังคมก็เหมือนกันอีก เป็นหน้าที่ที่แต่ละคนจะต้องประพฤติจะต้องปฏิบัติ เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติ ก็คือไม่มีธรรมะ ไม่มีธรรมะ ก็เหมือนไม่มีผ้าประเจียดสำหรับปะทะกับความตาย เขาจึงต้องตาย บางทีก็ตายโดยร่างกาย บางทีก็ตายโดยทางวิญญาณ คือตายจากคุณความดี คือไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่จะเป็นความดี สำหรับเป็นมนุษย์อีกต่อไป; นี้ก็เรียกว่าความตาย รวมความแล้วก็ว่า ขาดธรรมะแล้ว ก็จะต้องตาย

            ทีนี้ ก็มาถึงเรื่อง โรคภัยไข้เจ็บ ถ้าคนเรามีธรรมะในความหมายที่ว่า เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติแล้ว คนนั้นก็ยากที่จะมีโรคภัยไข้เจ็บ หรือยากที่จะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่เรียกว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่ว ๆ ไปแล้วย่อมพอที่จะกล่าวได้ ว่า มีอยู่ ๒ อย่างคือ โรคทางกาย และ โรคทางวิญญาณ

            โรคทางกาย นั้น ได้แก่ความเจ็บไข้ทางกายทั่วๆ ไปนั้นอย่างหนึ่ง รวมทั้งความเจ็บไข้ที่เนื่องด้วยโรคเกี่ยวกับจิตที่เราต้องไปส่งโรงพยาบาลโรคจิตนี้อีกอย่างหนึ่ง ทั้งสองนี้ก็รวมเรียกว่าโรคทางกาย หรือถ้าไม่อยากเรียกรวมกันก็จะแยกออกเป็น ๓ อย่างได้ : โรคทางกายอย่างหนึ่ง โรคทางจิตอย่างหนึ่ง โรคทางวิญญาณอีกอย่างหนึ่ง โรคทางกายก็รักษาที่โรงพยาบาลตามปกติ โรคทางจิตก็ไปโรงพยาบาลโรคจิต ส่วนโรคทางวิญญาณนั้น ต้องไป โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า

            โรคทางวิญญาณ หมายความว่า ร่างกายก็สบายดีจิตใจก็ปกติดี มีอนามัยแข็งแรงดี มีทรัพย์สมบัติเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว แต่แล้วก็ยังต้องน้ำตาไหลอยู่บ่อย ๆ ต้องมีความทุกข์ทรมานบางอย่างบางประการอยู่บ่อย ๆ ส่วนนี้เรียกว่า “โรคทางวิญญาณ” ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า แต่แล้วก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากธรรม

            ทีนี้เราก็มาคิดดูกันใหม่ สำหรับโรคที่เรียกกันว่าโรคทางกาย หรือโรคทางจิตนั้น ก็มีมูลมาจากการขาดธรรมด้วยเหมือนกัน และจะหายได้ก็ด้วยการมีธรรม ยิ่งกว่าการกินหยูกกินยาโดยแน่นอน คือว่าคนเราจะเจ็บป่วยอะไรขึ้นมาก็เนื่องจากการทำผิดหน้าที่ตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างตั้งต้นตั้งแต่เพราะไม่ระวัง จึงได้มีการเจ็บป่วย เป็นบาดแผลอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นี่เรียกว่าขาดสติสัมปชัญญะ ก็ต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัว เรียกว่าขาดธรรมที่ชื่อว่า “สติสัมปชัญญะ” ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ มนุษย์จะต้องมี

            ทีนี้คนเรายังมีโรคอื่นอีกหลายอย่าง นับตั้งแต่ที่เรารู้จักกันมาก ๆ เช่นโรคประสาท โรคความดันโลหิตสูง แม้โรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร เขามักจะคิดกันเสียว่า นั่นมันเป็นโรค แล้วก็จะต้องรักษาตามวิธีของการรักษาโรค เขาลืมไปเสียว่า อาการชนิดนั้นเกิดขึ้นมาเพราะขาดธรรม

            คนเราเป็นโรคกระเพาะอาการเพราะขาดธรรมะ ข้อนี้ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่า เป็นผู้ไม่ระมัดระวังอาหารการกิน แต่ข้อนี้หมายความว่า คนโดยมากเมื่อขาดธรรมะแล้วย่อมมีจิตใจเศร้าหมอง มีจิตวิตกกังวล วิตกกังวลด้วยความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องตัวตนหรือของตนมากเกินไปนอนหลับไม่สนิท กระทั่งนอนไม่หลับ กระทั่งอยู่ด้วยความวิตกกังวล เป็นการทนทรมาน ความวิตกกังวลนี้ทำให้นอนหลับยากและเมื่อเป็นไปมากเข้า ๆ ก็มีผลทางร่างกายทำให้เกิดโรคนับตั้งแต่โรคกระเพาะอาหารเป็นต้นไป เพราะว่าความวิตกกังวลนั้น ทำให้เสียโลหิตที่หล่อเลี้ยงร่างกายไปเป็นอันมากเพราะไปถูกทำลายเสียมากมาย ที่ส่วนสมอง ส่วนกระเพาะอาหารที่จะย่อยอาหารก็ขาดแคลนโลหิต นานเข้ากระเพาะอาหารก็ผิดปกติ คนเราก็เป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดที่รักษาได้แสนยากเหลือที่จะรักษาได้โดยง่าย จนหมดศรัทธา จนตายไปก็มี

            นี่ไม่ใช่โรคทางกายล้วน ๆ พิจารณาดูจะเห็นได้ว่าเพราะขาดธรรมะ เพราะโรคทางวิญญาณเป็นต้นเหตุ เราจึงเป็นโรคทางกาย เช่น โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น หรือว่าถ้าความวิตกกังวลนั้น ได้ทำให้เราวิกลจริต ต้องส่งไปโรงพยาบาลโรคจิต หรือโรงพยาบาลทางประสาทก็ตาม นี้ก็มันไม่ใช่เรื่องทางกายล้วน ๆ มันเป็นเรื่องของโรคทางวิญญาณที่ทำให้เกิดอาการชนิดนั้นขึ้นมา ต้องวิกลจริต ต้องไปโรงพยาบาลประสาทอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่มีวันหาย ก็เพราะว่าต้นเหตุอันแท้จริงไม่ได้รักษา คือไม่ได้รักษาโรคทางวิญญาณ ให้เป็นคนหยุดความวิตกกังวลเสีย ดังนั้นจะรักษาโรคประสาทหรือโรคความดันโลหิตกันสักเท่าไร ๆ มันก็ไม่มีทางหายได้เว้นเสียแต่ว่า จะได้รักษาโรคทางวิญญาณ คือมีธรรมะเป็นเครื่องกำจัดความวิตกกังวลเสียได้ ไม่ต้องกินยาอะไร โรคภายนอกเหล่านั้นก็หายไปเอง เป็นอย่างนี้ . นี่เรียกว่า โรคทั้งหลายมีมูลมาจากโรคทางวิญญาณ คือการขาดธรรมนั่นเอง

            การแก้ไขโรคในทางวิญญาณนั้นเป็นหน้าที่ มนุษย์ละเลยหน้าที่ จึงต้องได้รับโทษคือความทุกข์ หรือความตายแต่ถ้าไม่ ละเลยหน้าที่ คือมีธรรมะในส่วนนี้แล้วก็ไม่เป็นโรคและไม่ตาย… ดังนั้น จะพิจารณากันเท่าไร ๆ ก็จะพบได้ว่า โรคทั้งหลายเกิดมาจากการที่มนุษย์ทำผิดหน้าที่ตามธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ว่าโรคอะไร แม้ที่สุดแต่ทำมีดบาดมือให้เป็นแผลเจ็บปวดขึ้นมา ก็เพราะทำผิดหน้าที่ ที่จะต้องมีสติสัมปชัญญะดังที่กล่าวแล้ว. นับตั้งแต่โรคอย่างต่ำที่สุดจนถึงโรคอย่างสูงที่สุด ล้วนแต่เป็นเรื่องทำผิด เพราะไม่มีสติสัมปชัญญะบ้างเพราะความเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง เพราะความไม่รู้ในสิ่งที่ ควรรู้เสียเลย โดยประการทั้งปวงบ้าง นี้เรียกว่าเป็นโรคทางวิญญาณทั้งนั้น ถ้าเราเอาใจใส่ให้มาที่สุดในหน้าที่ของตนในส่วนนี้ คือมีธรรมะในส่วนนี้แล้วคนเราก็จะเจ็บไข้ได้ป่วยยากที่สุด และเมื่อคนเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็จะหายได้โดยง่ายที่สุด

            เดี๋ยวนี้เรามีความเจ็บไข้แล้วเราไม่รู้จักรักษาอย่างไร ไม่รู้จักกำจัดโรคนั้นออกไปได้โดยวิธีใด เพราะไม่รู้ธรรมะเพราะไม่รู้หน้าที่ . หารู้ไม่ว่า โรคภัยทั้งหลายเกิดจากความวิตกกังวล แล้วก็ไม่ได้กำจัดความวิตกกังวล ตัวเป็นโรคกระเพาะอาหาร เพราะมีความวิตกกังวลเป็นต้นเหตุแต่แล้วก็ไม่สนใจที่จะรักษาโรคกระเพาะอาหาร ด้วยการทำลายความวิตกกังวล กลับไปสร้างความวิตกกังวล ในด้านกิจการงานการเงิน การอะไรต่าง ๆ ให้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง มันก็ไม่มีทางจะหายได้ . โรคทั้งหลายมีมูลมาจากความไม่เป็นปกติของส่วนประกอบของร่างกายซึ่งเป็นธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ว่าโรคอะไร ฉะนั้นถ้าผู้ใดได้เข้าถึงความจริงข้อนี้ มีธรรมะกันจริงๆ ในข้อนี้แล้ว ก็ยากที่จะเจ็บไข้หรือยากที่จะตายได้ .

            นี่แหล่ะ คือข้อที่มีธรรมะเป็นเหมือนผ้าประเจียด ที่จะปะทะมัจจุราชทั้งหลายไว้ ไม่ให้ครอบงำบุคคลนั้น นี้เรียกว่า ปะทะมัจจุราช ในด้านที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ.

            ทีนี้ จะพิจารณากันถึงความตาย ที่จะมีมาโดยทางสังคม เช่นจะถูกเขาฆ่าตาย การจะถูกเขาฆ่าตายนั้น ลองคิดดูเถิดว่ามี มูลมาจากอะไร ถ้าไม่ใช่การขาดธรรมะ เพราะการขาดธรรมะนั้น ทำให้เป็นผู้ประพฤติอย่างสะเพร่า จนเกิดเรื่องเกิดราวถูกเขาฆ่าตาย หรือการขาดธรรมะนั้นทำให้เป็นเจ้าโทสะ ไปทะเลาะวิวาท ทำให้ถูกเขาฆ่าตาย หรือว่าการขาดธรรมะนั้น สร้างเวรสร้างภัยด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น ข่มเหงผู้อื่น เพราะขาดธรรมะนั้น จะทำให้ถูกเขาฆ่าตาย และยังมีอีกมากมายหลายอย่างหลายประการ นับตั้งแต่เป็นคนไม่กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มี พระคุณ ก็ยังเป็นเหตุให้บุคคลสาปแช่ง และทำผิดเรื่อยไป จนถูกคนใดคนหนึ่งฆ่าตาย แม้แต่สุนัขที่เลี้ยงไว้นั่นเอง ก็ยังจะกัดบุคคลชนิดนี้โดยไม่ต้องสงสัย นี้เรียกว่า เพราะขาดธรรมะ จึงได้เปิดโอกาสแห่งความตายอันจะมีมาจากทางสังคมด้วยเหตุนี้

            หากมีธรรมะ เป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติถูกต้อง ตามหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติแล้ว ก็ยากที่จะตายได้ เพราะเหตุ ฉะนั้นแหละจึงสมกับข้อที่กล่าวไว้ในเรื่องนี้ว่า ผู้ประกอบไปด้วยธรรมะ ไม่มีการตาย อันมิใช่กาละ คือยังไม่ถึงอายุขัยนั่นเอง นี่เรียกว่า ความตายโดยทั่ว ๆ ไปตามธรรมดา พวกที่เขามีธรรมะเป็นหลักประกันย่อมมีความเชื่อมั่นในใจว่า จะอยู่ไปจนถึงที่สุดแห่งอายุขัย สุดเหตุสุดปัจจัยของสังขารด้วยกันทั้งนั้น

            เป็นอันว่า ธรรมะคือหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น เป็นเหมือนผ้าประเจียดที่ปะทะอันตราย คือมัจจุราชโดยตรงได้

            คำว่า “ผ้าประเจียด” ในที่นี้ อาตมาหมายถึงเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ ที่บุคคลมีแล้วจักป้องกันตัวให้ปราศจากอันตรายแม้ แต่ความตาย ดังที่บุคคลเขาใส่ผ้าประเจียดแล้วก็ทำการต่อสู้กันเพื่อเอาชัยชนะ ด้วยหวังว่าผ้าประเจียดนั้นจักเป็นเครื่องคุ้มครอง แต่นั่นเป็นเรื่องของเด็กอมมือ ผ้าประเจียดชนิดนั้น ยังไม่ยึดถือเป็นสาระอะไรได้มากนัก แต่ ผ้าประเจียด-คือธรรมะ นี้ คุ้มได้จริง ๆ นี่เรียกว่าคุ้มความตาย ตามความหมายตามธรรมดา ได้ส่วนหนึ่งแล้ว

            ทีนี้ ก็ยังเหลือแต่ส่วนสูงสุด คือจะทำให้ไม่มีความตายโดยประการทั้งปวงเสียเลย ซึ่งเป็นธรรมะชั้นสูง อันเราจะต้องศึกษาต่อไป

            ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของสัตว์ทั้งหลายนั้น เกิดมีขึ้นมาเพราะอำนาจ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน การกล่าวอย่างนี้ ท่านจะหมายเอาความตายอย่างไหนก็ได้ทั้งนั้น คือจะหมายเอาว่า ถ้ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้วเราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารมีความตายไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้ว คนเราก็บรรลุนิพพานไม่มีการเวียนว่ายในวัฏฏสงสารอีกต่อไปอย่างนี้ก็ได้

            แต่อาตมาอยากจะขอร้องให้ท่านสาธุชนทั้งหลายสนใจไปในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจกว่า นี้คือข้อที่ว่าถ้าเรายังมีอวิชชา-มีความหลงยึดมั่นถือมั่นสังขารร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนอยู่แล้ว ความตายก็จะมีปัญหา คือจะทรมานจิตใจของเราอยู่ทุกเวลานาทีทีเดียว แต่ถ้าเราเพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่าง ๆ โดยความเป็นตัวเราหรือของเราแล้ว ความตายก็เป็นของน่าหัวเราะเยาะอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีความหมายอันใดมากไปกว่านั้น. ท่านทั้งหลายลองกระทำโดยประการที่ ความตายจะกลายเป็นของเด็กเล่นน่าหัวเราะเยาะอย่างหนึ่งดูบ้างเถิด จะได้รับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะส่วนที่เป็นเหมือนผ้าประเจียดได้ถึงที่สุดทีเดียว

            ทำอย่างไร จึงจะเป็นเช่นนั้นได้ ? นี้ก็ต้อง อาศัยสติปัญญา พิจารณาของตนเองเป็นหลักอีกเหมือนกัน จะเชื่องมงายตามบุคคลอื่นไม่ได้เพราะว่าสิ่งนี้ไม่สำเร็จด้วยความเชื่อ ไม่สำเร็จด้วยพิธีรีตองแต่สำเร็จด้วยปัญญาอันแท้จริง โดยมาศึกษาให้รู้ ให้เห็น ตามที่เป็นจริงว่า “เรา” ประกอบขึ้นมาด้วยอวิชชาทีไร จิตใจนี้ก็มีตัวตน และมีของตนขึ้นมา และมีความทุกข์ทุกที ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า กิเลส หรือ ความทุกข์ นี้ ไม่ใช่เกิดอยู่เป็นพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่า กิเลส หรือความทุกข์นี้ เพิ่งเกิดเป็นครั้งคราว พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเวจิตฺตํ ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร “อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฎฐํ ” แต่ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้ว เพราะกิเลสที่เป็นอาคันตะกะเข้ามา.

            คำว่า กิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา หมายความว่า กิเลสนี้มิได้มีอยู่เป็นพื้นฐาน ในฐานะเป็นเจ้าของบ้าน มีประจำสังขารทั้งหลายอยู่เป็นปกติ แต่ว่าเพิ่งจะเกิดมีมาอย่างอาคันตุกะหรือแขกมาเป็นครั้งคราว รู้ได้ด้วยบาลีที่เป็นหลักสำคัญ เช่นบาลี ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้นว่า เมื่อใดตาได้กระทบรูป หูได้กระทบเสียง เป็นต้น เป็นผัสสะขึ้นมาแล้ว เมื่อนั้นจึงจะมีสิ่งที่เรียกว่า “เวทนา” คือรู้สึกเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง

            เมื่อมีเวทนาแล้วจึงจะมีตัณหา-คือความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามเวทนานั้น เมื่อมีตัณหาแล้ว จึงจะมีอุปทาน คือความยึดมั่น สำคัญมั่นหมาย ว่าสิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งนั้นเป็นของเรา เมื่อมีความยึดมั่น สำคัญมั่นหมายโดยความเป็นตัวเราแล้ว ก็ เรียกว่า มีตัวเรา

            ตัณหา หรือ อุปาทาน นี่แหละ คือกิเลสโดยสมบูรณ์และ ตัวเรา ก็เพิ่งมีกันตอนนี้เอง จึงเรียกว่ามีภพมีชาติกันตอนนี้เอง-เมื่อยังไม่มีอาการอย่างที่กล่าวนี้ เรียกว่าไม่มีภพไม่มีชาติที่แท้จริง มีแต่ภพแต่ชาติตามที่ปากตลาดเขาว่ากัน เช่นว่าพอเกิดมาจากท้องมารดา ก็มีภพมีชาติ อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ว่า

            พระพุทธเจ้าท่านว่า เมื่อมีผัสสะแล้วมีเวทนา มีเวทนาแล้วมีตัณหา มีตัณหาแล้วมีอุปาทาน มีอุปาทานแล้วมีภพ มีภพแล้วมี ชาติ ทุกคราวที่มีการกระทบทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หกอย่างนี้แล้ว มีเวทนา มีตัณหา อุปาทาน นั้น เรียกว่ามีกิเลส มีภพ มีชาติ มีตัวเราเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนี้ มันก็มีค่าเท่ากับไม่ มีแต่สักว่าร่างกาย-จิตใจตามธรรมชาติไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราแล้ว มันก็ไม่มีความหมายเป็นตัวเรา

            เพราะฉะนั้น เมื่อใดเรามีความโง่ความหลง เกิดขึ้นมาเป็นพัก ๆ ว่า มีตัวเรา มีของเรา เมื่อนั้นแหละจึงจะเรียกว่ามีตัวเรา มี กิเลส มีตัณหา ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้ทำให้เรากล่าวได้ว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ก็มิได้มีอยู่ตลอดเวลา

            สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา มีอยู่เป็นคราว ๆ เป็นพัก ๆ ตามที่อุปาทานเกิดขึ้นว่าตัวเรา ส่วนนอกนั้นมันก็มีแต่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ไปตามสภาวธรรม เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ต่อเมื่อใด มีการกระทบ และเผลอสติ แล้วเกิดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน รู้สึกเป็นตัวกู ของกู ขึ้นมาคราวหนึ่ง ๆ นั่นแหล่ะเรียกว่า มีตัวเราเกิดขึ้นมาคราวหนึ่ง ดังนั้น จึงถือว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้ มิได้ มีอยู่ตลอดการ มีอยู่ต่อเมื่อมีอุปาทานเกิดขึ้น

            ทีนี้ กิเลส ตัณหา อุปาทาน นั้นก็เหมือนกัน มิได้มีอยู่ตลอดกาล แต่มีเฉพาะ ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบทางตา เป็นต้น แล้วเผลอสติจึงจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ไม่เผลอสติ เพราะได้ฟังธรรมะของพระอริยะเจ้า เข้าใจแจ่มแจ้งอยู่เป็นประจำแล้ว กิเลส ตัณหา ก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าวันหนึ่งจะได้กระทบ ผัสสะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายสักเท่าไร สักกี่ครั้ง ก็ไม่อาจจะเกิดตัณหาอุปาทานซึ่งเป็นกิเลสนั้นได้ เรียกว่า เราอยู่ด้วยความสงบสุขเป็นพื้นฐาน มีจิตว่างจากกิเลส เป็นประภัสสรอยู่เป็นพื้นฐาน เป็นที่ควรชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง เพราะปราศจากโรคทางวิญญาณ ไม่เป็นทางให้เกิดโรคทางกายหรือทางจิต

            นี่แหละเรียกว่า เราสามารถที่จะกำจัดโรคทางวิญญาณให้ทายไป ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราเกิดขึ้นมาทั้งวันทั้งคืน แล้วความตายจะมีมาแต่ไหน คือว่า:- ความคิดนึกถึงความตายในฐานะเป็นปัญหานั้นจะไม่มี

            เราจะมีแต่จิตชนิดหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยสติปัญญา หัวเราเยาะความตายได้อยู่เสมอ ความตายเป็นของเด็กเล่น น่าหัวเราะเยาะอยู่เสมอ นี่เรียกว่า ความตายไม่มี ด้วยเหตุที่เรามีธรรมะ เหมือนผ้าประเจียด คาดอยู่ที่หน้าผากของเราอยู่ เป็นประจำ คือมีสติ สัมปชัญญะ สมบูรณ์ในความรู้เรื่องธรรมชาติ หรือ สภาวธรรม ในความรู้เรื่องกฎของธรรมชาติ คือ สัจธรรม และในความรู้เรื่องหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติตามธรรมชาติ อันเรียกว่า ปฏิบัติธรรม

            ธรรมะทั้งสามอย่างนี้ เป็นผ้าประเจียดยิ่งกว่าผ้าประเจียดเพราะสามารถปะทะความตายได้จริง ๆ ไม่ให้ความตายมีเข้ามา แม้แต่ขณะจิตเดียว ความตายกระเด็นถอยออกไปไม่มีปรากฏ แม้จะนึกถึงความตาย ก็นึกไปในทางหนึ่ง คือเห็นเป็นของน่าหัวเราะเยาะ ไม่มีความหมาย ไม่มีอำนาจ ไม่มีน้ำหนักแต่ประการใด

            ไม่เหมือนกับคนที่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน นึกถึงโลกหน้าขึ้นมาแล้วก็หวั่นไหว เต็มไปด้วยความทุกข์ นึกถึงความตายขึ้นมาทีไร ก็รู้สึกวาบหวามเต็มไปด้วยปัญหา-เต็มไปด้วยความทุกข์ มีความกระสับกระส่าย วุ่นวาย ทุกข์ร้อนในจิตใจ เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความตาย เพราะไม่มีความรู้ที่จะปะทะกันกับความตาย ไม่มีความรู้ที่จะหัวเราะเยาะความตาย คือไม่มีผ้าประเจียด กล่าวคือธรรมะคาดไว้ที่ศีรษะนั่นเอง

            เมื่อใดเป็นผู้มีความเข้าใจแจ่มแจ้ง ในเรื่องตัวเราของเราที่เกิดขึ้นมาเป็นประจำวันว่า เพราะอำนาจเผลอสติ มีตัณหา อุปาทาน เมื่อนั้นก็จะเป็นผู้ที่มิได้มีอยู่ มิได้มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ เหมือนกับมิได้มีตัวอยู่ ความตายจึงไม่ครอบงำบุคคลผู้นั้นได้ สมตามพระพุทธภาษิต ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทาสโต” ดูก่อนโมฆราช ท่านจงมีสติ มองดูโลกนี้ด้วยความเป็นของว่างเถิด “เอวํโลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ ” เมื่อท่านมองดูโลกอยู่ในลักษณะนี้ มัจจุราชก็จะตามหาท่านไม่พบ ข้อนี้หมายความว่า เมื่อเราเห็นโลก หรือสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่แล้ว ความตายก็ไม่มีที่ตั้งอาศัย มันจึงไม่มี

            ที่ว่า เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง นี้ หมายความว่า เห็นสิ่งทั้งปวง เพราะคำว่า “โลก” ในที่นี้หมายถึงสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงในที่นี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า :-

                        สิ่ง ที่เราจะรู้สึกมันได้ ทางตา
                        สิ่ง ที่เราจะรู้สึกมันได้ ทางหู
                        สิ่ง ที่เราจะรู้สึกมันได้ ทางจมูก
                        สิ่ง ที่เราจะรู้สึกมันได้ ทางลิ้น
                        สิ่ง ที่เราจะรู้สึกมันได้ ด้วยการสัมผัสทางผิวกาย
                        และ สิ่ง ที่เราจะรู้สึกมันได้ ทางจิตใจ
                        รวมเป็น ๖ ประการด้วยกัน นี้เรียกว่า “โลก”

            เมื่อใดเรามองเห็นสิ่งทั้งหกประการนี้ โดยความเป็นของว่าง คือไม่มีสาระอะไรที่จะยึดมั่น หมายมั่นว่าเป็นตัวเราของเราดังนี้ แล้ว เรียกว่า เห็นโลก โดยความเป็นของว่าง เมื่อเห็นโลกโดยความเป็นของว่างดังนี้แล้ว จิตก็ไม่ได้เข้าไปยึดมั่นอยู่ที่สิ่งใด ไม่ได้สำคัญมั่นหมายสิ่งใดว่าเป็นตัวเรา ของเรา เลยเป็นจิตว่าง.

            จิตว่างจากอุปาทานเช่นนี้ ความตายไม่มี เพราะความตายไม่มีที่ตั้งอาศัย ความตายจะต้องอาศัยอยู่ที่ตัวเราหรือชาติที่ ถือว่าเป็นตัวเรา เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรียกว่าชาติหรือตัวเรานั้นมิได้มี เพราะเราไม่สำคัญผิดด้วยอวิชชาอีกต่อไป สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา หรือชาติ –ความเกิด ของเรานั้น เป็นมายา เกิดมาจากอวิชชา-ความไม่รู้และความเข้าใจผิด

            ถ้ามีความรู้ถูกเสียแล้ว ความคิดอย่างนั้นจะไม่มี คือความคิดว่ามีตัวเรานั้นจะไม่มี จะเห็นแต่ธรรมทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง ตามที่เป็นธรรมชาติ ตามที่เป็นกฎธรรมชาติ ตามที่เป็นหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีส่วนใดที่จะสำคัญผิดไปว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของของเรานี้เรียกว่า เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง จิตใจไม่ทุกข์เลย สติปัญญากลับสมบูรณ์ ทำอะไร ๆ ก็ทำได้ดี จำอะไรก็จำเก่งทำการงานไม่ผิดพลาด ได้รับผลมาเท่าไรก็ไม่ยึดถือเอาเป็นของตน ปล่อยให้ เป็นของธรรมชาติ

            นี้เรียกว่า เขาทำงานตามธรรมชาติ ทำงานเพื่องาน ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน ไม่ได้ทำงานเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงเขาจึงไม่มีความทุกข์ แต่แล้วสิ่งที่เป็นผลงานเหล่านั้น ก็ไม่ไปไหนเสีย คงมีอยู่ในการจัดการทำของบุคคลนั้นเอง

            แม้ว่าเขาจะไม่ยึดถือว่า นี่เป็นของเรา แต่ก็ไม่มีใครมาแย่งชิงเอาไปได้ เพราะเหตุที่มีกฎหมาย มีขนบธรรมเนียมประเพณีคุ้มครองอยู่ และแม้ว่าจะมีใครมาแย่งชิงเอาไปได้เขาก็จะมีแต่หัวเราะ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น จึงไม่มีอะไรที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้อีกต่อไป.

            นี้เรียกว่า แม้ว่าเราจะไม่มีความยึดถือในสิ่งใด เราก็ยังคงทำอะไรได้ เราก็ยังคงหาทรัพย์สมบัติได้ เราก็ยังคงใช้จ่ายทรัพย์สมบัติได้ เราก็ยังคงทำประโยชน์แก่บุคคลผู้อื่นให้มีความสุข มีความสบาย อยู่ด้วยกันได้ทั่วโลกดังนี้

            นี้คือหน้าที่สูงสุดที่มนุษย์จะต้องเข้าให้ถึง ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเข้าถึงธรรมะอันสูงสุดนั่นเอง ทำให้คนผู้เข้าถึงธรรมะชนิดนี้ไม่มีความทุกข์เลย.

            ถ้าใครไม่ประสงค์จะมีธรรมะชนิดนี้ ก็จงสมัครทนทุกข์ไปตามเดิม เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความทรมานใจ เป็นโรคทางกาย เป็นโรคทางจิต เป็นโรคทางวิญญาณ ไม่รู้จักเสื่อมซาได้ แล้วก็ไม่ต้องโทษใคร โทษตนเอง ที่ไม่มีธรรมะเหมือนผ้าประเจียดก็เป็นการสมกันดีแล้ว.

            แต่ว่าพุทธบริษัทจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ มันเสียเกียรติของพุทธบริษัท มันเป็นที่น่าอับอายขายหน้าเหลือประมาณทีเดียว พุทธบริษัทจะต้องมีลักษณะเป็นผู้สะอาด เป็นผู้สว่าง เป็นผู้สงบเย็น.

            เป็นผู้สะอาด คือเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สะอาด ไม่มีสิ่งที่ใคร ๆ จะตำหนิได้ ไม่มีสิ่งที่ตนเองจะตำหนิติเตียนตนเองได้ ไม่มีสิ่งที่แม้แต่เทวดาที่มีหูมีตาเป็นทิพย์ ก็ไม่อาจจะติเตียนบุคคลนั้นได้ นี้เรียกว่า เขาเป็นคนสะอาด

            ที่ว่า เป็นคนสว่าง นั้นก็เพราะว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้โดยครบถ้วนสมบูรณ์จริง ๆ โดยเฉพาะก็รู้เรื่องธรรม หรือธรรมะ รู้ว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร รู้ว่ากฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นอย่างไร รู้ว่าหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร

            หรือถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่ง เขามีความรู้โดยสมบูรณ์ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทไม่เหลือของความทุกข์เป็นอย่างไร และทางให้ถึงความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างไร อย่างนี้ก็ได้

            หรือแม้ที่สุดแต่จะกล่าวว่า เขารู้ว่าความตายคืออะไร เหตุให้มีความตายนั้นคืออะไร ความไม่มีแห่งความตายนั้นเป็นอย่างไร ทางปฏิบัติให้ลุถึงความไม่มีแห่งความตายนั้นเป็นอย่างไร ดังนี้ก็ได้ เหล่านี้ล้วนแต่เรียกว่า เขามีความสว่าง เขาเป็นคนสว่าง

            ส่วนที่ว่า เป็นคนสงบเย็นนั้น เขามีความสงบ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน กิเลสก็ไม่แผดเผาให้เขาเดือดร้อนได้ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็กลายเป็นของน่าหัวเราะเยาะไป สำหรับบุคคลนี้ ไม่มีปัญหาอะไรแก่เขา เขาจึงเป็นผู้มี ความสงบ

            เขาเป็นผู้มีความสะอาด เขาเป็นผู้มีความสว่าง เขาเป็นผู้มีความสงบ ครบถ้วนบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่าเป็นพุทธบริษัทเต็มตัว สามารถที่จะท้าทายหัวเราะเยาะมัจจุราชได้ ความตายกลายเป็นสิ่งที่หนีเตลิดเปิดเปิงกระเจิงไป ไม่เข้ามารอเฉพาะหน้าบุคคลผู้มีธรรมะเป็นเหมือนผ้าประเจียดดังนี้ .

            นี้เรียกว่าสามารถขจัดความตายออกไปเสียได้ โดยไม่มีส่วนเหลือแม้ในเวลานี้ แม้ในปัจจุบัน และตลอดกาล โดยประการทั้งปวง หมายความว่า เมื่อบรรลุธรรมะขั้นสูงสุดในขณะนี้ในปัจจุบันนี้แล้ว ต่อแต่นี้ไปก็ไม่มีปัญหาเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป เพราะสิ่งที่เรียกว่าตัวเรานั้นถูกดับหายไปหมดแล้ว คืออัตตวาทุปาทาน ที่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา หรือเป็นของของเรานั้น ได้ถูกทำให้หมดสิ้นไปแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้สึก แม้แต่เพียงว่า เป็นตัวเรา หรือของเรา จึงไม่มีทางที่จะพลุ่งพล่านขึ้นมาเป็นตัวกู หรือของกู ซึ่งเราเห็นกันอยู่โดยมาก

            นี้เรียกว่า ไม่มีตัวตนสำหรับจะให้เป็นที่ตั้งอาศัยของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอีกต่อไป เบญจขันธ์หรือร่างกายกับจิตใจนี้ เป็นเบญจขันธ์บริสุทธิ์สะอาด ไม่เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา อุปาทาน ไม่มีความคิดว่าตัวเรา หรือของเราเข้ามาครอบงำเบญจขันธ์ หรือร่างกายจิตใจชนิดนี้ได้อีกต่อไป จึงเป็นร่างกายจิตใจหรือเป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เช่นนี้

            อยู่เหนือความตายเช่นนี้แล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไรอันเกี่ยวกับความตายนั้น ไม่มีปัญหาอะไรที่จะต้องต่ออายุอีกต่อไป เพราะว่าเป็นผู้อยู่เหนือความตายโดยประการทั้งปวง นี้แหล่ะธรรมะที่เป็นเหมือนผ้าประเจียด ในอันดับสูงสุดนั้นมีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้

            จึงควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จะมีความสนใจ ในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ซึ่งเป็นเหมือนผ้าประเจียด สำหรับปะทะกับความตาย อันมีอยู่หลายชั้น หลายลำดับ ดังที่กล่าวมาแล้วให้เป็นที่เข้าใจ แล้วก็เอาชนะสิ่งที่เรียกว่าความตายให้ได้ขึ้นมาตามลำดับๆๆๆ จนกระทั่งถึงลำดับสุดท้าย คือหมดตัณหาอุปาทาน ไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งแห่งความตาย ไม่มีทั้งความเกิด ไม่มีทั้งความตาย และมิได้มีทั้งความอยู่ ด้วย

            ฟังดูให้ดี ก็มีทางที่จะเข้าใจได้ เพราะมีอุปาทานว่าตัวเราก็มีความเกิดของตัวเรา มีความอยู่ของตัวเรา มีความตายของตัวเรา. ถ้าไม่มีอุปาทานว่าตัวเรา ก็ไม่มีความเกิดของตัวเรา ไม่มีความอยู่ของตัวเรา ไม่มีความตายของตัวเรา. จิตใจชนิดนี้แหละเป็นสุขที่สุด สงบเย็นที่สุด สะอาดที่สุด สว่างไสวที่สุด

            เราจึงควรมีจิตใจชนิดนี้อยู่ ดีกว่าที่จะมีจิตใจชนิดที่ตกต่ำอยู่ภายใต้ความครอบงำของความเกิด ความตาย ดังที่กล่าวมาแล้ว.

            ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ หรือใครๆ ก็ตาม จะกล่าวว่า “ธรรมะซึ่งเป็นเหมือนผ้าประเจียดนั้น มีอยู่ในโลกนี้ ” นี้ช่างเป็นการถูกต้อง ไม่มีทางที่ใครจะคัดค้านได้เลย

            หวังว่าท่านสาธุชนทั้งหลาย ควรจะได้สนใจให้เป็นพิเศษ ให้สมกับความปรารถนาของท่านเจ้าภาพ ที่ได้บำเพ็ญกุศลในโอกาสอันสำคัญคือล่วงกาลผ่านวัยมาถึง ๗๒ ฤดูฝนเช่นนี้ เรียกว่า อย่างน้อยก็เป็นผู้ที่เยาะเย้ยความตาย โดยทางร่างกายมาได้หลายครั้งหลายหนแล้ว… เหลืออยู่แต่จะเยาะเย้ยความตายต่อไปข้างหน้าอีกเท่าไรนั้น มันขึ้นอยู่กับการที่ว่าจะแขวนผ้าประเจียด ของพระพุทธเจ้าไว้ได้ มากน้อยเพียงไรเท่านั้นเอง

            และหวังว่า ท่านทั้งหลายจะได้ช่วยกันสนับสนุนให้ความประสงค์อันนี้เป็นไปในทางที่จะสำเร็จประโยชน์ ได้มากขึ้นโดยที่ ทุกคน ๆ พยายามที่จะสวมผ้าประเจียดอันนี้ด้วยกันทั้งนั้น ให้เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นผู้นำที่ดี สิ่งทั้งหลายก็จะเป็นไปในทางที่ พระพุทธเจ้าทรงพระประสงค์ คือธรรมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายได้ ทั้งโลกนี้และทั้งโลกหน้า และทั้งอยู่เหนือโลก โดยประการทั้งปวง คือในภาวะที่ไม่มีความตายมาครอบงำได้อีกต่อไป

            ขอให้ความหวังอันนี้ จงเป็นผลสำเร็จ-จงเป็นผลสำเร็จ-จงเป็นผลสำเร็จ ด้วยอำนาจที่เราทั้งหลายมีความเชื่อมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่คืนคลาย ฯ

            ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

            มีเท่านี้เอง

ต้องเวียนเกิด เวียนตาย ตามบุญบาป
เมื่อไรทราบ ธรรมแท้  ไม่แปรผัน 
ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตาย สบายครัน
มีเท่านั้น ใครหาพบ  จบกันเอย 

หนทางชนะตาย

ลองอยากตาย ใจสบาย  บอกไม่ถูก
ไม่ต้องหนาว ถึงกระดูก นะสหาย
มีแต่ครื้น  เครงใจ อยู่ไม่วาย
ไม่เห็นเป็น  ภัยร้าย  ในมรณา
สมัครตาย ยิ่งสบาย ไปกว่านั้น
ไม่มีปัญ-  หาเหลือ  เป็นเชื้อผวา
การจะอยู่  หรือจะตาย  คล้ายกันนี่หว่า
ความชรา  หรือเจ็บไข้  ไม่อาจรอ 
ตายก่อนตาย ยิ่งสบาย  ไปกว่าอีก 
เป็นการฉีก “กู ”สลาย  ไม่เหลือหลอ
ทั้ง“ของกู ” ไม่อาจเกิด  ประเสริฐพอ 
แต่นั้นหนอ ไม่มีใคร  ที่ตายเอย ฯ