พุทธทาสกับอำนาจในสังคมสมัยใหม่ : อำนาจแพทย์

พุทธทาสภิกขุ

สวนโมกขพลาราม
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.org/html/articles/in_mem/power_MD.html


             คงยังจำกันได้ว่า แพทย์นี่เองที่ทำให้ท่านนายกฯ ซึ่งเคยถูกคนบ่นกันทั้งเมืองว่าไม่ยอมฟังใคร ไม่ว่าจะเป็นนัก… ฯลฯ ท่านเถียงหมด แต่พอแพทย์ซึ่งรักษาอาการหูอักเสบสั่งให้ท่านหยุดพูดเพื่อจะหยุดการฟัง ท่านนายกฯ ก็เชื่อโดยทันที ไม่มีโต้แย้งว่ารู้ไม่จริง รู้แต่ทฤษฎี แล้วก็แพทย์อีกนั่นแหละที่ข่าวบอกว่า "อนุญาต" ให้ท่านผู้นำของเราเดินทางไปจีนได้ ท่านจึงได้ไป

             อำนาจของแพทย์มาจากการที่คนทั้งหลายเชื่อว่า เป็น "ผู้รู้" ในสิ่งที่ผู้อื่นส่วนใหญ่ไม่รู้ และความรู้นั้นสามารถดลบันดาลให้มนุษย์พ้นทุกข์จากโรคภัยอันทรมานทั้งกายและใจได้ เป็นอาชีพเดียวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่ก่อนเกิดต่อเนื่องไปจนถึงหลังตาย ในสังคมสมัยใหม่ แพทย์ยิ่งขยายอำนาจออกไปอีก จากบทบาทของการเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ มาสู่การมีอำนาจจากการเป็นผู้กำกับการเกิด การเอาชนะความตาย และเป็น "ผู้จัดการใหญ่" ให้ร่างกายมนุษย์มีรูปลักษณ์และคุณสมบัติตามที่เจ้าของต้องการ เช่น ไม่อ้วน ไม่แก่ ผิวขาว จมูกโด่ง เตะปี๊บดัง ฉลาด จำเก่ง อารมณ์ดี ฯลฯ บทบาทและอำนาจของแพทย์ จึงเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนในสังคมสมัยใหม่ทุกชั้น มากยิ่งกว่าอำนาจใด ๆ โดยถูกตั้งคำถาม ตรวจสอบ สงสัยน้อยที่สุดด้วย เพราะคนส่วนมากเชื่อกันว่า แพทย์คือผู้รู้ดีที่สุดในเรื่องจัดการกับชีวิตให้ปกติสุขและเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ (ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่…)

             ความเชื่อของคนส่วนมากนี้ ตรงกันข้ามกับโลกทัศน์ ความเชื่อของท่านอาจารย์พุทธทาส ดังนั้น ท่านจึงเป็นคนไข้ที่ไม่มอบความวางใจให้ความรู้ของแพทย์อย่างเบ็ดเสร็จเท่าไรนัก พระอุปัฏฐากที่ดูแลรับใช้ใกล้ชิดเล่าไว้ในหนังสือว่า เมื่อนำยาที่แพทย์จัดไว้ไปถวายให้ฉัน ท่านมักจะต้องถามก่อนว่า เป็นยาอะไร กินเพื่ออะไร หรือเมื่อแพทย์สั่งว่า ห้ามฉันอาหารบางประเภท เพราะจะทำให้อาการโรคเก๊าท์กำเริบ ท่านก็จะต้องทดลองก่อนว่าจริงหรือไม่ เมื่อพบว่าจริงก็จะทำตาม และเคยปรารภด้วยว่า แพทย์มักจะพูดขัดกันเอง จนไม่รู้จะเชื่อใคร แสดงว่า ท่านวิเคราะห์ตรวจสอบความรู้ของแพทย์อยู่ตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด ท่านจึงมักจะเลิกฉันยาที่แพทย์แผนปัจจุบันจัดถวายอยู่บ่อย ๆ ในโรคที่ท่านรู้จักหรือมีประสบการณ์ในการรักษามาก่อน เช่น ฉันผักบุ้งรักษาเบาหวานแทนยาที่แพทย์จัดให้ ใช้สมาธิห้ามการไหลของเลือด ฯลฯ โดยยังไม่ต้องกล่าวไปถึงอาหารเสริมสุขภาพสมัยใหม่อีกจำนวนมากที่มีผู้หวังดีนำมาถวาย แต่ท่านไม่เคยฉันเลย เพราะท่านเชื่อว่า สุขภาพที่ดีอยู่ในการดำเนินชีวิตของบุคคลผู้นั้นเป็นสำคัญ

             อย่างไรก็ตาม ท่านมิใช่ผู้ต่อต้านหรือแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับการแพทย์สมัยใหม่ หากจำกัดขอบเขตอำนาจของแพทย์ด้วยท่าทีนิ่มนวล (อ่าน "ท่านอาจารย์พุทธทาส คนไข้ที่ผมได้รู้จัก : บันทึกจากแพทย์ผู้ถวายการรักษา" / น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล) มิให้เกินเลยไปจากโลกทัศน์ ความเชื่อพื้นฐานของท่านอาจารย์ ท่านจึงเป็นผู้เลือกและตัดสินใจว่า จะให้แพทย์มีอำนาจในการรักษามากน้อยเพียงใด ซึ่งท่านสามารถทำเช่นนี้ได้ มิใช่เพราะท่านอาจารย์มีความรู้ในการรักษาแบบพื้นบ้านเป็นอีกทางเลือกเท่านั้น หากที่ลึกและสำคัญไปกว่านั้น คือ รากฐานความเชื่อทางพุทธศาสนาที่ว่า ชีวิตของมนุษย์นั้นปกติสุขได้จากการ "ปฏิบัติธรรม" ของบุคคลผู้นั้น มิได้เกิดจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด โดยคำว่า "ปฏิบัติธรรม" ในที่นี้ หมายถึงการทำหน้าที่หรือมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องไปกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ (ธรรม) ได้แก่ กินอยู่พอเพียงอย่างเหมาะสมกับวัย ระบบนิเวศ (ฤดูกาล ผลผลิต ฯลฯ) ทำงาน ออกกำลังกาย มีความสัมพันธ์อันดีกับสรรพชีวิตอื่นและธรรมชาติ ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่า โรคสมัยใหม่ที่คร่าชีวิตหรือทำลายสุขภาพของคนเป็นอันมากในปัจจุบัน เกิดจากการละเลยต่อการปฏิบัติธรรมโดยนัยนี้ ไม่ว่าโรคมะเร็ง หัวใจ ไต เบาหวาน ตับแข็ง อุบัติเหตุ ฯลฯ คือกินอยู่ไม่เหมาะสม ไม่พอเพียง (จนไปก็เกิดโรค รวยไปก็เกิดโรค) เครียด ทุกข์ใจในชีวิต ประมาทและโรคจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ฯลฯ

             ในโลกทัศน์ของชาวพุทธ สุขภาพที่ดีของมนุษย์ จึงมิได้เกิดจากการดลบันดาลของแพทย์เป็นหลักใหญ่ หากเกิดจากการกระทำ (กรรม) ทั้งทางกาย วาจา ใจและการเรียนรู้ของบุคคลผู้นั้นต่อการกระทำของตนเองและผู้อื่น (สังคม ระบบนิเวศ) รวมทั้งอยู่ภายใต้วัฏฏะแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามกาลเวลาอันควร ความชราและความตายจึงมิใช่สิ่งน่ากลัว ที่จะต้องไปต่อสู้หรือวิ่งหนีเพราะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ด้วยความเชื่อนี้ แพทย์จึงมีอำนาจอันจำกัดขอบเขต และถูกกำกับบทบาทด้วย "ธรรม" เป็นเพียงผู้มาช่วยในภาวะที่กระบวนการตามธรรมชาติทำการเยียวยาไม่ได้-ไม่ทันการ หรือสร้างความทรมานมากและมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่เสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น (หูอักเสบของนายกฯ ก็อยู่ในกรณีนี้) แพทย์จึงมีความสำคัญอย่างแน่นอน แต่มิใช่ผู้มีอำนาจสร้างหรือชี้ขาดสุขภาพที่ดีของบุคคลโดยลำพัง หรือเป็นผู้มีอำนาจนำมนุษย์ออกจากความกลัวแก่-กลัวตาย กลัวไม่สวย ฯลฯ ได้อย่างแท้จริงและโดยสงบ

             ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส คือการแสดงโลกทัศน์ดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ในวัย ๘๗ พรรษาท่านปฏิเสธที่จะ "หอบสังขารหนีความตาย" ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ และปฎิเสธวิธีการรักษาสุขภาพ หรือต่อชีวิตด้วยวิธีการอันใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ท่านเคยปรารภกับพระผู้ใกล้ชิดว่า ไม่ควรนำทรัพยากรจำนวนมากมายมารักษาท่านซึ่งอายุมากแล้วเพียงคนเดียว เพราะมีผู้ต้องการและจำเป็นใช้และควรได้ใช้มากกว่าท่านอยู่อีกมาก

             วิธีคิดทางสุขภาพแบบพุทธ จึงเชื่อมโยงไปถึงวิธีการจัดการสุขภาพ และระดับการใช้ทรัพยากร อย่างคำนึงถึงความสัมพันธ์กับสรรพชีวิตและปัจจัยอื่น ๆ ในโลกใบนี้ด้วยเสมอ ทำให้การแพทย์นำมาซึ่ง "สาธารณสุข" หรือความสุขของคนหมู่มากได้จริง เพราะทุกคน ทุกส่วน ทุกสิ่งในชีวิต สังคม ธรรมชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด มิใช่ "สาธารณทุกข์" เพราะมี "ผู้รู้" และใช้อำนาจจากความรู้นั้นตัดสินใจ กำกับและจัดการอยู่โดยลำพัง เพราะ "อำนาจ" บนโลกทัศน์ที่ผิดพลาด ย่อมนำมาซึ่งการเอารัดเอาเปรียบเสมอ ทั้งในระดับชีวิต สังคม และระบบนิเวศ.


หมายเหตุ : บทความ ”พุทธทาสกับอำนาจในสังคมสมัยใหม่”

มี ๒ ตอน คือ อำนาจเงิน, อำนาจแพทย์