ทางสายกลางของท่านพุทธทาส

โดยผู้รับใช้ใกล้ชิด

คัดลอกจาก http://www.rayongwit.net/emag/june2002/articles/Buddha.htm


 

          คำบรรยายนี้แสดงแก่ผู้เข้าร่วมอบรมสมาธิภาวนาที่สวนโมกข์นานาชาติ บอกเล่าชีวิตและกิจวัตรประจำวันของท่านพุทธทาสภิกขุ ทำให้เห็นปฏิปทาอันสะอาดบริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม และความดีงามของท่าน โดยผู้ใกล้ชิดที่เคยรับใช้เป็นเลขานุการส่วนตัวของท่านเป็นเวลานานปี

ท่านสาธุชนผู้สนใจในการฝึกสมาธิทั้งหลาย

             วันนี้อยากจะพูดเรื่องราวเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ (พุทธทาส อินทปญฺโญ) เท่าที่ได้พบได้เห็น ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

             สิ่งที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติและการปฏิบัตินั้นก็เน้นไปที่มัชฌิมา คือทางสายกลาง หรือเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติเป็นทางสายกลางซึ่งเป็นเรื่องยากมาก การปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น คือการดำรงอยู่ในความถูกต้องระหว่างวัตถุและจิต เรามีจิตอย่างเดียวไม่ได้ มีวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องระหว่างวัตถุกับจิต ฉะนั้นพุทธศาสนานั้นได้ให้สิ่งสูงสุดสำหรับชีวิตของเรา นั่นคือระบบปฏิบัติที่เรียกว่าทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา เรียกชื่ออื่นก็ได้ เรียกอริยมรรคก็ได้ เรียกพรหมจรรย์ก็ได้ เรียกไตรสิกขาก็ได้ เขาเรียกว่าเป็นไวพจน์กัน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ บางครั้งเราไปอ่านหนังสือแล้วไม่ได้พูดถึงทางสายกลาง แต่ใช้คำอื่นเช่น ไตรสิกขาบ้าง พรหมจรรย์บ้าง นั่นแหละทางสายกลาง

             ทางสายกลางนั้นเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ปฏิบัติไปเพื่อให้มันไม่มีทุกข์ ก็เพราะว่าเราทำถูกต้อง ทุกขั้นตอนของชีวิตโดยลำดับ

             ทางสายกลางนั้นตัวปฏิบัติของมันก็คือมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็ขึ้นต้นด้วยสัมมาจนครบ ๘ ข้อ สัมมานั้นแปลว่า ความถูกต้อง ซึ่งเป็นคำที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เคยบอกว่า ไม่ทราบว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร เพราะว่าการใช้คำแปลนั้น มักจะไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านจึงอยากจะให้ใช้คำว่าถูกต้องในภาษาไทยนี้ดีมาก หรือใช้คำเดิมคือคำว่าสัมมา แต่ถ้าจะใช้ให้เต็มรูปของความถูกต้อง ก็ต้องเป็นสัมมา ทั้ง ๑๐ ข้อ เรียกว่า สัมมัตตะ ๑๐ ซึ่งรายละเอียดโดยหัวข้อนั้น ท่านทั้งหลายสามารถจะไปดูในหนังสือได้

             อยากจะให้ท่านทั้งหลายทราบโดยหลักว่า การปฏิบัติทางสายกลางนั้น ถ้าเราปฏิบัติอยู่ในระบบของมัน มันต้องเป็นไปเพื่อวิเวก คือความสงบ วิราคะคือจางคลาย นิโรธะคือความดับ โวสสัคคะปริณามิง คือน้อมไปเพื่อสละทิ้งเลิก ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติอะไรแล้วมันยิ่งมาก ยิ่งหนัก ไม่สงบ ก็แสดงว่าไม่ใช่ ถึงแม้เราไม่รู้เรื่องของทางสายกลางเลย แต่เมื่อเราทำอะไรลงไปเกี่ยวข้องกับผู้ใด ดำเนินกิจการใดเสร็จแล้วมันสงบมันคลายปัญหา มันหมดเรื่อง เรื่องความยุ่งยากความเดือดร้อน นั่นแหละเรียกว่าเป็นทางสายกลาง

             มันจะกลางมากขึ้น ๆ ก็ต้องเข้ามาอยู่ในระบบมรรคมีองค์ ๘ ปัญหามันก็มีว่า เราทั้งหลายทุกคนก็มักจะมองว่าใครปฏิบัติเดินสายกลางได้แล้ว เราก็มักจะไปเดินตามเขา ข้อนี้นับว่าเป็นความผิดพลาด เพราะว่าทางสายกลางนั้นมันเป็นเฉพาะบุคคล เราไปทำตามเขาไม่ได้

             ท่านทั้งหลายเคยศึกษานิทานอีสปมาบ้าง คงจะนึกถึงเรื่องจิ้งหรีดกับลา ลามันอยากจะมีเสียงไพเราะก็ไปถามจิ้งหรีด จิ้งหรีดมันก็บอกว่ากินน้ำค้างซิแล้วเสียงเพราะ ลามันก็ไม่ได้ดูตัวมันเอง มันก็จะเดินสายกลางบ้าง เพราะว่าจิ้งหรีดมันกินน้ำค้างแล้วเสียงเพราะ คือความถูกต้องของจิ้งหรีด เมื่อลาไปกินน้ำค้างบ้าง ผลสุดท้ายก็ไม่มีแรงแม้กระทั่งแต่จะเปล่งเสียง ต้องตายไป นิทานอีสปมันก็ดีตรงนี้ ตรงที่เราสามารถจะนำมาเปรียบเทียบให้มองเห็นได้ง่ายเข้า

             ฉะนั้นการปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น เรามักจะมองว่าคนนั้นคนนี้เดินอย่างไร แล้วพยายามจะเดินไปตามแบบที่เขาปฏิบัติ เสร็จแล้วมันก็ไม่ได้ผล เพราะว่าเรื่องการปฏิบัติทางสายกลางนั้น มันต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๘ องค์ ตั้งแต่อันแรกก็คือ ความเห็นถูกต้อง ความหวังถูกต้อง การพูดจาถูกต้อง การทำการงานถูก การดำรงชีพถูกต้อง ความพากเพียรถูกต้อง ความระลึกได้ถูกต้อง ความมีสมาธิตั้งมั่นถูกต้อง ครบ ๘ องค์ก็จะเกิดผลเป็นสัมมาญาณะ คือเป็นความรู้ที่ถูกต้อง แล้วได้ผลเป็นสัมมาวิมุตติ คือหลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง อันนี้มันเป็นของที่ต้องรวมกันเป็นสายเดียว มรรคมีองค์ ๘ ต้องรวมเป็นสายเดียว และเป็นเฉพาะบุคคล ซึ่งไม่สามารถจะนำของคนหนึ่งมาใช้กับอีกคนหนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะเอาแบบของใครมาสวมให้กับเราไม่ได้

             นี่ก็นับว่าเป็นสิ่งซึ่งต้องพึงระวังไว้ เป็นของเฉพาะบุคคล แล้วก็มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียว นั่นก็คือนิพพาน ความสิ้นทุกข์ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ท่านบอกว่าทุกคนต้องเดิน จะเดินเมื่อไรก็ตามแต่ แต่ต้องเดิน ถ้าไม่เดินอยู่ในระบบที่ถูกต้อง หรือเรียกว่าทางสายกลางแล้ว ก็หาความสุขไม่ได้ ความสุขในที่นี้คือความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่สงบ อย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังเดินอยู่หลายวันมาแล้ว เดินโดยไม่ต้องใช้ขา บางคนหาความสงบไม่ได้ พยายามจนดึกดื่น เพื่อนนอนแล้วก็ออกมาเดิน เดินรอบอาคารก็แล้ว เดินกี่รอบมันก็ไม่สงบ เพราะว่าเราเคยแต่ใช้ขาเดิน แต่ว่าการใช้จิตเดิน มันเป็นเรื่องยาก สำคัญมาก

             ท่านเจ้าคุณอาจารย์นั้นท่านต้องประสบความสำเร็จแน่นอน แต่เราไม่อาจที่จะไปเดาหรือว่าคาดคิดเอาว่าท่านสำเร็จในระดับไหน แต่พฤติกรรมของท่านที่แสดงออกมาในชีวิตประจำวัน ที่อาตมาได้มีโอกาสเห็นอย่างน้อยก็หลายปี เพราะว่าอยู่กับท่านมาก็ ๑๐ กว่าปี ยิ่งมองก็ยิ่งเห็น แล้วก็ยิ่งงง คือไม่เข้าใจว่านี่หรือคือทางสายกลาง

             ข้อแรกก็คือว่า เราเคารพท่านเจ้าคุณอาจารย์ และเชื่อว่าท่านต้องปฏิบัติตามทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ แล้วสิ่งที่เราเห็นนั่นก็คือผลผลิตที่ออกมาจากจิตใจของท่าน ซึ่งกระทำต่อคนนั้นคนนี้หลาย ๆ คน รวมทั้งกับสังคมด้วย ก็อยากจะลองเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังดูว่า คนมีธรรมะที่เราเคารพ ท่านใช้ชีวิตอย่างไรในวันหนึ่ง ๆ และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในกรณีหนึ่ง ๆ นั้นท่านได้ตัดสินลงไปด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งเราก็เคยคุยกันในระหว่างเพื่อนสพรหมจารีด้วยกัน ก็คิดว่าไม่เข้าใจเหมือนกัน จึงคิดว่าทางสายกลางนั้นมันเป็นเฉพาะบุคคล ที่จะใช้ความสามารถอันนั้นเพื่อตัดสินปัญหา

             ท่านทั้งหลายลองนึกคิดแบบรวม ๆ ดูก็ได้ บุคลิกหน้าตา ถ้าคนหนึ่งมีความรู้ คนสองคนมีความรู้เท่ากัน ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เอาใกล้ ๆ ว่าเท่ากัน สามารถเท่ากัน แต่เมื่อไปสมัครงาน เขาให้อ่านข่าวออกทีวี คนที่มีความสามารถก็ออกไม่ได้ เพราะว่าบุคลิกหน้าตาไม่ดี คนที่บุคลิกหน้าตาดีก็มีสิทธิ์ได้ออก แล้วนี่และทางสายกลางอยู่ตรงไหน ความถูกต้องอยู่ตรงไหน ซึ่งมันเป็นปัญหาเหมือนกับว่าเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งเราทุกคนกำลังประสบกันอย่างยิ่ง แล้วก็มีสิ่งที่ตัดสินไม่ได้ตลอด

             จะลองบอกเล่าชีวิตของท่านอาจารย์ให้ฟัง สิ่งที่เราเห็นก็เห็นเพียงแต่ภายนอก จิตใจของท่านเราก็ไม่เห็น สติปัญญาของท่านเราก็ไม่เห็น เห็นแต่ว่าที่ท่านทำออกมาแล้ว แสดงออกมาแล้ว ท่านทำอย่างไร ชีวิตของท่านก่อนที่จะอาพาธในเดือนตุลา ๒๕๓๔ คือก่อนหน้านั้นราว พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ท่านยังแข็งแรง เริ่มตั้งแต่ ๒๕๒๙ ท่านมีอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ท่านก็ยังแข็งแรง ยังมีอะไรที่ทำได้เต็มที่อยู่ ท่านอาจารย์ตื่นนอนแต่เช้าทุกวัน ตื่นก่อนระฆังตีสี่อีก ทำอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็นอนดึก สี่ทุ่มแล้วที่เขานอนกัน ท่านดับไฟก่อนเดี๋ยวเผลอ ๆ ก็มาเปิดไฟอีกตอนห้าทุ่ม เที่ยงคืนทำงานต่อ แต่ท่านไม่เคยพูดว่าท่านทำงาน ถึงเราจะถามท่านก็บอกเปิดไฟมันอย่างนั้นเอง มาดูอะไรนิดหน่อย ไม่เคยบอก โอย วันนี้ทำงานมากเหลือเกิน กลางวันขอนอนหน่อย ไม่เคยพูด ไม่เคยเอาเป็นข้ออ้าง ท่านทำงานสม่ำเสมอตลอดมา

             ตื่นตีสี่ก็มักจะเห็นท่านนั่งอ่านหนังสือบ้าง พิมพ์อะไรบ้าง ตุ๊ก ๆ ติ๊ก ๆ พิมพ์สองนิ้วสัมผัสระบบจิ้ม แต่ถ้าพิมพ์ภาษาอังกฤษท่านจะใช้สัมผัสแบบ ๑๐ นิ้วได้ แต่ถ้าพิมพ์ภาษาไทยท่านจะใช้ ๒ นิ้วจิ้ม ก็เคยมองเห็นได้จากหน้าต่างที่ท่านไม่ได้ปิด คนละห้อง แต่ก็มองเห็น ท่านก้มหน้าก้มตาจิ้มไปเรื่อย เสียงก็ดังดีเหมือนกัน พอบางครั้งท่านก็พักผ่อน แต่ว่าไม่นอนแล้ว ใช้ขัดสมาธิเท้าคาง คิดว่าท่านทั้งหลายบางคนอาจจะเคยเห็น ท่านลองนั่งขัดสมาธิดูซิ คนไหนที่นั่งขัดสมาธิอยู่แล้วก็นำมือมาวางที่คาง แล้วก็เอาศอกสองข้างมายันอยู่ที่หัวเข่า จะเป็นท่าที่สบายที่สุดสำหรับอิริยาบถที่อยากจะพักผ่อนไม่อยากจะนอน ไม่อยากจะตื่น ท่านก็เคยทำอย่างนี้ให้ผู้ที่ฝึกสมาธิในรุ่นก่อน ๆ ดู แต่ไม่ทราบว่ามีใครได้ถ่ายรูปไว้บ้างหรือเปล่า เป็นรูปที่ท่านแนะนำว่า เมื่อเมื่อยจากการฝึกสมาธิ ก็ใช้วิธีเท้าคางอย่างที่บอกเมื่อตะกี้นี้ เป็นท่าพักที่ดีที่สุด แต่หลายคนก็บอกอีกว่ามั่นแหละ มันปัจจัตตัง คือท่านเท้าพอดี แต่เรามันเท้าไม่ได้ ของเรามันหลังยาวกว่าท่าน บางคนหลังยาว มันงอ บางคนก็เข่ายาวไป อย่างนี้เป็นต้น นั่นแหละทางสายกลาง อย่างนี้ก็เป็นเฉพาะท่านเหมือนกัน ถ้าใครบังเอิญว่าขนาดรูปร่างพอ ๆ กับเจ้าคุณอาจารย์ก็คงจะใช้วิธีนี้สำเร็จประโยชน์

             ประมาณตีห้าท่านก็จะออกมาสรงน้ำ เท่าที่อยู่ด้วยกันมา ไม่เคยเห็นท่านสรงน้ำตอนที่พระอาทิตย์ขึ้น สรงน้ำเมื่อตอนที่พระอาทิตย์ตก ตีสี่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นก็สรงน้ำแล้ว กลางคืนหนึ่งทุ่มพระอาทิตย์ตกแล้วก็สรงน้ำ ใช้ความมืดเป็นฝากั้นห้อง ท่านทั้งหลายไม่ทราบก็ไปฝั่งโน้น แล้วก็ไปสังเกตดู จะมีตุ่มอยู่ใบหนึ่ง เมื่อไปที่ท่านพักก็มีต้นกระท้อนต้นใหญ่อยู่ แล้วก็มองเข้าไปก็จะเห็นกุฏิเล็ก ๆ อยู่หลังหนึ่ง แล้วหลังกุฏินั้นก็มีตุ่มน้ำอยู่ตุ่มหนึ่ง กลางคืนท่านก็สรงที่นั่น ใช้ความมืดเป็นม่านกั้นอยู่ ได้ยินแต่เสียงน้ำน้อย ๆ ไม่มีโครมคราม แต่ไม่ได้ถ่ายรูปไว้เพราะว่า มันเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม ก็เลยไม่ได้ถ่าย ท่านก็สรงน้ำยืนอยู่ข้างตุ่มน้ำ แล้วก็ใช้ขันทีมีด้ามเป็นกระบวย ตักแล้วก็รดกระบวยนี้ไม่ใช่ทำด้วยกะลา ทำด้วยวัสดุสมัยใหม่ ตักแล้วก็ใช้สบู่ สบู่ท่านก็ใช้ซันไลท์มาตลอด นี่ไม่ได้โฆษณา แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ท่านแนะนำว่า ถ้าเป็นพระควรจะใช้แบบนี้ เพราะว่าฟอกตัวแล้ว ก็ฟอกสบงไปด้วย ซักผ้าอาบไปด้วย นี่อาบน้ำซักผ้าใช้น้ำทีเดียว ไม่ต้องไปแช่แฟ้บไปซักให้เปลืองน้ำ ท่านทำเป็นตัวอย่างตลอด แล้วท่านก็สรงน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง

             ต่อมาเมื่อท่านป่วยตั้งแต่ ๒๕๓๔ แล้วนั่นแหละตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยสรงน้ำอีกเลย ใช้วิธีเช็ดตัวเอา แต่ก่อนถึงปี ๒๕๓๔ ท่านก็เริ่มไม่ค่อยสบาย ตอนเช้าก็ไม่ได้สรงน้ำเหมือนกัน แต่ก็ยังใช้ตอนกลางคืนสรงน้ำอยู่ ท่านไม่ได้ซักจีวร สบง อังสะบ่อยนัก ฉะนั้นคนที่มาบ่อย ๆ จะเคยเห็นอังสะท่านจะเลอะ ๆ อะไรต่าง ๆ หลาย ๆ อย่าง แล้วท่านก็ไม่ค่อยยอมให้ซัก ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด พระที่ทำหน้าที่ซักก็มีท่านสิงห์ทอง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าท่านไม่ค่อยให้ซัก ต้องไปแอบซักตอนท่านสรงน้ำ แล้วก็แอบไปดึงมา แล้วก็เอาผ้าใหม่ไปเปลี่ยน แล้วท่านก็จะถามว่าอันเก่าของเราไปไหน บอกเอาไปแช่น้ำแล้วครับ ท่านก็อ้าวอันใหม่ก็ได้ คือท่านพยายามจะไม่เบียดเบียนผู้ใด เมื่อท่านทำไม่ได้ท่านก็ไม่อยากจะใช้คนอื่นทำ นอกจากคนนั้นแสดงท่าทีด้วยความเคารพ ด้วยความที่อยากจะทำให้

             ท่านทั้งหลายคอยระวังเรื่องนี้ให้ดี เราเป็นผู้ใหญ่ก็จริง แต่ว่าเด็กมันไม่เคารพ เราไปใช้มาก ๆ ระวังอย่างที่ลงข่าวหนังสือพิมพ์ เป็นคุณนายถือว่าเป็นนายจ้าง ไปด่าลูกจ้างบ่อย ๆ มันก็ได้เอาสากตีหัวเข้า อย่าใช้อำนาจ เพราะว่ากิเลสนี่มันเล่นกันลำบาก ท่านอาจารย์ท่านไม่ใช้ใคร เว้นแต่คนนั้นแสดงกิริยาอาการที่ต้องการจะทำจริง ๆ ท่านก็จะให้ทำ แต่ว่าก็ไม่ถึงกับจะให้คนนั้นลำบากด้วย แม้แต่จะไปซักผ้าให้ท่าน ก็ยังต้องไปขอท่าน ไม่ใช่ว่าท่านจะมาใช้

             เมื่อสรงน้ำเสร็จ ต่อมาท่านก็มานอนพักอยู่หน้าห้อง พอให้มีแสงอรุณขึ้น ประมาณ ๖ โมงเช้าก็ออกเดิน แต่ต้องวัดความดันก่อน ตามที่หมอแนะนำไว้ จดเป็นสถิติไว้ แล้วก็ออกไปเดิน แต่เชื่อไหมว่า ตอนเช้าปกติท่านไม่เดิน แต่ก่อนโน้นนานมาแล้ว ประมาณ ๒๕๑๔ เคยเจอท่าน แต่ว่าท่านก็เดินเล่น ๆ ตอนตีห้า เดินมืด ๆ ไปอย่างนั้นแหละ ใครไปเจอเข้าก็ไม่รู้ว่าพระหลวงตาที่ไหน แต่ท่านมาเดินจริงจังเอาเมื่อประมาณอายุ ๘๐ แล้ว คือช่วงนั้นท่านมีอาการตึงขาตึงสะโพก แล้วหมอก็แนะนำว่าวิธีจะแก้สิ่งเหล่านี้ ก็โดยวิธีบริหารหรือการเดิน เพราะท่านอาจารย์ท่านจะนั่งขัดสมาธิทั้งวัน คนที่จำได้จะนึกออก ที่นั่งอยู่ม้าหิน ไม่ได้นั่งห้อยเท้า ขัดสมาธิอยู่อย่างนั้น เช้าจนถึงเย็น วันหนึ่งนั่งอย่างน้อยประมาณ ๑๒ ชั่วโมง ทำให้เส้นมันตึงหมด ตกลงหมอก็ช่วยกันขอร้อง คุณหมอเสริมทรัพย์นี่ก็เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่ง รวมทั้งอาจารย์รัญจวน รวมทั้งใคร ๆ เยอะแยะไปหมด หมอหลายคนก็ขอท่าน ท่านก็บอกว่าจะเดิน แต่แล้วท่านก็ไม่เดิน ก็เลยทุกเช้าก่อน ๖ โมงฝ่ายอุบาสิกาจะมานั่งคอยที่ม้าหิน ประมาณ ๕-๖ คนมาคอยนั่งคอยทุกวัน พออาจารย์ออกมาเจอเข้า ท่านบอกอ้าวเดี๋ยวขอนั่งก่อน เดี๋ยวค่อยเดิน ก็นั่งสนทนาธรรมะกันไป ไม่ได้เดินอีก ตกลงวันรุ่งขึ้นมาอีก ก่อน ๖ โมงเข้ามาอีกมานั่งคอยอีก ท่านก็ไม่เดิน ท่านก็ชวนคุยธรรมะไปหลายวัน ๆ เข้า ผลสุดท้ายก็ยอมแพ้ความตั้งใจจริงของคณะอุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรม เท่าที่สังเกตดูท่านอาจารย์จะยอมทำอะไรทั้งที่ทำก็เพื่อตัวท่านอาจารย์เองแหละ เพราะถ้าท่านไม่เดินท่านก็จะแย่ แต่ท่านก็จะทำตามคำขอร้องนั้น แต่ต้องเป็นคำขอร้องของผู้ปฏิบัติ ของผู้ที่ท่านมองเห็นแล้วว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ขอร้องในลักษณะที่เป็นคำสั่งอยู่ข้างใน

             ท่านเคยสังเกตไหมว่า ขอร้องใครแต่มันเป็นคำสั่งอยู่ข้างใน เช่นว่าขอร้องนะออกไปหน่อย นั่นคือคำสั่งถ้าคุณไม่ออกไปผมก็จะใช้ความรุนแรง หลายอย่างเหมือนกับหลาย ๆ คนไปป้อนข้าวพ่อแม่ พ่อแม่แก่แล้ว หรือไม่สบาย อ้าวแม่กินหน่อย พ่อกินหน่อย แต่ในใจก็นึกว่าไม่กินก็ดีเหมือนกัน ไม่อยากให้ คือในส่วนลึกจริงมันมิได้ต้องการปรนนิบัติหรือว่าจะรับใช้ มันมีอะไรเป็นตัวตนอยู่มาก

ฉะนั้นกว่าท่านจะเดินได้ก็หลายวันทีเดียว ผลสุดท้ายท่านก็ยอมเดิน รับปากว่า เอาล่ะ แต่นี้ไปเราจะเดิน แต่คณะอุบาสิกาก็ไม่ท้อถอย มาเดินอยู่กับท่านนานหลายวัน เดินอยู่จนกระทั่งแน่ใจว่า ท่านอาจารย์ท่านรับปากคำไหนต้องคำนั้น ท่านก็เดินมาตลอด อาตมาก็พลอยได้เดินกับท่านไปด้วย เช้า ๆ ก็เดินไปทุกวัน ๆ เส้นทางที่ท่านเดินเป็นเวลาหลายปีก็เดินออกจากม้าหิน ออกไปแล้วก็เลี้ยวซ้าย อ้อมศาลาธรรมโฆษณ์แล้วก็ผ่านไปที่สนาม ข้างหลังอวโลกิเตศวรจะมีถนนเล็ก ๆ อยู่ แล้วก็ไปเลี้ยวก่อนที่จะถึงโรงธรรม เลี้ยวซ้ายไปที่โรงฉัน แล้วก็เดินผ่านถนนหน้าสนามอวโลกิเตศวรไปจนถึงถนนที่จะขึ้น เลี้ยวซ้ายก็ขึ้นผ่านซุ้มสายหยุด เดินขึ้นไปข้างบนไปถึงที่ม้าหิน แล้วก็ไปนั่ง เดินประจำทุกวัน บางวันออกเดินก็เลี้ยวซ้าย บางวันก็ชวนท่านอาจารย์ครับวันนี้เลี้ยวขวาบ้าง อ้าว ๆ เลี้ยวขวาบ้าง คือเดี๋ยววันนี้ก็เลี้ยวซ้าย วันนี้ก็เลี้ยวขวาแต่ก็รอบเดิมนั่นแหละ แต่ว่าเดินกลับไปกลับมาอย่างนั้นแหละ ถนนที่เดินก็ไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไร ก็มีหินมีอะไร ท่านก็ไม่เคยบ่นเคยว่าให้คนอื่นที่ต้องทำถนนให้ท่าน ท่านบอกดีอย่างนี้ดี ท่านทั้งหลายเคยเดินถนนจากโรงฉันขึ้นไปโรงธรรม จะเห็นมีก้อนหินมากตลอดทาง เราอายุน้อยอยู่ เราไม่รู้หรอกว่าก้อนหินนั้นมันทรมานสังขาร ถามท่านผู้มีอายุลองเดินดูก็จะรู้ว่า มันมีความลำบาก ท่านก็บอกว่าดี อย่างนี้เราได้ออกกำลัง เดินให้ก้อนหินมันกลิ้งไปกลิ้งมา ท่านพยายามทดสอบกำลังตัวเองตลอด แม้แต่การเปิดกระป๋อง เราจะเปิดให้ท่านบอกไม่ต้อง เปิดเอง จะได้รู้ว่ากำลังยังมีไหมอยู่ไหม กระป๋องที่เขาใส่ขนมปังที่ต้องใช้ออกแรงพอสมควร ท่านก็เปิดเอง แล้วกุญแจห้อง ซึ่งเขาแนะนำว่าผู้สูงอายุควรจะใช้กุญแจห้องซึ่งมีด้ามกุญแจใหญ่เพื่อจะได้จับเต็มมือแล้วก็บิด ท่านไม่เอา ท่านก็ยังใช้สองนิ้วเหมือนเดิม เพื่อทดสอบกำลัง ท่านอาจารย์ท่านจะใช้ทุกส่วนของร่างกายด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อที่จะรู้ว่า ขณะใดร่างกายมันถอยไปเท่าไรแล้ว แล้วท่านก็รู้ประมาณตัวของท่านเองตลอด ท่านถึงบอกว่าท่านไม่ค่อยสบาย ก็เพราะว่าท่านสังเกตอย่างนี้ตลอดเวลา

             ขณะที่ท่านเดินนั่นแหละ ก็เป็นโอกาสดีสำหรับมือกล้องทั้งหลาย ก็คอยดักหน้าดักหลังถ่ายไปตลอด แต่ก็ถ่ายไปอย่างไรท่านก็ไม่ว่า ขอให้อย่าไปขวางการเดินของท่านก็แล้วกัน ตากล้องบางคนก็ไม่ได้เรื่อง ไปยืนอยู่ตรงหน้าจนท่านเดินไปถึงก็ยังหาโฟกัสไม่เจออยู่อีกนี่ก็ลำบาก ก็ไปดักถ่ายกันตลอด ขนาดมือกล้องอาชีพยังสยบต่อการมองมุมถ่ายของท่าน เพราะท่านเดินทุกวัน ท่านไม่ได้เดินแบบเรื่อยเปื่อย ท่านสังเกตไปเรื่อยว่าตรงไหน มุมไหนดี ท่านจะคอยสังเกต ถ้ามีกล้องและท่านพอจะรู้จัก ท่านก็จะแนะว่าถ่ายตรงนี้ต้องยืนตรงนี้ ถ่ายมาแล้วก็จะสวย มุมกล้องที่ท่านได้แนะช่างภาพถ่ายไปก็คือ ให้ถ่ายผ่านง่ามต้นมะม่วงที่อยู่ที่สนามอวโลกิเตศวร แล้วท่านก็จะไปยืนอยู่ตรงขอบบ่ออวโลกิเตศวร แล้วช่างกล้องจะถ่ายผ่านง่ามต้นมะม่วงไป แล้วก็จะมีท่านอยู่ตรงระหว่างง่ามพอดี แล้วก็เหนือศีรษะขึ้นไปก็จะมีรูปอวโลกิเตศวร รูปนี้ก็ยังมีแพร่หลายอยู่ ช่างกล้องมืออาชีพเองก็ยังยอมรับว่ามุมนี้ผมมองไม่ออกครับ ท่านบอกคุณไปถ่ายเถอะแล้วมันจะออกมาสวยมาก ถ่ายออกมาแล้วเหมือนกับอยู่ในหุบผาอะไรอย่างนี้สวยมาก แล้วท่านก็มีฝีมือมาก

             ในอาคารนี้มีรูปที่ท่านนั่งอยู่ที่บ่อบัว ตอนนี้บ่อบัวนี้เป็นบ่อแช่ปูนไปแล้ว ก็เลยไม่ได้ดู แต่ก่อนนี้ยังเป็นบ่อบัวอยู่ แล้วบ่อบัวก็เป็นศิลปะของท่านเอง ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น ท่านบอกว่าบัวมันต้องอยู่เสมอกับพื้นดินไม่ใช่ยกขึ้นมาสูง ๆ ท่านจะฝังบ่อซีเมนต์อยู่กับดิน แล้วขอบบ่อซีเมนต์อยู่เสมอระดับดินพอดี แล้วก็ปลูกบัว เวลาบัวงาม ๆ ขึ้นมาก็ไปนั่งพิจารณาบัว เหมือนกับว่าบัวบานออกมา ก็เหมือนกับการตรัสรู้ เป็นการรู้ธรรม แล้วท่านก็ไปนั่งดูบัว หลายคนคงจะชอบดอกบัวแต่ไม่มีใครได้ยินดอกบัวพูด ท่านอาจารย์ท่านไปนั่งดูดอกบัวแล้วท่านได้ยินดอกบัวพูด ท่านเขียนไว้ในรูปนั้น เดี๋ยวท่านไปอ่านดู ท่านเขียนไว้ว่า

                          ทำกับฉัน เหมือนกับฉัน นั้นยังอยู่
            
             อยู่เป็นคู่ กันชั่วฟ้า ดินสลาย
            
             ทำกับฉัน อย่างกับฉัน นั้นไม่ตาย
            
             ท่านทั้งหลาย ก็อยู่กัน นิรันดร

             แล้วก็เซ็นชื่อพุทธทาสไว้ นั่นดูซิพื้นที่สวนโมกข์ทุกตารางนิ้ว ไปนั่งตรงไหนมันได้ยินธรรมะไปหมด นี่แหละท่านถึงพยายามจัดสถานที่ต่าง ๆ ไว้ ถ้าใครไม่ไปลบของท่านเสีย ก็จะได้ประโยชน์ตามที่ท่านได้ประโยชน์มาแล้ว มีดอกบ้างอะไรบ้าง ท่านใช้เป็นการศึกษาปฏิบัติธรรมตลอด

             ชีวิตท่านก็อยู่อย่างนี้ เรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ว่ามีอะไรออกมาลึกมาก ตรงนั้นก็มีต้นมะขามอยู่ต้นหนึ่ง ตอนนี้ก็งามขึ้นมาแล้ว ท่านบอกว่าต้นนี้อย่าให้มันสูงเดี๋ยวมันจะบังอวโลกิเตศวร ตอนนี้มันเริ่มสูงแล้ว เดี๋ยวจะต้องไปทำให้มันเตี้ยลงหน่อย เขาจะทำให้มันเตี้ยลงมา ถ้ามันออกฝักออกอะไรก็ไม่ต้องลำบากเก็บ แต่ให้มันเตี้ยไว้ ให้มันเป็นลักษณะไม้พุ่ม แล้วก็ต้นพิกุลท่านเคยสังเกตไหม ต้นพิกุลที่อยู่หน้าศาลาธรรมโฆษณ์ซ้ายมือ เดี๋ยวนี้ใหญ่โตแล้ว พอดีท่านเจ้าคุณอาจารย์ไม่ได้ไปดูเลยต้นโตใหญ่ แต่ก่อนนั้นเดินผ่านทุกวันไม่ได้โตหรอก ผ่านมา อ้าวนี่ เดี๋ยวไปทำให้มันเตี้ย ๆ หน่อย เพราะว่าถ้ามันใหญ่โตมันอาจจะล้มลงมาฟาดกุฏิก็ได้ ทำให้เป็นไม้พุ่ม ท่านมีความละเอียดอ่อน ท่านมีความสังเกตอะไรอยู่ตลอดเวลา ที่เดินไปเรื่อย ๆ

             เดินไปเรื่อย ๆ แล้วก็กลับมานั่งที่มาหิน ช่วงนั้นเป็นเวลารับแขก ท่านมีแขกประจำมาทุกวัน พาครอบครัวมา แม่ไก่มาแล้ว พอท่านมานั่งปุ๊บก็มาแล้ว ครอบครัวไก่ กุ๊ก ๆ มา ลูกไก่ ๕-๖ ตัว มาประจำ เป็นขาประจำ ท่านก็เลี้ยง ๆ ๆ ตรงนี้แหละที่เราจะได้เห็นการปฏิบัติของท่าน ท่านไม่ใช่เป็นคนที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบุญตามกรรม สิ่งใดที่เข้าไปจัดได้ก็เข้าไปจัด ขณะที่เลี้ยงลูกไก่อยู่ มันมีไก่บางตัวที่เข้ามากินด้วย ท่านก็มีไม้เท้าที่คอยจะกันมัน อย่างไก่บางตัวมันเกเร มันจิกลูกเจี๊ยบบ้าง จิกอะไรบ้าง ท่านก็จะเอาไม้เท้านั้นเป็นไม้อาญาสิทธิ์ไล่มันไป บางครั้งไก่มันก็ดื้อเหลือเกิน ท่านก็ต้องใช้อย่างสมัยใหม่เรียกเพลงไม้เท้าบิน สำหรับไก่บางตัวที่ดื้อ ๆ มันจะกุ๊ก ๆ ไปไล่อยู่เรื่อย อาตมาเคยสงสัย เอ๊ะไม้เท้าท่านอาจารย์ทำไมมันชอบไปอยู่ ไกล ๆ อยู่ไกลออกไปเลย ห่างออกจากตัวท่านไป ๓-๔ วา วันหลังก็เลยมานั่งดูข้างหลัง อ้อ ! คือท่านช่วยลูกไก่ ไก่บางตัวมันดื้อ ไล่แล้วมันไปยังหันมามองหน้าอีก ก็เลยปล่อยไม้เท้าบิน ก็ไม่มีอะไร เพียงแต่ทำให้มันกลัว ต้องจัดการกับมันในสิ่งที่เราทำได้

             ตรงต้นกระท้อนนั้นจะมีไก่มานอนมาก แต่ก่อนยังไม่ได้ทำที่สำหรับวางม้าหิน ต่อมาจึงมีม้าหิน ถ้าไก่มานอนก็จะขี้ลงมาทุกวัน ตอนเช้าก็เต็มไปหมด คนมาหาอาจารย์ก็ไม่ทันได้ดูหรอก อารามดีใจที่เห็นท่านอาจารย์ นั่งลงไปก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร นั่งลงไปแล้วก็ตามเลยไปเช็ดเอาทีหลัง ท่านอาจารย์ก็เลยต้องจัดการไก่ทั้งฝูงที่พักอยู่บนต้นกระท้อน เพื่อไม่ให้คนที่มาได้รับความลำบาก ก็ไล่มันไป ไล่กันอยู่นานเป็นอาทิตย์ พอตกเย็นปุ๊บมันก็จะขึ้นต้นกระท้อน ก็ต้องมาช่วยกัน พระหลาย ๆ องค์เอาไม้เอาอะไรบ้าง ช่วยกันตีไล่ให้ไปนอนข้างหลัง ไปนอนต้นจำปาอะไรนั่น ไล่กันทุกวันผลสุดท้ายก็สำเร็จ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมี หลังสุดก่อนท่านอาพาธก็ยังมีไก่บางตัวรอดมาอีก อ้าวมาไล่มันไปที ใช้อะไรต่าง ๆ พอจะไล่มันได้

             สุนัขทุกตัวที่อยู่ในบริเวณนั้น ท่านจะรู้ว่าตัวไหนมันเป็นตัวเก่า ตัวไหนมาใหม่ ตัวมาใหม่จะมากัดตัวเก่าไม่ได้ เพราะตัวเก่าหลายปีเข้ามันแก่ ตัวใหม่หลายปีเข้ามันหนุ่ม กำลังมันดี เขี้ยวมันคม มันจะมาขย้ำคอไอ้ตัวเก่า ท่านจะไม่ยอม ท่านถือว่ารังแกคนแก่ หรือทำนองว่า หนุ่มใหม่มาไล่คนเก่าไม่ได้ ท่านจะเข้าไปจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งเราเป็นห่วงมากตอนนั้น เช้าวันหนึ่งบันทึกไว้วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นเช้าเผด็จศึก เจ้าสุนัขตัวหนึ่งซึ่งมันเป็นลูกสุนัข แล้วมันโตขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็ไปกัดไอ้ตัวที่เคยอยู่ก่อนต่อหน้าท่าน ท่านก็จัดการด้วยไม้เท้าเก่าแก่มาก ไม้เท้านั้นท่านใช้มาเป็น ๒๐ ปีแล้วมั๊ง ก็สลัดตีไม้เท้าลงไปหัก ๓ ท่อนเลย เรานี้ใจวูบคิดว่าท่านอาจารย์ล้มลงไปแล้ว คิดว่าท่านล้มลงไป นี่เพราะว่าเราไม่ไล่ ก็เลยทำให้ท่านต้องลงไม้ลงมือ มันก็นับว่าเป็นบาปเหมือนกันที่เราไม่ได้ช่วยท่าน ท่านทำเอง ท่านไม่ง้อหรอก ถ้าท่านทำได้ คนเห็นอาจจะตกใจ ทำไมทำอย่างนี้หลวงพ่อ ดีแล้วหลวงพ่อไม่ได้เอาไม้เท้าตีหัวเราเข้า บอกแล้วว่าการปฏิบัติทางสายกลาง บางครั้งเราเห็นแล้วเราไม่เข้าใจ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราเชื่อว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สิ่งที่ท่านทำนั้นทำด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นความถูกต้องก็ยอมรับได้ แล้วไม้เท้านั้นก็ยังเก็บอยู่เป็นที่ระลึก

             ท่านนั่งรับแขกอยู่ตรงนั้นมันดี เพราะว่าแขกจะนั่งไม่นาน พอมีฝนตกมาก็เลิกกัน ไม่ต้องไล่แขก แล้วบางทีท่านก็ไม่ลุกนะ บางทีท่านพูดไปเฉย ๆ แขกไม่ลุกก็ช่างเพราะท่านมีร่ม ก็คุยไปเรื่อยทำไม่รู้เรื่อง ก็มีคนทนเหมือนกันแหละ ทนจนไม่ไหว บอกไม่ไหวแล้วหลวงพ่อ เพราะว่าฝนตก ทำแบบนั้น ท่านเอื้อเฟื้อในระดับที่เกิดความสมดุล

             ถ้าสมมุติว่าสร้างเป็นหลังใหญ่แบบนี้ โอ ท่านแย่ ฝนตกมันก็ไม่ไปใช่ไหม ตกลงไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะให้แขกไปได้ แต่ว่ารับแขกกลางแจ้ง ฝนตกก็เลิกกัน เหมือนบรรยายวันเสาร์ ฝนตกก็เลิก อย่างที่เห็นอยู่แล้วว่าฝนจะตก แต่ว่าบรรยายก่อน พอตกก็เลิก แต่พอไปตั้งไว้ที่เรือแล้ว ฝนตกก็ต้องบรรยายจนเลิก จนกว่าจะจบข้อความ จะเห็นว่าชีวิตของท่านใกล้ชิดธรรมชาติแล้วก็มีอะไร ๆ ที่มันเป็นไปโดยลำดับ ไม่ต้องทำความยุ่งยากลำบากต่อใคร ท่านอาจารย์ท่านอยู่ตรงนั้น

             บางคน ตอนเช้าท่านเดินอยู่ ก็มาหาท่าน แล้วก็มันจะถูกท่านไล่ ท่านเคยบอกไว้บอกว่า คนถ้ามันไม่รู้กาลเทศะ ปฏิบัติธรรมะไม่ได้หรอก เวลานี้เราเดินอยู่มันยังมากราบขวางหน้าเรา แล้วแถมยังมาบอกหลวงพ่อขอถามปัญหาหน่อย มันไม่รู้ว่าเวลานี้เขาจะทำอะไร แสดงคนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะรู้ธรรมะได้ เพราะว่าไม่รู้มารยาทพื้นฐาน แล้วก็ถูกไล่ไป ถ้าดีหน่อยก็บอกไปนั่งคอยที่นั่น

             เวลาแขกเข้ามา แม้กระทั่งพระภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน ไม่ถอดรองเท้าในที่ไกล มาถอดรองเท้าข้างหน้า แล้วก็เอารองเท้ารองหัวเข่าแล้วก็กราบ พวกนี้ก็ยังไม่ไหวแล้ว เขาเรียกว่า สำอางกินไป หรือมักง่ายเกินไป ซึ่งเราทำกันประจำ บางคนกลัวเปื้อน เปื้อนกายนี้กลัวนัก แต่เปื้อนใจไม่ทันดู ท่านสังเกตคนเหล่านี้อยู่ คนที่มีท่าทางที่ไม่ค่อยจะถูกต้อง ท่านก็ไม่อยากจะคุยด้วย เพราะมันบ่งลักษณะบ้า ๆ อยู่เหมือนกัน มาถึงก็นั่งดูท่านอาจารย์ทั้งวัน นั่งดูอย่างนี้ บางทีท่านก็บอกว่าไปถามดูซิ เขามีธุระอะไร ไปถามว่าโยมมีธุระอะไร คนนั้นก็ไม่ทราบว่าอารมณ์ค้างหรืออารมณ์เสียอยู่ ถามว่า "ทำไมนั่งไม่ได้หรือไง" ความจริงก็เป็นห่วงคนไปนั่ง ตอนหลังก็เลยปล่อยเลย คนมาหลังก็เลยลำบากอีก โอ๊ยดิฉันมานั่งตั้งแต่เช้าแล้วน่ะค่ะ ยังไม่ได้ที่พักเลย อ้าว ! ใครจะรู้ล่ะ โยมมานั่งมีธุระอะไรหรือเปล่า เพราะว่าเราเคยไปถามก็โดนโยมดุเอาเสียอีก หาว่าไปรบกวนเขา เขาอยากจะนั่งชมท่านอาจารย์ บางคนมาแล้วอย่าไปนั่งเฉย ๆ ไปที่เคาน์เตอร์ที่มีพระเจ้าหน้าที่อยู่ ก็ไปถาม ถ้านั่งเฉย ๆ พระก็ปล่อยตามเรื่อง ไม่อยากไปรบกวนโยมที่นั่งอยู่หรอก เพราะว่าบางคนเขาก็นั่งอยู่โดยมีวัตถุประสงค์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่านั่งโดยมีวัตถุประสงค์หรือเปล่า หรือว่านั่งคอยใคร

             ท่านอาจารย์นั่งรับแขกอยู่ตรงนั้น สังเกตแขกที่มา ได้เวลา ๘ โมงท่านก็ฉัน ความจริงท่านจะฉันเมื่อไรก็ได้ เดินหกโมงเช้าแล้วมานั่งตั้งชั่วโมง คอยแขก ไม่เห็นมีใครมาเลย คุณคิดดูนั่งมาตั้งกี่ปีแล้ว คอยแขกมาตลอดเลย ท่านทั้งหลาย ท่านเจ้าคุณอาจารย์นั่งคอยท่านทั้งหลายมากี่ปีแล้ว ท่านไม่มา ตอนนี้ท่านไม่นั่งคอยแล้ว ท่านไปนอนคอยแล้ว ไม่ไปนั่งคอย เวลาแขกมาตอนท่านฉัน เวลาอาหาร ๘ โมงเช้า เขาจะมีสัญญาณตีกลอง ท่านจะได้ยินด้วย กลองที่เขาตีเป็นสัญญาณพระก็จะไปตักอาหารที่โรงฉัน ถ้าได้ยินเสียงกลองท่านก็จะลุกขึ้นมาฉัน แต่บางครั้งก็มีแขกติดพัน แขกก็คุยไม่รู้เวล่ำเวลาเลย เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน บางครั้งเราไปบอก ท่านอาจารย์ครับ ๘ โมงแล้วครับ แต่เราไม่บอกว่าฉันนะ ไม่ได้บอกว่า อาจารย์ครับนิมนต์ฉันเช้า บอกอย่างนั้นไม่ได้ ต้องบอกอาจารย์ครับ ๘ โมงแล้ว ๘ โมงแล้วหรือ เดี๋ยวไป ถ้าแขกคุ้น ๆ กันหน่อยแต่ว่าคุยเพลิน แขกคุ้น ๆ นะคุยเพลินเลย ๘ โมงแล้วไม่รู้เรื่อง เราก็ไปบอกแขก "เดี๋ยวค่อยคุยกัน นี่ ๘ โมงแล้ว ให้ท่านอาจารย์ฉันอาหารก่อน" เขาก็จะลุกไป แต่บางครั้งก็เป็นแขกที่มีเกียรติก็ลำบากเหมือนกัน คุยเพลินไม่ยอมเลิก คุยเพลินจน ๘ โมงครึ่ง อาจารย์ท่านก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาตรงคนที่อยู่ข้างหลังท่านอาจารย์ พวกเราพลอยหิ้วท้องไปด้วย แทนที่จะได้ฉันก็ไม่ได้ฉัน บางทีก็ยาวไปเลยก็แล้วแต่ ฉะนั้นขณะกำลังฉันอยู่ ๘ โมงนี่ ถ้ามีแขกที่ไม่รู้เรื่องเข้าไปนั่งคุย ท่านอาจจะบอกกับแขกตรง ๆ ว่า เวลาฉันห้ามคุย ผิดวินัย บางคนก็ไม่ได้ยิน ทำเป็นไม่ได้ยิน นั่งเฝ้า ถามท่านทั้งหลายว่า กำลังนั่งทานอาหารกัน ต่อหน้าคนที่ไม่รู้จัก ท่านรับประทานฝืดคอไหม? ถึงแม้เราเชิญแขกมาที่บ้าน แขกที่มาคุ้น ๆ ก็ฉันไม่อิ่มเหมือนกัน รับประทานอาหารไม่อิ่ม แต่ท่านอาจารย์คงไม่มีปัญหาเรื่องนั้น แต่ถ้าเป็นแขกที่คุ้นเคยท่านก็คุยด้วย ท่านก็ไม่ได้บอกว่าผิดวินัยหรอก คุยไปด้วย เราต้องไปบอกแขกว่า ท่านอาจารย์เคยพูดว่ามันผิดวินัย เขาก็ไม่สนใจ ชวนคุย ทำให้ท่านอาจารย์ลำบากเหมือนกัน ฉันไปต้องคุยไป

             แล้วที่คิดว่าไม่เหมือนผู้ใด ขณะที่ท่านอาจารย์ฉัน จะมีทั้งสุนัข แมวและไก่มาร่วมวงด้วยอยู่เป็นประจำ เรานี่ก็เหลือจะทนแล้ว เพราะว่าแมวก็มานั่งคอยเลยคอยใกล้ ๆ สำรับอาหาร สุนัขก็มานั่ง ไก่ก็มา แล้วท่านจะไม่ฉันอาหารก่อน ท่านจะต้องให้ไก่ โปรยข้าวให้มัน พอไก่มันได้เศษข้าวมันก็แย่งกันกิน มันก็ไม่กินเปล่า ตีกันบาง โอ้โฮ นั่นมันพื้นดิน มีฝุ่นนี้ขึ้นมาเต็มเลย ฟุ้งขึ้นมาลงไปที่ไหนบ้างไม่รู้ แล้วท่านก็อยู่อย่างนั้น ฉันไปอย่างนั้น ฉันแบบนั้นแหละ ฉันคลุกฝุ่นเป็นประจำ

             แล้วท่านก็ใช้ส้อมจิ้มอาหารให้สุนัขกิน สุนัขก็กินไปจากส้อมของท่าน เราก็วิตกกังวลว่า ถ้าสุนัขมันเป็นโรค ยุ่งเหมือนกันนา ก็ไม่ทราบว่าจะติดมาถึงท่านหรือเปล่า ฉะนั้นก็ต้องเดือดร้อนหมอ คุณหมอประยูรหรือว่าคุณหมออื่นที่มีความรู้ในเรื่องการฉีดยากันพิษสุนัขบ้าก็ต้องฉีดกันเป็นประจำ ถ้าไม่ฉีดก็ไม่รู้ เดี๋ยวเกิดเรื่องแน่ เพราะท่านอาจารย์ท่านทำแบบนั้นได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านทั้งหลายจะทำได้ไหม?

             ช้อนส้อมอะไรท่านก็ไม่เคยล้าง นี่แหละทางสายกลางของท่าน ไม่เคยล้าง บางคนล้างเสียจนกระทั่งล้างแล้วล้างอีก แต่ท่านไม่ล้าง คอยสังเกตดูพระฉันอาหารส้อมเขาไม่ล้าง แต่เช็ดเฉย ๆ ก็พอแล้ว ก็เอาไว้ตรงนั้นแล้วมดก็มากินต่อ แสดงว่าปลอดภัย มดยังกินได้แสดงว่าปลอดภัย ก็ทำอย่างนั้นตลอดเวลาตามแบบของท่าน

             แมว ท่านก็ให้อาหารแมว แมวกินแล้วก็ลากไปโน่นลากไปนี่ โอ้ย ! เต็มไปหมด มดเต็มไปหมด ท่านใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่รู้สึกว่ามากวนเรา บางคนกำลังกินอาหารอยู่พอแมวร้องเหมียว ก็รู้สึกรำคาญเหลือเกินทนไม่ไหว แต่ตลอดเวลาท่านอยู่กับธรรมชาติ ทั้งไก่ก็กวน หมาก็กวน แมวก็กวน ท่านก็อยู่เฉย ๆ เป็นการฝึกความอดทนมาตลอดเวลา ไม่มีปัญหากับสิ่งเหล่านี้ ชีวิตของท่านที่เรามองเห็น

             พอฉันเสร็จท่านก็ออกไปนั่งรับแขกอีก ไม่ต้องทำอะไร แล้วความคิดก็จะไหลออกมาจากการมอง เคยถามท่านว่า "ความคิดต่าง ๆ ที่เอามาเทศน์ เอามาจากไหน คิดหรือเปล่า" "ไม่ต้องคิดหรอก ไปนั่งเฉย ๆ เดี๋ยวมันไหลออกมา นั่งเฉย ๆ มันก็ค่อย ๆ ไหล พอมันไหลออกมาก็จด ๆ ๆ แล้วได้เวลาก็เอาไปเทศน์"

             คนมักจะมาถ่ายรูปกับท่าน ท่านก็มักจะไม่ปฏิเสธอะไร แต่ว่าขอเพียงว่า ถ้าเป็นสตรีขอให้มากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป คนบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ตอนนี้อยู่ตั้งหลายคน ท่านบอกว่าไม่ได้ เวลาถ่ายแล้วในรูปจะมีแค่สอง ตอนกำลังถ่ายคนมันเยอะ แต่ตอนถ่ายแล้วมีสองคนในรูป มันเป็นอาบัติในรูป เพราะว่าภิกษุห้ามอยู่กับสตรีสองต่อสอง ในรูปมันมีแค่ ๒ คน ไม่ได้ ท่านไม่ยอม ถ้าจะถ่ายรูปก็ต้องมีคนอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย แล้วก็ให้นั่งไกล ๆ นั่งพ้นรัศมีมือ แล้วก็พ้นรัศมีไม้เท้าท่านด้วย ท่านก็แกว่งไปแกว่งมา บอกว่าอยู่ไกล ๆ หน่อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่ว่าคนที่คุ้นเคยอาจจะเข้ามาใกล้อีกนิดหนึ่ง แต่ว่าพ้นระดับมือ ประมาณห่าง ๑ เมตรขึ้นไป ท่านเตือนทุก ๆ คน เสมอ ๆ ในเรื่องนี้แล้วก็แนะนำ กระทั่งถ่ายรูปก็แนะนำ แล้วท่านก็บอกเสมอว่า ผู้ใดถ่ายรูปกับเรา ผู้นั้นคือผู้ที่ทำสัญญากับเราแล้วว่า จะปฏิบัติตามที่เราสอน ใครที่มีรูปกับท่านเอาไปเทียบไว้ได้ ข้าพเจ้าขอสัญญาว่า จะปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้ ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์ แต่ใครถ่ายรูปกับท่านก็ได้

             ยังมีสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจท่าน อาตมาก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน คือท่านไม่ให้คนยืมของ เคยมีครั้งหนึ่ง พระที่เขามาทำหนังสือเรื่อง "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" เป็นประวัติชีวิตของท่านแล้วก็มาสัมภาษณ์ แต่แล้วเมื่อทำเสร็จแล้วเขาก็อยากจะพิมพ์ดีด เขาก็มาขออาตมา พระประชาก็มาขออาตมา อาตมาก็บอกฮึ ! ไม่รู้ได้หรือเปล่า ต้องไปถามท่านอาจารย์ก่อน อาจารย์บอก "ไม่ได้ห้ามยืม" คิดดูว่าขนาดจะมาทำงานให้ท่าน ก่อนที่จะมาขอสัมภาษณ์

             หนังสือเล่มนี้ทำยากที่สุดเลย แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" เป็นการสัมภาษณ์สด ๆ จากท่าน จะมาขอสัมภาษณ์ ท่านไม่ยอม ใคร ๆ มาขอก็ไม่ได้ แต่ว่าคนนี้ขอได้ พระประชาเขาเคยแสดงฝีมืออะไรไว้ให้ท่านเห็นว่าเป็นคนจริง แล้วก็มีวิธีพูดจนท่านยอม บอกว่าการสัมภาษณ์นี้มิใช่เป็นการเปิดเผยตัวเอง ว่าตัวเองเก่งอย่างไร แต่ต้องการดูวิธีการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นแบบอย่างของคนรุ่นต่อไป มีเหตุผล เพราะว่าท่านถือว่า ธรรมเนียมคนไทยแล้ว จะไม่เขียนประวัติของตัวเอง ไม่เล่าประวัติของตัวเอง ไม่เหมือนกับฝรั่งที่จะเขียนประวัติของตัวเองยาว ๆ ให้คนอื่นอ่าน ท่านก็ไม่ทำ แต่ก็มีประวัติพอสมควรให้ได้อ่าน

             ข้อสำคัญคือว่า ท่านไม่ให้ยืม ไม่ให้ยืมมันดีอย่างหนึ่ง เคยได้ยินสุภาษิตว่า รักเพื่อนอย่าให้เพื่อนยืมเงิน ถ้าเขามาขอให้เขาไปเลย บอกไม่ต้องยืม เอาไปเลย เพื่อป้องกันการที่จะต้องบาดหมางใจกันทีหลังเพราะยืมไปแล้วก็คืนไม่ได้ ไม่มีให้คืน

             ท่านอาจารย์ท่านจะใช้คนตามหน้าที่ เราอยู่ที่นั่นเรารู้กันดี ก็มีท่านสิงห์ทอง มีท่านมณเฑียรหรือว่าท่านจ้อย ตอนหลังนี่ก็มีท่านทวี แล้วก็มีอาตมา ก็มีหน้าที่ต่างกัน ท่านสิงห์ทองท่านเป็นคนจัดโต๊ะอาหาร หรือว่าทำงานเกี่ยวกับซักผ้าบ้าง ทางคุณจ้อยก็ทำหน้าที่รับรอง ตรวจสอบหนังสือ มีหนังสืออะไรบ้าง ท่านทวีมีหน้าที่อัดเทป อาตมาทำหน้าที่พิมพ์จดหมายให้ท่าน พอถึงเวลา ๘ โมงปุ๊บ ท่านก็จะถามสิงห์ทองอยู่ไหม? ถ้ายังไม่อยู่ก็ยังไม่ฉัน ต้องไปเรียกมาก่อน ต้องไปตามมาให้ได้ ถ้าไม่ได้ บางทีอาจจะท้องเสียหรืออะไรอยู่ไหน ก็ต้องไปเอามาจนได้ก่อน ท่านถึงจะฉัน ท่านไม่ทำสับหน้าที่กัน นอกจากเขาฝากกันไว้ ไม่อยู่แล้วฝากหน้าที่กันไว้ได้ ท่านไม่สับหน้าที่ อย่างเช่นคนมาทำบุญ ท่านก็ต้องคอย คอยคุณจ้อยว่าอยู่ไหม? ถ้าอยู่อ้าวช่วยไปจัดที ถ้าอัดเทปก็ให้คุณทวีตั้งเครื่อง ถ้าคนตั้งเครื่องยังไม่มาก็นั่งคอยไปก่อน โยมมาจะถวายผ้าป่าก็ให้คอยคนตั้งเครื่องก่อน ทั้งที่คนอื่นก็อยู่ท่านก็ไม่ใช้ บอกไม่ต้อง คอยไปก่อน ต้องไปคอยจนเขาเสร็จแล้วก็มาตั้งเครื่อง

             มาระยะหลังนี้ ท่านอาจารย์ขอบคุณ แต่ก่อนท่านไม่ค่อยขอบคุณหรอกนะ สมัยก่อน พระเก่า ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ท่านทำอะไรแล้วก็ทำเฉย ๆ ไม่มีการขอบคุณ ยุคนั้นก็เป็นยุคที่ยังไม่มีถนน สวนโมกข์ปิดเฉย สมัยนั้น ไม่มีคำว่าขอบคุณ ใครทำก็ทำเองก็ได้เอง ใช่ไหม? บุญใครทำใครได้ ไม่ใช่ว่าคนนี้ทำบุญแล้วคนนั้นได้ ฉะนั้นก็ใครทำใครได้ ไม่มีการขอบคุณ จนถนนเปิดมีถนนแล้วคนมาเยอะ ท่านก็เปลี่ยนเหมือนกัน รู้สึกว่าคนที่ถือแบบท่าน แต่ว่าทำไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ถือแต่คำพูด ทำเสร็จ ฮื้อ เขายกของมาให้ก็เฉย ๆ ไม่ขอบคุณ คุณทำเองคุณได้แล้ว ฉันกินก็หมดเรื่องไป ไม่มีขอบคุณ ตอนหลังนี้ท่านขอบคุณ มายุคที่อาตมาทำหนังสือกับท่าน ได้รับคำขอบคุณจากท่านมากจนเรานี่รู้สึกแย่แล้ว ให้ท่านอาจารย์มาขอบคุณ แต่ท่านก็พูดอยู่เรื่อย ขอบคุณ ขอบคุณ

             เวลาจะใช้งานก็ไม่เคยที่จะเรียก ไม่เคยที่จะสั่งท่านไม่สั่ง แต่จะถามว่าว่างไหม? ถ้าว่างเดี๋ยวพิมพ์หนังสือให้หน่อย แม้กระทั่งจะใช้งานใครก็ดูเถอะ ท่านไม่ใช้คำสั่ง ถ้าใครเจ็บป่วย ท่านก็ดูแลรักษา เรียกว่าท่านเป็นห่วงทุก ๆ คน ไม่ใช่ห่วงแต่คน ลูกไก่ก็ห่วง พอตกเย็นเข้าลูกเจี๊ยบ ๆ ๆ มันร้องเอาแล้ว อยู่กันไม่เป็นสุขแล้ว ท่านอาจารย์บอกว่าไปดู ไปดูมันอยู่ไหนทำไมมันร้องอยู่ ต้องไปดู ไปดู ทำไมมันร้อง บอกว่ามันหาแม่ครับ แม่ไปนอนข้างบนต้นไม้ ลูกมันขึ้นไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นไปไล่แม่มันลงมา เอาลูกขึ้นไปด้วย ไอ้แม่ไก่ก็ใจร้ายเหมือนกันนะ มันจะนอนข้างบนแล้ว ลูกมันขึ้นไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ยอมดู มันขึ้นไปนอนของมันเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ลูกมันขึ้นไม่ได้ก็ร้องใหญ่ ก็เดือดร้อนถึงท่านอาจารย์ ร้องอยู่ข้างหลังตึก ท่านอาจารย์อยู่หน้าตึก แต่หูท่านได้ยิน ท่านต้องสั่งแล้ว ไปดูช่วยมัน

             ขนาดมีมูสัง (ภาษาปักษ์ใต้ = อีเห็น) กลางคืน มูสังจะมากินไก่ ไก่ก็ร้องโต๊ก ต๊าก โต๊ก ต๊าก ท่านอาจารย์ออกจากห้องเลย ดึก ๆ ออกมาเลย เคาะประตูตื่น ๆ ไปช่วยไก่หน่อย นี่ไปช่วยไก่ คิดดู ดึกดื่นเที่ยงคืนแล้ว ท่านยังลุกมาปลูกพระให้ไปช่วยไก่ เราก็ช่วยกันใหญ่ ไล่หมาไล่มูสังกันใหญ่ มันมากลางคืน ต้องไล่กันจริง ๆ ไม่ใช่ทำเหยาะแหยะ ไม่ได้ ต้องทำให้มันเข็ด ให้มันรู้ว่าพื้นที่นี้เป็นเขตปลอดภัย ใครจะมาบุกรุกไม่ได้ ถ้าเรายังอยู่ต้องช่วยมัน นี่เป็นแบบนั้น

             ท่านดูแลไปถึงไก่ด้วย แล้วไก่ก็ปลอดภัย ก็มีแต่งูเท่านั้นแหละ ที่ว่าแย่กับมันหน่อย มันแอบมากินไก่กินไข่บ่อย ๆ ที่นั่นมีงูอยู่ประจำ เดี๋ยวนี้ก็ยังมี เป็นงูเห่า ต่างคนต่างอยู่ ตรงโคนต้นกระท้อนมีงูสามเหลี่ยมอยู่ประจำตัวหนึ่ง เราเดินมาถามว่า ท่านอาจารย์ครับมีงูทำอย่างไรดี เอ้อ ! ต่างคนต่างอยู่ มันก็อยู่รู เราก็อยู่ตรงนี้อย่าไปเหยียบมันก็แล้วกัน แหมก็คิดดู อยู่ตรงนั้นทำให้ต้องเพิ่มสติขึ้น เราจะเดินเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ไม่ได้ มันอยู่ของมัน ถึงเวลามันก็ออกมา ข้างหลังก็มีโพรงตรงที่ท่านสรงน้ำเป็นประจำ ตรงตุ่มน้ำก็มีโพรงงูเข้าไป งูที่ยาวขนาดวาหนึ่งก็มีเป็นงูเห่า งูเห่ามันมีหลายประเภท ก็อยู่กันอย่างนั้น มันคอยแอบกินไก่บ้างอะไรบ้าง ก็ปล่อยไป ขี้เกียจไปทะเลาะกับงู แต่ท่านคอยระวัง ท่านบอกระวังนะ อย่าเปิดประตูห้องทิ้งไว้ เพราะว่าเดี๋ยวงูมันเข้าไปไล่ไม่ออก ต้องคอยระวัง ท่านอยู่มาตลอด ๒๐ ปี ไม่เคยถูกงูกัดเลย ทั้งที่อยู่กับงูนั่นแหละ เดี๋ยวนี้รูสงสัยจะปิดไว้แล้ว แต่ก่อนก็อยู่ตรงนั้นตลอดท่านก็อยู่มาได้

             การพักผ่อนของท่าน ก่อนท่านจะอาพาธปี ๒๕๓๔ ท่านพักผ่อนเฉพาะช่วงเย็นหรือช่วงบ่ายนิดหน่อย ตอนเที่ยงท่านไม่พัก เพราะคนมันเยอะ คนมันมา จะพอได้พักก็ตอนบ่าย ๒ โมง ตอนนี้คนไม่มีแล้วก็พักนอนเก้าอี้เอนอยู่หน้าห้องพักประมาณชั่วโมง ๒ ชั่งโมง แต่ก็ไม่ค่อยได้พักเท่าไร แขกมาก็จะเข้าไปกวน เข้าไปจู่โจมตอนท่านนอน บางทีก็กั้นเชือกไว้แล้วว่า อย่าผ่านทางนี้ ก็อุตส่าห์มุดเชือกไป บางคนไม่ได้มุดเชือก ใช้วิธีอ้อมเสา บอกเออ ! เขากั้นไว้แค่นี้นี่นา ตรงนี้ไม่ได้กั้น บางคนไปอ้อมข้างหลังไปโดดลงมา ตรงนี้แหละ ที่ทำให้เห็นว่าท่านมีสมาธิ คือท่านนอนจริง แต่ลองไปนอนดู ถ้าเรานอนปุ๊บแล้วเราลืมตามาเจอคนที่เราไม่รู้จักจะเป็นอย่างไร ลองดู ท่านลองหลับสมาธิ หลับตาเลยแล้วเดี๋ยวเพื่อนก็ไปนั่ง พอลืมตาเห็นหน้าเพื่อน ก็ตกใจหงายตึงเลย นี่แสดงว่าที่เรานั่งอยู่ไม่มีสมาธิเลย เข้าใจไหม? ถ้ามีสมาธิก็จะไม่เป็น

             ท่านนอนหลับ เราเชื่อว่าท่านนอนหลับก็หลับด้วยสมาธิ แล้วพอมีแขกเข้าไปถึงที่ไปกราบตัก ท่านไม่มีอาการของคนง่วงนอน หรือมีอาการของคนหงุดหงิดเลย ไม่มี ท่านก็ลืมตาเฉย ๆ แล้วก็มองไป ถามว่ามีธุระอะไร ไปโรงหนังนะ ไปศึกษาธรรมะนะ เชิญ แต่เราซึ่งเป็นคนเฝ้ายามก็หงุดหงิด ไม่พอใจว่าคนนี้บุกรุก ส่วนใหญ่เรารู้สึกว่าถูกบุกรุก จะไม่พอใจ แต่เมื่อท่านอาจารย์เฉย ๆ ได้ เราก็พลอยเฉยไปบ้าง แต่เราก็ถูกตำหนิว่าปล่อยให้คนเข้ามาได้อย่างไร แต่ว่าจะไปไล่เขาก็โดนดุอีก ไปไล่เขาได้อย่างไร ไล่เขาก็ไม่ได้ ปล่อยเข้ามาก็ไม่ได้ ทีนี้ทำอย่างไร ก็ต้องรู้จักพูด พูดให้เขาไม่ต้องเข้าไปพบโดยเขาไม่โกรธ เขาบอกอยากจะกราบเหลือเกิน ๑๐ ปีไม่ได้มา พูดอย่างไรให้เขาพอใจ โดยไม่ต้องเข้าไปกราบ ก็พยายามทำกัน แต่ตอนนี้คงไม่มีปัญหาแล้ว หมดกรณีนี้ไป ท่านไม่ตกใจ แขกเข้ามาถึงที่ก็ไม่เป็นไร

             สมาธิที่ยิ่งกว่านั้นที่เราเห็นของท่าน ถามจริง ๆ ท่านเคยเห็นไหม? ใครที่บอกให้เราเขียน อาตมาเจอบ่อยท่านจะบอกให้เราพิมพ์ เราจะเอาพิมพ์ดีดมาแล้วก็เอากระดาษใส่ แล้วก็จะเขียนจดหมายตามที่ท่านต้องการ ท่านบอกอ้าวบรรทัดแรก กลางหน้า วันที่ เดือน ปี เราก็พิมพ์ พอเสร็จ สองแก๊ก ธรรมะ พรและเมตตา แด่คุณ สองแก๊ก ห้าเคาะ ก๊อก ๆ ๆ ๆ อ้าว ! ก็พิมพ์ข้อความท่านต่อไป เช่นว่า หนังสือที่ส่งมานั้นได้รับแล้ว แก๊ก ๆ ท่านบอกอย่างนี้ด้วย ขอบคุณแล้วก็แก๊ก ๆ ท่านบอกหมดเลย บอกทุกอย่างเลย หนึ่งแก๊ก สองแก๊ก อ้าวตบแคร่ แก๊กหนึ่งแล้วไปอีกแก๊กหนึ่ง อ้าวตรงนี้มหภาค ตรงนี้จุลภาค ตรงนี้สมภาคท่านบอกหมดพิมพ์เสร็จเลย แล้วไม่ได้บอกทวนนะ ท่านบอกปุ๊บเราก็อ่านดัง ๆ แล้วเราพิมพ์ไปด้วย เสร็จทั้งฉบับ ไม่ต้องแก้ไข แล้วก็อ่านให้ท่านฟังอีกรอบหนึ่ง อ้าวใช้ได้ ใส่ซอง ไม่ใช่ทำ ครั้งเดียว หลายครั้ง จนถึงว่าไม่น่าเชื่อเลย เท่าที่สังเกตดู คนที่เขาเป็นเลขา เขาก็ไม่ให้เจ้านายมาบอก มีแต่ทำให้เจ้านายดูแล้วเจ้านายตรวจดู ถ้าท่านยังอยู่ ท่านจะเป็นผู้บอก เราเป็นมือให้ท่าน แต่สมองออกมาจากท่าน ทำอย่างนี้ตลอด ส่วนมากเราจะพิมพ์ผิด พอเราพิมพ์ผิดปุ๊บ หรือว่าเราทวนคำสั่ง เอาเลยเสียขบวนเลย ให้อ่านใหม่ ต้องอ่านตั้งแต่บรรทัดแรก คราวหลังเลยไม่เอาเลย ขี้เกียจพิมพ์ พิมพ์ไปตามคำบอกก่อน แล้วค่อยไปถามท่านทีหลัง หรือว่าพิมพ์ไปห้าบรรทัดแล้ว ท่านก็บอกประโยคนี้มา เราก็ถามเอ๊ะอาจารย์ครับ ปริศนามันใช่ "ษ" หรือเปล่า สมมุติเราถามอย่างนี้นะ ท่านจะลืมหมดเลย อ้าว ! คุณไปอ่านมาใหม่ตั้งแต่บรรทัดแรก แล้วก็พิมพ์ต่อ เนื่องจากสมาธิมันไหลเรื่อยตลอด ก็มองเห็นว่าท่านมีสมาธิดีมาก

             อีกอันหนึ่งที่มองเห็นการมีสมาธิในการหลับคือท่านจะนั่งอยู่ที่ม้าหิน บางทีไม่มีแขกท่านก็นั่งแล้วก็หลับ เอียงซ้าย เอียงขวา พระหลายองค์ก็ไปมองดู เอ๊ะอาจารย์เราจะกลิ้งหรือเปล่า ปรากฏว่าไม่เคย ท่านก็เอียง ๆ ไป แล้วก็อุ๊บขึ้นมา แล้วก็นั่งต่อ แล้วก็เอียง แล้วก็อุ๊บขึ้นมาอีก นี่ดูซิเห็นไหม? ไม่เคยกลิ้ง แสดงว่าท่านมีสมาธิอยู่ ท่านทั้งหลายลองนั่งดู บางคนสัปหงกลงไปเลย

             ที่สำคัญก็คือท่านใช้อานาปานสติในการรักษาตัวเสมอมาเลย มีครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณอาจารย์บรรยายกับชาวต่างประเทศในโรงมหรสพทางวิญญาณ แล้วอาตมาก็อยู่ข้างนอกที่หินโค้ง ก็พูดกับเด็ก ๆ อยู่ เด็กโรงเรียนต่าง ๆ เขามาก็นั่งคุยกันอยู่ เผอิญท่านอาจารย์เดินออกมาองค์เดียว สมัยนั้นไม่ต้องมีคนตาม ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ระยะหลังไปไหนต้องมีคนตามเรื่อย

             พอท่านเดินมาถึงตรงหินโค้งที่เราพอมองเห็นได้ เห็นท่านอาจารย์ยืนหยุดเฉย ๆ เราคิดว่า เอท่านอาจารย์ทำอะไร คิดว่าท่านฟังเรา เราก็บรรยายต่อ ยังไม่ทันจบท่านอาจารย์ก็เดินต่อ พอเราพูดกับเด็กจบก็ไปถาม ไปหาท่านอาจารย์ ไปถามท่านว่า ตอนท่านอาจารย์เดินมาที่หินโค้ง ท่านอาจารย์หยุดทำไมครับ ท่านบอกว่า "ผมเป็นลม" อ้อ ! เป็นลมแล้วยืนเฉยอย่างนั้นหรือ ? "พอผมเป็นลม ผมก็ยืนเฉย ๆ กลัวมันจะล้ม" ตั้งแต่นั้นมาพอบอกทุกคนก็เริ่มเป็นห่วงท่านอาจารย์ แล้วตกลงว่าถ้าท่านอาจารย์ออกเดิน ควรจะมีใครเดินตามไปด้วย เพราะเดี๋ยวท่านเป็นลม ท่านเป็นลมยังไม่ยอมล้มเลยคิดดูซิ เพราะอะไร เพราะอานาปานสติ ท่านก็เคยบอกเลยว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น กำหนดลมหายใจก่อน กำหนดรู้ลมหายใจว่าเป็นอย่างไร ติดตามลม สติมันจะได้ไม่วูบวาบหนีไปที่ไหน ช่วยได้ตลอดเวลา

             การเจ็บไข้ทุกครั้ง จะเป็นใหญ่โตแค่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าท่านยังมีสติสัมปชัญญะสามารถรู้สึกตัวได้ แล้วโรคนั้น ๆ ก็จะหายภายใน ๓-๑๐ วัน ท่านเคยป่วยหนักเป็นเบาหวาน น้ำตาลขึ้นสูงถึง ๔๕๐ ถ้าใครเคยรู้ก็จะรู้ว่ามันช็อก ต้องตาย หมอตกใจมาก มาพร้อมกับอินซูลินเตรียมฉีด มาถึงท่านบอกอยู่เฉย ๆ หมอไม่กล้าฉีด หมอเล็กอยู่ชุมพรยังไม่กล้าฉีด มาพูดกับอาตมาเอง นี่ถ้าเป็นคนอื่นผมฉีดแล้ว แต่ท่านอาจารย์นี่ผมไม่กล้าครับ ท่านบอกให้หยุดต้องหยุด หมอหยุดไม่กล้าฉีด ท่านบอกว่าอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวมันหายเอง ภายใน ๗ วัน หายลงมาเกลี้ยงเลย ท่านบอกว่าท่านกินผักบุ้ง ใครเป็นอย่างนี้ก็ลองกินผักบุ้งดู กินผักบุ้งแล้วหาย หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของท่าน โรคอื่นท่านก็ใช้แต่ว่ามาโรคครั้งสุดท้ายนี้ ที่ใช้ไม่ได้ หรือว่าใช้ไปแล้ว แล้วก็ไม่มีโอกาสได้ใช้อีก

             เอาล่ะ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้  ก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะพอมองท่านอาจารย์บ้างว่า ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างไร  แล้วก็คิดว่ามันเป็นเรื่องยาก เรื่องความถูกต้อง ๆ นี้มันเป็นเรื่องเฉพาะตน เมื่อมีความถูกต้องแล้วก็ทำออกไป แต่ว่าคนจะมองเห็นว่าเป็นความถูกต้องหรือเปล่า นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีมากมายอีกหลายเรื่อง

             ขอท่านทั้งหลายจงได้ปฏิบัติอานาปานสติ แล้วก็พยายามมองความถูกต้อง ถูกต้องเฉพาะตน ถ้ามันถูกต้องจริงแล้วมันก็ไม่มีปัญหา ขอท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จในการฝึกอานาปานสติ และนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาทุกเรื่องทุกราวได้จงทุก ๆ คนเทอญ