ท่านพุทธทาสในความทรงจำของผม

กรุณา กุศลาสัย

ปาฐกถาพุทธทาสภิกขุมหาเถระ ครั้งที่ ๕
แสดง ณ ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สยามภาคใต้
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑
คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.org/html/articles/in_mem/karuna1.html



            กราบสวัสดีพระเดชพระคุณท่านอาจารย์โพธิ์ พระเดชพระคุณพระเถรานุเถระทุกท่าน และสวัสดีพี่น้องญาติธรรม ที่ได้เมตตาสละเวลามาฟังผมเล่าเรื่องเก่าในวันนี้ ผมต้องขอสารภาพว่า ผมรู้สึกตื่นเต้นมากในวันนี้ ทั้ง ๆ ที่ นี่ก็เกือบ สองทุ่มแล้ว อากาศก็เริ่มเย็นแล้ว ที่ว่าตื่นเต้นนั้นเพราะว่า ผมรู้สึกเหมือนกับว่า ท่าน “พ่อ”

            ของเรา คือท่านอาจารย์พุทธทาสนี้ยังอยู่ ยังอยู่ที่นี่ จะเป็นด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เหมือนกับท่านยังฟัง ยังเห็นเรามาชุมนุมกันในวันนี้ เหมือนกับเมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ คุณเมตตาได้แนะนำผมต่อพระเดชพระคุณ และแก่ญาติธรรมทั้งหลายว่า ผมมีเรื่องเก่า ๆ ที่จะมาเล่าให้ฟัง ครับ เรื่องของผมนั้น อยากจะพูดว่า เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ไปแล้ว เพราะว่าได้เกิดขึ้นตั้ง ๖๐ กว่าปีแล้ว คุณเมตตาได้แนะนำผมว่าเวลานี้ผมอายุย่างเข้า ๗๘ ปี ผมปีวอกครับ แต่ก่อนที่ผมจะเข้าเรื่องนะครับ ผมขอประทานโทษ ดูโน้ตที่ผมได้เขียนมาไว้หน่อยนะครับ ผมต้องขอขอบคุณนะครับ ที่ได้รับเกียรติให้มาพูดในวันนี้ เป็น “ปาฐกถาพุทธทาสภิกขุมหาเถระ ครั้งที่ ๕” ผมเห็นรายนามเจ้าภาพ ซึ่งจัดให้มีงาน “สัปดาห์พุทธทาสรำลึก” ขึ้นนี้ ก็รู้สึกปลื้มใจเหลือเกิน คือมีเจ้าภาพถึง ๘ ราย ด้วยกัน ผมขอทบทวนความทรงจำของพระคุณเจ้า พระเถรานุเถระ และพี่น้องโดยธรรมนะครับว่ามีใครบ้าง มี ๘ สถาบัน ด้วยกันนะครับ สำหรับผมนั้นที่มาปรากฏตัวที่นี่ได้ก็เพราะว่า เจ้าภาพรายหนึ่ง ได้แก่ มูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งหัวหน้าทีม คุณฐิติมา คุณติรานนท์ ก็มาปรากฏตัวอยู่ที่นี่เหมือนกัน เมื่อตอนเย็นได้พบกันนะครับ ผมมาที่นี่ได้ก็ด้วยความเมตตาของมูลนิธินี้ คืออุตส่าห์เมตตาให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิไปรับผมถึงบ้าน บ้านผมอยู่พรานนก ธนบุรีนะครับ พาไปส่งรถไฟ หาที่นงที่นั่งอะไรซึ่งจองแล้วให้เสร็จ แล้วก็เมื่อเดินทางมาถึงที่นี่เมื่อเช้า ก็ยังมีเจ้าหน้าที่อุตส่าห์ไปรับผมที่สถานีรถไฟ นี่เป็นเจ้าภาพหนึ่งนะครับ และต่อจากนั้นก็มี สวนโมกขพลาราม,

            ธรรมทานมูลนิธิ นะครับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พบกับอาจารย์บัญชา พงษ์พานิช เมื่อตะกี้นี้ ท่านอุตส่าห์มาฟัง มาร่วมงานเราด้วย นี่ก็เป็นเจ้าภาพอีกรายหนึ่ง ต่อไปก็คือ สวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์ นี่ชื่อเพราะมาก แล้วก็ เสมสิกขาลัย นอกนั้นก็มี คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา เรียกย่อว่า ศ.พ.พ. นี่เป็นเจ้าภาพที่ ๗ แล้วก็ หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ซึ่งเป็นเจ้าภาพรายสุดท้ายที่ ๘ ทั้งหมด ๘ สถาบัน นี่นะครับ ที่ร่วมกันจัดงานให้แก่ท่านอาจารย์ของเรา นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ผมมาคิดว่า ถ้าเผื่อท่านอาจารย์ของเราบารมีไม่มากถึงเพียงนี้ละก็ จะหาเจ้าภาพร่วมงานกันตั้ง ๘ เจ้าภาพนี่ ไม่ง่ายเลยครับ ผมเรียนให้ทราบแล้วว่า วันนี้ที่ผมมาปรากฏตัวที่นี่ อยากจะฟื้นความหลัง ความหลังที่ผมให้ชื่อว่า “ท่านพุทธทาสในความทรงจำของผม” ความทรงจำนี้เกิดขึ้น ๖๐ กว่าปีแล้ว คือเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ ปีที่ท่านอาจารย์มาก่อตั้งคณะธรรมทานที่นี่ ที่ไชยานี่นะครับ ก่อนหน้านั้นท่านอาจารย์พุทธทาส ไปอยู่ที่วัดปทุมคงคาเป็นเวลาเล็กน้อย ท่านเบื่อกรุงเทพฯ ท่านก็เลยมาอยู่ที่นี่ แล้วก็มาตั้งคณะธรรมทาน ซึ่งต่อมามีบารมีเหลือล้น จนกระทั่งเราญาติพี่น้องโดยธรรมทั้งหลายได้มาพบปะกันที่นี่ ผมคิดว่าถ้าไม่มีท่านอาจารย์แล้ว เราคงจะไม่ได้มีโอกาสมาพบ มาสังสรรค์กัน เหมือนพี่น้องโดยธรรมอย่างนี้หรอกครับ ท่านพระคุณเจ้าและท่านพี่น้องญาติธรรมทั้งหลายคงจะแปลกใจนะครับว่า ผมไปยังไงมายังไงถึงไปมีความทรงจำเกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาสได้ ผมจะขอเล่าย่อ ๆ สำหรับบรรดาพระคุณเจ้าและญาติธรรม ซึ่งมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปแล้ว คงจะเคยได้ยินแล้วนะครับว่า เมื่อปี ๒๔๗๖ ปีที่ท่านอาจารย์มาตั้ง “คณะธรรมทาน” ที่นี่ ในปีเดียวกันนั้นสำหรับผู้ที่สนใจประวัติของศาสนาพุทธในเมืองเรา คงจำกันได้ว่า มีพระฝรั่งชาติอิตาลีชื่อ “โลกนาถ”

            คำว่าโลกนาถนี่ดูเหมือนพระเถรานุเถระหลายองค์ของไทยเรา ไม่ค่อยพอใจที่พระฝรั่งองค์นี้ มาบังอาจตั้งฉายาของท่านว่าโลกนาถ “โลกนาถ” แปลว่า เป็นนาถะ เป็นนายของโลก ดูเหมือนคำนี้จะใช้สำหรับพระพุทธเจ้าเท่านั้น โดยเหตุนี้พวกเราหลายคน ทั้งคฤหัสถ์ และทั้งพระ รู้สึกจะไม่พอใจนัก ที่พระโลกนาถ-พระฝรั่งมาตั้งชื่อนี้ พระฝรั่งชาติอิตาลีนี้นะครับ ชาติอิตาลีก็จริง แต่ไปเกิดในอเมริกา อเมริกานี้เป็นแผ่นดินทอง คนฝรั่งหรือคนต่างชาติไปขุดทองที่นั่นแยะ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ ครอบครัวของพระโลกนาถไปอยู่ที่อเมริกา พระโลกนาถก็เกิดในอเมริกา เกิดในอเมริกาถือสัญชาติอเมริกัน และก็ได้ศึกษาแบบคนที่มีการศึกษาดีทั่ว ๆ ไปในอเมริกา พระโลกนาถเรียนทางวิทยาศาสตร์ สำเร็จได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Columbia ด้วยความสนใจทางศาสนา ท่านก็หันมาศึกษาศาสนาพุทธ ผมจะขอเล่าย่อ ๆ นะครับ เพราะเรื่องนี้ยาว ถ้าจะให้พูดกันละก็ พูดได้นานทีเดียว ทั้งเรื่องพระโลกนาถก็ดี และผมมารู้จักกับท่านอาจารย์พุทธทาสได้ยังไงก็ดี เรื่องยาวมาก ผมจะรวบรัดนิดหน่อย เพราะว่าท่านอาจารย์ทวีศักดิ์ (พระทวีศักดิ์ จิรธมฺโม) บอกว่า หลังจากผมพูดแล้ว คงจะมีการให้โอกาสตั้งคำถาม-คำตอบกันบ้าง สำหรับท่านพระเถรานุเถระ หรือญาติพี่น้องทั้งหลายที่คงอยากจะทราบ กล่าวโดยย่อก็คือ พระโลกนาถเมื่อเรียนอย่างทางโลกสำเร็จแล้ว เป็นบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็สนใจทางศาสนาพุทธ มีศรัทธาแก่กล้ามาก มาบวชเป็นพระภิกษุเหมือนพระสงฆ์องค์เจ้าที่เราเห็นในเมืองไทยเรานี่ มาบวชที่พม่า บวชที่พม่าแล้วพระโลกนาถมีศรัทธาแก่กล้ามาก อยากจะให้ศาสนาพุทธที่ท่านถือว่าเยี่ยม เป็นคู่มือมนุษย์ เป็นอะไรก็แล้วแต่ของมนุษยชาติที่จะขาดไม่ได้นี้ อยากจะให้เผยแพร่ไปยังพวกฝรั่ง แล้วก็ด้วยความรู้สึกอยากจะเผยแพร่ศาสนาพุทธให้ไปเป็นที่รู้จักทางยุโรปและอเมริกานี้ ท่านจึงมีโครงการที่จะนำพระภิกษุสามเณรชาติต่าง ๆ ในเอเชียที่ถือศาสนาพุทธ ไปฝึกอบรม ไปเรียนวิชาธรรมทูตที่อินเดีย และก็ด้วยความประสงค์อันนี้ ท่านจึงมาเมืองไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านทำมาในพม่า อันเป็นประเทศที่ท่านบวช “ทำ” หมายถึงจัดให้นักศึกษาพระหนุ่มเณรน้อยพม่าไปศึกษาที่อินเดีย ทำที่พม่าก่อน แล้วก็มาที่สองที่ประเทศไทย ประเทศต่อไปนั้นจะเป็นศรีลังกา ท่านตั้งใจจะไปเขมรด้วย แต่ว่าโครงการเขมรนี้ได้เลิกล้มไป การที่ท่านมุ่งมาทางประเทศที่นับถือศาสนาพุทธแบบ “เถรวาท” ก็เพราะว่า ท่านเห็นว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาท เป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ ซึ่งคงทนต่อการพิสูจน์ สมควรที่จะให้พวกฝรั่งรู้ แม้ว่าใครก็ตาม ที่เก่งกาจทางศาสนาคริสต์หรือศาสนาอื่นเพียงใดก็ตาม ศาสนาพุทธจะสามารถสู้ได้เสมอและจะชนะด้วย ด้วยความรู้สึกอันจริงใจนี้ ท่านมาเมืองไทย ท่านใช้คำว่า “ภิกษุสามเณรใจสิงห์ Lion -hearted Bhikkhus and Samaneras”


สามเณรกรุณา กุศลาสัย

            ท่านมาเมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นปีเดียวกันกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมาตั้งคณะธรรมทานอย่างที่เรียนให้ทราบแล้ว และเป็นปีเดียวกันกับที่นิตยสารราย ๓ เดือนคือ “พุทธสาสนา” ซึ่งเดี๋ยวนี้มีโฉมหน้าใหม่แล้ว ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๗๖ เป็นการบังเอิญที่ประหลาดมาก พระโลกนาถมาในปีนั้น ท่านอาจารย์ตั้งคณะธรรมทานในปีนั้น ออกหนังสือราย ๓ เดือน ชื่อ พุทธสาสนา ในปีนั้น พระโลกนาถมาพักอยู่ที่วัดบวรฯ (บวรนิเวศวิหาร, กรุงเทพฯ) และถ้าผมจำไม่ผิด ท่านอาจารย์พุทธทาส บวชแล้ว มาจากวัดปทุมคงคาแล้ว มาอยู่ที่นี่ พอได้ข่าวพระโลกนาถมา ท่านก็ขึ้นกรุงเทพฯ ไปพบกับพระโลกนาถ ตอนนั้นท่านอาจารย์ของเรา จะอายุประมาณ ๒๗-๒๘ พรรษายังไม่ถึง ๑๐ ก็ไปพบกับพระโลกนาถ ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายปักษ์ใต้ของเมืองไทยเรา มีพระอีก ๒ รูป ซึ่งเดี๋ยวนี้ยังอยู่ในความทรงจำของผมดี ได้ไปหาพระโลกนาถ ไปไต่ถามว่า ท่านมีโครงการยังไง จะไปเผยแผ่ศาสนา จะเอาพระภิกษุสามเณรไทยไป อบรมศึกษายังไง จะได้เป็นธรรมทูตต่อไป ก็ไปพบพระโลกนาถที่วัดบวรฯ ที่ผมเอ่ยถึง ๒ ท่านหลังนี้ คือท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ ปัจจุบันมีสมณศักดิ์เป็น “พระธรรมโกศาจารย์” นี้องค์หนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ท่านก็อายุ ๘๐ กว่าแล้ว และองค์ที่สองคือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต (มรณภาพแล้ว) ชาวจังหวัดหลังสวน ชุมพร ๒ องค์นี้ผมจำได้ดี นอกนั้นยังมีพระเณรจากปักษ์ใต้อีกหลายองค์ คณะพระโลกนาถรวมแล้วเมื่อออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา ไปลพบุรี มีประมาณ ๑๐๐ กว่ารูปครับ ในจำนวนนี้ที่ผมจำได้แม่น ๆ ก็คือท่านปัญญาฯ และท่าน บ.ช.ฯ ท่านปัญญาฯ เดิมท่านชื่อ “มหาปั่น” ฉายาท่าน “ปทุมุตฺตโร” เป็นนักเทศน์ตั้งแต่ไปกับพระโลกนาถแล้ว ส่วนท่าน บ.ช.ฯ นี่ชื่อคฤหัสถ์ ท่านชื่อบุญชวน “บุญชวน เขมาภิรโต” ตอนหลังเป็น “พระราชญาณกวี” เป็นนักเขียน อยู่หลังสวน ชุมพร เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่เคยไปมาหาสู่กันทั้ง ๓ องค์นี้ คือท่านพุทธทาส ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต และท่านปัญญาฯ ไปเยี่ยมพระโลกนาถที่วัดบวรฯ ที่กรุงเทพฯ และเมื่อได้พูดจาไต่ถามอะไรกันเรียบร้อยแล้ว ท่าน บ.ช.ฯ กับท่านปัญญาฯ ก็มีจิตศรัทธาร่วมไปกับคณะพระโลกนาถ ส่วนท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น ได้ยินว่าพระโลกนาถชวนเหมือนกัน บอกไปด้วยกันมั๊ย ไปรับใช้ศาสนา ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ใช้ชื่อพุทธทาสนะ ท่านชื่อ “มหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ”

            พุทธทาสนี่ ท่านมาตั้งทีหลังครับ ผมได้ทราบว่าท่านอาจารย์พุทธทาสตอบว่า “อย่าให้ไปเลย เพราะผม” คือท่านพุทธทาส “มีงานที่จะต้องทำในเมืองไทย และเป็นงานที่กำลังเริ่มใหม่ด้วย”

            เป็นงานคณะธรรมทานที่นี่แหละ สรุปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ก็เลื่อมใสกับโครงการของพระโลกนาถไม่น้อยเหมือนกัน ท่านพุทธทาสก็ไม่ได้ไป ก็ไปแต่ท่านปัญญาฯ กับ ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต คณะพระโลกนาถเมื่อประกาศโฆษณาที่วัดบวรฯ ก็มีพระเณรไทยไปสมัครเป็นสมาชิก เรียก “คณะมหาจาริก” นะครับ ภาษาอังกฤษเขาเรียก Expedition

            เมื่อออกจากกรุงเทพฯ นั้น ได้ทราบว่ามีสมาชิกประมาณ ๑๐๐ รูป เป็นพระเณรนะครับ พระโลกนาถไม่รับคฤหัสถ์ใครจะไปก็ต้องขออนุญาตทางบ้านหรือ ผู้ปกครองบวชเป็นพระเณรไป ถึงจะไปได้ คณะพระโลกนาถออก เดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือนมกราคม ๒๔๗๖ ออกจากวัดบวรฯ เดินด้วยเท้ามุ่งหน้าไปทางอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ แล้วก็ขึ้นเหนือไป พระคุณเจ้าและญาติธรรมคงจะสงสัยว่า คำว่า “เดินด้วยเท้า” คณะพระโลกนาถนั้นมีระเบียบหลายอย่างซึ่งเข้มงวดมากในการปฏิบัติ ท่านถือ “ธุดงควัตร”

            เป็นต้นว่าฉันหนเดียว ต้องอยู่โคนต้นไม้ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ มีข้อปฏิบัติอย่างนี้หลายข้อ ซึ่งค่อนข้างจะเข้มงวด ยังไงก็ตาม คณะพระโลกนาถก็ออกเดินทางไปอยุธยา ลพบุรี แล้วก็นครสวรรค์

สามเณรกรุณา กุศลาสัย

            ผมเป็นคนนครสวรรค์ เกิดที่ปากน้ำโพ ผมอายุได้ ๑๓ ปี ผมปีวอกครับ ถ้าคิดตาม พ.ศ. ก็ ๒๔๖๓ (๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓) ผมยังอยู่โรงเรียน เป็นเด็กกำพร้าครับ พ่อแม่ผมตาย ตั้งแต่ผมยังเล็ก ๆ เมื่อตอนที่พระโลกนาถไปถึง ผมยังอยู่โรงเรียน โดยอาศัยญาติพี่น้องเขาส่งเสียให้เรียน แต่ว่าในใจจริง ๆ รู้สึกว้าเหว่มาก เหมือนเรือที่ไม่มีนายท้าย พระโลกนาถไปถึงนครสวรรค์มีพระเณร ไปด้วยประมาณร้อยรูป ก็ไปพักที่วัดตลิ่งชันหรือวัดพรหมจริยาวาส ผมก็มาคิดดูว่า เราพี่น้องก็มีจริงแต่เราก็ต้องดูแลตัวเอง ไม่มีใครมาเหลียวแลเราเหมือนมีพ่อแม่อยู่หรอก สำหรับเรื่องที่เป็นประวัติส่วนตัวของผมนั้น ขอประทานโทษ รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตที่เลือกไม่ได้” ผมเกิดที่ไหน ลำบากยังไง พ่อแม่อยู่ยังไง มีอยู่ในนั้นหมด หนังสือเล่มนี้รู้สึกจะไปได้ดี วันนี้ผมก็เอามาฝากคุณเมตตาเล่มหนึ่ง อยู่ในหนังสือกองข้างหน้านี่ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมเขียนผมแปล ประมาณ ๓๐-๔๐ เล่ม ผมเอามามอบให้กองตำราของคณะธรรมทาน ทีนี้จะขอกลับไปพูดถึงเรื่องชีวิตผม รู้สึกว่าเห็นจะอยู่เมืองไทยไม่ไหวแล้ว จึงสมัครใจไปกับพระโลกนาถ พระโลกนาถก็ให้ผมไปเอาใบรับรองจากผู้ปกครองมา ผมอาศัยอยู่กับญาติซึ่งมีศักดิ์เป็นป้า ผมไปบอกป้า ป้าเขาก็บอก “เอ็งจะไปทำไม ไปกับพระฝรั่งมังค่า เดี๋ยวไปตงไปตายข้าไม่รู้นะ” อะไรทำนองนี้ ผมก็ไปหาเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนคนนั้นเป็นคนกำพร้าพ่อ แต่แม่เขายังอยู่ ก็ไปขอให้แม่เขาเป็นผู้รับรอง เพราะพระโลกนาถนั้นมีระเบียบว่า ถ้าใครไปกับท่าน จะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กก็ตาม ต้องมีคนรับรอง ผมก็ให้แม่ของเพื่อนเป็นผู้ปกครองอนุญาตให้ไป การไปของผมก็ขลุกขลักมาก อยู่ในหนังสือที่ผมเรียนให้ทราบไปแล้ว บวชแล้วก็ไม่มีเงินจะซื้ออัฏฐบริขาร สบง จีวร บาตรเบิด ไม่มีทั้งนั้น แต่ก็โชคดีของผมได้คนมาช่วย สรุปแล้วผมก็ไป ไปกับพระโลกนาถได้ คณะพระโลกนาถพักอยู่ที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์สัก ๒ สัปดาห์ได้ ก็เดินทางต่อไปพิษณุโลก จากพิษณุโลกก็เข้าแม่สอด แล้วก็ผ่านตาก ระแหง เข้าป่าแม่สอด ป่าแม่สอดตอนนั้นก็ไม่เหมือนสมัยนี้ น่ากลัวมาก สิงห์สาราสัตว์แยะเหลือเกิน ผมจำได้ว่า เมื่อคณะพระโลกนาถเข้าถึงป่าแม่สอดแล้ว พระเณรมีประมาณ ๒๐๐ กว่ารูป ผมลืมเรียนไปว่า ระหว่างทางเวลาเราพัก เป็นต้นว่าพักที่นครสวรรค์สัก ๒ สัปดาห์ หรือที่พิษณุโลกสักครึ่งเดือนอะไรนี่ พระโลกนาถก็เที่ยวไปหาสมาชิกเพิ่ม เช่น ไปเชียงใหม่ ลำปาง ก็ได้พลพรรคพระเณรเพิ่มขึ้น มารวมกันที่พิษณุโลก แล้วก็เดินทางเข้าป่าแม่สอดดังที่ได้กล่าวแล้ว ระหว่างที่เดินทางผ่านป่าแม่สอด คณะของเรา ๒๐๐ กว่ารูปทำให้ป่าเหลืองอร่ามไปด้วยจีวรพระ ดูเหมือนสมัยนั้นเดินทางจากตาก จนกว่าจะผ่านพ้นป่าแม่สอด เข้าใจว่ากินเวลา ๓ วันหรือ ๒ คืน คืนหนึ่งผ่านหมู่บ้าน พวกเราพระเณรอยู่ใต้ต้นไม้ ชาวบ้านเขาก็ยิงเสือ น่ากลัวมาก เขายิงได้แล้วเขาเอามาถลกหนัง ตากแดด อันนี้เรื่องปลีกย่อย คณะของเราก็เดินทางเข้าพม่า สมัยก่อนการไปพม่าก็ยังงั้นแหละ ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากก็เข้าได้ อังกฤษก็ปกครองพม่าอยู่ แต่พม่ากับเราก็เป็นประเทศเมืองพุทธ ถ้าดูหน้าตาไม่พูดจากัน ก็ดูเหมือนคนไทยเรานั่นแหละ ก็เดินทางไปจนถึง “ย่างกุ้ง” เมืองหลวงของเขา ที่ผมใช้คำว่า “เดินด้วยเท้า” นี่ก็เป็นจริงอย่างนั้นคือเดินด้วยเท้าจริง ๆ แต่ถ้ามีช่วงไหนญาติโยมเขาปวารณาหรือศรัทธาจะจัดรถราเป็นพาหนะให้ เราก็ไป แต่น้อยมาก เพราะว่าคนตั้ง ๒๐๐ นี่จะให้ญาติโยมคนไหนมาหารถหาราให้ไม่ใช่ของง่าย สรุปแล้วพวกเราก็ไปถึงพม่า ถึงเจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ทองเหลืองอร่ามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพม่า พอดีเข้าพรรษา คณะพระโลกนาถออกจากกรุงเทพฯ เดือนมกราคม รอนแรมไป ผ่านอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พอไปถึงย่างกุ้งก็เข้าพรรษาพอดี จะเดินทางต่อไปอินเดียไม่ได้ ก็พักเข้าพรรษา เข้าพรรษาที่เจดีย์ทองของพม่านี่ เจดีย์ชเวดากองนี่ล่ะครับ ทีนี้ พระคุณเจ้ากับพี่น้องทั้งหลายคงจะอยากทราบว่า คณะพระโลกนาถนี่ ไปยังไงมายังไง คล้าย ๆ กับว่าไปไม่ถึงอินเดีย เพราะโครงการของพระโลกนาถตั้งใจเอาพระเณรไปถึงอินเดีย ไปสอนไปฝึกเป็นธรรมทูต ระหว่างที่เดินทางกันนั้น ขอให้พี่น้องลองโปรดใช้จินตนาการ ดูก็แล้วกัน คน ๒๐๐ คน ไปจากทุกทิศทุกทางของเมืองไทย แล้วก็เป็นหนุ่ม ๆ ทั้งนั้น คณะที่ไปกับพระโลกนาถนั้น หลวงตาแก่ ๆ มีไม่กี่องค์ นอกนั้นเป็นพระหนุ่มเณรน้อย อายุตั้งแต่รุ่นผมนี่รุ่นเล็กที่สุด ๑๒, ๑๓ ปีขึ้นไปจนถึง ๔๐,

            ปีกว่า ๆ ทีนี้การที่เอาคนทั่วประเทศจากทุกภาคไปรวมกัน แล้วก็เดินทางร่วมกันไปอย่างนี้ จริงอยู่เป็นพระเป็นเจ้าก็จริง แต่ว่านิสัยมนุษย์มันก็ธรรมดา มีการหยอกล้อกันไป หยอกล้อกันมา ก็เกิดขัดใจกัน ผมเป็นคนภาคกลาง เมื่อพูดถึงชาวใต้ทีไร ขอประทานโทษนะ เขาใช้คำว่าพวก “ทำพรือ”

            ชาวภาคกลางหรือชาวอิสานก็เรียกพระเณรที่มาจากภาคใต้ว่าพวก “ทำพรือ” แล้วก็เวลาพวกอิสานพูดอะไรพวกชาวใต้ก็ล้อบ้าง อะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะไม่ใช่เอาผ้าเหลืองครองร่างกายแล้วจิตใจจะเป็นพระอรหันต์กันไปหมดก็หาไม่ เรื่องกระทบกระทั่ง อย่างนี้มีมากตลอดทางทีเดียว เดี๋ยวนี้ผมมีอายุ ๗๘ ปี เมื่อตอนผมเป็นเด็กผมจำได้ว่า จะหาคนปักษ์ใต้ไปอยู่ทางเชียงใหม่ หรือจะหาคนเชียงใหม่ไปอยู่ทางใต้ไม่ค่อยมีหรอก บ้านใครใครอยู่ อู่ใครใครนอน เพราะการคมนาคมลำบาก เดี๋ยวนี้ชาวเหนือไปอยู่ใต้ ชาวใต้ไปอยู่เหนือ อิสานมาอยู่ทางใต้ มาทำสวนยงสวนยางเยอะแยะไปหมด ปัจจุบันหนุ่มสาวทางใต้หรือหนุ่มสาวทางอิสานหรือหนุ่มสาวทางเหนือก็ตาม พูดภาษากลาง คือภาษากรุงเทพฯ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าภาษากรุงเทพฯ จะดีกว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นความจริงที่ปัจจุบันประชาชนชาวไทยโดยมากจะพูดภาษากลางได้ คือภาษากรุงเทพฯ เรื่องกระทบกระทั่ง หยอกกันไป เย้ากันมา อะไรต่ออะไร ก็เลยเป็นสาเหตุทำให้แตกร้าวกันในระหว่างคณะพระโลกนาถ จนกระทั่งเกิดตีกันระหว่างเณรด้วยกัน เณรที่ไปนั้นส่วนใหญ่ก็อยากจะไปเรียน อยากจะไปหาความรู้ พอไปถึงพม่า พม่านั้นเป็นเมืองพุทธนะครับ พี่น้องที่เคยไปพม่าแล้วคงจะเห็นด้วยกับผม ศรัทธาในศาสนาเขาแก่กล้ามาก คำว่าศรัทธานี่ ผมวัดจากวัตถุหรือเครื่องไทยธรรมที่เขานำมาถวาย ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน และก็เครื่องไทยธรรมเหล่านี้แหละเป็นมูลเหตุให้คณะพระโลกนาถแตกแยกกันในที่สุดที่ลานพระเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ของไทยธรรมทุกชิ้นจะเข้ากองกลาง แล้วพระโลกนาถจะแจกจ่ายไปตามพระเณร ทีนี้ไอ้การแจกจ่ายนี่ รู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นธรรม เดี๋ยวนี้ผมก็รู้สึกอย่างนั้น พระโลกนาถนั้น ท่านเป็นคนต่างประเทศ พูดไทยไม่ได้ ภาษาไทยก็ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านก็เชื่อเณรองค์หนึ่งซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศสได้นิดหน่อย พระโลกนาถพูดฝรั่งเศสได้ พระโลกนาถเชื่อเณรองค์นี้มาก จะแจกจ่ายของตามที่เณรองค์นั้นแนะนำ เลยเกิดความไม่เป็นธรรม ก็เลยเป็นเรื่องร้าวฉาน แตกกันใหญ่ระหว่างจำพรรษาที่เจดีย์ชเวดากองนั่นเอง ปรากฏว่าพระเณรส่วนใหญ่ที่ไปบอกว่าไม่ไปแล้วกับพระโลกนาถ เรียกชื่อพระโลกนาถว่า “โลกาวินาศ”

            ไม่ใช่โลกนาถ เหล่านี้มันเป็นเรื่อง กิเลสของคนไม่ใช่เรื่องของพระของเณร สมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๗) ก่อนจะเสด็จไปอังกฤษ ไปรักษาพระเนตร ท่านได้ถวายเงินค่าทำหนังสือเดินทางไว้ให้พระเณรที่จะไปกับพระโลกนาถ ๑๐๐ รูป ท่านคงจะทรงเห็นเหตุการณ์ไกลว่าพระเณรคงไปไม่ถึงอินเดียหรือยังไงก็คงต้องกลับ ก็ถวายเงินเอาไว้ก้อนหนึ่งอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ พวกพระเณรที่ไม่อยากไปอินเดียกับพระโลกนาถก็ได้เงินก้อนนี้ ดูเหมือนสมัยนั้นองค์หนึ่งได้ ๘๐ บาทเท่านั้น ใช้เดินทางกลับประเทศไทย ส่วนใหญ่กลับกันหมด เฉพาะผมนั้น ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว มัน “หัวเดียวกระเทียมลีบ” พ่อแม่ก็ไม่มี คิดแล้วว่าอยู่เมืองไทยคงเหลว “คว้าน้ำเหลว” แน่ ใครเขาจะมาดีกับเรา จึงตัดสินใจไปเรียนอินเดียกับพระโลกนาถ แม้พระเณรผู้ใหญ่เขาจะแตกกันตีกันยังไง ผมไม่เอา ผมบอกว่าผมต้องไปอินเดียให้ได้ อยากจะไปเรียนที่อินเดีย แล้วก็มีพระเณรหนุ่ม ๆ ประมาณ ๑๐ กว่ารูปดูเหมือนจะเป็นพระ ๕-๖ รูป นอกนั้นเป็นเณร อาสาอยู่กับพระโลกนาถ พระโลกนาถก็พาพวกเราที่เหลืออยู่ ๑๐ กว่าคน พอออกพรรษาแล้วนะ เราจำพรรษาที่พม่าปีนั้น เดินทางโดยเรือเดินทะเล ไปขึ้นที่เมืองกัลกัตตา จากพม่าไปอินเดียต้องไปเรือเดินทะเล บุกป่าไปไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นป่าทึบอยู่ เดี๋ยวนี้ก็ยังอันตรายอยู่ เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าไปในอินเดียจากพม่าระหว่างสงครามญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นล้มตายกันแยะ เล่าโดยย่อก็คือพวกผม ๑๐ กว่าคนก็ไปถึงอินเดีย คณะพระเณรไทยประมาณ ๑๐ รูปมีผมคนหนึ่ง อายุน้อยที่สุดก็ถึงกัลกัตตา พอถึงกัลกัตตา โอ…สภาพความเป็นอยู่สาหัสสากรรจ์มาก อินเดียไม่ใช่เมืองพุทธ อินเดียนับถือพระเณรในศาสนาพุทธก็จริงอยู่ แต่การเคารพนับถือของเขา ไม่เหมือนกับในเมืองพุทธเช่นไทยและพม่า สรุปว่าลำบากมาก การขบฉันลำบากมาก คณะผมนี่เมื่อได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่งที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมจักร และก็นิพพาน ๔ แห่งนี่เรียกว่าสังเวชนียสถาน เราไปกันอย่างทุลักทุเลลำบากแสนสาหัส ผมลืมเล่าไปว่า พอพวกเราถึงอินเดียแล้ว พระโลกนาถท่านไปลังกา ท่านจะไปนำพระมาอีกคณะหนึ่ง เหมือนพระจากเมืองไทย ท่านก็ไปลังกา ปล่อยเราอยู่อินเดียในความดูแลของพระพม่าองค์หนึ่ง คือ ดร.Jina Aung Thala ผมเรียนให้ทราบแล้วว่าก่อนที่จะนำคณะพระไทยไปอินเดีย พระโลกนาถได้นำคณะพระพม่าไปอยู่ที่อินเดียแล้ว พระไทยนี่เป็นชาติที่ ๒ พระศรีลังกาจะเป็นชาติที่ ๓ ท่านก็ไปศรีลังกา ทิ้งพวกเราไว้ ก็ไม่ทิ้งหรอก ให้เราอยู่กับพระพม่าเป็นผู้นำ เราต้องแยกทางกันเดิน กลุ่มหนึ่ง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง แต่ไม่เกิน ๓ เราก็แยกทางกัน ที่เขาเรียกว่าเขาหิมาลัยหรือป่าหิมพานต์ ผมได้ไปเห็นมาด้วยตนเองจริง ๆ มีอากาศหนาวมาก เป็นที่อยู่ของฤๅษี มุนี ในนิทานชาดก บรรดาพระเณร ๑๐ กว่ารูปนี้ต่างแยกกันเดินทาง แต่ว่าเรามีเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือจะขอไปนมัสการสังเวชนียสถานให้ได้ ก็ไปกันจนสำเร็จ ไปนมัสการเสร็จแล้ว เพื่อนพระเณรไทยก็กลับเมืองไทยกัน นี่ผมเล่าย่อ ๆ ส่วนผมได้สมาคมพุทธที่เมืองสารนาถเป็นที่พักพิง คืออาศัยอยู่กับเขา สำหรับคุณเมตตาก็ดีหรือใครก็ดีที่ติดตามข่าวของศาสนาพุทธในต่างประเทศ คงจะจำได้ว่า ชาวพุทธชื่อ “อนาคาริก ธรรมปาละ”

            ได้ไปสร้างสมาคมมหาโพธิที่อินเดีย แล้วก็เอาพระเณรลังกาไปเป็นธรรมทูต ไปฝึกอบรม ผมอยู่ที่นั่น เขาก็เมตตาให้ผมอยู่ เขาเห็นผมเป็นสามเณรน้อย พ่อแม่ไม่มี ก็ได้เรียนที่นั่น นั่นคือตั้งแต่ ปี ๒๔๗๖ เพื่อนที่ไปด้วยกัน ๑๐ กว่ารูปกลับเมืองไทยหมด เหลือผมคนเดียว ที่องค์อื่นอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ผมเก่งกาจนะ เป็นเพราะท่านเหล่านั้นหาที่อยู่ไม่ได้ ผมก็อยู่ที่สมาคมมหาโพธิ ได้เรียนหนังสือที่นั่น วิชาที่ผมเรียนคือ ภาษาพื้นเมือง เรียกว่าภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษกับภาษาสันสกฤต ทางไชยา ทางพุมเรียงนี่ ท่านพุทธทาสก็ดำเนินงานของท่านต่อไป

            ผมได้เล่าให้ฟังแล้วนะครับว่า เมื่อตอนที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ไปพบกับพระโลกนาถที่วัดบวรฯ กรุงเทพฯ นั้น ท่านได้บอกว่า ท่านจะพยายามเผยแพร่ข่าวของคณะพระโลกนาถ ให้เป็นที่ทราบของคนไทย

            ผมอยู่ที่สารนาถ เมืองพาราณสีจนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๒ มีความรู้ขนาดอ่านบทความภาษาอังกฤษ-ฮินดี เกี่ยวกับศาสนาพุทธในต่างประเทศได้ อินเดียกว้างใหญ่มากครับเป็นประเทศที่มีปัญหามาก ยากจน แต่เป็นแหล่งวิชาความรู้ นี่คือความจริง ไม่ได้ยออินเดียหรือชมอะไรโดยไม่มีเหตุผล อินเดียเป็นอู่อารยธรรมจริง ๆ อันนี้ทั่วโลกยอมรับ จีนกับอินเดียเป็นอู่อารยธรรมวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ท่านพุทธทาสก็พูดถึงเรื่องนี้ ผมไม่ทราบว่าพี่น้องเคยอ่านหนังสือเล่มเล็ก ๆ เป็นปาฐกถาธรรมของท่าน ชื่อว่า “พระคุณที่อินเดียมีต่อประเทศไทย” ท่านปาฐกถาในวันอาสาฬหบูชา (ปี ๒๕๓๓) ผมเห็นว่ามีสาระดีมาก จึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปยังพวกผู้ใหญ่ ๆ ในอินเดียให้เขารู้ว่า พระผู้ใหญ่เมืองไทยเรานี่ มองอินเดียยังไง มองอินเดียเป็นประเทศที่มีบุญคุณต่อเราในแง่วัฒนธรรมยังไง ศาสนาก็ดี อะไรก็ดี ของเรามาจากอินเดียทั้งนั้น ประทานโทษแม้ผ้านุ่งอย่างคุณพี่ คุณน้าที่นุ่งอยู่นี่นะ ท่านก็บอกว่ามาจากอินเดีย โปรดไปอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ได้เลย ท่านไปเที่ยวอินเดียไปเห็นผู้หญิงอินเดียนุ่งผ้านุ่ง ท่านบอก อ้อ…ไทยเรา เอามาจากอินเดียแน่ กระทั่งหมากพลูที่ขบเคี้ยวนี่ก็มาจากอินเดีย อะไรต่ออะไรหลายอย่าง จะมีในหนังสือเล่มนี้ เล่มบาง ๆ ชื่อ “พระคุณที่อินเดียมีต่อประเทศไทย” นะครับ ผมอยู่ที่อินเดีย พอปักหลักได้ มีข่าวคราวอะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ก็แปลเป็นไทย ส่งมาให้ท่านพุทธทาสที่พุมเรียง ไชยานี่แหละ สมัยนั้นการส่งจดหมายจากอินเดียมาพุมเรียงนี่ เป็นเดือนครับ ไปรษณีย์อากาศไม่มี มาทางทะเล ทางทะเลก็อ้อมไปทางปีนัง แล้วขึ้นมาทางกรุงเทพฯ แล้วถึงจะแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย นี่ละครับเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมให้ชื่อเรื่องของผมว่า “ท่านพุทธทาสในความทรงจำของผม” มันเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๘ - ๗๙ ผมย้อนหลังมาคิดดูว่า ถ้าผมไม่ได้รับความเมตตาจากท่านพุทธทาสนี่ ชีวิตผมคงยากที่จะทายว่าจะเป็นยังไง คือเด็กอย่างผม ไม่มีพ่อไม่มีแม่ และโดยธรรมชาติแล้ว ขอโทษ ไม่ได้ยอตนเอง เป็นเด็กฉลาด ผมมีเชื้อจีน ปู่ผมมาจากเมืองจีน แต่พ่อผมเกิดเมืองไทย รับวัฒนธรรมทางไทย ประทานโทษเหมือนท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านก็มีเชื้อจีนเหมือนกัน คนมีเชื้อจีนนี่โดยทั่วไป ถ้าเก ก็เกเป็นไอ้เสือเลย ผมมาดูตัวเองว่าเราเรียนหนังสือเก่ง แต่พ่อแม่ไม่มี ที่พึ่งที่พาอะไรไม่มีทั้งนั้น ถ้าไม่มีใครสักคนเมตตา มาตักเตือนเรา มาให้คำแนะนำเรา คือท่านพุทธทาสนี่ เราคงจะเข้ารกเข้าพงไปแล้ว จดหมายฉบับแรกทีเดียว ผมเป็นคนส่งมาให้ท่านก่อน หนังสือหนังหาข่าวคราวต่าง ๆ นานาที่ส่งมา ท่านอุตส่าห์ตรวจแก้แล้วก็พิมพ์ให้ในนิตยสารรายตรีมาส “พุทธสาสนา” ท่านบอกว่าท่านปัญญานันทะ กับท่านบุญชวน เมื่อกลับจากอินเดียแล้วก็มาอยู่ที่สวนโมกข์นี่ ได้มาเล่าให้ฟังว่า บรรดาพระเณรที่ไปอินเดียกับพระโลกนาถนั้น มีเณรน้อยอยู่องค์หนึ่ง ชื่อกรุณา มัน “หัวเห็ด” ไปถึงอินเดียได้ ตอนนี้ก็อยู่อินเดีย แล้วยังอาศัยข้าวแขกกิน เรียนหนังสืออินเดีย พอผมส่งข่าวมาให้ท่าน ท่านก็รู้เลยว่า สามเณรกรุณารูปนี้เอง พวกเราคงจะเคยได้อ่าน “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” หนังสือเล่มนี้ท่านแปลจบเมื่อ ๒๔๗๙ เป็นปีที่ผมเริ่มติดต่อกับท่าน นี่ละครับ ท่านส่งหนังสือเล่มนี้ไปให้ผม พร้อมด้วยลายมือเขียนของท่านว่า “วัตถุเป็นเครื่องบูชาความบากบั่นอย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญของคุณ พุทธทาสภิกขุ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๙”

            ท่านพระเถรานุเถระและญาติธรรมทั้งหลายคงจะได้เคยเห็นหรืออ่านหนังสือ “พุทธทาสรำลึก” ของผม ซึ่งผมได้พิมพ์ขึ้นหลังจากมรณภาพของท่านอาจารย์ (ชูหนังสือให้ผู้ฟังดู) ในหนังสือเล่มนี้ พุทธทาสรำลึกนี่ มีจดหมายของท่าน ๑๕ ฉบับที่มีถึงผม ผมรักษาเอาไว้แทบจะเหมือนชีวิตของผมทีเดียว มีภาพหลายภาพ ซึ่งภาพเหล่านี้ มีอยู่ภาพหนึ่งกุฏิหลังนี้ คุณเมตตาหรือใคร ๆ คงจะจำได้ เดี๋ยวนี้เขารื้อไปแล้ว นี่คือกุฏิหลังแรก ๆ ที่ท่านอาจารย์ท่านสร้าง แล้วท่านยืนอยู่นี่ ท่านส่งภาพนี้ไปให้ผมที่อินเดียพร้อมด้วยลายมือว่า “ด้วยความรักใคร่แด่น้องชายโดยธรรม” นี่ก็รูปของท่าน เมื่อท่านอายุประมาณ ๒๘ ปีได้ ยังหนุ่ม กลับจากกรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ตอนนั้น แล้วก็อีกแห่งหนึ่งท่านเขียนว่า “แด่น้องชายที่รักอย่างซึมซาบใจ” เรื่องนี้ถ้าพูดมากไปเดี๋ยวจะหาว่าผมโฆษณาตัวเอง ที่ผมเอามาแสดง เอามาพูดนี่ไม่ใช่อะไร เพราะผมต้องการให้พี่น้องเห็นว่า ผมนี่มันโชคดี ถ้าผมไม่ได้ “พี่ชาย” อย่างท่านอาจารย์ ป่านนี้ผมคงไม่ใช่อย่างนี้แล้ว เพราะผมบอกแล้วผมพ่อแม่ไม่มี นี่ละครับด้วยประการฉะนี้ จดหมายที่ท่านมีถึงผมก็ติดต่อกันอยู่หลายปี จนกระทั่งสงครามญี่ปุ่นเกิด สงครามยุโรปเมื่อตอนเยอรมันนีบุกโปแลนด์นั่นไม่เท่าไร เพราะมันอยู่ไกล แต่พอญี่ปุ่นบุกไทยสิ แย่เลย การติดต่อระหว่างไทยกับอินเดียขาดสะบั้น นั่นคือ พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๘๕

            ตอนญี่ปุ่นบุกไทย จดหมายของท่านอาจารย์ทั้งหมดนี้ ตอนหลังผมเอามาประมวลดู มี ๓ - ๔ ประเด็นด้วยกัน เนื้อหาสาระในจดหมายนั้น ท่านจะเรียกผมว่าน้องชายโดยธรรมอะไรต่าง ๆ ด้วยถ้อยคำที่หวานไพเราะเพราะพริ้งมาก อาจารย์สุลักษณ์ยังบอกว่าภาษาไทยของท่านดีมาก ท่านอาจารย์เขียนภาษาไทยเพราะเหลือเกิน เดี๋ยวผมจะอ่านให้ฟังเป็นตัวอย่าง ผมกำลังพูดว่าโดยเนื้อหาสาระแล้วก็มีด้วยกัน ๓ - ๔ ประเด็น ในจดหมายเหล่านี้ ประเด็นที่ ๑ ท่านชื่นชมผมมากว่า ผมหัวเห็ดจริง ๆ หลายแห่ง ท่านเขียนว่า คนอย่างผมนี่คงจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ได้มาก เพราะว่าการที่ผมตัดสินใจไปประเทศอินเดียตั้งแต่ยังเล็ก ๆ นี่หายาก ผมไม่อยากจะพูดเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าผมไม่พูด พี่น้องคงไม่ทราบว่าผมโชคดียังไงที่มีท่าน เท่ากับเป็นญาติที่หวังดีต่อผมเหลือเกิน โปรดอย่าลืมนะ ท่านไม่รู้จักผม ไม่เห็นหน้าเห็นตาผม ผมเห็นหน้าท่าน ก็โดยรูปถ่ายที่ท่านส่งไป เราไม่เคยเห็นหน้ากัน รูปของผมก็ไม่เคยมีส่งมาให้ท่าน ท่านก็ไม่เคยเห็นหน้าผม แต่ผมเห็นหน้าท่าน บางแห่งท่านจะเขียนว่า “ผมบูชาความมีใจเด็ดเดี่ยวของคุณที่มีมากเกินกว่าวัยหรืออายุ มันเป็นนิมิตที่แสดงว่า คุณจะเป็นผู้ที่ทำงานได้มากเท่ากับคนหลายสิบคนเป็นแน่” อะไรทำนองนี้ครับ ประเด็นที่ ๒ คือเรื่องการศึกษา สำหรับพี่น้องที่เคยทราบประวัติของท่านอาจารย์ดีแล้ว คงจะทราบว่า ท่านไม่ได้รับการศึกษามาก ท่านช่วยพ่อแม่ค้าขาย ผมเป็นฝ่ายปรารภมาก่อนว่า ผมนี่ไม่มีการศึกษาอะไร อยู่ที่โรงเรียนประจำมณฑล นครสวรรค์ เรียนแค่ ม.๓ เท่านั้น ท่านก็ตอบมาว่า การศึกษาของท่านก็ไม่พอ เมื่อท่านมาตั้งคณะธรรมทานที่ไชยานี่ เด็ก ๆ แถวนั้นมันบอกว่า “พระบ้ามาแล้ว พระบ้ามาแล้ว” มันหาว่าท่านเป็นบ้า พวกญาติโยมถิ่นนั้นรู้สึกว่าจะเป็นมุสลิม บอกว่าพระบ้าองค์นี้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ไม่สำเร็จ เบื่อ ก็กลับมา พี่น้องก็เอามาอยู่ที่วัดตระพังจิก (สวนโมกข์เก่า, พุมเรียง) ซึ่งผมไปดูวันนี้ แถวนั้นพี่น้องอิสลามอยู่แยะ เด็ก ๆ และผู้ใหญ่นึกว่าพระองค์นี้สติไม่ดีแน่ วัดวาสวย ๆ งาม ๆ ไม่อยู่ มาตั้งวัดอยู่ในป่าในดงท่ามกลางต้นหมากรากไม้ ก็นึกว่าท่านเป็นบ้า ท่านปรารภถึงการศึกษาของท่านว่า ท่านเองก็มีการศึกษาน้อยมาก ท่านว่าอย่าไปเสียใจ ต้องสู้ต้องหาความรู้ด้วยตนเอง ผมขออ่านตัวอย่างนิดเดียว นี่ท่านเขียนอย่างนี้นะ “กรุณาน้องชายที่รักโดยธรรม ผมเองเข้าตาร้ายยิ่งกว่าคุณ ในเรื่องการศึกษา ผมเรียนเพียง ม.๒ บ้านนอก ซึ่งสอนความรู้ให้อย่างกระพร่องกระแพร่ง และเพิ่งจะได้มาบวชเอาเมื่ออายุ ๒๑ ปี ก่อนหน้านี้รู้แต่กับงานของโลก ไม่มีความรู้หัวนอนปลายตีนของธรรมะธรรมโมอะไรกับเขาเลย”

            ผมปรารภมาว่าการศึกษาของผมแย่มาก หลวงพี่ช่วยผมด้วยนะ ท่านก็ส่งหนังสือหนังหาไปให้ แม้ว่าการส่งจะกินเวลาเป็นเดือน ๆ อย่างหนังสือโลกนิติ หนังสือกามนิตและหนังสืออื่น ๆ หนังสือเหล่านี้ เมื่อตอนผมถูกจับเป็นเชลยสงคราม ผมมอบให้สมาคมมหาโพธิหมด เพราะคิดว่าเป็นหนังสือไทย กลับมาเมืองไทยถึงอย่างไรเราก็หาได้ นี่เป็นประเด็นที่ ๒ นะครับ ประเด็นที่ ๓ คือความว้าเหว่คิดถึงบ้านของผม ทั้ง ๆ ที่ผมก็ไม่มีใคร พ่อแม่ก็ไม่มี แต่มันมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง ผมเขียนไว้ในหนังสือประวัติของผม ผมนึกถึงเสียงระฆังที่ห้อยตามหลังคาโบสถ์ มันกระทบลมแล้วมันจะดังกริ๊งกร๊าง ๆ นึกถึงยอดเจดีย์ นึกถึงยอดโบสถ์ อะไรต่าง ๆ ก็ระบายออกมาให้ท่านฟัง ว่าคิดถึงบ้านเหลือเกิน เห็นจะอยู่ไม่ไหวแล้วอินเดีย ขอความเห็นท่านว่ากลับดีมั๊ย มาถึงตอนนี้จึงรู้สึกว่าถ้าไม่มีท่านพุทธทาสเตือนผมว่าอย่ากลับนะ ผมคงกลับแล้ว แล้วกลับมาเมืองไทยจะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ เพราะผมบอกแล้ว ผมปัญญาดีหน่อย คนปัญญาดีนี่ถ้าออกไปทางเก มันก็เกได้มาก ตอนหนึ่งท่านบอกว่า “สามเณรมาถึงอินเดียแล้วต้องเอาอะไรกลับไปให้ได้” ท่านรู้ว่าอินเดียเป็นแหล่งพุทธศาสนา เป็นแหล่งปรัชญา เป็นแหล่งอารยธรรม แหล่งวัฒนธรรมหลายอย่าง ก็ผมพูดแล้วเมื่อตะกี้นี้ ในเอเชียก็มีจีนกับอินเดียแหละเก่าแก่ที่สุด เป็นแม่บทของอารยธรรมของประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างเรานี่ ท่านบอกว่าเอาวิชาความรู้กลับเมืองไทยให้ได้ ท่านเรียกผมว่าสามเณรที่รักหรือไม่งั้นก็น้องรักโดยธรรม ท่านบอกว่าอย่ากลับมาถ้าไม่ได้วิชาความรู้อย่ากลับมา ตอนหนึ่งท่านบอกว่า “ขอให้ตั้งใจเรียนต่อไป เพื่อไม่ให้ใครลูบคมได้ว่า มาทั้งทีเป็นการเหลวไหล”

            นี่คือคำพูดของท่านผมลอกมา นี่เป็นประเด็นที่ ๓ นะครับ ประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด สมัยนั้นท่านอายุได้ประมาณ ๒๘ - ๒๙ ยังไม่เกิน ๓๐ ยังหนุ่มแน่น กลับมาจากกรุงเทพฯ ยังไง ตั้งคณะธรรมทานยังไง มีปณิธานแน่วแน่ยังไง จะทำยังไงจึงจะเผยแผ่ศาสนาได้ เหล่านี้เราจะเห็นได้จากจดหมายหลายตอนของท่าน ถ้าอ่านตอนนี้แล้ว พี่น้องจะเห็นทีเดียวว่า เมื่อตอนท่านยังหนุ่ม ขณะที่มาตั้งคณะธรรมทาน ตอนที่ชาวบ้านหาว่าท่านเป็นบ้า ตอนนั้นท่านมีปณิธานแน่วแน่ยังไง แล้วปณิธานอันนี้ ท่านจรรโลงมาจนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ และได้ความสำเร็จแค่ไหน ถ้าอ่านอย่างนี้แล้ว จะเห็นชัดเลย ท่านอาจารย์นี่ใจเด็ดแน่วแน่เหลือเกิน อันนี้ผมถือว่าเป็นประเด็นสำคัญมากในจดหมาย ๑๕ ฉบับที่ท่านมีถึงผมนี่ ให้ทราบถึงว่าท่านพุทธทาส “พระเงื่อม อินฺทปญฺโญ” มีความคิดอย่างไรเมื่อมาตั้งคณะธรรมทานใหม่ ๆ แม้ชาวบ้านชาวเมืองก็ไม่เห็นด้วย ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นด้วย พระผู้ใหญ่หลายองค์ไม่เห็นด้วย นอกเสียจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ อดีตองค์ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม วัดเทพศิรินทร์ฯ กรุงเทพฯ) มีเมตตามาให้กำลังใจท่านถึงไชยานี่เลย ตอนนั้นคนไม่เข้าใจท่านแยะ คนไม่เข้าใจท่านพุทธทาสนี่ ขอโทษเถอะหลัง ๆ ก็ยังมี เมื่อตอนผมติดคุกการเมือง เขาว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ ผมอยู่ในคุกการเมืองลาดยาวประมาณ ๘ ปี เกือบจะ ๙ ปี ตอนนั้นท่านพุทธทาสก็ดำเนินงานของท่านไปเรื่อย ๆ จากไชยานี้แหละ ในช่วงที่ผมอยู่ในคุกการเมืองลาดยาว หนังสือที่ชื่อ “ธรรมิกสังคมนิยม” ท่านได้แต่งขึ้น อันนี้เป็นที่ฮือฮากันมาก เมื่อแต่งหนังสือเล่มนี้แล้ว ผู้ใหญ่ที่เป็นฝ่ายฆราวาสบางคน อย่าให้ผมเอ่ยชื่อเลยครับ เขาเป็นคนใหญ่คนโตมาก แต่ว่าคนใหญ่คนโตนั้นไม่ใช่จะเป็นคนที่มีความคิดถูกต้องเสมอไป ผู้ใหญ่ที่มีความคิดไม่ถูกต้องก็แยะเหมือนกัน ผมเข้าใจอย่างนี้นะ ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนบอกว่าพุทธทาสเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะท่านรู้จักกับพวกผมหรือใครที่ถูกจับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในลาดยาว แต่เพราะการศึกษาศาสนาพุทธของท่านตามหลักวิทยาศาสตร์ อย่างไม่มีไสยศาสตร์มาปะปนนั้น เมืองไทยหายาก พระผู้ใหญ่ ๆ ก็อย่างว่า จะด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ไม่ค่อยจะมีองค์ไหนออกมาชี้ว่านี่ไม่ใช่พุทธ นี่มันไสยศาสตร์ ไม่ค่อยมีใคร คล้าย ๆ กับว่าไม่อยาก “แกว่งเท้าหาเสี้ยน”

            ท่านอาจารย์ของเราท่านไม่เห็นด้วยที่พระเจ้าจะไปอมน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก ไปเสกคาถาอาคมอะไร ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเรื่องอย่างนี้ โดยเหตุที่ท่านศึกษาพุทธตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่เฉพาะฝรั่งที่อยู่ที่นี่นะ ฝรั่งที่อยู่ต่างประเทศก็เห็นด้วยกับท่าน เพราะท่านไม่เล่นไสยศาสตร์ ท่านเล่นแบบ Scientific Buddhism ขอโทษที่ใช้คำภาษาอังกฤษ ซึ่งก็แปลว่า “พุทธศาสนาแบบวิทยาศาสตร์”

            แบบวิทยาศาสตร์ หมายความว่า ๒ กับ ๒ ต้องเป็น ๔ ๒ กับ ๒ จะเป็น ๕ ไม่ได้ ถ้าใครบอกว่า ๒ กับ ๒ เป็น ๕ นี่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ Scientific อย่างนี้อาจารย์พุทธทาสไม่เอา และด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่หลายคน ทั้งสงฆ์ ทั้งคฤหัสถ์ เขาว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ พอท่านแต่งหนังสือธรรมิก-สังคมนิยมขึ้นมา คำว่าสังคมนิยมมันคล้าย ๆ คอมมิวนิสต์ คนไม่เข้าใจ ผมถูกจับสมัยนั้นเป็นสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาครองอำนาจ เขี่ย จอมพล ป. ตกกระป๋องไป จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาครองอำนาจ จับหมด พวกหนังสือพิมพ์ก็ถูกจับ ตอนนั้นผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ครับ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ “เสถียรภาพ”

            ผมกำลังพูดว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายสงฆ์ฝ่ายฆราวาสไม่เห็นด้วยกับหนังสือธรรมิกสังคมนิยมของท่าน สังคมนิยมเป็นคำที่คนไม่เข้าใจว่ามันแตกต่างกับคอมมิวนิสต์ยังไง หรือคนที่เข้าใจแล้วไม่อยากเข้าใจก็มี แกล้งไม่เข้าใจก็มาก ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงชีวิตในลาดยาวสักหน่อย เมื่อตอนผมอยู่ในคุกลาดยาว มีพี่น้องจากปักษ์ใต้ถูกขังรวมอยู่ด้วยมาก ผมยังจำได้หลายคนที่เป็นเพื่อน ๆ กัน ได้อ่านหนังสือธรรมิกสังคมนิยม ซึ่งท่านเขียนจากพุมเรียง ไชยานี้แหละ ความจริงแล้วหนังสือธรรมิกสังคมนิยมนี้ ชื่อมันก็บอกแล้ว คำว่าสังคมนิยมนั้นอาจจะทำให้คนเขวได้เพราะมันคล้าย ๆ คอมมิวนิสต์ แต่ท่านอาจารย์เอา “ธรรมิกะ” บวกเข้ากับ “สังคมนิยม”

 

            ก็หมายความว่า สังคมนิยมที่ท่านหมายถึงนั้น เป็นสังคมนิยมที่ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องจูงใจ สังคมนิยมที่มีธรรมะเป็นฐาน ท่านอาจารย์เข้าใจทฤษฎีการเมืองดีมาก พอหนังสือเล่มนี้ออกมาตูม ผู้ใหญ่ฝ่ายฆราวาสบางคน ก็บอกว่าท่านพุทธทาสเป็นคอมมิวนิสต์ ไปสนับสนุนพวกคอมมิวนิสต์อะไรทำนองนี้ นี่ผมพูดถึงประเด็นสำคัญในหนังสือเล่มนี้ให้เห็นถึงแนวความคิดทางการเมืองของท่านอาจารย์

            อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมอยากจะพูดให้พวกเราโดยเฉพาะพระคุณเจ้าที่นั่งอยู่ที่นี่ได้ฟังได้ทราบคือ ตลาดหนังสืออินเดียนี่กว้างมาก อินเดียเป็นประเทศที่ยากจน มีปัญหาเยอะ พลเมืองตั้งพันล้านคน แต่ว่าในเรื่องวิชาความรู้แล้วอินเดียเป็นเยี่ยมจริง ๆ ท่านพุทธทาสนี่ตั้งแต่หนุ่มเลย ท่าน “หิวความรู้” เหลือเกิน ท่านสนใจเรื่อง “มหายาน” มาก เถรวาทนั้นไม่ต้องพูดถึง คัมภีร์บาลีนี่ในเมืองไทยสมบูรณ์แล้ว หาได้ ค้นได้ ไม่ต้องตะเกียกตะกายไปที่อื่น แต่คัมภีร์มหายานนั้นเมืองไทยไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้พอจะมีบ้างแล้ว สาเหตุที่ไม่มีนั้นน่ะ ขอประทานโทษ คือ คนไทยเรานี่ทั้งฆราวาสทั้งพระเลย นึกว่าของเราดีอย่างเดียว คนในเอเชียไม่ว่าเป็นแขก พม่า ลาว จีน อะไรสู้ไทยไม่ได้ พี่ไทยดีคนเดียว วันนี้ผมเข้าใจว่าคุณเสาวณีย์ ธโนฆาภรณ์ (ส. ธโนฆาภรณ์) ก็อยู่ คุณเสาวณีย์มีบุญคุณต่อเราชาวพุทธ ที่นำคำสอนของศาสนาพุทธฝ่ายมหายานมาเผยแผ่ เมื่อตอนค่ำก็ได้พบกันนะครับ แล้วก็ช่วยเรียนให้ท่านอาจารย์ธีรทาส (ธีระ วงศ์โพธิ์พระ) ทราบด้วย ผมกำลังพูดถึงคัมภีร์มหายาน ตลาดหนังสืออินเดียนี่กว้างมาก สมาคมมหาโพธิที่ผมอาศัยเขาอยู่นั่นน่ะ เขาออกหนังสือรายเดือนชื่อ “มหาโพธิ” (Maha Bodhi) เป็นภาษาอังกฤษ ผมก็ส่งมาถวายท่าน หนังสือผมไม่ต้องซื้อต้องหาอะไร เสียค่าแสตมป์ส่งมาให้ ท่านเปิดดูแจ้งความเห็นหนังสือฝ่ายมหายานหลายเล่ม ท่านก็จดหมายบอกไปยังผมว่า สามเณรช่วยหาหนังสือให้ที ท่านใช้คำแทนชื่อท่านว่า ผม “ผมกำลังจะให้เขาส่งปัจจัยไปให้สามเณรช่วยซื้อหนังสือให้หน่อย” สมัยนั้นผู้ที่ถวายเงินท่านโดยส่งไปให้ผมจากกรุงเทพฯ คือ ท่านผู้พิพากษา “สัญญา ธรรมศักดิ์”

            เดี๋ยวนี้ป่วยมาก พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) พระยาลัดพลีฯ นี่ส่งเสริมช่วยอุปถัมภ์ให้กำลังใจท่านอาจารย์มาตั้งแต่ต้นเลย มีหลายคนครับ แล้วก็พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ทายาทของท่านคือ คุณทิพวรรณ ปัทมสถาน ก็ยังอุปถัมภ์คณะธรรมทานอยู่ เงินที่ท่านส่งไปก็คงไม่เท่าไหร่ ทีละ ๑๐ รูปี ทีละ ๑๕ รูปี แต่ส่งทางธนาคารนะ ไม่ได้ส่งทางสอดไปในจดหมายซึ่งทำอย่างนั้นไม่ได้เลย คำว่า “ส่ง”

            นี่หมายความว่าท่านให้ญาติโยมทางกรุงเทพฯ ส่งไปให้ เจ้าคุณลัดพลีฯ เอย คุณสัญญาเอย นายชำนาญ ลือประเสริฐเอย อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวนี้เงิน ๑๕ รูปี ๒๐ รูปี ทานอาหารมื้อเดียวยังไม่ค่อยพอ สมัยก่อนซื้อหนังสือได้หลายเล่ม เล่มละ ๓ แอนนา ๔ แอนนา ๖ แอนนา ท่านให้ชื่อหนังสือไป ผมก็ซื้อหนังสือส่งมาถวาย หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานทั้งสิ้น นี่ละผมอยากจะคุยว่า หนังสือที่ท่านอาจารย์เล่นเกี่ยวกับศาสนาพุทธฝ่ายมหายานนั้น ผมเป็นคนถวายบริการท่าน ผมซื้อส่งมา เพราะตอนนั้นหนังสือประเภทนี้ที่เมืองไทยหาไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังหายาก ตอนหลังท่านมาส่งเสริมพุทธนิกายเซน ท่านก็เผยแพร่ ไม่ใช่ไปหลงใหลอะไร แต่ว่าความดีท่านก็เอา อะไรที่เหลวไหลท่านก็ไม่เอา ท่านเป็นคนอย่างนั้น เลือกเอาแต่ดี ๆ งานหาหนังสือมหายานเหล่านี้ ผมเป็นคนรับใช้ท่าน ซื้อหนังสือเหล่านี้ส่งมาถวายท่านจนกระทั่งหลัง ๆ นี่ฝรั่งนับถือท่านมาก เพราะท่านไม่ใช่เชี่ยวชาญเรื่องเถรวาทอย่างเดียว มหายานก็เก่ง เพราะเหตุนี้ฝรั่งถึงมาเมืองไทยแยะ ฝรั่งนี่พูดก็พูดเถอะ อย่าหาว่าผมรู้ดีนะ เขาจะรู้จักศาสนาพุทธฝ่ายมหายานมากกว่าฝ่ายเถรวาทหรือหินยาน เพราะว่าชาวพุทธต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นนี่ไปอยู่อเมริกาแยะ จีนก็มาก ก็เอาฝ่ายมหายานนี่ไปเผยแพร่ คนก็รู้จักพุทธฝ่ายมหายานก่อน แล้วตอนหลังถึงมีฝรั่งที่สนใจจริง ๆ ในเรื่องเถรวาทนี่ มาถึงพุมเรียงมาถึงไชยา มาอยู่ที่นี่มาค้นคว้าอะไรต่าง ๆ นี่แหละครับ นี่แหละครับความทรงจำของผมที่มีอยู่ ที่เกิดจากท่านอาจารย์พุทธทาส เกิดโดยวิธีนี้ และมีอยู่ติดต่อกันโดยจดหมาย จนกระทั่งสงครามญี่ปุ่นเกิด พอสงครามญี่ปุ่นเกิด ก็ขาดการติดต่อ ผมถูกจับเป็นเชลย ที่ค่ายเชลยสงครามในอินเดียที่เขาทดลองอาวุธปรมาณูเมื่อ ๔-๕ วันนี้ อินเดียทดลองปรมาณูที่ทะเลทรายนี้ เขาเรียกว่าทะเลทราย “โปกขรา” อังกฤษเอาผมไปขังไว้ที่นี่ ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ เอาญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี หลายพันคน เอาไปขังไว้ที่นี่ ที่ขังไว้ที่นี่เพราะมันเป็นทะเลทราย ทะเลทรายนี่ขอประทานโทษพี่น้องที่ไม่เคยเห็นทะเลทรายคงจะวาดภาพไม่ออกนะ พูดง่าย ๆ ว่า ในทะเลทรายนั้นถึงมีปีกก็บินหนีไม่ได้ ไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีน้ำจะกิน ถึงตอนนี้ผมก็ขาดการติดต่อกับท่านอาจารย์ พอผมไปเป็นเชลยแล้วชีวิตก็เปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นเณร ผม “สึก” เมื่อตอนญี่ปุ่นบุกไทย ถูกจับแล้วชีวิตก็ลำบากมาก ขอประทานโทษไม่มีอะไรจะกิน ในค่ายเชลยนั้นหมาแมวหลงเข้าไปถูกจับกินหมด ผมอยู่กับญี่ปุ่นครับ อังกฤษเอาคนไทยไปขังกับญี่ปุ่น ลำบากมาก นี่ละครับ ผมก็ขาดการติดต่อกับท่านอาจารย์ จนกระทั่งสงครามสงบ อังกฤษจึงส่งผมกับคนไทย ๔-๕ คน มาขึ้นที่สิงคโปร์แล้วโดยสารเรือที่หาดใหญ่ มาขึ้นที่กรุงเทพฯ สรุปแล้วผมไปอินเดีย ไปกับพระโลกนาถ สตางค์ “แดงเดียวก็ไม่มีไป” กลับมาจากอินเดีย “แดงเดียวก็ไม่มีมา” เหมือนกัน มีคนถามผมว่าคุณกลับมาเมืองไทยแล้วทำไมคุณไม่ติดต่อกับท่าน อันนี้ผมตอบตรง ๆ มันเป็นความรู้สึกผิดของผม ผิดในแง่ที่ว่า เมื่อก่อนนี้ผมเป็นเณร ผมเรียกท่าน “หลวงพี่”

            จริงอยู่เป็นฆราวาสก็เรียกหลวงพี่ได้ ท่านรักผมมาก เมตตาผมเหลือเกิน แต่ว่าชีวิตในค่ายเชลยระหว่างสงคราม ๔-๕ ปีนี่ผมเปลี่ยนเพศไปเป็นฆราวาส แล้วก็ผ่านพ้นประสบการณ์ต่าง ๆ แยะเหลือเกิน จนกระทั่งกลับเมืองไทย พอกลับมาเมืองไทยแล้ว ชีวิตยากจนของผมก็ต้องดิ้นรน ตีนถีบปากกัด ไม่มีโอกาสได้มานมัสการท่าน แต่ว่าในที่สุดก็ได้มีโอกาสนมัสการท่าน เมื่อตอนท่านไปอินเดีย ไปกับเจ้าชื่น สิโรรส คุณชำนาญ ลือประเสริฐ ตอนนั้นผมทำงานอยู่กับสถานทูตอินเดียแล้ว อินเดียเขาเข้ามาเปิดสถานทูตใหม่ ๆ ผมเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานกับเขา ท่านไปขอวีซ่า จะเข้าอินเดียต้องไปขอวีซ่า ก็ได้พบกัน ผมก็กราบนมัสการท่าน จำได้ว่าท่านแสดงอาการกับผมคล้าย ๆ กับว่า เฉย ๆ ไม่ยินดี ยินร้าย ตามวิสัยผู้มีกิเลสน้อย เหตุการณ์นั้นอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากนั้นผมมาที่สวนโมกข์หลายครั้ง ท่านไปอินเดียเมื่อปี ๒๔๙๘ รูปในหนังสือนี่นะครับ (ปกหนังสือ “พุทธทาสรำลึก”) ท่านไปนั่งอยู่ที่เมืองราชคฤห์ มูลคันธกุฎีวิหาร เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ตอนท่านไปอินเดีย ผมก็ได้ถวายอะไรท่านไปหลายอย่าง ถวายหนังสือนำเที่ยว จะไปที่ไหน ยังไง ค่ารถค่าราเท่าไร แต่ว่าท่านไม่ต้องยุ่ง ท่านมีคุณชำนาญเป็นไวยาวัจกร เจ้าชื่นฯ ด้วย ดูเหมือนจะเป็นโยมอุปัฏฐาก ผมเรียนให้ทราบแล้วหลังจากกราบท่านที่สถานทูตอินเดียแล้วผมก็มาที่นี่ แต่อย่างว่าชีวิตฆราวาส มีครอบครัวมันก็ต้องดิ้นรนตีนถีบปากกัดไปตามวิสัยฆราวาสหรือคฤหัสถ์
             ก็ขอจบแค่นี้ ในเรื่องความทรงจำของผมที่มีกับท่านพุทธทาส

            ทีนี้อยากจะขอเชิญพี่น้องที่สนใจจะมีปัญหาอะไรถามผมมั้ย ในเหตุการณ์หรือเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างท่านอาจารย์กับผม มีอะไรที่ผมจะให้ความกระจ่างแจ้งได้ ผมยินดีครับ เพราะว่าท่านทวีศักดิ์เมื่อตอนไปปรึกษากับผมว่าจะพูดอะไรกันบ้าง ท่านบอกว่าขอให้เหลือเวลาไว้หน่อยนะ เข้าใจว่ายังไม่ดึกเกินไป หรือไงก็แล้วแต่ ผมยินดีรับใช้ ผมปลื้มปีติมากมาวันนี้ เมื่อคืนก็ไม่ได้นอน ในรถไฟตู้ที่ผมมา ฝรั่ง ๑๐ กว่าคนเขาฉลองกันใหญ่เลย ฉลองอะไรก็ไม่รู้ กินเหล้าเมายากันตลอดทาง ผมนอนไม่หลับทั้งคืน ทั้งที่รถที่คุณฐิติมา โกมลคีมทองจองให้ มีที่นั่งที่นอนอะไรให้เสร็จ แต่นอนไม่หลับ เจี๊ยวเหลือเกิน แล้ววันนี้พอมาถึง คุณศิริ (ศิริ พานิช) เมตตาผม พอรับอาหารกลางวันแล้ว พาผมตระเวนทั่วไชยาเลย พาไปชมหมด ทำให้ผมต้องถวายนามคุณศิริว่าเป็น “สารานุกรมเมืองไชยา” ผมถามอะไรรู้หมด ใครเป็นเจ้าเมือง ใครเป็นพ่อเมือง ใครเป็นนักเลงโต ได้ทราบทีหลังว่าคุณศิรินี่เป็นเจ้าพ่อไชยานะ ท่านพาผมไปเที่ยว ก็เหนื่อยพอสมควร แต่แม้จะเหนื่อยเท่าไรก็ตาม ผมขอปวารณา มีอะไรถามเลย ผมยินดีมาก ผมปลื้มใจเหลือเกินวันนี้ ยินดีตอบเท่าที่จะมีปัญญาตอบได้ เชิญถามเถอะครับ พระคุณเจ้าด้วยครับ คำถามท้ายปาฐกถา ถาม : จดหมายที่ท่านอาจารย์พุทธทาสส่งติดต่อกับอาจารย์กรุณาในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเขียนด้วยลายมือหรือว่าใช้เครื่องพิมพ์? ปาฐก : อยากทราบว่าเขียนด้วยปากกาหรือพิมพ์ดีดหรือครับ ส่วนใหญ่พิมพ์ดีด เรื่องพิมพ์ดีดนี่ก็มีปัญหา ผมอยู่อินเดียน่ะ อินเดียเจริญสู้เราไม่ได้เรื่องพิมพ์ดีดนี่นะ อินเดียเดี๋ยวนี้ก็มีแล้วแต่ยังสวยสู้ไทยเราไม่ได้ ผมก็ถามท่านว่า เครื่องพิมพ์ดีดที่ท่านใช้นี่ ซื้อที่ไหน ยังไง เพราะอินเดียเขาอยากจะได้ อยากจะเอาไปแปลงเป็นภาษาของเขา คือเอาแคร่ไว้ แต่เอาอักษรแขกใส่เข้าไป ท่านก็ตอบไป ท่านบอกตัวท่านเองนี่ ท่านใช้คำว่า “ผม” นะ “ผมนี่นะใช้เรมิงตันกระเป๋าหิ้ว สะดวกดี แข็งด้วย” ท่านว่า ส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายพิมพ์ดีดครับ แต่ว่าบางฉบับถ้าท่านไม่อยู่พุมเรียง สมมติว่าท่านไปที่อื่น ท่านจะเขียนด้วยลายมือ แต่ได้ยินว่าท่านทำสำเนาไว้เหมือนกัน ท่านเป็นคนละเอียดมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นพิมพ์ดีด ถาม : ตอนนี้ต้นฉบับจดหมายทั้งหมดยังมีอยู่ไหม? ปาฐก : โอ้ย!... เดี๋ยวนี้กระดาษมันกรอบหมดแล้ว ผมบอกแล้วไง จดหมาย ๑๕ ฉบับนี่มันตั้ง ๖๕ ปีกว่าแล้ว ยังอยู่ เป็นเหมือนคัมภีร์ไบเบิ้ลของผมเลย ผมเก็บใส่แฟ้ม แล้วก็เขียนไว้ด้วยว่าจดหมายท่านอาจารย์พุทธทาส แต่จะจับต้องระวังนะ มันกรอบ จับต้องค่อย ๆ ช้อนข้างหลัง มันถึงจะไม่กรอบไม่หัก ถ้าไปจับอย่างนี้ไม่ได้ พลิกอย่างนี้ไม่ได้ เก่าแก่มาก แดงหมด กระดาษแดงหมดแล้วครับ ถาม : ในฐานะที่อาจารย์กรุณาเป็นนักคิดนักเขียน แล้วก็มีผลงานมากมายในแง่ของภารตวิทยาหลายเล่ม ตรงนี้มีอิทธิพลจากการที่ได้แลกเปลี่ยนในทางจดหมายกับท่านอาจารย์พุทธทาสบ้างหรือเปล่า? ปาฐก : ครับ ได้ครับ สำหรับเรื่องนี้นะ พระคุณเจ้าครับ ผมขอพูดตรงๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นน่ะ ท่านเชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมอินเดียมาก แต่ว่าท่านไม่ได้เจาะลึกไปทางใดทางหนึ่ง ที่ไม่ได้ “เจาะลึก” เพราะท่านไม่ได้อยู่อินเดีย แล้วภารกิจของท่านที่สวนโมกข์นี่มากมายเกินกว่าจะให้ท่านไปเจาะเรื่องแขนงต่าง ๆ ของวิชาความรู้ของอินเดีย แต่ว่าสำคัญที่สุดท่านรู้ว่าอินเดียมีอะไร ท่านถึงเตือนผมไง บอกว่า “เณรอย่ากลับนะ อยู่อินเดียนะ เอาความรู้กลับไปให้ได้ ถ้ากลับไปแล้วคนไทยเขาลูบคมได้ละก็เสียชื่อนะ” ท่านถึงสอนผมว่าในบรรดาความรู้ต่าง ๆ ที่ผมเรียนอยู่ที่อินเดียนั้น “ภาษาสันสกฤตมีประโยชน์มาก สามเณรต้องเรียนนะเมืองไทยหาที่เรียนไม่ได้”

            ท่านบอกว่าท่านไปเรียนกับ สวามี สัตยานันทบุรี เป็นพระฮินดู บวชเรียนที่อินเดียแต่มาอยู่เมืองไทย อยู่เมืองไทยหลายปีจนกระทั่งเขียนตำราภาษาไทยได้ ท่านบอกท่านเคยไปเรียนภาษาสันสกฤตกับ สวามี สัตยานันทบุรี ที่เสาชิงช้า ยังไม่กระจ่างแจ้งเลย ดังนั้น สามเณรต้องสู้เรียนให้ได้ เอาสันสกฤตกลับมาใช้ให้ได้ ท่านรู้ว่าอินเดียนั้นมีอะไรสำคัญ ๆ และรู้ด้วยว่าควรจะเรียนอะไร ทั้งที่ท่านเองก็ไม่มีเวลาเรียนแล้ว อย่างว่า เพราะท่านไม่มีเวลาที่จะเจาะลึกลงไปในวิชาการแขนงต่าง ๆ ได้ เพราะท่านยุ่งกับเรื่องคณะธรรมทานของท่านนี่แหละ

น.พ. บัญชา พงษ์พานิช :
             นมัสการท่านพระคุณเจ้า และก็กราบเรียนทุกท่านครับ ผมเพียงแต่จะเรียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดหนึ่ง ที่ท่านได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องจดหมาย เนื่องจากว่ามีส่วนรับผิดชอบร่วมกับคณะสงฆ์และก็คณะที่สวนโมกข์ ในการรวบรวมงานเอกสารของท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่นะครับ ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่า อย่างน้อยอีก ๘ ปีข้างหน้าในคราว “๑๐๐ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส” หลายอย่างคงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จากการได้ฟังท่านอาจารย์กรุณาแล้ว ได้มาหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งก็คือว่า หนังสือมหาโพธิทั้งหลาย แล้วก็หนังสือมหายานทั้งหลายที่อยู่ในกุฏิท่านอาจารย์พุทธทาสที่เราเจอ ก็รู้ที่มา ได้รู้ที่มาว่าส่วนหนึ่งมาทางท่านอาจารย์กรุณา เราพบว่า วิธีการประมวลเอกสารของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นเป็นระบบอย่างยิ่ง ขณะนี้ในกุฏิของอาจารย์พุทธทาสนั้นมีจดหมายของผู้รู้ ของผู้หลักผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่มีการรวบรวมประมวลไว้หมดนะครับ ทั้งจดหมายส่งมา แล้วก็จดหมายตอบของท่านอาจารย์ โดยท่านอาจารย์จะมีสำเนาทุกฉบับในการตอบ แล้วก็ทุกอย่างจัดเก็บเป็นแฟ้มไว้เรียบร้อย เอกสารทั้งหมดคงจะรวบรวมเก็บไว้ แล้วก็คงจะได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือว่าเป็นสิ่งแสดงต่าง ๆ ให้ได้ชมกันเร็วที่สุดเท่าที่จะมีกำลังเตรียมได้นะครับ อย่างน้อยที่สุดหากว่าท่านสนใจ สิ่งที่คณะของอาจารย์สมทรง (สมทรง ปุญญฤทธิ์) ได้จัดทำก็คือ “พุทธทาสลิขิต”

            นั่นเป็นงานชิ้นหนึ่งที่มาจากการสืบค้นงานเอกสารลายมือของท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นงานตีพิมพ์รวบรวมสมบูรณ์ชิ้นแรกนะครับ แต่ยังไม่ทั้งหมด นอกจากนั้นก็จะปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” ที่ออกโดยกองตำราของคณะธรรมทานด้วย ผมขออนุญาตกราบเรียนว่า ยังมีอีกเยอะ แล้วก็ได้พบว่ากระบวนการศึกษาค้นคว้า และก็การบันทึก การเก็บ ของท่านอาจารย์พุทธทาสนี้เป็นระบบ แล้วก็สำหรับผมเองนั้นต้องเรียนอย่างนี้ว่า ไม่น่าเชื่อว่าท่านทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ นะครับ ท่านมีแม้กระทั่ง บันทึกไดอารี่ประจำวัน ทำไว้ตั้งแต่ ๑ มกราคม จนถึง ๓๑ ธันวาคม ตลอดปี มีอีกหลายประการ ที่คงจะได้เรียนรู้กันอีกมากมายเกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาสครับ

            ปาฐก : ครับ ดีมากอาจารย์ครับ ดีมาก “พุทธทาสลิขิต” จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อไปครับ มีอะไรเชิญครับ พี่น้องญาติธรรมทั้งหลาย อินเดียเป็นประเทศกว้างขวางใหญ่โตเหลือเกิน อินเดียนั้นเนื้อที่เมื่อก่อนมีปากีสถานแล้วก็บังคลาเทศกับอินเดียรวมกัน ก่อนที่อังกฤษเขาจะถอนไปใหญ่กว่าเมืองไทยเรา ๖ เท่า เดี๋ยวนี้ใหญ่กว่าเมืองไทยเรา ๕ เท่า เพราะฉะนั้นมีปัญหามากมาย

            อังคาร กัลยาณพงศ์ : ด้วยความปีติยินดีเกิดแด่อาจารย์ อาจารย์เมื่อตอนเป็นเด็ก อาจารย์เคยตั้งอุดมคติไว้ก่อนหรือเปล่าว่า จะมาเป็นมนุษย์มณี มีพหูสูต หรือเล่าเรียนจนกระทั่งอาจารย์ได้เป็นมนุษย์ที่เหมือนแก้วมณี เหมือนเพชรพลอย อาจารย์มีความตั้งใจไว้ก่อนหรือเปล่า?

            ปาฐก : ขอบคุณครับ ขอบคุณท่านอังคาร ผมไม่ใช่พหูสูต และไม่ใช่แก้วมณีอะไร จริงอยู่อาจารย์อังคารเขียนกลอนชื่นชมผม เปรียบผมเป็นมณีที่มีค่า แต่ตัวผมเองไม่เคยอวดอ้างว่าเป็นพหูสูต เป็นปราชญ์ หรือเป็นแก้วมณีอะไร ท่านอังคารถามผมว่า เคยคิดบ้างไหม อยู่อินเดียเมื่อตอนเรียนหนังสือ ว่าจะต้องเป็นผู้มีความรู้ เป็นปรกเป็นปราชญ์อะไร อันนี้ขอประทานโทษ ไม่เคยคิดเลย ผมเมื่อตอนเด็ก มันมุ่งอยู่อย่างเดียวว่า “กูพ่อแม่ไม่มีแล้ว ต้องหาความรู้ให้ได้ ถ้ากูไม่มีความรู้ กูเลี้ยงตัวเองไม่ได้แน่” โคลงโลกนิติบทหนึ่ง ผมจำติดใจ จนกระทั่งผมขอหนังสือท่านพุทธทาสส่งไปให้ โคลงบทหนึ่งว่า “วิชาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต” อะไรนี่น่ะ โคลงสี่สุภาพบทนี้ ผมจำได้ ฉะนั้นเมื่อตอนเรียนอยู่อินเดีย ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอะไรเลย ถึงเดี๋ยวนี้ก็ขอสารภาพ ผมรู้เรื่องอินเดียจริงแต่ไม่ใช่รู้ทั้งหมด ก็พอรู้บ้าง รู้ดีกว่าคนไทยส่วนใหญ่นิดหน่อย เพราะไปอยู่มา แต่ไม่เคยบอกว่ารู้อินเดียดีทุกอย่าง ไม่เคยเลย ที่ท่านอังคารถามผมว่า แล้วอะไรเป็นเหตุให้ผมขยันเรียนหนังสือ ผมขอเพิ่มนิดหนึ่ง จะหาว่าผมคุยก็ยอมรับ ผมบอกแล้วตั้งแต่อยู่เมืองไทย ผมเรียนหนังสือเก่งมาก ผมไปอยู่อินเดีย ภาษาแขกผมสอบได้ที่หนึ่งทั่วอินเดีย นี่แหละทำให้ผมได้ทุนเรียนที่อินเดีย ทุนเรียนสมัยก่อนเดือนละ ๑๕ รูปี เงิน ๑๕ รูปี ผมบอกแล้วว่าเดี๋ยวนี้กินข้าวมื้อเดียวก็ไม่อิ่ม องค์การเผยแพร่ภาษาฮินดีเขาให้ทุนผม แล้วก็ด้วยเงิน ๑๕ รูปีต่อหนึ่งเดือนนี้ ผมจากสมาคมมหาโพธิไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ของรพินทรนาถ ฐากุร อันนี้เป็นเรื่องวิชาการ แต่พอไปถึงนั่นผมก็ได้ทุนเรียนอีก สรุปแล้ว นอกจากกำลังใจมหาศาลซึ่งผมได้รับจากท่านอาจารย์พุทธทาสแล้ว ยังได้รับกำลังทรัพย์จากอินเดียพอสมควร จนกระทั่งผมเรียนหาวิชาความรู้ได้ อินเดียเป็นประเทศที่ยากจนก็จริง แต่ผมอยากจะพูดชม พี่น้องอาจจะว่าผมไปกินข้าว ไปกินโรตีเขามาจึงพูดอย่างนั้น ผมก็ไม่เถียง ผมไปอยู่อินเดีย ผมไปอยู่กับคนอินเดียแท้ ๆ ไม่ใช่ไปอยู่เหมือนนักเรียนไทยในอินเดีย ปัจจุบัน มีพระเจ้าท่านไปเรียนเยอะ ผมบอกแล้วมีหลายร้อยคน ท่านไปท่านก็ไปอยู่ที่พักของนักเรียนต่างประเทศ ที่เมืองพาราณสีก็ดี เมืองปูนาก็ดี เพราะค่าครองชีพถูก ความรู้ดี ผมนั้นไปอยู่อย่างยาจก ไปขอเขาอยู่ อยู่กับสมาคมมหาโพธิ ไปอยู่กับอาจารย์ที่เป็นพราหมณ์ กินกับเขา นอนกับเขา เพราะฉะนั้นขอโทษเถอะ ผมถึงรู้ภาษาดี ผมพูดกับแหม่มคนหนึ่ง ดูเหมือนกับจะมากับอาจารย์ประชา (ประชา หุตานุวัตร) ว่า คนเราจะเรียนรู้ภาษาอะไร ต้องอยู่กับเขา กินกับเขา นอนกับเขา อย่าไปอยู่ต่างหาก อย่าไปอยู่หอพักนักเรียนต่างประเทศ ถึงเวลาก็ไปมหาวิทยาลัย ไปฟังเล็กเชอร์ อย่างนั้นไม่ได้ ต้องกินอยู่กับเขา คือพูดง่าย ๆ ต้องฝันเป็นภาษาเขาไปเลย ถึงจะรู้จิตใจเขา และผมคิดว่าผมได้รับความสำเร็จพอสมควร คือผมได้รู้จิตใจแขกก็เพราะอย่างนี้ แต่แขกนี่หมายถึงแขกฮินดู ขอประทานโทษไม่ใช่แขกอิสลาม อิสลามน่ะไปอีกแขนงหนึ่ง มันคนละเรื่องกัน คนละวัฒนธรรม ฮินดูกับผมนี่สนิทกันมากครับ

            ถาม : สมัยที่อยู่ในคุกลาดยาว อาจารย์ได้พูดถึงหนังสือของท่านพุทธทาสเล่มหนึ่งคือ “ธรรมิกสังคมนิยม” มาถึงวันนี้ ในฐานะที่อาจารย์เองผ่านประสบการณ์ในเรื่องการเมืองมามากผู้หนึ่ง อาจารย์คิดว่าในเรื่อง ”ธรรมิกสังคมนิยม” มีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหน?

            ปาฐก : ครับ เรื่องนี้ผมขอตอบด้วยใจจริงว่า เป็นไปได้ ท่านครับ เป็นไปได้ แต่ว่า จะต้องพึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าและคำสอนของท่านอาจารย์ คนเราต้องชำระกิเลสของตนเองให้น้อยลง จึงจะเป็นธรรมิกสังคมนิยมได้ หมายความว่า สังคมนิยมที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไปนั้น ควรจะยึดธรรมะเป็นหลักพื้นฐาน ทีนี้การจะยึดธรรมะเป็นพื้นฐาน มันก็หนีไม่พ้นว่า จะต้องขัดเกลากิเลสของเรา อย่าให้โลภ โกรธ หลง มันมาก จริงอยู่พูดง่าย แต่ทำยาก แต่ถึงทำยากเท่าไร ใจผมนะ ก็คิดว่าต้องค่อย ๆ ขัดเกลาให้กิเลสลดน้อยลงไป และเมื่อขัดเกลาได้เหลือน้อยเท่าไร จะเป็นผลบุญกับเราเท่านั้น และนั้นแหละจะเป็นการก้าวไปสู่ธรรมิกสังคมนิยมเร็วยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ครับพระคุณเจ้า เรื่องนี้ หนังสือเล่มนี้พวกผมในลาดยาวหาไปอ่านกันแยะ อันที่จริงที่ท่านพูดนั้นไม่ผิดเลย ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้เอ่ยอย่างตรง ๆ คือยุคนั้นน่ะมันเป็นอย่างนี้ท่านครับ ยุคนั้นคนไทยเราเข้าใจผิด โดยเฉพาะสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ปกครองบ้านเมืองด้วยอำนาจเผด็จการ คิดว่าคำสอนของสังคมนิยมก็ดี หรือคอมมิวนิสต์ก็ดี มันไม่มีอะไรดีเลย จอมพลสฤษดิ์ก็ล่วงลับไปแล้ว ไม่อยากจะชมหรือติ แต่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นหลักเป็นลัทธิเป็นคำสอนที่คนส่วนมากของโลกเชื่อนี่ ไม่ใช่ของง่ายนะ มันต้องมีอะไรดีครับ ท่านอาจารย์เขียนธรรมิกสังคมนิยมนี่ ท่านก็เอาส่วนดีมาเขียน ท่านหลักแหลมมาก ท่านเอาธรรมะใส่เข้าไป แล้วธรรมิกของท่านก็หมายถึงว่า ธรรมะหรือคำสอนอย่างที่ปรากฏในพุทธศาสนา ขอปฏิบัติตามนี้เถอะ ขอให้เอาธรรมะเป็นหลักเถอะ เอาเป็นพื้นฐานเถอะ ธรรมิกสังคมนิยมจะเกิดขึ้นได้ นี่มันเป็นอย่างนี้ โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า มนุษย์เราจะก้าวไปข้างหน้าไปเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเวลานี้เรารบราฆ่าฟันกันเหลือเกิน ทุกหย่อมโลกมีความขัดแย้งกัน ความขัดแย้งมันไม่ดี แต่พอมนุษย์เรารู้ว่ามันไม่ดียังไง ก็ต้องค่อย ๆ ผ่อนให้มันน้อยลงไป เพราะอะไร เพราะถ้าไม่ผ่อนก็ “หายนะ” กันทั้งหมด อย่างหลัง ๆ เมื่อตอนที่ท่านอาพาธได้สักระยะหนึ่ง ท่านใช้คำขวัญดีเหลือเกิน ท่านบอกว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ” ช่วงนั้นที่ท่านพูดทางวิทยุตอนเช้า วันอาทิตย์หรือวันต้นเดือนท่านจะพูดเรื่องนี้ จริงแน่ ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาละก็ โลกาวินาศแน่ ก็ขอตอบแค่นี้ มีอะไรอีกครับ

            ผู้ถาม :เมื่อพูดถึงอินเดีย ตอนนี้เราคงต้องยอมรับว่าพุทธศาสนาในอินเดียมีสภาพง่อนแง่นคลอนแคลน ในด้านรูปแบบก็อาจเรียกได้ว่าแทบจะ “ล่มสลาย” ไปจากอินเดียแล้ว ทั้งที่อินเดียนั้นเป็นแผ่นดินที่พระพุทธเจ้าประสูติ เป็นชมพูทวีป อาตมาหันมามองที่เมืองไทย สภาพพุทธศาสนาในบ้านเราเอง ปรากฏว่ามีสัญญาณอะไรหรือเปล่าที่มันจะเหมือนกับอินเดีย ที่จะเป็น “จุดเปลี่ยน” จนอินเดียที่เคยรุ่งเรืองสูงสุดในทางพุทธศาสนา ตอนนี้ก็มีสภาพย่ำแย่ สภาพที่มันเปลี่ยนมานี้ อาจารย์จะกรุณาวิเคราะห์ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับอินเดีย แล้วตอนนี้เมืองไทยเราควรจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้กันอย่างไร?

            ปาฐก : ครับ ขอบพระคุณท่านครับ ขอบพระคุณ แหมปัญหานี้ผมไม่ค่อยอยากตอบเลย หลังจากติดคุกการเมืองลาดยาวมา ๘ ปีกว่า ผมมีความรู้สึกว่า ที่เราพูดกันว่า “ความจริงไม่ตาย” นั้นน่ะ จริง แต่มีหลายคนเพิ่มเติมว่า “ความจริงไม่ตายน่ะจริง แต่คนพูดความจริงน่ะตายนะ ตายมาแยะแล้วด้วย”

            ผมถูกจับเป็นคอมมิวนิสต์นี่คงเป็นเพราะ “พูดความจริง” ของผม ผมไม่ได้ยกตนเองว่าเก่งกาจอะไร คือ พูดไปอย่างที่ผมรู้สึก แต่มันไปกระเทือนผลประโยชน์ของคนอื่นเข้าหรือไปกระเทือนความรู้สึกของคนที่เขามีอำนาจเข้า มันแสลงใจเขา แล้วเขาก็เอาปูนหมายหัวผมไว้ ว่าไอ้นี่มันเป็นคอมมิวนิสต์ อะไรทำนองนี้ ฉะนั้นปัญหาที่พระคุณเจ้าถามผมเมื่อตะกี้ ในฐานะที่ผมได้ไปเห็นศาสนาพุทธเสื่อมสลายไปจากอินเดีย แล้วทุกวันนี้ในเมืองไทยเป็นยังไง คือได้เห็นทั้งสองภาพ ภาพที่เสื่อมมาแล้ว ในอินเดียและภาพที่กำลังเห็นอยู่ในเมืองไทย จริง ๆ แล้ว ขอโทษนะ ผมรู้สึกวิตกมากครับ ผมกลัวมันจะเข้ารอยที่ศาสนาพุทธเสื่อมไปจากอินเดีย นั่นคือไสยศาสตร์เข้ามามากเหลือเกิน ไสยศาสตร์เข้ามามากจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ในเมืองไทยเรานี่น่ะแทบจะมองไม่เห็นพุทธศาสตร์แล้ว ฉะนั้น ถ้าถามเรื่องนี้ ผมต้องตอบอย่างระมัดระวัง ผมกลัวว่ามันจะเข้าแบบอินเดีย ใครต่อใครในเมืองเราหลงใหลเรื่องไสยศาสตร์ อมน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก วัตถุมงคล คาถาอะไรต่ออะไรมากมาย หนังสือพิมพ์มีแจ้งความขายพระมากมาย เช่าองค์ละเท่านั้นเท่านี้ ใครมีไว้ครอบครองจะเป็นมงคลอะไรต่าง ๆ ชักชวนให้คนซื้อ พระคุณเจ้าและท่านญาติธรรมทั้งหลาย คงจะทราบดีแล้วว่า หลังจากพุทธปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาของเราได้แยกออกเป็นสองนิกาย คือ นิกาย “หีนยาน หรือ เถรวาท”

            อย่างที่มีปรากฏอยู่ในประเทศไทยของเรานี้ และนิกาย “มหายาน” เช่นที่ปรากฏในทิเบต จีน ญี่ปุ่น และที่อื่น ๆ กาลเวลาล่วงเลยไปหลายศตวรรษ นิกายมหายานได้แตกแยกสาขาออกไปอีก เป็น “วัชรยาน” และ “ตันตระยาน”

            อันเป็นการวิวัฒน์พัฒนาขั้นสุดท้ายของพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่การอวสานของพุทธศาสนาในประเทศนั้น ก็แหละวัชรยานและตันตระยานที่กล่าวถึงนี้ มีหลักคำสอนเป็นประการใดเล่าจึงทำให้พุทธศาสนาปลาสนาการไป จากอินเดียอันเป็นถิ่นกำเนิดของพุทธศาสนาเอง โดยย่อแล้ว ก็เห็นจะต้องกล่าวว่าหลักคำสอนของวัชรยานและตันตระยานนั้น ที่เป็นไปในทางบวกก็คงจะมีอยู่ไม่น้อย แต่กิเลสของคนเราไม่นำพา กลับหลงไปยึดถือหลักคำสอนที่เป็นไปในทางลบ ซึ่งแอบแฝงเข้ามาปะปนในภายหลัง (อันเนื่องมาจากกิเลสของตน) ยังผลทำให้ วัชรยานและตันตระยานผันแปรไป มีคำสอนที่เรียกกันว่า “ม.การ” หรือ “หลักปฏิบัติ ๕ ประการ” ได้แก่ (๑) มัทยะ = สุราเมรัย (๒) มางสะ = เนื้อ (๓) มัตสยะ = ปลา (๔) มุทรา = ท่าทาง และ (๕) ไมถุน = การเสพสังวาส หลัก ๕ ประการนี้ ชาววัชรยานและตันตระยานส่วนใหญ่หลงผิด นำไปยึดถือเป็นสรณะและประพฤติปฏิบัติตามในชีวิต ผลก็คือ พุทธศาสนาต้องถึงแก่กาลอวสานในแผ่นดินถิ่นกำเนิดของตนเอง! ท่านพระเถรานุเถระ และท่านญาติธรรมทั้งหลาย! พุทธศาสนาขั้นสุดท้ายในอินเดียได้ตกต่ำลงถึงเพียงนี้แล้ว ท่านคิดหรือว่าพุทธศาสนาจะอยู่ต่อไปในอินเดียได้ ที่พูดมานี้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นสักขีพยานให้เห็นแม้ในปัจจุบัน ระหว่างที่พุทธศาสนากำลังตกอยู่ในอำนาจของวัชรยาน และตันตระยานอันมี “ม.การ”

            เป็นหลักประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ อิสลามในฐานะเป็นกำลังสำคัญทั้งในทางการเมืองและการศาสนา ได้แผ่เข้าไปในอินเดียจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ และภายในเวลาอันรวดเร็วก็สามารถครอบครองดินแดนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกของอินเดีย ไว้ได้แทบจะทั้งหมด และครองอยู่ได้เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของอิสลามเป็น “ฟาง” ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ “หลังอูฐพุทธศาสนา” พังพินาศลงอย่างยับเยิน ซึ่งอันที่จริง “อูฐ” ตัวนี้ก็ทรุดโทรมด้วยโรคร้าย นานาชนิดรุมทึ้งอยู่ จนแทบจะเอาชีวิตไม่รอดอยู่แล้ว!
             สภาพการณ์ตอนนี้ของอินเดียนั้น ท่านภิกขุ ดร.อานันท์ เกาศัลยายน ได้บันทึกไว้ดังนี้ “ในขณะที่ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและจิตใจกำลังมาสู่ประชาชาติอินเดียทั้งที่เป็นพราหมณ์-ฮินดู และพุทธอยู่อย่างร้ายแรง และในขณะที่จิตใจและสมองของคนกำลังเคลิบเคลิ้มอยู่ด้วยมนตร์ขลังของวัชรยาน-ตันตระยานอยู่นั้น กองทัพอันเกรียงไกรของมุสลิมก็เคลื่อนขบวนมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คล้ายมรสุมใหญ่ที่กำลังมาเพื่อทำความสะอาดสิ่งโสโครกทั้งหลาย บรรดาโบสถ์วิหาร และทรัพย์สมบัติเครื่องบูชาอันมีค่ายิ่งยวด ซึ่งสะสมกันมาเป็นเวลาร้อย ๆ ปี ได้ถูกทำลายพินาศ และปล้นสะดมด้วยน้ำมือของพวกรุกรานมุสลิม ปฏิมาของพระโพธิสัตว์และเทพยดาทั้งชายและหญิง ได้ถูกเหวี่ยงลงจากแท่นบูชา และเผาผลาญไม่มีเหลือ ไม่มีสิ่งใดมีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับนักรบมุสลิมผู้กระหายอำนาจ และทรัพย์สินเหล่านี้ “มนตร์”
และพิธีกรรมต่าง ๆ ของวัชรยาน-ตันตระยาน ที่ผู้คนเชื่อว่า “ขลัง” ยิ่งนักนั้น ปรากฏว่าไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ บรรดา “นักสิทธิ์” และ “ผู้สำเร็จ” องค์สำคัญๆ ต่างพากันยืนงอมืองอเท้าหรือไม่ก็นั่ง “บริกรรม”เวทย์มนตร์คาถากันอยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตา และแล้วแผ่นดินทางอินเดียภาคเหนือ ภาคกลาง ก็ตกไปอยู่ในมือของมุสลิมอย่างราบคาบ”
             “ประวัติพุทธศาสนา”
ของพระลามาตารานาถ บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า “บรรดาภิกษุสงฆ์ เมื่อถูกฆ่าและถูกทำร้ายโดยพวกมุสลิมในคริสต์ศตวรรษ ที่ ๑๒ ต่างก็พากันหนีขึ้นเหนือไปยังประเทศเนปาล ทิเบต นอกประเทศอินเดีย เมื่อไม่มีภิกษุสงฆ์เหลืออยู่ ทั้งโบสถ์วิหารก็ถูกทำลายจนหมดสิ้น จิตใจของพวกฆราวาสพุทธ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผลก็คือ พุทธศาสนิกส่วนใหญ่ได้หันเข้าหาศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นที่พึ่ง เพราะโดยสายเลือดเนื้อและวัฒนธรรมก็มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือก็หันไปนับถือหรือถูกบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมืองอยู่ในเวลานั้น และด้วยประการฉะนี้เอง ที่พุทธศาสนาได้สูญสลายไปจากอินเดีย แผ่นดินถิ่นกำเนิดของตน”