ท่านอาจารย์สวนโมกข์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตและงานของท่านพุทธทาสภิกขุ
โดย
พระโกวิท เขมานันทะ


             เหตุผลที่ผมรับคำเชิญมาพูดเกี่ยวกับท่านอาจารย์สวนโมกข์ ก็มีอยู่ ๒ ประการ

            ประการแรก คือ อยากจะพูดในสิ่งที่อยากจะพูดซึ่งคิดเพียงแต่ว่าจะได้เพิ่มเติมในส่วนที่ตัวเองได้รู้เห็น เพื่อประกอบกับทัศนะ หรือสิ่งที่ท่านทั้งหลาย ได้ยินได้ฟังจากคนอื่น หรือพระภิกษุรูปอื่น เกี่ยวกับชีวิตของท่านอาจารย์

            เหตุผลประการที่ ๒ ก็คือ ผมเองโดยส่วนตัวเป็นหนี้พระคุณท่านอาจารย์มาก ไม่รู้จะตอบแทนด้วยวิธีใดตั้งแต่ท่านสิ้นบุญแล้วก็ยังไม่ได้ลงไปกราบศพ มัวแต่ไปพูดที่โน่นที่นี่ ถือเอาเป็นเสมือนว่าเป็นบุญกิริยา คือ การได้พูดถึงบุคคลที่เรารักเราเคารพ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะเทิดทูนเฉพาะท่านอาจารย์สวนโมกข์คนเดียวเท่านั้น คนอื่นเราไม่นับถือ ผมไม่อยากจะเห็นตัวเองหรือเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ชาวพุทธทั่วไปมีกิริยาอย่างนั้น ซึ่งเป็นอาการยึดมั่นยึดติดในครูบาอาจารย์ของตัว กิริยาเช่นนั้นในพุทธศาสนาถือว่าไม่งาม แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อไปแสดงธรรมจนอุบาสกอุบาสิกาเลื่อมใสแล้ว เปลี่ยนจากการนับถือพวกนิครนถ์หรือไชนะมานับถือท่าน ท่านยังเตือนว่า ให้ทำทานทำบุญกับนักบวชที่เคยนับถือต่อไป

            คำนึงถึงภาษิตจีนบทหนึ่ง ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์และครู สำหรับคนร่วมสมัยหรือคนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะเห็นเป็นสิ่งเร่อร่าไปแล้วก็ได้ "เป็นครูหนึ่งวันเป็นบิดาชั่วชีวิต" คำพูดนี้เราได้ยินบ่อย ด้วยเหตุผลที่ว่าปราชญ์จีนโบราณถือว่าครูนั้นหายากยิ่งนัก เป็นธรรมเนียมของคนตะวันออก เมื่อบุคคลเริ่มออกแสวงหาความรู้แจ้งทางวิญญาณ ประการแรกเขาต้องหาครูของเขาให้พบก่อนปราศจากครูแล้วการงอกงามก้าวหน้าย่อมลำบาก เว้นไว้แต่กรณีของบุรุษชาติอาชาไนย อย่างกรณีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่แม้กระนั้นท่านก็ยังตั้งต้นด้วยครู แม้ว่าครูสอนไม่สมบูรณ์ก็ตาม ท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้นเคยปรารภให้ผมได้ยินอย่างน้อย ๒ ครั้ง เรื่องเกี่ยวกับครู ท่านใช้คำว่าผมเพราะว่าผมเองเป็นนักบวชตอนนั้น ท่านไม่ใช้คำว่าอาตมา ครูของผมคือ นายคลำ นั่นคือการทดลองความจริงแห่งชีวิต คลำทางไปโดยลำดับ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้น ต่อวิถีทางของท่านอาจารย์สวนโมกข์

            การมีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดมากมาย แต่แล้วความคิดอันนั้นก็ว่างเปล่าเหมือนฟองน้ำที่เหือดแห้งไป ถ้าปราศจากการทดลอง ในหนังสืออัตประวัติของมหาตมคานธี ประโยคแรกนี่สำคัญมาก แม้โดยทั่วไปเราทราบว่ามหาตมคานธีเป็นนักการเมืองเป็นผู้นำ แต่แล้วท่าน เองเรียกตัวเองว่าเป็นนักศาสนา "ข้าพเจ้าทดลองชีวิตทางศาสนาในสนามของการเมือง" จิตสำนึกของมหาตมคานธีนั้นเป็นนักศาสนา เป็นผู้ปฏิบัติศาสนธรรม ผมคิดว่าจิตสำนึกที่นำบุคคลไปสู่ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ต้องพินิจพิเคราะห์เป็นเบื้องแรก

            กรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเรารู้ว่าพระองค์ท่านเป็นวีรบุรุษของชาติ รวมชาติบ้านเมืองที่แตกสลายให้คืนสู่เอกภาพ คำถาม คือ เพราะอะไรพระเจ้าตากจึงประสบชัยชนะทั้ง ๆ ที่เป็นสามัญชน ในขณะที่เชื้อพระวงศ์ที่เป็นทายาทสายตรงก็เป็นหัวหน้าก๊กหนึ่งด้วย แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จิตสำนึกที่นำพระเจ้าตากไปสู่ชัยชนะก็คือความจงใจที่จะรวมไทยอีกหนหนึ่งนั่นเอง

            ความดำริที่จะรวมไทย ในขณะที่เจ้าก๊กอื่น ๆ นั้นฉวยโอกาสไขว่คว้าเอาบางส่วน ในช่วงที่ประเทศบ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยง จิตสำนึกที่สัตย์ซื่อต่อชาติต่อเกียรติภูมิของบ้านเมืองนี้นำไปสู่ชัยชนะในที่สุด นั่นไม่ได้หมายถึงแค่รวมประชาชนทั้งหมดด้วย จิตสำนึกเช่นนี้สำคัญนัก แต่ว่าเอาชนะใจประชาชนทั้งหมดด้วย จิตสำนึกเช่นนี้เช่นนี้สำคัญนัก มหาบุรุษทั้งหลายหรือบุรุษชาติอาชาไนย ย่อมรักษาจิตดวงแรกที่เปี่ยมกุศลสำนึกไว้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

            ท่านอาจารย์สวนโมกข์ก็เหมือนกัน ภายหลังนั้นท่านพูดกับผมว่า ที่จริงผมไม่ใช่คนมีความรู้ความสามารถอะไร แต่ผมมีสิ่งหนึ่งคือผมจริงเสมอ ท่านพูดอย่างนั้นแล้วเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่ท่านเทศนา ท่านได้กระทำแล้วอย่างจริงจัง พระภิกษุโดยทั่วไปมักจะพูดเล่นพูดหัวพูดให้โยมติดอกติดใจ แต่ว่าท่านอาจารย์เวลาเปิดมิติแห่งการเทศนานั้น บางทีเราใจเต้นระทึกกลัวท่านจะพูดอะไรที่เราไม่อยากได้ยิน ซึ่งเป็นนิสัยของเรา ที่ไม่อยากให้ใครมาเจาะแทงเข้ามาในหัวใจของเรา เหมือนกับว่าน้องสาวหรือเพื่อนบอกเราว่า เธอมันโง่ เราจะไม่ชอบทั้ง ๆ อาจจะเป็นเรื่องจริง บทบาทของท่านอาจารย์สวนโมกข์นับตั้งแต่วันแรกของการตั้งสวนโมกข์ และปีนั้นเป็นปีประเดิมของการชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญา

            ประเทศนี้นับตั้งแต่ราชอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งปกครองด้วยระบบพ่อเมือง บิดาปกครองบุตร จนกระทั่งอยุธยา ด้วยระบบเทวสิทธิ์จนกระทั่งรัตนโกสินทร์ด้วยระบบสมมุติเทพ หรือกินรวมไปถึงสมัยศรีวิชัยด้วยแล้วนับเวลาได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษ ๑,๐๐๐ กว่าปี ที่อำนาจเด็จขาด ศูนย์รวมของอำนาจอยู่ในกำมือของพระมหากษัตริย์ในรูปหนึ่งรูปใด ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นปีที่ประเทศเรามีประสบการครั้งใหม่ คือช่วงแห่งการโนถ่ายอำนาจรัฐ จากการศูนย์รวมไปสู่คณะราษฎร์ สิ่งนี้ถ้าฐานะของผู้รับรู้เป็นนักเรียนนอก เช่นนายทหารที่เคยไปเรียนฝรั่งเศสก็ไม่แปลกอะไร เพราะเอารู้ว่าอำนาจตกถึงมือประชาชนได้ เขามีประสบการณ์ในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ผู้ที่ไม่เคยไปเรียนเมืองนอกอย่างท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น นับเป็นสิ่งใหม่ทีเดียว และผมเชื่อว่าผู้ที่มีพลังสร้างสรรค์ ซ่อนอยู่ในตัว ในช่วงนั้นคงเกิดการเคลื่อนไหวในกระแสความรู้สึกนึกคิดว่ามันอะไรกันนี่ ที่ภาษาโรมันเขาว่า โควาดิส แปลว่าจะเอาทางไหนกันแน่ เมื่ออำนาจที่เคยอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์ ถูกโอนถ่ายไปสู่คณะราษฎร์ซึ่งเป็นอะไรก็ไม่รู้ในความรับรู้ของคนไทยทั่วไป ดังนั้นเองผู้ที่มีพลังอยู่ในตัวจำต้องแสวงหาความจริงด้วยเหตุผลข้อนี้กระมัง ที่มหาเงื่อมซึ่งอยู่ในวัยท้าทายทางภูมิปัญญาและการค้นหานั้น นำสวนโมกข์เข้าสู่ยุคแสวงหาหลักธรรมจากพระคัมภีร์ปิฎก และการปฏิบัติตนเสมือนแปลกประหลาด พึ่งตนเองในกระแสธรรมชาติในช่วงชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญานั้น

            อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ท่านอาจารย์พุทธทาสมอบหมายให้ พระโกวิท เขมานันทะ เป็นผู้ปั้นขึ้นไว้เป็นสื่อสอนธรรมะ รูปปั้นนี้ขยายจากองค์จริง ซึ่งค้นพบที่ไชยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในยุคศรีวิชัยนั้น ตามบ้านเรือนโดยทั่วไป จะมีรูปปั้นนี้ไว้บูชา เพื่อระลึกถึง องค์คุณของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ  

            ชื่อของสวนโมกขพลาราม บอกว่า เป็นอารามสวนป่าที่ให้พลังต่อวิมุติ นี่คือจิตดวงแรกที่ท่านตั้งปณิธานไว้ ผมเชื่อว่าถึงปัจจุบันนี้ปณิธานอันนี้ได้บรรลุถึงตามที่ท่านตั้งไว้แล้ว ตามระดับของท่าน ผมไม่ได้ใช้ประโยคว่าดีที่สุดในโลก ไม่มีใครทัดเทียม ไม่ใช่อย่างนั้น จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะได้เข้าใจอุปนิสัยของท่าน ก็คือท่านเป็นคนจริง และก็จิตดวงใดตั้งไว้แล้ว ก็ต่อสู้เพื่อรักษาจิตดวงแรก ที่ตั้งปณิธานไว้ ให้บรรลุเป้าหมายให้ได้

            ครั้งหนึ่งผมเคยเรียนถามท่าน เมื่อสมัยผมเองยังเป็นนักบวช ด้วยความท้อแท้ ระอา หรือจะพูดว่าเบื่อหน่ายพรหมจรรย์ ว่าการบวชช่างเต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์มาก ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ชอบธรรมะ แต่ว่าเมื่อต้องปฏิบัติต้องควบคุมตัวเอง ต้องอดกลั้นนี่มันลำบากมาก เราชอบธรรมะ แต่ไม่ชอบระเบียบอะไรที่มันบีบคั้นมากเกินไป ผมสอบถามท่าน ด้วยความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของท่าน ท่านกลับให้คำตอบเสมือนที่พระพุทธเจ้าให้คำตอบกับพราหมณ์ ซึ่งเข้าใจผิดในทางดีต่อพระองค์ อาจารย์ท่านบอกว่า เปล่า ผมไม่ได้แข็งแกร่งอะไร ผมคิดจะสึกตั้งหลายครั้งนะคุณรู้หรือเปล่า นี่เป็นการบอกอะไรบางสิ่งที่ตรงไปตรงมา สัตย์ซื่อต่อความเป็นจริง ที่จริงท่านจะคุยโวทับเสียก็ได้ว่า ท่านแกร่ง ซึ่งผมก็เชื่ออยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่พราหมณ์คนหนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เป็นสัพพัญญู ตลอดทุกขณะไหม คือรู้แจ้งอะไรทุกอย่างไหม แทนที่พระพุทธเจ้าตอบว่าใช่ ท่านบอกว่าเปล่า ท่านบอกว่าตถาคตไม่ได้เป็นสัพพัญญู รู้แจ้งเห็นจริงตลอดทุก ๆ ขณะ พราหมณ์ก็ยังคิดเข้าข้างว่าก็แล้วทำไม เมื่อถูกถามปัญหาคราวไร พระองค์ท่านตอบได้ทันทีราวกับว่ารู้อยู่แล้วล่วงหน้าเล่า? พระพุทธเจ้าท่านทรงอธิบายว่าเนื่องจากจิตท่านบริสุทธิ์ เมื่อโน้มไปสู่ปัญหา ๆ ก็แตกออก เนื่องจากมนุษย์เรานั้นมีอาสวะห่อหุ้ม ดังนั้นมีความเชื่องช้าทางภูมิปัญญา ปัญญาไม่แล่น ส่วนพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์นั้นก็ไม่ได้รู้คำตอบอยู่ล่วงหน้า นี่คือบุคคลที่มีเกียรติในตัวเอง ในบรรดาผู้นำในทางจิตวิญญาณ มีพระองค์เดียวที่โดดเด่นในความสัตย์ซื่อต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่อ้างตัวว่าเป็นเทพเจ้า ไม่อ้างเรื่องอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ว่าไม่อ้างตัวเองเป็นประตูธรรมซึ่งทุกคนต้องเดินผ่าน นั่นเป็นเกียรติยศในความสัตย์ซื่อ

            ท่านอาจารย์สวนโมกข์ก็มีจริยาอย่างนั้น ท่านบอกอะไรตรง ๆ และสาเหตุของการคิดจะสึก ก็เป็นเรื่องน่าขบขันทั้งสิ้น คือเห็นคนเขาถือปืนมายิงนกในวัด ท่านเล่าว่าผมนึกสนุกอยากจะไปหาปืนสักกระบอก ยิงนก มันบอกถึงจิตที่ซุกซนคิดนึก แต่แล้วนั่นเป็นเพียงรูปของความคิดที่ผ่านเข้ามา ส่วนสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าดูแลครอบงำไว้ได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ผมคิดว่าเราน่าจะเรียกว่าบารมี ในความหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนา ไม่ใช่ในความหมายของความเป็นเจ้าพ่อหรืออันธพาล ซึ่งเรานำมาใช้ผิด ๆ เสียแล้ว ปวงพระศาสดาในอดีต ไม่ว่าเป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่หรือศาสดาพยากรณ์ ซึ่งเป็นศาสดาที่มาเพื่อป่าวประกาศท้าทายอำนาจรัฐต่าง ๆ นั้นน่าจะมีอุปนิสัยหนึ่งก็คือความเป็นบุรุษชาติอาชาไนย เมื่อปฏิบัติแล้วก็ต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนสำหรับเราท่านผู้มีบุญ คือได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี แต่เราอาจจะด้อยในทางวาสนาที่จะได้ทำการกุศลใหญ่หลวงก็ได้ คือเรามีบุญแต่ว่าบารมีไม่หนุน ผมคิดว่าคนโบราฯผู้เป็นสัตบุรุษของไทย เขาพูดเขาคิดดีมาก ท่านคงได้ยินคำว่า "บุญพาสาสนาส่ง" ใช่ไหมครับ คือ "บุญพาสาสนาส่ง" การไปพระนิพพานนั้นต้องอาศัยบุญและวาสนา บุญมีหากแต่บารมีไม่ถึงเขาพูดอย่างนี้

            ที่จริงแล้วผมต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ในการพูดถึงใครคนใดคนหนึ่งให้ถูกต้องบริบูรณ์นั้น เราทำได้ยาก

            ผมเองเมื่อต้องพูดเกี่ยวกับพระเดชพระคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น ตะครั่นตะครอทีเดียว เพราะไม่รู้จะพูดออกรูปไหน ตั้งท่าจะพูดในเชิงวิชาการ คิดทบทวนไปทวนมาคิดว่า มันอาจจะมีประโยชน์ แต่ว่าผู้อื่นคงพูดได้ดีกว่าผมแน่ ดังนั้นก็คิดว่า ช่วงหนึ่งผมใช้ชีวิตร่วมกับทาน ในช่วงก่อนหน้าที่โลกจะขานรับ และช่วงหลังจากโลก หรือประเทศชาติ หรือในเอเชียนี้ ขานรับท่านแล้ว น่าจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังได้ สำหรับผมนั้นไม่ว่าโลกจะขานรับท่านหรือไม่ขานรับ ท่านยังเป็นท่านอาจารย์เหมือนเดิม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และไปผ่านสวนโมกข์ที่ไหนก็แวะเข้าไปนั่งถามปัญหาเรื่อยไป โดยไม่ได้รู้สึกว่า ท่านยิ่งใหญ่ หรือท่านเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการพุทธธรรมอะไร ผมคงจะต้องนำเกร็ดเล็ก ๆ น้อยมาเล่า แทนที่จะเป็นวิชาการ แต่นั่นย่อมหมายถึงว่าเป็นอัตวิสัยของผมด้วย เพราะว่าผมเป็นผู้เล่า มีข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่มีคนกล่าวกันว่า เมื่อนักเขียนเล่าอัตประวัติของตัวเองแล้ว จะมีความจริงน้อยกว่าเรื่องที่เขาแต่งขึ้นเสียอีก เพราะเขาได้วางกลไกป้องกันตัวไว้หลายจุดทีเดียว ผมเองไม่ใช่นักเขียน แต่ว่าจะเล่าเพื่อท่านจะได้ข่าวสารเกี่ยวกับบุคลิกภาพ อุปนิสัย ชีวิตส่วนตัว และการทดลองความจริงของท่าน .....

            มีคนเคราะห์ร้ายไม่ใช่น้อยที่ลงไปสวนโมกข์ แล้วไปเห็นอากัปกิริยาของท่าน แล้วเข้าใจไม่ได้ เช่นเลี้ยงไก่เต็มวัด หรือเลี้ยงปลารอบกุฏิ หรือเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดี อาจจะเข้าใจผิดว่า แหม ท่านรักสวยรักงาม หรือเป็นอยู่ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ผู้มั่งคั่งเสียอีก โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น ข้อเท็จจริงคือ ท่านอาจารย์นั้นอุทิศเวลาช่วงหนึ่งนั้นสำหรับแปลพระคัมภีร์ แล้วผมจำได้ถึงวันคืนทุกข์ยากของท่านบิณฑบาต ท่านออกบิณฑบาตรับข้าวสวยจากชาวบ้านพร้อมกับน้ำแกง เพื่อให้ฉันแล้วมีแรง นั่งแปลคัมภีร์ที่เราอ่านกันแพร่หลายนั้นเกิดจากวิธีการอันนี้ เมื่อช่วงไหนที่แปลถึงคำพูดของพระพุทธเจ้าในบาลีว่า ตถาคตเป็นไก่ผู้พี่ที่เกิดออกจากฟอง เจาะฟองออกมาก่อน ท่านอาจารย์นั้นก็เลี้ยงไก่ ท่านเลี้ยงเพื่อจะดูสิ่งเหล่านี้ ไก่ออกลูกออกหลานเป็นร้อย ๆ ตัว ทีนี้คนไม่เข้าใจคิดว่า แหม ท่านรักสวยรักงาม เลี้ยงสัตว์เลี้ยงสวย ๆ งาม ๆ แม้แต่เรื่องสุนัขหลายกัณฑ์ทีเดียวของเทศนาล้วนออกมาจากการสังเกตชีวิตของสุนัข เช่น ศัพท์สำนวน "ยกหูชูหาง" ก็คือสุนัขเวลาจะกัดกันเนื่องจากแย่งชิงความสำคัญต่อกันและกัน

            ผมได้เกริ่นแล้วว่าช่วงปี ๒๔๗๕ นั้นเป็นช่วงชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญา ไม่ว่าอาจารย์ปรีดี หรือแม้แต่คนแผลง ๆ อย่างนายนรินทร์กลึง (นรินทร์ภาษิต) ก็ตาม นั่นเป็นปฏิกิริยาในช่วงโอนถ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งแต่ละคนไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคมนี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก ท่านอาจารย์ก็เหมือนกัน ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวเองของท่านเป็นเหตุให้ค้นพระคัมภีร์ จากความรู้ภาษาบาลีในแค่เปรียญ ๓ สอบตกเปรียญ ๔ ซึ่งต่อมาภายหลังท่านไม่ยอมรับว่าท่านตก ท่านบอกผมว่ากรรมการต้องตรวจผิดแน่ ๆ

            ในช่วงของชิงชัยความเป็นผู้นำทางปัญญานั้นเองที่ได้เพาะสร้างบุคลิกภาพแปลกประหลาด ท่านคงได้ยินข่าวนะครับว่า ผู้คนรอบสวนโมกข์เก่า คือวัดตระพังจิก ถือว่ามีพระบ้ารูปหนึ่งไปอยู่ ไม่ค่อยพูด พูดน้อย ถ้าท่านเทียบภาพกับปัจจุบันนี้ ท่านเรียกตัวท่านเองว่าหมาบ้าหรือสุนัขปากร้าย ช่วงของการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพจากความเงียบขรึม สุขุม ลุ่มลึก นิ่ง สงบ ไม่พูด มาสู่การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา และแรงกล้า หรือถึงขั้นที่บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องก้าวร้าวต่อโลกและต่อสังคม ช่วงการเปลี่ยนบุคลิกภาพอันนี้ ถ้าเรามองที่ท่าน เราอาจจะมองในแง่ลบว่าท่านเปลี่ยนไปมาก ผมเองเคยมองผิดไป เดี๋ยวนี้ผมมองใหม่แล้ว ผมมองว่าปฏิกิริยาของท่านก็เป็นสิ่งสะท้อน เป็นดัชนีชี้บ่งถึงสังคมไทยซึ่งฟอนเฟะได้ส่วนกันทีเดียว ท่านรุนแรงขึ้นทุกที จนกระทั่งเรียกตัวเองว่าสุนัขปากร้าย คนที่ขวัญอ่อนเกินไป เมื่อไปเจอท่านเข้าลำบากแน่ หลายครั้งหลายหนที่ปฏิกิริยานั้นแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จนผู้ที่ไม่ค่อยคุ้นกับวิถีทางเช่นนี้รับไม่ได้และไม่ไปที่นั่นอีกเลย

            ท่านอาจารย์เคยถูกโจมตีใส่ร้ายป้ายสีอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกมหายาน เราถือกันว่าพวกมหายานเป็นพวกนอกรีต โปรดอย่าเข้าใจเช่นนั้น มหายานนั้นเป็นยานที่สูงส่งทีเดียว ถ้าเราศึกษาเข้าแล้วเราจะพบว่า ทุกสิ่งที่หินยานมี มหายานก็มี การแบ่งเป็นมหายาน หินยานนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ไล่ลำดับปริบทเรื่อยเท่านั้นเอง ดังนั้นผู้ที่มีจิตใจเปิดกว้างอย่างท่านอาจารย์นั้นท่านไม่ยอมหยุดอยู่เฉพาะหินยาน ศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เราจะสร้างขึ้นเองได้ เราต้องศึกษาเข้าไปสู่รากเหง้าที่มาของพระวจนะที่แท้จริงนั้น

            จุดเด่นของวิถีทางของท่านอาจารย์ก็คือ ท่านไม่เพียงเข้าใจโลกแห่งการแปรเปลี่ยน ท่านเข้าใจชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง แต่มีบางพวกบางเหล่าหรือว่าบางท่าน อาจจะเข้าใจเฉพาะลักษณะซึ่งแปรเปลี่ยนที่เรียกว่า อนิจจัง แต่ไม่เข้าใจลักษณะของการสืบต่อของพระพุทธศาสนาก็ได้ สำหรับท่านอาจารย์นั้นท่านเข้าใจทั้ง ๒ ด้าน การให้ความหมาย บทสวดมนต์และคำนิยามใหม่ พิธีกรรมต่าง ๆ ท่านรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยน เพื่อให้เข้ากับสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การพัฒนาอันมีเทคโนโลยีเป็นใหญ่ หรืออะไรก็สุดแท้ แต่พร้อมกันนั้นท่านไม่ได้ละทิ้งแก่นสารของอดีต ครั้งหนึ่งท่านพูดกับผมว่า ที่จริงสิ่งที่ผมสอนนี้สามารถตั้งนิกายใหม่ได้ แต่ผมจะไม่ทำ ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้าก็ดี เคารพในปราชญ์ครั้งอดีต ท่านเป็นคนสุภาพอ่อนโยนยิ่ง แต่ภาพที่ออกมาล้วนแล้วแต่ทำให้รู้สึกตรงกันข้าม บางคนสั่นหน้า ส่ายหน้า เพราะว่าคำพูดซึ่งตรงไปตรงมา ค่อนข้างก้าวร้าว นี่คือสิ่งที่ผมพยายามที่จะเล่าให้ฟังถึงช่วงแห่งการเปลี่ยนบุคลิกภาพของท่าน มันสะท้อนถึงสังคมไทย ซึ่งหันเหและสับสน ข่ายญาณของท่านผู้นี้หากใครติดตามวาทะของท่านมาตลอด จะพบว่าท่านรู้ทันโลก, ชีวิต ท่านไม่ใช่เป็นภิกษุที่อยู่ป่า แล้วศึกษาพระคัมภีร์ พูดโวหารแบบพระเทศน์บนธรรมมาสน์ แล้วไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสังคมการเมือง

            ประมาณช่วงหลังปี ๒๕๐๐ ที่เรียกกันว่ากึ่งพุทธกาล องค์การสหประชาชาติได้ประจักษ์แจ้งขึ้นมาว่า ปัญหาเรื่องการทวีของประชากร จะเป็นปัญหาหลักในอนาคต อาหารจะไม่เพียงพอ จึงเกิดโครงการใหญ่ซึ่งเรียกว่า ปฏิวัติเขียว ในช่วงนั้นเป็นโครงการซึ่งทุกคนปลาบปลื้มกันมาก จนกระทั่งผู้ที่ค้นคิดยาปราบแมลงที่เรียก ดีดีที นั้น ได้รับรางวัลโนเบล เพราะค้นพบกันว่าแมลงทำลายปริมาณของอาหารไป ดังนั้นถ้าจัดการกับแมลงได้แล้ว อาหารก็จะพอเพียงกับจำนวนประชากรซึ่งทวีขึ้นอย่างน่ากังวล เดี๋ยวนี้เราะประจักษ์ชัดว่าปัญหาเรื่องดีดีทีนั้น มันทำท่าจะฆ่ามนุษย์เอาเสียแล้ว การปฏิวัติเขียวครั้งนั้นไม่ใช่คำตอบ เรารู้กันแล้วว่ามันเป็นปัญหาหนัก ช่วงนั้นผู้ค้นพบดีดีทีนั้น ในฐานะเป็นนักวิชาการนั้นสัตย์ซื่อต่อวิชาการก็ได้รับรางวัลโนเบลไป ไม่มีใครสงสัยในด้านลบของการใช้ดีดีที แต่ก็หาได้พ้นข่ายญาณของท่านอาจารย์สวนโมกข์ไปได้ไม่ ในช่วงที่โลกกำลังปลาบปลื้มกับปฏิวัติเขียว อาจารย์ท่านประณามอยู่ตลอดเวลา คือท่านระแวงว่าสิ่งนี้มันจะนำอะไรมาสู่มนุษย์ก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้เรารู้กันแล้วครับว่า ทุกวันเรากินสารพิษเข้าไปมากมาย

            ในช่วงที่ท่านกำลังต่อสู้และกำลังปรับเปลี่ยนทั้งทัศนะและบุคลิกภาพนั้นเอง เป็นช่วงซึ่งมีปัญหากับสถาบันสงฆ์มาก สถาบันสงฆ์ค่อนข้างรังเกียจพระหนุ่มรูปนี้ เพราะมีความคิดแปลกประหลาด พูดอะไรไม่เหมือนเพื่อน โจมตีพระพุทธรูปว่าเป็นภูเขาแห่งพุทธธรรม แต่ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วนั้น ท่านอาจารย์เป็นคนซาบซึ้งในพระพุทธรูปมาก ผมบอกได้เลย บางครั้งนั่งคุยกับผมเป็นชั่วโมง เรื่องความงามของพระพุทธรูป นั่นคืออีกด้านหนึ่งซึ่งละเอียดอ่อนและลุ่มลึก แต่ส่วนที่ท่านต้องแสดงออก ก็เพราะว่าเป็นปฏิกิริยาต่อคนทั่วไปที่ยึดถือพระพุทธรูปราวกับเป็นเจว็ดนั่นเอง ไม่ได้มองไปสู่สัญญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ เหนือเศียรพระพุทธรูปมีสิ่งพวยพุ่งขึ้นไปข้างบนเรียกว่า ประภามณฑล หรือศิรประภา เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้อันสมบูรณ์ พระพุทธรูปไม่ใช่รูปเคารพ แต่เป็นสัญลักษณ์ของมณฑลธรรมอันโชติช่วง มีเรือนแก้ว เรือนแก้วหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ความใส่ใจในเรื่องความงามและศิลปะต่าง ๆ ของท่านอาจารย์มีอยู่อย่างมาก อาจจะไม่มีใครได้รับทราบว่า ท่านร้องเพลงไทยได้มากหลายเพลง จำได้มากแต่บทบาทที่แสดงออกต่อสังคม ดูตรงกันข้าม

            ผมให้ข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมนี่จะมี ๒ ลักษณะเสมอไป คือสิ่งที่เราแสดงออกสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องของการรู้จักกาลเวลา สถานที่ โอกาส และบุคคล แต่ลึก ๆ ในส่วนตัวของท่านนั้น เราจะพบอีกหลายแง่มุมทีเดียว คณะสงฆ์เคยตั้งข้อรังเกียจกับท่าน มีพระเถระน้อยรูปมากที่เข้าใจท่าน ผมจะระบุถึงได้สักองค์หนึ่งคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ าณวโร) วัดเทพศิรินทร์องค์หนึ่ง ที่รักและเข้าใจท่านอาจารย์มาก สมเด็จพระสังฆราชที่อยู่ที่วัดเบญจะ ถึงกับเรียกท่านเข้ากรุงเทพฯ แล้วสั่งห้ามสอนพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านอาจารย์ก็บ่นให้ฟังว่า ที่จริงผมก็ไม่ควรสอนจริง ๆ ด้วย เพราะว่ามันอันตราย แต่ว่าท่านบอกว่า ผมเป็นคนดื้อ ถ้าสิ่งไหนถูกแล้วผมจะดื้อทันที นี่คือนิสัยของท่าน ท่านก็สอนจนได้และสอนจนกระทั่งวันสุดท้าย

            แต่แล้วในช่วงฉัฏฐสังคายนา คือ การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศพม่า พระภิกษุเงื่อม ซึ่งถูกรังเกียจจากคณะสงฆ์นั้น กลับเป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ไทย ไปประชุมระดับนานาชาติที่นั่น ทั้งนี้เพราะว่า นายกรัฐมนตรีของพม่าเวลานั้นคือ อูนุ ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ระบุผ่านคณะสงฆ์ขอให้เอาพระรูปนี้ไปประชุม มันเป็นเสียอย่างนี้ เหมือนคำพูดในพระคัมภีร์บอกว่า พระศาสดาจะไม่ประสบความสำเร็จในท้องถิ่นของตัว ผมไม่ได้หมายถึงท่านอาจารย์เป็นศาสดา แต่ผมคิดว่าบุคลิกภาพของท่านนั้น คล้ายคลึงกับศาสดาพยากรณ์ในครั้งอดีต ผมหวังว่าคงเข้าใจความหมายของคำว่า ศาสดาพยากรณ์ ที่เรียกว่า Prophet ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลาย ล้วนต้านอำนาจรัฐต้านความชั่ว และพยากรณ์หายนภัยอันเกิดแต่การปฏิบัติอสัตย์ธรรม ของปวงผู้นำและผู้สนับสนุน

            ท่านอาจารย์นั้น แม้จะอยู่ในฐานที่เป็นปราชญ์อยู่ในความทรงจำในช่วงหลังของสังคมไทยแล้วก็ตาม แต่ท่านยังเอ่ยถึงบุคคลที่ท่านเคารพด้วยจิตใจบ่อยครั้ง ผมคิดว่ามีบุคคลอยู่ ๒ คน ที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตของท่านคนแรกนั้นเป็นเจ้า คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านพูดถึงบ่อย ถึงความมีจริยาวัตรอันงดงาม ความเป็นนักปราชญ์ ความศรัทธามั่นในพุทธศาสนา แม้สึกจากพระไปแล้วก็ยังเอาบาตรและจีวรเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนตนอะไรเหล่านี้ ซึ่งท่านพูดถึงในแง่ดีบ่อยมาก นั่นเป็นไปได้ทีเดียวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เป็นต้นแบบให้ท่านในช่วงหนึ่ง เพราะท่านยังหนุ่มน้อยอยู่มากเมื่อสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จลงไปศึกษาและรวบรวมวัตถุโบราณทางใต้

            บุคคลที่สอง เป็นคนที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน มีอิทธิพลเหนือชีวิตของท่านอย่างมากก็คือ มารดาของท่านเอง บุคลิกภาพบางอย่างเกิดจากแม่ของท่าน เช่นท่านเล่าว่า แม่ของท่านนั้นเป็นคนละเอียดอ่อน เมื่อใช้ให้ท่านหุงข้าวแล้ว เห็นนั่งเฝ้าไฟนั่งดูหม้อเดือด แม่ท่านจะเตือนบอกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ใช้ทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง ทำไมไม่ทำล่ะ เราจะเห็นว่า นิสัยส่วนนี้ท่านติดมาจากมารดาของท่าน แล้วท่านเองก็สารภาพว่า ผมสู้น้องชายไม่ได้ ครูธรรมทาสนั้นละเอียดอ่อนกว่าท่านมาก ชาวไชยาโดยเฉพาะที่ตลาดนั้น เลื่อมใสครูธรรมทาสมากกว่าท่านอาจารย์สวนโมกข์ มีคนพูดกันว่าท่านอาจารย์สวนโมกข์น่าจะเป็นอุบาสก แล้วครูธรรมทาสน่าจะเป็นพระมากกว่า ทั้งหมดนี้อย่าถือสาคำพูด ก็ใครคิดอย่างไรก็พูดกันไป .....

            นับตั้งแต่เรารับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากลังกาเข้ามาแล้วสืบสานกันกินเวลาได้ประมาณ ๘๐๐ ปีเศษ ปรากฏการณ์เช่นนี้นับเป็นสิ่งแปลก ในยุโรปหรือที่อื่นเมื่อรับศาสนาหนึ่งศาสนาใดแล้ว กินช่วงเวลาไม่เกิน ๓๐๐ ปี ก็ถึงยุคมืด คือยุคไร้ศาสนา แต่สำหรับประเทศไทย นี่เป็นเรื่องแปลกประหลาดเมื่อรับพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ตั่งมั่นอยู่ได้อย่างต่อเนื่องเหมือนต้นไม้ที่งอกแทงรากลึกแผ่กิ่งก้านกว้าง นับตั้งแต่พระราชอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีนักปราชญ์หรือสมณะรูปหนึ่งรูปใด ที่กล้าตีความพระพุทธวัจนะอย่างตรงไปตรงมา และอย่างเข้มข้นและจริงจัง ถ้าจะให้ผมพูดโดยส่วนตัวก็คือ มีท่านอาจารย์สวนโมกข์นี่แหละครับ ที่เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศนี้ นักบวชทั่ว ๆ ไปในลำดับของประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาในอดีต เขาจะถ่อมมากต่อการเทศนา รูปแบบของการเทศนาบนธรรมมาสน์ท่านจะพบว่า เมื่อพระภิกษุขึ้นนั่งบนธรรมมาสน์แล้วได้รับการอาราธนาแล้วก็ตั้ง นะโม ตัสสะ แล้วตั้งนิกเขปบท คือบทย่อเอาพระพุทธวัจนะที่เป็นบาลีขึ้นตั้ง แล้วก็จะแสดงความถ่อมว่า ณ บัดนี้อาตมาภาพจะแสดงธรรมเทศนา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ว่าเอาเองนะ คล้าย ๆ ทำนองนั้น ไม่กล้าแตะ ไม่กล้าใช้ความรู้สึก ที่ซาบซึ้งหรือความรู้สึกที่ออกมาจากเนื้อในของชีวิตของตัว เข้าไปอธิบายสิ่งนั้น ดังนั้นพุทธศาสนาเถรวาทจึงแตกตัวออกในลักษณะของสถาบัน มีลักษณะของทางวิชาการ พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรม แทนที่จะเป็นวิถีทางของการทำให้เข้าถึง และความดับทุกข์ สมดังเจตนารมณ์ในเรื่องอริยสัจ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว มันต้องเป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่วิถีแห่งวัฒนธรรม เราพบว่า บุคคลอาจจะมีท่าทีทางวัฒนธรรมสูง แต่เขาอาจจะไม่ได้จริงใจก็ได้ เหมือนเวลาฝรั่งมาเราก็รำไทยให้เขาดู ถึงเวลาจริง ๆ เราก็ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของเรา แต่เราแสดงออกวัฒนธรรมของเราเพียงเพื่ออวดว่าเราเป็นชาวพุทธเท่านั้น

            สำหรับท่านอาจารย์ท่านไม่เป็นอย่างนั้น ด้วยความรู้ภาษาบาลีประการหนึ่ง โดยการภาวนาอย่างต่อเนื่องเป็นประการที่สอง และอีกประการสำคัญมาก ซึ่งเป็นบาทฐานที่ทำให้งานทั้งหมดของท่านอาจารย์ เกิดเอกภาพ และผิดแผกจากคณาจารย์องค์อื่น ก็คือการใช้ชีวิตซึ่งแนบสนิทกับธรรมชาติ อันนี้ตราไว้ได้เลย ขีดเส้นใต้ตรงนี้ว่า ตลอดช่วง ๘๐๐ กว่าปี รูปแบบพุทธศาสนานั้นค่อนข้างเป็นราชสำนักในบ้านเมืองเรา ค่อนข้างเป็นระเบียบ เป็นวัฒนธรรมที่สูงส่ง แต่ว่าอาจจะห่างไกลวิถีทางแห่งธรรมชาติ

            มีความนัยที่ลุ่มลึกอยู่อันหนึ่งในเรื่องนี้ในประเด็นนี้ก็คือ มนุษย์เราไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งในกระแสธรรมชาติอันไม่รู้สิ้นสุดเท่านั้น แต่มนุษย์นั้นยังเป็นอันหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วย ข้ออ้างอันนี้ผมอยากจะพูดว่าสำคัญมากตรงที่ว่า เมื่อมนุษย์คิดว่าตัวเองเป็นนายเหนือธรรมชาติในช่วงที่มนุษย์เลวร้ายมนุษย์ก็ทำลายธรรมชาติ เหมือนที่เรารู้กันอยู่เวลานี้ว่าเป็นวิกฤติการณ์แทบจะถาวรแล้ว ในช่วงที่มนุษย์มีสำนึกขึ้นมาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็จะเกิดการอนุรักษ์ จิตแห่งการทำลายและจิตอนุรักษ์นี่มันเป็นหยิน-หยางหมุนเวียน เมื่อถึงยุคหนึ่ง เดี๋ยวเราก็เริ่มทำลายกันอีก เราบำรุงธรรมชาติพอสมบูรณ์ เราก็ลืมตัวเดี๋ยวเราก็ทำลาย ส่วนการอยู่เหนือการทำลายและอยู่เหนือการอนุรักษ์ นี่สำคัญมาก ถ้าจะเป็นดั่งนั้นต้องเป็นความรู้อีกระดับหนึ่ง ที่ว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ผมจะอ้างคำสอนจางจื้อ ปราชญ์จีนโบราณ ผมอาจจะออกสำเนียงจีนไม่สมบูรณ์ (ทั้ง ๆ เป็นหลานจีน แต่ไม่รู้ภาษาจีนเลย) จางจื้อพูดในนัยยะที่ลุ่มลึกว่า ทีตี้อืออั่วเป็งแซ ฟ้าดินกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน บวงหมั๊วอืออั้วอือเจ๊กอุย อีกสรรพสิ่งกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน นี่เป็นความนัยที่ลุ่มลึก มองโดยแง่ของจิตวิญญาณแล้วมนุษย์เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ มองนัยยะที่แบ่งแยก มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในกระแสธรรมชาติ เช่นเดียวกับเรามองว่า น้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำ เราก็มองได้ เพราะว่ามีก้อนน้ำแข็งลอยอยู่ในน้ำ แต่ว่าธาตุแท้ของน้ำแข็งกับน้ำอันเดียวกัน เมื่อน้ำแข็งละลายหมดก็คือธาตุน้ำ

            วิถีชีวิตที่ท่านใช้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผมคิดว่าเป็นบาทฐานใหญ่ที่ส่งผลสะท้อนอันยาวนานมาสู่ตัวท่านเอง สวนโมกข์ และสังคมไทย และเป้าหมายของท่านก็คือ โลกโดยส่วนรวม บันทึกที่สดใหม่มากของท่านอาจารย์ ช่วงที่อะไรเหล่านั้น ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าบันทึกของเดวิด ธอโร่ เรารู้กันว่าเดวิด ธอโร่ ฤๅษีตนแรกของอเมริกันนั้นมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าบันทึกช่วงต้นของท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้นมีอะไรที่ลุ่มลึกกว่า บางทีท่านบันทึกถึงความเจิดจ้าของดวงจิตในขณะที่ภาวนาแล้วก็เกิดประสบการณ์สำคัญ ท่านใช้คำว่า ราวกับว่าสิ่งที่ตาเห็นนั้นเป็นสิ่งไม่ใช่ธรรมชาติหรือเหนือธรรมชาติ นั่นแสดงถึงการก้าวล่วงเข้าไปสู่มิติที่แปลกประหลาด เรียกได้ว่า เป็นประสบการณ์ทางดวงจิต แต่ว่านั่นไม่ใช่สาระที่น่าใส่ใจนัก เพราะว่าแท้ที่จริงนั้นการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาตินั้นให้กำเนิดถ้อยคำอันหนึ่ง สำหรับส่วนตัวของผมแล้วถือว่าเป็นคำซึ่งได้ยินครั้งแรกในชีวิตได้แล้วตรึงตา ตรึงใจอยู่ไม่รู้หาย เมื่อท่านพูดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่อะไรอื่น คือการชำแรกตัวกลับสู่ธรรมชาติอีกหนหนึ่ง นี่สำคัญมาก สำหรับผมแล้วเป็นถ้อยคำยิ่งใหญ่มากทีเดียว เพราะว่ามนุษย์เดินห่างจากธรรมชาติออกมา มนุษย์เมื่อสร้างอารยธรรมแล้ว อารยธรรมนั้นกลายเป็นอุปสรรคเป็นกำแพงกางกั้น เหมือนที่ท่านทราบว่า คำว่าอารยธรรมในภาษาอังกฤษคือคำว่า Civilization, Civil นี่แปลว่าพลเรือนก็ได้ หรือแปลว่าเมืองก็ได้ เมื่อสร้างเมืองแล้วเมืองอาจจะกีดกันไม่ให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้ จิตสำนึกซึ่งพัฒนาในเมืองนั้นง่ายจะติดยึดในสมมุติ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องหันหน้าออกจากวังและแสวงหา ที่ท่านอาจารย์พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเทศนาหลายแห่งหลายที่ ท่านว่าเกิดกลางดิน ใช้ชีวิตกลางดิน กินกลางดิน ตายกลางดิน วิถีชีวิตของมนุษย์เราที่สูงส่งนั้น ไม่ใช่วิถีชีวิตในพระราชวังหรือประดับประดาด้วยทองหยอง หรือเกียรติยศมากมายคติของคนตะวันออกครั้งอตีตสมัยที่รุ่งเรืองด้วยความรู้แจ้งทางปัญญา วิถีที่เร่ร่อน วิถีที่ติดดินเท่านั้นที่จะสอดคล้องกับวัฏจักรและความเป็นไปของมหาวิถีของธรรมชาติทั้งมวลดังนั้นความยากไร้ ความเร่ร่อน ความเปล่าเปลือยเป็นสิ่งที่ทรงค่าอยู่ในตัวมัน

            ข้อขัดแย้งในทางทฤษฎีระหว่างความหมายของคำว่าอารยธรรมของปราชญ์ตะวันออกและตะวันตก มีอยู่อย่างฉกาจฉกรรจ์ คนตะวันตกถือว่า Civilization นั้นเกิดในกำแพงเมือง อะไรที่เกิดและพัฒนาขึ้นในเมืองถือว่าเป็นอารยธรรม ดังนั้นนอกกำแพงเมืองถือว่าเป็นอนารยะ เป็นป่าเถื่อน แต่ถ้าท่านไม่หลงทางจากวิถีชีวิตของปราชญ์ตะวันออกแล้ว ท่านจะพบว่า ป่านั่นเองเป็นที่ตั้งของอารยธรรมส่วนเมืองเป็นตัวปัญหา พระศาสดาผู้รู้แจ้งส่วนใหญ่ออกจากเมือง ไม่ว่าโซโรแอสเตอร์หรือพระพุทธองค์ก็ตาม หรือแม้แต่โสเครติสปราชญ์ทางตะวันตก ซึ่งถูกบีบให้ตายด้วยสมัครใจ ต้องออกเร่ร่อน คำว่าภิกขุซึ่งแปลว่า ผู้ขอ ศัพท์เดียวกับคำว่า beggar นั่นเอง ทางตะวันออกถือว่าวิถีชีวิตของการเร่ร่อน เป็นผู้ขอนั้นเป็นชีวิตที่สูงส่ง ท่านอาจารย์เขียนคติพจน์อันนี้ ไว้ที่โรงฉันเก่าของสวนโมกข์ธารน้ำไหล ซึ่งเดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือไม่ผมไม่แน่ใจ high thinking plain living นี่คือวิถีทางของสวนโมกข์ คือคิดสูง ๆ คิดให้ลึกคิดให้กว้าง คิดให้ไกล แต่เป็นอยู่ให้ต่ำที่สุด คติพจน์เหล่านี้เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของท่านเอง เมื่อผมลาเพศสมณะแล้วไปเยี่ยมท่านหลังจากไม่พบท่านร่วม ๑๐ ปี คำแรกที่ท่านถามผมนั้นไม่ได้ถามว่า ทำงานอะไร รายได้เท่าไหร่ ท่านถามผมว่า คุณยังกินข้าวจานแมวอยู่หรือเปล่า เป็นคำทักทายซึ่งเตือนให้ทำในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจแล้ว กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส มุ่งมาดความว่าง และคำตอบคือ ทำอย่างตายแล้ว มีแก้วอยู่ในมือ คือดวงจิตว่าง ประโยคสุดท้ายคือ แจกของส่องตะเกียง แต่ผมคงเป็นศิษย์ที่เลวไม่ได้ทำตามท่าน เพราะว่าท่านอาจารย์มีคติว่า ศิษย์คือผู้ที่ทำตาม

            ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งในวิถีชีวิตร่วมสมัยของคนเรา เราได้สูญเสียอะไรบางสิ่งซึ่งเป็นคุณค่าวิเศษ ที่เราเคยมีครั้งอดีต คือความมีกัลยาณมิตร ความมีคนที่เรานับถือบูชาไว้สักคนหนึ่งในหัวใจเรา นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผมจะเตือนความทรงจำของท่านได้ต่อสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ แม้ไม่ใช่เป็นพระพุทธวัจนะโดยตรงก็คือ ในชั่วโมงที่พระพุทธเจ้าจะถึงซึ่งอาการตรัสรู้อันสมบูรณ์นั้น มีธิดามารอยู่ ๓ ตน เป็นสัญลักษณ์ เป็นบุคลาธิษฐาน นางแรกชื่อนางราคา นางตัณหา และนางน้องซึ่งร้ายกาจที่สุดชื่ออรดีอรดีคือ อรติ แปลว่าไม่รัก ทำไมความไม่รักจึงเป็นอุปสรรคต่อสติปัญญาชั้นสูง นี่เป็นสิ่งที่น่าคิดมาก จิตใจซึ่งไม่มี เมตตา กรุณา ไม่รัก ไม่สามารถที่เข้าถึงซึ่งการตรัสรู้ได้ ต่อเมื่อพระพุทธเจ้ากำหนดรู้นางทั้ง ๓ นั้นแล้ว ธิดาพญามารก็ถอยกรูด รตินี่แปลว่ารัก อะ ก็ไม่ แปลว่าไม่รัก ผมคิดว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นคตินำทางของชาวพุทธ ท่านอาจารย์สวนโมกข์พูดย้ำอยู่เสมอว่า สำหรับชาวพุทธที่แท้จริงแล้ว ย่อมมีเมตตาเป็นปุเรจาริก เมื่อจะทำอะไร หรือจะไปทางไหนเหมือนกับมีไฟส่องทาง ให้มีเมตตาเป็นเครื่องส่องทางไปข้างหน้า เพราะเมตตากับปัญญานั้นเป็น ๒ หน้าของเหรียญเดียวกัน สติปัญญาชั้นสูงที่ว่าขันธ์ห้าไม่ใช่อะไรอื่นจากธรรมชาติ เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ ชีวิตเป็นอันเดียวกัน นั่นเป็นปัญญาชั้นสูง และพร้อมกันนั้นเป็นเมตตาอีกด้วย เมื่อเห็นว่าชีวิตไม่ผิดแผกกัน ยังมีคำพูดของชาวอีสานที่ลุ่มลึกมาก ที่จะเอามาสมทบกับความนัยที่ลุ่มลึกอันนี้ก็คือ ในบทเพลงเสียวสวาสดิ์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นพูดไว้ว่า ยังมีชายคนหนึ่งชื่อว่าสัพพะเหล่าหลาก คน ๆ หนึ่ง คือสรรพสิ่งทั้งปวง เมื่อเราพูดถึงขันธ์ห้า หรือญาณในขันธ์ห้า เรามักจะเอารูปขันธ์ไปเป็นร่างกาย คือคน ๆ หนึ่ง ที่จริงรูปขันธ์คือสิ่งเห็นด้วยตา ดวงดาว ดวงเดือน พระอาทิตย์ จักรวาลทางวัตถุทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ ฉะนั้นขอบเขตของขันธ์ห้าไม่ใช่คน ๆ หนึ่ง ขอบเขตของขันธ์ห้าคือจักรวาลทั้งหมดทั้งรูปทั้งนาม ดังนั้นญาณในขันธ์ห้าซึ่งได้ทำลายบุคคลสัญญาที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คนที่ไหน ก็คือการประจักษ์แจ้งสภาวะธรรมทั้งหมด นี่คือขันธ์ห้าที่บริสุทธิ์ เมื่อมองเช่นนี้แล้ว เราจะพบว่า มนุษย์ไม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น มนุษย์เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ เป็นอันเดียวกับจักรวาล นี่คือญาณของพระพุทธเจ้าในขันธ์ห้าในเรื่องสภาวะธรรม

            มนุษย์กับธรรมชาตินั้น แนบแน่นเป็นอันเดียวกัน อันอาจกำหนดท่าทีแห่งภูมิปัญญา และทิศทางแห่งอารยธรรมแท้ได้ว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ประสานกลมกลืน ไม่ใช่สิ่งงอกงามในเมือง ทั้งไม่ใช่จากสมองของมนุษย์โดยไร้หัวใจ รากฐานอารยธรรมแท้คือ ปัญญา และเมตตา อันเป็นไปในกระแสธรรมชาติ ไม่ใช่สภาพปรุงแต่ง เสแสร้งจนฝืนกระแสธรรมชาติ

            ลำดับถัดไปผมจะเล่าถึงวิธีที่ท่านอาจารย์ได้ช่วยผู้คนตามจริตนิสัยของแต่ละคน สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ในพระพุทธศาสนาแจกแจงญาณไว้หลายอย่าง แต่มีญาณเดียวที่สงวนไว้สำหรับพระพุทธองค์คือนานาธิมุตติกญาณ คือญาณที่ล่วงรู้วิถีทางรอดของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน อย่างพระพุทธเจ้าทรงทำกับองคุลีมาลอย่างหนึ่ง กับปฏาจาราอย่างหนึ่ง กับบางคนบางทีท่านเสนอสิ่งล่อ อย่างพระนันทกุมารน้องท่านนั่นทรงล่อจะให้นางฟ้า มันเป็นอุบายที่จะดึง ล่อจิต ซึ่งกำลังตกหลุมพรางอันหนึ่งเหมือนกับดึงคนขึ้นจากหล่มโคลน แม้สิ่งนี้จะสงวนไว้สำหรับพระพุทธองค์ก็ตาม แต่ผมก็เห็นบ้างในท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านมีอุบายที่หลอกล่อ ดังนั้นผมจะเล่าอิงอัตวิสัยนิดหน่อย ผมไม่รู้จักใครอื่นดีกว่าตัวเอง ประสบการณ์คนอื่นผมเล่าแทนไม่ได้ แต่เล่าแทนประสบการณ์ของตัวเองว่า เมื่อออกบวชใหม่ ๆ นั้นต้องการคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยจิตใจที่ศรัทธาว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในโลก ผมไม่ได้ใส่ใจเรื่องพระเจ้า คำสอนของพระเยซู ของเล่าจื๊อไม่อยู่ในความรับรู้ของผม เมื่อผมไปหาท่านนั้น ผมเชื่อว่าท่านคงจับกำพืด จับทางของผมได้ว่าผมแคบอยู่อย่างไร บางครั้งท่านพูดเล่าเรื่องตลกให้ผมหัวเราะ เพราะผมไม่หัวเราะเลย ไม่ยิ้มเลย ผมเครียดมาก ๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่าความจริงนั้นต้องเคร่งเครียด ที่จริงผมเข้าใจผิดมากท่านพยายามเย้าแหย่ บางทีก็เล่าเรื่องตาเถรยายชีให้ฟัง ที่จริงผมฟังออก แต่ผมไม่หัวเราะ ท่านยังถามผมว่าคุณฟังไม่ออกรึ?

            มีคราวหนึ่งท่านเรียกผมไป ปีนั้นเป็นปีที่โป๊ปจอห์นปอลที่ ๒ สันตะปาปาแห่งวาติกันขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว จอห์นปอลเป็นโป๊ปที่ถือกำเนิดในโปแลนด์ เป็นโป๊ปองค์แรกในค่ายสังคมนิยม ดังนั้นขวัญกำลังใจของชาวยุโรปในทางศาสนาดีขึ้นมากในปีนั้น ท่านอาจารย์เรียกผมไปบอกว่า ผมอยากจะให้ของขวัญโป๊ปจอห์นปอล คุณช่วยวาดรูปเกี่ยวกับพระเยซูให้หน่อยได้ไหม ท่านก็ยื่นไบเบิลให้ท่านสำทับว่า แต่คุณต้องอ่านให้หมดนะ ไม่งั้นคุณจะเขียนได้ยังไง ผมก็รู้สึกอึดอัดนิดหน่อยว่า เราเป็นพระอยู่ด้วย แต่ก็เพื่อจะทำงานให้ท่าน ก็อ่าน ตั้งต้นอ่านตั้งแต่คัมภีร์เก่า ทีละหน้า ๆ เพื่อจะรวบรวมเนื้อหามาเขียนให้ได้ ผมเขียนร่างเสร็จเอาไปให้ท่านตรวจ ท่านก็วิจารณ์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมเขียนได้จำนวนหนึ่ง ปั้นด้วย ปั้นพระเยซู เล่าเป็นเกล็ดซักนิดหนึ่งว่าผมทำอย่างไร คือผมปั้นพระพุทธรูปก่อน แล้วก็เติมหนวด เติมผมให้ยาว เป็นพระเยซู แต่นั่นไม่สำคัญอะไร เมื่อผมเขียนได้จำนวนหนึ่งแล้ว ผมไปหาท่านครั้งหลังเพื่อให้ท่านวิจารณ์ ผมรู้สึกว่าท่านอาจารย์ได้สูญสิ้นความใส่ใจ ในสิ่งที่ท่านสั่งผมเรียบร้อยแล้ว ผมไม่เข้าใจ แล้วก็ผิดหวังนิดหน่อย ทั้ง ๆ ที่เราทุ่มเทให้ ต่อมาภายหลัง จึงรู้ว่าท่านหลอกให้ผมอ่านไบเบิล ผมอ่านจนเป็นอุปการะ เป็นนิสัย ผมอ่านต่อมาอีกตั้งหลายปี เป็นสิบ ๆ ปีเลย แล้วต่อมาเมื่อผมเดินทางไปในยุโรป ก็มีคุณูปการกับผมมาก ในการที่พูดกับชาวแคทอลิก หรือโปรแตสแตนท์ ผมเคยถูกเชิญไปสัมมนาหลายครั้งกับกลุ่มโปรแตสแตนท์ที่เยอรมันนี ผมไม่นึกว่าสิ่งเหล่านี้ มันจะเกิดอุปการะขึ้นในวันหน้า ทั้ง ๆ ที่ผมก็ไม่ต้องการมันเลย นั่นเป็นอุบายของท่านอาจารย์ ท่านอาจจะคิดจริงหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ .....

            ทีนี้จะเล่าเรื่องที่ท่านเป็นนักทดลองความคิด ท่านอาจารย์นั้นไม่ใช่ผู้วิเศษ ดังนั้นบางทีท่านก็ทำอะไรพลาดได้ แต่ความผิดพลาดของท่านกลับเป็นบทเรียนที่ดีเสมอกับคนที่อยู่ใกล้ตัว วันหนึ่งพวกเรา, คำว่าพวกเราหมายถึง พระเณร คนวัด กำลังช่วยกันเทคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก เนื่องจากฉันอาหารมื้อเดียวแล้วก็ทำงานหนัก แต่นั่นคืออุดมคติของสวนโมกข์ในช่วงนั้น ๆ ขณะที่กวนปูนกันอยู่ ท่านอาจารย์พักจากการงานของท่านเดินมาถามว่า พวกคุณทำอะไรกันอยู่ บอกไปว่ากวนปูน ท่านพูดว่าพวกคุณโง่อยู่ได้ คุณไปกวนทำไมให้เสียเวลา ทำไมคุณไม่เอาปูนเอาทราย เอาหิน เอาน้ำเทรวมในถังน้ำมันแล้วก็ปิดฝา แล้วคุณก็กลิ้งมันไปในสนามหญ้า ไม่ต้องเหนื่อยแรง แล้วก็เอามาใช้ได้ ทุกคนก็สว่างไสวขึ้นในข้อแนะนำนั้น พูดกันว่า เออจริง ๆ ด้วยเราไม่เคยคิดกันมาก่อน แล้วทุกคนก็ปฏิบัติตาม ด้วยความหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น กลิ้งกันไป กลิ้งกันมาจนเหงื่อแตก พอเปิดฝา หินอยู่หิน ทรายอยู่ทราย ปูนอยู่ปูน พวกเราก็ชักมีอารมณ์ครับ ทั้งเหนื่อยทั้งผิดหวัง อาจารย์ท่านเห็นเข้า ท่านก็หัวเราะ ท่านบอก ผมจะไปรู้อะไร ผมไม่เคยทำ เป็นบทเรียนที่ดีมากครับว่าในความคิดนั้นต้องมีการทดลองความจริงด้วย จึงจะรู้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกใกล้หรือห่างไกลจากเป้าหมายที่เราคิดไว้ ผมเล่าเล่นพอให้คลายเครียดครับ

            ทีนี้ผมจะนำเข้าไปสู่เรื่องซึ่งค่อนข้างลึก ความถ่อมของท่านอาจารย์นั้นมีอยู่อย่างสูง ผมเคยเห็นกับตาที่ท่านกราบอาจารย์องค์หนึ่งคิดว่าเป็นพระคู่สวดในวันอุปสมบทของท่านเอง อย่างอ่อนโยน ซึ่งผิดกับตอนที่ท่านนั่งบนธรรมาสน์อันดูราวกับราชสีห์ หรือผู้ที่กำลังประกาศธรรมะที่ยิ่งใหญ่ ท่านแนะนำให้ผมไปหาโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคเรื้อน คนที่ไปในสวนโมกข์ช่วงนั้นอาจจะไม่รู้จัก แต่บางคนอาจจะรู้ครับ ชื่อโยมย้วน ท่านอาจารย์ไม่ใช่บุคคลที่จะลืมคนอื่นได้ง่าย ๆ แม้คนนั้นจะเจ็บป่วยหรือโรคเรื้อนก็ตาม โยมย้วนหลบอยู่ในกระต๊อบเล็ก ๆ ไม่ค่อยได้สัมพันธ์กับผู้คนเพราะตระหนักชัดว่าตัวเองเป็นโรค ผมเข้าใจว่าไม่ใช่โรคเรื้อน เป็นโรคอะไรก็ไม่รู้ที่ผิวหนังเป็นผืน ๆ แข็ง ๆ ตามเนื้อตามตัว ผมไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร แต่เป็นโรคซึ่งน่ารังเกียจ ท่านอาจารย์บอกผมว่า คุณไปหาโยมย้วน เขามีอะไรดีมาก แล้วท่านเล่าเรื่องโยมย้วนเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ โยมย้วนเคยแสดงวาทะทางธรรมในที่สาธารณะ จนเอาชนะมโนราห์โรงที่มีชื่อเสียงได้ ท่านควรจะทราบอย่างหนึ่งครับว่า คนปักษ์ใต้กับมโนราห์นี้เป็นของคล้าย ๆ คู่ขวัญ เป็นของที่โปรดปรานมาก แต่ด้วยอาศัยเพียงแต่ปากเปล่าโยมย้วนพูดธรรมะจนไม่มีใครดูมโนราห์เลย นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านเลยแนะบอกว่า คุณไปหาโยมย้วน เขามีอะไรดี ผมก็ไปหาอยู่หลายเวลา ก็จริงดังที่ท่านแนะนำ คือโยมย้วนเป็นคนที่เป็นโรคซึ่งน่ารังเกียจ แต่ในร่างกายอันผุพังนั้นได้ซ่อนภูมิปัญญาชั้นสูงไว้มาก ท่านอาจารย์ถึงกับสั่งผมว่า ให้เอาอะไรที่โยมย้วนเขาเขียนเป็นแผนภูมินั้น เอามาลอกขึ้นที่ฝาผนังในโรงมหรสพทางวิญญาณ ในฐานะที่เป็นทรัพย์สมบัติทางปัญญาของมนุษย์คนหนึ่ง ท่านไม่เคยลืมคนที่ได้ต่อสู้ในทางภูมิปัญญามาแล้ว

            ตลอดช่วงชีวิตของท่านมีความถ่อม แต่พร้อมกันนั้น ถ้าจะเลือกใช้คำว่าก้าวร้าวก็ได้อยู่ ท่านก้าวร้าวทางความคิด เวลาคิด คิดไม่เหมือนเพื่อน ต่อมาท่านก็แนะนำหลายคน รวมทั้งผมด้วย บอกว่าสิ่งใดที่เพื่อนเขาคิดอยู่แล้วทำอยู่แล้ว คุณอย่าเสียเวลาอีกเลย ควรจะคิดและทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้คิด และไม่ได้ทำนั่นแหละ หมายถึงในทางที่ดีนะครับ เพื่อช่วยค้ำจุนจรรโลงให้สังคมนี้ดีขึ้น ผมจะเล่าถึงความถ่อมของท่าน แต่ที่จริงท่านห้ามเล่า ผมก็คงไม่ค่อยถ่อมเท่าไรที่นำมาเล่า แต่เล่าเกี่ยวกับตัวท่านไม่ใช่ตัวผม คือความรู้ภาษาบาลีของท่านนั้นพอประมาณ แต่การตีความ วินิจฉัย ถอดรหัสคำพูดของพระพุทธเจ้า ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ในแวดวงของพระพุทธศาสนา เนื่องจากกาลเวลา หยากไย่และวัชพืชของกาลเวลาทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าค่อนข้างพร่ามัว คือเราไม่รู้อะไรเป็นอะไร อุปการคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านอาจารย์ก็คือท่านทำให้ธรรมะหมวดต่าง ๆ เกิดสิ่งที่เรียกว่า ธรรมสโมธาน สอดสานสวมลงกันได้จนกระทั่งเห็นจุดสำคัญ จุดที่เรียกเป็นพุทธศาสนาเช่นเรื่องอิทัปปัจยตาก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี ซึ่งแต่ก่อนแตกกันเป็นเสี่ยง พระสงฆ์ในอดีตก็อาศัยขนบธรรมเนียมการเทศนา ตั้งหัวข้อว่าวันนี้จะพูดเรื่องอริยสัจ พรุ่งนี้จะพูดเรื่องโพชฌงค์ พรุ่งนี้พูดเรื่องโพธิปักขิยธรรม มะรืนนี้พูดเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งแต่ละส่วนนั้นเหมือนรูปซึ่งเราต่อกันไม่ติด เราไม่เห็นว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร ท่านอาจารย์อาศัยความรู้บาลีและการภาวนา ภูมิปัญญาจากมหายานก็ดี กระทำให้เกิดธรรมสโมธาน คำนี้แปลว่าการสอดสวมรวมลง ท่านเคยอธิบายคำว่าแตกฉานไว้ผิดจากคนอื่น ท่านบอกว่าทั่วไปคำว่าแตกฉานอาจจะหมายถึงการแตกซ่าน คือฟุ้งซ่านไปก็ได้ คนนั้นดูคล้ายรู้มากแต่จริง ๆ ไม่รู้อะไรเลย พูดได้มากแต่ว่าไม่รู้มันมาได้อย่างไร ซึ่งนักวิชาการสมัยใหม่ เขาเรียกสิ่งนี้ว่าลัทธิอรรถาธิบายหรือ หรือลัทธิทีถ้อย (Verbalism) เรียกว่าบ้าคำพูด พูดไปเรื่อย ๆ ธรรมะนี่พูดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ท่านอธิบายเรื่องแตกฉานหมายถึงว่า สามารถกระจายแตกตัวไปแล้วรวมกลับมาที่ต้นตอได้ อันนี้นับว่าเป็นคำอธิบายที่เหมาะเหม็งมาก คือไม่ใช่ รู้มากอย่างเดียว แต่สามารถรู้รวมลงหนึ่งได้ คือทั้งหมดอยู่ในหนึ่ง และหนึ่งนั้นเป็นทั้งหมดได้ นี่คือคุณูปการของท่านในทางทฤษฎี

            ยังมีพระสูตรที่สำคัญสูตรหนึ่งที่อธิบายถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ พระสูตรที่เรียกว่าอุปสันตบุคคล อุปสันตบุคคลคือผู้เข้าถึงสันติ ซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ขีณาสพ สิ้นอาสวะแล้ว มีบทพระบาลีว่า อัตถังคะตัสสะ นัปปะมาณะมัตถิ เยนะ นัง วัชชุง ตัสสะ นัตถิ ซึ่งแปลว่า บุคคลผู้เข้าถึงซึ่งความตายแล้วมีไม่ประมาณ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชสมัยนั้นแปลไว้ว่าอย่างนี้ ท่านอาจารย์ท่านทราบดีว่าคำแปลนี้เป็นคำแปลซึ่งผิด แต่ท่านถ่อมท่านไม่ค้านไม่ติง ด้วยความเคารพในพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น แต่ผมคงจะทำผิดที่มาเล่าให้ฟัง แต่ผมอยากจะให้เห็นความถ่อมของท่านอาจารย์เท่านั้น ความที่ไว้หน้าผู้อื่น ท่านไม่ใช่คนที่อยากจะดัง พอเห็นคนอื่นผิด ก็จี้จุดผิดเพื่อให้ตัวเองได้เด่น ท่านไม่ทำอย่างนั้นเลย เหตุที่ผิดก็เพราะว่า อัตถังคะตัสสะ นัปปะมาณะมัตถิ หมายถึงบุรุษซึ่งถึงอัสดง ไม่ได้หมายถึงคนตาย คนตายมีมาแล้วไม่รู้ประมาณนี่ มันไม่ลึก ใคร ๆ ก็รู้ คนตายในอดีตไม่มีประมาณ บุคคลถึงซึ่งอัสดงคตกลับหมายถึงพระอรหันต์ ผู้ที่ตัณหาทั้งหมดอัสดงแล้วไม่มีราคะ โทสะ โมหะ คำว่าไม่มีประมาณแปลว่าวิพากษ์ วิจารณ์ไม่ได้ว่าดีหรือชั่ว ว่าท่านเป็นอะไรคือวิจารณ์ไม่ได้ ว่าท่านดีหรือท่านชั่ว อยู่เหนือการคาดคิดใด ๆ นั่นหมายถึงผู้ที่กิเลสตัณหาถึงซึ่งอัสดงแล้ว มันไปคนละทิศคนละทาง ความลุ่มลึกนี้อยู่คนละระดับ คนละระดับท่านอาจารย์พบสิ่งเหล่านี้มากมาย ไม่ใช่เพื่อติฉินหรือซ้ำเติม แต่ผมเล่าเพื่อให้เห็นว่าท่านเป็นคนถ่อม เพื่อจะถ่วงกับภาพพจน์ที่หลายคนเห็นว่า ท่านเป็นคนก้าวร้าวชอบพูดอะไรจ้วงจาบ เรียกตัวเองว่าหมาบ้าบ้าง สุนัขปากร้ายบ้างอะไรทำนองนั้น

            ประเทศเรา นับตั้งแต่ตั้งกรุงสุโขทัย ไม่นับศรีวิชัย เพราะยังเป็นปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์ ว่าเป็นอาณาจักรไทยด้วยหรือไม่ แต่ว่าสำหรับท่านอาจารย์นั้นท่านไม่สงสัยเลยว่า อาณาจักรศรีวิชัยนั้นเป็นไทยหรือไม่เป็นไทย แต่ผมจะเว้นไม่วิจารณ์ในแง่โบราณคดีและประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยประเทศเราได้ติดต่อคบค้ากับจีนมานาน แต่เราไม่เคยยอมรับหรือนับถือ ความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาของจีนเลย เรายังมีคำเรียกจีนว่าเจ๊ก มีความนัยที่ข่มขี่อยู่ในที เรียกชาวอินเดียว่าแขก เราพึ่งรับทราบรู้เรื่องเซ็นเรื่องเต๋าเมื่อสามทศวรรษที่แล้วมานี่เอง เราพึ่งรู้ว่าจีนมีเรื่องลุ่มลึกมากกว่าที่เราคิด เราเห็นมหายานเป็นพวกกงเต๊ก พวกอาซิ้มตามโรงเจ เราเคยเห็นเท่านี้เอง เพราะเราเหยียดจีน แต่เราคบค้ากับจีน แต่เราไม่ยอมรับจีน เมื่อสมัยรัชกาลที่สามนั้นท่าทีดีขึ้น เพราะว่ามเหสีองค์หนึ่งของรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นจีน รูปแบบของโบสถ์ก็เปลี่ยนหน้าบัน ช่อฟ้า คันทวยก็หายไป เหลือเป็นติดถ้วยโถโอชามที่หน้าบันแทน จีนก็เด่นสง่าขึ้น คงแป๊ะศิลปินจีนก็เด่นขึ้นในช่วงนั้น เราไม่ยอมรับบุคคลซึ่งเข้ามาผสมผสานเป็นเลือดเป็นเนื้อเดียวกับเรา ผมเองเป็นหลานจีน ผมเชื่อในห้องนี้ ผมว่าเกินครึ่งมีเชื้อสายจีน แต่เราไม่เคยเรียนรู้มิติที่ลุ่มลึกของจีนเรื่องเซ็นเรื่องเต๋า ท่านอาจารย์เป็นคนแรกที่แปลพระคัมภีร์ของเซ็น คำสอนของฮวงโป สูตรของเว่ยหล่าง อย่างเป็นระบบ นำเสนออย่างเป็นระบบและแปลอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเซ็นก็กระเส็นกระสายในรูปของนิทานตลกขบขัน ว่าด้วยอาจารย์ถีบศิษย์ตกน้ำ และก็บรรลุธรรม อะไรทำนองนี้ เล่าสู่กันฟังสนุก เราแทบจะเอาประโยชน์ในส่วนสาระไม่ได้ แต่ว่าท่านอาจารย์ได้แปลอย่างกลั่นกรองมาก ผมคิดว่ายังเป็นคำแปลที่ใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ แม้ว่าท่านไม่ใช่นักแปลมืออาชีพก็ตาม แต่เนื่องจากท่านมีวิถีชีวิต ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในกระแสธรรมชาติ ดังนั้นจะแลเห็นอรรถะที่ซ่อนอยู่ในโวหารของเซ็นได้ ถ้าท่านไปที่สวนโมกข์ในโรงมหรสพนั้น จะพบว่าเซ็นได้ถูกนำเสนอผ่านทางรูปเขียนจิตรกรรมฝาผนังเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่ตั้งของข้อครหานินทาว่า อาจารย์เป็นเซ็น เป็นมหายาน เป็นพวกนอกรีต

            เมื่อสมัยท่านสร้างสวนโมกข์มาในช่วงหนึ่งแล้วหมายถึงช่วงกลาง มัชฌิมวัยของสวนโมกข์นั้น สมัญญาซึ่งประณามท่านใส่ร้ายป้ายสีท่าน ผมไม่ระบุชื่อคนด่า แต่ว่าผมจะพูดเตือนความจำ เพื่อที่เราจะไม่ได้ประณามใครง่ายนัก เขาเรียกท่านอาจารย์ว่ามารศาสนา มารพุทธทาสเกิดแล้ว เขาพูดกันอย่างนั้น

            บุคลิกภาพของพระหนุ่มในวันต้นของชีวิตเมื่อหกทศวรรษก่อน นับตั้งแต่พุมเรียงตราบเท่าวันสุดท้ายของชีวิตแปรเปลี่ยนไปเสมือนหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็คือมืออันเดิม ท่าทีที่จ้วงจาบ แข็งกร้าวกับคุณค่าวิกฤติในสังคมนั้นเป็นไปอย่างรุนแรง ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะที่ท้าทาย ใครที่ขวัญอ่อนลงไปสนทนากับท่านแล้วอาจจะลำบาก เพราะว่าท่านไม่เอาใจพะเน้าพะนอผู้คนเหมือนที่เขาหวัง แต่ท่านต้องการกระชากหนังหัวของคนให้ตื่น ฟัง ๆ ดูแล้วน่าหวาดเสียว ท่านบอกว่า เราอยู่ในช่วงเฉื่อยนิ่งทางวัฒนธรรม ทางจริยธรรม ทางศาสนธรรม ในทุกทาง ช่วงเฉื่อยนิ่งนี่สำคัญมาก คือเราเดินตามผู้นำโดยที่เราไม่รู้อะไรเป็นอะไรไปทางไหนก็ไปด้วย สังคมไทยอยู่ในบรรยากาศอึมครึมมาตลอด ก็เพราะว่า บุคคลที่ที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ไม่น่ารัก เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำทางสติปัญญาก็ดี ในทางการเมืองก็ดี ไม่รักมนุษย์ แต่มนุษย์ต้องรักเขา เพราะเขาเป็นผู้นำ เมื่อนั้นเราจะคลุมเครือ คือเรานับถือคนที่ไม่น่านับถือ เราต้องยกย่องเทิดทูนคนที่เรารู้อยู่แก่ใจว่า ไม่น่าเทิดทูน ดังนั้นภาวะของเรา สะท้อนออกรวม ๆ เป็นภาวะสังคม เป็นภาวะสนธยาอึมครึมคลุมเครือไม่รู้ว่าดีหรือร้าย ช่วงนี้ผมเรียกว่าช่วงเฉื่อยนิ่งทางวัฒนธรรมไทย เกิดแปลกแยกกันไป คือคนไทยไม่เข้าใจวัฒนธรรมแต่เดิมของตัว นั่นคือช่วงเฉื่อยนิ่งและเป็นช่วงที่อันตรายมาก ถ้าหากมีวัฒนธรรมใหม่กระแทกเข้ามา เราจะเสียหลักเสียศูนย์ทันที

            ในวงการเกษตรกรรมนั้นในช่วงปฏิวัติเขียวเราได้ค้นคิดทดลองจนได้พันธุ์ข้าวที่เรียกพันธุ์ข้าว ก.ข. ซึ่งหนึ่งกอมีถึง ๑๕ รวง ออกรวงเร็ว โดยใช้เทคนิควิทยาทางด้าน BIO การกระทำเช่นนั้นเป็นการทำลายเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นไปอย่างคาดไม่ถึง ในทางเกษตรกรรมนั้น ชาวบ้านถูกหลอกล่อให้พึ่งพันธุ์ข้าววิทยาศาสตร์ แล้วทอดทิ้งพันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว ซึ่งเราเคยเรียน ในความรู้รอบตัวว่าเป็นข้าวดีที่สุดเดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะเมื่อเราไม่ได้ใส่ใจมัน มันก็กลายพันธุ์ เราไม่รักษามัน หน้าที่สำคัญของเกษตรกร คือ การสงวนพันธุ์การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในช่วงนั้น และการเผยแพร่ในแผนการพัฒนานั้น ได้ทำลายเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งทรงค่านี้ไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

            ในทางวิชาช่างนะ เมื่อวิทยาลัยเทคนิคถูกสร้างขึ้น เพื่อรองรับความเข้าใจความรู้จากวัสดุที่ผลิตจาก โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้า เป็นวัฒนธรรมเหล็กกล้าแล้วทำให้ช่างชาวบ้าน เมล็ดพันธุ์แห่งวิชาช่างพื้นบ้านตกงานกันเป็นแถว คือภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกดูแคลนจากคนรุ่นใหม่ว่าโง่เง่าเต่าตุ่น แล้วปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเคยครองภูมิปัญญามานานนับศตวรรษ ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ไม่รู้จะอธิบายให้ลูก หลานฟังอย่างไรว่าอะไรเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้หาได้รอดพ้นจากข่ายญาณของท่านอาจารย์สวนโมกข์ไปไม่ ท่านต้าน ยังเคยเรียกผมไปพบบอกว่า เราเปิดศึกกับเด็กหนุ่มแถวไชยาไหม? ท่านใช้คำนี้ เพราะว่าเด็กหนุ่มสาวเริ่มหันเห เริ่มดูแคลนบิดามารดาผู้ให้กำเนิดเรามา นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าสลดมาก

            ผมได้ใช้เวลาเล่าเรื่องมานาน ดังที่ได้เริ่มแต่ต้นว่าด้วยเหตุผล ๒ ประการ อยากจะพูดในแง่มุมชีวิตตัวเองได้ประสบเพื่อสะท้อนออกไปรวมกับที่คนอื่นเห็นและได้ประสบด้วย เพื่อให้เกิดภาพพจน์ภาพรวมที่สมบูรณ์ขึ้นอยากจะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด ประการที่ ๒ ก็คือ ด้วยความระลึกถึงพระคุณของท่านที่ได้มีตรึงตราอยู่ในจิตใจ ก่อนจบผมจะอ่านบทกวี เพื่อเป็นการบูชาท่าน ที่จริงผมอ่านบทกวีนี้ที่ มศว. เมื่อสองสามวันก่อนแล้ว เสียใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่แก้ข้อวินิจฉัยของผู้ดำเนินการอภิปรายไม่ทัน ซึ่งเขาอธิบายว่า ผมเป็นอันเตวาสิก(ก้นกุฏิ)ของท่านอาจารย์ ที่จริงผมไม่ใช่ ผมใช้ชีวิตช่วงหนึ่งกับท่าน ที่เล่านี้ก็เล่าตามที่ในช่วงนั้น ๆ ส่วนการบอกว่า ผมเป็นศิษย์ก้นกุฏินั้นอาจจะกระทบกระทั่ง คนซึ่งเขารู้อะไรที่ดีกว่าผมก็มีมาก.

ตอบคำถาม

            อาจารย์ว่าช่วงที่ตั้งต้น ที่ท่านได้อธิบายมาว่าเกือบจะตั้งนิกายใหม่นั้น ผมไม่ทราบว่าพอจะนำเสนอเรื่องแนวความคิดสักเล็กน้อยได้ไหมว่า นิกายใหม่นั้นท่านอาจารย์มีแนวคิดเห็นเป็นแนวใด พอเค้า ๆ ก็ได้ครับ

            ตอบ เรารับพุทธศาสนามาจากลังกา คัมภีร์หลักซึ่งรวบรวมโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ที่ว่าด้วยแก่นแท้ของพุทธศาสนาคือ คัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น มีบทบาทครอบงำ จูงใจ บำรุง วิถีชีวิตของชาวพุทธศรีลังกามานานมาก จนกระทั่งพระสงฆ์เชื่อว่า วิสุทธิมรรคเป็นแก่นสารยิ่งกว่าพระไตรปิฎก ยิ่งกว่าพระสูตรใด ๆ ทั้งสิ้น ในวิสุทธิมรรคได้อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือที่เรียกปัจจยาการชนิดข้ามสามภพสามชาติ ที่จริงนั้นในวิสุทธิมรรคได้อธิบายเรื่องทีละขณะจิตด้วย แต่ไม่ได้เน้น แต่ไปเน้นเอาสามภพสามชาติ ซึ่งจุดนี้เองที่ท่านอาจารย์ถือว่า เป็นจุดวิกฤติ วิกฤติภูมิปัญญาของพุทธ เพราะว่ามันข้ามสามภพสามชาติ มันก็กลายเป็นสัสสตทิฏฐิ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถูกไหมครับ? จากจุดนี้เองที่นำไปสู่การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าพระพุทธโฆษาจารย์นั้นไม่ได้พูดเรื่องการเกิดชั่วขณะจิต ท่านพูดไว้ด้วย แต่นิดเดียว เพราะว่าท่านเป็นเพียงผู้รวบรวม ร้อยกรอง

            จากจุดที่ว่าอาสวะกิเลสดองอยู่ในสันดานข้ามภพข้ามชาติ หรือว่าอาสวะกิเลสหมายถึงความเคยชินที่จะเกิดซึ่งข้อต่างนี้ฉกาจฉกรรจ์มากจนกระทั่งว่า จากจุดนี้นำไปสู่การแบ่งแยกในการภาวนาได้ เพราะว่าถ้ากิเลสดองในสันดานที่เรียกว่าอนุสันนั้น ติดฝังลึกนอนนิ่งอยู่นานหลายภพชาติแล้ว การปฏิบัติต้องขัดเกลา ขูดเพียรทำทุกวิถีทางที่จะให้หมดสิ้น แล้วถ้าเหตุอยู่ในชาติก่อน เมื่อจะแก้ให้แก้ที่เหตุ มันยื่นมือไปในอดีตชาติได้หรือ? พิเคราะห์ดูแล้วพิกลอยู่ ผมไม่ได้ตัดสินนะครับว่า พระพุทธโฆษาจารย์ถูกหรือผิด ผมเล่าว่าท่านอาจารย์มีข้อขัดแย้งอยู่อย่างไรเท่านั้นส่วนการที่เชื่อว่า อนุสัยนั้นเป็นสิ่งเพิ่งเกิดซึ่งเคยชินยิ่ง เพิ่งเกิดและเกิดอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติก็ไปอีกแบบหนึ่งคือต้องเจริญสติ เพื่อให้ทันกับการเกิดชนิดนี้

            ดังนั้นผู้ที่ถือกันว่าจิตเดิมแท้เป็นประภัสสรบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แล้ว กิเลสเป็นดุจอาคันตุกะที่จรมานั่นอย่างหนึ่ง กับเชื่อว่าเราเกิดมาแล้วแสนชาติ กิเลสดองในสันดาน เราต้องเกิดอีกนั้นมันเป็นความเชื่ออีกแบบหนึ่ง ส่วนตัวของผมถือว่าความเชื่อทั้งสองนี้กลมกลืนกันได้ ไม่ถึงกับขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะด้านหนึ่งเป็นการมองแบบปุคคลาธิษฐาน มีคน มีสัตว์ คนต้องมีกิเลส มีการเดินทางไกล เหมือนคนโบราณพูดว่า เราเกิดมานี่เพื่อเสริมบารมีของเราให้เต็ม คือยังมีตัวตน มีอัตตาอยู่ อันนี้เป็นรากฐานของจริยธรรมแบบพุทธ แต่เมื่อถึงเรื่องบทภาวนาชั้นสูงท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านไม่ยอม เหมือนที่เล่าแล้วว่าท่านเป็นคนดื้อ ถ้าว่าจุดไหนที่อุกฤษฏ์ ท่านไม่ยอม ยอมไม่ได้ จากจุดนี้เองมันจะนำไปสู่การตั้งนิกายใหม่

            เราจะบอกว่าพุทธศาสนานั้นทุก ๆ สำนักในประเทศนี้หรือทั่วโลกเหมือนกันนั้นไม่จริงเลย มีทั้งความต่างและความเหมือน แล้วแต่พิเคราะห์กันในระดับใด ไม่ว่าภาวนาแบบพุทโธก็ดี หรือสัมมาอะระหังก็ดี ผมคิดว่าเราต้องฟื้นความเข้าใจอันหนึ่งซึ่งสำคัญมากตรงนี้ว่าบรรดาเทคนิคทั้งหมดที่ชาวพุทธรุ่นหลัง อาจารย์รุ่นหลังค้นคิดขึ้นล้วน เป็นสิ่งที่ใช้ชั่วครู่ชั่วยาม เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับใดระดับหนึ่ง เทคนิคทุกชนิดจะต้องถูกทิ้ง ถ้ายึดถือไว้ก็อุปมาเหมือนเราหกล้มแขนหัก สิ่งแรกที่เราไปหาหมอก็คือ หมอเข้าเฝือกให้ก่อน เพื่อหยุดการขยับเขยื้อน เพื่อให้ธรรมชาติของร่างกายสมานตัวมัน แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมันเริ่มหาย เราต้องเอาเฝือกออก ถ้าเราเข้าใจผิดคิดว่าเฝือกคือส่วนหนึ่งในชีวิตละก็ยุ่งเลยทีนี้ แขนเราจะพิการตลอดชาติไปเลย จากอุปมาอันนี้

            ผมเองไม่ได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเลย ผมเห็นว่าถูกทั้งสอง แต่ว่าถูกคนละระดับ สัสสตทิฏฐินั้นถ้าเราดูในหมวดสัมมทิฏฐิแล้ว สัมมาทิฏฐิมีหลายหมวดมาก มีหนวดหนึ่งเป็นสัสสตะทั้งหมดเลย ท่านต้องเชื่อว่าบุญมีผลบาปมีผล ยันตกรรมมีผล พ่อแม่มีบุญคุณ พระอรหันต์มีพระอรหันต์ที่สอนให้เรารู้เรื่องนี้มี เป็นเรื่องคน เรื่องสัตว์บุคคล ทั้งนั้น นั่นพระพุทธเจ้าก็สอน แต่พอถึงสัมมาทิฏฐิในหมวดชั้นสูง ไม่ใช่เรื่องสัตว์ บุคคล ตัวตนแล้ว เป็นเรื่องปรมัตถ์แล้ว ไม่มีข้อวิวาทะ

            ผมใช้คำว่าวิวาทะ ไม่ใช่ระหว่างท่านอาจารย์กับหม่อมคึกฤทธิ์ ที่จริงครั้งนั้นเล่าแทรกว่า หลังจากวิวาทะกันแล้ว ท่านกลับไปถึงสวนโมกข์แล้วก็เปิดเทปชุดนั้นฟัง ผมได้ยินท่านพึมพำว่า บ้าทั้งคู่ ท่านหลุดปากว่า บ้าทั้งคู่ แล้วท่านก็หันมาสอนพระที่นั่งว่า พวกคุณไม่ควรจะทะเลาะกับใครเลย เมื่อพูดไม่รู้เรื่องควรจะเงียบ นิ่ง แต่ท่านเองไม่ทำตามที่ท่านพูด เพราะว่าท่านคือท่าน แต่ว่าคำสอนของท่านเองนี้เราต้องเข้าใจ โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า คุณต้องทำตามสิ่งที่คุณพูด ฉันจึงจะนับถือคุณ ถ้าเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ทุกคนไม่น่านับถือ ลูกไม่ควรนับถือเลย เพราะหลายเรื่องที่เราทำไม่ได้ แต่เราเอาประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดกับเราแล้ว เราเข้าใจมันแล้วใช้เพื่อป้องกันลูก นั่นเป็นความรักใช่ไหม? ดังนั้นการที่เราไม่ได้เสแสร้ง เราอาจจะติดบุหรี่อยู่ หรือกินเหล้าอยู่บ้าง แต่มันมีเหตุผลเฉพาะตัวด้วย ถ้าลูกบอกว่า พ่ออย่ามาสอนผมเลย พ่อยังเลิกไม่ได้เลย ผมคิดว่าลูกคนนี้ก้าวร้าว ไม่ดีเลย ผมตอบได้พอเป็นเค้าเท่านั้น ส่วนที่ว่าท่านจะตั้งนิกายใหม่นั้นท่านไม่ตั้งหรอกครับ ท่านบอกว่าแต่ผมจะไม่ตั้ง ผมเชื่อว่ารากฐานของการพูดนี้ เนื่องจากท่านเคารพในบูรพาจารย์ด้วย

            ท่านพุทธทาสนี้ จริง ๆ ท่านมีอัจฉริยภาพอะไรที่พิเศษกว่าคนปกติหรือเปล่าครับ เพราะว่าไม่ว่าหนังสือที่ท่านเขียนในแนวธรรมะกับการเมือง หรือธรรมะกับระบบการศึกษาของประเทศไทย หรือหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งความคิดท่านกว้างมากที่นำธรรมะไปอธิบายในแง่มุมต่าง ๆ แต่ว่าในขณะที่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง พระตามป่า หรือพระส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติแล้วท่านก็จะพูดธรรมะในแนวเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน แต่ว่าผมสงสัยว่าทำไมท่านสามารถโยงใย เหมือนกับคนที่ได้รับการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัยหรือคนที่ได้รับการศึกษามาก ๆ จะขอถามอาจารย์ว่า เป็นเพราะท่านอาจารย์พุทธทาสอ่านมาก หรือว่าใช้วิธีศึกษาอย่างไร หรือว่าเป็นการรู้แจ้งจากภายใน แล้วจึงสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ ขอบพระคุณครับ

            ตอบ เป็นคำถามที่ดีทีเดียว ที่จริงปัจจัยที่ทำให้ท่านอธิบายอะไรได้กว้าง ลุ่มลึก แล้วประการสำคัญที่สุดก็คือสืบสานอดีต ปัจจุบัน แล้วปูทางไปสู่อนาคตได้นั้นมีหลายปัจจัยมาก ความเป็นนักอ่านตัวยงด้วย ไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง ความใช้ชีวิตแนบสนิทกับธรรมชาติป่าเขา ความที่มีชีวิตติดดิน ซึ่งคำว่า ชีวิตติดดินหมายถึงว่า ตัดขาดจากความทะเยอทะยานที่จะเป็นเจ้าคุณ ที่จะเป็นสมเด็จ ซึ่งสิ่งนั้นจะรบกวนความรู้สึกของผู้ที่หวังภาวนาเป็นอย่างมาก

            ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งหรือปรากฏการณ์หนึ่งในประเทศเราคือระบบสมณศักดิ์ นี้ไม่มีผลดีเท่าไรนัก ต่อวิถีทางของสมณะ แต่อาจจะมีผลดีต่อราชสำนักหรือการเมืองในวงกว้างได้ จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้รบกวนความรู้สึกสงบได้ ที่ต้องมาแข่งเรื่องศักดิ์ เรื่องศรี ซึ่งเป็นนักบวชแล้วไม่น่าจะมีในเถรคาถา-เถรีคาถาบอกว่า อาตมาภาพจะท่องเที่ยวในไพรพง เอาอกแหวกหญ้าคา หมายความว่าจะทำตัวให้เป็นไม้ผุ คือแบติดดินเลย เพราะว่าสมณะต้องเป็นอย่างนั้น ท่านอาจารย์ได้ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นับเวลาที่ยาวนาน ภูมิปัญญาของท่านนั้น ก็เกิดการประสานตัวกันขึ้น ทั้งประสบการณ์ด้านในเฉพาะตัว คืออาการประจักษ์แจ้งในตนเอง พร้อมกันนั้นท่านไม่ทอดทิ้งพระคัมภีร์ ท่านเป็นนักการศึกษาตัวยงทีเดียว ท่านทำมันหมดทุกด้าน

            มีครั้งหนึ่ง ผมเล่าเรื่องส่วนตัวแทรก คงจะเป็นข้อมูลเสริมได้ หลังจากผมบวชอยู่ประมาณสามถึงสี่พรรษาผมรู้สึกเบื่อสวนโมกข์ เพราะว่าคนเริ่มที่จะไปมาหาสู่มากขึ้น ผมเองต้องการจะหลีกเร้นให้มากกว่านั้น ไปลาท่านเพื่อจะเข้าป่าให้ลึกไปกว่านั้น ท่านเตือนคำหนึ่งซึ่งคิดว่ามีอุปการคุณต่อผมมาก ท่านว่าการที่คุณคิดจะเข้าป่านั้นดี แต่ถ้าความรู้คุณเกิดในป่า คุณจะชักจูงประชาชนเข้าป่าด้วย แต่ถ้าความรู้คุณเกิดในเมือง ความรู้แจ้งของคุณนั้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนในเมืองได้ ท่านอาจารย์นั้นเข้าป่าในช่วงชิงชัยทางปัญญา ปี ๗๕ แต่แล้วท่านค่อย ๆ เคลื่อนทัพกลับเข้าเมือง ปรากฏว่าท่านมีวิทยุ เดี๋ยวนี้มี TV ด้วยเพื่อสื่อข่าวต่าง ๆ เมื่อช่วงที่มีการยิงดาวเทียมของสหรัฐสู่อวกาศครั้งแรก ท่านอาจารย์รับข่าวโดยตรงเลย ดูไปแล้วไม่น่าที่จะประสานกันได้อย่างแนบแน่นระหว่างพระป่ากับเทคโนโลยี แต่ท่านอาจารย์ประสานได้อย่างดี

            ครั้งหนึ่งท่านบอกว่าผมไม่ใช่เป็นอัจฉริยะอะไรสมองผมไม่ได้ดีกว่าคนอื่น แต่ประการแรกคือผมมีเวลาว่างมากมาย แล้วก็ขยันขันแข็งอย่างต่อเนื่อง บางทีผมเห็นท่านเดินจงกรมเพื่อแปลศัพท์ ๆ เดียวเป็นชั่วโมงเลย เดินกลับไปกลับมา เพื่อจะหาคำแปลที่เหมาะเหม็งที่สุด ซึ่งนักแปลทั่วไปอาจไม่สนใจถึงขนาดนั้น อาศัยความรู้ทางภาษาแปลเลย โดยไม่เจาะแทงอรรถะที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังภาษา ฉะนั้นภาษานี่มันเปิดเผยความจริง ลุ่มลึกไม่ได้แต่ก็ต้องอาศัยภาษาอีกนั่นเองซึ่งนำไปสู่ความจริงที่อยู่นอกเหนือภาษา เหมือนกวีเซ็นบอกว่า "นิ้วที่ชี้ไปที่พระจันทร์ใครไปสนใจที่นิ้วนั่นก็เลนไม่ได้ดูของจริง" อาจารย์ท่านใช้นิ้วอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ตั้งองศาที่เหมาะเพื่อชี้ไปที่พระจันทร์ แล้วก็เตือนเสมอว่า อย่าให้ยึดติดในคำพูดอย่ายึดติดในครูบาอาจารย์ อย่ายึดติดในเมือง ในป่า ในอะไรทั้งนั้น

            ผมคงตอบแล้วนะครับว่า ปัจจัยที่ทำให้แนวคิดหรือสติปัญญาของท่าน แทรกเข้าไปในทุกสนามของวิชาการเนื่องจากท่านอ่านมาก ปฏิบัติมาก อยู่ใกล้ธรรมชาติมากแล้วก็สากัจฉากับนักคิดมาก คือนักคิดทั้งหลายก็ไปหาท่านก็เกิดการโต้แย้งโต้เถียงกัน ผมเชื่อว่าท่านเรียนด้วย ท่านเรียนรู้จากคำถามคำตอบนั่นเอง หลายครั้งที่ท่านแสดงอาการขอขมาที่ประชุม ในโอกาสวันเกิดที่เรียกว่าวันล้ออายุ หนึ่ง ผมจำได้ ท่านประกาศถอนคำพูดที่เชื่อมาทั้งหมดเช่นจำได้ว่า ผมไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยอีกแล้ว ก่อนหน้านั้นท่านหนุนประชาธิปไตยใหญ่ แต่ต่อมาท่านเริ่มบอกเมื่อไม่มีธรรมะ ประชาธิปไตยนี้เลวทรามมาก เอาเสียงมหาชนเป็นใหญ่ เมื่อไม่ประกอบด้วยธรรมละก้อ ดังนั้นท่านขอถอนคำพูดในปีนั้นพรรษานั้น และเริ่มเทศนาหลักธรรมิกสังคมนิยม แล้วยังมีอีกหลายข้อทีเดียวที่ท่านขอถอนคำพูด แสดงว่าท่านเรียน ท่านมีพัฒนาการ

            จะขอถามอีกนิดหนึ่งครับว่า ตอนที่อาจารย์อยู่กับท่าน ไม่ทราบว่าท่านจำแนกเวลาที่ท่านใช้ในแต่ละวันเป็นประจำหรือเปล่า เช่นว่า กี่ชั่วโมงใช้ในการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ แล้วภาวนา หรือทำปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ ครับ

            ตอบ อันนี้ผมตอบแทนไม่ได้ คนที่จะตอบแทนได้จริง ๆ น่าจะเป็นท่านอาจารย์โพธิ์ ผู้อยู่ใกล้ตลอดเวลาว่า ท่านหลับกี่โมง แต่ผมเคยเห็นท่านนั่งอ่านหนังสือจนหลับอยู่ที่ตีนบันไดขึ้นห้องสมุดชั้นบน แล้วก็หลับตรงนั้นมีหลายครั้ง แล้วก็ในขณะที่ท่านอ่านหนังสือ แปลตำราท่านไม่ได้ละเลยงานที่เรียกว่างานกรรมกรเลย ช่วงที่ผมเข้าไปใหม่ ๆ นั้นเป็นช่วงบุกเบิก เป็นช่วงสร้างโรงมหรสพ อาจารย์ก็เป็นกุลีคนหนึ่ง ตอนผมวาดรูป ท่านมานั่งตีกรอบให้ด้วย คือท่านมีเวลามาก ดังนั้นความที่สอนคนอื่นโดยเอาตัวเองเข้าทดลอง ผมคิดว่านี่เป็นอุปการะใหญ่

            ปกติคนเราง่ายที่จะสอนคนอื่น แล้วคนอื่นจะรับผิดชอบต่อคำสอนหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่งสำหรับท่านอาจารย์ เมื่อสอนใครแล้ว ท่านมีประสบการณ์รองรับ ยกเว้นเรื่องถังซีเมนต์ที่เล่า แล้วท่านก็สืบต่อ สมมติว่าสอนใครเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วจะตามติดพัน อย่างผมเอง ถูกแนะให้ปั้นขยายอวโลกิเตศวร กล่าวได้นะครับว่า อวโลกิเตศวรองค์นั้นได้กลายเป็นนิมิตติดตาติดใจผมไปตลอดจนกระทั่งบัดนี้ ไปทีเห็นเข้าก็นึกแต่เรื่องนั้น เพราะว่าท่านมาตรวจงานที่ไหน ท่านก็เน้นแต่ว่า เมื่อคุณทำอันนี้ คุณต้องเป็นอันนี้บนเศียรของอวโลกิเตศวร มีดินแล้วก็หญ้าขึ้น คนที่ไปสวนโมกข์ก็จะเห็นเวลาหน้าฝน นั่นไม่ใช่อุบัติเหตุหรือบังเอิญ ผมปลูกขึ้นเอง เพราะว่าท่านบอกผมว่า ถ้าเป็นอวโลกิเตศวรจริงต้องติดดินได้ สามารถทูนหญ้าไว้บนหัวได้ ผมก็เลยนำมาเป็นสัญลักษณ์ ถ้าเราไปวัดโพธิ์แมน เราจะพบว่าอวโลกิเตศวรอยู่ในรูปของคนตะพุ่นหญ้าช้าง เมื่อเราเห็นภาพวาดคล้าย ๆ สูงศักดิ์ แต่ผมคิดว่าอวโลกิเตศวรอาจจะขายเฉาก๊วยก็ได้ ไม่ควรที่จะมองธรรมะผ่านทางอาชีพสูง ๆ ธรรมะอาจจะปรากฏกับอาชีพต่ำ ๆ ข้างถนนกับใครเมื่อไรก็ได้ แต่เรามองว่าคนมีธรรมะสูง ต้องมีเงินรายได้สูง หรือมีศักดิ์มีเกียรติมียศ ผมคิดว่าน่าจะมองรายได้สูง หรือมีศักดิ์มีเกียรติมียศ ผมคิดว่าน่าจะมองพลาดไป กิจวัตรนั้นผมไม่ทราบชัดครับ เลยเล่าไม่ได้

            จะขอเรียนถามซักข้อหนึ่ง อาจารย์พอจะทราบไหมครับ ที่งานค้างของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาน ทราบมาเลา ๆ ว่า เรื่องธรรมโฆษณ์วรรณกรรมยังทำไม่เสร็จจะพอทราบไหมครับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ที่เขียนมาก็คงจะมีเรื่องภาษาคนภาษาธรรม แต่ท่านอยากจะทำมากในช่วงหลังปัจฉิมวัยของท่านคือ พินัยกรรมธรรมะ

            ตอบ ก่อนอื่นผมจะมองไปสู่งานที่ดีเด่น คิดว่าภาษาคนภาษาธรรมนั้น เป็นงานชั้นเยี่ยมมาก ซึ่งเป็นกุญแจไขเข้าไปสูรหัสลัทธิไม่เพียงของพุทธเท่านั้น อาจารย์เมื่อจับทางอันนี้ได้แล้ว ท่านสามารถใช้กุญแจอันนั้นไขเข้าสู่ไบเบิลเจนเนซิส ซึ่งอัศจรรย์มาก งานหมวดที่สองก็คืองานประสานศาสนาต่าง ๆ ให้เป็นเอกภาพเดียว ยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร มีปาฐกถา ซินแคลร์ ทอมสัน คริสต์พุทธ เล่มเดียวครับที่เป็นน้ำเป็นเนื้อ ทั้งนี้คงจะต้องรอเวลาที่เหมาะสม

            ความเข้าอกเข้าใจแล้วถือเอาสันติภาพของโลกอันเกิดจากเอกภาพของศาสนาเป็นหลัก โลกไม่อาจประสบสันติสุขได้ด้วยศาสนาพุทธเพียงศาสนาเดียว ทุก ๆ ศาสนาจะต้องประสานร่วมมือ ไม่เพียงแต่มีท่าทีประสานร่วมมือเท่านั้น แต่ต้องจับแต่ของศาสนาของตัว ว่าเหมือนกับของคนอื่นอยู่อย่างไร อย่างแท้จริง สมดังที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัจจะมีเพียงอันเดียวเท่านั้น สัจจะที่สองไม่มี ถ้าว่ามีสัจจะของชาวคริสต์ด้วย สัจจะของชาวพุทธด้วย ทั้งคู่จะไม่จริงทั้งคู่เสียแล้ว ในฐานที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตจะเกิดมาก็ตาม ไม่เกิดมาก็ตาม สิ่ง ๆ นั้นตั้งอยู่แล้ว ท่านยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับท่าน ดังนั้นสัจจะของธรรมชาติ ต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอิทัปปัจจตา หรือกฎขององค์พระเป็นเจ้า หรืออะไรก็สุดแท้ เราไม่ควรตั้งแง่ว่า คุณพูดเรื่องพระเจ้าไม่เข้าเรื่องไม่เข้าราว พระผู้สร้างมีที่ไหน ท่านอาจารย์ไม่เคยทำอย่างนั้น งานหมวดนี้ยังรอเวลาผู้ที่สืบสาน ซึ่งจะเป็นอุปการะคุรต่อโลกมากทีเดียวแต่ว่าเท่าที่ผมทราบมีพวกบาทหลวงจำนวนหนึ่งใส่ใจงานของท่านมาก โดยบรรยากาศรวมของโลก ชาวคริสต์ไม่ใช่น้อย ที่หันมาเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา นำวิธีการที่พระพุทธเจ้าสอน นำอานาปานสติไปสอน เราอย่ากลัวว่าเขาขโมยของเรา ยิ่งขโมยยิ่งดีครับ ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงอันเดียวกัน ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ยิ่งดีใหญ่เลย แม้แต่การขอยืมโวหารจากพระไตรปิฎกไปแปล ผมยิ่งเห็นดี ซึ่งมีนักวิชาการของพุทธรังเกียจ และโกรธแค้นกันมากว่า ยืมศัพท์ของพุทธ คำว่า ราคะ โทสะ ไปใช้ทำไมในคัมภีร์นั้นเราจะห่วงไว้ทำไมครับ ของดีก็ต้องแจกจ่าย

            งานหมวดที่สามของท่านอาจารย์ คือการต้านวัตถุนิยม ท่านอาจารย์รณรงค์มาก แต่ในช่วงนั้นท่านเลือกใช้คำว่าวัตถุนิยม สมัยโน้นคำว่าบริโภคนิยมยังไม่เกิด เดี๋ยวนี้วัตถุนิยมของท่านอาจารย์นั้น ผมตีความเอาเองว่าคือ บริโภคนิยมนั่นเอง แต่สมัยโน้น คำว่าบริโภคนิยมยังไม่เข้าสู่คลองของความรับรู้ของคนไทย คือการมุ่งแสวงหาวัตถุไม่รู้จักพอ กลืนเข้าไป กลืนเข้าไป ไม่รู้จักอิ่ม ใช้วัสดุสิ้นเปลืองมากแต่ได้รับความพึงใจน้อยนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับหนทางของบรรพชนของเราครั้งอดีตซึ่งฉลาดในการใช้วัสดุแต่น้อยนิด แต่ได้รับความพึงใจสูง ด้ามกฤช ด้ามขวานเขาแกะสวยงาม เพื่อผลทางด้ายจิตใจ เขาล้างผลาญทรัพยากรน้อย แต่ได้รับความสุขทางใจสูง ในขณะที่บรรยากาศทั่วไปของประเทศเราเดี๋ยวนี้นี่ล้างผลาญมาก เราซื้อไม่รู้จักหยุด ห้างสรรพสินค้าได้กลายเป็นโบสถ์ของเรา เสาร์อาทิตย์มีแต่คนออกันเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ แต่ได้รับความพอใจน้อยนิด

            งานสามด้านนี้ผมคิดว่ายังรอเวลาอยู่ สิ่งที่ผู้ถามถามเมื่อกี้ที่ว่าท่านอธิบายเข้าไปสู่วิชาการต่าง ๆ นั่นเอง คือฐานที่จะงอกงามขึ้นสู่ดอกผลในวันข้างหน้า ที่จะทำให้เราเข้าใจกันเสียทีว่า เราต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุอย่างไร อย่างชาญฉลาด และอย่างอนุรักษ์และก็อย่างที่ทำให้ภูมิปัญญาของมนุษย์เจริญงอกงามขึ้น ไม่ใช่ทำให้ทื่อโง่ยิ่งขึ้น ส่วนคริสต์ พุทธ หรือ มุสลิมนั้น ผมคิดว่ามันเป็นนิมิตที่ดีมาก เนื่องจากช่วงนี้เรามีบรรยากาศที่ค่อนข้างตึงเครียดในเรื่องการเผาโรงเรียน ผมอยากจะพูดบ้าง เพราะผมเกิดในหมู่บ้านมุสลิม แล้วผมรู้ว่ามุสลิมเป็นศาสนิกที่ดีอย่างไร แต่ว่าบรรยากาศทั้งหมดทำให้เรามองมุสลิมว่าเลวร้ายทั้งสิ้น

            ผมเคยใช้ชีวิตร่วมกับชาวมุสลิม มีญาติพี่น้องเป็นมุสลิม ครั้งอดีตเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว พุทธกับมุสลิมกลมกลืนเป็นที่สุด ชาวมุสลิมนั้นสันทัดในการจับปลา ออกทะเล เขาไม่มีศีลปาณาเหมือนของพุทธ ชาวพุทธถนัดปลูกข้าว แล้วก็สุเหร่ากับโบสถ์ก็พึ่งกันอยู่ ชาวมุสลิมหาปลาแล้วเอาไปถวายวัด วัดก็นำคณะเอาข้าวสารไปบำรุงสุเหร่าผมเห็นกับตา แกงเป็นหม้อ วันพระเอาไปถวาย ไปนั่งพนมมือด้วย ตอนผมเป็นนักบวชอยู่ ชาวมุสลิมมานั่งฟังเทศน์ เรื่องน่าเศร้าสลดในยุคอัศวินผยองในบ้านเมืองเรา เราเผาปอเนาะของชาวมุสลิมไปไม่รู้สักกี่โรง เพียงเพื่อจะข่มขี่ให้สยบ แล้วเราไปสร้างพระพุทธรูปองค์มหิมาที่เขากงในหมู่บ้านมุสลิม สร้างข้ามสุเหร่าของเขา เราไม่แยแสเพื่อนมนุษย์ เราไม่แยแสศาสนาอื่น ในที่สุดวิกฤตการณ์ถาวรก็ตามมา เรื่องโจรแบ่งแยกดินแดนก็ติดตามมา นั่นเป็นผลพวงของอำนาจเผด็จการลืมตัวช่วงนั้น ผลพวงของการกระทำผิดของผู้ที่หลงอำนาจในช่วงนั้น ก่อนหน้านั้นไม่มี ชาวมุสลิมกับชาวพุทธดีกันจะตาย โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา เขาบวชเป็นพระให้แม่ แล้วสึกไปแล้วก็เข้าสุเหร่าให้พ่อ คือเขาเข้าใจทั้งพุทธทั้งมุสลิม ตนกูอับดุลราห์มานนั้นสร้างวัดที่กลันตันวัดหนึ่งให้แม่ เพราะมารดาของตนกูอับดุลราห์มานประธานมุสลิมโลกในอดีต เป็นพุทธ พ่อเขาเป็นมุสลิมแม่เป็นไทย วิกฤตการณ์ทางใต้นี่เกิดจากการหลงอำนาจในช่วงอัศวินผยอง ตอนนั้นผมอยู่ชั้นมัธยม จำได้ว่ามีการถ่วงทะเล หะยีกีหลง เพื่อบังคับให้ยอมรับว่าเป็นกบฏ ทารุณกรรมอันนี้เกิดจากความหลงอำนาจ ไร้ศีลธรรม โหดเหี้ยม ชาวมุสลิมกลัว แต่ผลที่สุดเกิดผลร้ายทั้งสิ้น

            คือเรื่องนี้ก็ว่าอาจารย์ของเราก็ได้มรณะ ผมเป็นห่วงอย่างเดียวคือว่า คลื่นลูกหลังนะมันจะต้องใหญ่กว่าคลื่นลูกหน้า แต่ทีนี้มอง ๆ ดูไม่รู้คลื่นลูกหลังนี่มันจะใหญ่หรืออาจจะไม่มีคลื่นเลย อาจารย์จะมองเห็นในวิธีการที่ท่านเผยแพร่ แล้วก็จะมีคนที่จะสืบต่อ แล้วธรรมะของท่านนี้จะเจริญไปแค่ไหน อาจารย์ห่วงใยหรือเปล่า

            ตอบ เป็นคำถามที่แสดงถึงความอาทร นั่นแสดงว่าผู้ถามเองอยากจะให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบข่าวสาร แล้วได้รับประโยชน์ คงไม่หวังเพียงจะประกาศเกียรติคุณของท่านอาจารย์เองหรือชื่อเสียงสวนโมกข์ เกียรติคุณและชื่อเสียงนั้นท่านก็ได้รับแล้ว แล้วท่านก็เป็นท่าน ความห่วงใยอันนี้เองเป็นเหตุให้ถามขึ้น แล้วก็น่าใคร่ครวญกัน

            ผมจะตั้งข้อสังเกตขึ้นก่อนว่า แนวคำสอนของท่านอาจารย์นั้นประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จในลักษณะหนึ่ง อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในอีกลักษณะหนึ่ง ประสบความสำเร็จในเขตหนึ่ง ภูมิภาคหนึ่งของโลก แต่อาจจะไม่แพร่หลายไปสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง เหตุผลนั้นเรามาพิจารณากันดูว่า ทางตะวันตกพระพุทธศาสนาเคยแพร่เข้าไปอย่างในเยอรมันเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้ว และทำให้เกิดนักปราชญ์ซึ่งได้ความรู้ จากพระญาณของพระพุทธเจ้านำไปประดิษฐ์คิดค้นต่อ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยไฮเดนเบอร์กนักปราชญ์ที่ลือลั่นเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเป็นแบกซ็องก็ดี คานท์ก็ดี คำอธิบายพุทธธรรมนั้นเป็นบรรยากาศรองรับอยู่โดยเฉพาะในเยอรมันเท่าที่ประสบการณ์ในต่างประเทศมีนั้น งานของท่านอาจารย์ประสบความสำเร็จไม่มากในต่างประเทศ เนื่องมาจากต่างประเทศนั้น เขาต้องการปรัชญา ต้องการอธิบายคุณค่า ส่วนที่ท่านอาจารย์ท่านพูดอยู่นี้ ซึ่งท่านเองก็ติงเสมอ ใครไปอธิบายให้เป็นปรัชญาไป ท่านบอกนี่ไม่ใช่ธรรมะ นั่นเป็นเรื่องคิด ๆ กันเท่านั้นเอง และบางทีนักปรัชญาบางคนลงไปคุยกับท่าน ท่านถามว่า เมื่อไรคุณจะปฏิบัติปรัชญาของคุณเสียที ดีแต่นั่งคิดนอนคิดปรัชญาอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นจุดหนึ่ง เป็นเพียงข้อสังเกต ผมอาจจะพลาดได้

            ที่ผมเอ่ยถึงความไม่สำเร็จบางด้าน ที่ผู้ถามเป็นห่วงนั้นคือทายาท แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรคิดถึงทายาทสายตรงมากมายนัก ทายาทตรงหมายถึงว่าผู้ที่เติบโตภายใต้อ้อมอกของท่าน เราไม่ควรหวังที่จะให้คน ๆ นั้นมาแทนท่าน ผมคิดว่าเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามเท่านั้น ที่สามารถสืบทอดสายพันธุ์ไว้ได้ ในช่วงของประวัติศาสตร์มันมีบางช่วงเท่านั้นที่มีการสืบทอดรับลูกกันอย่างเหมาะเจาะ อย่างสมัยพุทธกาล หลังพระพุทธเจ้าล่วงลับแล้ว อาศัยความทรงจำอันดีเลิศของพระอานนท์ ผมคิดว่าพระอานนท์มีบทบาทสูงมากในพระพุทธศาสนา มีอุปการะคุณมาก ปราศจากพระอานนท์แล้ว พระวัจนะทั้งหมดอาจจะสาบสูญได้ ต่อจากนั้นพระมหากษัตริย์พระเจ้าอโศกก็ดี หรือแม้อชาตศัตรูเองก็ดี ที่ให้อุปถัมภ์การสังคายนาเหล่านั้น และด้วยกรรมวิธีอันฉลาดรอบคอบที่เรียกว่า มุขปาฐะ ท่องปากเปล่า ถ่ายทอดมาจนถึงมือของเราในทุกวันนี้

            สำหรับงานของสวนโมกข์ ผมคิดว่าประทีปอันนั้นถูกยื่นมาถึงมือหลาย ๆ คนแล้ว คนที่เข้าไปในภูเขาอาจจะไม่ได้เห็นรูปร่างของภูเขาอีกเลย อาจจะได้รับความร่มเย็นจากภูเขา ต่อเมื่อเดินห่างภูเขาออกมาจึงจะเห็นรูปทรงของภูเขา เห็นขอบเขตของภูเขาได้ คนที่อยู่ใกล้ชิดท่านเกินไป อาจจะไม่รู้จักเลยก็ได้ อันนี้เป็นข้อสังเกตเท่านั้น เพราะว่าภูมิปัญญาจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากท่านและท่านไม่อาจถ่ายทอดอะไรให้เราได้ ปัญญาจริง ๆ นั้นผมเชื่อว่าซ่อนอยู่แล้วในตัวเราทุกคน เพราะว่าจิตคือพุทธะ คำสอนของท่านหรือของพระพุทธเจ้ามันเหมือนแสงสว่างที่สองไปที่ดอกบัว ซึ่งพร้อมที่จะบาน การเผยแผ่ที่เป็นระบบ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก ตรงกันข้าม ถ้ามีการจัดองค์กรจัดตั้งขึ้น นั่นกลายเป็นเป้านิ่งขึ้นมาทันที แล้วกงล้อของสังคมจะทำให้เกิดการหมุนผิดจังหวะ แล้วเบียดเสียดกันเอง ไม่เชื่อลองจัดตั้งองค์กรพุทธทาสขึ้น เราจะพบอาสวะเกิดขึ้นทันทีอาสวะนี้เกิดเนื่องจากการรวมกลุ่ม ผมคิดว่าความรับผิดชอบของเราน่าจะอยู่ลึก ๆ ในตัวเราเอง เพราะว่าเรารู้จักท่านเพียงใด เราจะรับผิดชอบได้เพียงนั้น เหมือนกับว่าพ่อแม่จะสอนให้ลูกร่วมรับผิดชอบได้เพียงนั้น เหมือนกับว่าพ่อแม่จะสอนให้ลูกร่วมรับผิดชอบในงาน สิ่งแรกต้องให้คิดร่วมด้วย ให้ร่วมคิดด้วย โดยทั่วไปเรามักจะบอกให้ลูกทำโดยไม่ต้องคิดร่วมกับฉัน ฉันคิดให้เรียบร้อย แกทำลูกเดียวดังนั้นเด็กก็ไม่อาจรับผิดชอบได้ ใช่ไหมครับ?

            ผมว่าประการแรก ถ้าเป็นพ่อแม่ อยากจะให้ลูกมีส่วนรับผิดชอบในครอบครัวก็ดี การงานก็ดี ต้องคิดร่วมกันก่อน เมื่อเขาคิดร่วมแล้วเขาจะรับผิดชอบเอง ถ้าเราอยากจะให้คำสอนของท่านอาจารย์ยังอยู่ เราก็พยายามศึกษาจนกว่ากระแสความคิดของเรารู้สึก รู้สึกขึ้นมาได้ว่าเป็นกระแสเดียวกับธรรมชาติ แล้วเราพบว่า ศักดิ์ศรีของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียง สำนัก แต่อยู่ในธรรมชาติแท้ในตัวเรานี่เอง เมื่อพูดถึงธรรมชาติแท้ ผมเองชอบคำนี้มากกว่ามากกว่าคำว่าจิตว่าง ที่จริงมันสัมพันธ์กัน อย่างแนบแน่นเมื่อจิตว่างจากกิเลส อาสวะแล้วก็จะแลเห็นธรรมชาติแท้ได้เอง ไม่จำเป็นต้องเอาดวงตาของอาจารย์มาส่อง ถ้าดวงตาของท่านมาส่อง ท่านจะบังเราทันที เหมือนกับว่าเราไปที่เขาตะเกียบ หรือเขาสามร้อยยอด เราเป็นคนใหม่ เราหาคนในท้องถิ่น บอกว่าช่วยนำทางผมไปดูช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ผมจะดูให้เต็มตาเสียที ทีนี้ถ้าคนนำทางของเราเป็นคนไม่เข้าใจนะครับ พอพระอาทิตย์กำลังรำไรก็ลุกขึ้นยืนข้างหน้าแล้วอธิบายความงามของแสงอาทิตย์ เขาก็บังเราหมดสิ้น ผู้นำทางที่ดีนั้น จะเตือนเราว่า คุณนั่งตรงนี้นะ มุมนี้เป็นมุมกว้างที่สุด คุณอย่าง่วง อย่าหลับ อย่าเผลอ แล้วอะไรจะเป็น คุณจะเห็นมันด้วยตาของคุณเอง นั่นคือผู้นำทางที่ดี ผมคิดว่าท่านอาจารย์เป็นผู้นำทางที่ดี เราไม่ควรเอาโวหารของท่านมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมเองเคยท้วงติงท่านนิดหน่อย บอกว่าทำไม ช่วงท้าย ๆ ท่านอาจารย์พูดซ้ำ ๆ กันว่า อย่างเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ตัว ท่านบอกว่าคนมันขี้ลืม ท่านได้พูดอย่างนั้น

            ธรรมะนั้น เรามีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธธรรมะนั้นไม่เกี่ยวข้องมากนักกับคำพูดและถ้อยคำ แต่ธรรมะนั้นเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับธรรมชาติแท้ของเราเอง ธรรมชาติหรือความเป็นตั้งแต่เดิมที ดังนั้นคำสอนของท่านเป็นเหมือนดัชนีชี้ หรือป้าย หรือแผนผังที่ชี้ว่าเราควรจะทำและไม่ทำอะไรกับตัวเองและคนอื่น เมื่อเราเห็นตัวเองประจักษ์แจ้งตัวเองแล้ว เราก็จะเห็นลู่ทางเองที่จะทำต่อเพื่อนร่วมโลก เพื่อนมนุษย์ ผลสรุปว่าเราไม่ควรวิตกกังวลถึงการสืบทอด เมื่อเกสรหว่านโปรยไปทั่วสารทิศแล้ว มันก็เติบโตขึ้นเอง ถ้าว่าในนั้นมีเมล็ดพันธุ์อยู่ และเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามนั่นเองคือสายพันธุ์อันนั้น

            ผมขอแสดงความเห็นนิดหนึ่ง ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ที่ว่าการเข้าถึงธรรมนั้น ถึงด้วยตนเอง ไม่ต้องกังวลถึงงานที่สืบสานของท่านนะครับ เพราะโดยประสบการณ์แล้ว ผมได้สนทนากับพระภิกษุที่ใกล้ชิดทางสวนโมกข์ ๗ ใน ๑๐ คน จะตีความไม่เหมือนกัน และ ๗ ใน ๑๐ คนนั้นเองไม่ได้เชื่ออาจารย์พุทธทาส ตีความไม่เหมือนกับท่านนะครับ เพราะฉะนั้น งานอย่างนี้ผมก็น่าเป็นห่วงอยากให้ช่วยตั้งองค์กรสถาบันเป็นรูปแบบขึ้นนะครับ การเข้าถึงธรรมนั้นเราเพียงควรจะศึกษาด้วยตนเอง ในพระไตรปิฎกก็ดี ในคัมภีร์ต่าง ๆ วิสุทธิมรรคก็ดี หรือคัมภีร์ที่เขาไม่ได้สนใจอะไรก็ดี หรือแม้แต่งานของอาจารย์พุทธทาส เราก็ต้องศึกษาเป็นทางผ่านเข้าไปสู่ตัวของเราด้วยความเข้าใจในจิตของเราเองเท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวอาจารย์ ความเข้าใจในตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่จะเข้าใจคนอื่น

            ตอบ ที่จริงนี่ไม่ใช่คำถาม เป็นความเห็นซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ผมขอเพิ่มเติม ครูบาอาจารย์นี่ก็สำคัญมาก นับตั้งแต่อดีตกาลนานไกล สำหรับสิ่งแรกในการแสวงหาทางจิตวิญญาณนั้น ศิษย์ต้องแสวงหาครู พบครูแล้วก็เรียน แต่ว่าการพบครูนั้น อาจจะหมายถึงความหลงผิดก็ได้ ถ้าครูเราเข้าใจอะไรผิด ๆ อยู่ แต่ถ้าว่าครูเราเข้าใจอะไรถูกนั่นนับว่าเป็นโชคลาภของศิษย์แล้ว เหมือนคนครั้งพุทธกาลเดินซัดเซพเนจรมาไปเจอพระพุทธเจ้าเข้า บางคนโชคดีบางคนโชคร้ายมีเหมือนกัน พระพุทธเจ้าเองก็ถูกปฏิเสธก็มี ครูย่อมมีบทบาทมากเสมอ

            ที่พูดกันว่า เราจะไปที่จุดหนึ่งจุดใดนั้นไม่จำเป็นต้องทางเดียวเคยได้ยินไหมครับ? เราไปได้หลายทาง แต่ผมจะแสดงมติว่า แท็กซี่ที่ฉลาดที่สุด แล้วกรุณาที่สุด เขาจะพาเราไปในทางตรงที่สุด สั้นที่สุด สิ้นเปลืองน้อยที่สุดด้วย ถูกเหมือนกันครับไปได้หลายทาง แต่บางทีมันไปหลงทางได้เหมือนกัน ในท่ามกลางนั้นเองครูยังมีบทบาทมาก ผมเข้าใจว่าครูเหมือนกระจกสะท้อนภาพของตัวเรา เรายิ่งอยู่ใกล้ครูเท่าไหร่ แทนที่เราจะรู้จักครู เราจะรู้จักหน้าตาของเรามากขึ้น เหมือนเราส่องกระจก เนื่องจากเรามีปกติที่หลงง่ายในเส้นทางการภาวนา มากไปด้วยหลุมพราง แล้วทางแยกที่ทำให้เราหลงวกวน เช่นปีติก็ดี สุขก็ดี หรือแม้แต่ญาณ เกิดขึ้นแล้วล้วนชวนหลง ถ้าคนเคยผ่านการฝึกจิตภาวนาแล้ว จะรู้ว่าไม่ง่ายเลย ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ล่วงหน้ามาก่อน

            ผมเห็นด้วยนะครับว่าปฏิบัติธรรมะนี่ต้องทำเอง ดั่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่ว่าผู้ชี้ทางนี่สำคัญนัก เหมือนกับว่า บิดาของเราบอกเราว่าไปหยิบเข็มมาให้พ่อซิลูก อยู่ในบ้านนั่นแหละ โอ้โห เหนื่อยเลย ไม่รู้อยู่ตรงไหน ถ้าท่านบอกว่าอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้ง นั่นง่ายขึ้นนิดหนึ่ง ถ้าความจำของท่านแม่นท่านไม่หลงลืม งานเราจะง่ายขึ้น ง่ายขึ้นมาก

            อีกประการหนึ่ง การสร้างความผูกพันกับอาจารย์นั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ชวนให้ระลึกครูที่เรารัก นี่มันชุ่มชื่นดีผมว่า ดีกว่าไม่มี พระพุทธเจ้าเอง เมื่อท่านตรัสรู้แล้ว ท่านคิดว่าท่านจะผูกมิตรกับใครดี และท่านรู้ว่าพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์ ต้องเคารพอะไรสักอย่างหนึ่ง การอยู่โดยไม่มีหลัก ไม่มีอะไรเคารพนี่มันว้าเหว่เกินไป ท่านนึกขึ้นได้ก็เลยเคารพธรรม แล้วก็ท่านเองก็ประพฤติตนเป็นกัลยามิตรของพระภิกษุรูปอื่น การมีครูเป็นสิ่งที่ดีเป็นรสชาติซึ่งวิเศษมาก วันหนึ่งเราต้องแก่เฒ่า เมื่อเราได้ระลึกถึงครูผู้เฒ่าที่เคารพของเรานั้น มันเหมือนกับดวงประทีปเหล่านั้น ถูกถ่ายทอดมายังเรา พร้อมทั้งสำนึกในกิจอันพึงทำต่อคนรุ่นถัดไป ถ้าครูของเรามีแววเมตตากรุณาเราแม้ว่าตัวเราก็คือตัวเรา แต่เราจะได้รับแนวโน้มเอียงที่ดี มนุษย์เรานั้นไม่เพียงมีสัจจธรรมเท่านั้น ไม่เพียงแต่เป็นสัจจะของธรรมชาติเท่านั้น เรามีสิ่งสมมติ ยังมีแนวโน้มเอียง ที่สามารถเป็นประโยชน์แก่อนุชนได้ด้วย เช่นนิสัยเอื้อเฟื้อ เอื้ออารี เมื่อเราพบครูที่ดีเข้า เราก็จะมีมันด้วย เรามีหุ้นส่วนด้วย ผมเชื่อว่าพระสงฆ์ อิริยาบถของพระสงฆ์ทั่วโลก ได้เค้าเงื่อนจากอิริยาบถของพระพุทธองค์ได้รับแนวโน้มเอียงอันนี้มา แม้บางองค์จะโฉ่งฉ่างบ้าง แต่โดยทั่วไป เราพบว่าพระสงฆ์นิสัยดี เป็นมิตรกับคนทั่วไป ครูสำคัญมากครับ พ่อแม่สำคัญมาก แต่ว่าในเรื่องปรมัตถธรรมแล้ว จะให้คนเหล่านี้มายืนบังข้างหน้าไม่ได้ ก็เลยมีคำพูดซึ่งผมค่อนข้างช็อคเมื่อได้ยินครั้งแรก แต่ว่ารู้สึกดีมาก มีคำกล่าวของเซ็นพูดว่า ถ้าเจอพระพุทธเจ้า ฆ่าท่านเสีย เดี๋ยวท่านจะสอนธรรมะให้ ฟังดูแล้วเหมือนถูกกระชากหนังหัวไหม?

            ครับ ก็สรุปว่า หมายความว่าเรื่องครูนี่ ถ้าจะเข้าถึงธรรมนี่ต้องฆ่าครูครับ แต่เมื่อได้เข้าถึงธรรมแล้วนี่ ต้องเคารพครูดุจชีวิตครับ

            เป็นครูวันเดียว เป็นบิดาชั่วชีวิต คนจีนถืออย่างนี้ แต่เราจะเห็นด้วยหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ที่จริงคำพูดประโยคนี้นั้นเขาต้องการจะเน้น เซ็นต้องการจะเน้นว่า คำสอนที่ผ่านภาษาเป็นสื่อสมมุตินี้เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น เหมือนที่เรารู้ว่าพระนิพพานเป็นอวยากตะ เป็นอัพยากฤติ พูดไม่ได้สอนไม่ได้ แล้วก็หลงพลาด เนื่องกันกับคำพูดที่ว่าให้ฆ่าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าเองพูดว่า พราหมณ์เอยจงกลับไปฆ่าพ่อฆ่าแม่เสียด้วย คือมันเป็นรหัส ที่ว่าถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราจะไม่อาจเข้าถึงได้เพราะพระพุทธเจ้าก็ดี พ่อแม่ก็ดีมายืนขวางทางเราอยู่ บางครั้งพระพุทธเจ้ายังบอกว่า พ่อเป็นศัตรู แม่เป็นไพรีของบุตร ก็พ่ออยากให้ไปทางนี้ ถ้าลูกอยากเกิดปฏิบัติธรรม พ่อไม่ยอมแม่ไม่ยอม เอาละเป็นศัตรูกันแล้ว เราต้องพิจารณาแยกส่วน แล้วพึงทำความเข้าใจให้แยบยล มีมนสิการควรไม่ควร ไม่ใช่ถือเอาตามถ้อยคำทื่อ ๆ

            เวลาหมดแล้วครับ ขอขอบพระคุณมากที่อุตส่าห์ฟัง

หมายเหตุ.-คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.org/html/articles/in_mem/bdb_khema1.html
            ข้อความดังกล่าวจัดพิมพ์ครั้งแรกในรูปแบบพ็อคเก็ตบุ้คโดย กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฎิบัติธรรม
ผู้สนใจหนังสือนี้กรุณาติดต่อที่ กองทุนวุฒิธรรม โทร. ๐-๒๕๒๖-๕๐๐๘