อัตตาในอุปนิษัทและพุทธทาส

 

อัตตา หรือ อาตมัน ที่เกิดในอุปนิษัท

             ความหมายของคำว่า “อาตมัน” ตามทัศนะต่างๆ แล้วก็จะได้หลายความหมาย เช่นในระยะแรกหมายถึงลมหายใจ ภายหลังความหมายได้เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นความรู้สึก จิต วิญญาณและเจตภูต และมีความหมายกว้างออกไปอีกคือ หมายถึงสิ่งที่อาศัยอยู่ในสรรพสิ่ง อาตมันเป็นผู้รู้ มีประสบการณ์และกระทำสิ่งที่ถูกรู้ให้ปรากฏ เป็นอมฤตะและดำรงอยู่ในสถานะเดียวตลอดกาล

             -  ในฉานโทคยะ อุปนิษัท ได้กล่าวถึงตัวตน (อาตมัน) ไว้ว่า ตัวตน (อาตมัน)เป็นอิสระจากบาป จากความชรา จากความตายและความเศร้า จากความหิวและกระหาย ไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ควรต้องการ ไม่มีความคิดหรือจินตนาการอะไร นอกจากสิ่งที่ถูกที่ควร เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจ เป็นปัญหาสำคัญซึ่งปรากฏขึ้นในความเปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะทั่วไปในขั้นตื่น ฝัน หลับ ตาย เกิดใหม่ และการปลดปล่อย

             -  ในพฤหทารัณยกะ อุปนิษัท พระประชาบดีได้อธิบายธรรมชาติของอาตมันว่า “ตัวตน (อาตมัน) ของมนุษย์ มีอยู่ในตัวของตัวเอง ไม่มีอยู่ในตัวของผู้อื่น เป็นบุคคลที่สามารถมองเห็น แต่ไม่ใช่วัตถุที่จะมองเห็นได้”

             -  กฐะ อุปนิษัท กล่าวว่า อาตมันคือความแท้จริงอันติมะ และได้เปรียบเทียบไว้ว่า วัตถุ (สิ่งที่ถูกรับรู้) เป็นถนน ร่างกายเป็นรถ ประสาทรับสัมผัสทั้งหลายเป็นม้า จิตเป็นบังเหียน ปัญญาเป็นสารถี วิญญาณเป็นผู้เสวยอารมณ์ (อัตตาเป็นผู้เพลิดเพลิน) และอาตมันเป็นนายผู้ยิ่งใหญ่ที่นั่งอยู่ในรถ ประสาททั้งหลายอาจเปรียบได้กับม้าที่ดีหรือเลว กฐะ อุปนิษัทยังกล่าวต่อไปอีกว่า ประสาทสูงกว่าวัตถุ (ประสาทรับสัมผัส เป็นสิ่งที่สูงกว่าสิ่งที่มันรับรู้) จิตสูงกว่าประสาท ปัญญาสูงกว่าจิต เหตุผล (มหัต) อันประณีตละเอียดอ่อนสูงกว่าปัญญา ปฐมธาตุ (อวะยักตะ) สูงกว่าเหตุผลอันประณีตทั้งหมด และปุรุษ (อาตมัน) สูงกว่าปฐมธาตุ และไม่มีอะไรสูงกว่าปุรุษ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดและเป็นความแท้จริงอันติมะ บรรดาวัตถุที่ประสาทรับรู้ ตัวประสาท จิต ปัญญา และเหตุผล ล้วนมีอยู่เพื่ออาตมันและรับใช้อาตมันทั้งสิ้น อาตมันสิงสถิตอยู่ในสิ่งดังกล่าวเหล่านี้ และทำให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างมีความหมาย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันกับอาตมัน เพราะว่าตัวอาตมันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด

             -  พระยมได้สอนเรื่องอาตมันแก่นะฉิเกตาว่า “อาตมันมีความเป็นอมตะ พิสูจน์ได้ด้วยตนเองเปล่งประกายได้ในตัวเองและสามารถตระหนักได้โดยตรง โดยมองสภาพเหนือธรรมชาติของความเป็นทวิภาคระหว่างรูปแบบและวัตถุ”

             หากจะสรุปทัศนะของอุปนิษัททั้งหลายก็มีความว่า อาตมันหรือตัวตนที่แท้จริงนั้น เป็นสิ่งสากลยิ่งใหญ่ และสูงสุด เอกภพทั้งสิ้นดำรงอยู่และเคลื่อนไหวอยู่ในอาตมัน และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอยู่ เคลื่อนไหวและดำรงอยู่ได้ด้วยตัวตนหรืออาตมัน อาตมันคืออันติมะสัจจะ

อัตตาในแนว พระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเป็นตัวตน    (พุทธทาส ภิกฺขุ)

             เมื่อกล่าวไปตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ตามความรู้สึก คนเรามีตัวตน พอรู้จริงถึงที่สุดเข้า กลายเป็นไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่า ตัวตน.

             แต่เรา ไม่ต้องการ จะรู้ หรือศึกษา ให้เลยเถิด ไปถึงนั้น ซึ่งก็ ไม่มีประโยชน์แล้ว; รู้ไว้แต่เพียงว่า คนพวกหนึ่ง สมัยหนึ่ง ยุคหนึ่ง เขามีความเชื่อ อย่างนั้น แล้วก็เหลืออยู่ จนกระทั่งทุกวันนี้ เขาสอนอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเรื่องนี้ มันก็มีที่ การขัดแย้งกัน อยู่เรื่อย กับพุทธศาสนา ที่สอนว่าจะรู้สึกว่า มีตัวตน เฉพาะในสมัย เมื่อยังไม่รู้ ไม่เห็นความจริง; นี่กำหนดข้อความนี้ ไว้ให้ดีๆ ว่า "ความรู้สึกว่า เป็นตัวเป็นตนนี้ จะเกิดรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ที่เรายังไม่รู้ความจริง"; พอรู้ความจริงขึ้นมา จะไม่รู้สึกอย่างนั้น แล้วก็เลย ว่างจากตัวตน ไปหมด ไม่ว่าอะไร ไม่ใช่ตัวตนเลย ก็เรียกว่า ว่างจากตัวตน ไปหมด ก็ไม่เกิดความรู้สึกว่า นี่ตัวกู นั่นของกู อย่างที่เคยรู้สึก มาแต่ก่อน มันเปลี่ยนตรงกันข้ามอย่างนี้.

             ทีนี้ ของเรามันก็ว่า ว่างอย่างนิรันดร คือไม่มีตัวตน อย่างนิรันดร; ส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็กระจายออกไป เป็นธาตุ: ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หรือว่าจะเป็น รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ก็ได้ทั้งนั้น มันเหลือกระจายลงไป เป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นตัวตน หรือ เป็นพระเจ้าอะไร คนโบราณเขาก็พูดเป็นว่า ตายลง ดินก็ไปเป็นดิน น้ำก็ไปเป็นน้ำ ไฟก็ไปเป็นไฟ ลมไปเป็นลม อากาศก็ไปเป็นอากาศ; แต่ที่ว่า วิญญาณไปเป็นวิญญาณ ธาตุนั้น เขาพูดไม่เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย เราพูดไม่เป็น.

การศึกษาเรื่องไม่มีตัวตน จำต้องอนุโลมตามความรู้สึกสามัญสำนึกก่อน

             ทีนี้ก็จะนึกกันออกไปถึงข้อที่ว่า พุทธศาสนายอมรับ ทั้งว่า มีตัวตน แล้วก็ยืนยัน ทั้งในข้อที่ว่า ไม่มีตัวตน. เราจะถือว่า พุทธศาสนา พูดอย่างไรกันแน่ นี้พูดอย่างไร จึงจะไม่ขัดกัน กับข้อที่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัส ชวนคนหนุ่ม พวกนั้นว่า มาหาตนกัน ท่านตรัส ชวนคนหนุ่ม พวกนั้นว่า "มาหาตนกันนา, มาแสวงหาตนกันนา" มันก็มีปัญหาที่ว่า เขามีความสนใจ ขึ้นมาอย่างไร? แล้วท่านใช้ โวหารอย่างนี้ว่า "มาหาตน" นี้ มันเป็นโวหาร ชั้นไหน? เราจะต้องถือว่า คนหนุ่ม ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา กลุ่มนั้น เขาก็ต้อง มีการศึกษา ได้รับการอบรม สั่งสอน ในทางลัทธิศาสนา ว่ามีตัวตน เป็นแน่นอน ตามธรรมเนียม ตามแบบของ บุคคลทั่วไป ในยุคนั้น; ฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า มาหาตนกันซิ พวกนั้นยินดีรับทันที ยินดีที่จะสละ แก้วแหวน เงินทอง ที่ผู้หญิงคนนั้น เขาขโมยไป เขาคงจะรู้สึกว่า ตัวตนๆ ที่เราเคยรู้ เคยได้ยิน ได้ฟังกันมาก่อน นั้นแหละ เราจะได้พบกัน คราวนี้แหละ โดยครูคนนี้ จะเป็นผู้ช่วย ให้พบตัวตน ฉะนั้น จึงมายอมให้ทำการ แสวงหาตัวตน.

             ทีนี้ เมื่อมีการแสวงหาตัวตน กันเข้า กลับพบว่าไม่มีตัวตน ก็เป็นเรื่องที่น่าหวัว; เพราะว่า จุดหมาย ของการแสวงหานั้น คือ ความไม่มีตัวตน, หรือจะพูดว่า "หาตนดีกว่า ก็หาจนพบว่า ไม่มีตัวตน หรือ จะเลยไปถึงว่า ฝึกตนดีกว่า ก็ฝึกๆๆๆจนตนมันหมดไป นั่นแหละ ฝึกตน; ฉะนั้น คำว่า "ได้ตนมา" หรือ ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่ตนควรจะได้นี้ ก็กลายเป็นความจริงที่ว่า ไม่มีตัวตน. พูดสั้นๆ ก็ว่า หาตนจนพบ แล้วเอาสิ่งที่พบสูงสุดนั่นแหละ มาเป็นตัวตน เช่นว่า พบความไม่มีตัวตน จนจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็เลยบรรลุนิพพาน ไม่มีความทุกข์เลย ก็เอานี้เป็น

             เรื่องมันก็เหลืออยู่ว่า ต้องทำความเข้าใจ ทำให้เข้าถึง ทำให้มองเห็น นับตั้งแต่ ข้อเท็จจริง อันแรก ว่า ไม่มีอะไร ที่ควรเรียกว่าตัวตน, แล้วข้อเท็จจริง อันที่สอง ก็คือว่า เมื่อคนมีความรู้สึก ถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่มีความทุกข์เลย แล้วข้อเท็จจริง อันที่สาม ต่อไปอีก ก็คือว่า เขาจะเป็นคนที่ ทำประโยชน์ผู้อื่น ได้มากที่สุด เพราะ ไม่มีความเห็นแก่ตัว. เรื่องที่เราจะประยุกต์ ก็ควรจะเป็น ๓ ข้อนี้คือ :-

             ข้อที่ ๑. ทำการศึกษาในภายใน จากความรู้สึกโดยตรงในภายใน ทุกเรื่องทุกราว จนเห็นว่า อ้อ, นี่มันเป็นธรรมชาติปรุงแต่งของจิต เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ตัวตน เป็นมายา; แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นมายา มันก็ยึดมั่นเป็นตัวตน เราก็เป็นทุกข์อยู่ทุกที ที่มันเกิดขึ้น จนถึงกับ พูดได้ว่า ทุกทีที่ตัวตนเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมา แล้วเราก็ต้อง เป็นทุกข์ทุกที เหมือนกัน

             ข้อที่ ๒. อาการอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์ ที่จะอ่านจากหนังสือ หรือว่า ฟังผมพูด หรือเชื่อตามคนอื่น ไม่มีประโยชน์เลย; พอมาถึงขั้นนี้ ต้องกำหนดเอา ที่ความรู้สึก ในภายใน ความรู้สึกชนิดนี้ เป็นตัวตน ที่ตรงไหน แล้วเกิดขึ้นมา แล้วมันเผาลนอย่างไร นี้เรียนจากข้างในนี้ แล้วประยุกต์ต่อไป ก็คือว่า คอยเฝ้าดูว่า เมื่อไม่เกิดความรู้สึกอันนี้ ทำไมมันจึงรู้สึกสบาย สบายบอกไม่ถูก หรือมันกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความรู้สึกอันนี้ พอเราสลัดออกไปได้ มันก็สบาย บอกไม่ถูก อีกเหมือนกัน, ความไม่มีตัวตน อยู่ในจิต มันสบาย บอกไม่ถูก.

             ข้อที่ ๓. ถึงข้อที่เกี่ยวกับผู้อื่น คนที่มีจิตอย่างนี้ เอาตัวเองเป็นหลัก ก็แล้วกัน ว่าจะขี้เกียจไหม, จะนอนเสียไหม, หรือว่า เมื่อไม่มีตัวตนนี้แล้ว มันจะมีเมตตา กรุณา ต่อผู้อื่น โดยอัตโนมัติ เช่น พระพุทธเจ้า หรือ พระอรหันต์ ทั้งหลาย ท่านก็ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ได้นอนเสีย ไม่ได้เห็นแก่ ความสุขส่วนตัว มันมีกำลังอะไรอันหนึ่ง คือกำลัง ที่ว่างจากตัวตน นั่นแหละ เชื้อเชิญท่าน ไปช่วยทำประโยชน์ แก่ผู้อื่น; พูดอย่าง สัมปรายิกโวหาร สูงสุด ก็ต้องบอกว่า ความว่างนั่นแหละ

             สรุปความ กันเสียทีก็ว่า ไปสังเกตดูให้ดีว่า ที่เราจะต้องพูด ตามความรู้สึก หรือ พูดกับ คนที่ยังมีความรู้สึก แบบมีตัวตน ก็ต้องพูดว่า มีตัวตน; เราก็อยู่ในพวกนั้น และเราก็ไม่อาจจะ มองเห็นความจริง หรือ ข้อเท็จจริงอะไร ของพวกที่ หมดกิเลสตัณหาได้ จึงต้องพยายามต่อไป ตามที่ท่านแนะไว้ ว่าให้พิจารณาอย่างไร จึงจะเห็นว่า อ้าว, มันไม่ใช่ตัวตน มีแต่การปรุงแต่งของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หรือว่า ธาตุรูป ธาตุเวทนา ธาตุสัญญา ธาตุสังขาร ธาตุวิญญาณ เป็นต้นแล้ว ก็เลยเป็น เรื่องสูงสุด ในพุทธศาสนาไป 

คัดลอกจาก http://www.geocities.com/bhikkhu5k/n0.htm