กฎบัตรสำหรับพุทธบริษัท

โดย

พุทธทาส ภิกขุ

 

คำชี้แจง

กฎบัตรสำหรับพุทธบริษัทนี้ เกิดขึ้นในที่ประชุมพุทธบริษัท ในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี แห่งสวนโมกขพลาราม ไชยา โดยข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอร่างญัตติเป็นข้อ ๆ ให้คณะกรรมการวินิจฉัย ๒ คณะ คือคณะที่ยึดหลักพระคัมภีร์ และคณะยึดหลักเหตุผลในปัจจุบัน เป็นผู้พิจารณา และให้ทำการแปรญัตติในการแก้ไข ตกเติมถ้อยคำให้เหมาะสม เป็นต้น แล้วเสนอแก่ที่ประชุมพุทธบริษัท ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ซึ่งประชุมกันอยู่ในที่นั้น ๑๐๐ กว่าท่าน. เมื่อเห็นด้วยและพอใจ ก็ให้การรับรองด้วยการปรบมือ แล้วท่องขึ้นพร้อมๆ กัน เช่นนี้ทีละข้อๆ จนจบ โดยใช้เวลา เช้า-บ่าย-ค่ำ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน เป็นผลออกมาปรากฏอยู่ ดังที่พิมพ์ขึ้นเป็นสมุดเล่มนี้. หากมีความบกพร่องผิดพลาดใดๆ มีอยู่ในการกระทำนี้ หรือมีถ้อยคำโสกโดก แข็งกร้าวไปบ้าง ข้าพเจ้า ขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว เพราะว่าเพ่งผลเป็นความชัดเจน และจริงใจ. ท่านผู้ใดเห็นพ้องก็ขอให้ร่วมมือสนับสนุน ด้วยการถือเป็นหลักปฏิบัติส่วนตน และบอกกล่าวต่อๆ กันไป จนเกิดผลขึ้นเต็มตามความมุ่งหมายแห่งกฎบัตร์นี้. เราไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะบังคับใช้แก่ผู้ใด ในโลก, กระทำได้แต่เพียงการขอร้องให้พิจารณา แล้วปฏิบัติตามความสมัครใจ เท่านั้น.

การกระทำทั้งหมดนี้ เป็นการสนอง พระพุทธประสงค์ และเป็นเครื่องบูชาพระคุณ ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทะเจ้า พระองค์นั้น.

พุทธทาส อินทุปัญโญ

ก. หมวดทั่วไป

ข.หมวดหลักปฏิบัติที่ควรพิจารณาแล้วยุติ

ค.หมวดความเห็นแตกแยก

ง.หมวดการตีความหมายแห่งถ้อยคำ

จ.หมวดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างศาสนา

ฉ.หมวดหลักปัญหาสากลของโลกปัจจุบัน

ช.หมวดสิ่งที่ควรเข้าใจ แล้วตราขึ้นไว้เป็นหลัก

ซ.หมวดวัฒนธรรมของชาวพุทธยุคปัจจุบัน

ฌ.หมวดปรมัตถธรรม

ญ.หมวดปกิณกปัญหา

ก. หมวดทั่วไป

พุทธบริษัท ต้องเผยแพร่พุทธธรรม แก่โลกแห่งกลียุคในปัจจุบันนี้ เพื่อสนองพระพุทธประสงค์.  

(ที่ตรัสว่า การเกิดขึ้นแห่งตถาคตก็ดี การมีอยู่แห่งธรรมวินัยของตถาคตก็ดี นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ ฯลฯ)

"ธรรม" คำนี้แปลว่า "หน้าที่ "  เป็นความหมายซึ่งใช้กันมาแล้ว แต่ยุคดึกดำบรรพ์ในถิ่นที่ใช้ภาษานั้น.

(เมื่อเขารู้สึกถึงสิ่งที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ เขาได้ใช้คำๆ นี้เป็นชื่อของสิ่งนั้น สืบมาจนกระทั่งมาเป็นภาษาไทยในบัดนี้)

คำว่า... "ธรรมและวินัย" นี้ เป็นประมุขแห่งถ้อยคำ (คือปาพจน์) สำหรับคำพูดทั้งหมดของพุทธบริษัท.

(ที่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ศาสนา และอารยธรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับพุทธบริษัท)

"ธรรม"... สามารถแก้ปัญหาของโลกได้ ทุกปัญหา ทุกชนิด ทุกระดับ ...และทุกกาล.

(เพราะธรรมคือความรู้เรื่องธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลจากหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา)

ธรรม มีสองประเภท คือ ธรรมในฐานะเครื่องมือ และ ธรรมในฐานะ... สิ่งที่ต้องประสงค์ในการปฏิบัติ.

(ตัวอย่างเช่น อิทธิบาทสี่เป็นธรรมเครื่องมือ มรรคผลนิพพานเป็นธรรมที่เป็นผลที่มุ่งหมายในการปฏิบัติ แต่ธรรมบางชื่อเช่น ศีล เป็นต้น เป็นได้ทั้งเครื่องมือและผลที่มุ่งหมายตามควรแก่กาลเทศะ ที่มีการใช้ธรรมชื่อนั้น)

ธรรมชื่อเดียวกัน ใช้ปฏิบัติได้ทุกระดับ ทั้งที่เป็นฝ่ายโลกิยะ และโลกุตตระ. 

(ตัวอย่างเช่น คำว่า สติ ใช้ปฏิบัติสำหรับทารก เด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว พ่อบ้านแม่เรือน คนแก่คนเฒ่า ในการทำไร่ทำนา ทำราชการ ฯลฯ ประพฤติพรหมจรรย์ในเบื้องต้น กระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกยุค ทุกสมัย)

ธรรม ๔ ความหมาย คือ...ธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ, หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ, ผลที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้... รวมอยู่ในความหมายของคำว่า "อิทัปปัจจยตา" เพียงคำเดียว.

(อย่าไปเอามายึดถือเป็น "ตัวกู ของกู" มันจะกัดเอา; นี่เป็นหลักสรุปความในพระพุทธศาสนา)

คู่ชีวิตของมนุษย์อันแท้จริง คือ...ธรรมะ ไม่ใช่คู่ครองของกู หรือ วิชาหาประโยชน์เพื่อตัวกู ตามที่เขายึดถือกัน.

(เพราะว่าธรรมะจำเป็นกว่า ช่วยเหลือได้มากกว่า คุ้มครองได้มากกว่า จริงกว่าสิ่งทั้งสองนั้น)

ธรรม... คือ โบราณคดีที่เก่ากว่า น่าศึกษากว่าโบราณคดีใด เพราะรู้แล้วใช้แก้ปัญหาโลกได้จริง ...ทุกปัญหา.

(ธรรมคือเรื่องทุกเรื่องตั้งแต่ก่อนมีดวงอาทิตย์ หรือสิ่งใดๆ ในสากลจักรวาล ส่วนโบราณคดีของคนสมัยนี้ คือเรื่องโลกเมื่อวานซืนนี้เอง แล้วจะสมบูรณ์อย่างไรได้)

๑๐

ธรรม... สามารถแก้ปัญหาที่โลกสร้างขึ้นเอง แล้วไม่สามารถแก้ได้เอง ...ทุกปัญหา.

(เพราะโลกสร้างปัญหาขึ้นด้วยกิเลส ก็ไม่สามารถใช้กิเลสแก้กิเลส จึงต้องใช้ธรรมะแก้ปัญหานั้น ตัวอย่างเช่น วิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบัน)

๑๑

ธรรม... ที่ก่อให้เกิดและควบคุมสิ่งทั้งปวง อยู่ตลอกกาลนั้น คือ กฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ.

(อันมีอยู่ว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี" เป็นธรรมซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วเคารพในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด และทุกคนควรทราบ แล้วปฏิบัติต่อให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะไม่มีการดับทุกข์ได้เลย)

๑๒

พุทธธรรม มีเนื้อแท้เป็นวิทยาศาสตร์ ...ไม่ใช่ปรัชญา แต่โลกมัวศึกษากันอย่างปรัชญา จึงไม่ได้รับผลจากพุทธธรรม แต่ประการใด.

(วิทยาศาสตร์ศึกษาลงไปที่ของจริง แต่ปรัชญาศึกษาลงไปที่สมมติฐาน : hypothesis)

๑๓

แม้ว่าคนจะแตกต่างกัน อย่างมนุษย์กับเทวดาก็ตาม แต่การดับทุกข์ของทุกคน ก็มีตรงกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ตามกฎอิทัปปัจจยตา.

(ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย ไพร่ นาย บรรพชิต หรือ ฆราวาส ฯลฯ ล้วนแต่เกิดทุกข์ และดับทุกข์โดยกฎอิทัปปัจจยตา ด้วยกันทั้งนั้น)

๑๔

พระพุทธเจ้า...จะมีพระองค์จริง หรือเป็นเพียงบุคคลสมมติ ดังที่คนสมัยนี้เข้าใจก็ตาม แต่การดับทุกข์ได้จริง ก็ยังมีเพียงอย่างเดียว ตามกฎอิทัปปัจจยตาเท่านั้น.

(ไม่เกี่ยวกับการที่พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น)

๑๕

พระไตรปิฎก จะเป็นของเดิมแท้ หรือแต่งขึ้นใหม่ ตามที่บุคคลสมัยนี้เข้าใจก็ตาม แต่การดับทุกข์ได้จริง ก็ยังคงมีเพียงอย่างเดียว คือตามกฎอิทัปปัจจยตานั้นเท่านั้น.

(ดังนั้น พระองค์จึงตรัสไว้ในกาลามสูตร ไม่ให้เชื่ออะไรโดยการอ้างว่าข้อนั้นมีอยู่ในปิฎก)

ข.หมวดหลักปฏิบัติที่ควรพิจารณาแล้วยุติ

๑๖

ไม่เคร่งเครียด ไม่หย่อนยาน แต่อยู่ในลักษณะที่พอดี นั่นแหละคือ... ความเคร่งที่เป็นพุทธแท้.

(นี่คือหลักมัชฌิมาปฎิปทา หรือทางสายกลางในพุทธศาสนา)

๑๗

พุทธบริษัทที่แท้จริง ไม่ทำความสำคัญมั่นหมาย อย่างใดอย่างหนึ่งโดยส่วนเดียวในสิ่งใด; เพราะมันเป็นเพียง กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา.

(เช่นไม่มั่นหมายว่ากินเนื้อหรือกินผัก จะทำความสำคัญแต่เพียงว่าเป็นอาหารบริสุทธิ์ ปราศจากอุปาทานที่ยึดมั่นให้เป็นอะไรขึ้นมา)

๑๘

ในการทำปาติโมกข์ ทำวัตร และเจริญพระพุทธมนต์ เป็นต้นนั้น การใช้ภาษาบาลีของเดิม ยังมีความจำเป็นอยู่ และดีกว่า.

(เพราะจะไม่เกิดการผันแปรเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นไปตามกาละเทศะ แม้ในบางกรณี จะมีคำแปลไทย ก็ต้องมีภาษาบาลีกำกับอยู่เต็มตามเดิม)

๑๙

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ต้องไม่มีการแสร้งทำใดๆ ที่เป็นการพรางตาชาวโลก.

(เพราะตนเองก็จะไม่ก้าวหน้าในทางปฏิบัติ และจะเป็นผู้มีอาชีพเหมือนนายพรานพรางตาสัตว์ด้วยเครื่องพราง)

๒๐

พระพุทธวจนะ ที่เป็นชั้นหัวใจของพุทธศาสนา อันควรติดปากและประจำใจอย่างยิ่ง คือคำว่า "ตถตา" (อย่างนั้นเอง).

(มีความหมายว่า สิ่งใดๆ ทุกสิ่ง ไม่ควรยึดมั่นให้เป็นตัวตนของตน เพราะมันเป็นตามธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง)

๒๑

ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย  เป็นสิ่งที่เอาชนะได้ เมื่อมีพระเจ้าเป็นกัลยาณมิตร.

(เพราะมีพุทธภาษิตว่า มมญฺหิอานนฺท กลฺยาณมิตฺตํ อาคมฺม ชาติธมฺมา สตฺตา ชาติยา ปริมุจฺจนฺติ ชราธมฺมา สตฺตา ชราย ปริมุจฺจนฺติ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

แปลว่า...ดูก่อนอานนท์ อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา ฯลฯ พุทธธรรม หน้า ๖๒๔)

๒๒

พื้นฐานของจิต โดยปกติตามธรรมชาตินั้น ว่างจากกิเลส จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยแห่งการเกิดกิเลส ...จึงจะมีกิเลสเกิดขึ้น แล้วดับไปเมื่อหมดกำลังของเหตุปัจจัย.

(หน้าที่ของเราคือ ระวังปัจจัยแห่งกิเลสอย่าให้มีมา แม้จะมีมารก็มีสติปัญญาป้องกันหรือระงับเสียได้ จิตจึงมีระยะเวลาว่างจากกิเลส หรือตกสู่พื้นฐานเดิมที่เป็นประภัสสรได้เป็นคราวๆ หาใช่มีกิเลสเต็มอัดอยู่ตลอดเวลาไม่)

๒๓

จิตว่างชนิดอันธพาล ...ที่ว่าเอาเองแต่ปาก ไม่ดับทุกข์อะไรได้เลย.

(เพราะจิตยังเต็มอัดอยู่ด้วยกิเลส ที่จริงเป็นคำพูดที่ใช้แก้ตัวของผู้อยากทำความชั่วซึ่งหน้าเท่านั้นๆ )

๒๔

ผลิตมาก... กิน เก็บ แต่พอดี เหลือเอาไปช่วยเพื่อนมนุษย์ นี่คืออุดมการณ์ทางการเมือง ของชาวพุทธ ที่ช่วยโลกได้.

(เป็นเหตุให้คนไทยมีเอกลักษณ์ยิ้มเสมอ มีความรู้สึกว่า ทุกคนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ทำลายล้างกันระหว่างนายทุน กับชนกรรมาชีพ)

๒๕

พุทธธรรม ...ไม่มีประโยชน์อะไร แก่ผู้ที่ไม่รู้จักความทุกข์ของตนเอง จนไม่รู้สึกว่า ตนมีความทุกข์อยู่.

(ซึ่งได้แก่คนในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เข้ามาศึกษาศาสนาเพื่อดับทุกข์ของตน จึงไม่อาจรู้พุทธธรรมอย่างถูกต้อง ตรงตามความหมาย)

๒๖

หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท...ใช้ได้ และจำเป็นจะต้องใช้ดับทุกข์ แม้แก่ชนระดับชาวบ้านทั่วไป.

(เพราะไม่ว่าความทุกข์ของชนระดับไหน มีอาชีพอะไร ล้วนแต่มาจากการปฏิบัติผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา)

๒๗

การเกิดอีก หรือไม่เกิดอีก นั้นย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย อย่าพูดยืนยันโดยส่วนเดียว (ผ่าซาก).

(ซึ่งผิดต่อหลักอิทัปปัจจยตาในพุทธศาสนา อันมีอยู่ว่า โดยที่แท้แล้ว ไม่มีคนเป็นผู้เกิดหรือไม่เกิด มีแต่กระแสอิทัปปัจจยตา ที่ถูกสมมติให้เป็นคนหรืออาการของคน จนเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แล้ววิวาทกัน)

๒๘

พุทธบริษัททั่วไป ยังสนใจแต่เรื่องกรรมดี กรรมชั่ว ไม่สนใจเรื่องกรรมไม่ดี ไม่ชั่ว อันเป็นหลักกรรมที่แท้จริง ของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ.

(เรื่องกรรมดีกรรมชั่ว หรือลัทธิกัมมวาทีนั้น ตรัสว่า มีอยู่ก่อนหรือนอกพุทธศาสนาและพุทธศาสนาก็ยอมรับ; แต่ได้ตรัส กรรม (อริยมรรค) ซึ่งเหนือดีเหนือชั่ว และเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดีกรรมชั่ว เพิ่มเข้ามาเป็นหลักกรรมของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ซึ่งพุทธบริษัทสมัยนี้ควรสนใจในฐานะเป็นหลักธรรมชิ้นเอกของโลก)

 

คัดลอกจาก http://iceindymusic.esmartmusic.com/buddhatas/Bud06/index.html