วิธีฝึกสติ และวิปัสสนาระบบลัดสั้น
โดย... พุทธทาสภิกขุ

โพสท์ในพันทิป ห้องสมุด [ศาสนา-ปรัชญา] กระทู้ที่ K2500000 โดย คุณ : Seeker - [ 16 ต.ค. 46 ]

สมาธิวิปัสสนาระบบลัดสั้น

             ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคมาฆะบูชา เป็นการบรรยายครั้งที่ 3 ของเรื่องหรือชุด สมถะวิปัสสนาแห่งยุคปรมาณู คำว่าสมถะแห่งยุคปรมาณู ฟังดูแล้วมันก็เป็นผิดปกติอะไรอยู่บ้าง แต่ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ในการที่ต้องใช้คำพูดชนิดนี้

             โดยส่วนใหญ่ก็หมายถึงว่า มันเป็นยุควิทยาศาสตร์ ดังนั้นคำอธิบายนี้ก็จะอธิบายไปในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ยุคปรมาณูเป็นยุคที่ว่า ทำอะไรกันจริงๆ จังๆ ไม่มีเล่นๆ คำอธิบายนี้ก็จะต้องเป็นคำอธิบายที่ไม่ใช่เล่นๆ หรือสลัวๆ เหมือนกับที่ทำกันมา

             ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ หมายความว่า มันมีของจริงมาตั้งลงสำหรับศึกษา ค้นคว้า พิสูจน์ ทดลอง เดี๋ยวนี้เรื่องสมถะวิปัสสนามันเป็นเรื่องจิต ซึ่งไม่มีวัตถุตัวตน จะอธิบายกันอย่างไร ให้มันเป็นเรื่องที่ราวกับว่ามีวัตถุตัวตน มาตั้งอยู่เฉพาะหน้า เป็นเครื่องศึกษา ค้นคว้า พิสูจน์และทดลอง

             ข้อนี้ขอให้ท่านพยายามให้ดีที่สุด ที่จะให้เป็นได้อย่างนั้น มิฉะนั้นมันจะไม่ได้ผล มันจะเสียเปล่า มันจะสักแต่ว่าทำๆ ไปเท่านั้นเอง ถ้าเป็นเรื่องจำ จำกันแล้วมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้าเป็นเรื่องสอนอย่างคาดคะเน สอนให้คาดคะเน มันก็ยิ่งไม่สำเร็จประโยชน์

             มันต้องเป็นเรื่องที่จริง คือลงไปยังสิ่งนั้นจริงๆ ในตัวความรู้สึก ขอให้นึกถึงคำว่า สันทิฏฐิโก คือรู้สึกอยู่ในใจ และสิ่งที่เราพูดถึงนั้น มันต้องรู้สึกอยู่ในใจ แม้ว่ามันจะเป็นนามธรรมไม่มีรูปไม่มีร่าง แต่ว่ามันรู้สึกอยู่แก่ใจ นั่นน่ะ สิ่งนั้นน่ะ มันเหมือนกับว่ามีรูปมีร่าง เช่น ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในใจจริงๆ ก็ขอให้รู้สึกลงไปที่ตัวความรู้สึกนั้น มันก็เลยกลายเป็นของจริง สำหรับศึกษาค้นคว้ากันตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์

             นี่แหละขอให้ทำความเข้าใจกันในข้อนี้เป็นส่วนสำคัญ มิฉะนั้นจะไม่สำเร็จประโยชน์ แล้วก็ขอให้นึกถึงคำว่า เป็นคำอธิบายที่มุ่งหมายให้เหมาะสำหรับยุคปรมาณูไว้เรื่อยๆ ผู้ฟังก็ขอให้ฟังอย่างว่าเป็นบุคคลในยุคปรมาณูด้วยกันด้วย ก็คือให้มันจริง ไม่ใช่จำ ไม่ใช่คาดคะเน ไม่ใช่ละเมอเพ้อฝัน นี่ขอให้ทำความเข้าใจกันอีกครั้งหนึ่งว่า ทำไมจึงให้ชื่อคำอธิบาย คำบรรยายชุดนี้ว่า คำอธิบายสมถะวิปัสสนาแห่งยุคปรมาณู

             ทีนี้จะขอทบทวน สิ่งที่ต้องทบทวนให้รู้สึกอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา เป็นลำดับ อย่ารู้สึกรำคาญ โดยเฉพาะก็คือ ความจริงที่จริงที่สุดว่า เรื่องวิปัสสนา หรือสมถะวิปัสสนาที่กำลังพูดถึงนี้ เป็นสิ่งที่ต้องมี คือต้องทำให้ได้ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ๆ จำๆ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อประโยชน์จะแก้ปัญหาที่มีอยู่จริง

             ความจริงข้อแรกก็คือว่า เรามีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เพราะเราไม่มีสติปัญญาพอ ในขณะที่มีผัสสะ ทีนี้คนที่มาใหม่เพิ่งมาใหม่คงจะฟังไม่รู้เรื่อง ก็ขอให้จดจำไว้ก่อนก็ได้ว่า ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นในชีวิตของเรา รบกวนอยู่ตลอดเวลานั้น เพราะว่าเรามันโง่

             เมื่อมีผัสสะ คือมีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นประจำวันน่ะ ในขณะแห่งผัสสะเช่นนั้น เรามันโง่ เหมือนกับว่าไม่รู้อะไร ไม่มีสติรู้สึกอะไร ไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งอะไร จิตใจมันก็ปรุงกันไปในลักษณะที่ต้องเป็นทุกข์ อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นี้มันเป็นเรื่องยาวที่ต้องอธิบายกันเรื่องหนึ่ง ซึ่งอธิบายแล้วคราวอื่น ใครไม่เคยได้ยินได้ฟังก็หามาศึกษา

             ที่ว่าความทุกข์เกิดเพราะเราโง่ ในขณะที่มันมีผัสสะในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่โง่ก็ต้องมีสติให้พอ และเร็วพอที่จะมาทันในเวลาของผัสสะ แล้วก็มีปัญญาความรู้ ที่ได้ศึกษาอบรมไว้ในเรื่องของวิปัสสนานี้พอ ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร เป็นความรู้ที่เพียงพอ และให้สติขนเอาความรู้นี้มาให้ทันในขณะแห่งผัสสะ

             ถ้ามีทั้งสติ มีทั้งปัญญา ในขณะแห่งผัสสะอย่างนี้แล้ว จิตนั้นมันก็ไม่ถูกปล่อยให้ปรุงไปอย่างโง่เขลา จนมีความทุกข์ มันจะควบคุมจิตนั้นไว้ได้ ปรุงมาในทางที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วก็จัดการแก้ไขกระทำสิ่งต่างๆ ที่มันเนื่องกันอยู่นั้น ให้ลุล่วงไปด้วยดี เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างไร ก็ทำได้ถูกต้อง ไม่มีอะไรเสียหาย แล้วก็ได้ประโยชน์ แล้วคนก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย

             นี่เรียกว่ามีสติพอ ในขณะแห่งผัสสะเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี้เป็นข้อหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำคัญ ทีนี้อีกข้อหนึ่งก็คือว่า เราจะบังคับจิตได้ ถ้าเรามีสติปัญญาตามแบบของวิปัสสนานี้ เราจะเป็นคนบังคับจิตได้ ในเรื่องบังคับจิตได้นั้นน่ะ เป็นเรื่องกว้างขวาง ที่ใช้คำว่าเอนกประสงค์

             ถ้าเราบังคับจิตได้เท่านั้นแหละ เราจะทำอะไรสำเร็จ และป้องกันสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาได้ด้วย มันมีอยู่ 2 แง่นะว่า ความคิดนึกที่ไม่พึงปรารถนาน่ะ ถ้าเราบังคับจิตได้มันก็ไม่เข้ามา แล้วเราบังคับจิตได้ก็ให้บังคับเป็นไปแต่ในทางที่ควรจะเป็นไป มันก็ไม่มีความทุกข์

             ท่านแสดงอานิสงส์ไว้มากกว่านี้ แต่เห็นว่าเพียง 2 ประการนี้ก็เกินพอแล้ว ถ้าเรายังมีสติในขณะที่ยังมีผัสสะ ไม่เกิดความโง่ในขณะผัสสะ ก็ไม่มีทุกข์ แล้วก็บังคับจิตได้ ไม่ให้มันเป็นไปในทางที่ต้องเป็นทุกข์ ไม่มาเป็นวิตกกังวล ที่เรียกกันว่าอารมณ์ค้างอยู่ในจิตใจ หลายวันหลายคืนมันก็ยังค้าง ยังวิตกกังวลอยู่ แล้วก็นำให้เป็นโรคประสาท ซึ่งกำลังเป็นกันมากขึ้นทุกที

             อาตมาอยู่ที่นี่ ไม่ได้ไปไหน แต่ก็รู้ว่าเป็นโรคประสาทกันมากขึ้นทุกที ก็เพราะว่าคนที่มีลักษณะเป็นโรคประสาทล่ะ มาที่นี่มากขึ้นๆ ก็รู้ได้เอง โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งอะไรๆ มันก็เป็นไปอย่างฉุกละหุก ยากที่จะควบคุม คนเราก็เป็นโรคประสาทกันมากขึ้น

             ดังนั้นจึงขอฝากไว้ในความสนใจว่า การทำสมาธิวิปัสสนานี้ มันจะคุ้มกันโรคประสาทนี้ได้เป็นอย่างดี ก็เพราะเหตุว่ามันทำให้บังคับจิตได้ ความรู้สึกคิดนึกอะไร ที่เราไม่ต้องการจะให้มีอยู่ ก็สลัดออกได้

             รวมความสั้นๆ ว่า ทำสมถะวิปัสสนานี้ เพื่อให้มีสติเร็ว และเพียงพอ เพื่อให้มีการบังคับจิตได้ 2 อย่างเท่านี้ก็เหลือกินเหลือใช้แล้ว หรือว่าจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ปัญหาทุกอย่างมันมารวมอยู่ที่ปัญหา 2 อย่างนี้ ถ้าเรามีสติและบังคับจิตได้ ปัญหาทั้งหลายจะมารวมอยู่ที่นี่ แก้ได้โดยการกระทำอย่างนี้ คือจะบรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอรหันต์ ก็เพราะว่าบังคับจิตได้ อย่างนี้เป็นต้น เราจึงมุ่งไปยังปัญหาหลักว่า จะต้องมีสติให้เร็ว ให้พอ และจะบังคับจิตให้ได้ เอาเป็นว่ามันเป็นเรื่อง มีสติและบังคับจิตได้

             ทีนี้ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีๆ เถิดว่า การปฏิบัติสมถะวิปัสสนา ที่จะอธิบายต่อไปนี้ มันเป็นการทำให้มีสติ และทำให้บังคับจิตได้ ท่านจงคอยสังเกตว่า ได้อธิบายตอนไหนข้อไหน จงหาให้พบว่ามันทำให้มีสติขึ้นมาอย่างไร และมันทำให้บังคับจิตได้อย่างไร นี่ขอให้คอยจ้องไว้อย่างนี้ ซึ่งอาตมาก็จะค่อยอธิบายไปตามลำดับ ทีละข้อๆ จนกว่าจะครบถ้วน ในขณะต่อไปเดี๋ยวนี้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องที่ควรทราบก่อนอย่างนี้

             เอ้า! ทีนี้ก็จะบอกให้ทราบว่า ระบบสมถะวิปัสสนาทั้งหมดนั้น ที่มีอยู่ในพระบาลีนั้นน่ะ มันมีสมบูรณ์แบบ หรือสมบูรณ์ ดังนั้นมันจึงมีมาก คือที่ท่านกล่าวไว้หรือพระองค์ตรัสไว้ อย่างสมบูรณ์แบบครบถ้วน สำหรับผู้ที่กระทำกันจริงๆ คือเสียสละบ้านเรือนออกไปอยู่ป่า มีเวลาทั้งหมด มีเรี่ยวแรงทั้งหมด แล้วก็ทำกันจริงๆ ดังนั้นท่านจึงตรัสไว้ให้มากมายๆ สมบูรณ์แบบมากมาย หรือว่ามันลึกซึ้งเอาการอยู่

             ทีนี้คนที่ไม่อาจจะสละบ้านเรือนไปอยู่ป่า ไปทำอย่างสมบูรณ์แบบได้นั้น จะทำอย่างไร แม้ในครั้งพุทธกาลมันก็มีอยู่นะ คนที่ไม่สามารถจะละบ้านออกไปอยู่ในป่า เป็นโยคี เป็นภิกษุผู้ปฏิบัติอยู่ทั้งวันทั้งคืนน่ะ มันเป็นไปไม่ได้มันก็มีอยู่

             ดังนั้นมันจึงต้องมีระบบลัดหรือสังเขป สำหรับคนที่ไม่อาจจะทำอย่างสมบูรณ์แบบอย่างนั้น แต่ก็สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน ในระบบลัดสั้นหรือสังเขปนี่ มันก็มีอยู่อีกระบบหนึ่ง ซึ่งคนพวกนี้ ไม่ต้องทำเต็มที่สมบูรณ์แบบ ตามที่ตรัสไว้ทั้งหมด

             ทีนี้ลองคิดดูเถอะว่า คนพวกไหนมีมาก ในโลกหรือในแผ่นดิน ในประเทศอินเดีย ครั้งพุทธกาลนั่นแหละ คนพวกไหนมีมาก มันก็คือคนพวกชาวบ้านธรรมดาน่ะแหละมีมาก คนที่จะออกไปอยู่ป่า ปฏิบัติอย่างจริงๆ ได้ มันมีไม่กี่คน

             ดังนั้นมันจึงต้องมีระบบ ที่เราจะใช้พูดจาสั่งสอนกัน สำหรับคนประเภทนี้ ซึ่งเรียกว่าชาวบ้านธรรมดา มันจึงเกิดระบบสมถะวิปัสสนาขึ้น 2 ระบบ คือ ระบบใหญ่ ไพศาล สมบูรณ์แบบ ระบบหนึ่ง นั้นก็จะพูดถึงเหมือนกัน แต่เอาไว้คราวอื่น อีกระบบหนึ่งก็ ประชาชนทั่วไป ซึ่งมีมากกว่ามาก มันก็มีอีกระบบหนึ่ง

             นอกจากนั้น ยังจะต้องมองไปอีกทางหนึ่งว่า คนโง่ คนฉลาดน่ะ คนไหนมีมาก มนุษย์ประเภทฉลาดเฉลียว มีสติปัญญามาก กับมนุษย์ที่ธรรมดาๆ ต้องพูดกันมาก พวกไหนมีมาก มันก็พวกธรรมดามีมาก แล้วบางทีนะพวกที่โง่เขลานี่ อาจจะเข้าได้มากกว่าซะอีก เดี๋ยวนี้เราจะพยายามลงมาจนถึงว่า แม้พวกธรรมดาที่เรียกว่า พวกโง่เขลานั่นแหละ ก็มีทางที่จะศึกษา รู้ และปฏิบัติได้ด้วยเหมือนกัน

             อาตมาจึงตั้งเค้าโครง หรือความพยายามที่จะพูด ให้ต่ำลงมาถึงขนาดนี้ ว่าคนธรรมดาๆ ที่ถูกจัดว่าเป็นคนโง่เง่าน่ะ ชั้นโง่เง่านี้มันก็ควรจะมีความรู้ พอที่จะรู้ได้ปฏิบัติได้ และช่วยให้เอาตัวรอดได้

             รวมความว่า ถ้าพูดกันไว้แต่ระบบละเอียด ประณีต สมบูรณ์สูงสุดแล้ว หมันก็เป็นหมันน่ะ เพราะว่าคนที่จะรับความรู้ขนาดนั้นได้มีน้อย จึงต้องมีระบบที่พอดีสำหรับคนทั่วไป ขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง ซึ่งจะขอเรียกไปทีว่า ระบบลัดสั้น

             แต่อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าเป็นลัดสั้นแล้ว ก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ ขอให้รู้ไว้ว่า แม้จะเป็นระบบลัดสั้น ก็ยังสำเร็จประโยชน์ คือดับทุกข์ได้เหมือนกัน ทำไมมันจึงลัดสั้นได้ ก็เพราะว่าเราไม่ต้องไปทำอย่างสมบูรณ์แบบ บางอย่างเราก็ไม่ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์นี่ ไม่ต้องทำ

             หรือแม้ที่สุดแต่ว่า จะบรรลุรูปฌาน อรูปฌาน ก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องทำจนถึงกับบรรลุรูปฌาน อรูปฌาน ในระบบลัดสั้น เพียงแต่ทำให้เป็นสมาธิพอสมควร แล้วก็ไปศึกษา พิจารณาธรรมะสูงสุด เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้มันพอ มันก็ดับทุกข์ได้

             พวกที่มันทำได้ก็ทำสิ ทำให้บรรลุฌาน ทั้งรูปฌาน อรูปฌาน แล้วจึงค่อยพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็บรรลุกันอย่างดีเลิศ มีอิทธิปาฏิหาริย์ มีอะไร มันเป็นอุภโตภาควิมุติ นั้นน่ะ มันดี มันประเสริฐเกินไป มันไม่เอามาใช้กับคนธรรมดานี้ได้ จึงยังไม่พูด ในวันนี้จะยังไม่พูดระบบใหญ่ทั้งหมด จะพูดแต่ระบบลัดสั้น เท่าที่จะเป็นประโยชน์แก่คนธรรมดาสามัญทั่วไป

             ทีนี้ก็อย่าเข้าใจว่า ถ้าลัดแล้วมันจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มันก็ใช้ประโยชน์ได้ คือถึงจุดที่มุ่งหมายต้องการเหมือนกัน แต่ว่าไม่เก่ง ใช้คำว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน ทำอะไรได้สำเร็จเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีความเก่ง แต่มันก็ทำได้ เอากันเพียงเท่านี้ มันก็จะพอ ไม่เช่นนั้นมันจะตายเปล่านะ ไอ้พวกคนไม่เก่งทั้งหลาย อย่าไปหวังให้มันมากนัก มันจะตายเปล่า เอาแต่เพียงมันดับทุกข์ได้ มันก็จะพอ จึงขอสรุปมาบรรยาย ในลักษณะที่เป็นระบบลัดสั้น

             ถ้าจะถามว่า ลัดสั้นอย่างไร ก็ตอบว่า เว้นส่วนที่เกิน หรือไม่จำเป็นน่ะออกเสีย คือ ลัดสั้น เหมือนอย่างว่า บ้านเรือน เรามีอะไรเท่าที่จำเป็น จะกิน จะอยู่ จะใช้ จะสอย มันก็อยู่ได้ แต่ที่ในบ้านเรือนมันเต็มไปด้วยสิ่งที่เกินจำเป็น เหมือนกับคนบ้านั่นน่ะ จะพูดได้ว่าทุกบ้านน่ะ มันจะเหมือนกับคนบ้า ให้มีสิ่งที่ไม่จำเป็น ที่มันเกินจำเป็น เต็มไปหมด

             เห็นมั้ย ถ้าเราเอาไปทิ้งเสียให้หมด ให้เหลือแต่ที่จำเป็น เราก็มีอยู่กันแต่สิ่งที่จำเป็น เราก็ไม่ตาย เราก็อยู่ได้ เราก็เป็นสุข บางทีจะไม่ยุ่งมาก เหมือนกับบ้านเรือนที่มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่จำเป็น เดี๋ยวนี้มันเห่อ เห่อนั่น เห่อนี่ อะไรออกมาโฆษณา ก็ซื้อเข้ามาใส่ในบ้าน ให้มันรกรุงรังไปหมด ล้วนแต่ไม่จำเป็นนั่นน่ะ

             ทางปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน เราก็มีหลักว่า ส่วนที่ไม่จำเป็น เราจะเอาออก หรือจะเว้นเสีย จะเดินไปแต่ส่วนที่จำเป็น มันจึงเป็นการลัด ถ้าถามว่าลัดอย่างไรล่ะ ก็คือเว้นส่วนที่เกินจำเป็นออกไปเสีย คือไม่ต้องสมบูรณ์แบบ สำหรับหรูหราสวยงาม วิจิตรพิสดาร เอาแต่เท่าที่จำเป็น ที่จะดับทุกข์ได้

             ทีนี้ถ้าถามว่า ทำไมจะต้องลัดล่ะ มันก็ตอบอยู่แล้วว่า มันจะไม่เสียเวลา มันจะไม่ล้มละลาย ถ้าไม่ลัด มีแต่ระบบใหญ่ ระบบสำหรับคนมีสติปัญญา ไอ้คนที่ไม่มีสติปัญญาก็ไม่มีทางจะทำได้ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นหมันเสียมาก เพราะว่าทำได้น้อยคน นี้จึงต้องลัด ให้มามีระบบที่เหมาะสำหรับคนทั่วไป หรือส่วนมาก

             ทีนี้จะเทียบกันให้ดู ว่าลัด ลัดอย่างไรนะ คอยฟังให้ดีนะ บางทีอาจจะฟังไม่ถูกก็ได้ ว่าลัดอย่างไร คือเอาระบบที่มันสมบูรณ์แบบ กับระบบที่เราจะพูดว่าลัดสั้นนี้ มาเทียบกันดู ถ้าเอาระบบสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอานาปานสติ ตามหลักมหาสติปัฏฐานก็ดี ตามหลักอานาปานสติสูตรก็ดี นี้เรียกว่าสมบูรณ์แบบ เอามาเปรียบเทียบกับหลักที่จะพูดทีหลัง ว่าลัดอย่างไร

             ถ้าเป็นระบบสมบูรณ์แบบ ก็เป็น 4 หมวด หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต หมวดธรรม หมวดกายคือลมหายใจ ก็กำหนดลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว รู้ธรรมชาติ ธรรมดา ของลมหายใจสั้น รู้อิทธิพลของมัน รู้กระทั่งว่า ความที่มันตกแต่งร่างกาย กายเนื้อนี่แหละ และรู้วิธีทำให้ลมหายใจระงับ ระงับ ระงับ จนถึงเป็นฌาน เป็นรูปฌาน ไปตามลำดับ

             เพียงแต่ 4 ขั้นนี้ ก็เกือบตายแล้ว กับระบบลัดสั้นน่ะ มันไม่ต้องทำถึงอย่างนั้น ทำแต่จิตเป็นสมาธิพอสมควร แล้วก็ไปพิจารณาธรรมะ ที่เป็นตัวเรื่องกันเสียเลย เพียงแต่เกี่ยวกับกาย หรือลมหายใจอย่างเดียวใน 4 ขั้นนั้นน่ะ มันก็ใหญ่โตมโหฬาร แล้วก็ทำไปให้ถึงกับเป็นฌาน เป็นสมาธิชั้นอัปปนา เป็นฌานน่ะ เพื่อว่าจะได้มีปีติ หรือสุข จากองค์ฌานนั้นน่ะ ไปใช้ในขั้นต่อไป

             เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องทำ ในเรื่องลัด คือพอมาหมวดที่ หมวดเวทนา ก็ต้องเอาปีติแท้จริง มารู้สึกอยู่ในใจ เอามาจากฌาน เอาสุขที่แท้จริงเมื่อรู้สึกอยู่ในใจ เอามาตั้งหน้าตั้งตาศึกษาสอดส่องดู จนรู้ว่าไอ้นี่เองมันปรุงแต่งจิต แล้วก็หาวิธีลดกำลังของปีติและสุขนั้นเสีย จนได้ตามปรารถนา 4 ขั้นนี้ก็เกือบตายอีกนั่นแหละ สำหรับคนโง่น่ะ มันจะทำไม่ได้ทันเวลาหรอก จะไปศึกษาเรื่องปีติ เรื่องสุข จนกระทั่งลดอำนาจของมันได้ ลงไปๆ

             เรามีวิธีกระโดดข้าม ตามแบบลัดสั้น คือเมื่อจิตเจริญสมาธิพอสมควรแล้ว ก็กำหนดความรู้สึก ที่มันเกิดขึ้นเองน่ะไม่ใช่จากฌาน ว่าพอใจ ไม่พอใจอะไร ก็รู้สึก แล้วก็ควบคุมมันไปตามที่จะทำได้ แล้วมันจะค่อยรู้ขึ้นมาเอง ว่าเป็นเรื่องมายา เวทนาทั้งหลายเป็นเรื่องมายา เป็นการกำหนดง่ายๆ เรียกว่าขั้นเดียวก็ได้ ก็มีผลเท่ากับว่า 4 ขั้น ของหมวดเวทนานุปัสสนา

             ทีนี้มาถึงหมวดที่ 3 สมบูรณ์แบบหมวดที่ 3 เรื่องจิตตานุปัสสนา รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร แล้วก็มีวิธีทำจิตให้ร่าเริงอย่างไร มีวิธีทำจิตให้ตั้งมั่นอย่างไร มีวิธีทำจิตให้ปล่อยวางอย่างไร มันยากพอๆ กับว่าจะหัดแสดงกายกรรมจีนอย่างนั้นล่ะ ไม่ต้องเลยๆ ทั้ง 4 ขั้นนี้ ในหมวดนี้ หมวดจิตตานุปัสสนา 4 ขั้นนี้ไม่ต้องทำเลย ถ้าเอาอย่างลัดสั้น ที่จะไปทำคอย กำหนดจิตทุกชนิดจนรู้จักดี และทำจิตให้ร่าเริงได้ทันที ทำจิตให้ตั้งมั่นทันที ทำจิตให้ปล่อยวางทันทีนี้ มันเก่งนะ มันเก่งเกินไป ไม่ต้องก็ได้

             เรากระโดดข้ามไปยังหมวดที่ 4 ธัมมานุปัสสนาได้เลย คือว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิบ้างแล้วพอสมควรในหมวดที่ 1 กระโดดข้ามไปพิจารณาว่า ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง อะไรที่อยู่ในความรู้สึกน่ะ ลมก็ดี อะไรก็ดี ที่มีอยู่ในความรู้สึกที่เรากำหนดอยู่ เห็นความไม่เที่ยงๆ

             นี่เรียกว่ากระโดดข้าม จากหมวดที่ 1 ขั้นที่ 1 ไปสู่หมวดที่ 4 เรื่องความไม่เที่ยงเลย จะเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่เป็นเนื้อเป็นตัว ในชีวิตชีวานี้ ก็กำหนดความไม่เที่ยงนั้นอยู่เรื่อยไปทุกครั้งที่หายใจ จนรู้สึกคลายความรัก ความพอใจ ความยึดถือในสิ่งที่เคยยึดถือ เช่น สุขเวทนา เป็นต้น หรือแม้ในตัวชีวิตเอง ที่เราเคยหลงรักยึดถือหมายมั่น พอมันเห็นความไม่เที่ยง ของทุกส่วนที่ประกอบกันเป็นชีวิต มันก็คลายความยึดมั่นถือมั่นในชีวิต

             มันก็เห็นว่า โอ้! คลายแล้วๆ เพ่งๆ กันให้มากตอนนี้ เห็นความไม่เที่ยง พอเห็นว่ามันเริ่มคลายความยึดถือแล้ว ก็เพ่งที่ความคลายๆๆๆๆ จนกระทั่งว่า ไอ้ความยึดถือบางส่วนดับไป ก็ดูที่ความดับไปแห่งความยึดถือบางส่วนนั้นก็ได้ กระทั่งว่าอะไรหลุดไปแล้ว อะไรพ้นไปแล้ว สลัดไปได้แล้ว ก็เอามาดู เป็นขั้นที่ 4 ของหมวดที่ 4 คือสลัดคืนนั้นน่ะ

             แต่ว่าที่จริงไม่ต้องดูก็ได้ ถ้าว่ามันปล่อย ไม่ยึดถือแล้ว มันปล่อยแล้ว มันก็ไม่ต้องดูก็ได้ ว่ามันปล่อยแล้ว เพราะหากว่ามันปล่อยแล้ว มันก็หมดทุกข์แล้ว ดับทุกข์ได้แล้ว มันก็พอใจได้แล้ว ไม่ต้องดูก็ได้ ดังนั้นจึงคงดูแต่อนิจจัง ดูแต่ความที่มันคลายออก และดูแต่ความที่มันดับไปก็พอ ถ้าจะสมบูรณ์แบบ ก็ต้องดูความที่มันสลัดคืนนั่นน่ะ สลัดได้แล้ว ชนะแล้ว อะไรแล้วได้ด้วย

             นี้แหละเราจะประหยัด ลัดสั้นได้มากนะ โดยทำจิตเป็นสมาธิพอสมควร คือกำหนดสิ่งเหล่านั้น กำหนดลม กำหนดอะไรตามที่มีอยู่นั้นน่ะ แล้วอะไรเกิดขึ้นในความรู้สึกทุกชนิด ก็ดูว่า มันไม่เที่ยง จะแยกดูให้ละเอียดกว่านั้นก็ได้ เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังตามสมควร แต่ทางที่ลัดสั้น กระโดดเร็วที่สุดก็คือ อะไรเข้ามาปรากฏในความรู้สึก แล้วดูความไม่เที่ยง

             เมื่อเห็นความไม่เที่ยง ก็นับว่าได้เปรียบแล้ว พูดภาษาชาวบ้านว่า ชัยชนะอยู่ข้างฝ่ายเราแล้ว เราได้เปรียบเต็มที่แล้ว ถ้ามองเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้นๆ ล่ะก็ เรียกว่าหวังได้ เพ่งที่ความไม่เที่ยงเรื่อยไปๆๆ แล้วก็มันจะคลาย คลายความยึดถือโดยอัตโนมัติ ตามกฎของธรรมชาติมันคลายเอง ในเมื่อมันคลายเองๆๆ ตามกฎของธรรมชาติ มันก็ดับลงไปได้ หรือสิ้นไปได้ เป็นเรื่องๆ อย่างๆ ไป

             มันไม่ต้องมากมาย ไม่ต้องมีพิธี วิธีอะไรมากมาย จนกล่าวได้ว่า ถ้าเห็นความไม่เที่ยงแล้ว ไม่เที่ยงแล้ว มันก็จะหล่นผล็อยไปทีเดียว ไอ้สิ่งที่เคยยึดถือจะหล่นผล็อยไป เหมือนกับใบไม้ร่วงในฤดูใบไม้ร่วง นี่มันก็เหลือเท่านี้

             ทำจิตเป็นสมาธิพอสมควร ดูความไม่เที่ยง แล้วมันก็จางคลาย ดับไปเหมือนกับใบไม้ร่วงในฤดูใบไม้ร่วง นี่มันสั้นนะ แต่ถ้าพูดสมบูรณ์แบบ มัน 4 หมวดๆ ละ 4 ขั้น มันเป็น 16 ขั้นน่ะ แล้วในแต่ละขั้นๆ ของ 16 ขั้นนั้น มีเรื่องมากน่ะ พูดกันเดือนหนึ่งก็ไม่จบ ให้เขียนเป็นหนังสือก็เล่มเบ้อเร่อเลย นั้นน่ะคือสมบูรณ์แบบ นั้นเก็บไว้ก่อน อย่าเอามาพูด

             วันนี้จะพูดเรื่อง ระบบลัดสั้น วิธีลัดสั้น ที่เห็นได้เลยว่ามันเหมาะสำหรับทุกคน ดังนั้นขอให้ฟังให้ดี ไอ้เรื่องที่เปรียบเทียบให้อย่างเมื่อตะกี้ยุ่งๆ ไม่ต้องสนใจล่ะ ยุ่งหัวเปล่าๆ ล่ะ ไม่ต้องเทียบ ไม่ใช่หน้าที่ ที่ผู้ปฏบัติจะต้องเทียบ เป็นแต่เพียงเอามาเทียบให้ฟังว่า มันลัดสั้นได้ แล้วมันก็ไม่เสียไปในส่วนสำคัญ คือมันสำเร็จประโยชน์ด้วยเหมือนกัน แต่เอามาพูดให้ท่านทั้งหลายฟังว่า มันเป็นสิ่งที่ทำได้ การลัดสั้นคือทำอย่างนี้

             เอ้า! เลิกกัน ไม่ต้องพูดแล้ว ไอ้เรื่องลัดสั้นทำไม เพราะเหตุไร อย่างไร ไม่ต้องพูดกัน มาพูดกันถึงเรื่องวิธีปฏิบัติ ที่จะปฏิบัติไปตามวิธีที่เรียกว่าลัดสั้น เอ้า! ทีนี้พูดเรื่องลัดสั้นนะ แม้อย่างนั้นก็ยังจะต้องแบ่งออกเป็นสัก 2 ตอน เพราะมันเป็นการปฏิบัติที่ยืดยาว ถ้าแบ่งออกเป็นสัก 2 ตอน มันจะง่ายเข้าๆ ไอ้เรื่องยืดยาวแต่เอามาทำเป็นตอนสั้นๆ เข้า มันปฏิบัติง่ายเข้า

             ระบบลัดสั้น สำหรับท่านทั้งหลายทุกคนน่ะ ก็ขอตัดออกเป็น 2 ตอน คือตอนที่ปฏิบัติเกี่ยวกับลมหายใจนี่ตอนหนึ่ง แล้วก็ตอนปฏิบัติที่เกี่ยวกับอิริยาบถทั้งหลาย นั้นยืดยาวมาก มันเกี่ยวโยงกันมาก พูดกันในตอนระบบสั้น ลมหายใจอย่างไรนี่ก่อนดีกว่า จะได้เป็นพื้นฐานด้วย จะเป็น กอขอ กอกา ในขั้นต้นด้วย แล้วไปใช้กับระบบอื่นๆ ต่อไปข้างหน้าได้ด้วย ฉะนั้นขอพูดระบบเกี่ยวกับลมหายใจก่อน

             ทีนี้เราก็เริ่มกำหนดเกี่ยวกับลมหายใจ ธรรมดาเราก็หายใจกันอยู่แล้ว เพียงแต่มีสติกำหนดลมหายใจอยู่ ว่ามันหายใจอย่างไร เมื่อมันหายใจอยู่ จะเรียกว่าจิตก็ได้ จะเรียกว่าสติก็ได้ ถ้าเรียกให้ถูกก็เรียกว่าสติ สติมันไปกำหนดที่ลมหายใจ หายใจเข้าออกอย่างไร หลับตาก็ได้ ไม่หลับก็ได้ แล้วแต่สะดวกสำหรับบางคน

             แต่ขอให้สติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ว่าลมหายใจเข้าไป ลมหายใจออกมา ลมหายใจเข้าไป ออกมา เข้าไป ออกมา เข้าไป ออกมา เดี๋ยวนี้สติมันมากำหนดอยู่ที่ลมหายใจ มันผิดกับธรรมดามาก ที่สติไปอยู่กับอะไรไม่รู้ล่ะ ไปอยู่กับวัวควาย ไร่นา ของเอร็ดอร่อย สนุกสนาน ไม่มีอยู่ที่อะไรล่ะธรรมดา มันไปอยู่กับทุกสิ่งที่มันเป็นเหยื่อ

             เดี๋ยวนี้จับมากำหนดลมหายใจ ที่เข้าอยู่ออกอยู่ เข้าอยู่ออกอยู่ นั่นน่ะดูเถอะ นั่นน่ะคือฝึกสติน่ะ สติมันถูกฝึก ถ้าฝึกได้มันก็มีสติ ดังนั้นจงรู้ว่า มันจัดการกับสติโดยตรง เอาตัวสติมากำหนดลมหายใจ มีทางที่จะกำหนดเป็นลำดับเข้าไป คือประณีต ละเอียด ลึกขึ้นไปเป็นลำดับ

             ครั้งแรกก็กำหนดเพียงว่า เข้า และ ออก หายใจเข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ ไม่ต้องออกเสียงล่ะ ไม่ต้องว่าให้เป็นเสียง ออกหนอ เข้าหนอ พูดในใจ เหมือนกับเราพูด เข้าหนอ ออกหนอ แต่ไม่ต้องทำเสียงให้หนวกหู เมื่อหายใจเข้าก็ เข้าหนอ ออกก็ ออกหนอ จะว่าเข้าเฉยๆ ก็ได้ โดยไม่หนอ แต่ว่าเรื่องหนอนี่มีประโยชน์ เดี๋ยวจึงค่อยอธิบายทีหลัง

             เราไม่ชอบเราก็ว่า เอ้า! เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก เพียงเท่านี้เท่านั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว ไอ้จิตมันไม่ยอมล่ะ มันดิ้นรนที่จะไม่อยู่ที่นี่ มันจะไปเที่ยวที่อื่น เพียงแต่ว่าใครกำหนดให้ได้ว่า มันเข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ อยู่ที่ตรงนี้นะ เรียกว่าสติมันถูกฝึกอย่างมาก จิตมันถูกบังคับอย่างมาก สติต้องมาหัดฝึกกำหนดอยู่ที่อารมณ์นี้ คือลมหายใจนี่ แล้วก็บังคับไม่ให้ไปที่อื่นนะจิต นี่จึงเรียกว่าทั้งฝึกสติ ทั้งบังคับจิต

             อยากจะบอกว่า ทำเหมือนเล่นๆ ก็ได้ ได้ผลดีกว่าทำเครียด จริงจัง ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทำเหมือนกับเล่นๆ น่ะ แต่ขอให้ทำได้นะ เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก ตามเวลาที่นานพอสมควร

             ทีนี้ถ้าทำได้ จะฝึกกี่วัน กี่เวลาก็ตามใจ ก็เลื่อนขึ้นไปเถอะว่า สังเกตให้ละเอียดเข้าไปอีกว่า มันสั้นหรือมันยาว ที่มันเข้าไปหรือออกมาน่ะ มันสั้นหรือมันยาว ทีนี้มันสั้นก็รู้ว่ามันสั้น มันยาวก็รู้ว่ามันยาว ถ้าว่ามันยาวก็ว่ามันยาว มันสั้นก็ว่ามันสั้น จึงกำหนดว่า ยาว สั้น ยาวหนอก็ได้ สั้นหนอก็ได้ ให้พอดีกับครั้งหนึ่งน่ะที่มันหายใจออก ยาวก็ว่า ยาวหนอ ถ้าสั้นก็ สั้นหนอ

             นี่มันรู้ละเอียดขึ้นไป ว่ามันยาวหรือมันสั้น เมื่อตะกี้รู้แต่ว่ามันหายใจเข้า หายใจออก ไอ้ชุดนั้นกำหนดว่า เข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ จนได้ ชุดนี้กำหนดว่า สั้นหนอ ยาวหนอ สั้นหนอ ยาวหนอ หรือยาวหนอ ยาวหนอ ยาวหนอ หรือ สั้นหนอ สั้นหนอ สั้นหนอ นี่เรียกว่าสติมันถูกฝึก ให้มากำหนดอยู่ที่ความสั้นหรือความยาว

             เอ้า! ทีนี้ละเอียดเข้าไปอีก ว่ามันหยาบ หรือละเอียด ถ้ามันหายใจแรงก็คือหยาบ หายใจเบาก็คือมันละเอียด ถ้าหัวใจหรืออารมณ์มันกำลังตื่นเต้น คนเราก็หายใจหยาบ เช่น โกรธ เช่น กลัว หายใจมันก็หยาบ หรือมันตกใจ หายใจมันก็หยาบ ถ้าไม่มีเหตุการณ์เหล่านั้น หัวใจมันก็ละเอียด ลมมันก็ละเอียด

             เดี๋ยวนี้เราสังเกตดูเถอะ โอ้! มันหยาบเว้ย หรือมันละเอียดเว้ย การกำหนดก็จะเกิดคำว่า หยาบหนอ ละเอียดหนอ หยาบหนอ หยาบหนอ หยาบหนอ ละเอียดหนอ ละเอียดหนอ ไม่ต้องไปนึกห่วง ว่าเข้าหรือออก สั้นหรือยาวล่ะ เพราะว่ามันมีอยู่แล้วในตัวนี่ ถ้ารู้ว่าหยาบ มันก็หยาบออกไปน่ะแหละ หยาบเข้ามา เมื่อเราจะกำหนดหยาบละเอียด เราก็กำหนดหยาบละเอียดเป็นส่วนใหญ่ แล้วมันก็รู้สึกอยู่ดีล่ะ มันหายใจเข้าหรือหายใจออกนั้น มันรู้เอง

             นี่เห็นมั้ยว่า กำหนดลมหายใจชนิดนี้ ไม่ต้องเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ไหน ชาวนาก็ทำได้ นั่งลงในที่สมควรน่ะ นั่งลงตามสบายในที่สมควร ไม่ต้องบ้าเลือกพิถีพิถันอะไรกันนัก ที่มันพอนั่งได้สบาย นั่งขัดตะหมาดตามสบาย วิธีที่มันไม่ล้มนั่นน่ะ เอาง่ายๆ เรานั่งอย่างเด็กๆ หัดนั่งขัดตะหมาดไว้แต่เล็ก เท่านั้นน่ะพอแล้ว

             นี่กำหนดลมหายใจในขั้นที่ว่า เข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ ทีนี้เปลี่ยนเป็นว่า สั้นหนอ ยาวหนอ สั้นหนอ ยาวหนอ ก็กำหนดได้ดี ทีนี้กำหนดว่า หยาบหนอ ละเอียดหนอ หยาบหนอ ละเอียดหนอ นี้มันไม่ยากนะ มันไม่ยากนะ ถ้าทำไม่ได้ล่ะก็ คิดว่าแย่มากแล้ว ถ้าใครทำไม่ได้ก็ดูเถอะ จะเหมือนกับแมวแล้ว เป็นแมวไปเลย ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ จึงเรียกว่า ลัดสั้นที่สุด ต่ำที่สุด ง่ายที่สุดแล้ว

             เอ้า! ทีนี้จะสูงขึ้นไป จะสูงขึ้นไป แม้แต่ว่าเรื่องลัดสั้นมันก็มีชนิดละเอียดลึก สูงเหมือนกันแหละ ทีนี้ก็จะกำหนดนี่ ว่าเมื่อเรากำหนดลมอยู่นั่นน่ะ ลมมันถูกกำหนดนะ ลมน่ะมันถูกกำหนด ที่เรารู้สึกว่าจิตกำหนด จิตกำหนดนี่ มันจะแยกกันเป็นรูปและเป็นนาม

             ไอ้ลมหายใจนั้นน่ะมันเป็นรูป เมื่อไปกำหนดลมหายใจ กำหนดลมหายใจเข้าออกอะไรก็ตาม ว่ารูปหนอ รูปหนอ เพราะว่าเรากำหนดที่ลมหายใจ เราก็กำหนดว่า รูป หรือ รูปหนอ รูปหนอ คือตัวลมนั่นแหละ เค้าเรียกว่า รูป เพราะว่ามันเป็นรูปธาตุ แล้วกำหนดที่ลมกระทบ หรือกำหนดที่อะไร ก็สุดแท้แต่ที่มันเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นวัตถุ แล้วก็เลยว่ารูป รูปหนอ

             ทีนี้กำหนดที่ความรู้สึกของจิต จิตที่กำหนด หรือตัวผู้กำหนดน่ะคือตัวจิตก็ได้ หรือตัวความรู้สึกว่ากำหนดก็ได้ อันนี้มันเป็นนาม จะไปกำหนดเข้าที่จิต ที่เป็นผู้รู้สึกว่า นามหนอ นามหนอ ถ้ากำหนดที่ลมหายใจก็ว่า รูปหนอ รูปหนอ

             มี มีหลายแห่งที่ให้กำหนดว่า รูปหนอ แล้วก็มีหลายแห่งที่ให้กำหนดว่า นามหนอ ขอแต่ว่าจิตที่กำหนด หรือความรู้สึกที่ว่ากำหนดก็ได้ นี่ก็นามหนอ นามหนอ เราก็เลยกำหนด นาม รูป อย่างนี้ นาม และ รูป นามคือความรู้สึกที่กำหนด รูปคือสิ่งที่ถูกกำหนด เพราะถ้าว่าเรากำลังทำความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจ เราก็พูดว่ารูปหนอ รูปหนอ แต่ไม่ต้องออกเสียง พูดวิธีที่ไม่ต้องออกเสียง

             เมื่อจิตมันเพ่งลงไปที่ลม ที่ถูกกำหนด หรือที่ๆ ลมมันกระทบก็ดี จึงกำหนดว่ารูปหนอ รูปหนอ คือมันเป็นรูปธรรม กำหนดว่ารูปหนอ แต่ถ้าเผอิญไปกำหนดที่ไอ้ตัวความรู้สึกที่กำหนด หรือจิตที่กำหนด ก็เรียกว่า นามหนอ นามหนอ จะได้รู้จัก 2 อย่างนี้ รู้จักทั้งรูปและทั้งนาม

             แต่ถ้าว่าเรากำหนดลมหายใจ ยาวหรือสั้น หยาบหรือละเอียด ก็ตาม ไอ้ความที่มันยาวหรือสั้น มันก็เป็นรูปเหมือนกัน เค้าเรียกว่า อุปาทายรูป มีลักษณะแห่งความยาว ความสั้น ความหยาบ ความละเอียด หรือกิริยาที่เข้าไป กิริยาที่ออกมา ก็เรียกว่ารูปได้เหมือนกัน อุปาทายรูป ไม่ใช่มหาภูตรูป

             ถ้าเรากำหนดลมหายใจแท้ๆ มันก็เป็นมหาภูตรูป กำหนดรูปที่เป็นตัวมหาภูตรูป แต่ไม่อยากจะอธิบาย มันจะเกินแล้ว คุณไม่ต้องรู้แล้วว่า มหาภูตรูป หรืออุปาทายรูป มันจะเกินแล้ว มันจะยุ่งแล้ว

             เอาแต่ว่า ถ้าว่ากำหนดที่ตัวลมหายใจ หรือที่ลมหายใจกระทบ หรือลักษณะอาการแห่งลมหายใจกำหนดอยู่ แล้วก็รู้สึก อ๋อ! นี่รูป เราก็ว่า รูปหนอ กำหนดจิตที่กำหนด หรือความรู้สึกที่รู้สึก ก็เรียกว่า นามหนอ นามหนอ

             ถ้าจะไปบอกชื่อภาษาบาลีทุกอย่างๆ เรื่องมันก็มาก มันก็กลายเป็นเกินสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องเกิน เสียเวลาเปล่าๆ ขอให้กำหนดแต่เพียงว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม มันเป็นของหยาบ และเนื่องอยู่กับของหยาบ ก็เรียกว่า รูป ถ้ามันเป็นละเอียดไม่มีรูป ก็เรียกว่านาม คือจิตใจ ในตอนนี้คงจะยากขึ้นมาบ้างแล้วนะ

             เมื่อหายใจเข้าออกอยู่ กำหนดลมว่า รูปหนอ รูปหนอ กำหนดที่จิตที่กำหนดลมอยู่ว่า นามหนอ นามหนอ ด้วยความรู้สึกอยู่ว่ากำหนดอยู่อย่างไร เรียกว่า นามหนอ นามหนอ นี้ขึ้นมาถึงขั้นกำหนดรูปนาม

             ทีนี้เอาให้มันเก่งขึ้นมาอีกสักนิดนะ บางคนอาจจะง่วง หรือโมโหแล้วก็ได้ คือมันไม่รู้ว่าอะไร เอ้า! ทีนี้จะกำหนดให้เก่งขึ้นมาอีกนิด คุณจะจำไว้ดีล่ะ ที่เรียกว่า เบญจขันธ์ เบญจขันธ์น่ะ นี่จะรู้จักเบญจขันธ์กันแล้วทีนี้ เข้าใจว่าเหล่านี้คงเคยได้ยินเบญจขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กันมาแล้วทั้งนั้นนะ เอ้า! จะมาบอกกันให้รู้ ว่ามันอยู่อย่างไรนะ

             เมื่อเรากำหนดลมมาตามลำดับๆ อย่างที่ว่านี้ เข้าหนอ ออกหนอ สั้นหนอ ยาวหนอ หยาบหนอ ละเอียดหนอ นามหนอ รูปหนอ ทีนี้จะกำหนดให้มันเห็นชัดว่า อย่างไรเรียกว่ารูป ก็อย่างที่ว่ามาแล้วน่ะ กำหนดที่ลม หรือกำหนดที่ความสั้นยาว หยาบละเอียดของลม นี้เรียกว่ารูป รูปเหล่านี้เรียกว่า รูปขันธ์

             ขันธ์ แปลว่า หมวดหรือกอง คือกองรูป ทีนี้ถ้าในเวลาที่กำหนดนั้น มันมีรู้สึกเวทนา อะไรแทรกแซงเข้ามาบ้าง เมื่อเรากำหนดอยู่อย่างนั้น บางทีมันรู้สึกสบายก็มี พอใจถูกใจก็มี หรือถ้าเผอิญว่าภายนอกมันแทรกแซง เช่นว่า มันเจ็บที่นั่น หรือปวดเมื่อยขึ้นมาก็มี อย่างนี้

             ถ้าความรู้สึกอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา เราก็เรียกว่า เวทนา เวทนา นี่แหละ เวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์มาแสดงหน้าตาให้เห็นแล้ว เมื่อกำหนดลมหายใจอยู่ พอใจ สบายใจ ไอ้ความพอใจสบายใจนี่แหละ ไอ้ความรู้สึกนะ ต้องมีความรู้สึกอยู่จริงๆ นะ นั่นน่ะคือเวทนาขันธ์ จึงกำหนดว่า เวทนาหนอ เวทนาหนอ เวทนาเฉยๆ ก็ได้ เวทนาหนอก็ได้ นั้นน่ะคือ เวทนาขันธ์ รู้จัก เวทนาขันธ์ ที่ท่องกันมา ร้อยหน พันหน ซะบ้างสิ ได้แต่ท่องแหละ เดี๋ยวนี้มันจะรู้จักว่า ไอ้ตัวจริงเป็นอย่างไร

             ทีนี้เมื่อเรากำหนดลมอยู่ สั้นยาวอะไรก็ตาม ตามที่กำหนดนั้นน่ะ มันทำความสำคัญมั่นหมายได้ ว่าโอ้! นี้เรียกว่าลม นี้เรียกว่าสั้น นี้เรียกว่ายาว หรือสำคัญได้ว่าหยาบ ว่าละเอียด ไอ้ความสำคัญได้ มั่นหมายว่าเป็นอย่างไรได้ นี่เรียกว่า สัญญาขันธ์

             มันจำได้ว่า อย่างนี้เรียกว่าสั้น อย่างนี้เรียกว่าลม อย่างนี้เรียกว่าลมสั้น อย่างนี้เรียกว่าลมยาว อย่างนี้เรียกว่าลมหยาบ อย่างนี้เรียกว่าลมละเอียด มันจำได้ มันกำหนดได้ นี้เรียกว่า สัญญาขันธ์ มันมีสัญญา กำหนดได้นี่แหละ สัญญาขันธ์

             เราเพ่งเฉพาะที่ความรู้สึกกำหนดได้ จำได้ สำคัญได้ว่า สัญญา สัญญาหนอๆๆๆๆ เมื่อจิตกำหนดอยู่ที่ความรู้สึก ในความสำคัญนั้นน่ะ เราก็เรียกไอ้สิ่งนั้นว่า ความสำคัญ หรือสัญญา แล้วก็ใช้คำว่าสัญญา สัญญาหนอๆๆ

             ทีนี้ตัวการกำหนดนั้นเอง มันมีความคิดอยู่ในตัวการกำหนด ไอ้ความคิดนึกที่มันมีอยู่ในตัวการกำหนดก็ดี หรือถ้าเผอิญจิตเวลานั้น ไปหวนคิดถึงอะไรก็ดี ไอ้ความคิดนั้นคือสังขาร สังขารปรุงแต่ง คือความคิด ไปกำหนดเข้าที่ตัวความคิดนั้น เราก็ว่า สังขารหนอๆๆ

             ทีนี้เรากำหนดที่ตัววิญญาณ การที่จะรู้สึกต่อลมน่ะ มันต้องมีกายวิญญาณ เช่น กายผิวจมูก เป็นกายมีวิญญาณที่รู้สึกต่อลม นี้ก็คือวิญญาณ วิญญาณกายวิญญาณ หรือมโนวิญญาณ ที่มันจะมากำหนดเข้าที่ตัวลม ที่หยาบละเอียด เป็นต้นนี้ ก็เรียกว่าวิญญาณเหมือนกัน จะเป็นกายวิญญาณก็ดี มโนวิญญาณก็ดี มันก็จะเกิดอยู่ในขณะที่กำหนดอยู่ตลอดเวลา แล้วกำหนดว่า วิญญาณหนอๆๆ วิญญาณของกายวิญญาณที่รู้สึกต่อลมกระทบก็ดี หรือมโนวิญญาณ รู้สึกต่อการที่จิตอันนั้นมันกำหนดอารมณ์นั้นก็ดี เรียกว่าวิญญาณด้วยกันทั้งนั้น

             ได้ 5 อย่างแล้วมั้ยล่ะ รูปหนอๆ เวทนาหนอ สัญญาหนอ สังขารหนอ วิญญาณหนอ นี่ 5 ขันธ์ 5 อย่าง นี่รู้จักขันธ์ 5 ตัวจริง ในความรู้สึกเป็นสันทิฏฐิโกอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าเรากำหนดนามและรูป รูปคือ กาย นามคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปนั้นกำหนดเป็นอย่างเดียวเรียกว่า รูป จะเป็นอุปาทายรูป หรือมหาภูตรูป ก็รวมเรียกว่า รูป ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่า นาม

             เดี๋ยวนี้เรารู้จักกำหนดรูปหรือนาม ถ้าแยกนามเป็น 4 ก็เรียกเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วแต่เราจะชอบอย่างไร ถ้ายอมเสียสละเวลาหรือเหน็ดเหนื่อยบ้าง ก็ศึกษาขอให้จำได้ ว่าท่านจำแนกไว้เป็น 5 อย่าง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ยากหรอก ตั้งใจพักเดียว วันเดียว มันก็กำหนดได้เป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราก็มาแยกกำหนดทีละอย่างๆ ว่ากำหนดลมหายใจอยู่น่ะ จะหาพบทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ

             ช่วยจำไว้ให้ดี อาตมาบอกว่าเมื่อกำหนดลมหายใจอยู่ตามแบบนี้นะ ในนั้นจะหาพบหมด ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ เดี๋ยวนี้เรามันกำหนดนามรูป ได้โดยหยาบ หยาบกว่านามรูป ถ้าโดยละเอียดก็ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

             ทีนี้กำหนดนามรูปได้แล้ว กำหนดสิ่งที่เรียกว่านามรูปได้แล้ว ดีกับคนที่จด จดไปนั้นมันคงจะเอาไปได้ แต่คนที่ไม่จดนั้นคงจะเหลือวิสัยที่จะจำได้ อาตมาคิดว่า ค่อยไปหาเอาทีหลังสิ

             เดี๋ยวนี้กำหนดนามรูปแล้วนะ ทีนี้ต่อไปจะกำหนด เกิดดับนะ ชุดต่อไปนี้จะกำหนดเกิดดับนะ เรื่องนามรูปหรือเบญจขันธ์เสร็จไปแล้วนะ ชุดต่อไปนี้จะกำหนดเกิดดับ พอลมปรากฏในความรู้สึก ตัวลมเกิด ละเอียดจนไปถึงว่า ถ้ามันรู้สึกเห็นเป็นความยาว ก็ว่าความยาวเกิด ความสั้นเกิด ความหยาบเกิด ความละเอียดเกิด นี้อุปาทายรูปทั้งนั้นแหละ มันก็มีเกิดเหมือนกัน

             พอลมหมดไปก็เรียกว่า ลมดับๆ ความยาวดับ ความสั้นดับ ความหยาบดับ ความละเอียดดับ หรือเมื่อเราจะกำหนดเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราก็กำหนดให้เป็นเกิดและดับก็ได้ เช่น ลมปรากฏ รูปเกิด ลมหายไป รูปดับ เวทนารู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิด ก็ว่าเวทนาเกิด พอหายไป เวทนาดับ สัญญาเกิด สัญญาดับ ความคิดเกิด ก็คือสังขารเกิด ความคิดดับ ก็คือสังขารดับ วิญญาณทำหน้าที่ ก็เรียกว่าวิญญาณเกิด วิญญาณไม่ทำหน้าที่ ก็เรียกว่าวิญญาณดับ

             เดี๋ยวนี้เรามาแยกดู แยกกำหนดดู เฉพาะอาการที่มันปรากฏออกมา นี่แหละมันเกิด คือมันทำหน้าที่อยู่ เรียกว่ามันเกิด พอมันไม่ทำหน้าที่ หายไปก็เรียกว่ามันดับ ชุดนี้กำหนด เกิด ดับ เกิด ดับ เราไม่ต้องออกชื่อก็ได้ พอเห็นลมเกิด ก็ว่ารูปเกิด แต่ว่าเราไม่ต้องพูดว่า รูปเกิดหนอ หรอก เราพูดว่า เกิดหนอๆ พอรูปดับไป เราไม่ต้องพูดว่า รูปดับหนอ หรอก พูดว่า ดับหนอๆ หรือว่าดับเฉยๆ ก็ได้ เอ้า! เกิด เอ้า! ดับ เอ้า! เกิด เอ้า! ดับ อย่างนี้ หรือว่า เกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ

             แต่ถ้าเก่ง ปากมันดี ปากมันคล่อง มันจะพูดได้เร็วๆ ก็ว่า รูปเกิดหนอ ก็ได้เหมือนกัน รูปดับหนอ เวทนาเกิดหนอ เวทนาดับหนอ สัญญาเกิดหนอ สัญญาดับหนอ แต่ถ้าว่าไม่คล่องแคล่ว ไม่ทำมาอย่างคล่องแคล่วแล้วทำไม่ทันหรอก กำหนดไม่ทัน ทำไม่ทันแน่

             มันไม่ใช่เรื่องทำเดี๋ยวนี้แล้วจะได้เลย มันก็ต้องทำมาเป็นวันๆ เป็นหลายสัปดาห์ มันจึงจะกำหนดได้ กำหนดทัน แล้วก็พูดทัน แล้วลงจังหวะพอดี เกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ ของรูปก็ได้ ของนามก็ได้ ของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ได้

             นี่กำหนด เกิดหนอ ดับหนอ มันเกิดจริง มันดับจริงนี่ มันปรากฏอยู่ในความรู้สึกจริงๆ มันต้องรู้สึกอยู่ในความรู้สึกจริงๆ ว่ามันเกิด เราจึงพูดว่ามันเกิดหนอ แล้วมันหายไป ถึงจะพูดว่าดับหนอ ไม่ใช่ว่านั่งท่อง แล้วของไม่รู้อยู่ที่ไหน นั่งนับ นั่งท่อง แล้วของไม่รู้อยู่ที่ไหน นั่นไม่มีทางจะสำเร็จประโยชน์หรอก

             มันต้องมีอะไรเกิดอยู่จริงๆ เช่นว่า รูปเกิด ก็ว่าเกิดหนอ รูปดับ คือลมหายใจหายไป ก็เรียกว่า ดับหนอ ความยาวปรากฏ ก็เรียกว่า ความยาวเกิดหนอ ความสั้นปรากฏ ความสั้นเกิดหนอ ความหยาบปรากฏ ความหยาบเกิดหนอ ความละเอียดปรากฏ ความละเอียดเกิดหนอ

             มันแล้วแต่ว่าจิตกำลังกำหนด หรือรู้สึกอยู่ที่อะไร นี่เรียกว่าของจริงๆ ทำที่ของจริง ไม่ใช่ของคาดคะเน หรือของคำนวณ มันจึงเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะมันทำเป็นของจริง ไม่ใช่ปรัชญาเพ้อเจ้อ ได้แต่คำนวณ

             ในอาการที่ ลมเกิด ลมดับ นามเกิด นามดับ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเกิด ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งดับ กำหนดอยู่ว่า เกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ จะพูดว่า รูปขันธ์เกิดหนอ มันยาวนัก มันควรจะถูกตัด เพราะมันรู้สึกอยู่แล้วว่า ไอ้ลมมันเกิดก็คือ รูปขันธ์เกิด หรือเวทนาเกิด ก็เวทนาเกิด เวทนาดับก็ว่า เวทนาดับ เราก็ว่า เกิดหนอ ก็พอ ดับหนอ ก็พอ ในใจมันรู้สึกอยู่ดีแล้วว่า อะไรมันเกิด

             เอ้า! ทีนี้ เลื่อนขั้นอีกนะ เลื่อนลำดับปฏิบัติต่อไปอีก ทีนี้กำหนดอนิจจัง หลังจากกำหนด เกิดดับๆๆ แล้ว จนชำนาญเชี่ยวชาญดีแล้ว มันก็รู้ได้เองว่า โอ้! มันไม่เที่ยงเลย เกิดดับๆๆ สลับกันอยู่อย่างนี้ จะเรียกว่าเที่ยงอย่างไร

             หรือว่าให้มันละเอียดเข้ามา ลมมันเกิดนี่ มันก็เกิดในระยะตั้งต้น เกิดในระยะกลาง ในระยะปลาย ทีนี้ความสั้นความยาวก็เหมือนกันแหละ มันไม่ใช่คงที่ มันเปลี่ยน จุดตั้งต้น ระยะกลาง ระยะปลาย

             หรือความรู้สึกที่เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่กำหนดได้คล่องแคล่วแล้ว เอามาดูเถอะ มันไม่ได้เท่ากันน่ะ มันเปลี่ยนๆ มันจึงดับได้ มันค่อยๆ มีขึ้น แล้วค่อยๆ ดับไป ดูตรงที่มันไม่คงที่น่ะ ดูที่มันไม่คงที่ ที่มันเปลี่ยนนั้นเราจึงว่า โอ้! เปลี่ยนหนอๆ ไม่เที่ยงหนอๆ

             ทุกครั้งที่รู้สึก จำไว้ว่ารู้สึก คือเห็นด้วยใจนี่แหละ รู้สึกว่าไม่เที่ยงล่ะก็ ใจก็พูดออกมา ไม่เที่ยงหนอๆ ไม่เที่ยงของรูป ของลม ไม่เที่ยงของกาย ไม่เที่ยงของความสั้นความยาวของลม ไม่เที่ยงของความหยาบละเอียดของลม ไม่เที่ยงของเวทนาที่เกี่ยวกับลม สัญญาที่เกี่ยวกับลม สังขารที่เกี่ยวกับลม

             เอาของจริงมาดูเรื่อย อย่าว่าไปเฉยๆ อย่าว่าชนิดที่มันไม่มีความรู้สึกอยู่จริง ปากต้องพูดออกไป ลงบนความรู้สึก ที่รู้สึกอยู่จริง ถ้าว่าลมไม่เที่ยง ก็เพราะรู้สึกอยู่ว่าลมมันไม่เที่ยง ถ้าอะไรไม่เที่ยง ก็เอามาดูเสียให้หมด แล้วก็ว่า ไม่เที่ยงหนอๆๆๆ ไม่เที่ยงที่ลม หรือกาย หรือเวทนา หรือสัญญา หรือสังขาร หรือวิญญาณ นี่จะเห็นเบญจขันธ์ เป็นของไม่เที่ยงแท้จริง ดิ่งถึงที่สุด ในส่วนลึกของจิตใจ ก็เห็นความไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ ไม่เที่ยงหนอๆ นี้ตอนที่กำหนดความไม่เที่ยง

             พอเสร็จแล้ว ก็เลื่อนชั้นขึ้นไปกำหนดอนัตตา กำหนดอนัตตาก็คือว่า มันไม่มีตัวตนอะไร กำหนดหายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก แล้วเห็นว่า โอ้! มันเกิดดับของลมหายใจ ไอ้คนที่เป็นเจ้าของลมหายใจ เจ้าของชีวิตก็ไม่มี มันมีแต่อาการของการหายใจเข้า การหายใจออก การหยาบ การละเอียด รู้สึกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้ แต่ไม่มีคน ไม่มีตัวคนที่เป็นผู้กระทำอย่างนั้น มีแต่อาการของธรรมชาติเท่านั้น รู้สึกว่าเป็นอนัตตาอย่างนี้นะ

             อนัตตาที่ลม อนัตตาที่ลักษณะของลม อนัตตาของจิตที่กำหนดลม อนัตตาของรูปขันธ์ ที่แสดงอยู่ ของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่แสดงอยู่ เห็นชัดว่าไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ที่ไหนจริงๆ รู้สึกอยู่อย่างนั้นจริงๆ ปากมันจึงพูดว่า อนัตตาหนอ ก็ได้ ไม่มีตัวตนหนอๆ หรือ สักว่าลมหนอ สักว่ารูปหนอ สักว่าเวทนาหนอ คือไม่มีตัวตน

             ไอ้หนอครั้งนี้สำคัญมาก คือหนอฉลาดแล้ว หนอรู้ว่าไม่มีตัวตนแล้ว เดี๋ยวค่อยพูดเรื่องหนอ แต่ตอนนี้กำหนดความที่มันไม่ใช่ตัวตน มันไม่มีตัวตน มีแต่ลม มีแต่กาย มีแต่จิต มีแต่ความรู้สึกเป็นสัญญา เป็นเวทนา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ อะไรก็ตาม ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ก็เลย ไม่ใช่ตนหนอๆ หรือจะพูดเป็นบาลีว่า อนัตตาหนอๆๆ แล้วแต่ว่ามันกำลังรู้สึกอยู่ที่อะไร

             ถ้ารู้สึกอยู่ที่ลม ลมนั้นแหละอนัตตาหนอ รู้สึกอยู่ที่จิตกำหนดลม จิตนั้นแหละอนัตตาหนอ รู้สึกอยู่ที่เวทนาที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ก็เวทนานั้นแหละไม่มีตน ไม่ใช่ตน นี้มันสักว่าลมเท่านั้น สักว่าหายใจเท่านั้นหนอ สักว่าเข้า สักว่าออก สักว่าสั้น สักว่ายาว อะไรก็ตามเถอะ ล้วนแต่เป็นอนัตตาทั้งนั้น

             นี่แหละกำหนดอนัตตา เรียกว่า อนัตตานุปัสสี ในพระบาลีอานาปานสติสูตร ไม่มี ท่านไปฝากไว้ในอนิจจัง ดังนั้นท่านจึงว่า อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี ไม่มีคำว่า อนัตตานุปัสสี ท่านไปฝากไว้ในอนิจจัง เพราะถ้าเห็นอนิจจัง ย่อมเห็นอนัตตานี้เอง

             แต่เดี๋ยวนี้ อยากจะให้เราน่ะ ชาวบ้านโง่ๆ นี้ รู้จักแยกมาดู เป็นอนัตตาเสียส่วนหนึ่งด้วย พอเห็นกำหนดรู้สึกต่อลม อ้อ! ลมก็อนัตตา สั้นยาวของลม หยาบละเอียดของลมก็อนัตตา ก็ความไม่เที่ยงของลม แสดงให้เห็นอยู่ มันจะมีความรู้สึกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้นก็ อนัตตา

             ดังนั้น ดูอนัตตา รู้สึกอนัตตา พูดอยู่ว่า อนัตตาหนอ ไม่ใช่ตนหนอๆ คือชุดหนึ่งน่ะ เรียกว่า ระยะหนึ่งน่ะ จะสั้น จะนาน หรือมันจะเร็วเท่าไหร่ ก็ตามใจเถอะ แต่ว่าชุดนี้ก็ต้องทำให้ได้ว่า กำหนดอนัตตาหนอ

             ถ้าเห็นอนัตตาอยู่จริงๆ มันจะสลดสังเวชขึ้นมาเอง เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ต่อสิ่งที่เคยรักนั่น รักนี่ หวงนั่น หวงนี่ ยึดถือนั่น ยึดถือนี่ โดยเฉพาะยึดถือในเรื่องสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ในชีวิต

             มันจะเริ่มรู้สึกคลาย ความหมายมั่น ยึดมั่นในชีวิตออก เรียกว่าลดความยึดถือลง เรียกว่า วิราคะ วิราคานุปัสสี เดี๋ยวนี้จิตของเราเริ่มคลาย จากสิ่งที่เราเคยหลงบ้า หลงรัก หลงยึดถือ เรียกว่า คลายหนอๆ มันคลายแล้วหนอๆ คลายหนอๆๆ

             ที่มันคลายหนอๆ ในความรู้สึกของเรา อย่างนี้อยู่เรื่อยไปๆ เดี๋ยวมันก็แสดงออกมาให้เห็นว่า โอ้! บางอย่างดับไปแล้ว ดับไปแล้วหนอๆ หมดไปแล้วหนอ นี่แหละนิโรธานุปัสสี แต่ไม่ได้บอกให้ท่องบาลีอย่างนี้นะ เดี๋ยวมันจะเพิ่มให้คุณลำบาก ยุ่งยากลำบาก

             เห็นว่า ไม่เที่ยงหนอ ไม่ใช่ตนหนอ โอ้! คลายหนอๆ จิตคลายจากมัน ดับไปแล้วหนอ ที่มันเคยหลงรัก หลงบ้าพอใจ มันดับไปแล้วหนอ ก็เรียกว่า ดับหนอๆ แห่งอุปาทาน ว่าตัวกุ ว่าของกุ บางอย่าง บางชนิด บางส่วน ในอะไร ในลม หรือในเวทนา หรือว่าในสัญญา มันดับหนอๆๆ

             หยุดแค่นี้ก็ได้ อย่างที่ว่ามาตะกี้นี้น่ะ มันดับหนอก็พอแล้ว แต่ถ้ายังไม่อยากหยุด ก็ไปอีกขั้นหนึ่ง คือว่าสลัดคืนน่ะ ปฏินิสสัคคะ เดี๋ยวนี้ฉันสลัดคืน สิ่งของที่เคยยึดมั่นแล้วหนอ เราสลัดคืนสิ่งที่เคยยึดมั่นเป็นของเราแล้วหนอ คือความยึดมั่นมันดับไป ไอ้สิ่งที่เคยยึดมั่น มันก็ดับไป หายไป พ้นไป ที่เรียกว่า สลัดคืนแล้วหนอ คือ โยนทิ้งแล้วหนอๆ นี่ไม่ต้องก็ได้ ถ้าจะทำก็ได้ สิ่งที่เคยยึดถือว่าน่ารัก น่าพอใจ ยินดี ยินร้ายนั้น เดี๋ยวนี้มันสลัดทิ้งแล้ว ทิ้งแล้วหนอๆๆ ปฏินิสสัคคานุปัสสี

             นี้จึงเห็นได้ว่า มันจบอย่างเดียวกัน แม้จะเป็นระบบลัดสั้นของคนธรรมดาสามัญ มันก็ไปจบที่จางคลาย ปล่อยวาง สิ้นเชิงเหมือนกัน ไอ้ 4 ขั้นของหมวดนี้ จะแยกเป็นขั้นๆ ก็ได้ หรือจะให้มันเนื่องกัน เป็นอันเดียวกันไปก็ได้ ถ้าเห็นอนิจจังแล้ว มันก็จางคลาย ดับ สลัดทิ้งไปเองก็ได้

             เชื่อเหลือเกินว่า ในครั้งพุทธกาลน่ะ เค้าก็ไม่ได้แยกแยะกันอย่างนี้ ถ้าว่าทำจิตอย่างนี้ จิตมันก็ปล่อยวาง คลาย ดับเองเหมือนกัน ไม่ต้องแยกให้เป็นหลายขั้นตอนหลายชื่อ แล้วก็จำยาก ดังนั้นจึงว่า เห็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวงมากพอ มากพอน่ะ จนเห็นอนัตตา จนมันคลาย จนมันวาง จนมันปล่อย หลายขั้นตอนนะนั่น รวมเรียกเป็นขั้นตอนเดียวเสียว่า มันหลุดพ้น

             เมื่อเห็นอนิจจังเต็มที่ ส่องลงไปอย่างแรง อย่างแรง เหมือนกับว่าสมาธิอย่างแรง เหมือนกับรวมแสงไฟอย่างแรง จี้ลงไปนั้นน่ะ มันก็ร่วงผล็อยๆๆๆๆ เหมือนกับใบไม้ร่วง ไม่ว่าเป็นความยึดถืออยู่ในอะไร สิ่งนั้นก็ร่วงไปๆๆๆ ท่านเรียกสั้นๆ ว่า หลุดพ้น คำเดียวก็ได้

             แต่ว่าในคำว่า หลุดพ้น เพียงคำเดียวนั้น มันมี เห็นไม่เที่ยง เห็นอนัตตา เห็นจางคลายเบื่อหน่าย เห็นดับ เห็นหลุดพ้น เห็นสลัดคืน นี่เห็นหมด นี่เรียกว่า กำหนดลมหายใจ เรื่องเดียว อย่างเดียว ไปได้ถึงอย่างนี้นะ

             คงจะไม่ลืม ตะกี้บอกว่าเราพูดกันแต่เรื่องลมหายใจก่อนนะ เรื่องอิริยาบถทั้งหลาย ยังไม่พูดๆ นะ ยังอีกมากนี่ แต่นี้พูดแต่เรื่องลมหายใจก่อน

             กำหนดลมหายใจว่า หายใจอยู่ๆๆ เข้าอยู่ ออกอยู่ เข้าอยู่ ออกอยู่ สั้นหนอ ยาวหนอ สั้นหนอ ยาวหนอ หยาบหนอ ละเอียดหนอ หยาบหนอ ละเอียดหนอ โอ้! นี่นามหนอ นี่รูปหนอ นี่นามหนอ นี่รูปหนอ นี่รูปหนอ นี่เวทนาหนอ นี่สัญญาหนอ

             ไอ้ที่มันรู้สึกอยู่เมื่อหายใจน่ะ เรียกว่าเนื่องอยู่ในลมหายใจ มันเกิดหนอ ดับหนอ ลมหายใจเกิดหนอ ดับหนอ อะไรล่ะที่เนื่องกันอยู่กับลมหายใจ เกิดหนอ ดับหนอ ความรู้สึกที่นามขันธ์นี่ 4 อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างก็ เกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ

             เมื่อเห็นการเกิดหนอ ดับหนอ ก็ย่อมเห็นว่ามันไม่คงที่ คือไม่เที่ยง เห็นไม่เที่ยงหนอๆๆ เมื่อเกิดดับไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้แล้ว จะเป็นตัวตน บุคคล ของใครได้อย่างไร มันจึงว่า ไม่มีตัวตนหนอๆๆ ด้วยความรู้สึกเห็นชัดจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าแต่ปากนะ

             นี้มันก็จาง จางความยึดถือ คลายความยึดถือว่า คลายหนอๆ คลายออกแล้วหนอๆ หรือคลายมากแล้วหนอ ก็แล้วแต่จะรู้สึก แต่อย่าพูดให้มันมากคำเลย พูดคำเดียวว่า คลายหนอๆ อันใดมันคลายไปถึงที่สุด อันนั้นมันก็ดับ ก็ดับหนอๆๆ

             นี่ของที่เคยยึดถือ หลุดร่วงไปแล้วหนอๆ แปลว่า สลัดทิ้งน่ะ สลัดคืนน่ะ ขว้างทิ้งแล้วหนอๆ นี่เพียงแต่ลมหายใจ บทเดียว บทลมหายใจบทเดียว ยังไม่พูดถึงบทอิริยาบถอื่นเลย ลมหายใจอย่างเดียว มีทางที่จะปฏิบัติได้อย่างนี้ แม้สำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป

             ถ้าใครเห็นว่ามันมากนัก จะลดลงเสียก็ได้ จะลดอย่างไรได้บ้าง ก็ลองใคร่ครวญดู เอาทั้งหมดนะ พอกำหนดว่า ลมหายใจหนอ กำหนดว่า เข้าออกหนอ กำหนดว่า สั้นยาวหนอ กำหนดว่า หยาบละเอียดหนอ กำหนดว่า เป็นนาม หรือเป็นรูปหนอ กำหนดว่า เกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ กำหนดว่า เปลี่ยนแปลงหนอ คือไม่เที่ยง กำหนดว่า ไม่มีตนเลยหนอ เอ้า! จางๆๆๆ จางความยึดมั่นแล้วหนอ สุดความยึดมั่นแล้วหนอ โยนคืนแล้วหนอ

             ทุกอย่างเกี่ยวกับลมหายใจ คือรู้สึกอยู่เกี่ยวกับลมหายใจ เมื่อกำหนดลมหายใจอยู่ มีความเห็นแจ้ง รู้สึกประจักษ์ต่อสิ่งเหล่านี้ได้ ในขณะที่มีการกำหนดลมหายใจ หรือว่าแยกออกดูได้จากลมหายใจนั้นเอง

             ถ้าจำไม่ได้ ก็ไปขอคัดลอกจากเพื่อน ว่ากำหนดลมหายใจน่ะ กำหนดว่า หายใจหนอ และอีกขั้นหนึ่งกำหนดว่า หายใจเข้า ออกหนอ ขั้นต่อมาก็กำหนดว่า สั้น ยาวหนอ ขั้นต่อมากำหนดว่า หยาบ ละเอียดหนอ

             ทีนี้ดูให้ละเอียด ฉลาดยิ่งขึ้นว่า โอ้! นี่นามหนอ นี่รูปหนอ ลมหายใจเป็นรูป การกำหนดลมหายใจ รู้สึกลมหายใจ เป็นนาม นามหนอ รูปหนอ แล้วกำหนดว่า มันเกิดหนอ ดับหนอ เกิดหนอ ดับหนอ แล้วกำหนดว่า เปลี่ยนแปลงหนอ คือไม่เที่ยง กำหนดว่า ไม่มีตนหนอ คือ อนัตตา กำหนดเดี๋ยวนี้ความยึดถือของเรา จางออกแล้วหนอๆ เดี๋ยวนี้ความยึดถือบางอย่าง ดับแล้วหนอ สิ่งใดดับความยึดถือได้ สิ่งนั้นหล่นร่วงไป เหมือนกับขว้างทิ้งแล้วหนอ

             นับดูได้กี่ขั้น ที่จดๆ ไปนั้นน่ะ นับดูว่าได้กี่ขั้น กำหนดว่า หายใจหนอ เข้าออกหนอ นี่ขั้นหนึ่ง สั้นยาวหนอ ขั้นหนึ่ง หยาบละเอียดหนอ ขั้นหนึ่ง เป็นนามเป็นรูปหนอ ขั้นหนึ่ง เป็นการเกิดการดับหนอ ขั้นหนึ่ง เป็นอนิจจังหนอ ขั้นหนึ่ง เป็นอนัตตา ขั้นหนึ่ง อ้าว! จางแล้วโว้ยๆ นี่ขั้นหนึ่ง ดับแล้วโว้ย ขั้นหนึ่ง โยนหมดแล้วโว้ย อีกขั้นหนึ่ง ขั้นนี้ไม่ต้องก็ได้ เพราะว่าถ้าดับแล้ว มันก็วางของมันเอง กี่ขั้นล่ะ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 ขั้นน่ะ รวบรัดเสียบ้าง เหลือ 5-6 ขั้นก็ได้

             นี่อย่างเต็มที่มันเป็นอย่างนี้ ขอให้ไปลองทำดูเถอะ นี่คือว่าฝึกสติอยู่ตลอดเวลา เพราะมันต้องใช้สติอยู่ตลอดเวลา ที่ฝึกน่ะ มันเป็นการบังคับจิตอยู่ตลอดเวลา มีสมาธิโดยอัตโนมัติอยู่ในตัว สมาธิชนิดนี้ไม่ออกมาเด่นอยู่ เป็นรูปฌานอะไร ไม่ แต่มันมีอยู่อย่างเพียงพอ ในการกำหนดนั้นเอง

             สมาธิชนิดนี้วิเศษ พระพุทธเจ้าท่านตรัสสรรเสริญว่า เป็นสมาธิที่วิเศษ เพราะกำลังใช้ประโยชน์อยู่จริง ถ้าไปทำเป็นฌาน เป็นอรูปฌาน เด่นไปทางนู้น ไม่ได้ใช้อะไร มันก็เป็นฌานอย่างนั้น มันก็เหมือนกับมันไม่ได้ใช้อะไร แต่เดี๋ยวนี้มีอยู่เท่าไร ใช้หมดเท่านั้น

             เหมือนกับมีเงินมีทองน่ะ ถ้าไม่ใช้อะไรมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร จะมีมากเท่าไหร่ๆ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้ามันได้ใช้จริง ใช้อยู่เต็มที่นั้นน่ะ คือมีประโยชน์มาก ดังนั้นสติก็ดี สมาธิก็ดี ที่เกิดอยู่ในการกระทำนี้ เรียกว่ามีประโยชน์มาก ท่านเรียกว่า อนันตริยสมาธิ สมาธิที่แฝดกันอยู่กับปัญญา

             เราไม่ได้ตั้งใจจะทำสมาธิ แต่มันก็เกิดขึ้นมาเองในการกระทำ การกำหนดตามแบบที่กล่าวมาแล้ว นี่เรียกว่า มีสมาธิเกิดพร้อมกันกับการใช้ไปเลย ไม่เดินเครื่องเปล่าๆ ไม่เสียแรงงานเปล่าๆ

             เหมือนกับว่าใช้รถยนต์นั่นแหละ เค้าก็สตาร์ทเครื่องติดก็เข้าเกียร์ไปเลย ถ้าใครมันเดินเครื่องอยู่เฉยๆ มันบ้าแล้วนะ มันคนบ้าแล้วนะ เครื่องยนต์จะดีอย่างไร เปิดให้มันเดินอยู่เฉยๆ มันก็คือบ้านั่นแหละ

             เครื่องยนต์พอดีพอร้ายก็ได้ พอสตาร์ทติดแล้ว เข้าเกียร์ไปเลย ทำงานไปเลย นั่นแหละคือ อนันตริยสมาธิ สมาธิที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันกับการใช้ ใช้พิจารณา ใช้กำหนด

             อย่างนี้จะเรียกว่าไม่เก่งก็ได้ แต่ไม่เป็นไร มันไม่ได้ทำสมาธิได้มากมาย มันไม่เก่ง ก็ไม่เป็นไร แต่มันทำสมาธิได้พอใช้ พอใช้จริงๆ พอใช้ที่จะกำหนดธรรมะ แล้วก็บรรลุธรรมะ รู้แจ้งธรรมะได้

             นี่ขอให้พยายามดูเถอะ คุณไม่ต้องไปนึกอะไร นอกจากทำตามนี้ ทำตามที่วางไว้นี้ แล้วสมาธิก็จะเกิดเต็มที่ สติก็จะเกิดเต็มที่ ก็มันทำสติอยู่ตลอดเวลา แล้วมันมีความลับอยู่อย่างหนึ่งว่า มันจะเกิดอาการที่แน่นอนอยู่อย่างหนึ่งคือ จะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำอะไร ออกไปโดยที่ไม่รู้สึกตัวเสียก่อน นั้นน่ะสำคัญ

             ต่อไปนี้สติมันว่องไว คล่องแคล่ว เหมือนกับสายฟ้าแลบ ดังนั้นมันจะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำอะไรไป โดยที่ไม่รู้สึกตัวเสียก่อน ดังนั้นคนนี้จะเป็นคนที่รู้สึกตัวเสียก่อนเสมอ ก่อนแต่ที่จะทำ จะพูด จะคิด ก็เลยรอดตัว

             เรื่องที่อยากจะพูดต่อไปก็คือว่า หนอ คำว่า หนอ มี 3 ความหมาย หนอของคนโง่ พอเค้าว่าหนอ ก็หนอๆๆๆๆ เครียดเลย เอาจริงเอาจังกับคำว่าหนอๆ ของคนโง่ ดูจะเป็นอย่างนั้นกันเสียมาก เป็นหนอโง่เสียมาก ไม่หนอก็ยังจะดีกว่า หนอด้วยความทะลึ่ง อย่างยุบหนอ พองหนอ เข้าหนอ ออกหนอ นี่มันหนออยู่ด้วยความเครียด ด้วยจิตที่มันเครียด ด้วยจิตที่มันยึดมั่น ไอ้หนออย่างนี้ไม่ให้ประโยชน์หรอก นี่เรียกว่าหนอโง่

             ทีนี้หนอที่ 2 มันเป็นหนอของสติ มันมีสติ มันจึงกำหนดรู้ด้วยสติ กำหนดด้วยสติว่า เข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ ไม่เครียด อย่างนี้มันเป็นหนอของสติ เราว่าลมหายใจเข้าหนอ รู้สึกอยู่ ลมหายใจออกหนอ ไม่หนอๆๆ อย่างชนิดที่มันเหมือนกับคนบ้า

             ทีนี้หนอที่ 3 เป็นหนอของปัญญา คือมันรู้ลม รู้นามรูป รู้นามและรูปหรือเกิดดับอะไรทั้งหมดแล้วมันรู้ มีปัญญาเกิดขึ้นว่า โอ้! มันสักว่าอาการอย่างนี้เท่านั้นหนอ ไม่มีสัตว์ บุคคลอะไร ที่หายใจเข้าหายใจออก ไม่มีสัตว์บุคคลอะไร ที่เป็นตัวรู้สึก ทำความรู้สึกอะไร หนอนี้แหละหนอเลิศ หนอปัญญา หนอว่า มันเป็นสักแต่ว่าอาการอย่างนี้เท่านั้นหนอ ไม่มีบุคคลตัวตนเลยหนอ นี่หนออีกแล้ว นี่หนอแบบปัญญา ไอ้หนอนี่ละเอียด ประณีต สุขุม ลึกซึ้ง ขอให้หนออย่างนี้

             จะยกตัวอย่างในเรื่อง กำหนดลมหายใจอย่างเดียวนะว่า หายใจเข้าหนอ หายใจออกหนอ ไอ้คนที่มันเครียด เพราะว่ามันจะดี จะเด่น จะสำเร็จ นี้มันหนอๆ ด้วยความเครียด นี่หนอโง่ กำหนดลมหายใจ เข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ เข้าหนอ ออกหนอ เป็นทำเล่นไปเลย เป็นบ้าไปเลย

             ทีนี้ ลมหายเข้า ด้วยสติ ลมหายใจออก ด้วยสติ มันหนอด้วยสติ หนออย่างสุภาพ หายใจเข้าหนอ หายใจออกหนอ ด้วยสติ เพียงแต่รู้ว่า การหายใจเข้า หายใจออก เท่านั้นล่ะ ไม่มากกว่านั้นล่ะ หนออย่างนี้ก็หนอด้วยสติ ก็ใช้ได้เหมือนกัน

             ทีนี้ หลังจากที่ได้พิจารณามาจนถึงขั้นสุดท้ายแล้ว จนรู้ว่า โอ้! อาการหายใจตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ไม่มีบุคคลตัวตนผู้หายใจหนอ แม้ตัวลมหายใจนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนหนอ ไม่มีผู้ที่เป็นบุคคล ผู้หายใจหนอ

             นี้มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า มันสักแต่ว่าการหายใจ เข้าออกตามธรรมชาติ ไม่มีสัตว์ บุคคล เลยหนอ หนอนี้มันมีปัญญายาวมากนะ หนอที่จะช่วยได้ มันมีความหมายมาก สักว่าแต่เท่านั้นหนอ ไม่มีสัตว์ บุคคลหนอ หนอที่ 3 นี้ หนอของปัญญา ฉลาดถึงที่สุดแล้ว

             หนอที่ 1 หนอโง่ เห่อๆ ตามๆ กันมา เขาหนอเราก็หนอ นี้มันเป็นหนอเครียด หนอมุทะลุ หนอที่ 2 ก็หนอของสติกำหนดอยู่ แล้วจึงหนอออกมาได้ ไอ้หนอที่ 3 นี้ รู้แจ้งหมดแล้วว่า มันไม่มีตัวตน บุคคลหนอ อาการนี้เป็นไปเองตามธรรมชาติ ตามกฎอิทัปปัจจยตาเท่านั้นหนอ อย่างนี้เป็นต้นนะ มันหนอฉลาด สติปัญญาสมบูรณ์อยู่ในคำว่าหนอ

             ทบทวนอีกทีว่าหนอที่ 1 น่ะ หนอมุทะลุ หนอเห่อๆ เห่อๆ หนอๆ ตามๆ เค้าไป ไอ้หนอที่ 2 มันสติสมบูรณ์ ไอ้หนอที่ 3 นั้น มันปัญญาสมบูรณ์ นี่เรื่องหนอ สังเกตดูแล้ว มันหนอมุทะลุกันเสียมาก แล้วมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรหรอก มันไม่หนอถูกต้องแท้จริงตามบทของพระธรรมเลย

             เอ้า! ทีนี้ปัญหาที่จะต้องรู้ไว้ เรื่องที่ต้องรู้ไว้ ปัญหาที่จะเกิดน่ะ คือพอเรากำหนดอารมณ์ ลมหายใจอย่างนี้อยู่นะ เช่นว่า ลงมือทำไปๆ อยู่ กำลังทำอยู่นี่ มีความคิดอะไรมาแทรกแซง เรียกว่ามีอะไรมาแทรกแซงน่ะ ความคิดก็ได้ หรือขวิดหนีไปไหนก็ได้ มันก็ไปเอาอารมณ์ใหม่ ก็เรียกว่าอารมณ์ใหม่แทรกแซง

             ก็มีหลักขึ้นมาว่า เมื่อกำลังพิจารณากำหนดอยู่ มีอะไรเข้ามาแทรกแซง เป็นความคิดก็ได้ เป็นความสัมผัส มีอะไรมากระทบก็ได้ อะไรปึงปังขึ้นมาก็ได้ หรือบุคคลเดินมาก็ได้ นี่เรียกว่ามีอะไรแทรกแซง

             เมื่อกำลังทำอยู่ มีอะไรมาแทรกแซง ก็รับอารมณ์นั้นเลย อารมณ์ที่เข้ามาแทรกแซงนั้นน่ะ รับให้ดีว่าอะไรๆๆ พิจารณาดูดีจนเป็น อะไรเป็นอะไร จนถึงที่สุด มันก็ไม่เป็นอะไร มันก็เลิกกันแหละ

             ถ้าเรากำลังกำหนดอยู่นี่ เสียงปุ๊งขึ้นมา ด้วยอะไรหล่นก็ตาม โอ้! อะไรๆ ก็สนใจได้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเสียใจด้วย ไอ้ปุ๊งนั่นมันอะไรๆๆๆ เอ้า! มันก็ไอ้แค่นั้นเอง แล้วก็เลิกกัน แล้วก็กลับมากำหนดใหม่

             หรือว่าจิตมันหวลคิดบ้าบอ ไปถึงอารมณ์ในอดีต ถึงคนรัก คนเกลียด อะไรก็ตาม เอ้า! ก็ได้ๆ ก็ติดตามไป แล้วมันก็หมดเรื่องแหละ มันจะติดตามไปได้ถึงไหน มันก็รู้ว่า อ้าว! นี้มันเป็นเรื่องนี้ มันมาแทรกแซงอย่างนี้ แล้วมันก็สลายไปเองแหละ แล้วก็กลับมาทำใหม่ ตรงที่มันละไปน่ะ

             กลับมาทำใหม่ นี่เรียกว่า ถ้าอะไรมาแทรกแซง เป็นอารมณ์ก็ดี เป็นสัมผัสก็ดี เป็นบุคคลก็ดี เป็นสิ่งของก็ดี เป็นอุบัติเหตุก็ดี หรือแม้แต่ว่า มันเจ็บปวดเมื่อยขบขึ้นมาก็ดี จัดการกับมันจนเสร็จ แล้วมากำหนดนี้ใหม่ ถ้ามีปัญหาอย่างอื่น ค่อยพูดกันทีหลัง

             รวมความว่า ถ้ามีอะไรมาแทรกแซง เมื่อกำลังปฏิบัติ ก็รับเอาอารมณ์นั้นกำหนดอย่างจริงจัง แล้วมันก็จะสลายไปเอง มันอยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสักว่าเหตุปัจจัยเล็กๆ น้อย มันก็จางไป หายไปในที่สุด เสียเวลานิดหน่อย แล้วก็มากำหนดต่อไปตามเดิม ที่ค้างอยู่ก็ กำหนดไปๆๆ ตามหลักการของเรา

             เอ้า! ทีนี้ปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือว่าเรื่องสิ่งรบกวน สิ่งรบกวน สถานที่น่ะ เห็นอาจารย์วิปัสสนาโง่ๆ อะไรดังนิดหนึ่งก็ทำไม่ได้ อาจารย์วิปัสสนาโง่ๆ นะ อะไรดังนิดหนึ่งก็ทำไม่ได้ อย่ารบกวน ไปไล่เขาๆ

             นี่จะบอกว่า ต้องทำได้ๆ เค้าบังคับจิตให้มากำหนดที่อารมณ์นี้ได้ ไม่รับอารมณ์อื่นที่เราไม่ต้องการจะรับ เพราะฉะนั้นจะยกตัวอย่างว่า นั่งอยู่ในรถไฟ ข้างๆ ก็จอแจ ไอ้ตัวรถใต้ถุนรถก็กุงกังๆๆ ก็ทำได้ ไม่รู้ไม่ชี้ ฉันกำหนดแต่ลมหายใจเข้าออก นี่คุณกลับบ้าน ไปภูเก็ต ไปไหน นั่งอยู่ในไฟ คุณลองทำดู ทำได้ นั่งมาจากกรุงเทพฯ ถึงไชยา ก็ทำได้ มันจะกุงกังจอแจอย่างไรอยู่ ก็ทำได้

             ถ้าว่าบ้านเราอยู่ข้างโรงสี โรงสีมันก็สีอยู่เรื่อย มันก็ทำได้ ไม่ได้ยินล่ะ ไอ้เครื่องโรงสีนี่ มันจะกำหนด ได้ยินแต่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้นน่ะ

             อยู่ริมถนน บ้านเราอยู่ริมถนน รถยนต์มาเรื่อย ก็ช่างหัวมันสิ เพราะฉันจะกำหนดลมหายที่เข้าออกเท่านั้น

             หรือเค้ามีงานอยู่ที่วัด ดังลั่นไปหมด บ้านเราอยู่ข้างวัด ที่วัดก็มีงานวัด เราก็ทำได้ แม้เราจะไปนั่งในงานวัด ก็ยังทำได้

             เราไปนั่งอยู่ในศาลาที่เค้าประชุมกันน่ะ เอ็ดไปหมด เราก็ทำได้

             อยู่ข้างเครื่องวิทยุ ข้างเครื่องดนตรี ก็ต้องทำได้ ถ้ามันตั้งใจจริงๆ ขอให้มันจริง มันอุทิศที่จะกำหนด ต่อการกำหนดจริงน่ะ แม้จะมีวิทยุเปิดอยู่ แม้จะมีเด็กวิ่งเล่นอยู่ข้างๆ เจี๊ยวจ๊าว ก็ตามใจมัน ฉันไม่รู้ทั้งนั้น

             ให้ฝนตกซู่ ก็ทำได้ ฟ้าร้องเปรี้ยงๆ ก็ทำได้

             นี่แหละ อย่าโง่จนว่าอะไรดังขึ้นมานิดหนึ่งก็ไม่ได้ เรียกว่าไปเที่ยวห้ามคนอื่น ไปโกรธคนอื่น ทะเลาะวิวาทกับคนอื่น เดี๋ยวเขาได้ตีหัวตายเลย โยคีจะตาย ดูๆ ทะเลาะกับคนอื่น

             เมื่ออาตมาไปที่อินเดีย ไปเที่ยวที่วัดอโศการามนั้นน่ะ มีโยคีฆราวาสหลายคน แหม! มันนั่งทำอยู่ตรงที่ข้างก้อนหิน ที่ข้างวัด หลังวัดน่ะ มีคนเดิน เดินไป เวลาเดินผ้าลากไปบนหัว บนอะไร มันก็ไม่รู้ไม่ชี้ มันยังทำของมันได้ คนไปเที่ยว เป็นที่คนเที่ยวนี่ สถานที่คนเที่ยว มันนั่งทำมาตั้งแต่กลางคืน มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่ามันไม่ใช่โยคีขอทาน ไม่ใช่โยคีขอสตางค์ ที่มันจะปูผ้าไว้ให้คนหย่อนสตางค์นั้นน่ะโยคีขอทาน นั่นไม่ใช่โยคีแท้จริง นี่โยคีบริสุทธิ์นี้แหละและเป็นฆราวาสด้วย มันก็ทำได้ ในที่ๆ เป็นที่เที่ยว ของประชาชน ก็เลยนึกละอายมันเลย เราเคยยึดถือว่าทำไม่ได้ มาเห็นนักเลงเค้าทำได้

             ฉะนั้น คุณอย่ายึดถือ ไอ้เรื่องอึกทึกครึกโครม อย่าให้มันโง่ ไปมุ่งแต่ภายนอก โดยไม่จัดการในภายใน จัดการในภายในสิ แล้วภายนอกมันจะถูกจัดการเรียบวุธไปหมดแหละ จัดการแต่ในภายใน

             เราอยู่ข้างเครื่องจักรซะบ้าง เราอยู่ข้างโรงสี ก็ไม่ได้ยิน หรือแม้นั่งในรถไฟน่ะ หลับตาเสียสิ ทำสมาธิมาตลอดทาง โดยที่ไม่มีใครรู้ก็ได้ ไม่มีคนรู้ คนนั่งอยู่ข้างๆ ก็ไม่รู้ เค้าว่าเรานั่งหลับ ก็ตามใจ

             นี่เรียกว่า ปัญหาหรืออุปสรรค ไม่ต้องมี ไม่ต้องมี อะไรมารบกวน มันจะไม่รบกวนได้ หรือเมื่อทำสมาธิอยู่ อะไรมาแทรกแซง ก็ไม่เสีย ไม่เสีย ไม่ล้มละลาย อะไรมาแทรกแซง จัดการกับมัน สูญหายไปแล้วทำต่อ

             นี่ทั้งหมดนี้เป็นหลักเบื้องต้น ที่ต้องรู้ไว้เบื้องต้น นับตั้งแต่ว่า จะทำได้ในทุกหนทุกแห่ง ก็จะทำตามแบบนี้ จะกำหนดอย่างนี้ จะกำหนดอะไร ก็จะกำหนดให้มันรู้ว่า มันเป็นอย่างไร จนรู้จักแยกให้เห็นว่า ไอ้สิ่งเหล่านี้เป็นรูปอย่างไร เป็นนามอย่างไร เป็นขันธ์ 5 อย่างไร เกิดดับอย่างไร ไม่เที่ยงอย่างไร อนัตตาอย่างไร นี้มันจะจางคลายจนดับของมันเอง

             ขอแต่ให้เห็นความไม่เที่ยง ให้เพียงพอเท่านั้นแหละ มันจะจัดการของมันเอง จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ปล่อยวางไปเอง นี่เรียกว่า ลัดสั้น แบบลัดสั้นแล้ว แต่ยังพูดกันได้ชั่วโมงหนึ่งนะนี่

             ถ้าสั้นกว่านี้น่ะ ถ้าสั้นกว่านี้ คำเดียว พูดคำเดียว นั้นมันเป็นเรื่องพิเศษ นั่นเป็นเรื่องของบุคคลพิเศษ เหตุการณ์พิเศษ เช่นว่า คนเค้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีเรื่องมีราวกับพระพุทธเจ้า ตรัสสองสามคำบรรลุมรรคผลไปเลย เพราะนั่นมันพร้อมแล้ว มันพร้อมมาหลายอย่างแล้ว ในจิตใจของเขาพร้อมมาหลายอย่างแล้ว มันห่าม มันจวนจะหล่นอยู่แล้ว พอไปสะกิดนิดเดียวมันก็หล่น

             หมายความว่า คนเหล่านั้นมันผ่านชีวิตมามากแล้ว ผ่านความขึ้น ความลง ความได้ ความเสีย ความทุกอย่างน่ะ ที่เป็นคู่ๆ มามากแล้ว มันจวนจะหล่นอยู่แล้ว ถ้าอย่างนี้สะกิดนิดเดียวมันก็หล่น อย่างนี้เราไม่เรียกว่าลัดสั้นหรอก มันจะหล่นของมันเองอยู่แล้ว ไม่ได้ทำ ไม่ต้องทำ นั่นมันลัดสั้นเกินไป ฟังพระพุทธเจ้าพูด และตรัสสองสามประโยค มันก็หลุดพ้นแล้ว นั่นมันห่าม มันจะหล่นอยู่แล้ว มันจะสุกอยู่แล้ว

             เอาว่าลัดสั้นนี่ คือว่าเราจะไม่ทำสมาธิจนถึงกับเป็นฌาน เป็นอะไรเลย มีสมาธิพอสมควรแล้ว จิตกำหนดสิ่งต่างๆ ที่จะต้องกำหนด กำหนดลม กำหนดลักษณะของลม กำหนดเกิดดับของลม ไม่เที่ยงของลม อนัตตาของลม กำหนดเบญจขันธ์ที่หาพบได้ อันเนื่องอยู่กับลม แล้วเบญจขันธ์ที่สำคัญที่สุดคือ เวทนาขันธ์ นั้นน่ะ ถ้าเห็นความไม่เที่ยงของเวทนาขันธ์ แล้วก็ รอดตัว เพราะว่าสิ่งต่างๆ มันไปรวมอยู่ที่เวทนาขันธ์ ให้หลงรัก ก็รักเป็นบ้าเลย ให้หลงเกลียด หลงโกรธ โกรธ เกลียดเป็นบ้าเลย ถ้าพบความไม่เที่ยงของเวทนาขันธ์ อนัตตาของเวทนาขันธ์ แล้วเรื่องมันก็จบได้ หลุดพ้นและปล่อยวางได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ก็ได้

             เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ลัดสั้นๆ ระบบลัดสั้น มีเพียง 2-3 ขั้นนะ ทำจิตเป็นสมาธิพอสมควร แล้วกำหนดลมหายใจ จนเห็นความไม่เที่ยง ต่อจากนั้นมันจัดการของมันเอง นี่เรียกว่า ลัดสั้น

             ถ้าไม่ลัดสั้น ทำสมบูรณ์แบบตามหลักอานาปานสติ ต้องทำ 4 หมวดๆ ละ 4 ขั้น 16 ขั้น อย่างที่เรียกว่า ตึงเครียดมากแหละ อย่างที่เรียกมันเป็นจริงเป็นจังอะไรมากน่ะ ในแต่ละขั้นยังมีปัญหาแฝงอะไรอยู่หลายอย่าง นั่นล่ะสมบูรณ์แบบน่ะ เช่น ไปกำหนดรู้จิตทุกชนิด บังคับจิตทุกชนิดในหมวดที่ 3 ของจิตตานุปัสสนา

             นี้เราไม่ต้องทำหรอก เพราะเราไม่ได้ต้องการอย่างนั้น แต่ถ้าเขาจะเป็นโยคีสมบูรณ์แบบ เป็นพระอรหันต์ประเภทอุภโตภาควิมุติแล้ว เขาก็ต้องทำ ถ้าเขาต้องการนะ แต่ทีนี้เขาฉลาด เป็นอุคติตัญญู เป็นวิปัตติตัญญูบุคคล เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง เขาไปทำง่ายๆ นะ เขาจะได้หมดทุกขั้นตอนน่ะ ครบบริบูรณ์ทั้งชุด ในเวลาอันสั้นก็ได้

             นั้นไม่ใช่เรา เรามันเป็นคนโง่ มันคลานงุ่มง่ามอยู่ในนานี่ มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็เลือกเอาเท่าที่มันจะเหมาะแก่เรา แต่เท่านี้มันก็พอแล้ว พอกินแล้ว ป้องกันโรคประสาท ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ให้อายแมวแล้ว

             เรายังสติสัมปชัญญะเร็วๆ ไม่ทำผิดพลาดการงาน ไม่หลงรัก ไม่หลงเกลียดเร็วเกินไป เรื่องกิเลสนั้นมันเป็นเรื่อง เร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ถ้าสติไม่พอ กิเลสมันเอาไปแล้ว จิตนี่เหมือนกัน ถ้าบังคับมันไม่ได้ มันก็ไปตามกิเลสน่ะ เพราะว่ากิเลสบังคับจิต สติปัญญาไม่ได้บังคับจิต มันไม่มีใครที่ไหนมาบังคับจิต มันก็คือสมบัติของจิตเองน่ะแหละ

             จิตมีสมบัติอยู่ 2 ชนิดคือ กิเลส กับ โพธิ เมื่อใดกิเลสครองจิต ก็พาไปเป็นกิเลส เมื่อใดโพธิครองจิต ก็ดึงจิตมาสู่ฝ่ายนี้ ฝ่ายที่อยู่เหนือกิเลส ทีนี้การฝึกหัเอย่างที่ว่านี้ เป็นการฝึกหัด ให้จิตมาอยู่ฝ่ายโพธิ อยู่กับโพธิ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

             มันน่าหัวที่ว่า ไม่มีตัวตน บุคคล อะไรที่ไหน มีแต่จิตกับสมบัติของจิต มันก็ยังทำกันได้ ให้รู้ความจริงข้อนี้ จะได้หายโง่ เป็น กอขอ กอกา ของเรื่องสมาธิ ที่จะต้องรู้กันก่อน มิฉะนั้นมันก็จะโง่ลึกเข้าไปอีก ยิ่งกว่าไม่ทำเสียอีก

             เอาล่ะเป็นอันว่า อาตมาได้พูดเรื่อง หรืออธิบายเรื่อง สมาธิวิปัสสนา ระบบลัดสั้น พูดแล้วนะว่า ระบบลัดสั้น ไม่ใช่ระบบสมบูรณ์แบบ แม้แต่ระบบลัดสั้น ก็พูดเพียงเรื่องแรกเรื่องเดียว คือการกำหนดเกี่ยวกับลมหายใจ

             ทีนี้ยังมีระบบเกี่ยวกับอิริยาบถทั้งหลาย อีกหลายหัวข้อเหมือนกันน่ะ แต่ว่ามันไม่มากมายลึกซึ้งเท่านั้นน่ะ มันเป็นเรื่องอิริยาบถ มีเคล็ด มีเทคนิคที่จะปฏิบัติแบบควบคุม ตามแบบของอิริยาบถ ไว้พูดกันวันหลัง วันนี้มันสมควรแก่เวลา มันรู้สึกจนเรียกว่า ต้องฝืนพูดแล้ว

             ถ้าใครสนใจ อยากจะได้จริงๆ จดไม่ทัน จำไม่ทัน ก็ไปขอเทปเปิดฟังอีกทีสิ ขอเทปเปิดฟัง คือไม่ใช่จะขายเทปนะ คุณไปซื้อเทปเปล่ามาขออัดจากท่านปรีชาสิ เอาไปฟังที่บ้านสิ ฟัง 30 เที่ยว ไม่เข้าใจไปโดดน้ำตาย เอาละ การบรรยายถึงที่สุดแล้ว ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้

*** จบ สมาธิวิปัสสนาระบบลัดสั้น ***

จากคุณ : Seeker - [ 16 ต.ค. 46 ]