บรมธรรมกับการทำงาน
โดย...พุทธทาสภิกขุ
ตีพิมพ์ในนิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๗๖ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือน ตุลาคม ๒๕๓๕

             คนทั่ว ๆ ไปแม้ในเวลานี้ ซึ่งมีการศึกษาเจริญแล้วอย่างนี้ ก็ถือว่ามีปัญหาใหญ่ ๆ ของตนเองอยู่ ๒ ปัญหาใหญ่ ๆ คือเรื่องการทำงานอาชีพ กับการปฏิบัติธรรมซึ่งเกี่ยวกับศาสนา เขาแยกเรื่องการทำงานอาชีพออกเป็นเรื่องโลก ๆ แล้วเอาการปฏิบัติธรรมในทางศาสนาเป็นเรื่องธรรม จนมีพูดกันติดปากว่า คดีโลก คดีธรรม นี้มันทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเป็น ๒ อย่าง ๒ เรื่องใหญ่ ๆ ทำให้คนรู้สึกหนัก ๒ เท่า เพราะมันเป็น ๒ เรื่อง และมันเลยเกิดมีสิ่งที่น่าสังเวชหรือสมเพชขึ้นมา คือว่ามันมีการยกพร่องในด้านใดด้านหนึ่ง จนบางคนรู้สึกว่าทำมาหากินไม่พอกับที่จะทำบุญ หรือบางคนถูกหาว่าทำบุญจนไม่เป็นอันทำมาหากิน นี้มันเป็นผลของการที่มนุษย์ทำให้เกิดมีหน้าที่ขึ้นมา ๒ อย่าง จะเป็นเรื่องถูกหรือผิด คุณลองพิจารณาดูต่อไป

             ส่วนผมก็มีความเห็นว่า ที่แท้จริงนั้นถ้ามองกันให้ลึกแล้ว การทำงานเป็นสิ่งเดียวกันกับการปฏิบัติธรรม ไม่มีคดีโลก ไม่มีคดีธรรม มีแต่คดีเดียว ซึ่งน่าจะเรียกว่าคดีธรรม แต่ถ้าเรียกไปคนก็ฟังไม่ถูก เพราะเขายังมีเรื่องโลก ๆ อยู่มาก และเป็นเรื่องใหญ่โต เรื่องธรรมนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะฉะนั้น เลยเรียกกันว่า คดีของคนทั่วไปจะถูกกว่า ไม่เรียกว่าคดีโลก ไม่เรียกว่าคดีธรรม แต่เรียกว่า “คดีแห่งความรอด”

             คำว่า “ความรอด” นี้ เป็นคำสำคัญที่สุดที่เขาต้องการกันมาก การศึกษาก็เพื่อ Survival คือความอยู่รอด ขบวนการยุติธรรมในโลก เขาก็อ้างว่า เพื่อความอยู่รอด อะไร ๆ ก็เพื่อความอยู่รอดกันอยู่มาก แต่แล้วจะดูกันในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทนี้เราจะเห็นว่า ความอยู่รอดนี้ คือผลที่มุ่งหมายของศาสนา ทั้งที่เป็นคดีโลกและที่เป็นคดีธรรม ซึ่งควรจะมองให้เห็นอยู่ว่า ศาสนานี้ไม่มีคดีโลก ไม่มีคดีธรรม มีแต่คดีรอด คดีที่ทำให้รอด คดีที่เป็นความรอดที่ไปแบ่งเป็นโลก เป็นธรรม นี้คนไปแบ่งเอาเอง ในทางศาสนาจะมีแบ่งเป็นประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์สูงสุดอะไรก็ตาม มันทิ้งธรรมไปไม่ได้ ประโยชน์โลกนี้แท้ ๆ ก็ต้องเต็มไปด้วยธรรม ประโยชน์ในโลกหน้าก็เต็มไปด้วยธรรม ประโยชน์สูงสุดก็สมบูรณ์ไปด้วยธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้น มันก็เป็นทั้งหมด

             การปฏิบัติธรรมก็เพื่อความอยู่รอด แม้ว่าชาวบ้านจะแยกว่าเป็นคดีโลกออกไปเป็นเรื่องการทำงาน มันก็เพื่อความอยู่รอด คุณจะต้องมองข้อเท็จจริงอันนี้ให้มาก จะทำมาหากินก็เพื่ออยู่รอด เพราะว่าการอยู่รอดนั้นมันมีหลายระดับ หรืออย่างน้อยก็มี ๒ ชนิด คือว่าอยู่รอดทางกาย กับอยู่รอดทางวิญญาณ แต่แล้วมันก็เป็นการอยู่รอดนั่นเอง ฉะนั้น การทำให้อยู่รอดนั่นแหละคือการงาน เพราะฉะนั้นการงานก็คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็คือการงาน แต่คำว่า การงาน จะต้องระบุชัดลงไปว่า การงานที่ถูกต้อง การงานที่บริสุทธิ์ ที่เรียกว่าทำงานเพื่องาน อย่าทำงานเพื่อกิเลส อย่าทำงานเพื่อเงิน อย่าทำงานเพื่อเนื้อหนัง งานนั้นไม่บริสุทธิ์ ถ้างานบริสุทธิ์ต้องเป็นงานเพื่องาน ถ้าทำงานเพื่องานแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมขึ้นมาทันที เพราะงานนั้นมันบริสุทธิ์ มันต้องประกอบไปด้วยธรรมตั้งแต่ต้นจนปลาย

             ถ้าเราสามารถทำงานเพื่องานให้เป็นการปฏิบัติธรรมพร้อมกันไปในตัว หรือเป็นสิ่งเดียวกันอย่างนี้ ปัญหาใหญ่ที่เป็นเรื่องหนักอกหนักใจของมนุษย์ ก็เหลือปัญหาเดียว ไม่ใช่เป็น ๒ ปัญหาอย่างที่ว่ามาแล้ว พ่อบ้านแม่บ้านขยันทำงานหาเงินแล้วก็ยังจะต้องคิดเรื่องทำบุญทำทานในทางศาสนาอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็หนักอกหนักใจ เรื่องมีไม่พอ หรือพอไม่มี หรือไม่แน่ใจว่าเรื่องศาสนานี้มันจะมีประโยชน์อะไร มันเป็นปัญหา ๒ ฝ่าย หนักทั้งสองฝ่าย นี่เพราะความเขลาของตัวเอง หรือว่าไม่ได้รับการศึกษาอันถูกต้องหรือเพียงพอ ความเขลาอันนี้มันจึงเกิดขึ้น

             การทำงานอาชีพให้ดีที่สุดนั่นแหละ จะกลายเป็นการปฏิบัติธรรมที่สูงสุดพร้อมกันไปในตัว ขอแต่ให้ถือว่า งานนั่นแหละคือพระเจ้า อยากจะมีพระเจ้า เราก็ต้องเอาการงานนั่นแหละเป็นพระเจ้า เคารพบูชาการงานอย่างเป็นพระเจ้า หรือถือเอาเป็นพระเจ้าไปเลยก็ได้ ไม่ต้องเปรียบเทียบก็ได้ ให้ทำการงานแล้วก็จะมีพระเจ้าขึ้นมา แต่อย่าพูดหรือคิดกันอย่างวัตถุนิยมอย่างที่เขาคิดกันว่า ทำงานแล้วก็ได้เงิน เงินก็เป็นพระเจ้า อย่างนี้ยิ่งเป็นวัตถุนิยมที่โง่เขลา งมงายอย่างยิ่งที่เอาเงินเป็นพระเจ้า เอางานเป็นพระเจ้านั้นไม่ใช่อันเดียวกันกับเอาเงินเป็นพระเจ้า

             ที่พูดว่า งานเป็นพระเจ้า เราต้องบูชางานอย่างพระเจ้านั้น เพราะว่างานมันเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ในธรรมะ ๔ ความหมาย เราพูดกันแล้วพูดกันอีกเรื่องธรรมะ ๔ ความหมาย ย้ำแล้วย้ำอีก เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องย้ำอยู่เสมอ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่ตามธรรมชาติ คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ คำเดียวนี้ มันสำเร็จอยู่ที่การงาน คือหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง เราต้องทำหน้าที่อันนี้ ทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ก็คือทำทุกอย่าง นับตั้งแต่หาอาหารการกิน แล้วก็บริหารร่างกายประจำวันที่จะต้องทำ นี้ก็เป็นการงาน

             แม้การเล่าเรียนชั้นไหน ระดับไหนก็ตาม มันก็เป็นการงานเพื่อผลอะไรอย่างหนึ่งข้างหน้า เราก็มีความรู้ มีการศึกษาแล้ว เราก็ทำการงานที่เป็นอาชีพโดยเฉพาะ นี่มันก็เป็นการงาน พร้อมกันนั้นเราก็ต้องรู้จักทำในภายใน คือทำจิตทำใจตามทางของศาสนาให้เป็นปกติสุขอยู่ได้ แม้การปฏิบัติข้อนี้ มันก็คือการทำงาน คุณเข้าใจคำว่า “งาน” นี้ให้ดี ๆ คือหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมันเป็นกฎของธรรมชาติแล้ว มันเป็นพระเจ้า ระวังให้ดี อย่าทำเล่นกับมัน

             เมื่อเป็นกฎของธรรมชาติ หรือเป็นตัวธรรมชาติ มันจึงเป็นพระเจ้า คือว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องทำให้ถูกต้องตามที่กฎธรรมชาติต้องการ เราจะเรียกว่าพระเจ้าก็ได้ หรือจะเรียกว่ากฎของธรรมชาติหรือธรรมชาติเฉย ๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องถือว่า งานนี้คือพระเจ้าในลักษณะอย่างนี้ ถ้าให้ง่ายเข้ามาหน่อยก็พูดว่าการทำงานนี้ทำให้มีพระเจ้าขึ้นมาในเนื้อในตัวของเรา คุณฟังให้ดี ๆ ว่า การทำงานทุกอย่าง คือการทำให้มีพระเจ้าขึ้นมาในเนื้อในตัวของเรา นี้หมายถึงงานบริสุทธิ์ ทำงานเพื่องาน ตามกฎธรรมชาติอย่างที่พูดมาแล้ว การทำเช่นนี้มันทำให้มีสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือพระเจ้าขึ้นมาในเนื้อในตัวของเรา

             พูดตามสำนวนศาสนาบางศาสนา เขาว่า ทำร่างกายนี้ให้เป็นวิหารของพระเจ้า ไม่ใช่เป็นที่หาความสุขทางเนื้อหนัง พูดอย่างพุทธบริษัทเราก็ว่า ทำร่างกายนี้ให้เป็นเรือแพสำหรับข้ามฟาก เหมือนภาพปริศนาธรรม ภาพเขียน ภาพหนึ่งที่อยู่ในตึกนั้น เขาขี่ซากศพข้ามฟาก คือร่างกายนี้ถูกทำให้เป็นยานพาหนะข้ามฟากจากวัฏสงสารไปสู่นิพพาน นี่มันก็เหมือนกับพวกอื่น อย่างคริสเตียนเขาพูดว่า “ร่างกายนี้เป็นวิหารของพระเจ้า อย่าทำให้สกปรก” อย่าใช้ไปทางเนื้อหนัง หาความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง ให้ทำร่างกายนี้ให้ถูกต้องตามกฎของพระเจ้า ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระเจ้า เนื้อตัวของเรานี้ต้องทำให้เป็นวิหารของพระเจ้า อย่าไปทำให้สกปรก การศึกษาหรือการเล่าเรียนอะไรทั้งหมด เพื่อความสุขทางเนื้อหนังทั้งนั้น นั่นมันทำให้ร่างกายนี้ให้สกปรก จนไม่เป็นที่ยู่ที่อาศัยของพระเจ้าได้ ไปคิดดูให้ดี ๆ พวกคุณก็รวมอยู่ในจำพวกเด็ก ๆ เหล่านั้น

             ธรรมะจะมีขึ้นมาทันทีในเมื่อเราทำงาน ตัวอย่างชื่อของธรรมะ เช่นว่า มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ฯลฯ ชื่อธรรมะเหล่านี้ฝ่ายธรรมะที่เป็นกุศลล้วนแต่เรียกว่าธรรมะข้อหนึ่ง ๆ ธรรมะทั้งหมดทุกข้อนี้ จะมีในขณะที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ ถ้าคุณเป็นคนจริงและทำงานจริงทำสำเร็จ ก็หมายความว่า มีสติเริ่มด้วยสติ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะที่เพียงพอ ย่อมไม่มีใครทำงานได้ จะมีแต่ความผิดพลาด มีแต่ความสะเพร่า มีแต่ความไม่เสมอต้นเสมอปลาย เพราะฉะนั้น ทำงานสำเร็จเมื่อใด ก็เรียกว่ามีสติเมื่อนั้น

             วิริยะ ก็เป็นชื่อธรรมะข้อที่เป็นกำลังงาน เป็นความกล้าหาญ การทำงานก็ต้องใช้วิริยะ ทีนี้เด็ก ๆ ของเราไม่ถูกสอนให้มีวิริยะที่บริสุทธิ์ แต่ถูกล่อเหมือนเอาขนมมาล่อ เอาลูกกวาดมาล่อ เขาทำงานด้วยแรงล่อ ไม่ใช่ทำงานด้วยแรงวิริยะ ทำการงานจริงมันก็มีธรรมะสูงสุด เช่นวิริยะ ชนิดที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์เสียได้ด้วยเพราะวิริยะ

             ถ้าทำงานแล้วก็ต้องมีสมาธิในการทำงาน ต้องมีปัญญาในการทำงาน หรือโดยพื้นฐานทั่วไปต้องมีศรัทธาในการงานนั้นเสียก่อน ศรัทธาเป็นของเริ่มต้น ริเริ่มต้นด้วย แล้วก็เป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลาด้วย

             คำว่า ศรัทธา ไม่ใช่หลับตาเชื่อ ศรัทธาต้องมาคู่กับปัญญา หรือว่าผสมเป็นสิ่งเดียวอยู่กับปัญญา เรามีปัญญาแล้วจึงเชื่อ เราไม่เชื่อก่อนมีปัญญา ถ้าใครพูดว่า มีศรัทธาก่อนมีปัญญา ผมคิดว่าเป็นคนพูดอย่างทำลายศาสนา การที่เอาศรัทธาให้มาก่อนนี้มันไม่ปลอดภัย แล้วไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าที่ท่านสอนว่า อย่าเชื่อ อย่าเชื่อคนอื่น แม้แต่ตถาคตพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องไปคิดจนเห็นแจ้งในเหตุผลเสียก่อน แล้วจึงเชื่อ นี่ศรัทธาต้องมาหลังปัญญา หรือมาพร้อมกันกับปัญญาอย่างนี้เสมอไป นี่ก็เป็นธรรมะที่จะต้องมีอยู่ตลอดเวลาในการที่จะต้องทำงาน

             ยกตัวอย่างที่สำคัญฯ เช่นชื่อว่า สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มีเวลาอยู่ตลอดเวลาในการทำงานนั้น เพราะเป็นเครื่องมือวิเศษที่สุด เป็นของสารพัดนึกที่สุด คือธรรมะหมวดนี้ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ พูดให้ติดปากคล่องปากขึ้นใจไว้

             สัจจะ – มีความจริงใจในสิ่งที่จะกระทำ
            
ทมะ - มีการบังคับตัวเองให้ทำ
            
ขันติ - มีความอดกลั้น อดทน เมื่อมันเกิดความเจ็บปวด หรือยากลำบาก อุปสรรคมีขึ้นมา
            
จาคะ - คือสละสิ่งที่เป็นอุปสรรคของสิ่งเหล่านั้นอยู่เรื่อย สลัดสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในเนื้อในตัวของเรานี้ออกไปเรื่อย

             คำว่า “จาคะ” ไม่ใช่เรื่องให้ทาน ไม่ใช่เรื่องกุศลสงเคราะห์ง่าย ๆ ตื้น ๆ อะไรเช่นนั้น คำว่า จาคะ ที่แท้จริง คือการสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวของเราออกไป เช่น ความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นข้อต้น ข้อแรก เป็น กอ ขอ กอ กา ของจาคะ คือสละความตระหนี่ขี้เหนียว ที่มีอยู่ในเนื้อในตัวของตัวออกไป เรียกว่า จาคะ นี้ไม่ใช่แต่เฉพาะคนขี้เหนียวที่ต้องสละออกไป อะไรทุกอย่างที่เป็นความเห็นแก่ตัว ต้องสละออกไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรทุกอย่าง ทุกชื่อของกิเลสนี้ต้องสละออกไป ต้องระบายออกไป คือว่าเปิดรูไว้เสมอ ที่จะให้มันไหลออกไป ๆ ตลอดเวลานั่นแหละ มันจึงจะเป็นจาคะ นับแต่อาหารให้สัตว์กิน เอาปัจจัยในการยังชีพแจกคน เรื่อยขึ้นมาจนถึงช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์ อะไรก็ตาม นี่มันเป็นการเปิดระบายรูให้รั่ว ให้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวนั้นรั่วไหลออกไปจากตัวเรื่อย ๆ ไป

             จาคะหมายความอย่างนี้ เราอย่าประมาท อย่าเผลอในข้อนี้ จงเปิดรูรั่วให้สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตนรั่วออกไปเรื่อย สงเคราะห์คนอื่น ๆ เมตตากรุณาแม้แก่สัตว์เดรัจฉาน เห็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ มีความสุข เมื่อได้กินอาหาร เราก็มีความสุขด้วย ให้ทำไปเรื่อย ๆ เป็นประจำวันเลย ยังมีมากอย่างด้วยกัน เอามาจาระไนไม่หมด

             ในการทำงานนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องเสียสละความเห็นแก่ตัว คุณจะเล็งถึงการงานในการศึกษาก็ได้ แม้แต่การกีฬาก็ได้ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ละก็ เรียกว่าเป็นการงาน ไม่เฉพาะการงานทำไร่ไถนาอาชีพโดยตรง คำว่า การงาน นี้เขาเหมาหมดเลย ถึงหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องทำตามกฎธรรมชาติ เราเกิดขึ้นมา มีชีวิตขึ้นมา เราต้องการมีอาหารกิน เราบริหารร่างกายให้ถูกต้อง เรื่องกิน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย นี้ก็เรียกว่าการงาน เราต้องศึกษาเล่าเรียนให้มีวิชาความรู้ ความสามารถในหน้าที่ต่อไป นี้ก็คือการงาน การงานคือการศึกษา แล้วต่อไปเราก็ทำการงานจริง ๆ ลงไป นี้คือการงาน แล้วก็ยังต้องระวังเรื่องจิตเรื่องใจในภายใน ในทางวิญญาณอีก นี้ก็คือการงานอีกเหมือนกัน

             คำว่า “การงาน” หมายหมดถึงสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำทั้งทางกายและทางวิญญาณ ทั้งเพื่อผลทางกายและทางวิญญาณ เมื่อจะต้องทำหมดอย่างนี้ คุณต้องคิดดูว่า ธรรมะอันไหนมันจะขาดไปเสียได้ มันต้องมีครบไปหมด ฉะนั้นธรรมะทุกชื่อ กลายสิบชื่อในพุทธศาสนา จะมีครบถ้วนอยู่ในการทำงาน แม้จะทำงานอย่างที่เรียกว่าทำมาหากิน ทำมาหากินอยู่ในไร่นา มันก็มีธรรมะเหล่านี้ครบ ต้องมีสัจจะ – ความจริงใจ, ทมะ – บังคับตัวเอง, ขันติ – อดทน, จาคะ – ระบายรูรั่ว ให้ความชั่วที่มันจะเป็นข้าศึกแก่หน้าที่การงานนี้ ให้รั่วไหลไปเรื่อย ให้คงทำงานอยู่ได้เป็นอย่างดีเรื่อย

             คนที่ทำนานั้น ก็ต้องมีศรัทธา ต้องมีความเพียร ต้องมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา คนไม่มองกันในแง่นี้ ไปมองอย่างโง่เขลาว่า หาเงินไว้ก่อน แก่เฒ่าจึงค่อยปฏิบัติธรรม นี่โง่ถึงขนาดเป็นบ้าทางวิญญาณ ความโง่ชนิดนี้ต้องถือว่า มากขนาดที่เป็นบ้าทางวิญญาณของพระเจ้า คนที่ทำงานอยู่ควรจะพอใจ ควรจะบูชาตัวเอง ควรจะเคารพตัวเอง ว่านี้มันเป็นการกระทำทุกอย่าง มีธรรมะทุกอย่างอยู่ในนี้ หาให้พบ มีศีล ก็คือบังคับตัวเอง มีสมาธิ คือความมั่นคงในการทำงาน มีปัญญา คือ มีความฉลาดในการทำงาน มีศีล สมาธิ ปัญญา ครบอยู่ในการทำงาน มีหน้าที่เพียงขยายศีล สมาธิ ปัญญานี้ให้สูง ให้มากขึ้นไปอีกตามลำดับ จนเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ชนิดที่ทำการงานท่งจิตทางวิญญาณได้ คือดับทุกข์ทางจิตทางวิญญาณได้ เพราะฉะนั้น งานก็คือสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะทุกชนิดทุกอย่าง แล้วงานมันก็คือสิ่งสำคัญของชีวิตเท่านั้นเอง ดังนั้นเราถือว่าชีวิตที่แท้จริงก็คือตัวการงาน ตัวการงานนั้นแหละคือชีวิต ย่าแยกชีวิตออกจากการงานเป็นคนละอย่าง ตนละเรื่อง เดี๋ยวมันก็จะแยกกันออกไปเรื่อย

             ทีนี้ ขอชี้เรื่องปลีกย่อยบ้าง ที่มันแฝงกันอยู่ หรือมันแอบอิงกันอยู่ งานนั้นแหละคือครูบาอาจารย์ที่ดีที่สุด คุณก็มีครูบาอาจารย์อยู่ที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย แต่ผมยังมองไกลไปกว่านั้น หรืออยากจะมีครูชนิดที่เป็นตัวการงานนั้นเอง เป็นครูบาอาจารย์ การให้ครูสอนที่โรงเรียนนี้ก็เป็นเรื่องเบื้องต้นขั้นริเริ่ม แล้วก็เป็นครูทางฝ่ายร่างกายไปเสียมากกว่า จนกว่าเมื่อไร เรามีความเจนจัดทางการงาน เมื่อนั้นเรามีการงานนั้นเป็นครู การทำงานผิดพลาดนั้นมันก็เป็นครูสอนอย่างดีอย่างวิเศษ คือมันทำให้เกิดความเจ็บปวดที่ต้องคิดมาก ถ้าทำงานถูกต้องมันก็เป็นครูสอนหนังสือเหมือนกัน

             ความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู แต่ความผิดนั่นแหละสอนดีมากกว่าความถูก ความถูกทำให้เหลิงพอใจและเหลิง ความผิดทำให้ต้องคิดมาก แต่เด็กสมัยนี้มันสมัครไปฆ่าตัวตายเสีย ไม่ยินดีที่จะรับเอาความผิดเป็นครู มันไม่แก้ตัวใหม่ มันไปทำอย่างที่ว่าถ้าไม่ได้ตามใจก็ไปกินยาแมลงให้ตายเสียดีกว่า นี่คือความผิดพลาดของการสั่งสอน หรือการศึกษาสมัยนี้ไม่สามารถจะสอนให้เด็ก ๆ รู้ว่า ความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู เพราะการงานมีทั้งผิดพลาดและถูกต้อง ถ้าอยู่อย่างไม่ทำอะไรเลย คนก็จะโง่ลง ๆ ถ้าคนขยันทำการงาน ถูกก็ตาม ผิดก็ตาม ทำมันไปให้ดีที่สุด การงานนั้นมันก็จะสอนให้ดีที่สุด อย่างที่หาไม่ได้ในโรงเรียน จากโรงเรียน การงานมันให้ความเจนจัด การงานความชำนาญ ความเห็นจริงโดยประจักษ์ซึ่งครูที่โรงเรียนให้ไม่ได้ ให้ได้แต่คำพูด ให้ได้แต่หลักวิชา ซึ่งเป็นตัวหนังสือ หรือเป็นคำพูดเป็นแนวความคิดเท่านั้นเอง

             ความผิดพลาดในการงานนี้จะสอนเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดีที่สุด แต่พอมีความผิดพลาดชนิดที่จะมาสอนเกิดขึ้น เด็ก ๆ ก็จะสะบัดก้นลุกหนีไป ไม่มองดูที่นี่ คือไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาที่เป็นตัวความผิดพลาด อย่างดีที่สุด มานั่งร้องไห้แล้วไปฆ่าตัวตาย มันไม่พยายามที่จะเจาะแทงลงไปที่ตัวความผิดพลาด จนรู้ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามจิตใจหรือตามความอยากของเรา

             สรุปแล้ว ดูให้ดี ๆ จะเห็นว่า ชีวิตในการงานนั้น มันสอนให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สอนเรื่องนิพพานอยู่ตลอดเวลา สอนให้ก้าวหน้าไปตามลำดับ จนครบลำดับของอาศรมทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น เราควรจะมีความสนใจ