พุทธทาส ๑๐๐ ปี
พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย

วันกรรมกร

             ที่สวนโมกข์จะกำหนดให้มีวันที่พระเณรทุกรูปต้องทำงานในลักษณะที่เป็นการใช้แรงงานทางกายให้มาก อาจเป็นการก่อสร้างหรือซ่อมแซม ทำนุบำรุงสถานที่บริเวณต่างๆ ในสวนโมกข์ โดยกำหนดให้ใช้วัน ๗ ค่ำและ ๑๔ ค่ำ หรือวันโกนเป็นวันกรรมกร
             การให้พระได้มีโอกาสทำงานหนักบ้างนั้น เพื่อผลทางสุขภาพประการหนึ่ง ประการต่อมาเพื่อให้ได้ระลึกถึงชาวบ้านที่ต้องทำงานอาบเหงื่อ ต่างน้ำ กว่าที่จะได้ข้าวได้ปลามาถวายพระ ตัวพระเองจะได้คิดทบทวนว่าได้มุ่งปฏิบัติทางจิตใจคุ้มค่าความเหนื่อยยากของชาวบ้านหรือไม่ และที่ สำคัญที่สุด คือเป็นบทเรียนสำหรับใช้เหงื่อในการล้างตัวกูของกู เพราะขณะที่ทำงานหนักนั้นอารมณ์ของกิเลสต่างๆ จะโผล่ออกมาได้ง่าย ถือเป็นบททดสอบการเจริญสติในชีวิตจริง ซึ่งเป็นบทเรียนที่ยากกว่าการแยกตัวไปเจริญสติตามลำพังเสียอีก

น้ำมนต์แท้นั้นคือเหงื่อ


เหงื่อนั่นแหละ        คือน้ำมนต์            ให้ผลเลิศ
นำให้เกิด              ศุขสวัสดิ์            พิพัฒนผล
น้ำมนต์รด             รดเท่าใด            ไม่ช่วยคน
จนกว่าตน             จะมีเหงื่อ            เมื่อทำจริง ฯ
จงรักเหงื่อ             เชื่อมั่น             บากบั่นเถิด
หน้าที่เกิด              สมบูรณ์ดี           มีผลยิ่ง
เป็นพระเจ้า           มาช่วยเรา            อย่าประวิง
จะเป็นมิ่ง              ขวัญแท้             แก่ทุกคน ฯ
พระพุทธองค์         ทรงเคารพ             ซึ่งหน้าที่
ดูให้ดี                    เหงื่อออกมา      มหาผล
ใช้บูชา                  พระพุทธองค์       มิ่งมงคล
สาธุชน                 มีสุขเหลือ          เพราะเหงื่อเอย ฯ

งานทำบุญล้ออายุ

             ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านพุทธทาส ที่สวนโมกข์ จะมีการจัดงานทำบุญล้ออายุขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙
             การทำบุญเกี่ยวกับอายุของคนทั่วไป มักจะทำเพื่อฉลองอายุที่ยืนยาวมาได้เท่านั้นเท่านี้ และมีจุดมุ่งหมายที่จะทำบุญเพี่อต่ออายุให้ยืนยาวออกไป มีการถวายอาหารบิณฑบาตและจัดเลี้ยงอาหารกันอย่างเอิกเกริก ล้วนเพื่อหล่อเลี้ยงความรู้สึกมีตัวตนให้แข็งกล้าขึ้น
             แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสกลับให้จัดงานในลักษณะตรงกันข้าม คือ ยึดหลักประหยัดเรียบง่าย รบกวนผู้อื่นน้อยที่สุด แต่ให้ถือเอาตามความหมายที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่มุ่งหมายความหลุดพ้นเป็นสำคัญ “การจัดงานในลักษณะที่เคยหลงอายุ รักอายุ ฉลองอายุ อะไรต่างๆ นี้ ควรจะเปลี่ยนเป็น ล้ออายุ เลิกอายุ แล้วก็เหนืออายุ นั้นแหละคือความหมายที่เป็นการเหนือกิเลส..ทำให้เป็นตัวอย่างที่คนข้างหลังจะถือเอาเป็นตัวอย่างได้ให้เป็นการทำลายกิเลส คือความเห็นแก่ตัว กูจะไม่เอากับมึง ความเห็นแก่ตัวในความหมายใดๆ ก็ดี”
             ในวันนี้พระเณรและลูกศิษย์จากที่ต่าง ๆ จะพากันมาเพื่อมอบของขวัญให้ท่าน ซึ่งได้แก่ การอดอาหาร ๑ วัน ร่วมกับท่าน ซึ่งคนที่จะกระทำดังนี้ได้ จะต้องผ่านการฝึกหัดบังคับจิตใจของตนเองได้บ้างแล้วพอสมควร ท่านอาจารย์จะให้ของขวัญตอบแทน คือ ธรรมบรรยาย ซึ่งวันนี้ท่านถือเป็นวันพิเศษ ที่ท่านจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตและสังขารของท่านเองตลอดจนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่พิเศษไปกว่าทุกครั้งที่มีการบรรยาย เพื่อให้ได้ข้อคิดสะกิดใจในทางธรรมที่ลุ่มลึก พร้อมทั้งจะปรารภถึงปณิธานของท่านในการทำงานต่อไป
             ในส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่จะมีเพิ่มเติมขึ้นนั้น ผู้ขอจัดต้องมาปรึกษากับท่านเป็นคราวไป ท่านก็จะขอให้จัดไปตามหลักการที่ท่านตั้งไว้คือ ไม่จัดเพื่อสนองกิเลสในทุกกรณีไป
             “การล้ออายุ และการให้ของขวัญวันล้ออายุ อย่างที่กระทำกันอยู่ที่สวนโมกข์นั้น มีผลทางจิตใจในความไม่ประมาทและรู้จักตัวเองดีขึ้นทุกปี ขอฝากไว้สำหรับรักษากันไว้สืบต่อไปเพื่อความก้าวหน้าทางจิตใจของทุกคน” (มรดกที่ ๑๖)

วันเยี่ยมสวนโมกข์

             หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันทำวัตรท่านอาจารย์” ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว พระสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง จะพากันไปที่สวนโมกข์เพื่อทำวัตรท่านอาจารย์ตามสังฆประเพณี ซึ่งวันนี้ท่านอาจารย์นิยมให้เรียกว่า “วันเยี่ยมสวนโมกข์” มากกว่าและในวันเยี่ยมสวนโมกข์ ๒๕๓๖ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายนนี้เองที่พระครูปลัดศีลวัฒน์ ( เจ้าอาวาสสวนโมกข์ ท่านปัจจุบัน) ได้เลือกให้เป็นวันฌาปนกิจศพท่านอาจารย์เพราะถือว่าเป็นวันที่ผู้ใกล้ชิดกับท่านทุกคนจะมาเยี่ยมนมัสการอยู่แล้วโดยไม่ต้องประกาศออกไปมาก

พบกันฉบับหน้า
ตามเหตุปัจจัย ศานติไมตรี

ที่มา :
      นสพ.สุราษฎร์นิวส์ ฉบับ 37