ในโลกอันแสนวิปริต กับฐานความคิดท่านพุทธทาส
โดย วิภา จิรภาไพศาล

          ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านพุทธทาส เครือข่ายธรรมโฆษณ์ พุทธทาส ๑๐๐ ปี ได้จัดงานพุทธทาส ๑๐๐ ปี : ร้อยใจ ฟื้นไทย ให้คืนธรรม เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระไพศาล วิสาโล, ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส "แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร" "

          โดยพระไพศาล วิสาโล วิทยากรท่านแรกที่พูดเรื่องการมองอนาคตผ่านแนวคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส ครั้งที่เริ่มก่อตั้งสวนโมกข์ เมื่อวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ตอนนั้นท่านมองอย่างไรเกี่ยวกับอนาคต และความเชื่อของสถานะของพระพุทธศาสนาว่า

          "ถ้าจะมองอนาคตจากจุดนี้ต่อไปข้างหน้าผ่านแนวคิดของท่านพุทธทาส ว่าโลกในอนาคตจะเป็นภาวะเสื่อมโทรมทางศีลธรรมไปตามลำดับ มีความวิปริตมากขึ้นเรื่อย แต่อาจารย์พุทธทาสท่านไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายอย่างเดียว

          ท่านมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัย การที่โลกนั้นจะสู่ความวิปริตยิ่งขึ้นก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัย แต่ในขณะเดียวกันท่านก็เชื่อว่าเหตุปัจจัยนั้นในหลายส่วนอยู่ในวิสัยที่มนุษย์หรือคนเล็กๆ สามารถที่จะทัดทาน ท้าทาย ควบคุม หรือกำกับได้ ตรงนี้เองที่เราสามารถดูจากชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาส

          เมื่อได้ตั้งสวนโมกข์เมื่ออายุ ๒๖ ปี ท่านเป็นพระชั้นผู้น้อยแต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนา เพื่อที่จะผลักดันกงล้อแห่งพระธรรมจักรให้คืบหน้าต่อไป แม้ว่าโลกจะเข้าสู่ยุคกึ่งพุทธกาลก็ตาม คือท่านเชื่อว่านี้เป็นสำนึกของชาวพุทธ...เป็นภารกิจของชาวพุทธ ของคนธรรมดาคนหนึ่ง ถ้าอ่านจดหมายที่ท่านพุทธทาสเขียนถึงท่านธรรมทาสซึ่งเป็นน้องก็จะเห็นถึงความมุ่งมั่นเช่นนั้น แม้ว่าท่านสร้างสวนโมกข์ขึ้นมาจากศูนย์ โดยที่ท่านไม่มีวาสนาบารมีอะไรก็ตาม แต่ท่านมีความเชื่อมั่นว่าสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มากก็น้อย ในแง่นี้ท่านพุทธทาสมองอนาคตโดยไม่อยู่ภาวะจำยอม แต่มองอนาคตว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย

          อาจารย์พุทธทาสท่านมองว่าโลกนี้จะเจริญได้ด้วยธรรม ท่านมองโดยอาศัยแว่นของศาสนา หรือธรรมอย่างชัดเจน คือโลกนี้จะคงอยู่ได้เพราะธรรม ไม่ใช่ด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี หรือประชาธิปไตยอะไรทั้งสิ้น แม้ว่าเมื่อตอนเป็นพระใหม่ๆ ท่านก็ยังมีความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นท่านถือว่าภารกิจของท่านคือการฟื้นฟูธรรมะขึ้นมา แต่ก่อนที่ท่านจะเข้าไปฟื้นฟูพระศาสนาขึ้นมา ท่านฟื้นฟูธรรมะให้เกิดยิ่งขึ้น

          การที่จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างมีพลัง ท่านพุทธทาสก็ต้องย้อนกลับมา กลับมาที่ไหน กลับมาที่รากเหง้าของพุทธศาสนา นั้นคือพระไตรปิฎก เรียกว่าข้ามพ้นคัมภีร์ต่างๆ มาสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาที่ลงไว้ในพระไตรปิฎก เอาพระไตรปิฎกเป็นครู ท่านศึกษาพระไตรปิฎกอย่างมาก ต่างจากท่านอื่นอีกมากมายที่มีครูเป็นบุคคล แต่ท่านพุทธทาสมีพระไตรปิฎกเป็นครู

          ท่านย้อนกลับมาที่ตัวเองว่าทำอย่างไรที่จะต่อสู้กับกิเลส ตัณหา อวิชชาในตัวเอง อันนี้คือแนวคิดที่สำคัญ เหมือนกับการยิงธนู ต้องน้าวเอ็นมาข้างหลังให้ไกลที่สุด ยิ่งน้าวมาไกลเท่าไร ก็ทำให้ลูกธนูพุ่งออกไปข้างหน้ามากเท่านั้น แม้ว่าโลกของท่าน โลกแห่งศีลธรรมที่มันจะเปลี่ยนแปลงกันอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ตาม แต่ท่านถอยกลับมาที่สวนโมกข์ ถอยกลับมาที่พระไตรปิฎก และถอยกลับมาที่กิเลสในกายของตนเอง เอาจิตใจเป็นสมรภูมิที่จะสู้ ที่จะทำให้ตัวเองเข้มแข็ง เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างอนาคตให้แก่พระศาสนา เพื่อจะฟื้นฟูพระศาสนาให้ดีขึ้น

          อาตมาคิดว่าสิ่งที่เป็นฐานความคิดของท่านสำคัญมาก คือว่าแม้เราจะมองเห็นโลกอนาคตที่กำลังเชี่ยวกรากด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ อันเนื่องมาจากปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม ความวิบัติทางด้านบรรยากาศของโลก ความเสื่อมโทรมในด้านศีลธรรม การเอารัดเอาเปรียบกันขนานใหญ่ในนามตลาดเสรี ได้ตามแบบท่านอาจารย์พุทธทาส คือความมีสำนึกในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง สำนึกอันนี้เป็นของท่านพุทธทาส จุดชี้ขาดคือเรื่องของศีลธรรม เรื่องของจริยธรรม เรื่องของธรรมะ นี้เป็นจุดที่จะทัดทานโลกไม่ให้เสื่อมโทรมไป

          ท่านพุทธทาสพูดอยู่เสมอว่าเราต้องระดมกำลังเพื่อเอาศีลธรรมกลับมา เพราะถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ อาจารย์พุทธทาสท่านมองเห็นทั้งโลก...ปัญหาคือว่าการจะนำศีลธรรมกลับมาจะทำอย่างไร จะเอามาอย่างไร เราจะใช้วิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ ตามอย่างที่ทำอยู่ พูดให้มากขึ้นเผยแผ่ให้มากขึ้น แค่นั้นพอไหม อาตมาเชื่อว่าไม่น่าเพียงพอ ปัญหาหนึ่งก็คือว่าศีลธรรมทุกวันนี้ไม่สามารถจะวิ่งไล่ทันความชั่วร้ายของยุคสมัยได้

          สิ่งชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย ความโลภ การคอร์รัปชั่น ความมักมากในกาม มันได้พัฒนาไปจนกระทั่งสามารถอำพรางตนเอง หรือพัฒนาจนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย...อันนี้อาตมาคิดว่ามันเป็นสิ่งน่ากลัว มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องของความชั่วร้ายนี้มันพัฒนาเป็นเรื่องธรรมดาได้ อาตมาคิดว่าความชอบธรรมและจริยธรรมจะต้องพัฒนาจนสามารถที่จะไปดัก หรือไปชี้ได้ว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าผิดศีลธรรม

          เราจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ปัญหาการเรียกร้องของศาสนารวมทั้งพุทธศาสนาไม่ได้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้สนใจที่จะสร้างเกณฑ์ทางจริยธรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเลย การไม่ใช้โฟม การไม่ทิ้งของเสียลงแม่น้ำ...การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มันมาจากไหน มันไม่ได้มาจากพุทธศาสนา เวลานี้มันมีแหล่งความคิดที่ไปกำหนดจริยธรรมสมัยใหม่เยอะ

          ในบางครั้งแนวทางทุนนิยมก็เข้ามากำหนดด้วย เช่น นายทุนบอกว่าถ้าคุณใช้ซีดีด้วยโปรแกรมที่ไม่ได้รับอนุญาตถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นการขโมย เป็นการผิดศีลธรรม ขณะที่เขาโกงค่าแรงคนงานกลับไม่เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ตรงนี้จุดอ่อนของศาสนา และพุทธศาสนาที่ไม่สามารถจะสร้างเกณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ตรงนี้เป็นเรื่องยาวที่จะต้องพูดกันต่อไป

          ประเด็นต่อมาคือเรื่องการชิงพื้นที่ทางศีลธรรมให้มากขึ้น ไม่ใช่เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ หรือคลื่นวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่ต้องเข้าไปชิงพื้นที่ในวิถีชีวิตการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ในตลาดหุ้น ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นสิ่งที่ปลอดจากศีลธรรมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมเดิมๆ ตามพุทธศาสนา หรือศีลธรรมแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น

          การชิงพื้นที่ทางศีลธรรมในสถาบันต่างๆ ในสถาบันการเมือง การเศรษฐกิจ ฯลฯ อาจารย์พุทธทาสท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ท่านเห็นว่าการนำการเมืองที่มีศีลธรรม มีคำพูดหนึ่งของท่านที่น่าสนใจ ท่านเขียนไว้ว่า ต้องทำให้การเมืองมีศีลธรรม เพราะว่าถ้าไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาโลกาวินาศ เพราะระบบจริยธรรม ศีลธรรมกับระบบการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องกัน ระบบศีลธรรมนี้มันเนื่องด้วยระบบการเมือง...ต้องพยายามทำให้การเมืองมีศีลธรรมให้ได้ ซึ่งวันนี้เป็นมิติใหม่ในทางพุทธศาสนาทางเถรวาท ซึ่งที่ผ่านมาเนี่ย มันอาจจะไม่ให้ความสนใจเท่าไร แต่ที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครองอยู่แล้ว แต่ถูกมองข้ามไป

          ประเด็นสุดท้ายที่จะทิ้งไว้คือ ถึงที่สุดแล้วมันต้องกลับมาที่เรียกว่า "โลกุตรธรรม" แต่ว่าจะกลับมาอย่างไร...เราต้องถอนสมรภูมิทางจริยธรรมที่อยู่ที่ใจของเรา แล้วจะสู้กับโลกวิปริตได้ต้องสู้จากที่ตรงนี้ด้วย อาจารย์พุทธทาสท่านตระหนักดีว่าความเป็นไปของโลกนั้นร้ายแรง เพราะฉะนั้นท่านเห็นว่าต้องใช้โลกุตรธรรมไม่ใช่แค่ศีลธรรมพื้นๆ แค่ศีลห้า เราต้องเอาโลกุตรธรรมเข้าไปสู้เลย คือไฟยิ่งแรงเท่าไร ยิ่งต้องเอาน้ำที่แรงเท่า และโลกุตรธรรมคือน้ำที่จะสู้กับไฟได้

          แม้ว่าโลกุตรธรรมจะสถิตอยู่ในใจของคนเพียงคนเดียว แต่ถ้าเป็นโลกุตรธรรมที่ไปพ้นที่เป็น...จากรูปธรรม จากความสำเร็จ ล้มเหลว ของชื่อเสียงเกียรติยศ ถ้าโลกุตรธรรมไปถึงขั้นนี้มันสู่โลกที่วิปริตได้ ที่ว่าสำคัญมากที่เราจะต้อง...โลกุตรธรรมขึ้นมาเพื่อ...แล้วแผ่ออกไปอย่างเป็นเครือข่าย ขยายพื้นที่ของโลกุตรธรรมเข้าไป สู่สังคม เริ่มต้นจากการขยายมิติออกไปกว้างกว่านี้อีก อันนี้คือสิ่งสำคัญที่เราจะสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้"

          และมุมมองจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ ต่อแนวคิดของท่านพุทธทาส

          "ในฐานะที่ผมเรียนทางเศรษฐศาสตร์ก็จะมองผ่านชีวิตท่านพุทธทาสผ่านเศรษฐศาสตร์ มีหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งของท่าน ชื่อว่าเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ในหน้า ๑๒ ท่านบอกว่า "ถ้าเขาเป็นชาวพุทธ เขาจะต้องระมัดระวังสังวรอะไรบ้าง ถ้าเขาเป็นชาวพุทธก็ทำอย่างไม่โกง ไม่ซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างโกง ถ้าพวกเขาซึ่งไม่เป็นชาวพุทธ เขาก็เห็นว่าโกงดีกว่าได้กำไรมากกว่า"

          หน้า ๑๓ ท่านพุทธทาสได้กล่าวว่า "พ่อค้าธรรมดาสามัญ ปฏิบัติหน้าที่ของพ่อค้าอย่างไม่ทุจริต ไม่ขูดรีด ก่อให้เกิดความสะดวกสบายในสังคม จะต้องถือว่าพ่อค้านั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรม...นี้คือเศรษฐกิจของชาวพุทธอันดับแรกสุดคือการได้ทำบุญ การค้าคือการประกอบอาชีพให้เขาอยู่รอด และส่วนที่เขาทำให้สังคมได้รับความสะดวกเป็นต้น"

          เวลาเราพูดถึงเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เขามักจะถามกันว่า พุทธมีเศรษฐศาสตร์ด้วยหรือ ถ้าใครเป็นนักภาษาศาสตร์สักหน่อย เศรษฐเขาแปลว่าประหยัดนะครับ เศรษฐศาสตร์จึงแปลว่าองค์ความรู้ที่ว่าด้วยการประหยัด ประหยัดก็แปลว่าอย่าโลภมาก อย่าเอามาก พอดีๆ พอเพียง เพราะฉะนั้นหลักทางพุทธทั้งหมดเป็นหลักของความพอดี ของความพอเพียง เป็นหลักของความไม่มากไป มันถึงประหยัด แล้วบอกว่าไม่มีเศรษฐศาสตร์ในศาสนาพุทธได้อย่างไร

          ท่านพุทธทาสบอกว่า พ่อค้าพวกนี้ได้ช่วยมนุษย์ให้ได้รับความสุข ได้รับความสะดวก...ปราชญ์ทางทุนนิยมคือ Adam Smith ท่านบอกว่าในโลกของทุนนิยมการทำมาหากินของคนถูกขับเคลื่อนด้วยการเห็นประโยชน์ส่วนตน Adam Smith บอกว่าถ้าพ่อค้าเนื้อเอาเนื้อมาขายให้เรากิน พ่อค้าขนมปังเอาขนมปังมาขายให้เรากิน มิได้หมายความว่าพ่อค้าเนื้อ พ่อค้าขนมปังเขาสงสารเราเพราะเราไม่มีจะกิน เพราะเราหิว แต่ที่เขามาขายเราเพราะเขาต้องการเอาความหิวไปค้ากำไร

          อย่างไรก็ตามปราชญ์ทุนนิยมคนนี้บอกว่าต้องยอมรับความจริงว่าบางจังหวะ บางครั้ง เราก็มีความสมานฉันท์กับเพื่อนมนุษย์ เมื่อเราเห็นเพื่อนมนุษย์รู้สึกทุกข์ลำบาก เราก็ทุกข์ไปด้วย เมื่อเห็นเพื่อนมีความสุขเราก็มีความสุขไปด้วย Adam Smith จึงบอกว่า The Theory of Moralment แบบว่าทฤษฎีของจริยธรรมของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ย่อมมี ๒ ด้าน มีโลภกับไม่โลภ แต่บังเอิญว่าระบบทุนนิยมมันไปขับเคลื่อนด้านความโลภของมนุษย์ ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า...อันความโลภของมนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าแม่น้ำ หลักของพุทธสร้างขึ้นมาเพื่อลดความโลภ พยายามขับเคลื่อนอีกด้านหนึ่งมาให้ท่านเสียสละ

          กลับมาที่หัวข้อ ผมคิดว่าในโลกของทุนนิยมถ้ามันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวถ่วงตัวดุล โลกของทุนนิยมจะพัฒนาไปสู่ทุนสามานย์ แต่ถ้าสมมติว่าโลกทุนนิยมมีการขับเคลื่อนอย่างมีตัวถ่วงตัวดุล เป็นการตรวจสอบ ในแนวคิดของพวกตะวันตกจึงถือว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งทำให้เกิดความสมดุล นกต้องมีปีกซ้ายปีกขวา สังคมมีฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา เพราะฉะนั้นโลกทุนนิยมต้องการพลังถ่วงพลังดุล ในศาสนธรรมต้องมี spirit ต้องมีจิตวิญญาณ ความถูกตรงนี้จะเกิดขึ้นในใจเรา

          พลังที่จะมาถ่วงกับทุนสามานย์ต้องเป็นพลังที่ถูกต้อง ถามว่าระบบทุนมันโตขึ้นมาเป็นระบบทุนก้าวหน้าได้อย่างไร ระบบทุนมันโตขึ้นมาจากการถ่วงการดุล ผมอยากเอาเปรียบคุณ คุณก็อยากเอาเปรียบผม ผลักกันไปผลักกันมาเลยไม่มีใครได้เปรียบใคร นี้คือการถ่วงดุลแบบโลก เมื่อนายจ้างอยากหากำไร ก็ไม่น่าแปลกที่ลูกจ้างอยากมีค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งมันเป็นความโลภของนายจ้างและลูกจ้างมันก็ถ่วงกันพอดี ดังนั้นการถ่วงการดุล ทำให้เกิดการสมดุล

          ถ้าพูดกลับมาในระบบเศรษฐกิจ ระบบที่ดีคือมีการถ่วงดุลใช่ไหม ระบบสมดุลมีอะไรบ้าง มันไม่ได้สมดุลประเภท demand กับ supply แต่สมดุลนั้นจะเกิดขึ้น ๓ มิติที่โยงใยกับโลกกับเศรษฐกิจ

          สมดุลที่ ๑ คือระหว่างคนกับธรรมชาติ คนใช้ธรรมชาติสร้างผลผลิตเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ สนองตัณหา กฎของการผลิตคือต้อง take off แปลว่าคุณอยากได้อย่างหนึ่งคุณต้องเสียอีกอย่างหนึ่ง คุณอยากได้โต๊ะใช่ไหม คุณต้องเสียต้นไม้ เพราะฉะนั้นสมดุลอยู่ตรงไหน เวลาคุณจะสร้างอะไรต้องคิดมากๆ ว่าคุณกำลังทำลายอีกสิ่งหนึ่ง คุณสะสมมากก็ทำลายมาก

          สมดุลที่ ๒ เป็นสมดุลระหว่างคนกับคน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า นายจ้างต้องพึ่งลูกจ้าง ถ้าไม่มีความสมดุล ก็ไม่มีนายจ้าง มีแต่ลูกจ้างอย่างเดียว คนนอกจากชอบเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ยังชอบเอาเปรียบธรรมชาติ เอาเปรียบสัตว์กดขี่แรงงานควาย กดขี่แรงงานคน ฉะนั้นถ้าเราได้ประโยชน์จากใครเราก็ควรให้เขาด้วยและเป็นการสร้างสมดุล

          สมดุลที่ ๓ เป็นความสมดุลที่จัดการยากที่สุด คือความสมดุลระหว่างกายกับจิต เพราะอะไร การที่เราจะสร้างจิตประภัสสรรู้ความพอดี มีมัตตัญญุตา โดยเฉพาะคนด้วยกันรู้ประมาณการในการบริโภค สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพยายามพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือรู้ประมาณการในการบริโภค มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน แต่การบริโภคมันรุนแรงกว่านั้น พลังกระตุ้นการบริโภคมันไปสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ที่มีมากอยู่แล้ว ศาสนธรรมสร้างขึ้นมาเพื่อลดการบริโภคเหล่านั้น

          แต่ทุนนิยมเกิดขึ้นมาบนโลกเพื่ออะไรครับ ระบบทุนนิยมเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อผลิตขนาดใหญ่ ถ้าขายไม่มากจะเกิด junk cost ดังนั้นผู้ผลิตขนาดใหญ่จึงต้องขายสินค้าขนาดใหญ่ ทำอย่างไรจึงจะขายขนาดใหญ่ ก็ต้องทำให้เกิดการบริโภคขนาดใหญ่ ทำอย่างไรให้เกิดการบริโภคขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เงินในการโฆษณาขนาดใหญ่ใส่เข้าไป เพราะฉะนั้นหลักการโฆษณาคือทำให้คนอยากได้

          เมื่อคนบริโภคเกินความจำเป็นมากกว่ารายได้ก็เป็นหนี้ พลังของความโลภมันมาจาก demonstration effect เพื่อนมีรถเราก็อยากมีรถ เพื่อนมีหลุยส์วิตตองเราก็อยากมีบ้าง ฉะนั้นถามว่าถ้าเราจะลดความโลภลงมาด้วยการอาศัยศาสนธรรม เราจะทำอย่างไรให้ธรรมะมันกดความโลภลงได้...ถ้ารัฐบาลไม่คิดจะคุ้มครอง...ผมเชื่อว่าสุดท้ายหลวงพี่หลายองค์ก็แพ้ด้วย"

          ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เริ่มการเสวนาจากการวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า "ถ้าจะให้อาตมาพูดผ่านแนวคิดของท่าน ในแง่ ๑. คือตนอาจจะอ่านไม่เพียงพอ ๒. การที่จะบอกว่าท่านผู้นั้นเป็นเรื่องยากและที่ต้องระวังมาก ที่นี้แม้แต่ชื่อที่บอกว่ามองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตของพุทธทาสก็แปลความหมายได้หลายอย่าง

          แปลง่ายๆ ก็ให้มองอนาคตของมนุษย์ ของสังคม หรือของอะไรก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เราเพียงแต่ดูว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็น เราไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่แทนที่จะมองอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราน่ามองแบบมีส่วนรวมว่าอนาคตของโลกควรเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยทำให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร อาตมาคิดว่าถ้ามองแบบนี้จะมีความหมายสำคัญมากกว่า

          ส่วนแนวคิดและชีวิตของท่านพุทธทาสซึ่งจะโยงมาหาการที่เราจะต้องเข้าใจแนวคิดชีวิตของท่านพุทธทาส ว่าเราเข้าใจอย่างไร เราก็จะไปมองเรื่องอนาคตที่ว่านั้นจะจัดการไปตามนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญว่าเรามองแนวคิดของท่านพุทธทาสอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรามองตรงกันนั้นถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน มันกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานเลยว่าตัวแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก

          บางทีอาจเป็นหัวข้อที่ท่านที่ศึกษางานจะต้องมาช่วยกันวิเคราะห์ ถกเถียง และอย่างน้อยก็ไม่ด่วนตัดสิน เพราะว่าแนวคิดของท่านที่มองอะไรกว้างขวางและผลงานเยอะ มีความเสี่ยงภัยเหมือนกัน คือบางคนไปจับอะไรมอง ได้ยินอะไร หรือว่าไปอ่านหนังสือของท่านบางเล่มเห็นข้อความบางอย่างจับเอาเลยว่าท่านคิดเห็นอย่างนั้น จริงอยู่ท่านกล่าวจากความคิดของท่าน แต่เรามองอย่างไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปเดิม ไม่รู้แนวคิดพื้นฐานกว้างๆ ของท่าน เราก็มองไปแต่เป็นไปตามความคิดความรู้สึกของเราเอง มันทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน

          การมองแนวคิดของท่านพุทธทาส ถ้ามองขั้นที่ ๑ เรามองที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นอย่างไร อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกว่าพุทธทาส แปลว่าทาสของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ท่านมุ่งอุทิศชีวิตของท่านในการสนองงานของพระพุทธเจ้าอะไรล่ะ สนองงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์ย้ำบ่อยมาก

          ท่านมีเจตนาพื้นฐานเพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อันนี้จริงไหม ถ้าเรายอมรับเราตกลง แล้วเราแน่ใจ เราก็ได้ไปในขั้นเจตนา เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลยมันเป็นตัวนำจิต เพราะว่าจิตของเรากับจิตของท่านจะสอดคล้องกัน ที่นี้เราแน่ใจไหม มันก็ได้ไปส่วนสำคัญ ที่นี้เมื่อมามองงานของท่านที่มีมากมาย อย่างที่พูดเมื่อกี้ ถ้าเราไม่ได้ชัดเจนกับตัวเอง เรื่องของแนวคิดของท่านที่เป็นไปตามเจตนานี้ มันก็เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้การแปลความหมายดีขึ้น เราจะยอมรับไหมว่าแนวคิดนี้แน่ใจ

          ต่อไปก็มองที่ตัวหนังสือบ้าง คำพูด คำเทศนาของท่าน อาตมาจะยกตัวอย่างเลย บางที่บางคนไปจับเฉพาะบางแง่บางส่วน แล้วจะทำให้เกิดปัญหา เช่น บางทีบางคนอาจจะไปยกคำของท่านมา ที่บอกว่าพระไตรปิฎกนี่ต้องฉีกออกเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับว่ามีส่วนที่ไม่ควรใช้ ไม่ควรเชื่อถือหลายเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวท่าน ตั้งแต่เจตนาพื้นฐาน บางคนก็อาจจะเข้าใจเลยไปว่าพระไตรปิฎกไม่น่าเชื่อถือ บางคนก็ยกไปอ้างในทำนองนี้ หรือเป็นว่าเป็นแนวคิดของท่าน

          อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมา อย่างที่อาตมาเล่า อาตมามอง เริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสออกหนังสือกลุ่มจากพระโอษฐ์เยอะมาก ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านมีหนังสือแบบนี้แสดงว่าท่าทีหรือว่าทัศนคติของท่านต่อพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกมามากมาย และตั้งใจค้นคว้า ศึกษาจริง

          เราจะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับว่าด้านหนึ่งท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็มีท่าทีให้มีเหตุผลไม่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่องมงาย ว่าอะไรที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎกจะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้เป็นทัศนคติที่พอดีๆ ที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล

          อาตมาจะอ่านให้ฟังสักนิดเป็นการโควทท่านหน่อย ในหนังสือโอสาเรปนะธรรม หน้า ๔๒๓ บอกว่า "ดังนั้นในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก" นี้แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก คำว่า "บาลี" เป็นคำทางพระหมายถึงพระไตรปิฎก อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา อันนี้ก็พูดถึงอรรถกถา ซึ่งประเดี๋ยวก็ต้องพูดกันอีก มาถึงเรื่องฉีก ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องฉีก ในหนังสือพระธรรมปาติโมกข์ เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓ ท่านพูดถึงเว่ยหลาง

          "ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้ มันถูกที่สุด เดี๋ยวนี้เรามีห้องสมุด มีหนังสือแยะ ที่เราก็มี เขาให้อะไรเยอะแยะ เป็นตารางที่ขังความโง่ของคนไว้อย่าให้ไปครอบงำใคร...ฉะนั้นห้องสมุดของผมที่ชั้นบนนี้ ผมจึงไม่ให้ใครเอาหรือขึ้นไปใช้มัน เพราะเป็นความโง่ของคนทั้งโลกที่ผมขังไว้ อย่าให้ไปครอบงำคนอื่น บางชุดซื้อมาตั้งหมื่น นั้นคือความโง่ ไม่กี่เล่ม เอามาขังไว้ในนี้ไปครอบงำใครได้ นี้ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งอ่านยิ่งโง่ ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่"

          ถ้าคนมาจับความแค่นี้ก็จะบอกว่าท่านเป็นปฏิปักษ์กับเรื่องหนังสือ ไม่สนับสนุนให้อ่านให้ค้นคว้า อันนี้ก็ไม่อยากให้ไปจับเอาเฉพาะแง่เฉพาะมุมนิดๆ หน่อยๆ ต้องดูทั้งหมดว่าท่านมองอย่างไร คิดอย่างไร บางทีมันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เราก็ต้องดูว่าขณะนั้นท่านกำลังพูดเรื่องอะไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังได้แง่คิดอะไรในเรื่องนี้

          เมื่อกี้พูดถึงว่าให้เอาบาลี หรือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา ทีนี้บางทีท่านพูดถึงเรื่องอรรถกถาในหลายกรณีก็จะมีเรื่องพูดในแง่ที่ไม่ค่อยดี คล้ายๆ กับไม่น่าไว้ใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนไปถึงขนาดที่ว่าอรรถกานี้ไว้ใจไม่ได้ อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มเขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถา ถ้าเราดูท่านพุทธทาส อาจจะถือเป็นความพอดีก็ได้ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะแล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา เรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา

          เราไม่ต้องไปพูดเฉพาะท่านหรอก คืออย่างคำแปลพระไตรปิฎก ฉบับโน้นฉบับนี้เราก็มาอ้างกันว่าเป็นพระไตรปิฎก และที่ใช้ในเมืองไทยก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยมากก็จะคัดมา อ้างอิงมาจากฉบับแปลเป็นภาษาไทย เราไม่ได้อ้างอิงมาจากฉบับภาษาบาลีมาอ้างอิงโดยตรง และหลายคนก็ไม่สามารถแปลได้ด้วย

          ที่เราบอกว่าพระไตรปิฎกๆ นั้น คำแปลเขาอ้างจากอรรถกถานะ พระไตรปิฎกฉบับ ๒๕ ศตวรรษพิมพ์ครบชุดครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ฉบับมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ คนแปลไม่ได้รู้ไปหมด ต้องค้นหากัน เวลาค้นๆ กันที่ไหน ก็ค้นจากอรรถกถา จากฎีกา แล้วก็แปลไปตามนั้น

          คนที่บอกว่าไม่เชื่ออรรถกถา ไม่รู้แปลพระไตรปิฎกเอาตามอรรถกถา ใช้อรรถกถามาเป็นสิ่งที่ตัวเองยึดถือเลย โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกแปลไม่ได้แปลตรงไปตรงมาหรอก แปลตามอรรถกถาอธิบาย เพราะพระไตรปิฎกนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าเก่ากว่าอรรถกถามาก ที่นี้ศัพท์ที่เก่าขนาดนั้น บางทีรูปประโยคดูไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอย่างไร การแปลจึงต้องหาอุปมาช่วย ก็ได้อรรถกถานี้แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก จึงไปเอาอรรถกถาว่าท่านอธิบายบาลีองค์นี้ไว้อย่างไร ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัดอยากจะได้ความที่ชัดยิ่งขึ้นก็ไปค้นคัมภีร์รุ่นต่อมา หรือฎีกา หรืออนุฎีกาต่างๆ มาพิจารณาประกอบ จะถือเอาตามนั้นหรือจะตัดสินอย่างไรก็ตามแต่ รวมแล้วก็คือต้องอาศัยคัมภีร์เก่า

          แต่บางคนก็อ้างพระไตรปิฎกโดยไม่รู้ว่าความจริงว่าแม้แต่คนแปลเขาก็อ้างอรรถกถา กลายเป็นว่าที่ตัวเอาๆ มาจากอรรถกถา อันนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่าท่านบวชตั้งแต่เมื่อไร ท่านอุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาอะไรต่างๆ เวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง เวลาท่านบอกไม่ให้เชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ให้เราเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป

          ในหนังสือพุทธิกะจริยธรรม หน้า ๒๓๓ "ฉะนั้นเราต้องมีธรรมที่เหมาะสมแก่วัย ที่วัยนั้นจะพอรับเอาได้ หรือเข้าใจได้" ข้อนี้ท่านเปรียบไว้ในอรรถกถาว่า "ขืนป้อนข้าวคำใหญ่ๆ แก่เด็กซึ่งปากยังเล็กๆ" ก็หมายความว่าเด็กจะรับไม่ได้ ท่านได้ยกคำอรรถกถามาใช้ แต่ที่เป็นอภินิหารท่านก็บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ

          ฉะนั้นการที่จะไปพูดเรื่องมองอนาคตอะไร แนวคิดผลงานของท่านอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ บางทีเราอาจจะก้าวเลยไปก็ได้ บางทีคนที่มาพูดมองอนาคตนั้นผ่านชีวิตของท่าน แต่ละคนก็มีในใจของตัวเอง มองแนวคิดของท่านไว้คนละอย่าง เสร็จแล้วอาจจะพูดไปคนละทางสองทาง การมองเรื่องที่ตั้งไว้ว่าเราจะช่วยให้มันเป็นอย่างไร โดยผ่านแนวคิดของท่านพุทธทาส เราก็ต้องชัดด้วย อย่างที่อาตมาบอกว่าให้มองตั้งแต่เจตนาของท่านที่แน่นอนเลย ที่จะสนองพุทธประสงค์ ที่จะรับใช้พระพุทธเจ้า ถ้าเรามีเจตนาแบบนี้ก็ต้องอนุโมทนาว่าเรามีเจตนาที่เป็นกุศล เราศึกษางานของท่าน เพื่อเอามาใช้ เอามาสอน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นส่วนที่เราได้สนองท่านพุทธทาสด้วยนะ ท่านพุทธทาสสนองงานพระพุทธเจ้า โดยที่ว่าเราก็จำกัดลงมาในแง่สนองรับใช้ท่านพุทธทาส เราก็ได้รับใช้ทั้งสองเลย

          เอาเป็นอันว่าหลวงพ่อพุทธทาสตั้งเจตนาเลย ท่านอุทิศชีวิตสนองงานพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ชื่อตัวเอง ที่ท่านเรียกตัวเองว่าพุทธทาสภิกขุ บทบาทที่เด่นของท่านก็สมานสัมพันธ์กับยุคสมัย อย่างที่บอกว่าคนไทยห่างไกลพุทธศาสนามาก ความเชื่ออะไรก็เป็นไปตามปรัมปรา ที่สืบต่อกันมา ก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อน ค่อยๆ เพี้ยนไป อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องอาศัยกัน ไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธา ที่จะบอกเลยว่าให้มีหลักความเชื่ออย่างไร"

          แม้โลกวันนี้จะแสนวิปริตเพียงใด หากท่านมองผ่านฐานแนวคิดของท่านพุทธทาส จะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความทุกข์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นบุญ เป็นโชค ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า "โชคดีมีบุญที่ได้มาเกิดในโลกนี้ ในสภาพปัจจุบันนี้ที่แสนจะวิปริต เพราะว่ามีอะไรให้ศึกษามาก...คิดดูถ้าไม่มีเรื่องให้ศึกษามากแล้วมันจะฉลาดได้อย่างไร"


หน้า 86

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 07 คอลัมน์ เรื่องจากปก