ปาฐกถาธรรมเรื่อง
จิตตภาวนา ก็คือชีวิตพัฒนา
โดย
พุทธทาส ภิกขุ

สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปาฐกกถาธรรม
๘ มกราคม ๒๕๒๖


ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรม ทั้งหลาย,

            
การบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคมาฆบูชา เป็นครั้งที่ ๒ ในวันนี้ อาตมาก็จะได้กล่าวต่อจากครั้งที่แล้วมา ในฐานะเป็นการบรรยายชุด ตามความตั้งใจว่า จะมีหนังสือธรรมะเล่มน้อยเล่มเดียวจบ สักเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือการศึกษาและปฏิบัติสำหรับทุกคน ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าคนห่างวัดหรือคนคร่ำวัด ควรจะได้มีหนังสือเล่มเดียวเป็นคู่มืออย่างเพียงพอ ให้ชื่อคำบรรยายชุดนี้ว่า ธรรมะเล่มน้อย.

             ในครั้งที่แล้วมา ได้พูดถึงข้อมูลหรือที่ควรจะเรียกว่าข้อมูล ของสิ่งที่เรียกว่า มนุษย์ หรือจิตของมนุษย์ ว่ามันมีธรรมชาติธรรมดาของมันอย่างไร. ถ้าเรารู้จักธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ หรือจิตของมนุษย์ อย่างครบถ้วนแล้วก็ย่อมจะเป็นการง่ายที่จะทราบได้ต่อไปว่า เราควรจะทำอย่างไร เราควรจะจัดการอย่างไรกับความเป็นมนุษย์ของเราเอง; ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายพยายามที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้เพียงพอ.

             ในครั้งที่ ๒ นี้ มีหัวข้อว่า จิตตภาวนา ก็คือชีวิตพัฒนา จิตตภาวนาคือการทำจิตให้เจริญ ก็คือชีวิตพัฒนา; นั่นคือ การพัฒนาชีวิต หมายความว่า ทำให้มากขึ้น ให้ดีขึ้น จึงจะเรียกว่า พัฒนา. ถ้ามากขึ้นแต่ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง อย่างนี้ไม่เรียกว่าพัฒนา.

ชีวิตพัฒนาคือทำจิตให้เจริญ.

             เดี๋ยวนี้ คำว่า พัฒนา ยังเป็นคำที่กำกวม ใช้กันผิด ๆ หมายความว่าเอาแต่มากขึ้นก็แล้วกัน, จนโลกเจริญนี้กลายเป็นเจริญด้วยปัญหา : ด้วยความทุกข์ ด้วยการเบียดเบียน ด้วยความเลวร้าย, เรียกว่า โลกมันเจริญ. หรือว่า การศึกษาเจริญพัฒนาแต่ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นที่พอใจหรือควรจะพอใจ ที่เป็นผลของการศึกษา เราก็ยังมีอันธพาลเต็มบ้านเต็มเมืองมากขึ้นทุกที มีสิ่งเลวร้ายนานาประการเกิดขึ้น ในคนที่เรียกว่ามีการศึกษา. อันธพาลทุกคนก็มีการศึกษา, เขาก็เป็นอันธพาลทั้งที่มีการศึกษา นี้มันมากขึ้น ในส่วนที่ไม่แน่ว่าจะเป็นประโยชน์. คนรู้มากมันก็โกงเก่ง อย่างนี้ก็มี, คนรู้มากกลายเป็นคนยากนาน คือกลายเป็นคนลำบากไปเสียก็มี, นี่ก็เพราะว่า คำว่า พัฒนา นั้นถูกใช้กันอย่างผิด ๆ. ถ้าใช้กันอย่างถูกต้องแล้ว คำว่า พัฒนา ต้องเป็นไปในทางที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเสมอ.

             ทีนี้ การภาวนา ก็แปลว่า การทำให้เจริญ, การพัฒนา ก็แปลว่า การทำให้เจริญ, มีคำใช้เป็น ๒ คำอยู่. แต่คำว่าภาวนาใช้กันอยู่แต่ในวัด ไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามโลก. ในที่นี้ใช้คำว่า จิตตภาวนา คือการทำจิตให้เจริญ นั่นแหละคือชีวิตพัฒนา การทำชีวิตให้เจริญ ทำไมจึงมาเป็นอย่างเดียวกันดังนี้?

             ข้อนี้ มีหลักในพระบาลีว่า ทุกอย่าง มันรวมอยู่ที่จิต, มันขึ้นอยู่กับจิต; ดังคำที่กล่าวว่า ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา -ชีวิตก็ดี อัตตภาพนี้ก็ดี หรือความทุกข์ในชีวิตในอัตตภาพนั้นก็ดี; เอกจิตฺตสมายุตฺตา -ประกอบรวมอยู่ที่จิตดวงเดียว, ลหุโส วตฺตเต ขโณ -เวลาที่เป็นขณะ ๆ ก็เคลื่อนไปโดยเร็วดังนี้. ข้อความนี้แสดงว่าจิตมันสร้างอะไรขึ้นได้มากมาย ไม่มีที่สิ้นสุด.

             ถ้าไม่มีจิตอย่างเดียว ท่านลองคำนวณดูเองซิ: อย่าต้องเชื่อตามที่คนอื่นพูดนักซิ; ถ้าสมมุติว่า เราทุกคนในโลกนี้ไม่มีจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแหละ อะไรมันจะเกิดขึ้น? มันก็จะเหมือนกับมีท่อนไม้ ก้อนหิน ระเกะระกะไปหมด ทำอะไรไม่ได้เพราะมันไม่มีจิต : เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าจิต มันจึงมีอะไรเกิดขึ้นมามากมาย จิตคิดได้ก็คือทำให้เกิดอะไร ๆ ขึ้นมาได้ : มันเป็นของประหลาดอยู่, ร่างกายถ้าไม่มีจิต มันก็คือ ไม่มีชีวิต ไม่มีร่างกาย ; เพราะร่างกายมันมีจิต มันจึงทำอะไรได้.

             และจิตมันก็ทำหน้าที่ของมันทางอายตนะ คือที่สืบต่อ ระหว่างภายในกับภายนอก คือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ๖ ทาง คู่กันกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ มีการติดต่อระหว่างภายในกับภายนอก โดยสิ่งที่เรียกว่าจิต จะทำหน้าที่ในการติดต่อ. ถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตก็ไม่มีเครื่องมืออะไรจะทำหน้าที่ ก็ทำไม่ได้ มันก็เท่ากับไม่มีจิตอยู่เหมือนกัน. เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งที่ทำให้จิตทำหน้าที่ของมันได้ แล้วทำหน้าที่สัมผัส สัมพันธ์กับสิ่งภายนอก คือรูป ที่เข้ามาทางตา, เสียงที่เข้ามาทางหู, กลิ่นที่เข้ามาทางจมูก, รสที่เข้ามาทางลิ้น, สัมผัสผิวหนังที่เข้ามาทางผิวหนัง, ความรู้สึกที่เข้ามาทางจิตเอง.

             สัมผัสแล้วก็เกิดเวทนา คือรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้. ดูให้ดี, เพราะมีตัวจิตเป็นเจ้าหน้าในการสัมผัส แล้วก็เกิดเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ได้.

             ครั้นเกิดเวทนาแล้ว จิตก็โง่ต่อไป ในการที่ยินดีส่วนที่เป็นสุขเวทนา, ยินร้ายในส่วนที่เป็นทุกขเวทนา มันก็ได้เกิดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น; เพราะความยินดียินร้าย จนเคยชินเป็นนิสัย คือมีกิเลส, มีความเคยชินแห่งกิเลส นี่เรียกว่ามันเกิดกิเลส จะเรียกชื่อต่อไปก็คือตัณหา.

             ตัณหานั้นเป็นความอยากด้วยความโง่ ความอยากมี ๒ ชนิด ถ้าอยากด้วยสติปัญญา อยากด้วยวิชชาความรู้ อย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา, เขาเรียกชื่ออย่างอื่น. แต่ถ้ามันอยากด้วยความโง่เขลา ไม่รู้ตามที่เป็นจริง จึงจะเรียกว่าตัณหา; เช่น น่ารักก็รัก น่าโกรธก็โกรธ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันโง่, แล้วมันก็อยากไปตามความรักหรือความโกรธ อยากได้ก็มี อยากเอาอยากเป็นก็มี อยากไม่เอาไม่เป็นก็มี: ล้วนแต่ความโง่ทำให้อยาก ก็เรียกว่าตัณหา. จิตมีความรู้สึกเป็นตัณหาคือความอยาก; ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอะไรจะรู้สึกเป็นความอยาก.

             ครั้นเกิดความอยากขึ้นในจิตแล้ว โดยธรรมชาตินั่นแหละ มันก็ปรุงความคิดอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าอุปาทาน คือรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า กูนี่แหละอยาก กูเป็นผู้อยาก, กูเป็นผู้ได้ กูเป็นผู้ไม่ได้ กูเป็นผู้เสียหาย, กูเป็นผู้อะไรต่าง ๆ. นี่เพราะมีตัณหาคือความอยาก จึงได้เกิดอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น, แล้วก็เคยชินแต่ที่จะยึดมั่นถือมั่น ในตัวตนหรือของตน ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตน ก็มีโดยความเป็นของตนก็มี ยึดมั่นในกามารมณ์ก็มี, ยึดมั่นในทิฏฐิความคิดความเห็นก็มี, ยึดมั่นในความงมงาย ที่ปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมาก็มี, ยึดมั่นในตัวตนก็มี. นี่คือความยึดมั่นเต็มอัดอยู่ในจิตในสันดานของแต่ละคน ก็เพราะจิตอย่างเดียว จึงมีอย่างนี้.

             ทีนี้ก็มีปัญหา คือว่า ทำไปตามอำนาจของอวิชชานั้น ๆ เป็นการเบียดเบียนตนเองด้วย เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นด้วย หมายความว่า เมื่อทำไปตามความอยากหรืออุปาทานแล้ว ก็เกิดความทุกข์หรือการเบียดเบียนขึ้น ทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายผู้อื่น.

             นี่พูดมายืดยาวเหลือเกินแล้ว ก็พอแล้ว เพื่อจะบอกให้รู้ว่าอะไร ๆ น่ะ มันขึ้นอยู่ที่จิต, อะไร ๆ มันรวมอยู่ที่จิต, มันขึ้นอยู่ที่จิต, มันเกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต. จิตเป็นอย่างไร เหตุการณ์มันจะเป็นอย่างนั้น; เราจึงมีหน้าที่ที่จะอบรมจิตทำให้จิตเจริญ, ให้เจริญไปในทางถูกต้อง. อย่าให้มันโง่หรืออย่าให้มันกลับโง่ กลับหลงใหลไปในทางที่ผิดพลาด ซึ่งมันจะต้องทำผิด แล้วทำปัญหาหรือทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นโดยรอบด้าน.

จุดตั้งต้นเรียนศาสนาคือ อายตนะ.

              เรื่องอย่างนี้ถือว่าเป็น ก ข ก กา ของพระพุทธศาสนา คือต้องเรียนก่อน. พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้เองว่า เรื่องอายตนะหกนี่ ปรุงแต่งกันเป็นเวทนาสุขทุกข์ กิเลสตัณหานี้ เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาพุทธศาสนา. ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาก็ขอให้เรียน ก ข ก กา ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ว่ามันทำหน้าที่กันอย่างไร.

             นี่ขอให้นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทราบไว้ว่า การที่คุณจะเรียนจะศึกษาพุทธศาสนานั้น จะต้องตั้งต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; ซึ่งมันมีคู่ที่ทำงานกันคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ สัมผัสกันแล้วก็เกิดเวทนา เกิดอุปาทาน; แล้วก็มีแต่เรื่องของกิเลส และก็มีความทุกข์เป็นผล. ถ้าท่านไม่มองเห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจน ประจักษ์แก่ใจของตนเองแล้ว ยากที่จะรู้พระพุทธศาสนา. มันจะรู้ชนิดที่ฟังทางหู แล้วจดไว้ในกระดาษ; แล้วมันไม่มีความเข้าใจ. เมื่อไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีความเห็นแจ้ง มันก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ได้. ฉะนั้น จงรู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละให้ดีที่สุดก่อน. เรามีตาสำหรับเห็นรูป มันก็มีการเห็นทางตาอยู่บ่อย ๆ แล้วแต่ว่ารูปอะไรจะเข้ามาทางตา ก็มีการเห็นทางตา.

             ในพระบาลี ภาษาพระธรรมนี่ เขามีคำแปลกซึ่งพวกคุณยังไม่รู้ก็ได้ เขามีคำว่า เกิด-ดับ. ตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ จมูกเกิดจมูกดับ ลิ้นเกิดลิ้นดับ กายเกิดกายดับ ใจเกิดใจดับ นี่คุณจะเข้าไม่ได้ เพราะมันคนละภาษา. ในภาษาธรรมะนี้ มันสูง ลึก และละเอียด เขาจึงพูดว่า ตา นี้เพิ่งเกิดเมื่อตาทำการเห็น, หูก็เพิ่งเกิดเมื่อหูทำหน้าที่ฟัง, จมูกก็เพิ่งเกิดมันทำหน้าที่ดม, เมื่อมันไม่ทำหน้าที่ถือว่ามันดับอยู่ ฟังดูซิ. แต่ในภาษาไทยธรรมดาเราไม่พูดกันอย่างนั้น คือว่า เรามีตา หู จมูก ฯลฯ กันอยู่ตลอดเวลา, ว่ามีอยู่ตลอดเวลา นั้นเรียกว่าปัญญามันยังตื้นเกินไป เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา, นั้นเป็นความรู้ที่ยังตื้นเกินไป; ในภาษาธรรมะ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่จึงจะเรียกว่ามันเกิด,พอมันทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็ดับ.

             ที่มากไปกว่านั้นก็ว่า กายเกิดกายดับ, นามเกิดนามดับ, รูปเกิดรูปดับ, หมายความว่า ต่อเมื่อร่างกายนี้ทำหน้าที่ จึงจะพูดว่า ร่างกายเกิด; พอกายทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็ดับ. กายเกิดทำหน้าที่ เช่นว่า ร่างกายส่วนที่มันเป็นลูกตาน่ะมันก็ทำหน้าที่ให้เป็นลูกตาสำหรับจะเห็น; นี่กายส่วนที่เป็นลูกตานั้นมันก็เกิด แล้วก็ทำหน้าที่ทางตา เสร็จแล้วมันก็ดับ.

             ทีนี้ มากไปกว่านั้นอีกก็ว่า ธาตุดิน-น้ำ-ไฟ-ลม ก็เกิดดับ. ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี้ก็มีเกิด-ดับ เกิด-ดับ ก็หมายความอย่างเดียวกันอีกแหละ; เมื่อธาตุดิน-น้ำ-ไฟ-ลม ประกอบกันเข้าเป็นร่างกาย ทำอะไรได้ในขณะนั้น, ในขณะนั้นก็เรียกว่ามันเกิด; ดินเกิด น้ำเกิด ลมเกิด ไฟเกิด; เป็นร่างกายที่ทำหน้าที่อะไรได้ มันก็ขึ้นอยู่ที่กายเกิด กายดับ. แล้วใจก็อาศัยร่างกายเกิด แล้วใจก็อาศัยร่างกายดับ จึงมีเกิดและมีดับทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยกเว้นอะไรว่าเมื่อมันทำหน้าที่ของมันจึงเรียกว่า เกิดขึ้นมา, พอทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ดับไปอยู่ตามเดิม.

             นี่ถ้าเข้าใจข้อนี้แล้วจะมีประโยชน์มาก เพราะว่าธรรมะมีหลักการพูดการอธิบายอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จะไม่เกิดและไม่ดับ เพราะมันเป็นสังขารทั้งนั้น; เดี๋ยวตาเกิด เดี๋ยวหูเกิด ลิ้นเกิด กายเกิด ใจเกิด. ทำความเข้าใจเสียให้ดีอย่าให้เป็นเพียงความจำตามที่ได้ยินเขาพูด หรือว่าอ่านหนังสือ. นี้เป็น ก ข ก กา ของพระพุทธศาสนา คือจุดตั้งต้น; เหมือนอย่างเราจะเรียนหนังสือเรียนภาษาเราก็เรียน ก ข ก กา กันก่อนทั้งนั้น. เราจะต้องเรียนให้ดีที่สุดที่จะรู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, อะไร ๆ มันจะมารวมอยู่ที่นี่.

ศึกษาให้รู้จักระบบของอายตนะ.

             ตา ตัวลูกตานั้นมันเป็นธาตุดิน, มันเป็นตัวตา เป็นเนื้อ, แล้วมีอุณหภูมิบ้าง เป็นธาตุไฟ, มีน้ำอยู่บ้างเป็นธาตุน้ำ, มีธาตุระเหยได้อยู่บ้างเรียกว่าธาตุลม, นี้ส่วนก้อนลูกตามันเป็นอย่างนี้; แล้วมันยังมีระบบประสาท ประสาทตารวมอยู่ที่นั่นด้วย. ระบบประสาทตาอาศัยอยู่ที่ก้อนลูกตา รวมกันเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณทางตาคือจิตสำหรับจะทำหน้าที่ทางตา นี่ตามันมีอะไรลึกซึ้งอยู่อย่างนี้ จะต้องรู้จักมัน.

             ทีนี้ หน้าที่ต่อไป มันก็มีอยู่สำหรับจะเห็นรูป; พอรูปเข้ามากระทบตา พอรูปมากระทบประสาทตา ก็เกิดการเห็นทางตาคือ จักษุวิญญาณ. จักษุวิญญาณการเห็นทางตา : มีรูปด้วย มีตาด้วย มีการเห็นทางตาด้วย เนื่องกันอยู่เป็น ๓ อย่าง; นี่เรียกว่า ผัสสะ, มีผัสสะ แล้วก็ต้องมีเวทนาแน่นอน คือสบายตาหรือไม่สบายตาหรือเฉย ๆ เรียกว่าเวทนา. ครั้นมีเวทนาแล้ว มันก็เกิดความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น สบายตาก็อยากได้เป็นต้น. ไม่สบายแก่ตาก็อยากจะฆ่าอยากจะทำลายเป็นต้น. นี่เวทนาก็ให้เกิดความอยากคือตัณหา; จิตเกิดความอยากแล้ว จิตเกิดความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยาก, ตัวกูผู้มีอยู่, ตัวกูผู้จะสุขจะทุกข์, จะได้จะเสีย, จะแพ้, จะชนะ, อะไรกันอยู่ที่ตรงนั้น

โลกทั้งหมดอยู่ที่อายตนะ.

             ระบบ โลกทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เรียกว่าโลกทั้งหมด อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ที่คุณเรียกกันในโรงเรียนนั้น โลกคือแผ่นดิน โลกอย่างที่เรารู้จักกันในฐานะเป็นโลกแผ่นดิน แบ่งเป็นทวีป แบ่งเป็นประเทศ แบ่งเป็นส่วน ๆ นั้นมันโลกแผ่นดิน มันก้อนโลกที่เป็นตัวแผ่นดิน. ถ้ารู้จักใช้คำว่า The globe ก็รู้เสียด้วยว่ามันต่างกันกับคำว่า The world. The globe หมายถึง ตัวโลกแผ่นดิน, The world มันหมายถึงแผ่นดินด้วย และหมู่สัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต มีจิต มีความรู้สึกรวมอยู่ด้วย. เพราะฉะนั้น โลกในภาษาพระธรรม ภาษาพระศาสนานี้ ระบุไปยังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สัมผัสกันอยู่กับคู่สัมผัสของมัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์.

             ทีนี้ ไกลไปกว่านั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นรกก็อยู่ที่อายตนะ เรียกว่า อายตนิกนรก คือ เมื่อร้อนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีนรกอยู่ที่นั่น, เมื่อสบายดีเป็นที่พอใจตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็มีสวรรค์อยู่ที่นั่น. ดู นรก สวรรค์ ของพระพุทธเจ้าซิ. ท่านไม่กล่าวเหมือนกับที่เขากล่าวไว้แต่ก่อน ๆ นู้น; ก่อนพระพุทธเจ้าเขากล่าวว่าสวรรค์อยู่บนฟ้า นรกอยู่ใต้ดิน ตายแล้วจึงไปถึง, แล้วมีเรื่องราวอย่างนั้น ๆ ก็กล่าวไปซิ ท่านไม่ได้คัดค้านอะไร, แต่ท่านกล่าวที่มันแปลกกว่าน่าสนใจกว่า ว่านรกหรือสวรรค์นี่มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ฉะนั้นขอให้ทุกคนสนใจดี ๆ ว่าที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีโลกทุกโลกอยู่ที่นั่น, มีนรกมีสวรรค์อยู่ที่นั่น; แม้จะมีพระนิพพานก็จะต้องปรากฏเกี่ยวกับการทำที่ถูกต้อง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจึงจะดับเย็นเป็นนิพพาน.

             เราเรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องเดียวเท่านั้น มันพอไปหมดทุกเรื่อง. ฉะนั้นขอให้สนใจ; ถ้าไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนก็ฟังเสียเดี๋ยวนี้, แล้วก็ให้สนใจให้เข้าใจ เพื่อจะเข้าใจต่อ ๆ ต่อ-กันไปทุกเรื่อง. ฉะนั้นจึงให้ถือว่าเป็นเรื่อง ก ข ก กา จงดูความประหลาดของตัว ก ข ก กา เราเรียนเมื่อแรกเรียนที่สุด เรียกว่าตั้งต้นที่สุด แต่แล้วมันก็ไปถึงเบื้องปลายที่สุด คืออักษรศาสตร์วรรณคดี อักษรศาสตร์ศัพทศาสตร์ทั้งหลายนั้น คุณจะเรียกกันไปถึงไหน, เรียนกันไปถึงไหน กี่ปี ๆ มันก็ไม่พ้นจากตัว ก, ตัว ข, ตัว ค, ตัว ง ถึงตัว ฮ อยู่นั่นเอง. ฉะนั้น ก ข ก กา มันจึงเป็นจุดตั้งต้น แล้วก็เป็นหมดตลอดสายจนไปถึงวาระสุดท้าย. คุณจะเขียนคำพูดชั้นประเสริฐวิเศษสูงสุดคำไหนที่ไม่ต้องใช้ ก ข ก กา.

             ฉะนั้น อายตนะนี่แหละคือเรื่องทั้งหมด; จะสุขหรือทุกข์ จะไม่สุขหรือไม่ทุกข์ มันก็อยู่ที่การกระทำทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; ทำให้ถูกต้องก็ไม่เป็นทุกข์ ทำผิดพลาดเป็นทุกข์ทันที.

ต้องศึกษาจิตอย่างวิทยาศาสตร์.

             แต่เดี๋ยวนี้ในทุกเรื่องนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ทุกเรื่อง นั้นมันสำคัญอยู่ที่คำว่า ใจ หรือ จิตนั่น. จิตนี่มันมีหน้าที่คิดนึกได้ จึงเรียกว่าจิต คือมันสร้างเรื่องราวขึ้นมาได้; ถ้าคนเราคิดนึกอะไรไม่ได้ มันก็ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมา ไม่มีเรื่องที่จะเกิดขึ้น. ทีนี้จิตมันคิดนึกได้ เพราะฉะนั้นมันจึงสร้างขึ้นมาได้ทุกเรื่อง.

             เมื่อ ทำหน้าที่คิดก็เรียกว่าจิต เมื่อทำหน้าที่รู้ เป็นความรู้หรือความรู้สึก ก็เรียกว่า มโน ก็ได้ เมื่อทำหน้าที่รู้แจ้งทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเรียกว่า วิญญาณ ก็ได้. เรื่องจิต เรื่องมโน เรื่องวิญญาณ นี้ถามกันมากถามกันอย่างไม่รู้จะถามอย่างไร. เอากันแต่ใจความก็คือว่า เมื่อมันทำหน้าที่คิดก็เรียกว่าจิต, เมื่อมันทำหน้าที่รู้สึกก็เรียกว่ามโน, เมื่อมันทำหน้าที่รู้แจ้งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่า วิญญาณ; แล้วยังมีชื่อเรียกแปลกไปจากนี้อีกมาก อย่าเอาเลยมากนัก. เอาแต่ว่าเมื่อทำหน้าที่อย่างไรเรียกว่า จิต, ทำหน้าที่อย่างไรเรียกว่า มโนหรือใจ, ทำหน้าที่อย่างไร เรียกว่า วิญญาณ, แล้วก็อย่าให้มันหายอยู่ในกระดาษในหนังสือ. รู้จักตัวจิต ตัวมโน ตัววิญญาณ จริง ๆ ตรง ๆ ลงไป ในสิ่งที่มันรู้สึกอยู่ในใจของเรา.

             คนโง่เรียนธรรมะในกระดาษที่จดไว้, คนฉลาดเขาเรียนธรรมะที่ตัวจริงที่มันมีอยู่ข้างใน. ถ้าคุณจดไว้ว่าจิต มโน วิญญาณ มันก็อยู่ในกระดาษ, แล้วก็ท่องจำไปซิ. แต่ถ้าว่าคนมันฉลาดเขาก็ โอ้, เมื่อไรเป็นจิต เมื่อไรเป็นมโน เมื่อไรเป็นวิญญาณ ฉะนั้นเราจึงถือว่า เรียนธรรมะนั้นต้องเรียนจากของจริง; เหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้าเราเรียน philosophy เรียนปรัชญา เรียนตรรก เป็นต้นไม่ได้เรียนจากของจริง มันเรียนจากสมมติฐาน. แต่ถ้าเราจะเรียนวิทยาศาสตร์ เราต้องเอาของจริง ๆ มา, แล้วดู แล้วค้นคว้า แล้วทดลอง อะไรไป จะเป็น รู้อย่างนี้เรียกว่าเรียนอย่างวิทยาศาสตร์, ถ้าเรียนธรรมะจากหนังสือ จากการคิดคำนวณ แล้วก็ไม่เป็นพุทธศาสนา; ถ้าจะให้เป็นพุทธศาสนาต้องเรียนเหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์.

             ถ้าพูดว่า ตา ก็ที่ตาจริง ๆ เลย; ถ้าพูดว่า หู ก็คือหูจริง ๆ, จมูก ก็ที่จมูกจริง ๆ, แล้วรูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ที่เข้ามากระทบมันก็ต้องเป็นของจริง. ครั้นมากระทบแล้วเกิดวิญญาณทางตา ทางหู ฯลฯ ขึ้นมาก็ต้องรู้สึกจริง ๆ ไม่ใช่จำไว้แต่ชื่อต้องรู้สึกตัวจริงที่มันได้กระทบแล้วเกิดขึ้นนี้; เดี๋ยวนี้มันก็เกิดเป็นผัสสะขึ้นมา ซึ่งเร็วมากแหละผัสสะ ผัสสะนั้นเร็วมาก ต้องรู้จักตัวผัสสะให้จนได้ แม้จะเร็วอย่างไรก็ต้องรู้จักมันให้ได้ จึงจะรู้ของจริง; พอผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา พอใจไม่พอใจนี่เวทนา พอเกิดเวทนาแล้วเกิดตัณหาอยาก, อยากไปตามความพอใจหรือความไม่พอใจ แล้วเกิดโง่ว่ามีตัวกู ตัวกูผู้อยาก. มันก็ความโง่ของจิต มันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นตัวตนเป็นของตน ขึ้นมา นั่นแหละคือตัวปัญหา ตัวที่ให้ความทุกข์. กิเลสทั้งหลายมันตั้งอาศัยอยู่ที่ตัวตนนั่นแหละ มันก็เกิดมาตามลำดับแล้วมาลงรกรากมั่นคงอยู่ที่ตัวตน ซึ่งมีอยู่เป็นพื้นฐานอยู่ในจิต.

             ทั้งหมดนี้จะพูดกันอีกกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่มันสรุปอยู่ที่คำ ๖ คำนั้น เท่านั้นแหละ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นแหละ. เราจะพูดกันแต่เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กี่ชั่วโมงก็ได้. แต่มันไม่ใช่โอกาสที่จะพูดหรือมันไม่อาจจะพูด จึงฝากไว้ให้ทุกคนนี่จำเอาไป แล้วไปคอยศึกษาคอยจ้องโอกาสที่จะศึกษา ให้รู้เรื่องที่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่หรือทั้งหมด แล้วมัน เป็นจุดตั้งต้นด้วยแล้วมัน เป็นจุดสุดท้ายด้วย.

             อย่างอันธพาลเขาข่มขืนแล้วฆ่า เพราะเขาไม่รู้ความหมายแห่งสัมผัสและเวทนา เขาให้ความหมายมันมากเกินไป; เขาจึงลงทุนถึงกับว่าข่มขืนแล้วฆ่า เพราะโง่ มันโง่มากไปกว่าธรรมดา. ถ้าเห็นผัสสะหรือเวทนาเป็นของธรรมดา มันไม่ต้องทำถึงอย่างนั้น เรื่องอย่างนี้มันก็ไม่เกิด. ฉะนั้นกิเลสตัณหาที่เลวร้ายทั้งหลาย ที่มีขึ้นมาในโลกก็เพราะว่าไม่รู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

             ระวังให้ดี เดี๋ยวนี้เงินไม่พอใช้กันอยู่ทุกคน : ที่เป็นนักเรียนก็ดี นักศึกษาก็ดี ทำงานอาชีพแล้วก็ดี เงินไม่พอใช้กันอยู่ทุกคน เพราะว่าเอาไปซื้อเหยื่อให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. พูดเพียงเท่านี้ดูจะฟังยาก มันรวบรัดเกินไป แต่ไปขยายความเอาเองเถอะ ซื้อเหยื่อ เหยื่อเอร็ดอร่อยน่ะให้ตา แล้วก็ให้หู ให้จมูก ให้ลิ้น ให้ผิวหนัง ให้จิตใจ เท่าไร ๆ ก็ไม่พอ มันกินจุไม่มีเพียงพอ; ฉะนั้นเราก็เงินเดือนไม่พอใช้.

             ฉะนั้นเราต้องรู้เรื่องเจ้านี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสียให้เพียงพอ เพื่อว่าจะควบคุมมันได้ จะควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ต้องควบคุมจิต; เพราะจิตมันเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ถ้าพูดว่าควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ถูกโดยอ้อม; แต่ถ้าพูดว่าควบคุมจิตที่จะมาทำหน้าที่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ถูกโดยตรงและถูกหมด. เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตให้ดี, แล้วมันแสดงบทบาทของมันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้จักให้ดี ควบคุมให้ดี. อย่าให้เป็นไปในทางผิด คืออย่าให้เป็นไปในทางอวิชชา โง่ หลง ไม่รู้ตามที่เป็นจริงมันผิด; พอมันผิดแล้วมันก็ผิดจนมีความทุกข์ทั่วไปหมด. นั่นมันเป็นความผิด ฉะนั้นควบคุมให้อยู่แต่ในความถูกต้อง ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์.

ศึกษาไม่ถูกตัวพุทธศาสนา จึงไม่เกิดผล.

             ทีนี้ ก็อยากจะบอกเลยว่า อุตส่าห์ศึกษาพระพุทธศาสนากันเป็นวักเป็นเวรกี่ปี ๆ มาแล้ว ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะว่ามันไม่ถูกตัวของพุทธศาสนา คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่อย่างไร? เกิดกิเลสอย่างไร, เกิดทุกข์อย่างไร ท่านทั้งหลายมักจะเรียนพุทธศาสนาในฐานะเป็นวิชาทั่วไป, วิชาสำหรับพูด หรือเป็นปรัชญาแบบฝรั่งไปเลย. ถ้าเรียนพุทธศาสนาอย่างปรัชญาแบบฝรั่งแล้วก็ ไม่มีวันละที่จะรู้พุทธศาสนา. มาว่ากันลับหลังก็ได้ พวกที่เรียนพุทธศาสนาอย่างปรัชญาให้เรียนจนตาย, ตาย, ตาย, ก็ไม่มีทางที่จะรู้พระพุทธศาสนา. ฉะนั้นขอให้เลิกเรียนพุทธศาสนาอย่างปรัชญา.

             คำ ๆ นี้ต้องเอาคำว่าตะวันตกเป็นหลักคือ philosophy คำว่าปรัชญายืมของอินเดียไปใช้ผิด ๆ ในเมืองไทยยืมคำอินเดียคือปรัชญาไปใช้ผิด ๆ. คำว่า ปรัชญานั้นถูกต้องแล้วไปเป็นคำแปลของ philosophy ซึ่งโง่ ซึ่งมืด ซึ่งยังไม่รู้ว่าอะไร ฉะนั้น ระวังให้ดีในเมืองไทยพอพูดว่า ปรัชญาแล้วก็ให้รู้เถอะว่าหมายถึง philosophy ไม่ใช่สัจจะ, ไม่ใช่ธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโก. philosophy เขาเรียนอย่างสมมติฐาน มีสมมติฐานมาแวดล้อมด้วยเหตุผลแล้วลงมติ นี้มันก็ไม่ใช่ตัวจริงและไม่มีสันทิฏฐิโกเลย.

             เราจึงต้องเอาตัวจริงมา เอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมา เอาผัสสะ เวทนา ตัณหามา เอาความทุกข์มา แล้วดูกันไปจริง ๆ ที่นั่น, แล้วก็เข้าใจมันที่นั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโก เป็นธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ใช่ philosophy แล้วก็ไม่ใช่ตรรก-logic แล้วก็ไม่ใช่อะไร ๆ อีกหลาย ๆ อย่าง ที่พวกฝรั่งเขาชอบกันนัก, ไม่ใช่. แล้วที่คุณกำลังตามก้นฝรั่งน่ะระวังให้ดี จะไม่มีวันพบกันกับพุทธศาสนาถ้าเรียนพุทธศาสนาอย่าง philosophy.

             ฉะนั้นจึงมาบอกกันวันนี้เผื่อ ๆ เผื่อตลอดกาลเลยว่า จงพยายามเรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยตรง, โดยตรงลงไปที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, อย่าไปเรียนมันอย่างปรัชญา philosophy, และจับตัวมันให้ได้ เมื่อมันมี มันเกิดขึ้นมา แล้วควบคุมมันให้ได้ เมื่อมันจะทำหน้าที่มันผิด ๆ. นี่เรียกว่า เรื่องเกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับควบคุมจิต เกี่ยวกับเจริญจิต เกี่ยวกับพัฒนาจิตให้ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องของการว่าเอาตามเหตุผล ปรัชญา แต่ต้องเป็นเรื่องจริงของธรรมชาติ; ไม่มีสมมติฐานอย่างปรัชญา, นี่ช่วยจำไว้ตลอดชีวิตของการที่จะศึกษาพุทธศาสนาว่า ทุกเรื่องมันจะรวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; พอมันแยกออกไปจากนี้แล้วไม่ต้องเรียนก็ได้ไม่มีประโยชน์, แล้วไม่จำเป็นดอก จะเป็นเรื่องนรก สวรรค์ เรื่องนิพพาน เรื่องอะไรก็สุดแท้ มันจะเนื่องกันอยู่กับเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เสมอ เว้นแต่ว่าเราดูไม่เป็น.

             นี่ยิ่งพูดยาวไปอีกแล้วใช่ไหมว่า เพื่อจะให้เห็นข้อเดียวเท่านั้น ว่าทุกเรื่องมันรวมอยู่ที่คำว่าจิต, ทุกเรื่องมันรวมอยู่ที่คำว่าจิต, แล้วจิตนั้นมันแสดงบทบาทที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

จะควบคุมอายตนะให้ได้ ต้องควบคุมจิต.

             ทีนี้ถ้าเราจะควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ มันก็ควบคุมถึงจิตแต่ถ้าควบคุมจิตที่เป็นต้นเหง้าของมันแล้ว ก็จะควบคุมถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราจะพัฒนาจิต ก็คือจะทำให้จิตอยู่ในภาวะที่ถูกต้อง, อย่าให้ผิดไปตามธรรมชาติที่ปราศจากความรู้. ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็ปราศจากความรู้ คือเป็นอำนาจอวิชชา.

             ขอโอกาสทบทวนอีกทีหนึ่ง ช่วยฟังให้ดีว่า ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้ว มันจะเป็นเรื่องของอวิชชา คือเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ สำหรับเป็นคู่กัน : ยกตัวอย่างแต่คู่แรกฟังให้ดีคู่ต่อไปจะไม่พูด คู่แรกคือ ตา กับ รูป.

             ตา ดวงตา กระบอกตา เบ้าตา มีประสาทตา แล้วก็มีที่เกิด ที่จะให้ทำงาน ทำหน้าที่ของจิต นี้เรียกว่า มี "ตา" แล้วก็มี "รูป" อยู่ข้างนอก มากระทบตา รูปกับตานี้มาถึงกันเข้าแล้ว, มันทำหน้าที่แล้ว ก็เรียกว่า ตานี้เกิดแล้ว รูปนั้นก็เกิดแล้ว; เมื่อยังไม่มากระทบตา ไม่ทำหน้าที่ก็ยังไม่เกิด แต่นี่ตาก็เกิดแล้ว รูปก็เกิดแล้ว, ตากับรูป ถึงกันเข้าแล้วก็เรียกว่ามีการเห็นทางตาเกิด คือจักษุวิญญาณ คือเกิดจักษุวิญญาณ นี่จักษุวิญญาณเกิดแล้ว "สามเกิด" แล้ว : ตาเกิด รูปเกิด จักษุวิญญาณเกิดสามอย่างนี้เกิดแล้ว รวมกันแล้วเรียกว่า ผัสสะ.

             ผัสสะนั่นแหละตัวร้ายกาจที่สุดของทุกเรื่องแหละ ตัวผัสสะจำให้ดีเถอะว่า ตัวเหตุการณ์ของทุกเรื่อง ในพระบาลีในพระคัมภีร์ก็ตาม ในโลกก็ตามมันอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าผัสสะ สามอย่างถึงกันเข้าอยู่ในการทำหน้าที่เรียกว่าผัสสะ. แล้วเร็วมากพอมีผัสสะแล้วก็ผลิตผลเป็นเวทนาออกมา คือจะรู้สึกเป็นเวทนาออกมาจากผัสสะนั้น. ถ้าพอใจก็เรียกว่า สุขเวทนา, ไม่พอใจก็เรียกว่า ทุกขเวทนา, เฉย ๆ ไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา.

             นี้มันแสดงบทบาทรุนแรงแล้ว คือมันจะครอบงำจิตแล้ว ชนิดที่เรียกว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ คือไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้มาแต่ก่อนเลย; เหมือนกับที่จะได้พูดเมื่อครั้งที่แล้วมาว่า เด็ก ๆ ไม่ได้มีความรู้มาแต่ท้อง, ความรู้เรื่องดับทุกข์ว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อะไรเป็นต้นนี้ ไม่ได้มีมาแต่ในท้อง, เด็กทารกมันไม่มี; นี่จนเดี๋ยวนี้มันก็ยังไม่มี มันก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้. เพราะฉะนั้น พอเกิดเวทนาเป็นสุขน่าพอใจ มันก็หลงรัก, พอเกิดเวทนาไม่พอใจมันก็หลงโกรธหลงเกลียด, พอเกิดเวทนาที่ไม่สุขไม่ทุกข์มันก็สงสัยไม่รู้จักจบ มันสนใจไม่รู้จักจบ.

             นี่ เวทนา, จำคำว่าเวทนาไว้ให้ดี ๆ มีความร้ายกาจเท่า ๆ กับ ผัสสะแหละ, ไม่เท่าเทียมกับผัสสะทีเดียว แต่พอกันนั่นแหละ ผัสสะน่ะตัวร้าย พอมีเวทนามันก็มีแต่จะมีเรื่องนี้, นี้มันจะมีเรื่อง เพราะมันขาดวิชชา เมื่อมีผัสสะนั้นปล่อยไปตามธรรมชาติก็คือขาดวิชชา; ผัสสะตามธรรมชาติของคนมันธรรมดานี้มันขาดวิชชา; ฉะนั้นมันจึงขาดวิชชาในเวทนาจึงไม่รู้จักเวทนาตามที่เป็นจริง ว่าเวทนานั้นเป็นอย่างไร. อวิชชาหรือความโง่นั่นแหละ ตามธรรมชาติที่มันโง่นั่นแหละ มันก็หลงรักสุขเวทนา หลงเกลียดทุกขเวทนา หลงสงสัยห่วงใยในอทุกขมสุขเวทนา, นี้ก็เรียกว่ามันโง่ เพราะมันโง่มันจึงอยากไปตามที่ไม่ควรจะอยาก, หลงรักหลงโกรธ หลงพะวงหลงใหลอย่างนี้; เรียกว่ามันโง่ มันไม่ควรจะหลง, ไม่ควรจะอยากอย่างนั้น.

             นี่คือความหมายของคำว่า ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้ว มันเป็นอย่างนี้; แล้วมันก็ได้แก่พวกเรานี่แหละ พวกเราทุกคนนี่ มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นขอให้รู้จักตัวเองให้ดี ๆ ธรรมะทุกข้อเรียนจากตัวจริงในร่างกายเรา อย่าเรียนจากกระดาษที่จดไว้อย่างเดียว. ที่จดไว้นั้นกันลืมเท่านั้นแหละอย่าให้อะไรมากไปกว่านั้น ที่จดในกระดาษนี้เพื่อกันลืม เพื่อจะเอาไปทบทวน แล้วจะเรียนจากของจริง ตัวจริง ที่มันมีอยู่ในเรา.

             นี่เข้าใจหรือยังว่า ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ แล้วจะเป็นเรื่องของอวิชชาคือมันปราศจากความรู้; ดังนั้นเราจึงต้องมาอบรมจิตให้ประกอบไปด้วยความรู้. ที่เราทำวิปัสสนากัมมัฏฐาน อะไรต่าง ๆ นี้ก็เพื่อจะทำให้จิตมันมีวิชชา มีความรู้ สำหรับจะใช้ในโอกาสที่มีผัสสะและมีเวทนา; ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะมีอวิชชาไปตามธรรมชาติที่มันปราศจากความรู้ นี่ช่วยฟังให้ดี ๆ ว่าถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้ว มันปราศจากวิชชา; มันมีแต่อวิชชาความโง่ มันจึงไปหลงรักที่น่ารัก หลงโกรธที่น่าเกลียดน่าโกรธ จนเกิดกิเลส.

จะควบคุมจิตได้ต้องมีปัญญา, วิชชา.

             ทีนี้ เราอบรมจิตของเราให้มีปัญญา ให้มีวิชชา จิตนี้จะไม่ไปหลงรักที่น่ารัก จะไม่ไปหลงโกรธหลงเกลียดที่น่าโกรธน่าเกลียด, จะไม่พะวงหลงใหลในสิ่งที่มันยังไม่รู้ว่าอะไร, ก็รอดตัวซิ ไม่หลงรัก ไม่หลงโกรธ ไม่หลงเกลียด ไม่หลงกลัว ไม่หลงวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉา ริษยา หึงหวงอะไรนี้ไม่มี มันก็รอดตัว : ฉะนั้นเราจึงต้องอบรมจิตอย่างไร เห็นได้หรือยังว่า จิตตภาวนา นั้นสำคัญหรือไม่สำคัญ? ถ้าจิตของเราไม่ได้รับการอบรม กระแสจิต การปรุงแต่งจิต จะเป็นไปอย่างธรรมชาติแห่งอวิชชาคือปราศจากความรู้.

             เอ้า, ทีนี้เรามาอบรมเสีย ให้จิตมันมีวิชชา จะได้ควบคุมกระแสจิต กระแสการปรุงแต่งของจิตในทางอายตนะทั้งหลายนี้ให้มันมีวิชชา ให้มันมีปัญญา แล้วก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ พออะไรมากระทบ กระทบนะ, ผัสสะนะ จะมีเวทนาชนิดไหนขึ้นมา เราเช่นนั้นเอง, มันเช่นนั้นเอง, ไม่ไปหลงรักมัน แม้จะน่ารักเท่าไร ไม่ไปหลงโกรธหลงเกลียดหลงกลัวมัน แม้จะน่าเกลียดน่ากลัวสักเท่าไร ไม่หลงอะไรหมดมันก็รอดตัว. นี่เห็นหรือยังว่า จิตตภาวนานี้สำคัญเท่าไร; ถ้าไม่สำคัญจริง ๆ ไม่เอามาพูดให้คุณนั่งเสียเวลาดอก บอกกันอย่างนี้ ถ้ามันไม่สำคัญถึงที่สุดแล้ว ไม่เอามาพูดให้คุณต้องเสียเวลามาก ๆ ดอก จิตตภาวนาการอบรมจิตมันสำคัญอย่างนี้; เพราะฉะนั้นจึงเอามาพูดให้เป็นที่เข้าใจ ว่าเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ จิตตภาวนาคือการอบรมจิตนั่นแหละ คือการพัฒนาชีวิต.

จะอบรมจิต ต้องรู้จักธรรมชาติของจิตก่อน.

             ทีนี้ก็ดูว่า ที่ว่าอบรมจิต หรือจิตตภาวนา เจริญจิตนี้มันทำได้ไหม? มันทำได้ไหม? คุณคงตอบไม่ถูกว่าทำได้ไหม. หรือคนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้, ก็พลอยเห่อ ๆ ตามเขาว่า ว่าทำได้ ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ดีที่สุดแหละ คือตรัสไว้ในลักษณะที่ให้เห็นว่า "ทำได้" คือท่านได้ตรัสไว้เป็นพระบาลีที่สำคัญ; ถ้าจำก็จำให้ดี ๆ ว่าจิตนี้มีธรรมชาติประภัสสร, ท่านตรัสว่าจิตนี้มีธรรมชาติประภัสสร, คือสว่างไสวรุ่งเรืองไม่มีกิเลส : ธรรมชาติของจิตแท้ ๆ. แต่แล้วจิตประภัสสรนั้น กลายเป็นจิตเศร้าหมองขุ่นมัว เพราะมีอุปกิเลสเข้ามาครอบงำ. เข้าครอบงำตอนไหน? ตอนผัสสะนั่นเอง ตอนเวทนา ตอนผัสสะนั่นเอง. อวิชชาเข้ามาครอบงำ จนเกิดความโลภความโกรธเป็นต้น จิตที่เคยประภัสสรไม่มีกิเลสมาแต่ก่อน มันก็มีกิเลสซิก็เลยเป็นจิตเศร้าหมอง.

             จิตนี้มีธรรมชาติประภัสสร ประภัสสร แปลว่า สว่างไสวรุ่งเรือง ตามความหมายของคำนั้น; ไม่ใช่เป็นแสงตะเกียงอย่างนี้ดอก คำว่า ประภัสสร นั้นมันไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไรแปลกันง่าย ๆ ไปทีก่อนก็ว่ามันเรืองแสง มันเรืองแสง : แต่ไม่ใช่แสงไฟ ไม่ใช่แสงตะเกียง. เช่นอย่างว่า เพชร, เพชรนี้มันมีน้ำเพชรแวววาวเรืองรัศมีของเพชร ลักษณะนั้นน่ะเรียกว่าประภัสสร; หรือว่าท่านยกตัวอย่างไว้ว่าเหล็กโลหะที่เขาเอามาเผาไฟ เอามาเผาไฟ เหล็กก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเพราะร้อน, เติมไฟให้แรงเข้าอีก เหล็กก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง, แล้วเติมไฟให้แรงเข้าไปอีกเหล็กก็กลายเป็นสีขาว, เติมไฟเข้าไปอีก ก็จะมีลักษณะที่เรียกว่า ประภัสสร เหล็กที่เผาจนมีแสงชนิดนั้นมีรัศมีชนิดนั้น.

             นี่ธรรมชาติของจิตนั้นมันมีความเป็นประภัสสร คือเรืองแสงหรือเรืองรัศมี, แล้วเศร้าหมองมืดมัวเพราะกิเลสเข้ามาครอบงำ; พอกิเลสออกไปก็ประภัสสรตามเดิม. ฉะนั้น จิตของเรานี้มันก็แจ่มใสประภัสสรเรืองแสง จนกว่าจะเกิดกิเลส; เกิดกิเลสเสร็จ เสร็จแล้วมันก็กลับประภัสสรอีก, กิเลสมาอีกก็ไม่ประภัสสรอีก กิเลสดับไปก็ประภัสสรอีก. นี้คือธรรมชาติของจิต. ตัวจริงนั้นเป็นประภัสสรแต่แล้วไม่ประภัสสร เพราะกิเลสเข้ามา.

ผู้เห็นธรรมชาติของจิตแล้วจักเจริญภาวนาได้.

             พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า ผู้ใดเห็นแจ้งข้อนี้ตามที่เป็นจริง, ผู้ใดเห็นแจ้งข้อนี้ ข้อที่จิตประภัสสรแล้วเศร้าหมองเพราะกิเลส, แล้วไม่เศร้าหมองเพราะไม่มีกิเลส; ผู้ใดเห็นข้อนี้ตามที่เป็นจริง จิตตภาวนาย่อมสมควรแก่ผู้นั้น. จิตตภาวนาย่อมสมควรแก่ผู้เห็นความจริงข้อนี้ว่า จิตนั้นตามธรรมชาติเป็นประภัสสร; แล้วมีอะไรมาทำให้ไม่เป็นประภัสสร, พออันนั้นหมดเหตุหมดปัจจัยดับไปแล้วมันก็กลับประภัสสร. ผู้ใดเห็นความจริงข้อนี้ตามที่เป็นจริงแล้ว จิตตภาวนาย่อมสมควรแก่ผู้นั้น, หรือผู้นั้นสามารถจะเจริญจิตตภาวนา; เพราะเขาเห็นได้ว่าจิตแท้ ๆ มันเป็นประภัสสร ฉะนั้นเราจึงมีหวังที่จะทำให้จิตประภัสสรคือไม่มีกิเลส. ส่วนคนที่เขาไม่เห็นอย่างนี้. เขาไม่เชื่ออย่างนี้ หรือเขาเชื่อผิด ๆ ไปว่า จิตมีกิเลสตลอดเวลาเลยนี้ อย่างนี้ไม่มีทาง ผู้ที่เข้าใจผิดไปว่าจิตมีกิเลสตลอดเวลา, หรือว่าเป็นธรรมชาติของจิต คือมีกิเลสแล้วก็ไม่มีทางที่จะอบรมจิตตภาวนา. เมื่อเรารู้ความจริงข้อนี้เราก็เห็นได้ด้วยตนเองว่าจิตตภาวนาทำจิตให้เจริญนี้เป็นสิ่งที่มีได้. ทีนี้จิตเจริญแล้วมันก็ควบคุมกระแสผัสสะ เวทนา ตัณหา อะไรได้ มันก็ไม่มีทุกข์ ฉะนั้นเราจึงสนใจหรือตั้งใจที่จะอบรมจิตที่เรียกว่าจิตตภาวนา.

             เอ้า, ทีนี้ก็พูดขั้นต่อไปที่จะเรียกว่า จิตตภาวนาอบรมจิต อยากจะให้เข้าใจส่วนที่ไม่เคยเข้าใจก็ได้ จะยังไม่เคยฟังก็ได้ เขาแบ่งเป็นศีล สมาธิ ปัญญา : แล้วเขามักจะพูดว่าศีลไม่เกี่ยวกับจิต, สมาธิกับปัญญาเกี่ยวกับจิต เราจะพูดว่านั่นไม่ถูกดอกพูดอย่างหละหลวมหรือพูดอย่างผิวเผิน เราจะมีการภาวนาอบรมจิตให้เจริญทั้งส่วนศีล ทั้งส่วนสมาธิ และทั้งส่วนปัญญา.

             การที่เราจะไม่ล่วงศีลห้า ไม่ฆ่า ไม่ลักไม่ขโมย ไม่อะไร จิตต้องดีเหมือนกัน จิตต้องรู้ถูกต้องในธรรมะระดับต้นนี้ ว่าไม่ควรฆ่า ไม่ควรขโมย ไม่ควรล่วงกาเมฯ ไม่ควรโกหก ไม่ควรดื่มน้ำเมา จิตต้องสูงถึงขนาดนั้นมันจึงจะเว้นได้. ถ้าจิตไม่สูงถึงขนาดนั้นแล้ว มันเว้นไม่ได้ดอก มันเมาแอ๋คลานมา แล้วก็มาขอทิ้งเหล้า แล้วมันก็ทำไม่ได้ เราก็ไม่พูดกับมันดอก. มันไม่มีการบังคับจิต มันไม่รู้เรื่องจิต มันจะบังคับแต่ลิ้นปากไม่ให้กินเหล้า นี้มันทำไม่ได้ดอก มันต้องบังคับจิตต้องอบรมจิตภายในให้เกลียดกลัวการกินเหล้า; จิตมันสูงพอที่จะเกลียดกลัวการกินเหล้าแล้วมันก็ไม่กินเหล้า หรือมันจะไม่ฆ่า, มันไม่ขโมย มันจะไม่ประพฤติล่วงกาเมฯ มันจะไม่โกหกอะไรต่าง ๆ; แม้ในระดับศีลนี้ ก็ต้องอบรมจิต.

             จิตในระดับศีล จิตที่เป็นพื้นฐานของศีล, ต้องอบรมจิตนี้ แล้วจิตนี้ก็จะช่วยรักษาศีลได้; ฉะนั้นจิตตภาวนาจึงมีแม้ในระดับศีล อบรมจิตในระดับศีลให้ดีแล้ว ก็จะถือศีลได้ จะเว้นขาดจากการทุศีลโดยประการทั้งปวง นี้เรียกว่าจิตตภาวนาในระดับศีลหรือในส่วนศีล.

             ทีนี้ จิตตภาวนาในส่วนสมาธิ นี้ฝึกจิตโดยตรงเลย; จิตที่อ่อนแอไม่อยู่ในอำนาจ เต็มไปด้วยนิวรณ์ เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน นี้มาฝึกกันเสียใหม่, ให้จิตนี้อยู่เหนือข้าศึกของจิต, ให้จิตเป็นสมาธิ พูดง่าย ๆ นี้ก็เรียกว่าจิตตภาวนาในส่วนจิต.

             ทีนี้ สูงขึ้นไป จิตตภาวนาในส่วนปัญญาความรู้ นี้เราต้องอบรมจิตให้รอบรู้สิ่งที่ควรจะรอบรู้; อะไร ๆ ที่มนุษย์ควรจะรอบรู้ เราต้องอบรมจิตให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้.

             มันต่างกันอยู่เป็น ๓ ชั้น ระดับศีล อบรมจิตให้ถือศีลให้ได้. ระดับจิต อบรมจิตให้เป็นสมาธิให้มั่นคงให้มีสมรรถภาพถึงที่สุดให้จนได้ ระดับปัญญา อบรมจิตให้รู้สิ่งที่ควรรู้ ที่มนุษย์ควรจะรู้ คือดับทุกข์ให้ได้; อย่าได้ขาดแคลนเลยในความรู้ข้อนี่ นี้จิตตภาวนา ระดับการอบรมจิตมีทั้งส่วนศีล ทั้งส่วนสมาธิ ทั้งส่วนปัญญา ที่อื่นหรือพวกอื่นอาจารย์อื่น เขาก็บอกไปอย่างอื่น อาตมาไม่รับผิดชอบ, ไม่ได้พูดคัดค้านอะไรเขา แต่ว่าอยากจะบอกท่านทั้งหลายว่า มันต้องเป็นอย่างนี้จิตตภาวนาจะต้องมีทั้งส่วนศีล ทั้งส่วนสมาธิ และทั้งส่วนปัญญา. ให้เป็นจิตตภาวนา แปลว่า เจริญขึ้น, เจริญขึ้น.

             ระดับที่ ๑ จิตธรรมดาเป็นระดับสัตว์ มีความรู้อย่างสัตว์ สัตว์เดรัจฉานนั่นแหละ. จิตตามธรรมดาที่ไม่ได้รับการอบรมอะไรเลย มันจะรู้ตามธรรมชาติ รู้เท่าที่ธรรมชาติให้รู้, แล้วรู้ในระดับสัตว์เดรัจฉานเลย ต่ำมาก นี้เราจะเรียกว่าระดับสัตวศาสตร์ ระดับสัตวศาสตร์, สัตวศาสตร์.

             ระดับที่ ๒ พอสูงขึ้นมากว่าสัตว์เดรัจฉานเป็นคนป่า เป็นคนโง่ เป็นคนเยิงมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น แล้วก็ถือปัจจัยภายนอก ถือผีสางเทวดา ไม่เข้าถึงธรรมะนี่จิตก็สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานจริง มันเพียงแต่สูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน ก็เลยเรียกว่า ระดับไสยศาสตร์, ระดับไสยศาสตร์. ไสยะ นี้แปลว่าดีกว่า ก็ได้ แปลว่า หลับอยู่ก็ได้ ฉะนั้นระดับไสย-ศาสตร์นั้น มันเป็นเพียงดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน เท่านั้นแหละไม่ใช่มนุษย์สูงสุด ถ้าว่าโดยแท้จริงแล้วมันยังหลับอยู่ แม้จะดีกว่าสัตว์เดรัจฉานแล้วมันก็ยังหลับอยู่ ฉะนั้น ไสยศาสตร์ก็คือมันยังหลับอยู่ แม้ว่าจะดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน, มันดีกว่าระดับสัตว์เดรัจฉานแล้ว; แต่มันก็ยังหลับอยู่ เราเลยเรียกว่าระดับไสยศาสตร์. ไสยศาสตร์นี้ไม่ใช่ย่อยสูงขึ้นมา สูงขึ้นมา จนถือผีสาง เทวดา พระเป็นเจ้า, พระอะไรที่อธิบายไม่ได้ อธิบายไม่ได้ เกณฑ์ให้ยึดถือ, เกณฑ์ให้เชื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์, นี้คือระดับไสยศาสตร์.

             ต่อมาถึงยุคพระพุทธเจ้า ท่านไม่เอาดอก อย่างนี้ไม่เอา. ท่านค้นพบความจริงของธรรมชาติ เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทางถึงความดับทุกข์. ท่านก็สอนระบบนี้ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พุทธศาสตร์ "พุทธศาสตร์" ที่จริงก็ไม่ค่อยถูกต้องนักคำเหล่านี้ แต่ไม่มีคำอื่นที่ดีกว่า หรือนึกคำอื่นไม่ถูกไม่ออก ก็เลยบอกให้จำไว้สัก ๓ คำ ว่า:-

             จิตระดับสัตวศาสตร์ คือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป.
            
จิตระดับไสยศาสตร์ คือโง่งมงาย หลับอยู่ แม้ว่าจะดีกว่าระดับสัตว์เดรัจฉาน นี่ระดับไสยศาสตร์.
            
ระดับสุดท้ายคือ พุทธศาสตร์, พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจจธรรมของธรรมชาติเรื่องดับทุกข์ได้; นี้เรียกว่าพุทธศาสตร์

             ใครชอบจะใช้คำอื่นก็ได้ แต่เราเลือกได้ ๓ คำนี้ เท่าที่นึกออกเดี๋ยวนี้ว่า สัตวศาสตร์-ศาสตร์ของสัตว์; ไสยศาสตร์-ศาสตร์ที่ดีกว่าสัตว์ แต่ยังหลับอยู่; พุทธศาสตร์ คือศาสตร์ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีหลับอีกต่อไป, พุทธะ แปลว่า ตื่น ไม่หลับ