ครูพระผู้ขัดเกลาจิตใจคืนเด็กดีสู่สังคม
โดย
อรนุช วานิชทวีวัฒน์


 

          นับจากวันที่ครูพระตามโครงการ “ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน” จำนวน 4,000 รูป เคลื่อนพลเข้าสู่โรงเรียนเมื่อประมาณกลางปี 2548 ถึงวันนี้เวลาได้ล่วงเลยมากว่าครึ่งปี ครูพระทั้ง 4,000 รูปแรก ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอด อบรม และปลูกฝังศีลธรรมแก่นักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้จำนวนครูพระตามโครงการในรุ่นแรกจะยังไม่สามารถเข้าสู่โรงเรียนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง แต่ผลที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะครูพระส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติภารกิจในการเยียวยาสังคมที่นับวันจะโน้มเอียงไปในทางที่เสื่อมถอยให้กลับมาได้

          จากผลสำเร็จดังกล่าว ประกอบกับเสียงเรียกร้องจากโรงเรียนจำนวนมาก ที่ต้องการให้มีครูพระเข้าไปสอนในโรงเรียนของตนเองบ้าง รัฐบาลจึงได้อนุมัติงบประมาณกลาง ประจำปี 2549 เพื่ออุดหนุนการเพิ่มจำนวนครูพระให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ซึ่งเป็นการขยายผลโครงการ ทำให้มีจำนวนครูพระเพิ่มขึ้นอีก 6,000 รูป รวมแล้ววันนี้มีครูพระในโครงการทั้งสิ้น 10,000 รูป ที่จะกระจายกำลังเข้าไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ

          พระปลัดวุฒิชัย กิตฺติเมธี วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นครูพระที่สอนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายและวิทยาลัยการอาชีพเชียงราย เล่าให้ฟังว่า จุดมุ่งหมายสำคัญที่สมัครเข้าโครงการ คือ ต้องการสอนให้เด็กคิดให้เป็น ซึ่งวิธีการสอนก็มีทั้งการเลกเชอร์และการปฏิบัติ แต่ก่อนที่จะเริ่มการเรียนการสอนเราจะต้องรับข้อมูลจากเด็กก่อน คือ พอเข้าวิทยาลัยก็จะต้องสังเกตว่าเด็กคนไหนนับถือศาสนาใด แล้วให้เด็กขึ้นมาพูดว่าศาสนาของตนเองเป็นอย่างไรเพื่อให้เด็กเปิดใจว่า เราให้โอกาสแก่ทุกศาสนา โดยไม่ได้เลือกสอนแต่พระพุทธศาสนาอย่างเดียว โดยจะสอนโดยเน้นเรื่องของการคิดวิเคราะห์ และนำสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นสื่อในการสอนให้เด็กคิดว่าจะเอาไปใช้ได้อย่างไรบ้าง

          “ถึงแม้เด็กจะมาจากหลายศาสนา เวลาสอนเมื่อพูดถึงศาสนาพุทธก็จะยกตัวอย่างเรื่องของศาสนาอื่นขึ้นมาประกอบด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนากับศาสนาอื่นมีความคล้ายคลึงกัน คำสอนถึงแม้จะมีคำพูดที่แตกต่างกันแต่ก็มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เดียวกัน สามารถนำไปใช้ได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระเจ้าสอนอย่างนี้ ท่านนบีมูฮัมหมัดสอนอย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นตัวพระอาจารย์เองก็ต้องเรียนรู้หลักศาสนาอื่นด้วย เพราะจะต้องตอบคำถามของเด็กแต่ละศาสนา ดังนั้นพระอาจารย์ก็ต้องศึกษามาก่อน และถึงแม้เราจะเป็นพระนับถือศาสนาพุทธก็ไม่ได้หมายความว่าจะพูดแต่เรื่องศาสนาพุทธเท่านั้น เราต้องเปิดโอกาสให้คนที่นับถือทุกศาสนามีสิทธิที่จะคุยและแสดงความ คิดเห็นด้วย” พระปลัดวุฒิชัย อธิบาย

          หากจะถามว่าเด็กเรียนกับครูพระแล้วมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พระปลัดวุฒิชัย บอกว่า ดีขึ้นมากถึงแม้ตอนแรกจะต่อต้านแต่ก็ไม่ถึงกับวอล์กเอาต์ออกนอกห้อง บางเรื่องเขาก็ไม่สนใจ แต่ถ้าเราจี้จุดให้เขาคิดเขาก็จะหยุดแล้วหันกลับมาเรียน โดยอาจจะยกตัวอย่างว่าในขณะที่พระอาจารย์ยังไม่มาเด็กบางคนพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาไปแล้ว ทั้งที่เป็นวัยที่ยังต้องเรียนหนังสือ ถามว่าเขาไปไหน แล้วถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร ซึ่งเขาก็จะคิด เพราะฉะนั้นพระอาจารย์จะย้ำเสมอว่าเราต้องเปิดโอกาสให้กว้าง อย่าดูถูกตนเอง ต้องบอกตัวเองว่ายังพัฒนาได้ ทั้งนี้การทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีนั้น บางคนอาจคิดว่าคงต้องใช้เวลานาน แต่จริง ๆ แล้วจากประสบการณ์ที่สอนมา เวลา 1 เทอม 3 เดือนก็เห็นผลบ้างแล้ว โดยเด็กจะมีกิริยามารยาทที่อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น เพราะอาตมาจะเน้นในเรื่องการสอนเด็กว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง ขออย่างเดียวว่าขอให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี พูดดี แค่นี้พระอาจารย์ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว

          ทิตยา ดวงสนิท นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม จ.เชียงราย บอกว่า ได้เรียนกับครูพระแล้วรู้สึกสนุกไม่น่าเบื่อ ถึงแม้พระอาจารย์จะสอนเรื่องที่เป็นทฤษฎีแต่ก็มีเรื่องสนุก ๆ มาเล่าให้ฟังตลอด และมีสื่อการสอนเยอะมาก ทั้งอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วิดีโอ บางครั้งก็มีเทปเสียงมาให้ฟังเพื่อฝึกการ ทำสมาธิ ซึ่งคงเป็นเทคนิคที่ทำให้ทุกคนในห้องสนใจเรียนมากขึ้น และเมื่อเรียนแล้วไม่ใช่จะได้แต่ความสนุกสนานเท่านั้นยังทำให้มีสมาธิและความจำดีขึ้นด้วย เพราะจะต้องทำรายงานด้วยการไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ แล้วมาวิเคราะห์ตามสิ่งที่ได้เรียนจากพระอาจารย์ เพื่อส่งอาจารย์ประจำวิชาและนำไปขึ้นเว็บไซต์ของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนได้เข้าไปอ่าน

          ขณะที่ อาจารย์พรรณภา สมหวัง อาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมของโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม บอกว่า ครูพระจะมีจิตวิทยาในการสอนดีมาก และสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กได้เก่ง ขนาดสอนเป็นทฤษฎีเด็กยังเรียนได้อย่างสนุกสนานไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งทั้งทางโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ก็รู้สึกดีกับโครงการนี้และอยากให้ทำเป็นโครงการต่อเนื่อง เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กได้ค่อนข้างชัด เด็กมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์มากขึ้น และมีสมาธิในการเรียนวิชาอื่น ๆ ด้วย

          วันนี้เด็กไทยค่อนข้างห่างวัด เข้าวัดน้อยลง นอกจากวันเทศกาล แต่นอกจาก นั้น เรามักจะไม่ค่อยเห็นเด็กเดินเข้าไปในวัด โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเด็กไม่ต้องเข้าวัดก็ได้ แต่พระจะออกมาสอนให้ถึงในโรงเรียนเอง ซึ่งเป็นการให้อาหารบำรุงสมองแก่เด็กอีกทางหนึ่ง.

 


ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ 13 ธ.ค.48

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี