‘เทศน์มหาชาติ’ ของดีที่ชาวพุทธต้องช่วยกันสืบทอด
โดย มนตรี ประทุม


 

          วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวพุทธไทยจะนิยมฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทุกคนต่างมีความเชื่อว่า ใครได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ 13 กัณฑ์ 1,000 คาถา จบในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ถึง 5 ประการ คือ 1.จะได้เกิดมาในศาสนาพระศรีอารยเมตไตรย์ ซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคต 2.จะได้ไปสู่สวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร 3.จะไม่เกิดในอบายเมื่อตายแล้ว 4.จะเป็นผู้มั่งมีลาภยศ สรรเสริญ ไมตรี และมีความสุข และ 5.จะได้รับมรรคผลนิพพาน เป็นพระอริยบุคคลและถึงความพ้นทุกข์

          การเทศน์มหาชาตินิยมทำกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา โดยจัดเป็นพระราชพิธีประจำปี คือ ระหว่างเดือน 11 เดือน 12 และเดือนอ้าย ส่วนพิธีเทศน์ของราษฎรนิยมทำกันในวันออกพรรษา(เดือน 11) แต่ปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและมีได้ตลอดปีไม่ถือเป็นฤดูกาลเช่นแต่ก่อน

          สำหรับเครื่องกัณฑ์เทศน์นั้น จะประกอบด้วยส้มสุกลูกไม้ ขนมและกล้วยอ้อยเป็นพื้น และมีขันเรียกว่า “ขันประจำกัณฑ์” โดยเจ้าภาพเป็นผู้ติดเครื่องกัณฑ์เทศน์และผู้คนที่มาร่วมงานจะนำปัจจัยมาใส่ขัน เมื่อถึงกัณฑ์เทศน์ของใครก็ไปประจำอยู่ในที่อันใกล้พอสมควรกับพระเทศน์ ส่วนสถานที่ที่จะเทศน์มักนำต้นกล้วย อ้อย และทางมะพร้าว มาประดับตกแต่ง บางทีก็มีนกใส่กรง ปลาใส่อ่าง เพื่อจัดบรรยากาศให้คล้ายกับท้องเรื่องที่เกี่ยวกับป่าและมีราชวัตรฉัตรธงปัก เพื่อเป็นการแสดงว่าเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เจ้าของกัณฑ์มักจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้เท่ากับจำนวนคาถา เช่น ทศพร 19 พระคาถา ดอกไม้ธูปเทียนก็อย่างละ 19 ดอก เมื่อจบกัณฑ์ปี่พาทย์จะประโคมเพลงประจำกัณฑ์รับ

          สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดนอกจากพิธีกรรมแล้ว คือ พระผู้เทศน์ จะต้องมีภูมิรู้และได้รับการฝึกฝนการเทศน์มาเป็นอย่างดี เพราะการเทศน์มหาชาติไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ใครๆก็จะทำได้ ซึ่งต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะจากแหล่งวิชาการเทศน์ ที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและประเพณี

          แหล่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ผลิตพระนักเทศน์มากที่สุด ก็คือ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งป็นวัดที่มีการเปิดหลักสูตรวิชาการเทศน์ ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ถึงปัจจุบัน มีการอบรมไปแล้วกว่า 13 รุ่น ผลิตพระนักเทศน์ออกไปเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนแล้วถึง 3,632 รูป

          พระเทพโสภณ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กล่าวว่า การเผยแผ่หลักพระพุทธศาสนา หรือการปลูกฝังอบรมให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดีมีศีลธรรมและประพฤติปฏิบัติชอบนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์สาวกทุกรูป ซึ่งในปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา และอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนในฐานะนักเทศน์ ที่มีวาทศิลป์ในการถ่ายทอดพุทธธรรมอย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีค่อนข้างจำกัด และไม่เพียงพอต่อความต้องการของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

          “สำหรับตัวหลักสูตรวิชาการเทศน์มีตั้งแต่การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเทศน์ ,หลักการและวิธีการเทศน์ ,จรรยานักเทศน์ ,การวิเคราะห์หลักธรรมพุทธศาสนสุภาษิต ,ปฏิภาณกับการเทศน์, ศิลปะการใช้อุปมาและสาธก, ภาษาไทย-ภาษาธรรม, เทศน์ได้-เทศน์เป็น, ธรรมประยุกต์, วิธีการสร้างอารมณ์ขัน,สาธิตการเทศน์มหาชาติ และสาธิตการเทศน์ปุจฉา 2 ธรรมาสน์ ซึ่งหลักสูตรทั้งหมดใช้ระยะเวลาในการอบรม 52 ชั่วโมงทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ” พระเทพโสภณ กล่าว

          นอกจากหลักสูตรต่างๆ ยังมีการสอนเทคนิคในการเทศน์ อาทิ การวางตัวเวลาขึ้นแสดงธรรม การขึ้นธรรมาสน์ การให้ศีล รวมทั้งคำถวายพระพรเทศนาแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งพระนักเทศน์จะต้องเรียนรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมาขั้นต้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่การที่จะเป็นพระนักเทศน์ที่มีฝีไม้ลายมือดีนั้นจะต้องผ่านการสั่งสมประสบการณ์และได้รับการอบรมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและตามหลักพระพุทธศาสนาด้วย

          ด้านคุณสมบัติของพระนักเทศน์จะประกอบด้วย 1.มีศาสตร์ คือ มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่จะเทศน์ 2.มีศิลป์ คือมีศิลปะในการแสดง 3. มีเสียง เพราะการเทศน์มหาชาติเป็นการ “ใช้อารมณ์ผสมภาษา” ผู้เทศน์จึงต้องมีพรสวรรค์ คือ เสียงต้องดีตลอดกัณฑ์ และต้องเข้าใจทำนองรวมทั้งจับทำนองการเทศน์ได้อย่างเหมาะสมด้วย

          ในปัจจุบันนี้การเทศน์มหาชาติแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.มหาชาติประยุกต์ ใช้คำศัพท์ที่ฟังง่าย สนุกสนาน 2.มหาชาติทรงเครื่อง มีลักษณะเป็นการถามตอบปุจฉา-วิสัชนา และ 3.มหาชาติหางเครื่อง ซึ่งเป็นการเทศน์ที่มีการแสดงประกอบ

          อย่างไรก็ตามการเทศน์มหาชาติ นับวันยิ่งจะหาฟังได้ยาก เนื่องจากมีพระให้ความสนใจกันน้อย เนื่องจากเป็นการเทศน์ที่ยาก และไม่มีหลักสูตรที่มีการเปิดสอนอย่างแพร่หลาย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้คงหนีไม่พ้นที่ภาครัฐควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ให้เท่าเทียมกับระบบการศึกษาของประชาชนทั่วไป อย่ามองว่า การศึกษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร เป็นเรื่องของพลเมืองชั้น 2 หรือปล่อยให้พระคุณเจ้าทั้งหลายจัดการศึกษากันไปตามมีตามเกิด ไม่เช่นนั้นการสืบทอดพระพุทธศาสนาคงต้องเกิดอาการสะดุด และสิ่งดีๆ อย่างการเทศน์มหาชาติอาจจะต้องสูญพันธ์ไปในที่สุดก็ได้

 


ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ 15 พ.ย.48

 

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี