ธรรมะคือหน้าที่หรือจรรยาบรรณของบิดามารดา

              ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว มารดาบิดา ถือว่าเป็นทิศเบื้องหน้า เพราะเป็นบุคคลที่ลูกได้รู้จักและ ใกล้ชิดที่สุด ถึงกับพระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกว่า "ทิศเบื้องหน้า" เป็นบุคคลที่บุตร-ธิดาควรบำรุง เลี้ยงดู เอาใจใส่ และให้ความสำคัญก่อนกว่าใคร ๆ ทั้งสิ้น เพราะท่านทั้ง 2 นั้น ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านมาเป็นอย่างดี ไม่มีขาดตกบกพร่อง ไม่กลัวต่อความยากลำบาก และแม้แต่ชีวิตของท่านเอง ท่านก็ยังสละแทนลูกได้โดยสนิทใจ

              ธรรมะประจำใจของมารดาบิดามีมากมายสุดเหลือที่คณานับได้ แต่ผู้เขียนขอนำมาเสนอแก่ท่าน ในฐานะ ที่มารดาบิดาท่านปฏิบัติต่อบุตรธิดา ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (พระไตรปิฎก เล่มที่ 11 ข้อ 203) เป็นหลัก

หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตรธิดา

              1.ห้ามมิให้ลูกทำความชั่ว
              2 .แนะนำให้ลูกตั้งอยู่ในความดี
              3.ให้ลูกศึกษาศิลปวิทยา
              4.หาคู่ครองที่สมควรให้ลูก
              5.มอบทรัพย์ให้ลูกในสมัย

ขอบเขตของบิดามารดา

              บิดามารดา เป็นผู้ใกล้ชิดบุตรธิดาที่สุด มีอิทธิพลในการหล่อหลอมบุตรธิดาให้เป็นพลเมืองดีหรือเป็นพลเมืองร้ายมากกว่าใครๆ แต่บิดามารดาทุกคนย่อมปรารถนาให้บุตรธิดาของตนเป็นพลเมืองดี เป็นคนดีของครอบครัวและของสังคมทั้งสิ้น เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์อันนี้ บิดามารดาจำต้องมีจรรยาบรรณ คือมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อบุตรธิดาของตน เมื่อบิดามารดาปฏิบัติหน้าที่อันนี้แล้ว นอกจากจะทำให้บุตรธิดาเป็นคนดีดังประสงค์ได้แล้ว ยังเป็น เหตุให้บุตรธิดา เกิดความสำนึกและซาบซึ้งในตัวบิดามารดาว่าเป็นผู้มีพระคุณแก่ตนอย่างแท้จริง และเป็นเหตุจูงใจให้บุตรธิดาสนองตอบพระคุณในโอกาสต่อไปด้วย

              บิดามารดาที่จะได้ชื่อว่าเป็น "พ่อแก้ว แม่แก้วของลูก" นั้น ก็เพราะได้ทำหน้าที่ทั้ง 5 ประการ ครบถ้วน บริบูรณ์แล้ว หน้าที่ดังกล่าวนั้น มีแนวปฏิบัติดังนี้คือ

๑. ห้ามมิให้ลูกทำความชั่ว
              หมายความว่า ผู้เป็นบิดามารดานั้นจะต้องเป็นคนขยันในการดูแลลูก เอาใจใส่ในการชี้โทษถูกผิดให้แก่ บุตรธิดาทราบตลอดเวลา ไม่เฉยเมยหรือปล่อยปละละเลย เมื่อเห็นบุตรธิดาทำความผิดแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพราะจะทำให้เกิดความเคยชินจนติดเป็นนิสัย เช่น นิสัยเล่นการพนัน ติดสิ่งเสพติด การเที่ยวเตร่ การนอนตื่นสาย เป็นต้น การลงโทษบุตรธิดาผู้ทำผิดการแนะนำให้เห็นถึงผลเสียของความประพฤติไม่ดีต่างๆ ก่อนที่บุตรธิดาจะทำและการห้ามปราม การคาดโทษไว้ล่วงหน้า จัดเป็นหน้าที่ของบิดามารดาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. แนะนำให้ลูกตั้งอยู่ในความดี
               หมายความว่า ผู้เป็นบิดามารดานั้น นอกจากคอยห้ามปรามคอยตักเตือนมิให้บุตรธิดาของตนทำความชั่ว ความผิดแล้ว ยังมีภาระต้องแนะนำ ต้องอบรมสั่งสอน ต้องพร่ำบอกให้บุตรธิดาทราบถึงว่าอะไรดีควรทำ ทำแล้วจะได้รับผลดีอย่างไร รวมทั้งว่าจะทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า "ดี" ด้วย แม้การที่บิดามารดาทำความดีให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็เป็น หน้าที่เช่นกัน และจะได้ผลดีมากกว่าบอกหรือแนะนำให้ทำด้วยซ้ำไป

3. ให้ลูกศึกษาศิลปวิทยา
               หมายความว่า ผู้เป็นบิดามารดา ต้องมีความกระตือรือร้น มีความสนใจสนับสนุนให้บุตรธิดาได้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการ ด้วยการอบรมสั่งสอนเองบ้าง ให้ศึกษาเล่าเรียนตามความสามารถบ้าง แม้ว่าจะต้องลำบากในการส่งเสีย ก็จำต้องยอมสละ เพราะเป็นหน้าที่ การปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรธิดาก็ดี การกีดกันมิให้บุตรธิดาได้ศึกษาเล่าเรียน ตามสติปัญญาเพียงเพื่อเอาไว้ใช้งานก็ดี ถือว่าบิดามารดาบกพร่องในหน้าที่ อันจะเป็นผลเสียทั้งแก่ตัวบุตรธิดาตลอดไป และเป็นผลร้ายต่อบิดามารดาเองโดยทางอ้อมในอนาคตด้วย เพราะ บุตรธิดาผู้ขาดวิชาความรู้ย่อมหากินไม่เพียงพอใช้จ่ายจึงมีผลกระทบให้ไม่อาจเลี้ยงดูบิดามารดาในวัยแก่เฒ่าให้มีความสุขได

4. หาคู่ครองที่สมควรให้ลูก
              หมายความว่า ผู้เป็นบิดามารดา ต้องรับภาระในเรื่องคู่ครองของบุตรธิดา แม้ว่ากาลสมัยจะเปลี่ยนแปลง ไปในการเลือกคู่ โดยให้สิทธิบุตรธิดาเลือกเอง ถึงกระนั้นก็ตามบิดามารดาก็ยังต้องคอยสอดส่องการคบเพื่อนต่างเพศของบุตรธิดาด้วย คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ คอยแนะนำให้รู้ว่าชายดีที่เหมาะจะเป็นสามีที่ดีนั้นคือคนเช่นไรหญิงดีที่เหมาะ จะเป็นศรีภริยานั้นคือคนเช่นไร เป็นต้น การคอยสอดส่องแนะนำและป้องกันมิให้บุตรธิดาเลือกคู่ครองตามอำเภอใจ เพื่อป้องกันความผิดพลาดเช่นนี้ จัดว่าเป็นหน้าที่ของบิดามารดาประการหนึ่งที่จะละเว้นมิได้

5.มอบทรัพย์ให้แก่ลูกในสมัย
               หมายความว่า ผู้เป็นบิดามารดา ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลประคับประคองบุตรธิดาด้วยเงินทองจนกว่าเขาจะ รักษาตัวเองได้ คือ ในสมัยที่บุตรธิดายังมิได้แยกครอบครัว ก็ต้องหาทรัพย์ให้จับจ่ายใช้สอย เพื่อหาความรู้หาวิชาใส่ตน ทั้งเพื่อความสนุกบันเทิงเป็นครั้งคราว ในสมัยที่บุตรธิดาแต่งงานแยกครอบครัว ก็ต้องมอบทรัพย์สมบัติอันเป็นทุนรอนให้บ้างเพื่อให้ตั้งตัวได้ ในสมัยที่ตัวเองจะสิ้นชีวิต ก็ต้องมอบทรัพย์มรดกที่มีอยู่แก่บุตรธิดาตามความเหมาะสม เพื่อเป็นตัวแทนของตนให้บุตรธิดานึกถึงตนอยู่เสมอ การหาทรัพย์แล้วมอบให้บุตรธิดาของตนเช่นนี้ จัดเป็นหน้าที่ของบิดามารดาประการหนึ่ง

              บิดามารดาผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ทั้ง 5 ประการนี้ ถือว่าได้ประพฤติตามจรรยาบรรณที่ท่านกำหนดไว้เป็นหลัก และจัดว่าได้ประพฤติธรรม ประพฤติเป็นธรรมโดยแท้ ผลที่ได้รับ นอกจากจะทำให้บิดามารดาได้รับความรักนับถือจากบุตรธิดาแล้ว ยังเป็นเหตุให้สังคมส่วนรวมพลอยสงบสุขและเรียบร้อยไปด้วย

เจตนารมณ์ของธรรมะคือหน้าที่หรือจรรยาบรรณของบิดามารดา

             1. เพื่อให้บิดามารดาสำนึกในหน้าที่ เป็นพ่อแม่ที่ดี
             2. เพื่อรักษาคุณภาพความเป็นมนุษย์ไว้
             3. เพื่อแก้ปัญหาสังคมเรื่องบิดามารดาทอดทิ้งบุตร
             4. เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่สังคมระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา
             5. เพื่อจรรโลงคุณธรรมของบิดามารดาไว้ในสำนึกของบุตรธิดา
             6. เพื่อป้องกันมิให้บุตรธิดาประพฤติเสียหาย เพราะไม่มีผู้ดูแลเอาใจใส่
             7. เพื่อให้บุตรธิดาได้เห็นแนวทางในการวางตัวดีในสังคม
             8. เพื่อให้บิดามารดาคอยประคับประคอง เป็นพี่เลี้ยงบุตรธิดาจนกว่าจะช่วยตัวเองได้


เอกสารอ้างอิง.-
              กรมการศาสนา, คู่มือการศึกษานักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี, รพ.การศาสนา, กรุงเทพฯ. ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538
              กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า, นวโกวาทฉบับประชาชน,รพ.มหามกุฎราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 13/2544
              บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล,พระมหา, คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร, จ.สุราษฎร์ธานี, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3/2534

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี