วันเข้าพรรษา
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)

 

          การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ ซึ่ง พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง ๆ

          ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในระหว่างฤดูฝนคืนแรม 1 คํ่า เดือน 8 ถึง ขึ้น 15 คํ่า เดือน 11 ของทุกปีดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัด หรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่ง ไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด 3 เดือนในฤดูฝน

ความสำคัญ.-
          วันเข้าพรรษานี้ มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน และเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลดังนี้

          พระภิกษุจะหยุดจาริกไปยังสถานที่อื่น ๆ แต่จะเข้าพักอยู่ประจำในวัดแห่งเดียวตามพุทธบัญญัติ
การที่พระภิกษุอยู่ประจำที่นาน ๆ ย่อมมีโอกาสได้สงเคราะห์กุลบุตร ที่ประสงค์จะอุปสมบท เพื่อการศึกษาพระธรรมวินัยและสงเคราะห์พุทธบริษัททั่วไป
เป็นเทศกาลที่พุทธศาสนาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา สิ่งเสพติด และการเที่ยวเตร่เฮฮา เป็นต้น
นอกจากเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่าง ๆ แล้ว ในช่วงเวลาพรรษาพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทานรักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนามากขึ้น


ประวัติความเป็นมา.-

          ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวันเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือพวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง พากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาว่า ช่างไม่รู้จักกาลเวลาเสียเลย พากันจาริกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง แม้ในระหว่างฤดูฝน บางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนิครณถ์ นักบวชในศาสนาอื่น และฝูงนกยังหยุดพักผ่อน ไม่ท่องเที่ยวไปในฤดูฝนเช่นนี้ เรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า “อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุปะคันตุง แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา”

          วันเข้าพรรษานี้ โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม 1 คํ่า เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นอธิกมาส มี เดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษา ในวันแรม 1 คํ่า เดือน 8 หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ ก็เลื่อนเข้าพรรษาในแรม 1 คํ่า เดือน 9 ก็ได้ไปสิ้นสุดเอาวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 12 เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)

          การถือปฏิบัติวันเข้าพรรษาในประเทศไทยสมัยก่อน ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จะเริ่มทำไร่ทำนาปักดำข้าวกล้าก่อนพรรษากาล พอพระสงฆ์เข้าพรรษา ก็จะเสร็จงานในไร่นา ย่อมมีเวลาว่างมาก ประกอบกับการคมนาคมไปมาระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากฝนตกชุก และนํ้าเจิ่งนองเต็มแม่นํ้าลำคลองทั่วไป ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลกันมากขึ้น ดังนั้น เมอื ถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน ก็พากันหาอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่สมณะนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ในวัดใกล้บ้านตน พระภิกษุสงฆ์ก็แนะนำสั่งสอนให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติ ตามหลักทาน ศีลและภาวนาและความไม่ประมาทในการประกอบคุณความดีอื่น ๆ

          ตามประวัติศาสตร์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ตั้งแต่ สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีดังข้อความในศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ฝูงท่วยมีศรัทธาใน พุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน” นอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทยในสมัยสุโขทัยนั้น ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ ดังรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือนางนพมาศ พอ สรุปได้ดังนี้ เมื่อถึงเดือน 8 ก็มีพระราชพิธีอาษาฒมาส พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้เข้าจำพรรษา ในพระอารามต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดแจงเสนาสนะถวาย พร้อมทั้งบริขารอันควรแก่สมณะบริโภค เช่น เตียง ตั่ง เสื่อสาด เทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร แม้ชาวเมืองสุโขทัย ก็บำเพ็ญกุศลเช่นนี้ในวัดประจำตระกูลของตน
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ยังมีประเพณีสำคัญอยู่ 2 ประเพณี ควรนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

          ประเพณีแห่เทียนพรรษาประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่า สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้กันดังปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษารวมกันมาก ๆ ก็จะต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบคํ่า การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่าง โดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย และเพื่อต้องการใช้แสงสว่างโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ กะว่าจะจุดได้ตลอดเวลา 3 เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ ๆ บ้าน เป็นพุทธบูชา เทียนดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา” ก่อนจะนำเทียนไปถวายนี้ ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริก สนุกสนาน เรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา” ดังขอสรุป เนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศดังนี้ เมื่อถึงวันขึ้น 15 คํ่าทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้ว ก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถหอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ ตลอด 3 เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม ในวัดราษฎร์ทั้งหลาย ก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักร ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป บางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตน ได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหนไปถวายตามวัดต่าง ๆ

          ประเพณีถวายผ้าอาบนํ้าฝน การถวายผ้าอาบนํ้าฝนนี้เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกาชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระสงม์ได้มีผ้าอาบนํ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงนํ้าฝน ระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรก ที่ได้รับพุทธานุญาตให้ถวายผ้าอาบนํ้าฝนแด่พระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบนํ้าฝน ไปถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่จำพรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็ยังคงปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลาประกอบพิธีถวายผ้าอาบนํ้าฝน (วัสสิกสาฎก) หรือผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่น ๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้านตน

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ.-
          ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดีและชำระจิตใจให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุนคุณความดีดังกล่าวก็คือ “วิรัติ” คำว่า “วิรัติ” หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จักเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป วิรัต การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออก ได้เป็น 3 ประการ คือ

          สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่มิได้สมาทานศีลไว้เลย เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ยอมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธ จะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
          สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์โดยเพียรระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหว หรือเอนเอียง
          สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้วแม้ออกพรรษาแล้ว ก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุรา และสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

วัตถุประสงค์.-

          -เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติ
          -เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิด และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันเข้าพรรษา และสามารถเลือกสรรหลักธรรมวิรัติ 3 ไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาตนและสังคม
          -เพื่อให้พุทธศานิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมวิรัติ 3
          -เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง


กิจกรรม.-
          กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
          - ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักรจัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน
          -ศึกษาเอกสารหรือสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
          -สมาชิกในครอบครัว ปรึกษา หารือหาแนวทางในการป้องกันการแก้ปัญหาโดยใช้หลักธรรม วิรัติ 3 และส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิก อบายมุข
          -นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน
          -ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมเจริญภาวนา


          กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา
          -ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
          -ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา
          -ครูและนักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
          -ครูให้นักเรียนจัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดี กับพฤติกรรมที่ไม่ดี และวางแผนพัฒนาพฤติกรรมของตน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาพฤติกรรมที่ดีให้มากขึ้น และลดพฤติกรรมที่ไม่ดีให้น้อยลง
          -ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
          -ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทานรักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เจริญภาวนา

          กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน
          -ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
          -ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันเข้าพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
          -จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม
          -ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
          -หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม
          -จัดทำป้ายนิเทศเกี่ยวกับอุดมการณ์ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายจะละเว้นการกระทำชั่วในเรื่องใดๆ


          กิจธรรมเกี่ยวกับสังคม
          - วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชนประชาสัมพันธ์เรื่องวันเข้าพรรษา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
          -จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญ ของวันเข้าพรรษารวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานี รถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่าง ๆ
          -เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่นทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์
          -รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ให้ลด ละ เลิก อบายมุขและให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด
          -ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
          -รณรงค์ให้มีการรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ
          -จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้อยกรอง บทความเกี่ยวกับวันเข้าพรรษา


ประโยชน์ที่จะได้รับ

          -พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันเข้าพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง วิรัติ และแนวทางปฏิบัติ
          -พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันเข้าพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือวิรัติ
          -พุทธศานิกชนเกิดศัทธา ซาบซึ้ง และ ตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
          -พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชน ที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง


ที่มา.- พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ข้อมูลที่ควรดูเพิ่มเติม.-
          วันออกพรรษา

หนังสืออ้างอิง.-

          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗