ภาณวาร - ภาวนามัย

ภาณวาร “วาระแห่งการสวด”, ข้อความในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น ในพระสูตรขนาดยาวที่ท่านจัดแบ่งไว้เป็นหมวดหนึ่ง ๆ
สำหรับสาธยายเป็นคราว ๆ หรือเป็นตอน ๆ

ภาระ “สิ่งที่ต้องนำพา”, ธุระหนัก, การงานที่หนัก, หน้าที่ที่ต้องรับเอา, เรื่องที่พึงรับผิดชอบ, เรื่องหนักที่จะต้องเอาใจ
ใส่หรือจัดทำ

ภารทวาชโคตร ตระกูลภารทวาชะเป็นตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ ปรากฏตั้งแต่สมัยร้อยกรองพระเวท แต่ในพุทธกาล
ปรากฏตามคัมภีร์วินัยปิฎกว่าเป็นตระกูลต่ำ

ภาวนา การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ 1. การฝึกอบรม ตามหลักพระพุทธศาสนา มี
๒ อย่างคือ ๑. สมถภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ๒. วิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตาม
เป็นจริง, อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น ๒ เหมือนกันคือ ๑. จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มี
ความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใสพร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ ๒. ปัญญาภาวนา การฝึกอบรม
เจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความ
ทุกข์ 2. การเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิมี ๓ ขั้น คือ ๑. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนด
อารมณ์กรรมฐาน ๒. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ ๓. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่
คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาณ 3. ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็น การท่องบ่นหรือว่าซ้ำ ๆ ให้ขลัง ก็มี

ภาวนาปธาน เพียรเจริญ, เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่มียังไม่เกิด ให้เกิดให้มีขึ้น (ข้อ ๓ ในปธาน ๔)

ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา, ความดีที่ทำด้วยการฝึกอบรมจิตใจให้สุขสงบมีคุณธรรม เช่น เมตตา
กรุณา (จิตตภาวนา) และฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ปัญญาภาวนา) ดู ภาวนา
(ข้อ ๓ ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐)