เทวตานุสติ - เทวปุตตมาร

เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา คือระลึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาตามที่มีอยู่ในตน (ข้อ ๖ ในอนุสติ ๑๐)

เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา (ข้อ ๕ แห่งพลี ๕ ในโภคอาทิยะ ๕)

เทวทหะ ชื่อนครหลวงของแคว้นโกลิยะที่กษัตริย์โกลิยวงศ์ปกครอง พระสิริมหามายาพุทธมารดา เป็นชาวเทวทหะ

เทวทหนิคม คือกรุงเทวทหะ นครหลวงของแคว้นโกลิยะนั่นเอง แต่ในพระสูตรบางแห่งเรียก นิคม

เทวทัตต์ ราชบุตรของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระนางพิมพาผู้เป็นพระชายาของสิทธัตถ
กุมาร เจ้าชายเทวทัตต์ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธ์ พระอานนท์และ กัลบกอุบาลี เป็นต้น บำเพ็ญฌานจนได้โลกีย
อภิญญา ต่อมามีความมักใหญ่ ได้ยุยงพระเจ้าอชาตศัครูและคบคิดกันพยายามประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ก่อเรื่องวุ่นวาย
ในสังฆมณฑลจนถึงทำสังฆเภท และถูกแผ่นดินสูบในที่สุด

เทวทูต ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาณที่เตือนให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิต มิให้มีความประมาท
จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์
และคนตาย (เทวทูต ๓ มาใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน
เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรกเป็นเทวทูต ส่วน
สมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทว
ทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิง
ว่าอาจเรียกทั้งสี่อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่าเป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)

เทวธรรม ธรรมของเทวดา, ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา หมายถึงธรรม ๒ อย่างคือ หิริ ความละอายแก่ใจคือละอายต่อ
ความชั่ว และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวบาป คือ เกรงกลัวต่อความชั่ว

เทวบุตร เทวดาผู้ชาย, ชาวสวรรค์เพศชาย

เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร, เทวบุตรเป็นมาร เพราะเทวบุตรบางตนที่มุ่งร้าย คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ไม่ให้สละ
ความสุขออกไปบำเพ็ญคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทำให้บุคคลนั้นพินาศจากความดี, คัมภีร์สมัยหลัง ๆ ออกชื่อว่า พญาวสวัต
ดีมาร
(ข้อ ๕ ในมาร ๕)