ปาฐกถาธรรมเรื่อง
ธรรมสัจจะของสมถวิปัสสนาแห่งยุคปรมาณู

โดย
พุทธทาส ภิกขุ


ปาฐกกถาธรรม
ประจำวันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
แสดง ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย

            
การบรรยายประจำวันเสาร์แห่งภาคมาฆบูชาเป็นครั้งที่ ๑๒ ในวันนี้ อาตมาก็ยังคงกล่าวเรื่อง สมถวิปัสสนาสำหรับยุคปรมาณูต่อไปตามเดิม ; แต่มีหัวข้อย่อยเฉพาะในการกล่าวครั้งนี้ว่า ธรรมสัจจะของสมถวิปัสสนาแห่งยุคปรมาณู

            การบรรยายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรื่อง และของภาคมาฆบูชา จึงอยากจะกล่าวสรุปข้อความทุกแง่ทุกมุมของเรื่องนี้ ในลักษณะปริทรรศน์ แต่เนื่องจากจะกล่าวให้เห็นโดยชัดเจนเจาะจงลงเป็นเรื่องๆ ก็เรียกว่า ธรรมสัจจะคือแง่หนึ่งมุมหนึ่ง ที่จะต้องมองให้ลึกซึ้งถึงที่สุด ว่ามันเป็นอย่างไร ดังนั้นก็ถือโอกาสกล่าวในลักษณะของอริยสัจจ์ ๔ ประการ ซึ่งมีหลักว่า จะต้องตั้งปัญหาขึ้นมาว่า มันคืออะไร มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด มันเพื่อประโยชน์อะไร และมันจะสำเร็จตามนั้นได้อย่างไร

ธรรมะในรูปแบบที่เรียกว่าสำหรับยุคปรมาณู

            ธรรมะในรูปแบบที่เรียกว่าสำหรับยุคปรมาณูนี้ ก็เป็นการเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์แห่งยุคปรมาณูของคนทุกคน ทั้งในแง่ของสงครามและในแง่ของสันติภาพ และในแง่ของพุทธบริษัท โดยทั่วไป

            ที่ว่าในแง่ของสงคราม นั้นหมายความว่า ถ้ามันเกิดสงครามปรมาณูขึ้นมา เราจะมีธรรมะอะไรสำหรับจิตใจที่จะต่อสู้กับโทษอันร้ายกาจ พิษภัยอันร้ายกาจของสงครามนั่น

            ในแง่ของสันติภาพก็หมายความว่าเมื่อมันยังไม่เกิดสงคราม เราควรจะมีความรู้อย่างไรในเรื่องนี้ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ยังเป็นสันติภาพแห่งยุคปรมาณู

            และที่ว่าในแง่ของพุทธบริษัททั่วไปนั้น หมายความว่า ถ้าเราจะเป็นพุทธบริษัทกันอย่างถูกต้อง ไม่ให้เสียทีที่เป็นพุทธบริษัทแล้ว ; เราจะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้และปฏิบัติกันอย่างไร จึงจะไม่เสียหน้า เสียชื่อ เสียเกียรติเสียอะไรของพุทธบริษัท ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่า เป็นผู้รู้. เป็นผู้ตื่น และ เป็นผู้เบิกบาน.

เดี๋ยวนี้เขาทำอะไรกันได้บ้างที่เรียกว่า ยุคปรมาณู?

            เขาไปดูดวงดาว ดวงจันทร์ มาจากเบื้องหลังของดวงดาว ดวงจันทร์ก็ได้ คือเขาไปพ้นไปจากดวงดาวและดวงจันทร์ แล้วย้อนดูมาทางดวงดาวและดวงจันทร์อย่างนี้เขาก็ยังทำกันได้แล้ว มันไม่เหมือนยุคโบราณแล้วเดี๋ยวนี้เขามียานพาหนะสำหรับจะกระโดดแผล็วๆ ไปที่นั่นไปที่นี่ อย่างไปรอบโลกกันได้ ก็ในไม่กี่ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น, มันเปลี่ยนมากถึงอย่างนี้. เราจะต้องมีอะไรในทางจิตใจ ที่จะเหมาะสมสำหรับความก้าวหน้าของมนุษย์ในโลกถึงขนาดนี้

            ที่มันจะมีมาก็คือว่า ความก้าวหน้ามากเช่นนี้ มันย่อมให้เกิดผลที่แปลกประหลาด หรือรุนแรงมากพอๆ กัน ; จะเรียก ภาษาธรรมะ เขาก็เรียกว่า อติมหันตารมณ์ ที่เป็นความทุกข์นานาชนิด ; อติ แปลว่า อย่างยิ่ง, มหันตะ ก็แปลว่า ใหญ่, อารมณ์ ก็แปลว่า สิ่งที่จะรู้สึกหรือกระทบ ; มันจะเป็นสิ่งที่มากกระทบอย่างใหญ่ยิ่งแก่จิตใจในรูปแบบของความทุกข์

            ทำไมไม่มองกัน ในแง่ของความสุข? ก็เพราะมันยังมองไม่เห็น, มันยังไม่มีทางจะมอง ว่าการที่พัฒนาก้าวหน้าในทางที่ทำให้คนลุ่มหลงความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางอายตนะนี้ มันมองไม่เห็นทางของสันติสุข. แม้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังสนุกสนานเอร็ดอร่อยกันอยู่ก็ตาม, เพราะว่าอารมณ์ชนิดนี้มันส่งเสริมกิเลส มันสนองกิเลส, มันสนองกิเลสแห่งความเห็นแก่ตัว, ความเห็นแก่ตัวมันมากถึงที่สุดแล้ว มันก็มองไม่เห็นสันติภาพ

            ฉะนั้นเราจึงมองเห็นแต่ในทางที่ไม่พึงปรารถนา, ไม่น่าปรารถนา ; มันจะเป็นวิกฤติการณ์ คือตรงกันข้ามจากสันติภาพ, แล้วก็จะเนื่องกันเป็นสายไม่ขาดตอน จึงเรียกว่ามันเป็น อติมหันตารมณ์ คำแปลกสำหรับคนทั่วไป, แต่คำธรรมดาในภาษาธรรมะ. อารมณ์ใหญ่ยิ่ง หมายความว่ามันครอบงำจิตใจใหญ่ยิ่ง, คือความรู้สึกที่มันมากเหลือประมาณนั่นเอง. อารมณ์เล็กๆ ผ่านมามันก็ไม่มีความหมายอะไร, เดี๋ยวมันก็ลืม ; แต่ถ้ามันเป็นอารมณ์ใหญ่ และใหญ่ยิ่ง นี่มันยากที่จะลืม ; เพราะมันบีบคั้นมาก, เพราะมันทำลายมาก, เพราะมันให้ความทุกข์มาก. แล้วมันอยู่ในลักษณะที่เรียกในภาษาธรรมะอีกเหมือนกัน คือเรียกว่า อมาตาปุตติกภัย ฟังประหลาดๆ หรือแปลกอีกแล้ว.

อ - มาตา - ปุตติก - ภัย , - ภัยซึ่งทำให้ไม่มีความเป็นบิดามารดา ;             เอาเนื้อความก็คือว่าภัยที่บุตรกับบิดามารดาก็ช่วยอะไรกันไม่ได้ คือเมื่อเกิดภัยอันนี้ขึ้นมาแล้ว บุตรกับมารดาไม่สามารถจะทำประโยชน์อะไรให้แก่กัน, ไม่สามารถจะช่วยกันและกันได้. ตามธรรมดาก็หมายถึงความทุกข์อันเกิดมาจากความเกิดแก่ เจ็บ ตาย ซึ่งแม่ก็ช่วยลูกไม่ได้ ลูกก็ช่วยแม่ไม่ได้ , พ่อก็ช่วยลูกไม่ได้, ลูกก็ช่วยพ่อไม่ได้, นับว่าเป็นภัยเหลือประมาณและเด็ดขาด. แต่มาในบัดนี้เรามีภัยภายนอก เป็นอันตรายภายนอกชนิดที่ลูกก็ช่วยแม่ไม่ได้ แม่ก็ช่วยลูกไม่ได้ ; ก็หลับตาดูเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าว่าระเบิดปรมาณูมหาภัยมันลงมา แล้วใครช่วยใครได้เล่า ; มันกลายเป็นฝุ่นกันไปทั้งหมดแล้ว ใครจะช่วยใครได้. นี่มันก็มีค่าเท่าๆ กันกับคำว่า ช่วยกันไม่ได้ในเรื่องของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย.

ธรรมะช่วย ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าช่วย

            ในยุคปรมาณูนี้มันจะมีภัยอันใหญ่หลวงเมื่อไรก็ได้ชนิดที่แม่ก็ช่วยลูกไม่ได้, ลูกก็ช่วยแม่ไม่ได้, มีก็เหมือนกับไม่มี อย่างนั้นแหละ. ทีนี้ใครจะช่วย? อะไรจะช่วย? อาตมาคิดว่า ธรรมะจะช่วย; ธรรมะช่วย ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าช่วย, ธรรมะนั่นแหละจะช่วย; เพราะฉะนั้นเตรียมธรรมะไว้สำหรับช่วยในภัยอันตราย ที่แม้แต่แม่และลูกแสนจะรักซึ่งกันและกันก็ช่วยกันไม่ได้. ขอให้เตรียมตัวไว้สำหรับจะไม่ร้องไห้ก็พอแล้ว อย่าถึงกับว่าจะเตรียมตัวไว้หัวเราะเลย ไม่มีใครเชื่อดอก, เพียงแต่เตรียมตัวสำหรับจะไม่ร้องไห้เมื่อภัยนี้มาถึง ก็ดูจะวิเศษเหลือประมาณแล้วไม่ต้องพูดว่าฉันจะหัวเราะ

            ถ้าว่ามีธรรมะนี้มากจริง, มากจริง อาตมาคิดว่าหัวเราะได้. คนที่มีธรรมะสูงเพียงพอจริงๆ มันก็หัวเราะได้ในทุกกรณี, ในทุกกรณี หมายความว่าในทางวิบัติวินาศหรือในทางได้สมบัติอย่างยิ่ง ; ก็หมายความว่าหัวเราะได้ทั้งในเรื่องที่ชวนให้ยินดีและเรื่องที่ชวนให้ยินร้าย.

            เดี๋ยวนี้เราชาวบ้านนี้ไม่เอากันถึงขนาดนั้นดอก ; เอาแต่เพียงว่าเมื่อยังไม่ตายน่ะอย่าต้องร้องให้ ก็ดีถมไปแล้ว, ไม่ต้องถึงกับว่าหัวเราะ. นี่จึงขอให้สนใจฟังธรรมะชนิดนั้นคือเรื่องสมถวิปัสสนาสำหรับยุคปรมาณู ที่จะต้องทำไว้ให้คล่องแคล่วชำนาญ ชำนาญอย่างยิ่ง สมบูรณ์มากเพียงพอถูกต้องดี. นี่ก็จะได้ปรกติอยู่ได้ในเหตุการณ์ที่มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในยุคปรมาณู

            ท่านต้องนึกถึงข้อความที่บรรยายมาแล้ว ๑๑ ครั้งตั้งแต่ต้นว่าปฏิบัติอย่างไร และข้อไหนเป็นข้อที่สำคัญที่สุด? เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา, เห็นสุญญตา, แล้วก็เห็นตถตา,แล้วเห็นอิทัปปัจจยตา อยู่ได้ ทุกครั้งที่หายใจออก - เข้าในทุกๆ กรณี, นี้มันจะมากน้อยสักเท่าไร ในการที่จะทำให้ได้ถึงขนาดนี้. ถ้าเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง, มันเป็นเช่นนั้นเองได้อย่างเต็มที่ ในเมื่ออะไรจะเกิดขึ้นใหญ่หลวงเท่าไรก็ตาม ; เห็นเช่นนั้นเองได้นั่นแหละคือจะคงที่ได้, จะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้. นี่ถ้าอยากจะหัวเราะก็ยังได้แต่ว่าพระอรหันต์ท่านคงจะไม่หัวเราะให้มันเหนื่อยเปล่าๆ, อยู่เฉยๆ มันก็ดีแล้วไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องให้นั่นแหละมันดีกว่า เรียกว่าเรามีธรรมะที่จะทำความคงที่ ได้ในทุกๆ กรณี

        หนังสือชุด "ลอยปทุม" นี้ จัดพิมพ์เผยแพร่แก่พุทธศาสนิกชนที่สนใจได้อ่านและศึกษาพร้อมทั้งปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตามคำสั่งสอนของท่านเจ้าคุณพุทธทาสภิกขุ และเก็บไว้เป็นหนังสือประจำตน หรือมอบไว้เป็นที่ระลึกในงานพิธีต่างๆ อันจักเป็นการช่วยเผยแพร่ธรรมะที่ดี ไว้เป็นประทีปส่องทางชีวิต
        หนังสือชุดนี้ ธรรมสภาได้จัดพิมพ์จากต้นฉบับเดิมของธรรมทานมูลนิธิ เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับเดิมไว้ อันเป็นการรักษาพระธรรมคำสอนมิให้คลาดเคลื่อน โดยได้รับการตรวจสอบและตรวจทานจากธรรมทานมูลนิธิแล้ว