โพสท์ในลานธรรมเสวนา
กระทู้ที่008404 โดยคุณ : บุณยกร [1 เม.ย. 2546]
เนื้อความ :
เดี๋ยวนี้ก็มีคนบางคนไม่เข้าใจ
แม้ว่าจะฟังมาตั้ง10 ครั้ง 20 ครั้ง 100 ครั้งแล้วก็ตาม ไม่เข้าใจในข้อที่ว่า
เมื่อไม่ทำบาปทุกอย่าง ทำกุศลคือความดีทุกอย่าง แล้วทำไมจะต้องมาทำจิตใจให้ผ่องใสเล่า
เพราะการทำจิตใจผ่องใสก็เป็นความดีเป็นกุศลอย่างหนึ่งอยู่แล้ว นี่เป็นเหตุให้ไม่เข้าใจข้อความในประโยคหลังที่ว่า
ทำจิตให้ขาวรอบ ก็หมายความว่า แม้จะทำดีทำกุศลทุกอย่างแล้ว จิตก็ยังไม่ขาวรอบนั่นเอง
ขอให้นึกถึงความข้อนี้ที่ว่า แม้จะทำกุศลทุกอย่างแล้ว จิตมันก็ยังไม่ขาวรอบ
แล้วก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ ยังคิดอยู่ว่า ไม่ทำชั่วทำแต่ดีก็พอแล้ว
นี่พุทธบริษัทโดยมากยังเป็นอยู่อย่างนี้ แม้ที่ว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำไป
ก็ยังเข้าใจอยู่อย่างนี้เพราะไม่เข้าใจคำว่า บาป ว่าบุญ ว่านิพพาน
นั่งเอง โดยถือเสียว่า ถ้าทำดีทุกอย่างแล้วมันก็หมด จบเรื่อง ต้องขอใช้คำหยาบคายว่ามันยังโง่อยู่
นั่นแหละ เพราะว่ามันมีสิ่งที่ยิ่งขึ้นไปกว่าเหนือความดี เหนือความดีทั้งปวงขึ้นไป
ก็คือการทำจิตให้ขาวรอบ
ที่นี้มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า จิตขาวรอบนั้นเป็นอย่างไร ทำไมขาวแล้วจึงต้องมีรอบ?
นี่จะต้องฟังให้ดี
คำว่า ขาว ในภาษาบาลี มีอยู่อย่างน้อยก็ 2 คำเช่น สุกก ก็แปลว่า ขาว
โอทาตะ ก็แปลว่า ขาว แต่จะแปลผิดหรือถูกก็ไม่รู้เขาแปลกันอย่างนั้น
โอทาตะ ก็แปลว่า ขาว สุกกะ ก็แปลว่า ขาว แล้วโอทาตะในหลักธรรมนี้ในที่นี้ไม่พอยังใส่
ปริ เข้าไปอีก เป็น ปริโอทาตะ เข้ามาอีก ฉะนั้นมันก็ต้องไม่ใช่อย่างเดียวกับ
สุกกะ คือ ขาว
ขาวในภาษาไทยเรานี้ก็กำกวมเหมือนกัน ขาวอย่างเสื้อสีขาว นี้ก็เรียกว่า
ขาว มันมีสีขาว แต่ถ้ามันไม่มีสี มันขาวชนิดที่ไม่มีสี ขาวว่างอย่างไม่มีสี
ก็ยังเรียกว่าขาวอยู่นั่นแหละ นั่นเป็นภาษาที่ไม่ถูก รู้ไว้เถอะว่า
เรายังพูดภาษาไม่ถูกเอง แล้วก็เข้าใจคำพระบาลีนี้ไม่ถูก มันก็เป็นธรรมดา
จนนึกถึงภาษาไทยเราที่ว่า ขาวๆ เช่นสีขาว อย่างนี้มันยังมีสี คือสีขาวมันยังมีสี
มันยังไม่ปราศจากสี ฉะนั้น ถ้าว่ามันมีขาวอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ควรจะเรียกว่า
ขาว แต่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็ต้องเรียกว่าขาวอยู่นั้นแหละ คือมันปราศจากสี
นี่ความต่างของคำว่า สุกกะ ขาว กัน โอทาตะ และปริโอทาตะ ก็ขาว 2 ขาวนี้มันต่างกันอย่างไร
ขอให้เข้าใจขาวในคำว่า ปริโอทาตะ ประโยทปนะ ทำให้มันเป็นประโอทาตะ
สจิตตประโยทปนะ ปริโอทาตะ ทำให้มันขาว ทำให้มันประโอทาตะ ก็คือทำให้มันไม่มีสี
นั่นแหละ แต่ก็ไม่เรียกว่าดำ หรือว่ามืด ไม่มีสี มันเป็นสีซึ่งไม่มีคำจะเรียก
ก็ต้องขอเรียกกันอย่างนี้ตามที่เขาเรียกกันมาแต่ก่อนว่า ปริโอทาตะ
ถ้าจะเรียกว่าเป็นภาษาไทย มันก็ขาวอย่างไม่มีสี นั่นแหละจะเข้าใจคำว่า
บาปไม่ทำ แล้วก็ ทำกุศล ทำความดีอย่างยิ่ง แล้วยังจะต้องทำอีกทีหนึ่งให้จิตขาวรอบ
ไม่ทำบาป คือ ไม่ทำกรรมที่เป็นบาป ทำกุศลให้ถึงพร้อมนั้นคือ ทำกรรมที่เป็นกุศลหรือที่ดี
มันเป็นการทำที่เป็นกรรมทั้ง 2 อย่าง แหละ ทำบาปหรือทำกุศลมันเป็นการกระทำที่เป็นกรรม
แต่พอมาถึงปริโอทาตะไม่มีสีนี้กลายเป็นทำจิตของตนให้ปริโอทาตะ ในภาษาไทยมันก็หลอกอย่างนี้
ภาษามันหลอกอย่างนนี้ มันก็ยุ่ง คนที่ไม่ศึกษากันจริงๆ ก็ไม่รู้ ก็งง
ก็ถือกันอย่างงงๆ ไปอย่างนั้นเอง
จะต้องเข้าใจให้ชัดลงไปว่า เมื่อไม่ทำบาปเสร็จแล้ว แล้วก็มาทำบุญหรือทำกุศลเต็มที่แล้ว
ยังจะต้องทำอะไรให้เหนือนั่นขึ้นไปอีกทีหนึ่ง คือ เหนือบาปเหนือบุญนั่นเอง
จนมิใช่บาป มีใช่บุญ จึงจะเรียกว่ามันเป็นขาวรอบ คือขาวจนไม่มีสี ก็เลยได้ความว่า
เหนือบาปก็มาถึงบุญ เหนือบุญก็มาถึงที่ว่านี้ซึ่งที่แท้ก็เรียกว่า
นิพพาน เหนือบาปเหนือบุญ ถ้าพูดเป็นภาษาวัตถุก็ต้องพูดว่า จากบาปก็มาถึงบุญหรือกุศลหนือดี
จากชั่วก็มาถึงดีเหนือดีขึ้นไปก็คือถึงว่าง ว่างจากชั่ว ว่างจากดี
นี่ขอให้เข้าใจไว้เถอะว่า เหนือดีขึ้นไปมันยังมีอีกทีหนึ่งคือ ว่าง
เมื่อถึงว่าจึงจะถึงที่สุดแห่งปัญญาคือ จะไม่มีความทุกข์เลย ถ้ายังเพียงหยุดอยู่แค่ดี
มันไม่จบ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าดีนั้นมันเป็นกรรม เป็นการกระทำ มันก็มีการปรุงแต่ง
คือ มันเป็นสังขาร สังขารการปรุงแต่ง มันก็ปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้ยุ่งให้วุ่นไปตามดี
ตามแบบที่เรียกว่าดี
บาปก็เป็นสังขาร คือปรุงแต่งให้ยุ่งไปตามแบบบาป หรือชั่ว บุญก็ปรุงแต่งไปตามแบบบุญ
ให้มันยุ่งไปตามแบบบุญหรือแบบดีจึงมีคนเป็นอันมาก บ้าดี เมาดี หลงดี
บ้าบุญ เมาบุญ หลงบุญ บ้าสุข เมาสุข หลงสุข มันจึงไม่ถูก มันจึงไม่พอ
มันต้องเหนือนั้นขึ้นไปอีก คือ ไม่บ้าในสิ่งที่มันได้ถึงที่สุด ตามที่ตัวต้องการแล้วเช่น
ว่าเมื่อได้ความสุข ละความทุกข์มาได้ความสุข แล้วก็อย่าบ้าความสุข
ฟังดูให้ดีๆ มันก็ไม่ยากเกินไปดอก เมื่อพ้นความยากจนมาสู่ความร่ำรวย
แล้วก็อย่าบ้าความร่ำรวย อย่าบ้าความร่ำรวย มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามันบ้าความร่ำรวยมันก็มีปัญหาขึ้นมาทันที
มันยุ่ง และมันวุ่นวาย เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที หรือว่าคนที่อยากสวย มันไม่สวย
มันปล้ำตกแต่งจนสวย ครั้นได้สวยมาแล้วก็อย่าบ้าสวยอย่าบ้าสวย สวยแล้วก็อย่าบ้าสวย
นี่คือว่า มันเป็นอันสุดท้ายนี้ มันเข้าใจยากสักหน่อย สร้างอำนาจได้อำนาจขึ้นมาแล้ว
ก็อย่าบ้าอำนาจ อย่าหลงอำนาจ อย่าเมาอำนาจ
สรุปความว่า อะไรที่ว่า ดี-ดี-ดี ทำให้ได้ ได้มาแล้วก็อย่าไปบ้า อย่าไปหลง
อย่าไปเมากับมัน นี่ใจความสำคัญของพุทธภาษิตที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนามีอย่างนี้
ใครได้รับประโยชน์อันนี้บ้าง ยังบ้าดี บ้ารวย บ้าสวย เมาบุญ บ้าบุญ
หลงบุญ บ้าดี เมาดี หลงดีกันอยู่ แล้วก็โง่ โง่จนสุดขีด จนเอาพระนิพพานลงมาเป็นเรื่องดี
พระนิพพานนั้นเหนือดี พ้นดี พ้นกุศล พ้นอะไรไปหมดแล้ว ก็ดึงมาเป็นเรื่องดี
นั้นก็บ้านิพพาน ในฐานะที่เป็นความดี ในความหมายที่เป็นความดี อย่างนี้มันก็ผิดหลักพระพุทธศาสนา
นี่ก็อยากจะขอเตือนกันไว้ในข้อนี้ ไหนๆ ก็พูดเรื่องนี้กันมาหลายสิบครั้งเต็มทีแล้ว
วันมาฆบูชานี้อยากจะให้จับใจความสำคัญของเรื่องนี้ให้ได้เสียสักที
ช่วยจำไว้อย่างนี้แหละว่า จากชั่วมาถึงดี จากดีก็ถึงว่าง คือ เหนือชั่วเหนือดีก็ได้
จากชั่วก็มาถึงดี เหนือดีขึ้นไปอีก ก็คือเหนือชั่วเหนือดี คือว่างๆ
ว่างนั้นแหละคือพระนิพพาน เรียกว่า สุญญะ สุญญะ แปลว่า ว่าง ออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า
สูญ แต่พวกบัณฑิตโง่ๆ ขอใช้คำหยากคาย ขออภัยใช้คำหยาบคายว่า บัณฑิตโง่ๆ
ทั้งหลายยังมีอยู่มาก แปล สุญญะว่าสูญเปล่า แปลเสียอย่างนั้น สูญเปล่าจนไม่มีอะไร
แล้วเป็นโทษ เป็นอันตรายไป เสียอีก เสียเปล่าๆ
ชั้นบัณฑิตชั้นนักปราชญ์ในประเทศไทยนั่นแหละ ไม่ต้องออกชื่อดอก ยังแปล
สุญญะ นี้ว่า สูญเปล่า ไม่แปลว่า ว่างๆ ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น
ว่างจาการปรุงแต่ง ว่างจากการว่ายเวียน ว่างก็แล้วกัน สุญญะอย่าแปลว่า
สูญเปล่า สูญเปล่า ถ้าอย่างนั้นพระนิพพานก็สูญเปล่าแหละ เพราะว่าว่างที่สุดคือ
พระนิพพาน นิพพานไม่ใช่สูญเปล่า แต่มันว่าง มันว่างจากวุ่น มันไม่มีความวุ่นแม้แต่สักนิดหนึ่ง
ถ้าเป็นเรื่องชั่วเรื่องบาป มันก็วุ่นไปตามแบบชั่ว วุ่นอย่างชั่ว ถ้ามันดี
มันก็วุ่นหรือปั่นป่วยไปตามแบบดี มันไม่หยุดมันไม่สงบ ฉะนั้น จึงต้องเป็นเรื่องไม่วุ่น
จึงจะเป็นเรื่องว่าง คนชั่วก็วุ่นไปตามแบบคนชั่ว คนดีก็วุ่นไปตามแบบคนดี
ถ้าคนว่าง เหนือชั่วเหนือดี จึงจะไม่วุ่นไปตามแบบไหนหมด
ขอให้เข้าใจกันไว้อย่างนี้ ว่ามันเป็นหลักสำคัญในข้อที่ว่า เมื่อขึ้นมาถึงสิ่งที่ตนปารถนาแล้ว
อย่าได้ไปบ้ากบสิ่งนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น อย่าไปหมายมั่นส่งนั้น
ให้เป็นของกู เป็นตัวกูขึ้นมา จำไว้เป็นหลักทั่วไป ที่กลางถนน กลางบ้าน
กลางเรือนก็ได้ ว่าได้ อะไรมาเป็นที่ถูกใจของตนแล้ว ก็อย่าบ้า อย่าหลงกับสิ่งนั้น
ได้เงินได้ของ ได้ควาย ได้ไร่ ได้นา ได้สวน ได้อะไรมาแล้ว ก็อย่าบ้ากับสิ่งนั้น
ไม่มีรถยนต์ไปซื้อรถยนต์มาได้ถูกใจ แล้วก็บ้ารถยนต์ นี้คนบ้า ไม่มีเงิน
ปลุกปล้ำจนได้เงินแล้วก็บ้าเงิน หลงเงิน นี่เป็นคนบ้า ไม่มีอำนาจ ทำจนมีอำนาจวาสนาขึ้นมา
แล้วก็บ้าอำนาจ วาสนา หลงอำนาจวาสนา มันคนบ้า
ฉะนั้น ขอให้สรุปเป็นใจความสั้นๆว่า ต้องการอะไร ปรารถนาอะไรในฐานะที่พอใจ
ต้องการที่สุดแล้วก็ได้มา ครั้นได้มาแล้ว ทีนี้เป็นอย่างไร ได้มารัก
ได้มาหวง ได้มายึดมั่นถือมั่น ได้มาวิตกกังวล นอนไม่หลับ นั้นแหละมันจะเลวยิ่งกว่าไม่ได้เสียอีด
ฉะนั้นต้องไม่หลง ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ต้องไม่มีปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับส่งที่ตนรัก
พอใจที่ปลุกปล้ำจนได้มา นี่ควรจะจำไว้เถิด จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์เสียเปล่าๆ
อยากได้อะไรมาเหมือนใจจะขาด ได้มาแล้วก็มารักมาหลง วุ่นวายไปหมด ข้อนี้ก็อยากจะขอให้ทุกคนย้อนระลึกถึงความหลังที่เคยได้มาแล้ว
อาตมาก็เคยบ้า บอกตัวเองว่าก็เคยบ้า ครั้งแรกที่สุดเมื่อยังแรกบวชเต็มที
อยากได้เครื่องพิมพ์ดีด พอไปได้เครื่องพิมพ์ดีดมา วันนั้นพิมพ์สว่างเลย
ดูซิ เพราะความที่มันบ้า นอนไม่หลับ พิมพ์กันสว่างเลย แล้วก็พิมพ์กันดึกๆอยู่หลายคืน
จนกว่าจะค่อยคลาย ทีนี้ไม่ต้องแล้ว นี่ตัวอย่างที่ว่า อะไรที่มันอยากได้แล้วมันก็ได้มา
แล้วก็อย่าไปหลงกับมัน ให้เป็นปกติให้ได้ แต่คงจะลำบากแหละที่ว่าได้ภรรยาใหม่ๆได้สามีใหม่ๆจะไม่ให้หลง
นี้มันคงจะลำบาก ก็ให้อภัยกันไปตามเรื่อง แต่ว่าอย่าหลงนั่นแหละดี
หัวใจพระพุทธศาสนามีอย่างนี้ เมื่อละชั่วไปแล้ว แล้วก็ทำดีแล้วก็ได้ดีมา
แล้วก็อย่าหลงดี หยุด ว่าง มีความดีโดยไม่ต้องหลงความดี เหมือนกับว้ามีเงินมากก็ไม่ต้องหลงเงิน
ไม่ต้องงกเงิน ไม่ต้องนอนไม่หลับเพราะเงิน ก็ใช้เงินไปได้ ได้ของอะไรมาก็ใช้สอยไปได้
โดยที่ไม่ต้องหลง ไม่ต้องหลงกับมัน เป็นใจความสั้นๆ นิดเดียวว่า ได้อะไรที่ถูกใจที่เรียกว่าดีที่สุดแล้วอย่าหลงเท่านั้นเอง
เท่านี้เอง หัวใจสำคัญของโอวาทปาติโมกข์ว่า ได้อะไรที่ดีที่สุดมาแล้วอย่าหลงกับมัน
จิตมันจึงจะขาวรอบ จิตมันจึงจะขาวรอบ เป็นปริโอทาตะ
จะไว้ว่าแม้ไม่ใช่เรื่องนิพพาน เรื่องที่อยู่ที่บ้านที่เรือน ได้ควายก็อย่าหลงควาย
ได้นาก็อย่าหลงนา ได้ข้าวเปลือกก็อย่าหลงข้าวเปลือก ได้เงินก็อย่าหลงเงิน
ได้เกียรติยศชื่อเสียงก็อย่าไปหลงเกียรติยศชื่อเสียง ได้อำนาจวาสนาก็อย่าหลงอำนาจวาสนา
จะดีไหม? ถ้าไปหลงสิ่งเหล่านี้เข้ามันจะเป็นอย่างไร ? ทีนี้แหละมันจะกอบโกย
มันจะขูดรีด มันจะฉ้อฉล มันจะเอามากขึ้น ไปอีก เพราะมันหลง
เลยสรุปความสั้นๆว่า ได้อะไรมาถูกใจแล้วอย่าไปหลงกับมันอย่าไปหลงกับมัน
มีทุกข์ละทุกข์แล้วได้สุข ได้สุขแล้วอย่าหลงกับมัน มีเท่านั้นแหละ
อย่าหลงกับมัน แล้วจิตจะขาวรอบ
***คัดลอกจากหนังสือธรรมะ "บุญยิ่งกว่าบุญ"
ของหลวงพ่อพุทธทาส ภิกขุ
***ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปค่ะ
จากคุณ : บุณยกร [ 1 เม.ย. 2546
]
|