ณ บัดนี้ อาตมาจะได้วิสัชชนา พระธรรมเทศนา เป็นบุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่วิสัชชนาแล้ว
ในตอนต้นแห่งราตรี ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องการบังเกิดขึ้นแห่งความทุกข์
เพราะอำนาจของอุปาทาน ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงความดับลงแห่งความทุกข์
ด้วยการดับลงแห่งอุปาทาน
เป็นที่กำหนดได้ง่ายมากว่า ความทุกข์ เกิดขึ้นเมื่อมีอุปาทานเกิดขึ้น
ความดับทุกข์ก็มีเมื่อความดับแห่งอุปาทานมีขึ้น นี่เป็นหลักง่ายๆ อย่างนี้
สิ่งที่ควรจะกำหนด ศึกษาให้แจ่มแจ้งก็คือ การเกิดขึ้นและการดับลงแห่งอุปาทานนั่นเอง
ความรู้สึกที่เป็นอุปาทาน เป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก เพราะว่าความรู้สึกนั้นมันเป็นตัวตนเสียเองแล้ว
ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องกำหนดตัวตน จึงต้องรู้จักทำจิต ให้ประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่จะรู้จักตัวตน
ซึ่งในที่นี้ก็ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ
ถ้ามีความรู้เรื่องสัมมาทิฎฐิ คือสติปัญญาถูกต้องอยู่อย่างเพียงพอแล้ว
สติเป็นผู้นำมาซึ่งปัญญานั้น มาทันเวลาแห่งการเกิดขึ้นของทุกข์และอุปาทาน
ก็จะได้กำหนดรู้จักความทุกข์และอุปาทานนั้นได้โดยง่าย เราจึงต้องศึกษากันในขั้นตอนเหล่านี้โดยละเอียด
อยากจะย้ำถึงเรื่องที่เป็นหลักทั่วไปในเบื้องต้นก่อน ซึ่งมีอยู่ว่า
อาศัยตากับรูปถึงกันเข้า ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา เกิดเป็น
3 อย่างขึ้นมา คือ ตาอย่างหนึ่ง รูปอย่างหนึ่ง และจักษุวิญญาณอย่างหนึ่ง
3 ประการนี้ ทำงานร่วมกันอยู่ ขณะนั้นเรียกว่า ผัสสะ ก็เป็นผัสสะของจักษุวิญญาณ
ที่รู้สึกทางตาต่อรูปที่มากระทบ 3 ประการนั้น ทำงานร่วมกันอยู่ เรียกว่า
ผัสสะ
สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นการกำหนดรู้สึกได้ด้วยใจ ในลักษณะที่เป็นสันทิฏฐิโก
ไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่เป็นความรู้สึกอย่างแท้จริงต่อสิ่งเหล่านั้น ตาเกิดขึ้นมาเมื่อตาทำหน้าที่เห็นรูป
รูปจะเกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันมาเป็นอารมณ์ของตา ครั้นรูปกับตาถึงกันเข้า
ก็เกิดการเห็นทางตา คือจักษุวิญญาณ ทั้ง 3 อย่างนี้ต้องปรากฏชัดเจนอยู่ในความรู้สึกของบุคคลผู้จะทำการศึกษา
ท่านทั้งหลายก็มีตาก็เห็นรูป แต่แล้วก็ไม่เคยกำหนดด้วยความรู้สึกชัดเจนลงป
ว่าอย่างไรเรียกว่าตา อย่างไรเรียกว่ารูป อย่างไรเรียกว่าจักษุวิญญาณ
ในที่นี้ก็ขอให้ทำความกำหนดกันเสียใหม่ ให้รู้ข้อที่ตาเกิดแล้ว รูปเกิดแล้ว
จักษุวิญญาณเกิดแล้ว
โดยหลักสั้นๆ ว่า เมื่อตาทำหน้าที่ของตาก็เรียกว่าตามันเกิด เมื่อรูปทำหน้าที่ของรูปคือเป็นอารมณ์ของตา
ก็เรียกว่ารูปมันเกิด ตากับรูปมันเกิดแล้ว มันถึงกันเข้า มันก็เกิดจักษุวิญญาณหรือการเห็นทางตา
เพียงเท่านี้ถ้าไม่ซักซ้อมกำหนดจดจำ ทำความเข้าใจดีๆ มันก็ยากที่จะรู้เป็นลำดับต่อไป
มันไม่ได้ตั้งต้นรู้ไปตั้งแต่เงื่อนต้นมันก็ลำบาก เรื่องนี้ก็ได้พูดไว้มากแล้ว
เขียนเป็นหนังสือไว้ก็มากแล้ว แต่ผู้ศึกษาจะเพียงแต่อ่านหนังสือหรือฟังคำพูดนั้นมันไม่พอ
มันต้องกำหนดเข้าไปที่ตัวจริงของมันคือ ตา รูป และจักษุวิญญาณ รู้จักสิ่งทั้ง
3 นี้ดีแล้วก็เรียกว่า เหมือนกับเราเรียน กอ ขอ กอ กา เป็นลำดับไป
กล่าวคือ เมื่อมีจักษุวิญญาณ กับตาและรูป 3 ประการรวมกัน ทำงานอยู่ก็เรียกว่า
ผัสสะ หรือจะเรียกเต็มๆ ก็ว่า สัมผัส แต่ในบาลีเกี่ยวกับเรื่องนี้เรียกสั้นๆ
ว่า ผัสสะ ท่านก็จะต้องรู้จักผัสสะ ในลักษณะที่เป็นสันทิฏฐิโกกันเสียก่อน
ว่าเรามีผัสสะอย่างไร ในสิ่งใด รู้จักผัสสะให้ชัดเจนลงไป ก็จะเห็นชัดว่าผัสสะนั้น
ได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นมาจากผัสสะ
ซึ่งมันก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่สังเกต เราก็ไม่รู้จักตัวเวทนา คือความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ในใจโดยแท้จริง
มันก็ต้องรู้จักแต่เวทนาในตัวหนังสือ หรือฟังเทศเท่านั้นเอง
เดี๋ยวนี้ต้องรู้สึกต่อสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง 3 อย่างนี้ล้วนแต่เรียกว่า เวทนาทั้งนั้น จงกำหนดให้ดีๆ
ให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า สุข เวทนา เกิดขึ้นแล้วจิตเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว
จิตเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนา เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร ตลอดให้รู้เลยไปถึงผลอันเกิดมาจากเวทนานั้นๆ
สุขเวทนา เป็นผลให้เกิดราคานุสัย คือเกิดความรู้สึกพอใจ และความเคยชินที่จะเกิดความพอใจ
อันนี้ก็เรียกว่า ราคานุสัย ความเคยชินที่จะให้เกิดราคะความพอใจ ถ้าเป็นทุกขเวทนานั้นก่อให้เกิดปฏิฆะคือความไม่พอใจ
และเกิดปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะเกิดความไม่พอใจ ให้เลวให้มากขึ้นไปกว่าแต่ก่อน
และถ้ามันเป็นอทุกขมสุขเวทนา คือเวทนาที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ มันเข้าใจไม่ได้
มันก็มีความสงสัย โง่เง่าอยู่กับสิ่งนั้น เวทนาชนิดนี้ก่อให้เกิด อวิชชานุสัย
คือความเคยชินที่จะโง่ จะไม่เข้าใจ จะสงสัยพะว้าพะวง
เวทนามี 3 อย่าง อย่างนี้ จงรู้จักตัวมันด้วยความรู้สึก และรู้จักผลที่จะเกิดขึ้น
คือมันเป็นเหตุให้เกิดผล ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย
และอวิชชานุสัย 3 อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องรู้สึกโดยสันทิฏฐิโก
ไม่ใช่อ่านหนังสือหรือฟังเสียงอย่างเดียว มีความเคยชินที่จะเกิดราคะอย่างไรก็รู้จัก
มีความเคยชินที่จะเกิดปฎิฆะหรือโทสะอย่างไรก็รู้จัก มีความเคยชินที่จะโง่ซ้ำๆ
ซากๆ อย่างไรก็รู้จัก
เอาเป็นว่าเราก็รู้จักเวทนา แล้วก็ดูต่อไปว่า เวทนานี้ให้เกิดตัณหา
คือความอยาก ด้วยอำนาจของอวิชชาและความโง่ ถ้ามันอยากหรือต้องการด้วยสติปัญญา
ไม่เรียกว่าตัณหา ต่อเมื่อมันอยากและต้องการด้วยอำนาจของความโง่ คืออวิชชา
จึงจะเรียกว่าตัณหา ถ้าสุขเวทนาเกิด มันรักมันพอใจ มันก็เกิดตัณหา
ที่อยากจะเอา ที่อยากจะได้ ที่เรียกว่า กามตัณหา หรือถ้าเวทนามันเป็นทุกขเวทนามันก็เกิด
วิภวตัณหา ความอยากที่จะไม่เอา ไม่เป็น ถ้าว่ามันเกิดเวทนาที่เป็นอทุกขมสุข
มันจะเกิดตัณหา ความอยากที่จะเอาจะเป็น จะไม่เอา จะไม่เป็น มันก็ได้ทั้งนั้น
แล้วแต่ว่ามันจะชวนให้คิดไปในทางไหน
รวมความว่าเวทนาย่อมทำให้เกิดความอยาก โดยสมควรแก่เวทนานั้นๆ อยากได้ก็มี
อยากเอาก็มี อยากเป็นก็มี อยากไม่ให้เอา ไม่ให้เป็นก็มีนี้เราจะต้องสังเกตศึกษาให้ดีๆ
ว่า ตัณหาได้เกิดขึ้นในลักษณะอย่างไรดังนี้ รวมสั้นๆ ก็เรียกว่าเกิดความอยาก
แต่เป็นความอยากชนิดที่มีอวิชชาความไม่รู้นี่เป็นมูลฐานอยู่
ความอยาก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เป็นเจตสิกธรรมอันหนึ่ง ครอบงำจิตอยู่
มันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกในอันดับต่อไป คือรู้สึกว่ามีตัวเรา ตัวกุ
ผู้อยาก นี่เรียกว่า อุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ก็คือให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกุผู้อยาก
หรืออยากได้มาเป็นของกุ
อันนี้มีข้อสังเกตง่ายๆ อยู่ว่า มันน่าหัวที่ว่า ไอ้ความอยากมันเกิดก่อนตัวผู้อยาก
เพราะมันเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเป็นเรื่องรูปธรรมตามธรรมดา
มันต้องเกิดตัวผู้อยากเสียก่อน แล้วมันจึงจะเกิดความอยากขึ้นมาได้
เดี๋ยวนี้มันเรื่องของรูปธรรม เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องเล่นตลก
มันเกิดความอยาก แล้วมันจึงค่อยปรุงให้เกิดเป็นความรู้สึกว่าผู้อยากคืออุปาทานซึ่งเป็นผู้อยาก
เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน
ครั้นเกิดอุปาทานแล้ว มันก็คือการจับฉวยเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไว้
ในลักษณะเป็นตัวกุบ้าง เป็นของกุบ้าง ยึดขันธ์ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งว่าเป็นตัวกุ
ยึดขันธ์ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งว่าเป็นของกุ มันก็เลยมีการยึดถือ เมื่อมีความยึดถือในความรู้สึกว่าเป็นตัวกุของกุ
ก็เรียกว่ามันเกิดภพขึ้นมาแล้ว ภพคือความมีความเป็น จะเป็นกามภพ รูปภพ
อรูปภพ มันก็แล้วแต่ตัณหาที่ทำให้เกิดอุปาทานนั้น กามตัณหาก็ให้เกิดอุปาทานชนิดที่สร้างกามภพ
ถ้าเป็นรูปตัณหา มันก็เกิดอุปาทานชนิดที่จะสร้างรูปภพ ถ้ามันเป็นวิภวตัณหา
มันก็ให้เกิดอุปาทานชนิดที่จะสร้างขึ้นมาซึ่งอรูปภพ เป็นต้น
คำว่าภพนี้ก็คือ ความมีอยู่ ความเป็นอยู่ แห่งสิ่งที่มันจะเป็นอยู่
ในที่นี้ก็คือความรู้สึกว่าตัวกุ หรือเรียกว่าตัวกุมันย่อมมีอยู่ ย่อมเป็นอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์
ต่อมามันก็มีชาติ คือการแสดงบทบาทแห่งตัวกุ ปรากฏชัดแจ้งออกมา แล้วแต่ว่ามันจะไปยึดถืออะไร
มันก็ไปแสดงบทบาทที่นั่น เหมือนกับว่ามันมีการตั้งครรภ์ แล้วมันก็มีการเจริญอยู่ในครรภ์
แล้วครรภ์มันก็แก่ ครั้นครรภ์มันแก่แล้วมันก็คลอด
ลักษณะแห่งตัณหาเหมือนกับการตั้งครรภ์ ลักษณะแห่งอุปาทานก็คือครรภ์มันเจริญ
จนครรภ์แก่มันก็เป็นภพ แล้วมันก็คลอดออกมาเป็นชาติ
ทีนี้เราจะต้องศึกษา อิทัปปัจจยตา ในส่วนนี้ ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นต้นทุน เป็นเดิมพัน สำหรับจะศึกษาเรื่องอันเกี่ยวกับความทุกข์
เกิดขึ้นมาอย่างไร เมื่อเกิดเป็นตัวกุของกุโดยสมบูรณ์แล้ว มันก็ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด
ว่าเป็นตัวกุ ว่าเป็นของกุ
บางทีก็ยึดถือรูปขันธ์แท้ๆ ยึดถืออย่างโง่เขลาว่ารูปขันธ์เป็นตัวกุก็มี
เพราะว่าในบางคราวมันไม่ได้นึกถึงเรื่องจิตใจ นึกถึงแต่เรื่องวัตถุ
มันก็เอาร่างกายเป็นตัวตน แต่ส่วนใหญ่ที่สุดมันมักจะยึดถือเอาวิญญาณ
จะรู้แจ้งนี่นั่นได้ว่าเป็นตัวตน ยึดถือเวทนา สัญญา สังขาร เป็นต้น
ว่าเป็นของตน นี่ในชีวิตประจำวันมันก็มีอยู่อย่างนี้
เราจะรู้จักเรื่องนี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งอย่างเป็นพื้นฐาน จึงมาศึกษาให้ชัดเจนทีเดียวว่า
ความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร ในขณะไหน ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
หรือความทุกข์เกิดมาจากตัณหานั้น ท่านกล่าวระบุไปยังตัณหา แต่โดยเนื้อแท้แล้วตัณหาก็ให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานทำให้เกิดภพเกิดชาติ และเกิดทุกข์ ซึ่งพระองค์ก็ได้ตรัสไว้ในบทสุดท้ายว่า
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานะขันธาทุกขา เมื่อกล่าวโดยสังเขปแล้ว ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นคืออุปาทานนั้นแหละเป็นตัวทุกข์
บางทีก็ตรัสไว้ในรูปของปฏิจจสมุปบาท ที่ยาวยืดถึง 11 อาการ ตั้งต้นด้วยอวิชชาแล้วไปจบลงด้วยความทุกข์
ถ้ามองกันอย่างนี้ มันก็จะรู้สึกว่า อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่มันก็ต้องผ่านมาทางตัณหา
แล้วก็ผ่านต่อไปทางอุปาทาน จึงจะเกิดความทุกข์ เราจะต้องดูเห็นชัดเจนเข้าใจแจ่มแจ้ง
ทั้งที่เมื่อกล่าวอย่างสั้นๆ ที่สุด ว่าอุปาทานขันธ์นั้นเป็นทุกข์
หรือจะกล่าวอย่างธรรมดาสามัญ เป็นกลางๆ ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
หรือจะกล่าวอย่างพิสดารว่า อวิชชาเป็นรากเหง้า เป็นต้นตอ เป็นจุดตั้งต้นแห่งความทุกข์
ขอให้สังเกตศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งกันจริงๆ
แล้วสิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดกันอยู่ว่า เข้าใจยาก เข้าใจลำบากนั้น มันก็จะหายไป
คือมันจะเป็นสิ่งที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้โดยไม่ยากลำบาก ยากลำบากนั้นมันเกิดมาจากความไม่เอาจริงของท่านทั้งหลายนั้นเอง
ถ้าท่านทั้งหลายเป็นคนไม่เอาจริง ไม่ศึกษาจริง ไม่สังเกตจริง มันก็ไม่แจ่มแจ้ง
แล้วมันก็มืดมน แล้วมันก็รู้สึกว่าลำบาก
เดี๋ยวนี้ได้กล่าวมาแล้ว การแสดงในตอนต้นแห่งราตรีว่า อุปาทานนั่นแหละเป็นตัวการที่จะให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา
อุปาทานเกิดขึ้นในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นทุกข์ อุปาทานเกิดขึ้นในทรัพย์สมบัติ
สิ่งของ บุตร ภรรยา สามี ในอะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะกลายเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
หรือมีอาการแห่งความทุกข์ปรากฏอยู่ในใจ เพราะเหตุที่ยึดถือสิ่งนั้นๆ
เดี๋ยวนี้เราก็มาเห็นชัดแล้วว่า อุปาทานเกิดขึ้นอย่างไร ในกรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างคือ
เรื่องของตา เรื่องของหู เรื่องของจมูก เรื่องของลิ้น เรื่องของผิวหนัง
มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกันดังกล่าว
เรื่องตาเป็นตัวอย่าง แล้วก็ไปเทียบเคียงเอาเอง ว่าตากระทบกับรูปแล้วก็ไปเกิดความเห็นทางตา
หูกับเสียงกระทบกันแล้วก็ให้เกิดการได้ยินทางหู หรือวิญญาณทางหู จมูกกับกลิ่นกระทบกันแล้ว
ก็เกิดความรู้สึกทางจมูก หรือวิญญาณทางจมูก ทางลิ้นก็เหมือนกัน
ทางผิวหนังมีอะไรมากระทบผิวหนัง มันก็เกิดความรู้สึกทางผิวหนัง ทางผิวกาย
ที่เรียกว่ากายวิญญาณ สำหรับมโน อันสุดท้าย เมื่อมีอะไรมากระทบมโน
เป็นธรรมารมณ์ เช่น ความรู้สึกกลัว รู้สึกในความเกิด ในความแก่ ในความตาย
เป็นต้น หากความรู้สึกอันนั้นมากระทบจิต มันก็เกิดมโนวิญญาณ รู้สึกต่อธรรมารมณ์เหล่านั้น
เกิดเป็น 3 ประการขึ้นมา ทำงานร่วมกันอยู่ก็เรียกว่า ผัสสะ
ผัสสะให้เกิดเวทนา ให้เกิดตัณหา ให้เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ โดยนัยเดียวกัน
ถ้าจะพิจารณาในลักษณะที่เป็นวิปัสสนา ก็พิจารณาโดยนัยยะอันนี้ เมื่อได้ทำจิตให้เป็นสมาธิพอสมควรแล้ว
ก็พิจารณาโดยนัยยะอันนี้ คือพิจารณาเรื่องอิทัปปัจจยตา ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอๆ
ในเวลาไม่นานนัก คือไม่นานเกินไป ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอิทัปปัจจยตา
คือลำดับขั้นตอนแห่งการเกิดขึ้นมา แห่งการปรุงแต่ง จนกระทั่งเกิดความทุกข์
ถ้าว่าจิตใจมันไม่มีความเป็นสมาธิบ้างแล้ว มันก็ยากที่จะมองเห็น จิตใจยิ่งเป็นสมาธิเท่าไหร่
ก็จะยิ่งมองเห็นง่ายมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้นในขั้นต้นท่านจึงมีการฝึกจิตใจ
ไปในทางให้เกิดความเป็นสมาธิ ซึ่งรวมทั้งสติอยู่ด้วย ครั้นฝึกในเรื่องของสมาธิได้พอสมควรแล้ว
ก็ฝึกต่อไปในเรื่องของปัญญา กำหนดอิทัปปัจจยตาโดยนัยดังที่กล่าวมานั้น
เป็นการกำหนดโดยละเอียดที่สุดที่จะรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร
นี่เรียกว่าเป็นการเจริญภาวนาในส่วนปัญญา หรือส่วนวิปัสสนา การทำจิตให้เป็นสมาธินั้น
เป็นการเจริญจิตใจในส่วนของสมถะ ท่านเรียกรวมๆ กันว่า สมถะวิปัสสนา
เอา 2 อย่างมาบวกกันเรียกว่า สมถะและวิปัสสนา สิ่งที่เรียกว่าสมถะและวิปัสสนานี้
ในบางทีก็จะเรียกว่าเป็นมรรค
โดยทั่วไปมรรคคือหนทางให้ถึงความดับทุกข์นั้น แสดงไว้ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา
8 ประการ หรือแสดงไว้ด้วยมรรคมีองค์ 8 แต่ก็มีในที่อื่นในหลายๆ สูตรเหมือนกัน
เมื่อกล่าวถึงมรรคแล้ว ท่านก็แสดงด้วยคำสั้นๆ ว่า สมถะและวิปัสสนานั้นคือมรรค
หมายความว่า เมื่อเจริญสมถะและวิปัสสนาอยู่ มันก็จะมีอาการแห่งมรรค
เพราะว่าเมื่อเจริญสมถะคือสมาธิอยู่ มันก็มีความสงบระงับทางกาย ทางวาจา
ทางอาชีวะ มีความเพียรเป็นสัมมาวายามะ มีสติเป็นสัมมาสติ มันก็ครบทุกองค์เหมือนกัน
มีความเป็นสมาธิ และก็มีสัมมาทิฏฐินำหน้าอยู่ คือความรู้ที่ทำให้เรารู้ว่า
เราจะเจริญสมาธิอย่างไร นี่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างหนึ่งแล้ว ความรู้ที่เพียงพอที่ทำให้รู้ว่าเจริญสมาธิอย่างไร
มันก็เป็นสัมมาทิฏฐิเพียงพออยู่แล้ว ในเมื่อเจริญสมาธิยิ่งๆ ขึ้นไป
สัมมาทิฏฐิใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเพิ่มเติม
ดังนั้น ในการบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนานั้น มันจึงมีปัญญาอยู่ มีสมาธิอยู่
และมีศีลอยู่อย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน อย่างสมบูรณ์ เพราะเมื่อตั้งจิตเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น
การตั้งใจ การสำรวมเพื่อจะทำนั้น มันเป็นตัวศีล ดังนั้นพระองค์จึงไม่ได้เอ่ยถึงคำว่าศีล
เอ่ยถึงแต่คำว่าสมถะและวิปัสสนาก็พอ เมื่อเจริญสมถะและวิปัสสนาอยู่
มันก็มีครบถ้วนทั้งศีล ทั้งสมาธิ และปัญญา โดยเหตุนี้คำว่า สมถะวิปัสสนา
จึงมีลักษณะเป็นมรรค มีเนื้อแท้แห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 พร้อมอยู่ในนั้น
นี้ก็ควรจะเข้าใจไว้ด้วย
เดี๋ยวบางคนจะเกิดสงสัยขึ้นมาว่า มาสอนให้เจริญสมาธิปัญญา แล้วจะมีมรรคสำหรับดับทุกข์
เป็นทางถึงความดับทุกข์ได้อย่างไรกัน ความสงสัยมันอาจจะเกิดขึ้นมาได้โดยทำนองนี้
เดี๋ยวนี้ก็ขอให้รู้เข้าใจเสียชัดว่า จะเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 มันก็คือเจริญสมถะและวิปัสสนาอยู่นั่นเอง
เดี๋ยวนี้ก็รู้ว่า ดำเนินอยู่ตามมรรค ประพฤติตน คือดำรงจิตให้อยู่ในมรรค
เมื่อดำรงจิตอยู่ในมรรค มันก็ไม่ให้โอกาสแก่อวิชชามีอะไรมากระทบ มีอายตนะภายนอกมากระทบอายตนะภายใน
เช่น รูปมากระทบตา เป็นต้น
ถ้าจิตมันประกอบอยู่ด้วยสมถะและวิปัสสนา มันก็ไม่เกิดอวิชชา ดังนั้นมันจึงเกิดผัสสะชนิดที่ไม่ประกอบไปด้วยอวิชชา
มันจะประกอบไปด้วยผัสสะที่เต็มไปด้วยวิชชา ก็อำนาจของความรู้อันเกิดมาจากสมถะและวิปัสสนา
ผัสสะนั้นมันก็เลยเป็นผัสสะฉลาด ไม่ใช่ผัสสะโง่มันเป็นการสัมผัสด้วยวิชชา
ถ้าเกิดเวทนาขึ้นมา มันก็ประกอบอยู่ด้วยความรู้ มันไม่เป็นเวทนาหลอนหลอก
มันก็ไม่อาจจะเกิดตัณหา คือความอยากด้วยอำนาจของความโง่
เพราะเดี๋ยวนี้อวิชชามันไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเสียแล้ว มันไม่อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องเสียแล้ว
เกิดเวทนาแล้วให้เกิดความต้องการในเวทนานั้น มันก็เกิดได้แต่ในทางที่เป็นวิชชา
หรือมันไม่อาจจะเกิดความต้องการใดๆ เลยก็ได้ เพราะมันมีวิชชาเข้ามากำกับอยู่
ว่าเวทนานี้ก็สักว่าเวทนา เป็นเช่นนั้นเอง เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา
ก็ไม่เกิดความอยากเกี่ยวเวทนานั้น เรื่องมันก็จบ มันไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดตัณหามันก็ไม่เกิดอุปาทาน
มันก็ไม่อาจจะเกิดทุกข์ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มันก็ไปหยุดเสียเพียงแค่เวทนาบ้าง
ตัณหาบ้าง มันก็ไม่เกิดทุกข์
นี้คือสิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ แล้วก็เข้าใจ แล้วก็เห็นแจ้ง ด้วยความรู้สึกอย่างที่เป็นสันทิฏฐิโก
ในเรื่องสันทิฏฐิโกนี้สำคัญมาก ถ้ามันไม่มีความเป็นสันทิฏฐิโกแล้ว
มันไม่อาจจะรู้อะไรได้ตามที่เป็นจริง จำไว้เถิดว่าถ้ามันไม่มีลักษณะเป็นสันทิฏฐิโกแล้ว
มันก็ไม่เป็น สาวากขาโต ภควตา ธัมโม คือมันไม่เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างดีแล้ว
ต่อเมื่อมันเป็นสันทิฏฐิโก จึงจะเห็นความที่เป็นธรรมะ ที่ตรัสไว้อย่างดีแล้ว
หรือความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม คือเป็นธรรมที่ตรัสไว้อย่างดีแล้ว
จึงมีหลักทั่วไปว่าทุกอย่างต้องเป็นสันทิฏฐิโก แม้ที่สุดในเรื่องตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส ก็ต้องเป็นสันทิฏฐิโก
คือรู้จักตัวจริงของมัน ไม่ใช่ให้มันผ่านไป โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งเหล่านั้น
ทีนี้เราก็มาไล่ลำดับกันอีกทีหนึ่งว่า อายตนะภายนอก เช่น รูป เป็นต้น
เข้ามากระทบกับอายตนะภายใน มีตา เป็นต้น รูปกับตา หรือตากับรูป เนื่องกันแล้ว
เกิดจักษุวิญญาณ คือความรู้แจ้งทางตา จะเรียกเป็นภาษาบาลี ภาษาธรรมะ
ก็จะกล่าวว่า อายตนะภายนอก อายตนะภายในกระทบกันแล้ว ก็เกิดวิญญาณ มีชื่อต่างๆ
กัน แล้วแต่ว่ามันเป็นอายตนะไหน
เราจะพูดให้สั้นกว่านั้นก็พูดได้ว่า อายตนะอาศัยกันแล้วก็เกิดวิญญาณ
เมื่อวิญญาณและอายตนะ 2 ฝ่ายนั้นทำงานสัมพันธ์กันอยู่ในเวลานั้น อันนั้นเรียกว่า
ผัสสะ ครั้นมีผัสสะแล้วก็ให้เกิดเวทนา มีเวทนาแล้วให้เกิดตัณหา ตัณหามีแล้วให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานมีแล้วให้เกิดภพ ภพมีแล้วให้เกิดชาติ เป็นตัวกุโดยสมบูรณ์นั้น
ที่จะไปจับฉวยเอาอะไรเข้าแล้ว สำหรับจะเป็นทุกข์
จับฉวยความเกิดเป็นของกุ ความเกิดก็เป็นทุกข์ จับฉวยความแก่เป็นของกุ
ความแก่ก็เป็นทุกข์ จับฉวยเอาความตายเป็นของกุ ความตายก็เป็นทุกข์
จับฉวยอะไรก็ตาม โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส หรือวิปโยค สัมปโยค
หรือยัมปิจฉัง ต้องการสิ่งใดแล้ว มันก็ล้วนแต่เป็นทุกข์ไปทั้งนั้น
ท่านต้องมีความรู้สึกเข้าใจแจ่มแจ้งคล่องแคล่วว่า อายตนะทำหน้าที่แล้วเกิดวิญญาณ
เมื่อทำหน้าที่นั้นอยู่เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา
ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ ยึดถือเอาชาติเป็นตัวตน
เป็นของตน มันก็เกิดทุกข์ มีชื่อเรียกหลายๆ อย่าง หลายประการ
สรุปความสั้นๆ ว่า ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วโดยอาการอย่างนี้ แล้วก็จะระบุลงไปที่ตัวอุปาทานนั่นแหละว่ามันเป็นตัวทุกข์
หรือความทุกข์ที่พอจะเรียกได้ว่าความทุกข์ มันได้เกิดขึ้นมาแล้วในขณะแห่งอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตน แล้วเป็นตัวทุกข์นานาประการ ซึ่งกล่าวโดยละเอียดในธรรมเทศนาในตอนต้นแห่งราตรีอันนี้
ทีนี้ก็จะดูกันในฝ่ายตรงกันข้าม คือฝ่ายที่จะดับทุกข์ คือไม่เกิดอุปาทาน
ก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดตัณหาเพราะว่าวิชชาหรือปัญญา มันเข้ามายึดครองอยู่
ในขณะแห่งเวทนา หรือในขณะแห่งผัสสะ เรารู้เรื่องผัสสะแล้ว ทำให้มีปัญญาควบคุมผัสสะ
โดยอาศัยอำนาจของสติ
คนเราก็มีความรู้ที่เรียกว่าปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ มากหรือน้อยตามที่เราได้ฝึกฝนอยู่
ฝึกฝนปัญญาเอาไว้ได้มากเท่าไหร่ ก็เป็นการดีเท่านั้น เพราะว่าพอมีเหตุอะไรเกิดขึ้น
สติมันก็จะได้พาเอาปัญญามาจัดการในเหตุการณ์นั้นๆ ถ้าไม่มีสติก็ไม่มีปัญญามาจัดการในเหตุการณ์นั้นๆ
มันก็เป็นทุกข์ มันจะเป็นไปในทางของความทุกข์ ตามลำดัลแห่งความทุกข์
แต่ถ้ามีวิชชา มีปัญญามาทัน ด้วยสติพามาอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ
ในผัสสะนั้นก็จะถูกควบคุมด้วยวิชชา ด้วยปัญญา เป็นเวทนาออกมา ก็เป็นเวทนาที่ถูกควบคุมอยู่ด้วยปัญญาและวิชชา
มันไม่ให้เกิดตัณหา เพราะมันถูกควบคุมอยู่ด้วยปัญญาหรือวิชชา ตัณหามันก็ไม่เกิด
กระแสแห่งความทุกข์ก็สิ้นสุดลงที่ตรงนั้นเอง นี่ที่เราทำให้เกิดขึ้นแห่งความทุกข์
หรือจะเรียกความดับแห่งความทุกข์ก็ได้ แต่ถ้าว่าไม่เกิดในที่นี้ หมายความว่ามันไม่ปรากฏมันไม่มีขึ้นมา
ก็มีค่าเท่ากันกับว่ามันดับ
หรือจะให้ขยับต่อมา ถึงว่าเดี๋ยวนี้มีเวทนาโง่ มีตัณหาเกิดขึ้นแล้ว
ก็ให้มีสตินำเอาปัญญามาอีกทีหนึ่ง เพื่อจะระงับเสียซึ่งตัณหานั้น อย่างนี้มันก็ยังไม่ทันจะมีความทุกข์มากมายอะไร
แต่ถ้าว่าตัณหานั้นมันมีโอกาสปรุงแต่งอุปาทานเสียแล้ว มันก็ต้องมีความทุกข์เสียแล้ว
แม้ว่าสติจะเอาปัญญามาในขณะแห่งอุปาทานนั้น มันก็พอจะหยุดกระแสแห่งความทุกข์เสียได้
แต่ว่ามันเป็นความทุกข์แล้ว มันเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วจึงค่อยหยุด
ทางที่ดีมันก็ควรจะหยุดเสียได้ หยุดกระแสเสียได้ ก่อนที่มันจะเกิดความทุกข์
คือก่อนที่มันจะเกิดอุปาทาน
มีหลักสำคัญที่ตรัสไว้ว่า สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแส สติเป็นเครื่องกั้นกระแสอะไร
ก็กระแสอิทัปปัจจยตาอย่างที่ว่ามานี้แหละ อย่าให้กระแสมันแล่นไปจนถึงตัณหาอุปาทาน
ให้มันหยุดชะงักเสียตั้งแต่ในขณะแห่งผัสสะ หรือเวทนา อย่าให้มันแล่นเลยไปถึงตัณหาหรืออุปาทาน
ด้วยอำนาจของสติที่ขนเอาปัญญามาทันเวลา ในความเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ
มาควบคุมผัสสะก็ได้ มาควบคุมเวทนาก็ได้ มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่มีตัณหาเกิดขึ้นในกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา
ด้วยอำนาจการควบคุมของสติ
นี่มันมีหลักเกณฑ์อยู่อย่างนี้ มีความจริงอยู่อย่างนี้ ท่านจะฝึกอย่างไร
ฝึกอะไร ฝึกตอนไหน ก็ไปรู้เอาเอง แล้วแต่ปัญหาของท่านจะมีอยู่อย่างไร
โดยเมื่อกล่าวโดยหลักทั่วไป เราก็ฝึกสติที่เรียกว่า อานาปานสติ เป็นต้น
เป็นชุดแรก ฝึกอานาปานสติเป็นชุดแรก เพื่อเกิดสติ ให้มีสติ ให้เกิดความคล่องแคล่วในการที่จะมีสติ
จะใช้สติ เมื่อฝึกอานาปานสติ มันก็ย่อมมีสติ แต่มันไม่ใช่มีแต่สติอย่างเดียว
มันมีสมาธิด้วย และมีปัญญาด้วย
โดยหลักของอานาปานสตินั้น บทแรกก็ฝึกที่ลมหายใจ ให้มีการฝึกสติเกี่ยวกับลมหายใจ
มีความรู้ที่เป็นปัญญา เมื่อเกิดขึ้นก็รู้จักลักษณะแห่งจิตใจ และลักษณะแห่งลมหายใจ
เห็นความที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกาย เป็นต้น นี้มันก็มีปัญญาบ้างแล้ว
แต่มันมีการฝึกสติอย่างยิ่ง มีสมาธิอย่างยิ่ง และมีปัญญาบ้างแล้ว ต่อมาก็ฝึกในหมวดเวทนา
มันก็มีสติที่ละเอียดประณีตยิ่งๆ ขึ้นไปอีก มีปัญญาที่ละเอียดยิ่งๆ
ขึ้นไปอีก ความเป็นสมาธิ มันก็อยู่ในชั้นที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก
พอไปถึงหมวดฝึกจิตโดยตรง มันก็มีสติ สมาธิ ปัญญา ที่ว่องไว ฉับไวยิ่งขึ้นไปอีก
ครั้นไปฝึกหมวดสุดท้าย หมวดธรรม มันก็มีปัญญาโดยสมบูรณ์
การฝึกอานาปานสตินั้น เป็นการทำให้เรามีสติสมบูรณ์ มีสมาธิสมบูรณ์
มีปัญญาสมบูรณ์ ทีนี้ก็พร้อมแล้วที่จะต่อสู้ มีเหตุอะไรเกิดขึ้นทางอายตนะ
มันก็มีพร้อมแล้ว สติมันจะขนเอาปัญญามาอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ
มาควบคุมผัสสะ มาควบคุมเวทนา ไม่ให้เกิดตัณหาอุปาทาน หรือถ้ามันเผลอไปในส่วนนั้น
มันมีตัณหาแล้ว ก็เอามาจัดการกับตัณหา ทำลายล้างตัณหาให้หมดไปเสียในขณะนั้น
แล้วไม่เกิดอุปาทาน มันก็ยังไม่มีความทุกข์ แต่ถ้ามันเผลอจนถึงไปเป็นขั้นอุปาทานเสียแล้ว
มันก็ต้องได้รับทุกข์บ้าง ตลอดเวลาที่สติหรือปัญญายังไม่มา
ครั้นสติพาปัญญามาทันเวลา ที่มีความทุกข์บ้างแล้วในระยะแห่งอุปาทาน
มันก็มาระงับเสียซึ่งสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความรู้สึกว่าเป็นตัวตน
แล้วมันก็หยุดลงที่ตรงนั้น ไม่ยืดยาวต่อไปจนเป็นความทุกข์ที่ใหญ่โตกว่านั้น
นี่เรียกว่ามันจะหยุดความทุกข์ หยุดกระแสแห่งความทุกข์ ได้อย่างไร
เมื่อไร ในระยะไหน มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ก็ดูให้ดี ว่าเราจะดับทุกข์ เพราะดับเสียซึ่งอุปาทาน จะดับทุกข์
เพราะดับเสียซึ่งอุปาทาน เพราะตัวอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ อย่าให้เกิดอุปาทานก็ไม่เกิดทุกข์
มันก็ควรจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน นั้นแหละให้เป็นอย่างยิ่ง
ทีนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่มีตัวตน
ไม่มีตัวเป็นก้อน เป็นดุ้น มันเป็นเรื่องของจิตใจ ละเอียดประณีตสุขุมยิ่งนัก
จะไปดูกันอย่างไร จะจับตัวได้ที่ไหน เรื่องของจิตมันก็เป็นเรื่องต้องกระทำโดยวิธีของจิต
คือกำหนดรู้ พิจารณาเห็น แล้วก็แจ่มแจ้งด้วยความรู้สึก จะศึกษาทางวิชาปริยัติ
มันก็เป็นหนทางที่จะทำให้รู้จักการปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติแล้ว มันก็จะเกิดความรู้สึกอยู่ในจิตใจที่มีการปฏิบัติ
มันเป็นการรู้สึก ที่ว่าความรู้สึกหรือความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ชนิดที่เป็นสันทิฏฐิโก
ทีนี้ก็มาพูดกันถึงเรื่องกิเลสเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อุปาทาน
เป็นนามธรรม มันก็มีความรวดเร็วมาก ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท คืออิทัปปัจจยตานี้
มันมีกระแสที่ปรุงแต่งรวดเร็วมาก เราจะดูกันอย่างไรจึงจะมองเห็น เราก็สังเกตดูเมื่อในเวลาที่มีความอยาก
อย่างนี้มันดูง่าย มันเป็นระยะยาวและมันชัดเจน จงกำหนดดูทีความอยาก
อยากอะไรก็ตามใจ อยากกามารมณ์ หรืออยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นไม่ให้เป็นอย่างนี้
นี่ก็เรียกว่าความอยากก็แล้วกัน
ที่เห็นง่ายๆ ก็อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากได้อารมณ์ที่เป็นที่รักที่พอใจ
ก็เกิดความอยากขึ้นมา ก็ให้รู้สึกด้วยใจจริงว่า เอ้า! ความอยากได้เกิดแล้ว
ความอยากได้ตั้งต้นแล้ว ทีนี้มันเกิดความอยากแล้ว มันก็ดำเนินไปตามวิถีทาง
ของความอยาก จนกว่ามันจะได้รับสิ่งที่มันต้องการ แล้วมันจะหยุดอยาก
มันก็เกิดเป็นจุด 2 จุดที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายว่า ความอยากเกิดแล้ว
แล้วความอยากดับลงเพราะได้สิ่งที่มันอยาก อย่างนี้มันก็เป็นระยะยาวมาก
ไม่ใช่สายฟ้าแลบแล้ว มันจะเป็นระยะ 1 นาที 2 นาที ชั่วโมงหนึ่งก็ได้
เช่น อยากในกามารมณ์ ก็ไปแสวงหาจนกว่าจะได้มา มันอาจจะกินเวลาตั้งชั่วโมงหนึ่งก็ได้
ตลอดเวลานั้นมันเป็นอยู่ด้วยความอยาก เราจงรู้จักความอยาก จงดูความอยาก
เมื่อมันแสดงตัวออกมา เหมือนว่า เราจะดูสัตว์ที่มันอยู่ในรู อยู่ในรัง
อยู่ในโพรง อยู่ในที่กำบัง เราต้องดูเมื่อมันออกมาจากโพรง จากรัง หรือจากรู
จะดูเปรี้ยว ดูปู ดูอะไรก็เห็นได้ต่อเมื่อมันออกมาจากรู เดี๋ยวนี้ตัวตัณหาหรือตัวอุปาทานมันออกมาจากรู
ปรากฏชัดเจนอยู่ ในระยะเวลาที่มีความอยาก อยากอยู่ อยากอยู่ อยากอยู่
จนกว่าจะได้สิ่งที่เรียกว่าต้องการ แล้วมันก็ดับไป เมื่อมันได้สมอยาก
หรือแม้ไม่ได้สมอยาก ถ้าเหตุปัจจัยเข้ามาแทรกแซง เกิดความเปลี่ยนแปลง
ความอยากมันก็ดับไปด้เหมือนกัน ทั้งที่ไม่ได้สมอยาก
นี่มันมีโอกาสมากอยู่ ถ้าเราไม่เหลวไหลเกินไป เราควรจะสังเกตเห็นความอยาก
ความดับลงแห่งความอยาก ได้โดยไม่ยากเลย แล้วความอยากเกิดขึ้นมาอย่างไร
แล้วมันดำเนินไปอย่างไร แล้วมันดับไปอย่างไร คือดับไปเพราะได้สมอยาก
หรือว่าดับไปเพราะเหตุปัจจัยอันใดอันหนึ่งมันแทรกแซงเข้ามา เช่น สติมันแทรกแซงเข้ามา
ปัญญามันแทรกแซงเข้ามา ความอยากนั้นมันก็ดับไป ทำไมไม่สนใจดู เมื่อสัตว์ตัวนี้มันออกมาจากโพรงจากรู
มาแสดงตัวปรากฏอยู่อย่างนี้ ทำไมไม่ดู ทำไมไม่ศึกษาให้มันรู้จัก สิ่งที่เรียกว่าตัณหาหรืออุปาทาน
ที่มันเป็นไปในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น แต่ละขั้นตอนมันรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ
แต่เดี๋ยวนี้มันแสดงบทบาทซ้ำๆ ซากๆ อยู่ เช่น ตัณหาแสดงบทบาทแห่งตัณหา
ซ้ำๆ ซากๆ อยู่ เป็นความอยาก เป็นเวลานาทีบ้าง สองนาทีบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง
ตั้งวันบ้างถ้ามันรุนแรงมาก ความอยากมันรบกวนอยู่เป็นเวลาตั้งวันก็มี
สิ่งนี้เราเรียกว่าเวลา บางคนพูดว่าเวลาไม่มี เวลาไม่ใช่ตัวจริง เวลาไม่มี
อันนั้นมันหลับตาพูด เวลามันมี เวลามันมี เป็นตัวจริงของเวลา คือจุดตั้งต้นที่เกิดความอยาก
และถึงจุดที่ดับลงแห่งความอยาก แล้วมันยาวเท่าไร นั่นแหละคือเวลา
ถ้าไม่มีความอยาก ไม่มีเวลา นี่พูดภาษาธรรมะก็พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่านาฬิกามันยังเดินอยู่แล้วมันมีเวลา
นั่นไม่ใช่เวลา มันเวลาของคนโง่ เวลาของเด็กอมมือ มันเป็นเวลาของนาฬิกา
หรือมันเป็นเวลาของโลกที่มันหมุน มันไม่ใช่เวลาในเรื่องของความทุกข์
คำว่าเวลา เวลาในเรื่องของความทุกข์นั้น คือจุดตั้งต้นของความอยาก
จนไปถึงจุดดับของความอยาก นี้เรียกว่าเวลา
หลักธรรมะก็มีอยู่ชัดเจนว่า เวลาย่อมกัดกินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง
เวลามันกัดกินสรรพสัตว์ เพราะว่าเวลามันคือจุดตั้งต้นของความอยาก จนกว่าจะดับอยาก
ดับความอยาก นั่นคือเวลา
เพราะเกิดขึ้นมาก็กัดกินจิตใจของบุคคลผู้มีเวลานั้นเอง แล้วจึงต้องเป็นทุกข์
เพราะความขบกัดของเวลา คือความอยากที่มีจุดตั้งต้น และจุดหยุดลง ในระหว่าง
2 จุดนี้มันกัดตลอดเวลา มันกัดอยู่ตลอดไป และตัวมันเองก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย
พร้อมที่จะดับลงเมื่อหมดเหตุหมดปัจจัย จึงพูดว่า เวลาย่อมกัดกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง
ทีนี้ทางตรงกันข้าม ก็มีพระบาลีว่า ผู้ใดทำลายตัณหาเสียได้ หรือแม้แต่ควบคุมตัณหาเสียได้
ผู้นั้นย่อมกินเวลา นี่มันกลับกัน ก่อนนี้เวลามันกินเรา แต่ถ้าเราควบคุมตัณหา
หรือดับตัณหาเสียได้ เราจะเป็นผู้กินเวลา นั้นแหละคือลักษณะที่จะไม่ทุกข์
นั้นแหละลักษณะดับลงแห่งความทุกข์ เมื่อเรากลายเป็นผู้กัดกินเวลา
จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวลาของกิเลสตัณหา เวลาที่ร้ายกาจนี้ให้ดีๆ
ไม่ใช่เวลาของนาฬิกา อย่างที่กล่าวแล้ว มันเป็นเวลาชนิดที่เป็นเรื่องของจิตใจ
เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา เป็นเรื่องของความทุกข์ เวลาเกิดขึ้นเมื่อใด
ก็หมายความว่าตัณหาได้เกิดขึ้นแล้ว จนกว่าจะดับตัณหา จึงจะหมดเวลา
มันมีระยะยาวมาก พอที่จะให้เราดู เห็นชัดเจนถนัดถนี่ เช่นว่า เปรี้ยว
ปู ตัวนี้มันออกมาจากรู อยู่ข้างนอกรู เป็นเวลานานพอ เป็นเวลานานพอที่เราจะดูมันให้เต็มตา
เราก็ดูมันให้รู้จัก ชัดเจนแจ่มแจ้ง
นี้จะได้รู้จักมันดี รู้จักมันอย่างว่ามันเป็นสันทิฏฐิโก จะจัดการอย่างไร
จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะกำจัดมัน หรือเอาตัวมันมา มันก็ทำได้นี่ มันอย่าเห็นว่า
มันเป็นเรื่องเร็วเป็นสายฟ้าแลบ แล้วก็กำหนดไม่ได้
แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะว่าถ้าคว้ามันแล้ว ติดกันยาวยืด
มันก็เห็นได้ง่าย เห็นได้ชัด ถ้าตัณหาให้มันดำเนินไปเป็นชั่วโมงบ้าง
สองชั่วโมงบ้าง วันหนึ่งบ้าง มันก็ยิ่งรู้ชัดเจน รู้สึกชัดเจน ว่ามันเจ็บปวดรวดร้าวอย่างไร
เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างสำคัญ เช่น ลูกตาย เมียตาย ฉิบหาย อะไรก็ มันก็ทนทรมานในจิตใจอยู่เป็นเวลายาว
พอจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา นั้นได้เป็นอย่างดี
นี่ขอให้ท่านทั้งหลาย สนใจศึกษากันในข้อนี้ คือมีสติให้เพียง และเป็นคนเอาจริง
ไม่เหลวไหล ถ้าความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็เป็นผู้ศึกษา
ทำการศึกษาทันที แล้วก็ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ที่มีตัณหา มีอุปาทาน มีความทุกข์
มันจะมีครบอยู่ในนั้น
คือในความรู้สึกที่เป็นความอยาก ที่หมายมั่นอยู่ในสิ่งใด คืออุปาทาน
เช่นว่า เกิดเรื่องลูกตาย เมียตาย แล้วก็สังเกตดูจิต ในระยะนั้นน่ะ
ที่มันมีความรัก มีความอาลัยอาวรณ์ มีความทุกข์ทรมานใจอย่างไร ดูมันให้ละเอียด
อย่างเรียกว่าทุกๆ กระเบียดนิ้ว หรือทุกๆ ปรณูจะดีกว่า ว่ามันมีรสชาดอย่างไร
ความทุกข์นี้มันมีรสชาดอย่างไร มันกัดเราเจ็บปวดอย่างไร ความเจ็บปวดนั้นมันมีรสชาดอย่างไร
นี่เป็นโอกาสดีแล้ว ที่จะศึกษาเรื่องความทุกข์
ทีนี้คนโง่ๆ มันไม่ทำอย่างนี้ พอมันมีความทุกข์ มันก็นั่งร้องไห้อยู่
แล้วมันจะศึกษาอะไรได้ เพราะมันมาร้องไห้เสีย ถ้ามากกว่านั้นมันไปผูกคอตายเสีย
แล้วมันก็เลิกกัน มันก็ไม่ต้องรู้เรื่องอะไร นี่ล่ะคือคนโง่ นี่ถ้านั่งร้องไห้อยู่เพราะความพลัดพรากอันนี้
มันก็เหลือที่จะโง่แล้ว มันเป็นทุกข์เปล่าๆ โดยที่ไม่จำเป็น
เพราะความโง่ต่างหากล่ะ ที่มันต้องมีความทุกข์ ถ้ามีสติปัญญา มันก็ใช้สิ่งนั้นแหละ
เป็นการศึกษาให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้นผู้มีปัญญาย่อมใช้ความทุกข์ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา
ความทุกข์เข้ามา ก็เข้ามาสำหรับให้ศึกษา และไม่รู้จักความทุกข์ นี่มันถึงจะชนะความทุกข์ได้
ไม่ให้ความทุกข์มาเพื่อกัดเรา เพื่อทรมานเรา กลายเป็นว่าให้ความทุกข์มา
เพื่อให้เราศึกษา นี่เรียกว่าเราใช้ในสิ่งที่คนอื่นถือกันว่าเป็นทุกข์นั่นแหละ
ให้กลายเป็นเรื่องการศึกษาไปเสีย
มันมีหลักที่ควรจะกำหนดไว้ตลอดกาลว่า สิ่งที่เข้ามานั่นน่ะ ใช้ในการศึกษาได้ทั้งนั้นแหละ
แม้มันจะเข้ามาอย่างศัตรู ก็ศึกษามันเถอะ ใช้เป็นโอกาสของการศึกษา
เราเคยพูดเป็นคำกลอนว่า ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ดูให้ดี ถ้าดูให้ดี
มันจะมีแต่ได้ ไม่มีเสีย แม้ว่าความทุกข์จะเกิดขึ้น เพราะลูกตายไป
เมียตายไป ผัวตายไป อะไรตายไป นี่เรียกว่าความทุกข์ คนธรรมดาเค้าก็เรียกว่าเสีย
มันเสียแล้ว มันเสียแล้ว แต่คนฉลาดมันดูดีกว่านั้น มันมีแต่ได้ มันไม่มีเสีย
การที่เสียลูก เสียเมีย เสียหลาน เสียเหลนอะไร มันกลายเป็นการให้ความรู้
มันก็เลยไม่มีอะไรเสีย นี่เรียกว่าถ้าดูให้ดี มันจะมีแต่การได้ ไม่มีการเสีย
แต่คนโง่มันนั่งร้องไห้อยู่ แล้วมันก็ไปผูกคอตาย เป็นต้น มันก็ไม่ได้อะไร
มันมีแต่เสียอย่างเดียว
หากเราไม่รู้ธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมอบให้ เป็นสมบัติอันประเสริฐ
จะเรียกว่าของขวัญก็ยังน้อยไป ของขวัญมันมีค่าน้อย เมื่อไม่มีขนาดเทียบเท่า
แต่ว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานให้แก่เรา มันจะต้องเรียกว่ามันเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐ
อันมหาศาล ไม่ใช่เป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ
ธรรมะที่ได้รับจากพระพุทธเจ้านั้นน่ะ มันเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ไม่ใช่เป็นเพียงของขวัญเล็กๆ
น้อยๆ เดี๋ยวนี้คนเหล่านี้รับเอาไม่ได้ แม้แต่เพียงจะเป็นของขวัญเล็กๆ
น้อยๆ มาทำพิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ก็มากระทำด้วยความโง่ มาเวียนเทียนเล่นแปลกๆ
ไม่ได้รับประโยชน์อะไร จากวิสาขบูชา หรือจากอาสาฬหบูชา
นี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องตักเตือนกันให้ดีๆ ว่าการประกอบพิธีวิสาขบูชา
อาสาฬหบูชา มาฆะบูชา อะไรก็ตาม มันต้องเป็นเวลาที่ระลึกนึกได้ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานให้แก่เรา ให้สมตามพระพุทธประสงค์ที่ได้ตรัสไว้ว่า
ตถาคต เกิดขึ้นมาในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์
เราเป็นมนุษย์รวมอยู่ในกลุ่มนั้น เทวดาและมนุษย์ เราก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้น
เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น ตรงตามพระพุทธประสงค์
พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ว่าท่านเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์
และท่านตรัสว่า ธรรมวินัยนี้ ศาสนานี้ เกิดขึ้นในโลก ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน
ทั้งเทวดาและมนุษย์ และท่านตรัสว่า ธรรมวินัยนี้ ศาสนานี้ เกิดขึ้นในโลก
เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ และท่านยังตรัสว่า เธอทั้งหลาย
จงช่วยกันกระทำ ในลักษณะที่ว่า ธรรมวินัยนี้ ยังคงมีอยู่ในโลกนี้ ก็เพื่อประโยชน์ตั้งแต่เทวดาและมนุษย์
*** จบแล้วครับ ***
จากคุณ
: Seeker - [ 10 ต.ค. 46 ]
โพสท์ในพันธุ์ทิพย์ [ศาสนา-ปรัชญา]กระทู้ที่ K2491376 โดยคุณ : Seeker
- [ 10 ต.ค. 46 ]
|