ชาตินี้ – ชาติหน้า
โดย... พุทธทาสภิกขุ


โพสทในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 010622 – โดย คุณ : กำลังฟุ้ง [ 2 ธ.ค. 2546 ]

เนื้อความ :

             บัดนี้ วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๐ สำหรับพวกเรา ได้ล่วงมาถึงเวลา ๕.๐๐ น.แล้ว เป็นเวลาที่เรา กำหนดกันไว้ว่า จะพูดจา เรื่องใดเรื่องหนึ่งกัน เป็นประจำวัน

             วันนี้จะได้กล่าวถึงเรื่อง ชาตินี้-ชาติหน้า, เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญแก่คนทุกคน ในฐานะที่เป็นปัญหา, และพวกธรรมฑูตก็จำเป็นที่จะต้องสอนเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องที่จะถูกถามแล้ว ยังเป็นเรื่องที่จะถูกถามหรือไม่ถูกถาม ก็ต้องสอนให้รู้จัก, ให้เข้าใจในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่แล้วมาได้สังเกตเห็นว่า ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้มีอยู่มากทีเดียว, เมื่อเข้าใจผิด ก็ทำให้การปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้พลอยผิดไปด้วย หรือไปสนใจในทาง หรือ ในแนวที่ผิดๆ.

             การที่จะสันนิษฐาน หรือ แม้แต่ตัดสินใจ ลงไปว่า เรื่องใดผิด เรื่องใดถูก นี้ก็มีปัญหา อยู่บางอย่าง, คือ ถ้าเป็นเรื่อง ที่ไม่อาจ จะเอามาแสดงกันได้ โดยเปิดเผย ชัดเจน, มันก็กลายเป็น เรื่องที่ขึ้นอยู่กับ เหตุผล, และมักจะเป็น เหตุผลของการพูดจา เสียมากกว่า เช่น โลกหน้า เป็นต้น ดังนั้น มันมีทางออก อีกทางหนึ่ง ที่จะวินิจฉัย หรือ ตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้. คือว่า ความเห็น หรือ เหตุผลนั้น จะต้องฟังดูอีกทีหนึ่งว่า การกล่าวลงไปเช่นนั้น มันมีประโยชน์ หรือ ไม่มีประโยชน์, ถ้ามันมีประโยชน์ ก็ต้องนับว่า เป็นการสันนิษฐาน หรือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง, ถ้ามันเป็น ประโยชน์เต็มที่ ในเมื่อความเห็นอีกทางหนึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย อย่างนี้ ก็ต้องเอาอย่าง ที่เป็นประโยชน์เต็มที่ นี่แหละ เรื่องเกี่ยวกับ ชาติหน้า หรือ ชาติอื่น ที่เอามาให้ดูไม่ได้, เพราะไม่ใช่เรื่องวัตถุ จะต้องเป็นไปในทำนองที่ว่า ความคิดเห็น หรือ หลักเกณฑ์อย่างไร เป็นประโยชน์ ความคิดเห็น หรือ หลักเกณฑ์อันนั้น ถูกต้อง

             การที่จะสอนเรื่อง โลกหน้า กันไปตามตัวหนังสือ, หรือ ตามความเข้าใจ ที่นำสืบๆ กันมา อย่างหลับหู หลับตานั้น อาจจะกลายเป็นผู้ทำผิด, หรือเป็นผู้โง่เขลา เกี่ยวกับเรื่องนี้เสียเอง. ดังนั้น เราในฐานะ ที่เป็น นักศึกษาธรรมฑูต จักไม่ตกหลุม ตกบ่อ ของตัวเอง, ของความโง่เขลา ของตัวเอง มากเหมือนอย่างนั้น, ยิ่งตั้งอยู่ในฐานะ ที่จะไปสอน เข้าด้วยแล้ว ก็จะต้องระวังให้ดี, หรือ ควรจะรับผิดชอบ ให้เต็มที่, ให้มันเป็นเรื่อง ที่มีประโยชน์ จึงจะเรียกว่า ถูกต้อง

             ที่นี้ เราจะได้พูดกัน ถึงเรื่องนี้ ชาตินี้ ชาติหน้า โลกนี้ หรือ โลกหน้า ต่อไป. ข้อนี้มันเกี่ยวกับ คำว่า "ชาติ" คือ ความเกิด เป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เรียกว่า ความเกิดนั้น มันต้องรู้กันด้วยว่า เป็นความเกิดของอะไร. เป็นความเกิดของเนื้อหนังร่างกาย, หรือว่าเป็นความเกิดของจิตใจ แน่นอนความเกิดนั้น ยังเป็นความเกิดของตัวเราหรือตัวกู แต่มันยัง มีเป็น ๒ อย่าง, คือเกิดทางร่างกาย, หรือ เกิดทางจิตใจ ตัวเราเกิดทางร่างกาย หรือ เกิดจากท้องแม่ เกิดทีเดียว ก็เสร็จไปตลอดชาติ, แต่ว่า การเกิดทางจิตใจนั้น เกิดได้เรื่อยไป, วันหนึ่งเกิดได้หลายๆหน หรือ หลายสิบหน ปัญหาจึงมีขึ้นเป็นชั้นแรกว่า ความเกิดชนิดไหน เป็นความเกิด ที่เป็นปัญหา สำหรับมนุษย์เรา ที่เราจะต้องรู้, ที่เราจะต้อง เอาชนะให้ได้, โดยมีหลักอยู่ว่า ความเกิดเป็นทุกข์, หรือ ความเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที.

             ถ้าเกี่ยวกับความเกิดจากท้องแม่ มันก็เป็นเรื่องเสร็จสิ้นไปแล้ว, ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่, แต่ถ้าเป็นการเกิดทางจิตใจ มันยังจะเกิดอีกเรื่อยไป, คือ มันเป็นการเกิดทางจิตใจ มันยังจะเกิดอีกเรื่อยไป, คือมันยังจะต้องมีความทุกข์อีกเรื่อยไป, นี่เป็นการเกิดทางใจ ทางนามธรรม เป็นการเกิดของอุปาทานว่า ตัวเรา ว่า ของเรา. พระพุทธองค์ ก็ได้ตรัสว่า เบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นั้นเป็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้ เราพอจะจับหลักได้ว่า เบญจขันธ์มีอุปาทานว่า ตัวกู ของกู ขึ้นในขณะใด, ขณะนั้น เบญจขันธ์นั้น จะต้องมีความทุกข์ เพราะมีการ ยึดถือเบญจขันธ์ นั้นเอง ว่าเป็นตัวกูบ้าง ว่าเป็นของกูบ้าง ในขณะใด เบญจขันธ์ ปราศจากความรู้สึกว่า มีอุปาทาน ในขณะนั้นก็ไม่มีทุกข์

             เบญจขันธ์ ของพระอรหันต์ เรียกว่า เบญจขันธ์บริสุทธิ์, ปราศจากกิเลสอุปาทาน จึงไม่เป็นทุกข์ ตลอดเวลา ตลอดกาล, ส่วนเบญจขันธ์ของคนธรรมดา นั้น เดี๋ยวก็เกิดอุปาทาน เดี๋ยวก็เกิดอุปาทาน มีความรู้สึก ไปในทำนอง เป็นตัวกู ของกู เกิดอยู่บ่อยๆ จึงเป็นทุกข์บ่อยๆ พร้อมที่จะเกิด และจะเป็นทุกข์ และง่ายดายที่สุด ที่จะเกิด และเป็นทุกข์ มันแตกต่างกันอยู่อย่างนี้, นี้คือ การเกิด และเป็นการเกิด ของตัวกู หรือ ของกู ในฝ่ายนามธรรม หรือ ทางจิต, ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า ชาตินี้ หรือ ชาติหน้า ในทางฝ่ายร่างกาย และทางฝ่ายนามธรรม มันจึงต่างกันอย่างยิ่ง อีกเหมือนกัน, ชาติหน้า ฝ่ายร่างกาย หรือฝ่ายวัตถุนั้น มันต้องเข้าโลง ตายเข้าโลง เน่าไปแล้ว จึงจะมีชาติหน้า.

             ส่วนเรื่องชาติหน้า ของการเกิด ฝ่ายนามธรรม หรือ ฝ่ายจิตนั้น มีสลับกันอยู่ใน ชาตินี้ และกระทั่งในวันนี้ มีชาตินี้ ชาติหน้า สลับกันอยู่ จนกล่าวได้ว่า ในกรณีที่ มีความรู้สึกว่า ตัวกูของกู เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง นั้น คือ ชาติหนึ่ง, พอกรณีนั้น สิ้นสุดไป ก็เรียกว่า ชาตินั้น สิ้นสุดไป พร้อมที่จะ มีชาติหน้าใหม่, คือจะมีกรณีที่ ทำให้เกิดตัวกู ของกู ต่อไปใหม่ นี้เรียกว่า ระหว่างชาตินี้ กับชาติหน้า, แม้ในภายในวันหนึ่ง ก็มีได้ตั้งหลายชาติ, ผลที่ทำไว้ ในชาติที่แล้วมา คือ ในกรณี ก่อนจะมามี ความทุกข์เกิดขึ้นในกรณีหลัง, อย่างนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน, เห็นได้ชัดด้วยตา ด้วยใจ อย่างชัดแจ้ง เปิดเผย, เช่นตัวกู เกิดขึ้น กระทำอย่างโจร, เสร็จแล้วตัวกูก็เกิดขึ้น ในลักษณะที่กลัวความผิด, หรือร้อนใจ คือตัวกู กระทำความชั่ว ไว้ในกรณีหลัง ที่เกิดตัวกู รู้สึกในเรื่องนี้ขึ้นมา, แล้วก็ร้อนใจ และเป็นทุกข์ ดังนี้เป็นต้น. เรียกว่า ผลในชาติก่อน ให้ผลแล้ว ในชาติถัดมา, ดังนั้น ในวันหนึ่ง จึงมีการเกิดตัวกูของกู อย่างนี้ ได้หลายๆชาติ มีทั้งชาตินี้ มีทั้งชาติหน้า.

             ถ้าจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า เป็นกรณีๆ ไปทีเดียว, กรณีหนึ่ง ก็คือ ชาติหนึ่ง, แต่คำว่า "กรณี กรณี" ในที่นี้ ต้องสมบูรณ์ จริงๆ, หรือ เป็นกรณีที่มี ความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู เกิดขึ้นมา อย่างสมบูรณ์, เรียกว่า การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป โดยสมบูรณ์ ในกรณีของการที่อุปาทาน ได้เกิดขึ้น, การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของจิต ในขณะจิต ตามธรรมดานั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่มีความหมายอะไร, การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอุปาทาน เนื่องด้วยตัวเรา เนื่องด้วยของเรานี้ มีความหมายเต็มที่ และปัญหาอยู่ที่นี่ ดังนั้น จึงต้องจัดการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ดีๆ ให้เห็นว่า มันอยู่ใกล้ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เราจึงจะกำจัด ความทุกข์ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้.

             คนโง่ ย่อมคิดไกลเกินไป จนไม่มีประโยชน์ "คนโง่ก็ไปคิดเอา สิบเบี้ยไกลมือ, คนฉลาดก็ไปคิดเอา หนึ่งเบี้ย สองเบี้ย ใกล้มือ" นี้เป็นคำพูดพื้นบ้าน, ซึ่งดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไป ว่า คนโง่คิดไกลอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ชาติหน้าของคนโง่ จะต้องอยู่ไกล หลังจากตายไปแล้ว อยู่เสมอ แต่ชาติหน้า ของคนฉลาด ต้องอยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ติดต่อกันไปทีเดียว จึงสามารถ ป้องกันมันได้ คนโง่จะเอาเรื่องเหตุ ไว้ที่ชาติอื่น, เอาผลไว้ที่ชาติอื่น, แล้วมันจะทำกัน ได้อย่างไร, เช่นว่าเดี๋ยวนี้ เราจะมีความทุกข์ เราต้องการ จะตัดต้นเหตุ ของความทุกข์, แล้วเราเอาเหตุ ของความทุกข์ ไปไว้ที่ชาติอื่น คือ ชาติที่แล้วมา อย่างนี้ มันจะตัดต้นเหตุ ของความทุกข์ ได้อย่างไร นี่พูดถึง ชาติ ของร่างกาย

             มันต้องอยู่ในชาติ ทางร่างกายเดียวกันนี้, ทั้งเหตุและผล เราจึงจะสามารถ ตัดต้นเหตุ แห่งความทุกข์นั้นได้ และได้รับผล เป็นความไม่ทุกข์ได้ สิ่งต่างๆ ต้องอยู่ในวิสัย ที่เราจะเกี่ยวข้องได้ จัดการได้ มันจึงจะเป็นประโยชน์, ถ้าเอาไปไว้กันเสีย คนละชาติแล้ว มันแทบจะ ไม่มีประโยชน์อะไร และในบางกรณี มันทำไม่ได้ เหมือนกับที่ เราจะดับทุกข์ ของชาตินี้ แต่เหตุของมัน อยู่ที่ ชาติก่อนโน้นแล้ว จะไปดับได้อย่างไร.

อบายมุข คืออะไร?

             ทีนี้ เรามาคิดดูกันใหม่ ว่า อะไรบ้างที่จะต้องนึก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในฝ่ายชั่ว ฝ่ายเป็นทุกข์ จะนึกถึง สิ่งที่เรียกว่า อบาย คือ ความทุกข์ หรือ ความเสื่อม ความไม่เจริญ ความทรมาน จำแนกเป็น นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ความรู้ที่ได้มาจาก ภาพเขียน บนฝาผนังโบสถ์ ล้วนแต่แสดงว่า ตายเน่าเข้าโลง ไปแล้ว จึงจะเป็นนรก เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นมันเป็น เรื่องทางร่างกาย เกี่ยวกับ ความเกิด ทางร่างกาย อยู่ไกล เป็นวิสัยของคนโง่ คนโง่ที่ต้องขู่ ต้องหลอก ด้วยเรื่องอย่างนี้ จึงจะเชื่อ จึงจะยอมทำความดี นี้เป็นคนโง่ คนฉลาด ไม่ต้องถูกขู่ ถูกหลอกเช่นนั้น ชี้ให้เห็นได้ว่า มันอยู่ใกล้ๆ กำลังจะมา ให้ระวังให้ดี

             ข้อนี้ หมายความว่า นรกนั้น คือ ความร้อนใจ เหมือนไฟเผา จะเป็นนรก ชนิดไหน ก็ต้องมีความหมาย อย่างนี้ทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ แล้วไม่ใช่นรก เมื่อใดจะมีความร้อนใจ อย่างไฟเผาแล้ว ให้รู้เถอะว่า นั่นแหละ จะตกนรก และเมื่อใดได้ร้อนใจ เข้าแล้ว นั่นแหละ เป็นการตกนรกแล้ว จะร้อนใจ ด้วยเหตุใดก็ตาม กระทำความชั่ว หรือว่า เพราะ สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไป ตามความต้องการ ก็ตาม ความร้อนใจ ที่สุมเผา เหมือนกับไฟ ก็ต้องเรียกว่า นรก เช่น คู่ครองไม่ซื่อสัตย์ มีความร้อนใจ เป็นไฟเผา อย่างนี้ ก็เป็นนรกชนิดหนึ่ง ทำผิดกลัวอยู่ ร้อนใจเป็นไฟเผา อย่างนี้ ก็เป็นนรกชนิดหนึ่ง เหมือนข้อความในคัมภีร์ ที่กล่าวได้ว่า มี นรก อยู่หลายชนิด ๑๘ ชนิดคืออะไร แล้วก็ไปคิดเอาเอง มันมีอยู่ต่างๆ กัน

             อบายที่ ๑ คือ นรก ความหมายของนรกที่แท้จริง คือ ร้อนใจ เหมือนไฟเผา แม้จะถูกจับไปต้มไปแกง ถ้าไม่เป็นทุกข์ เดือดร้อน มันก็ไม่ใช่นรก ถ้าร้อนใจเป็นไฟเผาแล้ว แม้อยู่ที่นี่ นั่งอยู่ที่นี่เฉยๆ มันก็เป็นนรก ร้อนใจเมื่อไร ก็เป็นนรก เมื่อนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่ง อาจจะตกนรกได้ หลายหน เพราะว่า มันเกิดหลายชาติ มันมีการรับผล หลายๆ ชาติ

             อบายที่ ๒ คือ เดียรัจฉาน เป็นเดียรัจฉาน ได้เมื่อมีความคิด อย่างสัตว์เดียรัจฉาน คนนี่แหละ มีความคิด อย่างเดียรัจฉาน เมื่อไร ก็เกิดเป็น สัตว์เดียรัจฉานเมื่อนั้น ความหมายของสัตว์เดียรัจฉาน คือ ความโง่, เมื่อใดมีความโง่ อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อนั้น เป็นสัตว์เดียรัจฉานแล้ว, เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานแล้ว จงระวังให้ดีๆ เมื่อใดมีความโง่ อย่างไม่น่าจะโง่ โง่อย่างดักดาน ก็เป็น สัตว์เดียรัจฉาน ขึ้นมา วันหนึ่ง อาจจะเกิดเป็น สัตว์เดียรัจฉาน ได้หลายหน ก็ได้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ และใกล้ๆ นี่เอง

             อบายที่ ๓ คือ เปรต นี้มีความหมายเป็นความหิว คอแห้งอยู่เสมอ อยากจะเป็นนักปราชญ์ อยากจะเป็นบัณฑิตมีชื่อเสียง ด้วยความหิวกระหาย คอแห้งอยู่เสมอ ก็คือ เป็นเปรตชนิดหนึ่ง ด้วยเหมือนกัน อยากในเรื่องเงิน เรื่องทอง เรื่องข้าวของ กามารมณ์ หิวกระหาย จนคอแห้งอยู่เสมอ ก็เป็นเปรตชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน, เพราะมีอาการเหมือนกับว่า ท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม, มันสนอง ความอยากได้ไม่ทัน, มันจึงต้องหิว เหมือนจะขาดใจ อยู่เสมอ เมื่อใด ใครมีอาการอย่างนี้ เมื่อนั้น คนนั้น ก็เป็นเปรตแล้ว วันหนึ่ง อาจจะเป็นเปรตได้ หลายหนก็ได้.

             อบายที่ ๔ อันสุดท้าย คือ อสุรกาย หมายถึง ความขลาด ความกลัว อย่างไม่น่าเชื่อ มีเรื่องที่ให้กลัวมาก สำหรับคนเรา นับตั้งแต่ กลัวจิ้งจก ตุ๊กแก นั่นแหละ คิดดูเถอะว่า มันเป็นความกลัว ที่ไม่น่าจะกลัว กลัวอย่างโง่เขลา มากมายไปเท่าไร คนโตๆ แล้วก็ยังกลัว ผู้หญิงก็กลัว ผู้ชายก็กลัว กลัวจะเสียนั่น กลัวจะเสียนี่ ไม่กล้าเข้ามาวัด ไม่กล้าเข้ามา สนใจพุทธศาสนา กลัวว่า จะสูญเสีย ความสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางเนื้อหนัง เหมือนที่เป็นกันโดยมาก มีเงินก็มาก มีอะไรก็มาก แต่แล้ว ก็ยังกลัว ต่อการที่จะเข้ามา สนใจในธรรมะ โดยกลัวว่า มันจะจืดชืด มันจะแห้งแล้ง เกินไป. นี้คือ ความกลัว อย่างโง่เขลาที่สุด เรียกว่า กลัวนิพพาน ว่า นิพพานนั้นจะแห้งแล้งเกินไป คนโง่เป็นอันมาก กลัวความว่าง ไม่เข้าใจความว่าง ไม่กล้าจะเข้าใจความว่าง ในฐานะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ก็เลยเกียดกันออกไปเสียไกลทีเดียว ไม่ให้เข้ามาใกล้ตัว เพราะความโง่ ความโง่ทั้งหมดนี้ เรียกว่า อสุรกาย เมื่อใดมีความโง่ อย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น ก็มีความเป็นอสุรกาย

             ทบทวนสั้นๆ ว่า ความร้อนใจเป็นนรก ความโง่เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ความหิวเป็นเปรต ความกลัวเป็นอสุรกาย มีอยู่ใกล้ๆนี้ ตกลงไปในอบายนี้ เมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่เชื่อ ลองไปทำดู ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสเรียกว่า อบายมุข เช่น การดื่มน้ำเหล้า การเล่นการพนัน หรืออะไรก็ตาม ที่พระพุทธองค์ ตรัสว่าเป็น อบายมุข คือ ปากทางแห่งอบาย ถ้าเสียขึ้นมา ก็ร้อนใจเป็นไฟเผา มันก็ตกนรก ขณะเล่นการพนันอยู่นั้น มีความหิว อย่างเปรต ตลอดเวลา และมีความโง่ดักดาน ที่ไปเล่นการพนัน ด้วยหวังว่า มันจะนำมา ซึ่งโชคดี อย่างนี้ เห็นได้ชัดทีเดียวว่า มันเป็นอบายมุข คือ ปากทางแห่งอบาย ไปเล่นเข้า ก็ตกอบาย อย่างนั้นที อย่างโน้นที ตลอดเวลา ที่เล่นการพนัน อบายมุขอย่างไหน ก็มีลักษณะอย่างนี้ ทั้งนั้น จึงเรียกว่า อบาย สมตามที่ พระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ว่า เป็นอบายมุข

             ทีนี้ เรามาคิดดูว่า อบายมุข ของพระพุทธองค์ นั้น เป็นอย่างไรกันแน่ ผมคิดว่า ต้องเป็นเรื่องของคนฉลาด เรื่องอบายของคนโง่เขลา ถึงต่อตายเข้าโลงไปแล้วนั้น มันมีมาแล้วก่อนพุทธกาล เขาพูดกันเกร่อไปหมดแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล พระพุทธองค์ ก็ต้องทรงฉลาดกว่านั้น ต้องพูดเรื่องจริงกว่านั้น ต้องเป็น practical ยิ่งกว่าใดๆ หมด, ทั้งในการที่จะรู้ ทั้งในทางที่จะทำ ทั้งในทางที่จะ ได้รับผลของการกระทำ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจว่า ต้องเป็นเรื่องที่ มองเห็นชัด เป็นสันทิฎฐิโก เป็นปัจจัตตัง เป็นอย่างนี้ เรื่องอบาย ของพระพุทธเจ้า ต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้ เราจะไม่เถียงกัน ในปมอื่น ในแง่อื่น เราจะเถียงกันว่า หลักเกณฑ์อันไหน ปฏิบัติได้ หลักเกณฑ์อันไหน เป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าเอาหลักเกณฑ์อันนี้ มากล่าว มายึดถือ ก็จะต้องกล่าวว่า เรื่องอบายที่เห็นชัดๆ อยู่ใกล้ๆตัวนี้ เป็นเรื่องที่ ถูกต้องที่สุด

             ต่อไปอีก เราจะมองเห็นต่อไปว่า ถ้าเราไม่ตกอบายชนิดใกล้ๆนี้แล้ว อบายต่อตายแล้ว เป็นไม่ตกแน่นอน เพราะฉะนั้น ปัดทิ้งไปเลยก็ได้ ระวังแต่อย่าให้ตกอบายที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่าให้มีอาการเป็นนรก เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย ที่นี่และเดี๋ยวนี้แล้ว เป็นไม่มีตกอบายต่อไป, อีกต่อไป. เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่า พระพุทธองค์ คงจะสอนในข้อนี้ อย่างนี้มากกว่า แต่คนไม่เข้าใจ เพราะโง่เกินไป ตามวิสัยของคนโง่ ชอบของไกล จึงไม่สามารถ จะได้รับสิ่งใด เป็นส่วนใหญ่. คนฉลาด ต้องเอาที่เห็นอยู่ และที่กระทำได้ หรือที่ใกล้ๆ ที่อยู่ในวิสัย แห่งการบังคับควบคุม.

             เมื่อบังคับควบคุมตนเอง ไม่ให้ตก อบายทั้งสี่ประการ ในทำนองนี้ได้แล้ว ก็เรียกว่า ปลอดภัย ไม่ว่า จะเข้าใจคำว่า ชาติ, ชาตินี้, ชาติหน้า ก็ตาม, ในลักษณะไหน เป็นการปลอดภัยทั้งนั้น ดังนั้น จึงอยากจะให้พวกเรา นักศึกษาธรรมฑูต สนใจเรื่องนี้ ให้มากเป็นพิเศษ ด้วยเรื่องหนึ่ง เพราะเป็นเรื่อง ที่จะต้องไปสอน และ จะต้องเผชิญกันเข้ากับ ปัญหาที่หนักแน่น และคมคาย เต็มไปด้วยเหตุผล อย่าได้ไปจำนน ห้าแต้ม ให้แก่ตัวเอง แล้วพลอยทำให้ พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย ไปด้วย เพราะว่า สอนไม่ถูกตามที่เป็นจริง ตามหลักเกณฑ์ ของพระพุทธศาสนา ในเรื่องอันเกี่ยวกับ ชาตินี้ หรือ ชาติหน้า.

             ตัวอย่างที่จะยก ยังมีอีกมากมาย และยังจะต้องยกในฝ่ายดี ฝ่ายบุญ ฝ่ายกุศล เรื่องเกี่ยวกับ สวรรค์ พรหมโลก อะไรอีก เวลาไม่พอ แต่จะสรุปความว่า เมื่อใดมีความสุข ตามวิสัยของกามคุณ เมื่อนั้น เป็นสวรรค์กามาวจร เมื่อใดมีความสุข ไม่เกี่ยวกับกามคุณ เป็นของจืดสนิท บริสุทธิ์ คือ ความสุขเกิดจากสมาธิ คือ ความที่ใจสะอาด สว่าง สงบ แล้ว เมื่อนั้น เป็นความสุข อย่างรูปาวจร บ้าง อรูปาวจรบ้าง อย่าง โลกุตตระบ้าง

             มันต้องเป็นเรื่องที่นี่ ในโลกนี้ ในวิสัยที่เราจะควบคุมบังคับได้ จึงจะมีประโยชน์แก่เรา นี้เรียกว่า สุคติก็ตาม ทุคติก็ตาม ต้องอยู่ในวิสัยที่เราจะเกี่ยวข้องด้วยได้ ควบคุมได้ บังคับได้ เห็นอยู่เองโดยประจักษ์ ในลักษณะที่เป็นสันทิฎฐิโก เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิเสมอไป และเมื่อทำในส่วนนี้ได้แล้ว ก็เป็นอันรับประกันได้ว่า แม้จะมีชาติหน้าอย่างไร อีกกี่ชาติ กี่อะไรก็ตาม มันก็เป็นอันกระทำแล้วด้วยเหมือนกัน ไม่ต้องเป็นห่วง

             ให้สนใจทำที่นี่ ด้วยสติปัญญาของตนเอง อย่าต้องให้กระทำไป ด้วยการถูกขู่ให้กลัว หรือ ถูกล่อให้อยากได้ ให้หลงใหล อย่างที่เรียกว่า เอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่อ ทำนองนั้นเลย มันไปไม่รอด และมันไม่อยู่ในวิสัย ที่นักศึกษาธรรมฑูต จะเชื่ออย่างนี้ และ จะสอนอย่างนี้ เพราะ มันไม่สบหลักวิทยาศาสตร์ เพราะ มันไม่อยู่ในเหตุผล ไม่อยู่ในวิสัย ที่จะบังคับได้ ควบคุมได้ หรือ ดับทุกข์ได้เลย ต้องทำไป ในลักษณะที่เห็นอยู่ เข้าใจอยู่ กระทำได้อยู่ รู้สึกได้ด้วยตนเองอยู่ พร้อมไปด้วยเหตุผลเสมอ เรื่องเกี่ยวกับชาตินี้ หรือ ชาติหน้า จักต้องเป็นอย่างนี้ จึงจะมีประโยชน์ และปลอดภัยจริงๆ ถ้าเป็นอย่างอื่นแล้ว เป็นเรื่องคาดคะเน และจะเป็นเรื่องเหลว คว้างเป็นน้ำเหลว ไปในที่สุด เป็นเพียงแต่เรื่อง การขู่ให้กลัว เพื่อผลดีทางศีลธรรมบ้าง เท่านั้นเอง.

             นี่เป็น motion อันหนึ่ง ที่กำลังผลักดัน ให้คน ประพฤติศีลธรรม แต่มันอาจจะใช้ได้แก่คนที่มีความเชื่อ หรือ ความกลัว อยู่อย่างนั้น ในสมัยก่อน หรือว่า ในเวลาอื่น ในถิ่นอื่น ในยุคอื่น เสียมากกว่า สำหรับคนในยุควิทยาศาสตร์นี้ หรือ ยุคดาวเทียม หรือ ยุคอะไรทำนองนี้ motion หรือ motive อันนี้ คงจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว motive แปลว่า เครื่องทำให้เกิดการไหว หรือผลักดันไปให้เป็น motion คือ การกระทำ

             คำสอนที่สอนให้เห็น ให้เชื่อ เกี่ยวกับชาตินี้ ชาติหน้า เป็น motion อันสำคัญแน่นอน จริงแท้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันมีปัญหาอยู่ว่า สอนว่าอย่างไรต่างหาก จึงจะเป็น motive ที่ทำให้คนทำความดี ละอายความชั่ว แล้วทำให้คน ดำรงจิตใจ อยู่ได้ ในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นผลส่วนตัวสูงขึ้นไป เรื่องทางสังคมนั้น ก็มีความสำคัญ แต่ว่า ไปไม่ได้สูง เหมือนเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนตัว ไปได้ถึงนิพพาน เรื่องสังคม นั้น ก็คลานต้วมเตี้ยม อยู่ในหมู่สังคมนั่นเอง แต่แล้ว ก็ต้องอาศัย ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับชาตินี้ และชาติหน้า อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เป็นเรื่องที่ นักศึกษาธรรมฑูต จะต้องสนใจเป็นพิเศษ เอาไปสอน เอาไปถก เอาไปวิพากษ์วิจารณ์ กันให้ดีๆ หน้าที่ที่เรา ได้รับมอบหมาย จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี ไม่เสียทีที่ ถูกยกย่องว่า เป็นกิจอันมีเกียรติ และสำคัญ

             คำว่า ชาตินี้ คำว่า ชาติหน้า มีความหมายเป็น ๒ อย่าง อยู่อย่างนี้ คือ ความหมาย ทางภาษาคน คนโง่ คนไม่รู้ธรรม ก็ดูจะเป็นเรื่อง เนื้อหนังร่างกาย ตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว จึงจะเป็นชาติหน้า ส่วนชาติหน้า ตามภาษาธรรม คือ ภาษาของคนที่รู้ธรรมะ นั้น จักไม่ใช่อย่างนั้น จักต้องเป็นเรื่อง การเกิดตามทางธรรม เกิดได้เมื่อไรก็ได้ แล้วเกิดได้มากๆ ในวันหนึ่งๆ แล้วก็มีปัญหา เป็นเรื่องไป เป็นกรณีๆ ไป เขาจะต้องรู้จัก จัดทำ ในปัญหาประจำวัน ในชีวิตประจำวันนี้ อย่าให้ตกอบาย ให้เป็นที่พอใจ คือเป็นสวรรค์ อย่างใด อย่างหนึ่ง อยู่ จนกว่าจะถึงขั้นสุดท้าย คือ ไม่เป็นอะไรหมด เพราะว่า การที่ต้องเป็นอะไร อย่างใด อย่างหนึ่ง ไว้เสมอไป สู้ไม่เป็นอะไร ไม่ได้ คือ เป็นโลกกุตตระ หรือ เป็นนิพพาน อยู่เหนือสิ่งใดหมด

             เพราะฉะนั้น เรื่องชาตินี้ ชาติหน้านั้น เป็นเรื่องของความทุกข์ ที่ต้องระมัดระวังทั้งนั้น เป็นทุคติ ก็มีความทรมาน ไปตามแบบของทุคติ เป็นสุคติ ก็มีความทนทรมาน อย่างประณีต ละเอียดสุขุม แทบจะไม่รู้สึกตัว ไปตามแบบของสุคติ สู้ไม่เป็นอะไรเลยไม่ได้ นี้คือ การแก้ปัญหา เกี่ยวกับชาตินี้ ชาติหน้า ให้หมดไป.

             ขอได้โปรดสนใจ ให้เป็นพิเศษ เรื่องเกี่ยวกับ ชาตินี้ ชาติหน้า มันมีหลักสำคัญ อยู่อย่างนี้ เราจะไปสอน ให้คนจมติดอยู่ ที่ชาติใด ชาติหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของความโง่ ของผู้สอนนั้นเอง และ ไม่เป็นพุทธศาสนา ด้วย เพราะ ไม่สอนความหลุดรอด หรือ หลุดพ้น ไปจากการเวียนว่าย ในวัฏฏสงสาร ชาตินี้ ชาติหน้า คือ วัฏฏสงสาร ทั้งนั้น ต่อเมื่อ เหนือชาติ จึงจะเป็นนิพพาน หรือ เป็นโลกุตตระ เรารู้เรื่องชาตินี้ ชาติหน้า ให้ถูกต้อง ให้อยู่ในวิสัย ที่จะจัดการกับมันได้ แล้วให้ได้รับผล เป็นความพ้นไปจากชาติ ทันในปัจจุบัน ทันตาเห็นนี้ ก่อนแต่จะเน่า เข้าโลงไป จึงจะได้ชื่อว่า เป็นสาวก ผู้สั่งสอนถูกต้อง ตามหลักพระพุทธศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา

             หวังว่า จะได้มีการสังวรระวังในเรื่องนี้ ให้มากเป็นพิเศษ ให้สมกับ ที่เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องเดียว เรื่องสูงสุด ในพระพุทธศาสนา มีความหลุดพ้น ไปจากความทุกข์ ทั้งปวง ด้วยกันจงทุกๆ คนเทอญ

เวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการพูดจากัน ตอนหนึ่งก็สิ้นสุดลงแล้ว .

จากคุณ : กำลังฟุ้ง [ 2 ธ.ค. 2546]