#echo banner="" เกิดมาทำไม? พุทธทาสภิกขุ

คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน

เกิดมาทำไม?

พุทธทาสภิกขุ

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวด ชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 13553 โดย : milkyway 12.. 47

ตอนที่ ๑ : เกิดมาเพื่อเดินทาง

(แสดง ณ โรงธรรม วัดธารน้ำไหล ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๘)

ข้อแรกสุด  จะต้องระลึกให้กว้างกันไปสักหน่อยว่าคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป  มีปัญหาอยู่ในใจว่า  เกิดมาทำไม  จริงหรือเปล่า

เกิดมาทำไม?

ปัญหาข้อนี้ถือกันว่าทุกคนสนใจและสงสัย  แม้กระนั้นก็อาจจะมีบางคนมีเล่ห์เหลี่ยมที่จะเยาะเย้ยว่า  ก็พระพุทธศาสนาสอนถึงความไม่มีสัตว์  บุคคล  ตัวตน  เรา  เขา  คือไม่มีใครเกิดดังนี้  แล้วเหตุใดจึงมีปัญหาว่าเกิดมาทำไมด้วยเล่า  ถ้าผู้ใดถามซักไปในทำนองนั้น  เราจะต้องถือว่าเขาอาศัยหลักของพระพุทธศาสนาชั้นสูงสุด  คือ  ขั้นที่ว่าด้วยความหลุดพ้น  มาพูดกับคนธรรมดาสามัญที่ยังไม่มีความหลุดพ้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูก  ไม่ตรง  คือ  ไม่ถูกฝาถูกตัว  เพราะว่าตามธรรมดาของคนที่ยังไม่รู้ธรรมะ  ถึงที่สุดแล้วจะต้องมีความรู้สึกว่าตนกำลังเกิดอยู่  และตนมีปัญหามากมายที่จะต้องทำ  กระทั่งไม่รู้ว่าเกิดมานี้เพื่ออะไรกัน

โดยทั่ว ๆ ไป  ผู้ที่เป็นอรหันต์  ถึงที่สุดแห่งธรรมในพระพุทธศาสนาแล้วเท่านั้น  ที่จะรู้สึกว่ามิได้มีการเกิดอยู่ในบัดนี้  ไม่มีสัตว์บุคคล  ตัวตนของใครที่เกิดอยู่ในบัดนี้  ดังนั้น  ปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไม  จึงไม่มีแก่พระอรหันต์  แต่สำหรับบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์  แม้ที่ยังเป็นพระอริยเจ้าในขั้นต้น ๆ เช่น  พระโสดาบันก็ดี  ก็ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวตนของตนและตนกำลังเกิดอยู่ทั้งนั้น  จึงจัดได้ว่าเป็นผู้ที่ล้วนแต่มีปัญหาอยู่ในใจว่า  เกิดมาทำไม  ด้วยกันทุกคน  โดยเหตุนี้ขอให้สรุปใจความของปัญหานี้สั้น ๆ ว่า  เกิดมาทำไม  และเป็นปัญหาของคนทั่วไปที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์

เราจะพิจารณากันดูถึงความรู้สึกที่เกิดอยู่เองในใจของคนซึ่งต่างคนก็มักจะมีความคิดเป็นของเขาด้วยกันทั้งนั้นว่า  เขาเกิดมาทำไม

นานาทัศนะในเรื่องเกิดมาทำไม

ถ้าจะถามเด็ก ๆ ดู  ก็จะตอบว่าเกิดมาเพื่อเล่นกันให้สนุกสนานทีเดียว  ถ้าจะถามคนหนุ่มสาวก็คงจะตอบว่า  เกิดมาเพื่อความสวยความงาม  ความรื่นเริงบันเทิงกันในระหว่างเพศ  ถ้าจะถามคนที่สูงอายุขึ้นไปในวัยเป็นพ่อบ้านแม่เรือน  ก็คงจะตอบกันเป็นเล่นมากว่า  เกิดมาเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติเอาไว้กินต่อแก่เฒ่าและให้ลูกหลานดังนี้เรื่อย ๆ ไปด้วยกันทั้งนั้น  ครั้นอยู่ไปจนถึงชราแก่หง่อม  เมื่อถามดูว่าเกิดมาทำไม  คงจะงง  และคงจะคิดว่า  เกิดมาเพื่อตายไปสำหรับจะเกิดใหม่ต่อ ๆ ไปมากกว่าอย่างอื่น  ข้อนี้น้อยคนที่จะคิดว่าเกิดมาแล้วก็สิ้นสุดกันเพียงตาย  เพราะว่าได้ถูกอบรมสั่งสอนกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกถึงเรื่องโลกอื่นถึงชาติอื่นหลังจากตายแล้ว  จนฝังอยู่ในจิตใจด้วยกันแทบทั้งนั้น  สำหรับผู้ที่มีวัฒนธรรมที่รับมาจากอินเดีย  ไม่ว่าจะนับถือพุทธศาสนาหรือศาสนาพราหมณ์  หรือศาสนาอื่น ๆ ส่วนมาก  มีความเชื่อไปในทางตายแล้วเกิดใหม่  คนแก่ ๆ คนชราหมดปัญญาที่จะนึกคิดอะไรแล้วก็คงจะตอบว่าเกิดมาเพื่อตาย  แล้วไปเกิดใหม่ดังนี้  นี้หลักใหญ่ ๆ ทั่ว ๆ ไปก็ตอบได้แค่นี้

ถ้าจะพิจารณาดูกันอีกทางหนึ่งในส่วนรายละเอียดปลีกย่อยและบางคนก็คงจะตอบว่าเกิดมาเพื่อกิน  เพราะมักมากในการกิน  และบางคนก็คงจะตอบว่าเกิดมาเพื่อกินเหล้า  เพราะว่าเป็นทาสของเหล้าอยู่ตลอดเวลา  ไม่บูชาอะไรยิงไปกว่าเหล้า  ดังนี้ก็มี  บางคนเกิดมาเล่นไพ่  จนถึงกับมีคำกล่าวว่า  ยอมหย่าผัวไม่ยอมหย่าไพ่  ดังนี้ก็มี  บางคนยังหลงใหลในสิ่งอื่น ๆ ในอบายมุขอื่น ๆ แม้กระทั่งของเล่น  จนเห็นว่าเป็นสิ่งที่สูงสุด  ในสิ่งที่เขาควรจะได้อย่างนี้ก็มี  โดยทั่ว ๆ ไป  คนที่เรียกว่าได้รับการศึกษาดีนั้น  มักจะนิยมหลงใหลในเรื่องเกียรติ  คือ  อยากจะมีเกียรติว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ให้สูงสุดขึ้นไป  เพราะเกิดมาเพื่อจะสร้างเกียรติ

เท่าที่กล่าวมานี้  พอจะสรุปได้ว่า  เกิดมาเพื่อกิน  เกิดมาเพื่อกาม  เกิดมาเพื่อเกียรติ

พวกที่ ๑  คือ  เกิดมาเพื่อกิน  เรื่องกินนั้นเป็นของจำเป็น  ครั้งไปติดในรสของอาหารเข้าก็หลงใหลในเรื่องการกิน  ดูคนสมัยนี้สนใจในเรื่องการกินกันมากยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที  ตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดี  หรือเครื่องมือสื่อมวลชนอย่างอื่นก็ดี  มีโฆษณาเรื่องกินอย่างมีศิลปะกันยิ่งขึ้นจนเป็นที่เชื่อได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยหลงใหลบูชาในเรื่องการกิน  เกิดมานี้เพื่อกิน  นี้เป็นพวกที่ ๑

พวกที่ ๒  เกิดมาเพื่อกาม  ที่เรียกว่าเรื่องกามนั้น  หมายถึง  ความสนุกสนาน  เอร็ดอร่อย  ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทุกชนิด  เพราะว่าเมื่อเสร็จจากเรื่องกินแล้ว  คนก็หันมาเรื่องความสนุกสนานทางอายตนะเป็นส่วนใหญ่  นี้เรียกว่าเป็นเรื่องกาม  กลายเป็นคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งเหล่านี้ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นทางด้วยกันทั้งนั้น  แม้ที่สุดแต่อบายมุขต่าง ๆ ที่กล่าวนามมาแล้วนั้นก็รวมอยู่ในเรื่องกาม  คือ  ความรู้สึกเอร็ดอร่อยทางจิตใจ  ซึ่งเป็นอายตนะที่ ๖  เป็นเรื่องหลงใหลได้ถึงที่สุดด้วยกันทุกอย่าง  นี้เรียกว่าคนเหล่านี้เกิดมาเพื่อสิ่งที่เรียกว่ากาม  คือ  วัตถุอันเป็นที่ตั้งของความใคร่  อันอาศัยอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องมือ  นี้เป็นพวกที่ ๒

พวกที่ ๓  เกิดมาเพื่อเกียรติ  นี้ได้รับการอบรมสั่งสอนมาให้บูชาเกียรติ  แม้ชีวิตนี้ก็สละให้เพื่อเกียรติ  ถ้าหนทางที่ตนถือเอาสำหรับแสวงเกียรตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ตนรวมกันไป  ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์อยู่มาก  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการติเตียนตามวิสัยชาวโลกทั่ว ๆ ไป  แต่ในทางธรรมะนั้น  ถ้าหลงใหลถึงขนาดตกเป็นทาสของสิ่งที่เรียกว่าเกียรติแล้ว  ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเวทนาสงสาร  คือ  ยังไม่ดับทุกข์นั่นเอง  เพราะฉะนั้น  เรื่องกินก็ดี  เรื่องกามก็ดี  เรื่องเกียรติก็ดี  จึงมีไว้สำหรับเป็นเครื่องหลงใหลอย่างยิ่งได้ด้วยกันทุกอย่าง

อย่างที่เราจะได้ยินได้ฟังอยู่มากกว่าอย่างอื่นในหมู่คนที่ยากจนว่าจำเป็นที่จะต้องประกอบอาชีพเพื่อได้วัตถุมาเลี้ยงชีวิต  แต่แล้วก็ดูเหมือนว่า  ไม่ได้คิดว่ามีสิ่งอื่นซึ่งสำคัญหรือจำเป็นยิ่งกว่าเรื่องทำมาหากิน  จึงถือเอาเรื่องทำมาหากินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตของตน  จนกลายเป็นว่าเกิดมาก็เพื่อทำมาหากิน  ทำไร่  ทำนา  ค้าขาย  หรืออะไรก็แล้วแต่ถนัด  ทำอย่างนี้เรื่อยจนเน่าเข้าโลงไปทีเดียว  ก็ยังไม่มีจุดที่ถือได้ว่าเพียงพอ  นี้เรียกว่าเกิดมาเพื่อทำมาหากินแท้ ๆ  ไม่เคยนึกว่ามีสิ่งใดที่สำคัญไปกว่า  เพราะเหตุว่าคนเหล่านั้นไม่ได้นั่งใกล้พระอริยเจ้า  ไม่ได้ฟังธรรมของพระอริยเจ้า  คงนั่งใกล้แต่เพื่อนปุถุชนด้วยกัน  เขาถือว่าเป็นการถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ถึงที่สุดเพียงแค่นั้น

แต่ที่แท้แล้วมันจะเป็นการถูกต้องเพียงครึ่งเดียวหรือไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป  เพราะว่าคนเรานั้นมีวัตถุประสงค์มุ่งหมายในการเกิดมา  มากไปกว่าที่จะเกิดมาเพียงเพื่อทำมาหากิน  นี่แหละคือข้อที่ทุกคนจะต้องสนใจศึกษากันให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าข้อที่ทุกคนจะต้องสนใจศึกษากันให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าการเกิดมาเพื่อทำมาหากินให้มีชีวิตอยู่นี้อยู่ไปทำไมกัน  ต่อเมื่อมีความเข้าใจอันถูกต้องว่าชีวิตนี้จะอยู่เพื่ออะไร  ในที่สุดแล้วจึงจะรู้ว่าการทำมาหากินนี้เป็นเพียงเรื่องที่สองรองลงมาจากเรื่องทีใหญ่ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่ว่า  เกิดมาเพื่ออะไรนั่นเอง

เราทำมาหากินนี้สำหรับจะได้เลี้ยงชีวิต  เพื่อมีชีวิตอยู่  แล้วจะได้ทำสิ่งอื่นที่ดีกว่านี้  หรือว่าการทำมาหากินนี้สำหรับจะได้สะสมทรัพย์สมบัติไม่มีขอบเขต  เท่าที่เห็นกันอยู่โดยมากเป็นไปในทำนองมาหากินเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติอย่างไม่มีขอบเขต  ไม่ได้ทำมาหากินเท่าที่จำเป็นจะต้องทำ  เช่น  ทำเพียงเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ผาสุก  ไม่มีความยากลำบากให้มีการก้าวหน้าไปตามทางของคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป  คนโดยมากเฝ้าสะสมทรัพย์เท่าไรไม่พอไม่มีขอบเขตจนกระทั่งตัวเองก็บอกไม่ได้ว่าจะเอาไปทำอะไร  อย่างนี้ก็มีอยู่มากมายในโลกนี้  การกระทำอย่างนี้ของบุคคลประเภทนี้  ตามทางศาสนาถือว่าเป็นการทำบาปอยู่ในตัวโดยตรงบ้าง  โดยปริยายบ้าง

ศาสนาคริสเตียนถือว่าการแสวงหาทรัพย์เกินกว่าจำเป็นนั้นเป็นบาปโดยตรง  ในศาสนาอื่นก็มีว่าอย่างนั้น  ในศาสนาพุทธเรานี้ก็มีหลักการในทำนองนั้น  คือ  ว่าผู้ที่มัวคอยสะสมทรัพย์สมบัติไม่มีขอบเขตนั้น  มีความหลง ความโง่ ความเขลา อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่  ขึ้นชื่อว่าความหลงแล้วก็เป็นบาปอยู่ในตัว  แม้ไม่ใช่บาปอย่างฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขาก็ยังเป็นบาปชนิดใดชนิดหนึ่ง  ดังนั้นควรยุติกันเสียสักทีว่า  คนเราไม่ควรจะเกิดมาเพื่อการสะสมทรัพย์สมบัติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  คนเราไม่ควรจะเกิดมาเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ควรจะนึกถึงเรื่องอีกเรื่องหนึ่งซึ่งดีกว่านั้นหมายความว่า  เราสะสมทรัพย์  ก็เพื่อซื้อความสะดวกแก่การเป็นอยู่ในทุกประการ  แล้วก็แสวงหาสิ่งอื่นที่ดีไปกว่าทรัพย์ให้ได้  สิ่งนั้นได้แก่อะไร  ก็ควรจะได้คิดดูเอาเองตามใจชอบไปพลางก่อน

เมื่อปราศจากธรรมะแล้วคนกับสัตว์ก็เสมอกัน

ทีนี้มาถึงข้อที่ว่า  คนที่เกิดมาลุ่มหลงในทางกามนั้นน่าจะระลึกนึกถึงภาษิตโบราณสักบทหนึ่งว่า  “อาหารนิทฺทา  ภย  เมถุนนญฺจ  สามาญฺญเมตปฺปสุภิ  นรานํ”  การแสวงหาความสุขจากการกิน  อาหารก็ดี  การแสวงหาความสุขจากเมถุนธรรมก็ดี  และการรู้จักขี้ขลาดต่อันตรายหนีภัยก็ดี  ๔ อย่างนี้มีเสมอกันในระหว่างสัตว์มนุษย์กับสัตว์เดียรัจฉาน

 “ธมฺโม  หิ  เตสํ  วิเสโส”  แต่ว่าธรรมะเท่านั้น  ที่จะทำให้คนผิดแปลกแตกต่างจากสัตว์  “ธมฺเมน  หีนา  ปสุภิ  สมานา”  เมื่อปราศจากธรรมะแล้วคนกับสัตว์ก็เสมอกัน  นี้เป็นคำกล่าวที่มีมาแต่โบราณกาลก่อนพระพุทธเจ้า  และแม้ในยุคพระพุทธเจ้าก็ยังคงยอมรับภาษิตนี้  และในพุทธศาสนาเราก็ถือว่าคำกล่าวนี้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาด้วย

เป็นอันว่าเท่าที่เกิดมาตามธรรมดาสามัญ  คนเรามีความรู้สึกเหมือนกับสัตว์  ในเรื่องกินเรื่องนอนเรื่องเมถุนธรรมและหนีภัยอันตรายโรคภัยไข้เจ็บศัตรูอะไรก็ตาม  เหล่านี้เป็นเรื่องที่สัตว์ก็ทำเป็นเหมือนกับคน  ดังนั้นการที่จะเกิดมาเพื่อบูชาสิ่งที่เรียกว่ากามคุณ  ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ  นี้คงจะไปไม่รอด  คือ  แสดงว่ายังไม่รู้อะไรอยู่บางอย่างหรือมากอย่างจึงได้ไปลุ่มหลงสิ่งซึ่งแม้ธรรมดาสัตว์เดียรัจฉานก็ทำเป็นดังที่กล่าวมาแล้ว  เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่าวัตถุกามนั้น  เป็นมูลเหตุดึงดูดใจถึงที่สุดยากที่สัตว์ตามธรรมดาจะมองเห็นแล้วถอนตนออกมาได้  เราจึงถือว่าสัตว์ตามธรรมดาไม่ใช่บุคคลสูงสุด  ไม่ใช่บุคคลที่ถึงที่สุดแห่งการเกิดมาเป็นคน  เป็นเพียงผู้ที่กำลังลุ่มหลงอะไรอยู่ในระหว่างทางครึ่ง ๆ กลาง ๆ เท่านั้นเอง  ถือเอาเป็นประมาณไม่ได้และถ้าสิ่งที่เรียกว่ากามคุณเหล่านั้นเป็นสิ่งสูงสุดแล้ว  คนก็ตาม  สัตว์ก็ตาม  ย่อมจะเรียกได้ว่าต่างอยู่ในฐานะถึงสิ่งที่สูงที่สุดแล้วด้วยกันทั้งนั้น

บัดนี้เรายอมรับกันแล้วว่า  แม้แต่พวกเทวดาซึ่งอยู่ในสวรรค์ประเภทกามาวจร  ก็ยังไม่ใช่คนดีวิเศษอะไร  ยังมีความทุกข์ร้อนยังมีความสกปรกเศร้าหมองเพราะประพฤติกรรมที่ไม่สมควรทางกาย  ทางวาจาและทางใจอยู่เป็นประจำ  พวกเทวดาเหล่านั้นเมื่อสำนึกตัวขึ้นมาได้ทีไร  ก็ร่ำหาพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  อยู่ตลอดไป  นี้จึงเป็นอันว่าเรื่องสูงสุดแม้ในทางกามนั้น  ยังไม่ใช่สิ่งสูงสุดของมนุษย์เลย  ไม่ควรถือว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อสิ่งเหล่านั้น

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องเกียรติ  ถ้าจะคิดว่าคนเราเกิดมาเพื่อเกียรติก็คงจะเป็นสิ่งที่น่าสงสารมาก  เพราะว่าดูจะเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ  โดยเหตุที่สิ่งเรียกว่าเกียรตินั้น  ต้องมีมูลมาจากคนเหล่านั้นหรือคนจำนวนมากอุปโลกน์ให้นิยมยกย่องให้เป็นเรื่องอุปโลกน์กันผิด ๆ โดยไม่รู้สึกตัวก็มี  เมื่อคนส่วนมากนั้นเป็นคนโง่  คนเขลา  คนหลง  คนพาล  ไม่รู้จักธรรมะแล้ว  สิ่งที่เขาหลงนิยมยกย่องให้เป็นเกียรติแก่กันนั้นก็ต้องเป็นเรื่องธรรมดา ๆ สามัญตามประสาที่คนเหล่านั้นชอบนั่นเอง  หาใช่เป็นเรื่องที่พระอริยเจ้าท่านสรรเสริญหรือสั่งสอนแต่ประการใดไม่  ยิ่งในสมัยที่คนลุ่มหลงเรื่องเกียรติกันมาก  ก็ดูจะยิ่งเป็นสิ่งที่น่าสมเพชยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที  อย่างว่าใครจะออกไปนอกโลกได้  ถือเป็นเกียรติสูงสุด  มันก็ยังไม่มีอะไรดีไปกว่าที่จะทำมนุษย์ทั้งหมดนี้ให้มีความสุขมากขึ้นได้  มีแต่เรื่องยุ่งเหยิงสับสนอลหม่านมากขึ้นกว่าเก่าเท่านั้น  นี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่าเกียรติของปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปซึ่งมีอยู่โลกนี้  ดังนั้นถ้าจะถือว่าเกิดมาเพื่อเกียรติ  ก็คงจะน่าหัวเราะเท่า ๆ กันกับที่ว่าเกิดมาเพื่อกามหรือแม้แต่เพื่อกิน  อันอยู่ในระดับที่น่าสงสารเท่า ๆ กัน  แล้วแต่ว่าจะถูกอบรมสั่งสอนกันมาอย่างไร

รวมความแล้วเป็นอันว่าทั้งเรื่องกิน  เรื่องกาม  เรื่องเกียรติ  ๓ เรื่องนี้ยังไม่ใช่สิ่งสูงสุดที่พุทธบริษัทจะพึงปรารถนาแน่นอน

สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ทีนี้จะกล่าวถึงพระพุทธภาษิตที่เห็นว่าจะช่วยให้เราเข้าใจคำตอบของปัญหาว่า  คนเราเกิดมาทำไมนี้ได้  กล่าวคือพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิเขปบทข้างต้นทีแรกว่า  “สงฺขารา  ปรมา  ทุกฺขา”  สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง  “นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ”  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  “เอตํ  ญตฺวา  ยถาภูตํ  สนฺติ  มคฺคํ  ว  พฺรูหเย”  เมื่อรู้ความจริงข้อนี้อย่างถูกต้องแล้วบุคคลควรพอกพูนหนทางแห่งสันติ  ดังนี้

ข้อแรกที่ว่า  สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะต้องเข้าใจคำว่าสังขารกันให้ดี ๆ  เพราะสิ่งที่เรียกว่าสังขารนั้นมีอยู่หลายความหมาย  สังขารหมายถึงรูปและนาม  คือ  ร่างกายกับจิตใจนี้ก็มี  สังขารอย่างนี้เป็นทุกข์ต่อเมื่อมีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของตน  ลำพังสังขารล้วน ๆ ไม่ถือว่าเป็นทุกข์ชนิดที่เป็นเครื่องทรมานใจหรือทำความทนยากให้แก่บุคคล  สังขารโดยศัพท์แล้วแปลว่า  “ปรุง”  คือ  กระทำครบถ้วนอย่างที่เราเรียกกันว่าปรุง  ถือเอาตามรูปศัพท์ตรง ๆ อย่างนี้จะดีกว่า  โดยจำกัดความลงไปว่า  การที่ “ปรุง” นี้  หมายถึงกิเลสเป็นผู้ปรุง  ต่อเมื่อมีอวิชชา  ความโง่  ความหลง  (ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสเหล่าอื่น  เช่น  โลภะ  โทสะ  โมหะเกิดขึ้นแล้วก็มี  การปรุง  คือปรุงจิตใจให้ยึดมั่นเป็นนั่นเป็นนี่  มีนั่นมีนี่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า  “ปรุง”  ในที่นี้หมายถึง  ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานรวมอยู่ด้วยเสร็จ  จึงเรียกว่าเป็นการปรุง  ถ้าไม่มีอุปาทาน  ไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเข้าไปรวมอยู่ด้วยแล้ว  การเกิดขึ้นเหล่านั้นไม่เรียกว่าการปรุงในที่นี้  คือ  ไม่เรียกว่า “ปรุง” ในประโยคที่ว่า  “สงฺขารา  ปรมา  ทุกฺขา”  ของปรุงหรือเครื่องปรุงทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง  หมายความว่า  มันปรุงจนเป็นกิเลสตัณหาจนเป็นอุปาทานมีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว  อะไร ๆ ก็เป็นทุกข์ไปหมด  ถ้าไม่ปรุงในทำนองนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์  การปรุงในทำนองนี้มีความทุกข์  และเป็นความทุกข์อยู่ในตัวการปรุงนั่นเอง  การปรุงทำนองนี้แหละที่เรียกว่า  “สังสารวัฏฏ์”  คือ  วนเวียนอยู่ในลักษณะ ๓ อย่าง  กล่าวคือ  กิเลสเป็นเหตุให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป  เมื่อกระทำแล้วเกิดผลขึ้นมา  ก็มีกิเลสที่จะยินดียินร้าย  เพื่อทำซ้ำหรือทำอย่างอื่นต่อไปอีก  วนเวียนอยู่ในเรื่องกิเลส  เรื่องกรรมและเรื่องผลของกรรมเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดนี้คืออาการที่เรียกว่าเป็นการปรุงโดยแท้จริง  ในประโยคที่ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง  คือ  ความปรุงไม่หยุดนั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ข้อ ๒ ที่ว่า  “นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ”  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น  นี้เป็นคำกล่าวอย่างโวหารชาวบ้าน  เพื่อให้รู้สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสังขาร  นิพพาน  ก็คือ  ไม่ปรุง  ไม่ปรุงเมื่อไรก็เป็นนิพพานเมื่อนั้น  ไม่ปรุงเด็ดขาดก็เป็นนิพพานจริง  ไม่ปรุงชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราว  หรือนิพพานชิมลอง  เมื่อผู้ใดรู้เรื่องการปรุงว่าเป็นอย่างไรถึงที่สุดแล้ว  ก็ย่อมจะเข้าใจสภาพที่ตรงกันข้าม  คือ  ไม่ปรุงได้โดยไม่ยากนัก  โดยเทียบเคียงกันในฐานะเป็นสิ่งตรงกันข้าม  นิพพานแปลว่าดับก็ได้  แปลว่าหยุดก็ได้  แปลว่าเย็นคือไม่ร้อนก็ได้  แปลว่าไม่ขบกัดเสียบแทงก็ได้  ความหมายก็เหมือนกันหมดตรงที่ว่ามันหยุดคือไม่ปรุง  ปรุงก็คือไม่หยุด  จะต้องเป็นไปในลักษณะที่เร่าร้อน  เป็นทุกข์เสียบแทงทนทรมานเสมอไป  คำว่านิพพานให้ถือเอาความหมายตรงกันข้ามจากสังขาร  คือ  ไม่ปรุงในลักษณะดังกล่าว

คำกล่าวต่อไปที่ว่า  “เอตํ  ญตฺวา  ยถาภูตํ  สนฺติมคฺคํ  ว  พฺรูหเย”  บุคคลรู้ความจริงข้อนี้อย่างถูกต้องแล้ว  พึงพอกพูนหนทางแห่งสันติ

หมายความว่า  เมื่อรู้ความจริงข้อนี้แล้วให้พอกพูนหนทางแห่งสันติคือนิพพานนั่นเอง  คำว่านิพพานนั้นบางทีก็เรียกว่าสันติซึ่งแปลว่าความสงบเย็น  ใช้แทนกันได้กับคำว่านิพพาน  หมายความว่าให้ทำทุกอย่างทุกประการ  ที่จะให้เคนเราใกล้ชิดกับสิ่งที่เรียกว่าสันติหรือนิพพานนั้นยิ่งขึ้นไปทุกที

เพียงเท่านี้  ท่านทั้งหลายก็คงจะได้เค้าเงื่อนบ้างว่า  พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายให้คนรู้ความจริงเกี่ยวกับความทุกข์และไม่ทุกข์  แล้วให้เริ่มพอกพูนหนทางที่จะดำเนินไปสู่ความไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวง  คือ  นิพพาน

พูดสั้น ๆ ก็ว่าคนเราควรจะเกิดมา  เพื่อพอกพูนหนทางแห่งนิพพานนั่นเอง  แต่ถ้าคนไม่รู้เอาเสียเลยว่ามีนิพพานหรือนิพพานเป็นสิ่งที่ควรปรารถนาอย่างยิ่ง  เพราะเป็นความดับทุกข์อย่างยิ่งแล้ว  คนก็ไม่ปรารถนานิพพานและไม่พอกพูนหนทางแห่งนิพพานอยู่นั่นเอง  ต่อเมื่อรู้จักว่าการเป็นอยู่ในขณะนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง  แล้วอยากจะได้สิ่งที่ตรงกันข้ามเท่านั้นแหละ  คนจึงจะสนใจเรื่องของนิพพาน  และพอกพูนหนทางไปสู่นิพพาน

เมื่อเป็นดังนี้  เขาก็จะต้องดูภาวะของตนเองให้ดีให้ละเอียดให้ลึกซึ้งว่า  ภาวะที่กำลังเป็นอยู่ของตนนี้เป็นสังขารหรือไม่  คนที่ทำกรรมไปตามอำนาจของกิเลส  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำชั่ว  เช่น  การกินเหล้าเมายา  การฆ่า  การฟัน  การขโมย  หรืออะไรต่าง ๆ ที่ถือกันว่าเป็นความชั่วนั้นมันเป็นการ “ปรุง” ของอวิชชา  ความโง่ความหลงเรื่อย ๆ ไป  จนเกิดความเอร็ดอร่อย  สนุกสนาน  เพลิดเพลินแก่บุคคลผู้กระทำ  ได้รับทุกข์แล้วก็ยังอยากจะแก้ทุกข์ด้วยกระทำซ้ำอย่างเดียวกันหรือให้ยิ่งขึ้นไปอีก  นี้เรียกว่าเป็นการปรุงอย่างยิ่งขึ้นไปอีก  จนกว่าเขาจะมองเห็นว่านี่เป็นการทนทรมาน  จึงจะหยุดชะงัก  แล้วเหลียวไปดูทิศทางอื่น  เพื่อจะสอดส่ายหาให้พบสิ่งที่ไม่เป็นความทนทรมาน  ไม่ต้องตกเป็นทาสของเหล้าของการพนันของการทำชั่ว  หรือของการประพฤติผิดนานาประการอีกต่อไป

ทีนี้จะมองดูในกรณีผู้ที่ทำดี  หรือไม่ทำชั่วทำนองนั้น  แต่ว่าทำสิ่งที่เขาเรียกกันว่าดีอยู่ทุก ๆ เวลา  ได้รับผลสมจริงตามสิ่งที่เขาเรียกกันว่าดี  เช่น  มีเงิน  มีชื่อเสียง  มีอะไรทุก ๆ อย่างตามที่คนดีเขาต้องการกัน  แต่ว่าเมื่อมามองดูความสุขทุกข์ทางใจแล้วเขาก็ยังต้องร้องไห้  ระทมทุกข์เท่ากับที่มีเงินมาก  มีเกียรติมาก  มีชื่อเสียงมากอยู่นั่นเอง  คนมีเกียรติมากก็ร้องไห้บ่อย ๆ เพราะเกียรตินั้น  คนมีทรัพย์มากก็ร้องไห้บ่อย ๆ เพราะทรัพย์นั้น  คนมีลูกก็ร้องไห้เพราะลูก  คนมีหลานก็ร้องไห้เพราะหลาน  หรือมีอะไรที่ตนรักตนพอใจก็ต้องร้องไห้เพราะสิ่งนั้น  แม้ที่สุดบางคนก็ต้องร้องไห้เพราะวัวเพราะควายเป็นต้น  อย่างนี้ก็มี

นี้ล้วนแต่แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า  แม้ว่าจะได้กระทำไปในทางที่ดี  ไม่มีผิด  ไม่เป็นบาป  ไม่เป็นอกุศลแล้ว  ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์  ยังต้องเป็นทุกข์ไปตามแบบของคนดี  คนชั่วเป็นทุกข์ตามแบบคนชั่ว  คนดีเป็นทุกข์อย่างละเอียดลึกซึ้งตามแบบคนดีในเมื่อมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตนเป็นคนดี  ดังนั้น  เมื่อมองดูในลักษณะของธรรมชาติล้วน ๆ แล้วจะพบว่า  คนชั่วที่กำลังเสวยผลของความชั่ววนเวียน ๆ อยู่นั้นเป็นการปรุง  คนดีที่กำลังได้รับผลของความดีวนเวียน ๆ อยู่นั้นเป็นการปรุง  ทั้งสองพวกเป็นการปรุงด้วยกันทั้งนั้น  ไม่มีหยุด  จะต้องไหลเรื่อยไปไม่มีหยุด  มีการคิดการทำ  เมื่อได้รับผลของการทำแล้วก็มีการคิดต่อไป  นี้เรียกว่า “สังสารวัฏฏ์” เป็นการปรุงอย่างยิ่ง

คนเราเกิดมาเพื่อพอกพูนหนทางไปพระนิพพาน

พอมานึกได้อย่างนี้  คนจะสนใจสิ่งที่ตรงกันข้าม  คือ  เห็นว่าเงินก็ช่วยไม่ได้  ชื่อเสียงก็ช่วยไม่ได้  สิ่งเท่าที่เรามีมาหมดแล้วนี้ก็ช่วยไม่ได้  เราควรจะมีอะไรหรือได้อะไรที่ดีกว่านี้  เมื่อนั้นแหละเขาจะเริ่มชะเง้อหาสิ่งที่ดีกว่าสูงกว่าไปในทิศทางอื่น  จนกระทั่งไปพบพระอริยเจ้า  นั่งใกล้พระอริยเจ้า  ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า  จึงได้รู้เรื่องสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งต่าง ๆ ที่ตนมีตนเป็น  ตนกระทำอยู่นั้นก็คือเรื่องพระนิพพาน  หรือเรื่องหนทางของพระนิพพานนั่นเอง  เขามีความแน่ใจว่านี่แน่แล้วเป็นสิ่งที่ทุกคน ๆ ควรจะได้ควรจะถึงและคนทุกคนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้แน่แล้ว  เพราะว่าสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดนั้นไม่เป็นความดับ  ความเย็น  ความสงบ  ยังเป็นความสับสนวุ่นวายคือปรุงแต่งอยู่นั้นเอง  เขาจึงได้สนใจเรื่องพระนิพพานในลักษณะที่จะพอกพูนทางของพระนิพพาน  โดยถือว่าคนเราเกิดมาเพื่อพอกพูนหนทางของพระนิพพานนั้น

สิ่งที่ควรจะคิดมีอยู่อีกนิดหนึ่งว่า  การที่เกิดมานี้  เราต้องการหรือไม่  เราพอใจหรือไม่  โดยที่แท้แล้วคนทุกคนไม่เคยรู้สึกเรื่องนี้  ว่าไม่ได้เคยอยากเกิดโดยตรง  แต่ว่ามันได้เกิดมาแล้ว  พอเกิดมาแล้วได้พบสิ่งซึ่งเป็นอารมณ์ที่ถูกใจทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  หลงใหลพอใจในสิ่งเหล่านี้  จึงได้อยากเกิด  หรืออยากเป็นอยู่  อยากให้มีอยู่เพื่อจะได้บริโภคสิ่งเหล่านี้  หรือเมื่อได้ยินได้ฟังว่าทำบุญให้มากตายไปแล้วก็จะมีสิ่งเหล่านี้  ชั้นดีกว่านี้ประณีตกว่านี้  สูงสุดกว่านี้  ก็มีความอยากเกิดยิ่งขึ้นไปอีก  เพื่อจะให้ได้สิ่งเหล่านี้

ใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า  เพราะได้เกิดมาจึงได้บริโภครูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์ซึ่งถูกอกถูกใจ  เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น  เป็นตัวตนเป็นของตนขึ้นมา  เป็นการเกิดขึ้นมา  แล้วก็พอใจยินดีในการเกิด  กลัวความดับหรือความตายเป็นอย่างยิ่ง  เพราะว่าจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้  นี้เรียกว่าโดยเนื้อแท้แล้วคนไม่ได้เกิดมาเองได้  หรือไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา  ด้วยเจตนาของตน  มันเป็นมาตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์ครั้นเป็นคนขึ้นมาแล้ว  จึงได้รับการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกนึกคิดไปในทางที่อยากเกิดในลักษณะที่กล่าวมานี้  ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติจริง ๆ หรือเอาสัตว์เดียรัจฉานเป็นเกณฑ์กันแล้ว  ความอยากเกิดจะมีน้อยมาก  และจะไม่มีปัญหายุ่งยากเหมือนมนุษย์ด้วยซ้ำไป  เดี๋ยวนี้มนุษย์จะยอมรับว่า  เราเป็นผู้อยากเกิด  และเกิดมาเพื่อจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  อย่างนั้นจริงหรือไม่  ถ้าจะถือว่าเราอยากเกิดมาเพื่อจะทำอะไรที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำ  ตอนนี้ฟังดูแล้วก็คล้าย ๆ กับว่าเป็นความโง่ความหลง  หรือความเสือกกระโหลกอยู่มากเหมือนกัน  เพราะว่าถ้าเลือกเอาในทางที่ไม่เกิดได้แล้ว  มันก็ไม่ควรจะเกิดมาตั้งแต่ทีแรก  ทำไมจะต้องมาอยากเกิดขึ้นมา  เพื่อจะต้องสร้างต้องทำต้องเดินทางไปกว่าจะถึงที่สุดถึงนิพพานอีกเล่า  เรื่องไม่บังเกิดก็ดีอยู่แล้ว  ทำไมจะเกิดมาเพื่อให้เป็นภาระด้วยเล่า

นี่แหละคือปัญหาหรือต้นเงื่อนของปัญหาที่เป็นตัวอวิชชา  หรืออย่างน้อยก็มีมูลมาจากอวิชชาที่ว่าคนเราเกิดมาเอง  หรือว่ามีอะไรบังคับให้เกิดมา  และว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง  คนโดยมากไม่คิดมากถึงอย่างนั้น  จะคิดตัดบทสั้น ๆ แต่เพียงว่าที่กำลังเกิดอยู่เดี๋ยวนี้จะต้องทำอะไร  พอเห็นว่าเกิดมาเพื่อสะสมทรัพย์ก็สะสมทรัพย์เรื่อย ๆ ไปก็แล้วกัน  หรือถ้าเกิดมาเพื่อกินเพื่อเกียรติก็ทำไปเพื่อกิน  เพื่อเกียรติอีก  แล้วก็ถือว่าพอแล้ว  มีชื่อเสียงมาก  พอใจแล้ว  กายเป็นสุขแล้ว  อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความถูกของบุคคลนั้นอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน  ที่ถือเอาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น

แต่เดี๋ยวนี้คนเราได้รับการศึกษามีการอบรมให้รู้จักคิดนึกมากกว่านั้น  จนกระทั่งมองเห็นว่าการทำอย่างนั้น  การได้เป็นอย่างนั้น  การได้ทำจนถึงที่สุดของความเป็นอย่างนั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจเราเลย  ยังมีอะไรที่เรารู้สึกว่าซ่อนเร้นอยู่  เราจำใจจำทำเท่าที่นึกได้เพียงเท่านั้น  เราอาจจะถูกหลอกถูกลวงได้อย่างไรก็ได้  เมื่อสงสัยอยู่ดังนี้  ก็คงจะไม่วายที่จะคิดไปว่ายังมีอะไรยิ่งไปกว่าเกียรติ  ในที่สุดก็จะมาร่องรอยของธรรมะที่ว่า  เกิดมาเพื่อศึกษาให้รู้เรื่องที่สูงสุดประเสริฐสุดของมนุษย์  ให้ได้พบสิ่งที่สูงสุดที่ประเสริฐสุดของมนุษย์ให้จบให้สิ้นสุดลงตรงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้  ไม่มีอะไรดียิ่งไปกว่านั้นแล้ว  นี้หมายความว่าเมื่อยอมรับว่าเกิดมาหรือต้องเกิดมา  และเกิดมาแล้วจะมีอะไรที่จะต้องทำให้ถึงที่สุด  จนถือว่าเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์  ดังนี้ก็ไม่ควรจะมีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง  และเป็นภาระที่เป็นความดับทุกข์ได้สิ้นเชิงที่ตนถึงลุพึงถึงตามหลักของพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อทำ

ให้รู้จักสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะเข้าถึง

นี่เป็นการกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อทำให้รู้จักสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะเข้าถึงหรือได้รับนั่นเอง  ศาสนาอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนา  ก็ล้วนแต่พยายามที่จะตอบปัญหาว่าเกิดมาทำไมอย่างเดียวกันหมด  คือว่ามนุษย์เกิดมาเพื่ออะไรที่ดีที่สุดด้วยกันทั้งนั้น  จึงได้บัญญัติความอิ่มเอิบด้วยกามคุณเป็นสวรรค์ว่าเป็นสิ่งสูงสุดบ้าง  และบัญญัติความสุขที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณเป็นความสุขที่บริสุทธิ์อย่างพรหมโลกว่าเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษย์บ้าง  กระทั่งมีลัทธิที่สอนว่าเกิดมาเพื่อหาความสุขจากความรู้สึกที่ว่าไม่มีอะไรเลยดังนี้ก็มี

กระทั่งความที่มีอาการเหมือนกะว่าเป็นอยู่ก็ไม่ใช่  ตายแล้วก็ไม่ใช่  คือ  ไม่มีสัญญาในสิ่งใดหมด  เกิดความสุขขึ้นมาจากภาวะอย่างนี้  นี้ก็บัญญัติว่าเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์จะพึงได้พึงถึงก็ยังมีและสูงสุดกันอยู่เพียงเท่านี้ในยุคพุทธกาล  พระพุทธเจ้าทรงขวนขวายศึกษาตามสำนักต่าง ๆ จนจบจนทั่ว  ก็ได้รับคำสอนสูงสุดเพียงเท่านี้  พระองค์มีปัญญามากพอที่จะเห็นว่านี้เป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จะถึง  จึงได้ทรงค้นต่อไปตามวิถีทางของพระองค์เอง  จึงได้ตรัสรู้สิ่งที่ดับทุกข์สิ้นเชิงที่เรียกว่านิพพานนี้ขึ้นมา  แม้ว่าสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ๆ นี้เขาก็มีพูดกันก่อนพุทธกาล  แต่ความหมายของคำว่านิพพานในลัทธินั้น ๆ ไม่เหมือนกับความหมายของคำว่านิพพานในพระพุทธศาสนา  ดังเช่นบางลัทธิบางศาสนาในครั้งกระโน้น  ถือเอาความถึงที่สุดของกามารมณ์ว่าเป็นนิพพานและเรียกชื่อว่านิพพานอย่างนี้ก็มี  นี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าคำพูดนั้นไม่แน่  มันต้องเอาความหมายเป็นเกณฑ์  ถ้าถือว่าเกิดมาเพื่อให้ได้นิพพาน  ก็ต้องเป็นนิพพานตามหลักของพุทธศาสนา  อย่าได้เป็นนิพพานตามหลักของลัทธิอื่น  เช่นเอาความสมบูรณ์ของกามารมณ์เป็นนิพพาน  หรือเอาความสุขอันเกิดจากสมาบัติขั้นสูงสุดเป็นนิพพานดังนี้เป็นต้นเลย

เมื่อถือว่านิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของเรา  ก็ต้องหมายเอานิพพานในพระพุทธศาสนา  นิพพานในพุทธศาสนา  เมื่อกล่าวสำหรับคนทั่วไปแล้วเราพึงเข้าใจเถิดว่าตรงกันข้ามจากคำว่าสังขาร  โดยบาลีว่า  “สงฺขารา  ปรมา  ทุกฺขา”  สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง  “นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ”  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  ดังนี้

ดังนั้น  จึงได้ความว่าสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นก็คือไม่ปรุงนั่นเอง  เกิดมาเพื่อไม่ปรุงฟังดูก็ขันดี  ขันดีตรงที่บางคนอาจจะหัวเราะเยาะก็ได้ว่า  เกิดมาเพื่อหาให้พบ  “ความไม่ปรุง”

ความปรุง  คือ  เวียนว่ายไปในสังสารวัฏฏ์เป็นความทุกข์  ความไม่ปรุงคือมีสติปัญญาสูงมีขนาดที่ตัดผ่าวงกลมนี้ให้ขาดกระจายออกไป  ไม่ให้หมุนได้อีกต่อไป  คือไม่เป็นสังสารวัฏฏ์  อย่างนี้เรียกว่าไม่ปรุงคือ  เกิดมาเพื่อหยุดเสียซึ่งสังสารวัฏฏ์  ให้ถึงที่สุดของความทุกข์คือ  ไม่มีทุกข์เลย  นี้เรียกว่านิพพาน  อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลึกลับมหัศจรรย์เหลือวิสัยของคน  หรือว่าเป็นสิ่งที่จะได้ต่อตายแล้ว

ขอให้เข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า  สิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้น  ต้องได้ในขณะที่มีความรู้สึกเป็น ๆ อยู่อย่างนี้  ในขณะใดไม่มีการปรุงแท้จริงในขณะนั้นเป็นนิพพาน  ถ้าเด็ดขาดก็เป็นนิพพานแท้  ถ้าไม่เด็ดขาดก็เป็นนิพพานชั่วคราวดังที่กล่าวแล้ว  เมื่อรู้จักนิพพานชั่วคราวแล้ว  ก็เห็นลู่ทางสว่างไสวที่จะดำเนินต่อไป  จนถึงนิพพานถาวรคือนิพพานแท้จริงที่ทำบุคคลผู้ลุถึงให้เป็นอรหันต์นั่นเอง  นี้ก็เพราะมารู้ว่า  สังขาร  คือ  ปรุง  เป็น  “ทุกข์”  นิพพาน  คือ  ไม่ปรุง  เป็น  “สุข”  คนทุกคนควรจะเกิดมาเพื่อพอกพูนหนทางของพระนิพพานโดยแท้

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  ก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า  หลักธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น  เมื่อจะต้องตอบปัญหาที่ถามว่าเกิดมาเพื่ออะไรแล้ว  ก็น่าจะถือเอาพระพุทธภาษิตบทนี้เป็นหลักสำหรับที่จะตอบ  และเพื่อจะให้คนทุกคนไม่ว่าระดับไหนชั้นไหนถือเอาประโยชน์ได้จากพระพุทธภาษิตนี้  จึงได้นำมากล่าวในโอกาสนี้และในลักษณะเช่นนี้  หวังว่าในโอกาสแห่งการเข้าพรรษานี้  การเดินทางไปสู่สันติของท่านทั้งหลาย  คงจะก้าวไปเร็ว  เร็วกว่าระยะกาลนอกพรรษาโดยแน่นอน  ขอให้เป็นผลสมตามความปรารถนาโดยสมควรแก่การที่ศึกษาเข้าใจในหนทางแห่งธรรมะนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป  ด้วยกันจงทุกคนเทอญฯ

ธรรมเทศนา  สมควรแก่เวลา  เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้