#echo banner="" ความเชื่อที่งมงาย พุทธทาสภิกขุ

คลิกเมาส์ที่ใดก็ได้ในเฟรมนี้เพื่อเรียกเมนูด่วน

ความเชื่อที่งมงาย

พุทธทาสภิกขุ

ตีพิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ ปีที่ ๗๙ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๓๘

ปุถุชนเราตั้งแต่เกิดมา ย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องที่ก่อความใคร่ (กาม) เป็นสมบัติชิ้นที่ ๑ แล้วยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อของตัวเอง (ทิฏฐิ) เป็นสมบัติชิ้นที่ ๒ ส่วนสมบัติชิ้นที่ ๓ ก็คือ “ความงมงาย” (สีลัพพตปรามาส) ผู้ใดมัวแต่หอบหิ้วสมบัติชิ้นใหญ่ ๆ เหล่านี้อยู่ ย่อมไม่สามารถละจากความเป็นปุถุชน เพื่อไปสู่ความเป็นอารยชนหรือพระอริยเจ้าได้

ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ปุถุชน (คนที่มีผ้าปิดบังดวงตาหนาทึบ กล่าวคือ คนโง่ คนเขลา คนหลง) จะต้องรู้ความผิดพลาดหรือเหตุที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะการหอบหิ้วทรัพย์สมบัติอย่างนี้อยู่ หลักพระพุทธศาสนาในส่วนปริยัติและการปฏิบัตินั้น ได้แก่ความรู้และการปฏิบัติ เพื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ไม่ฝังตัวเข้าไปในสิ่งทั้งหลายด้วยความยึดมั่นถือมั่น ในหลักศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ดังที่ท่านได้ตรัสยืนยันของท่านเอง สรุปแล้วก็คือ ”สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”

แต่ปุถุชนไม่สามารถจะทำลายความยึดมั่นถือมั่น หรือไม่สามารถจะปล่อยวางสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ก็เพราะมีของน่ารักน่าใคร่เป็นเครื่องล่อ แล้วมีทิฏฐิความเห็นผิดของตนนานาชนิดเป็นเหมือนบ่วงหรือเบ็ด ทีนี้ยังเหลืออยู่แต่ว่า คนทั้งหลายจะโง่งมงายเข้าไปกินเหยื่อติดบ่วงติดเบ็ดนี้หรือไม่เท่านั้น ถ้าหากว่าไม่งมงาย เหยื่อกับบ่วงนั้นก็เป็นหมันไป เหยื่อกับบ่วงกลายเป็นสิ่งอันตรายขึ้นมา ก็เพราะความโง่เขลางมงายของตนเองมากกว่า ถ้าหากว่า คนเราปราศจากความงมงายแล้ว เหยื่อกับบ่วงก็ไม่อาจทำอันตรายแก่เราได้ ฉะนั้นเราจึงควรศึกษาเรื่องความงมงาย ที่อาตมาเรียกว่าเป็นสมบัติชิ้นที่ ๓ ที่ปุถุชนหอบหิ้วมาอย่างรุงรังนุงนังไปหมด ตั้งแต่สมัยป่าเถื่อนที่สุด จนกระมั่งถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนใดยังมัวแต่หอบหิ้วสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้อยู่แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าไปในเขตของพระอริยเจ้า เราจะต้องสลัดทิ้งสิ่งที่เป็นข้าศึกเหล่านี้ออกให้หมด จึงจะเข้าถึงฝ่ายอันเป็นพระอริยเจ้าได้

นี่ไม่ใช่เป็นการกล่าวอย่างอวดดีหรือยกย่องตัวเอง หรือชักชวนท่านทั้งหลายให้มักใหญ่ใฝ่สูง แต่เป็นการแสดงให้ทราบว่าเมื่อปุถุชนต้องการจะให้พ้นจากความทุกข์ก็ต้องปฏิบัติตามร่องรอยของหลักธรรมที่ท่านวางเอาไว้จึงจะละความเป็นปุถุชน คือคนหนาไปด้วยฝ้าในดวงตาให้มาสู่ความเป็นอริยเจ้า มีสติปัญญารู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ปุถุชนย่อมไม่เห็นความจริงข้อนี้ จึงมีความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นเพราะไฝฝ้าที่บังดวงตากล่าวคือ ความเขลา ความโง่ ความหลงงมงาย มีหนามากมนดาวงตามันหุ้มห่อปัญญามากจนปัญญาไม่สามารถทำหน้าที่ของปัญญาได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องขูดเกลาสิ่งเหล่านี้ออก เมื่อดวงตาสามารถมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงได้ ก็เรียกว่าเริ่มละจากความเป็นปุถุชนเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งมีความหมายแต่เพียงว่าเป็นผู้เอาชนะหรือเริ่มเอาชนะความทุกข์ได้ดังนี้เป็นต้น

ความงมงายนี้มีมาตั้งแต่เดิมยากที่จะถอนได้ แล้วยังทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของดีของถูก พลอยเป็นของไม่ดีไม่ถูกไปเสียด้วย พระอริยเจ้าจำพวกแรกที่สุดกล่าวคือ “พระโสดาบัน” ผู้ที่เข้าถึงกระแสของพระนิพพานนั้นจะต้องละได้ ๓ อย่าง คือ “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา” และ “สีลัพพตปรามาส” อันสุดท้ายนี้แหละคือความงมงาย อนึ่ง มีสิ่งที่ควรกำหนดรู้ด้วยว่า ถ้าสติปัญญามีมากพอที่จะละความงมงายได้แล้วย่อมละ “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา” สองข้อแรกนั้นได้อยู่ในตัว

สิ่งที่เรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” นี้มีผู้เข้าใจผิด เพราะเหตุที่ไม่มีคำอธิบายอย่างชัดแจ้งอยู่ในพระบาลีเลย มีกล่าวถึง “สีลัพพตปรามาส” แต่เพียงชื่อ จึงต้องอาศัยอรรถกถา คือคำอธิบายที่เขียนขึ้น ทำไมพระบาลีจึงไม่มีคำอธิบายในเรื่องนี้ อาตมาเชื่อแน่ว่าเพราะเป็นคำธรรมดาที่ใคร ๆ ในสมัยนั้นเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงอะไร ในบาลีจึงไม่มีคำอธิบาย ต่อมาจึงไม่รู้ว่าคืออะไรแน่ ที่มีอธิบายไว้ก็กระท่อนกระแท่นเต็มที ซึ่งทำให้เห็นว่า แม้ในสมัยของอรรถกถา ซึ่งเขียนกันประมาณพันปีเศษ หลังจากปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ได้มีปัญหาในคำนี้มาแล้วเลยเขียนไว้สั้น ๆ ว่า ได้แก่การประพฤติอย่างใด อย่างสุนัข เช่น ทรมานตนอย่างใด กินหญ้าอย่างใด ทำลายความผาสุกทางกาย เป็นการทรมานอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเขาหวังว่ากิเลสจะเบาบางไปเพราะเหตุนั้น ประพฤติอย่างสุนัขก็เช่นเดียวกัน เช่นถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ กินอาหารอย่างสุนัข นอนอย่างสุนัข ซึ่งเป็นของพวกมิจฉาทิฏฐิ นอกพุทธศาสนา และมีมาก่อนพุทธศาสนา แล้วมีอยู่เรื่อย ๆ มา เป็นเพียงวัตรปฏิบัติของนิกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร การที่อรรถกถาอธิบายเช่นนี้ก็เพราะผู้อธิบายไม่รู้ไม่เข้าใจคำว่า “สีลัพพตปรามาส” นั่นเอง

ถ้าหาก คำนี้หมายความถึงความประพฤติอย่างสุนัขหรืออย่างโคแล้วก็เห็นได้ว่าในพวกเราเวลานี้ไม่มีใครประพฤติอย่างสุนัขและโค ซึ่งหมายความว่าพวกเราละความงมงายกันได้แล้วทุกคน แม้ในสมัยพุทธกาลหรือในสมัยต่อ ๆ มา ก็ปรากฏว่าไม่มีพุทธบริษัทประพฤติตัวอย่างโคหรืออย่างสุนัข ซึ่งก็แปลว่าเขาไม่มีความงมงายอยู่เป็นปกติแล้ว จะต้องกล่าวทำไมอีกถึงเรื่องนี้ นี่เป็นข้อที่ขัดแย้งในตัวเอง ฉะนั้น คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระที่สุด

ทีนี้เราก็จะต้องวินิจฉัยเอาเองว่า ความงมงายที่แท้จริงจะต้องละนั้นคืออะไร เมื่อได้พิจารณาโดยทางตัวหนังสือของคำนี้แต่ละคำ หรือทางความหมายก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ได้แก่ความงมงายทุกชนิดที่เป็นสมบัติประจำตัวปุถุชน ความงมงายของคนเราที่มีอยู่เป็นอย่างไร เราต้องรู้สึกนึกถึงสมัยที่ยังป่าเถื่อน คือตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในโลก เมื่อยังเป็นคนป่า เมื่อยังกลัวฟ้ากลัวฝน กลัวธรรมชาติที่เข้าใจไม่ได้ จนกระทั่งค่อย ๆ เปลี่ยนมากลัวผีสางนางไม้ หรือเทวดาที่ตนเชื่อว่าสิงประจำอยู่ในธรรมชาติเหล่านี้ แล้วก็มีการมอบกายถวายชีวิตแด่นางไม้ เทวดา หรือพระเป็นเจ้า มีพิธีบูชาขอร้องต่าง ๆ นานา ซึ่งก็ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเรื่อย ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้ แม้ในทุก ๆ วันนี้ก็ได้มีระเบียบวิธีสำหรับการบูชาที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิกันโดยวิธีแยบคายที่สุด กล่าวคือเพื่อจูงคนให้เลื่อมใสคล้อยตามไปได้มากที่สุด นี่คือสายหรือแนวแห่งความงมงายที่ตั้งต้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยป่าเถื่อน แล้วก็มีการปรับปรุงขยับขยายให้จับอกจับใจขึ้นทุกที ๆ จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังละความงมงายกันไม่ได้ บางคนยังสะดุ้งกลัวต่อสิ่งที่คนเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังหวาดเสียวต่อสิ่งที่นาเองมองไม่เห็นตัวหรือเข้าใจไม่ได้ และยังมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลอยู่เหนือคน บังคับบัญชาคนอยู่ แม้จะได้เป็นนักศึกษาผ่ารนมหาวิทยาลัยมาแล้วก็ยังรู้สึกขนพองสยองเกล้าต่อสิ่งที่คนเข้าใจไม่ได้เหล่านั้นอยู่ คือ “ความงมงาย”

ทำไมเราจึงเรียกความงมงายว่า สีลัพพตปรามาส ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความงมงายต่อสิ่งเหล่านี้มันทำให้บุคคลบัญญัติศีล และข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้นตามความงมงายของตนอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ บุคคลที่กำลังประพฤติสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้วนั่นแหละ เช่นให้ทาน รักษาศีล หรือทำสมาธิด้วยความงมงาย ด้วยความเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังผลผิด ใช้เหตุผลผิด หรือไม่ประกอบด้วยเหตุผลเสียเลย ทำเอาข้อปฏิบัติที่ถูกต้องหรือบริสุทธิ์สะอาดกลายเป็นข้อปฏิบัติทีสกปรก หม่นหมองไปเพราะความงมงายของผู้ปฏิบัติเอง สรุปความสั้น ๆ ก็คือ ความงมงายทำให้คนบัญญัติการปฏิบัติขึ้นมาอย่างงมงาย จนแทบจะมองดูไม่ได้ แล้วความงมงายของคนยังทำให้ ข้อวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ดีนั้น ให้กลายเป็นของมัวหมองไปเสียอีก สองอย่างนี้เรียกว่า “สีลัพพตปรามาส”

ถ้าคนใดยังละความงมงาย ๒ ประการนี้ไม่ได้ ก็แปลว่า ยังไม่ถึงพระพุทธศาสนา แม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท ก็ยังไม่ใช่พุทธบริษัทที่แท้ และจะไม่สามารถละจากโคตรเดิม กล่าวคือโคตรปุถุชนเข้ามาสู่โคตรใหม่ คือโคตรของพระอริยเจ้าได้ ต้องเป็นปุถุชนหนาไปตามเดิม ไม่มีทางที่ใครจะช่วยได้ ฉะนั้น จึงต้องสนใจเรื่องความงมงายนี้กันเป็นพิเศษ ถ้าเราอยากจะมีความพ้นทุกข์ หรือดับทุกข์ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถึงขนาดจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ปลอดภัย คือเข้ามาถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ซึ่งมีหวังแน่นอนว่า ต่อไปข้างหน้าผู้นั้นจะบรรลุถึงพระนิพพานในโอกาสใดโอกาสหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย

เดี๋ยวนี้มีปัญหาอยู่ที่ว่า คนส่วนมากยังไม่สามารถละความงมงายดังกล่าวนั้นได้ ยังติดแน่นหรือติดตังอยู่ที่ความงมงาย ถึงจะรักษาศีลมาเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้สึกว่ามีศีลบริสุทธิ์ หรือศีลช่วยอะไรไม่ได้ ประพฤติวัตรปฏิบัติมานมนานเท่าใด ก็ไม่เคยเห็นผล ฉะนั้น มันต้องทีอะไรผิดอยู่สักอย่างหนึ่งในการประพฤติธรรม อาตมาถึงขอร้องย้ำแล้วย้ำอีกว่า จงดูให้ดี ๆ แม้ว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุสามเณร หรือพระเถระก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าความงมงายนี้ อาจจะมีอยู่ได้ในข้อปฏิบัติของคนเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น พระภิกษุบางองค์ถือว่าพอได้ลงปาฏิโมกข์แล้วก็สะอาดหมดบาปหมดกรรม หมดเวรกันไปเสียที มีความรู้เพียงเท่านี้ มีความเชื่ออย่างนี้ แล้วก็ไปลงปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถ นั่งฟังอยู่อย่างนกแก้วนกขุนทอง จบแล้วก็โล่งใจว่าบริสุทธิ์กันเสียที เหมือนกับสะบัดขี้ฝุ่นออกจากตัวอย่างนั้น ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นความงมงายอย่างยิ่ง เป็นความงมงายไร้เหตุผล ทำลายความมุ่งหมายเดิมของการลงอุโบสถหรือปาฏิโมกข์นั้นให้หายไปหรือเปลี่ยนไป หรือให้กลายเป็นสิ่งที่น่าหัวเราะเยาะไป แม้แต่ในเรื่องของภิกษุที่ถือกันว่าคงแก่เรียนนั้น ความงมงายก็ยังมีอยู่ได้ถึงเพียงนี้ การประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความงมงายไม่ชอบด้วยเหตุผล เช่นว่ารักษาศีลหรือปฏิบัติธุดงค์ หรือว่าสมาทานวัตรอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเชื่อว่าจะกลายเป็นผู้มีอะไรพิเศษขึ้นมา เกิดอำนาจขลังศักดิ์สิทธิ์อะไรขึ้นมา หรือแม้ที่สุด ไปคิดเสียว่ามันจะทำให้โชคดี มีโอกาสร่ำรวยได้โดยง่าย หรือจะฟลุกถูกรางวัลนั่นนี่ได้โดยง่าย หรือแม้ที่สุดว่าทำเพื่อหวังไปเกิดในสวรรค์ในวิมาน ซึ่งมีความหมายเป็นกามคุณอย่างยิ่งเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความงมงายทั้งนั้น เพราะเหตุว่าศีลและวัตรต่าง ๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งไว้เพื่อความมุ่งหมายดังกล่าว ท่านบัญญัติไว้เพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตัวหรือขูดเกลากิเลสให้เบาบาง ให้ยึดมั่นถือมั่นน้อยลงต่างหาก เมื่อไปเปลี่ยนความมุ่งหมายเดิมจนกลายมาเป็นเรื่องจะพอกพูนความเห็นแก่ตัวจัด เอาอะไรเป็นของตัวตามอำนาจของกิเลสตัณหาหรือทิฏฐิเหล่านี้แล้ว มันก็เท่ากับมีมืออันสกปรกมาลูบคลำศีลและวัตรที่บริสุทธิ์สะอาดให้กลายเป็นสิ่งที่สกปรกไป จึงกล่าวได้ว่าเป็นความงมงาย กลายเป็นเรื่องนอกลูนอกทาง นอกรีตนอกรอยและนอกพระพุทธศาสนาไป เราจะต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษอย่าให้เสียเกียรติของพุทธบริษัทเป็นอันขาด พุทธบริษัท แปลว่า กลุ่มของบุคคลผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สมกับที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งคน รู้คนตื่น คนเบิกบาน จะมีเรื่องงมงายก็กำลังมีอยู่ในที่ทั้งปวง มีอยู่ในวัตรปฏิบัติของพุทธบริษัททุกแขนง และทุกระดับไม่ว่าที่ไหน และเมื่อใด

ส่วนมากของความงมงาย ก็ได้แก่ความเข้าใจผิดในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันเป็นมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น สมัยที่ยังเป็นคนป่าคนดง เป็นคนที่ยังไม่มีการศึกษาอะไรเลย ครึ่งคน ครึ่งสัตว์ กลัวต่อวิ่งที่ตนไม่อาจเข้าใจได้ เรียกว่ากลัวต่อสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ความรู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์หรือขลังนั้นยังไม่ได้สูญหายไป ยังคงมีสืบมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แม้ในหมู่คนที่มีการศึกษาดี ๆ แม้เป็นภิกษุสามเณรก็ยังรู้สึกว่ามีอำนาจอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์นอกเหนือไปกว่าธรรมดา ยังหวาดสะดุ้งต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนมองไม่เห็นตัว แล้วมีความเชื่อว่ามันมีอยู่จริงจึงเกิดการปฏิบัติต่าง ๆ ที่กระทำไปเพื่อปลดเปลื้องความกลัวนี้ เช่นการเสกเป่าบนบานอ้อนวอนบูชา ฯลฯ กระทำกันอยู่ในหมู่ภิกษุหรือแม้ในหมู่พระเถระอย่างงมงาย ไม่ต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาหรือของพระพุทธเจ้า ทำไปโดยอำนาจของความเขลาในของศักดิ์สิทธิ์ เชื่อในของขลังของศักดิ์สิทธิ์ บางทีตัวเองก็อาจจะรู้เหมือนกันว่า ไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา แต่เมื่อไม่อาจจะละได้ ก็เลยถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝากไว้ ในฐานะเป็นของผนวกเข้ากับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็เกี่ยวกับเรื่องผีสางเทวดาเป็นส่วนมาก ถ้าใครยังสะดุ้งกลัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจอุปาทาน หรือ สีลัพพตปรามาสอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้มั่นใจเถอะว่าคนนั้นยังมีความงมงาย ไม่ว่าจะเป็นคนชนิดไหนหรืออยู่ในเพศใด

อำนาจของความกลัวและความงมงายทำให้คนต้องกันเข้าหาที่พึ่งภายนอก คือแทนที่จะพึ่งความดีที่ตนเองกระทำ กลับไปพึ่งที่พึงภายนอก แล้วแต่เขาจะมีความงมงายไปทางไหน อาจจะถือที่พึ่งเป็นผีสางเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก หรือแม้ที่สุดการคิดพึ่งผู้อื่นอะไรก็ให้คนอื่นเขาช่วยเสียเรื่อยไป ถ้าไม่มีใครช่วยก็ถือว่าไม่ยุติธรรม อย่างนี้ก็ควรถือว่าเป็นการถือที่พึ่งภายนอกด้วยเหมือนกัน มีใครสักกี่คนที่มีความแน่ใจในการพึ่งการกระทำของตนเอง คือพึ่งความดี พึ่งการกระทำที่ถูกต้องของตนเอง แทบจะกล่าวได้ว่า คนที่มีจิตใจแน่วแน่กล้าหาญเฉียบขาดอย่างนี้หาได้ยากที่สุด มีแต่คนที่จะคิดพึ่งผู้อื่นแล้วยิ่งได้รับการสอนการอบรมมาผิด ๆ  ก็ยิ่งคิดจะพึ่งผีสางนางไม้ พึ่งอะไรที่มองไม่เห็นตัวเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น วัดความงมงายของคนได้ด้วยเหตุที่มีศาลพระภูมิมากขึ้น มีการดูฤกษ์ยามมากขึ้น ถ้ามีศาลพระภูมิ หรือมีหมอสะเดาะเคราะห์มากขึ้น ก็เป็นเครื่องแสดงที่แน่ชัดที่สุดว่า คนเราหวังที่พึ่งภายนอกมากขึ้น ๆ แทนการหวังที่พึงภายในคือการกระทำอันถูกต้องคลองธรรมด้วยสติปัญญาที่รุ่งเรืองตามองค์พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ที่แท้จริง ซึ่งได้แก่การกระทำที่ถูกต้อง จนเกิดความสะอาด สว่าง สงบขึ้นในใจ

ยังมีเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า การถือที่พึ่งภายนอกมีมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเชื่อได้ว่า ความงมงายไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ยิ่งหนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น หุ้มห่อคนโง่เหล่านั้นให้มืดมิด ให้ตกจมไปในห้วงแห่งความงมงายมากขึ้น แล้วผลที่จะตามมาข้างหน้าต่อไปนั้น ก็จะต้องเป็นความสับสนยุ่งยากอลเวงมากขึ้นทุกที ๆ ตามสัดส่วนของความงมงาย จนกระทั่งเหลือวิสัยที่พวกเราจะปัดเป่าความยุ่งยากโกลาหลนี้ให้หมดสิ้นไปได้ เพราะว่าเราได้เพิ่มเติมความงมงายขึ้นในพวกของเรากันเองนี้อยู่เรื่อย ๆ ให้มันมากขึ้น ๆ เท่า ๆ กับที่การศึกษาในทางโลก ๆ ได้เจริญมากขึ้น พิสูจน์กันได้ง่าย ๆ โดยข้อเท็จจริงที่ว่าเครื่องหมายของการถือปัจจัยภายนอก เช่นการหวังพึ่งเทวดา หรือศาลพระภูมิ การดูฤกษ์ยาม หรือการอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก มันมีมากขึ้น หนาขึ้น มันไม่น้อยลง ผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้องในพระพุทธศาสนา จะไม่อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกมาเป็นเครื่องบันดาล มันเพิ่งเกิดมีขึ้นใหม่ไม่นานมานี้เอง เราจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยเรานี้ ยิ่งมีความงมงายหนาแน่นยิ่งขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ เป็นอันว่า เราไม่ควรจะนอนใจว่า ความงมงายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าหวาดเสียว ไม่สำคัญสำหรับเรา “สีลัพพตปรามาส” ไม่ใช่ข้อปฏิบัติอย่างสุนัข อย่างโค แต่ร้ายไปยิ่งกว่าการปฏิบัติอย่างสุนัข อย่างโคเสียอีก ทำไมจึงว่าอย่างนี้ ถ้าเราจะพิจารณาดู ก็จะเห็นว่าสุนัขหรือโคที่เขาอ้างถึงในอรรถกถา มันไม่ได้กลัวผีกลัวเทวดา มันไม่ได้อ้อนวอนพระภูมิเหมือนกับพวกมนุษย์ มันไม่ได้หมอบกราบสิ่งที่มันไม่รู้จักตัวเหมือนกับพวกมนุษย์ ใครเคยเห็นสุนัขหรือโคกลัวผีกลัวเทวดา หรือทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอน เราจะเห็นว่าไม่มีเลย แต่แล้วทำไมมนุษย์ที่เจริญด้วยการศึกษากลับมาหมอบราคาบแก้วหัวจรดดินไหว้ผีไหว้สาง บวงสรวงบุชาเทวดา อันไหนมันจะร้ายกว่ากัน ไม่ต้องสงสัยละ ความงมงายของคนที่เป็นถึงขนาดนี้ มันย่อมร้ายกาจยิ่งไปกว่าศีลและวัตรของสุนัขหรือโคแน่ ๆ

อาตมาอยากจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ อีกสักเรื่องหนึ่งว่า ถ้าใครเรียนวิชาความรู้โดยผิดความมุ่งหมายของวิชานั้นก็ถือว่าเป็น “สีลัพพตปรามาส” เหมือนกัน เช่นภิกษุเรียนธรรมวินัยด้วยความมุ่งหมายผิดไปจากธรรมวินัยแล้ว ต้องถือว่าการกระทำนั้นเป็นความงมงาย อีกอย่างหนึ่งมีพระบาลีพุทธภาษิตว่า “พวกโมฆบุรุษนี้เรียนปริยัติ เพราะปรารภเสียงสรรเสริญของปริยัติ และเพื่อจะใช้เป็นเครื่องอ้างเพิ่มน้ำหนักให้เป็นคำพูดของตนเอง” ลองฟังดูให้ดี ๆ ถ้าใครก็ตามเรียนปริยัติ เรียนธรรมะและวินัย เพราะความปรารถนาสรรเสริญของโลก หรือว่าเรียนให้รู้แตกฉาน เพื่อจะได้เอามาประกอบคำพูดของตัวให้มีน้ำหนักก็ดี อย่างนี้ท่านเรียกว่า “โมฆบุรุษ” คือเป็นคนไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมวินัย ความมุ่งหมายของการเรียนธรรมวินัยก็คือ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดทุกข์ อย่างนี้เท่านั้น ใครเรียนเพื่อลาภ ยศ สักการะ เสียงสรรเสริญ ฯลฯ ไม่ได้เรียนสำหรับนำไปปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยตรงแล้ว ท่านเรียกว่าเป็น “โมฆบุรุษ” ซึ่งถือว่าเป็นคำด่าอย่างแรงที่สุดในพุทธศาสนา

ฉะนั้นเรื่องสีลัพพตปรามาสนี้ เราจะต้องพิจารณากันเสียใหม่ อย่าได้ปล่อยไว้ในฐานะเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ได้นำมากล่าวอย่างซ้ำซาก และยกตัวอย่างไว้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ ก็เพราะอาตมามีความสลดใจ หรือมีความเป็นห่วงเป็นทุกข์แทนพวกเราทุกคน ในการมี่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความงมงาย พวกเราได้ปล่อยให้สิ่งนี้ขยายตัวกว้างออกครอบคลุมพวกเรามากขึ้น ๆ คล้ายกับว่า เราได้เผลอปล่อยให้สิ่งที่น่าสะดุ้งน่าหวาดเสียวนี้ครอบงำพวกเรามากขึ้นทุกที ความงมงายเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวเสียแล้วก็ไม่ใช่ความงมงาย ถ้าเรายิ่งเผลอ หรือยิ่งทำเล่น ๆ กับมันมากเพียงใด ความงมงายก็ยิ่งขยายตัวขึ้นมากเพียงนั้น ฉะนั้น หวังว่าคนทุกคนคงจะได้สอบสวนพิจารณาตัวเองให้รู้จักสิ่งที่ควร เรียกว่า “ความงมงาย” นี้ให้มากเป็นพิเศษกว่าที่แล้ว ๆ มา ขอให้เข้าใจว่า ความงมงายคือเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผลทุกชนิด เป็นสมบัติชิ้นที่ ๓ ของปุถุชนที่ได้อุตส่าห์หอบหิ้วแบกหามกันมานานหนักหนาแล้วนับตั้งหมื่นปี แสนปี มาจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่ยอมปล่อย ฉะนั้นปุถุชนเหล่านี้จึงเข้าไปในเขตของพระอริยเจ้าไม่ได้ เพราะมัวคิดหรือมัวแต่แบกหามหอบหิ้วสมบัติชิ้นที่  ๓ นี้กันอย่างไม่หยุดหย่อน จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสะดุ้งหวาดเสียวที่สุด เพราะว่าตั้งหลายหมื่นหลายแสนปีแล้วที่ได้หอบหิ้วกันมา และเป็นเครื่องกักขังตัวเองไว้ในกรงของปุถุชนคนหนา อย่างที่ไม่มีวันที่จะหลุดออกได้ เราต้องอาศัยหลักพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือสำหรับถอนความงมงายข้อนี้ แล้วเราจึงจะเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

ทีนี้จะกล่าวถึงหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นเครื่องขจัดหรือถ่ายถอนความงมงายหลักนี้เราเรียกว่า “กาลามสูตร” หรือ เกสปุตติยสูตร เป็นพุทะภาษิตจัดไว้สำหรับแก้ไขความงมงาย เฉพาะเรื่องเดิมมีอยู่ว่า คนกลุ่มหนึ่งได้ทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงข้อที่เขากำลังงงกันไปหมดโดยไม่อาจทราบได้ว่า ข้อปฏิบัติอย่างใดจะดับทุกข์ได้โดยตรง ครูบาอาจารย์พวกนี้ก็มาสอนอย่างหนึ่ง พวกโน้นก็มาสอนอีกอย่างหนึ่ง มากมายหลายพวกด้วยกัน จนไม่รู้ว่าอันไหนเป็นที่เชื่อถือได้ ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้แก่เขา

ลักษณะเช่นนี้ เราน่าจะนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในยุคของพวกเราทุกวันนี้บ้างเหมือนกัน เพราะว่าในปัจจุบันนี้ ก็มีหลักปฏิบัติพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกบ้าง นอกพระไตรปิฎกบ้าง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ บ้าง ของไทยบ้าง ของต่างประเทศบ้าง ดูจะสับสนวุ่นวายกันพอใช้ จนประชาชนที่สนใจเกิดงงงันกันไป แล้วเราจะทำอย่างไร ฉะนั้นน่าจะอาศัยการแก้ปัญหาข้อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดียวกัน คือพระองค์ได้ตรัสสอนคนเหล่านั้นว่า

๑.      อย่าได้ถือโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมา

๒.      อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาได้ทำตาม ๆ กันมา

๓.      อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดแล้ว ว่าเป็นความจริง

๔.      อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันมีอ้างอยู่ในคัมภีร์หรือปิฎก (ตำรับตำรา)

๕.      อย่าได้เชื่อถือโดยการเดาของตัวเอง

๖.      อย่าได้เชื่อถือโดยการคาดคะเนของตัวเอง

๗.      อย่าได้เชื่อถือโดยการตรึกตรองตามเหตุผลส่วนตัว

๘.      อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า มันเข้ากันได้กับลัทธิความเชื่อถือที่ตนกำลังถืออยู่เป็นประจำ

๙.      อย่าได้เชื่อถือโดยเหตุสักว่า ผู้พูดหรือผู้สอนนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

ในข้อสุดท้ายนี้ ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า คำว่า “ครูบาอาจารย์” นั้น หมายถึงพระพุทธเจ้าท่านเองด้วย เพราะว่าในบาลีแห่งอื่นได้กล่าวไว้ชัดเจน พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธว่า “อย่าเชื่อโดยเหตุว่าตถาคตกล่าว” หรือ “อย่าเชื่อคำของตถาคต โดยไม่พิจารณาให้เห็นแจ้งเห็นจริง” นี่เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านได้มีพุทธประสงค์จะให้เราหลุดพ้นจากการเป็นทาสของความงมงายเพียงไร ท่านให้อิสรภาพอย่างไร ท่านให้เราเป็นผู้กล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ท่านทรงมุ่งหมายให้เราหลุดจากความเป็นคนงมงายโดยเด็ดขาด เพราะความงมงายนี้ ย่อมเป็นอุปสรรคอันดับแรกของการที่จะดำเนินไปสู่เขตแดนของพระอริยเจ้า

ข้อแรกที่ว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุสักแต่ว่าคนเขาบอกต่อ ๆ กันมา นี่ก็หมายถึงสิ่งที่เขาสอน ๆ กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงคนชั้นนี้ เราจะถือว่าถูกต้องตามไปด้วยนั้นยังไม่ได้ เราจะต้องใช้ปัญญาของเราพิจารณาด้วย

ข้อ ๒. ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะเขาทำตาม ๆ กันมา ก็ด้วยการทำด้วยกายให้เป็นตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ตื่นนอนขึ้น ก็เสกคาถาอย่างนั้นอย่างนี้ ลุกหลานเห็นเข้าก็เสกคาถาตาม การไหว้ทิศ ไหว้พระอาทิตย์ หรือไหว้ของศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน พอลูกหลานเห็นบิดามารดาทำ ก็ทำตามไปด้วย พ่อแม่คนใดออกไปนอกพระพุทธศาสนา เด็ก ๆ ก้ออกไปตามโดยไม่รู้สึกตัว นี่เป็นการสอนเด็กของเราให้หันเหออกไปนอกพระพุทธศาสนา ไปรับเอาลัทธิที่งมงายเป็นภัยเป็นอันตรายแก่เด็กเองมากยิ่งขึ้นทุกที ๆ และพวกเด็กไม่มีเหตุผลของตนเองว่าทำไปแล้วมันจะเกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร เมื่อมีการสอนด้วยวาจา หรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กก็ตะครุบเอาทันที เป็นอันว่า การใช้สติปัญญาพิจารณาโดยเหตุผล ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้เลย ฉะนั้น การบอกต่อ ๆ กันมาหรือการทำตาม ๆ กันมา การอ้างประเพณีนั้นประเพณีนี้ จึงเป็นทางทำให้เกิดความงมงายขึ้นเท่านั้น แม้ในเรื่องการวิปัสสนาหรือกรรมฐาน คนเราก็กลับนิยมสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมา หรือทำตาม ๆ กันมา หรือเชื่อข่าวเล่าลือมากกว่าที่จะยึดเอาตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในตำราเสียอีก คิดดูให้ดี ๆ เพียงแต่ว่ามีอยู่ในตำรา พระพุทธเจ้าท่านก็ยังห้ามไม่ให้ยึดถือทันที แต่แล้วพวกเราก็ยังยึดถือสิ่งที่อยู่นอกตำรับตำราทันที

วิปัสสนากรรมฐานเรื่องอานาปานสติ มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในตัวพระไตรปิฎกเอง โดยเฉพาะที่เป็นหัวข้อแท้ ๆ มีอยู่ในมัชฌิมนิกาย การทำอานาปานสติอย่างไรตั้งแต่ต้นถึงที่สุดก็มีอยู่ยืดยาวสมบูรณ์ที่สุด ถูกต้องที่สุดตามหลักของพระพุทธศาสนา แต่แล้วก็ไม่มีใครสนใจเลย สู้เอาตามที่เขาบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากไม่ได้ สู้เอาที่เขาทำตามกันมาอย่างปรัมปราไม่ได้ หรือสู้แบบที่เขาเล่าลือแตกตื่นสรรเสริญกันฟุ้งไปหมดว่าที่นั่นวิเศษ ว่าที่นี่วิเศษไม่ได้ อันนี้เองจึงเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนาอย่างงมงายกันขึ้น เพราะโทษที่ไม่ถือตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับไว้ อาตมาไม่ได้ตั้งใจกระทบกระเทียบกระแนะกระแหนผู้ใด หรือหมู่คณะใด ประสงค์จะยกตัวอย่างเรื่องจริง ๆมาปรับทุกข์กันมากกว่า ว่าการตื่นข่าวเล่าลือหรือว่าความเชื่ออย่างงมงายที่บอกต่อ ๆ กันมาตามข้อ ๓ นี้นั้น มันทำให้เกิดความงมงายขึ้นในวงการชั้นสูงของพระพุทธศาสนา กล่าวคือวงการของวิปัสสนาอันเป็นขั้นที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่แล้วก็ถูกความงมงายครอบงำทับไปหมด สูญสิ้นไปหมด เกิดวิปัสสนากรรมฐานชนิดที่นอกตำรับตำราขึ้นมาแทน นี่แหละเป็นที่น่าสลดสังเวชใจและน่าห่วงสักเพียงใด ขอให้เราลองใช้ปัญญาคิดกันดู

ข้อที่ ๔. พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกเธออย่าเชื่อโดยเหตุสักว่า สิ่งนี้มีอ้างอยู่ในตำรับตำรา แต่การที่อาตมาชักชวนท่านทั้งหลายให้ถืออานาปานสติกรรมฐาน โดยอ้างว่ามีอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ที่แท้แล้วอาตมาไม่ต้องการให้ท่านทั้งหลายยึดถือเอาข้อปฏิบัติเหล่านี้ โดยเหตุแต่เพียงว่า มันมีอยู่ในตำรา แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า มันมีอย่างสมบูรณ์ในพระไตรปิฎก ซึ่งเราจะต้องพิจารณาศึกษาให้ละเอียดให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนด้วยสติปัญญาของตัวเอง ว่าถ้าเราทำไปอย่างนี้แล้ว ในระดับนี้ จิตจะสงบเป็นสมาธิได้จริง ในระดับนี้จิตจะยกเอาความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น มาเป็นอารมณ์ของการพิจารณาให้เห็นว่า ความสุขอย่างนี้มันก็ไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือ และในขั้นสุดท้ายก็จะต้องปล่อยทั้งหมด นับว่าเป็นการพิจารณาโดยสติปัญญาของตนเอง แล้วก็เห็นสมจริงตามข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก มันเกิดผลขึ้นมาจริงอย่างไรนั้นเป็นลำดับ ๆ ไป การแน่ใจอย่างนี้ไม่ใช่ความงมงาย เพราะได้พิจารณาโดยเหตุผลแล้วยังได้ปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนตลอด และรู้จักสิ่งเหล่นั้นด้วยการที่ได้ผ่านไปจริง ๆ กลายเป็นความรุ้แจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาหยั่งรู้หยั่งเห็น ส่วนความงมงายนั้นมันไม่ประกอบด้วยเหตุผลเสียเลย มันจึงเป็นสิ่งที่ท่านสมเพชเวทนาอย่างยิ่ง

ข้อที่ ๕ –– ๗ เกี่ยวกับ การเดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง และตรึกตรองตามเหตุผลส่วนตัว หรือสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัว  ๓ ข้อนี้เป็นความงมงายอย่างหนัก จริงอยู่ที่คนพวกนี้เขาไม่เชื่อตำรา ไม่ตื่นข่าวเล่าลือที่บอกกันต่อ ๆ มา หรือทำสืบ ๆ กันมา แต่กลับเดาเอาเอง ใช้เหตุผลในเรื่องของตัวเอง อย่าได้ถือว่าการใช้สติปัญญาของตนเองแล้วจะไม่เป็นการงมงายเสมอไป มันอาจเป็นความงมงายที่ซ้อนความงมงาย คือตัวนึกว่าตัวมีปัญญาของตัวเองจนไม่เชื่อคำของคนอื่น แต่ที่ถูกนั้นเราจะต้องอาศัยเหตุผลอย่างอื่น ๆ เข้ามาประกอบการนึกคิดของเราด้วย แม้สิ่งที่คนบอกเล่ากันมาก็เอามาประกอบเป็นเหตุผล ถ้าทำอย่างนี้การคาดคะเนจะผิดน้อยลง อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าท่านว่ายังไม่พอ ท่านต้องลองให้ปฏิบัติดูจนเกิดผลปรากฏขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ข้อที่ ๕ –– ๗ นี้จึงจะปลอดภัย

ข้อที่ ๘. ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะมันตรงกับลัทธิของตน นั้น หมายความว่า ตามธรรมดา คนเราทุกคนย่อมมีทิฏฐิหรือความเชื่อ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นของประจำตัวอยู่เสมอ นี่เรียกว่าลัทธิของตัว เป็นลัทธิความเชื่อที่สร้างขึ้นเอง ยึดมั่นถือมั่นเองอย่างเหนียวแน่น และยกขึ้นเป็นสัจจธรรมของตัวเอง ตามธรรมชาติของคนทั้งหลายเขาจะไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ นอกเหนือไปกว่าที่เขากำลังเข้าใจอยู่ในขณะนั้น ถ้าเขามีความรู้เท่าใด เคยเชื่ออย่างไรและสันดานอย่างไร เขาจะยึดเอาเพียงแค่นั้นว่าเป็นความจริงถูกต้องของเขา จนกว่าเขาจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นอีก หรือปฏิบัติเพิ่มเติมก้าวหน้าต่อไปอีก ความจริงหรือความเชื่อของเขาจึงจะก้าวหน้าต่อไปได้ สัจจธรรมของบางคนก็อยู่ในระดับต่ำมาก เช่นความเชื่อของเด็ก ๆ หรือของคนเกเรอันธพาล แต่เขาก็ถือว่าของเขาถูก ถึงหากบางทีเขาไม่กล้าค้านความเห็นของบุคคลอื่นเพราะจำนนต่อเหตุผล เขาอาจจะยอมรับเอออวยไปด้วย ซึ่งก็เป็นแต่ปากเท่านั้น ส่วนใจจริงของเขายังถือตามความเชื่อเดิมของตน ลัทธิเดิมจึงเป็นสิ่งครอบงำคนนั้นอย่างเหนียวแน่นควบคุมหรือป้องกันคนคนนั้นไม่ให้หลุดไปจากความงมงายได้ ขอเราทุกคนอย่าได้ตกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ จงค่อย ๆ ถอนตัวออกมาจากความเชื่อเดิม ๆ มาสู่สัจธรรมที่เป็นของจริงของแท้ของพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วคนนั้นจะต้องตกอยู่ในความเชื่อของตัวตลอดไป และจะถูกล่อลวงเมื่อไรก็ได้ ถ้าคนหลอกลวงเหล่านั้นเขามีอะไรมาให้ ชนิดจะเข้ากันได้กับความเชื่อเดิม ๆ ของตน ความงมงายนั้นก็จะทำให้ผู้นั้นรับเอาทันทีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถูกล่อลวงโดยไม่รู้ตัวว่าถูกล่อลวง เพราะมันตรงกับความเชื่อของตนอยู่ดั้งเดิม และผู้พูดก็อยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้เสียด้วย เช่น พวกนักบวชเป็นต้น

ข้อที่ ๙. ที่ว่า อย่าเชื่อเพราะผู้พูดอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้ นี้ ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับอาตมาเอง คือมีคนชอบอ้างว่า “ถ้าไม่เชื่อก็ให้ถามท่านดูซิ” นี่แสดงว่า เขาจะให้คนอื่นเชื่ออาตมา เพราะอาตมาอยู่ในฐานะที่พอจะเชื่อได้ อย่างนี้แล้ว ถ้าอาตมาร่วมมือก็รู้สึกว่าเป็นการร่วมกันกบฏต่อพระพุทธศาสนา และล้มล้างระเบียบของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ยอมไม่ได้ เราต้องตักเตือนเขาให้พิจารณาดูด้วยสติปัญญาของตัวเอง ให้เข้าใจคำพูดหรือตัวหนังสือทุก ๆ ประโยค แล้วให้เขาไปสอดส่องจนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาเอง ฉะนั้นเราควรเลิกอ้างบุคคล เชื่อถือคำพูดของบุคคล เชื่อความคิดของใคร ๆ แต่เราจะรับฟังไว้ในฐานะว่า ท่านพอจะเชื่อได้บ้าง แต่ท่านก็อาจจะเข้าใจเรื่องผิด ฟังผิด สำคัญผิด วินิจฉัยผิดไปได้เหมือนกัน เราจะรับคำของท่านไปพิจารณาดูเท่านั้น เราจะไม่ถือเอาคำพูดของท่านเป็นคำพิพากษาเด็ดขาด

ข้อที่ ๑๐. อันเป็นข้อสุดท้ายว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ คล้ายกับว่า จะไม่ให้เราเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์ เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำความยุ่งยากมากอยู่แล้ว คือเด็ก ๆ ไม่ค่อยเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์ แต่แล้วทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเช่นนั้น เรื่องนี้ต้องวินิจฉัยกันให้มากสักหน่อย มิฉะนั้นแล้วจะเข้าใจความหมายข้อนี้ผิด คือเราต้องแบ่งคนตามขั้นของจิตใจ เมื่อใครไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดนึกได้ด้วยตนเอง ผู้นั้นก็ต้องอยู่ในกรอบของระเบียบประเพณีไปก่อน นี่หมายความว่า เมื่อใครยังไม่มีเหตุผลพอที่จะลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี ก็จำต้องเชื่อไปก่อน เหมือนเด็กจะต้องเชื่อบิดามารดาครูบาอาจารย์ไว้ก่อน เมื่อโตขึ้น ค่อยศึกษา ค่อยวินิจฉัยวิพากษ์วิจารณ์สิ่งเหล่านั้นในภายหลัง จนกระทั่งรู้ว่า ตัวเองผิดอย่างไร ถูกอย่างไรได้ด้วยตนเอง ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์วินิจฉัยมากขึ้นเท่าใด คำแนะนำสั่งสอนก็พิสูจน์ตัวเอง ว่า ถูกหรือผิดมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นการที่เด็ก ๆ จะต้องเชื่อฟังบิคามารดาครูบาอาจารย์ในที่นี้จึงไม่ขัดกับ “กาลามสูตร” แต่ส่วนมากก็คือว่า เด็กไม่ยอมเชื่อ เพราะมันไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง หรือด้วยความสำคัญผิด ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจในข้อ ๑๐ นี้ให้ดี ๆ มิฉะนั้นจะไปลบหลู่บิดามารดาครูบาอาจารย์เข้าก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนอะไรผิด แต่เราไม่ได้เชื่อตามท่านทันที

ในบรรดาความงมงายทั้งสิบประการนี้ ขอให้พวกเราสำรวจตัวเองดูว่า มันมีอยู่ในตัวเราข้อใดบ้าง และมากน้อยเพียงใด พระพุทธเจ้าท่านถือว่า ความงมงายนี้เป็นเหตุอันหนึ่งซึ่งจะนำคนไปสู่ความพินาศตามความต้องการของพญามาร คือ กิเลสตัณหา ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ชนิดที่เรียกว่า ตกนรกทั้งเป็น การตกบ่อ บ่อที่มีหอกแหลนหลาวนั้นเป็นการเจ็บเพียงแต่กาย ไม่ได้ทำให้คนเสียมนุษยธรรมหรืออะไรดี ๆ ของมนุษย์เลย แต่ถ้าเราตกบ่อความงมงายเหล่านี้ มันจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ เสียคุณธรรมที่ดีหมด จึงถือได้ว่าน่ากลัว น่าหวาดเสียว ยิ่งกว่าความตายทางกาย ความตายทางจิตใจนี้ คือตายหรือตกจมอยู่ในความมืดของความโง่ หลง แต่พวกเรากลับไม่กลัวกันเลย ไปกลัวความเจ็บไข้ความตายทางกาย กลัวอด กลัวไม่ได้อะไรมาบำรุงร่างกาย จึงได้กล้าทำสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดศีลธรรม เมื่อผิดศีลธรรมแล้วก็ไม่ต้องสงสัย มันย่อมขัดขวางความบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้พิจารณากันดูให้รู้จักสมบัติชิ้นที่ ๓ ของปุถุชนที่อุตส่าห์หอบหิ้วกันมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน้น คือสมัยที่ยังเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้โดยไม่เสื่อมสิ้นไปได้ เพราะอำนาจของอะไร เพราะอำนาจของสีลัพพตปรามาสนั่นเอง ถ้าความเชื่อความงมงายนี้ยังไม่ถูกละออกจากตัวใครแล้ว คนนั้นก็ไม่มีหวังจะเข้าไปถึงเขตของพระอริยเจ้า ทั้ง ๆ ที่ตนจะทำวิปัสสนาชนิดไหนมากเท่าใด และประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร การปฏิบัติธรรมของผู้นั้น จะถูกลูบคลำให้เศร้าหมองไปด้วยความงมงายโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น ควรถือว่า ความงมงาย หรือที่เรียกว่า ความไม่อยู่ในอำนาจของเหตุผลนั้น เป็นปัญหาที่จะต้องสนใจอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยปละละเลยต่อไปอีก