๑. ประวัติ พระอัญญาโกณฑัญญเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี



๑. สถานะเดิม

พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่า โกณฑัญญะ ตามโคตรของท่าน บิดา และมารดา เป็นพราหมณ์มหาศาล ไม่ปรากฏชื่อ เกิดที่ บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ อยู่ไม่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์
การศึกษา ท่านเรียนจบไตรเพท และรู้ตำราทำนายลักษณะ

๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มารับประทานอาหาร เพื่อเป็นมงคล และทำนายลักษณะพระราชโอรสตามราชประเพณี แล้วได้ คัดเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากจำนวน ๑๐๘ คนนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระราชกุมาร โกณฑัญญะซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดได้รับคัดเลือกอยู่ในจำนวน ๘ คนนั้นด้วย พราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายพระราชกุมารว่า มีคติ ๒ อย่าง คือ

๑. ถ้าอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
๒. ถ้าเสด็จออกผนวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก

โกณฑัญญพราหมณ์ มีความมั่นใจในตำราทำนายลักษณะของตน ได้ทำนายไว้อย่างเดียวว่า พระราชกุมารจะต้องเสด็จออกผนวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ตั้งแต่นั้นมา โกณทัญญพราหมณ์ได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าตนยังมีชีวิตอยู่ พระราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อไร จะออกบวชตาม ต่อมาเมื่อพระราชกุมารเสด็จออกผนวชและบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ ทราบข่าว จึงได้ชักชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ ๑. วัปปะ ๒. ภัททิยะ ๓. มหานามะ ๔. อัสสชิ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุตรของพราหมณ์ในจำนวน ๑๐๘ คน ที่ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารทั้งสิ้น รวมเป็น ๕ คนด้วยกัน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่ากลุ่มคน ๕ คน ได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดด้วยคิดว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะได้เทศนาสั่งสอนตนให้ได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง

๓. บรรลุโสดาปัตติผล

เมื่อพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปี แต่ไม่ได้ตรัสรู้ ทรงแน่พระทัยว่า นั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกการทำทุกกรกิริยา มาทำความเพียรทางใจ ปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า หมดความเลื่อมใสเพราะเข้าใจว่า กลับมาเป็นคนมักมากจึงพากันหนีไป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเทศนา อันดับแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์ แล้วได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ครั้นเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่าคงจะมาหาคนอุปัฏฐาก จึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์แต่ได้ปูอาสนะเอาไว้ แต่พอพระพุทธองค์เสด็จไปถึง กลับลืมกติกาที่ได้ทำกันไว้ เพราะความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์ ทั้งหมดได้ลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรม เหมือนที่เคยปฏิบัติมา แต่ยังสนทนากับพระองค์ด้วยถ้อยคำอันไม่เคารพโดยการออกพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ใช้คำพูดอย่างนั้น และตรัสบอกว่า เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง และปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่ช้าจะได้บรรลุอมตธรรมนั้นปัญจวัคคีย์ได้ปฏิเสธพระพุทธองค์ถึง ๓ ครั้งว่า พระองค์เลิกความเพียรแล้วจะบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร พระพุทธองค์จึงได้ทรงเตือนสติพวกเขาว่า เมื่อก่อนนี้ท่านทั้งหลายเคยได้ฟังคำที่เราพูดนี้บ้างไหม ทำให้พวกเขาระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยอมฟังพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปป์ปวัตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนาแก่พวกเขา ในเวลาจบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะเกิดธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา (ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาสุดท้ายต้องดับไป) ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะเกิดธรรมจักษุนี้ พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ๆ ท่านจึงได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะรู้ธรรมก่อนใคร ๆ

๔. วิธีอุปสมบท

เมื่อโกณฑัญญะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรมหมดความสงสัยในคำสอนของพระศาสดาแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านได้เป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

๕. การบรรลุอรหัตตผล

ครั้นพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาบันแล้ว ทรงประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน วันหนึ่ง ตรัสเรียกทั้ง ๕ รูปมาตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอนัตตาไม่ใช่เป็นอัตตา เพราะถ้า เป็นอัตตา แล้วไซร้ ก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ (เจ็บป่วย) และต้องได้ตามปรารถนาว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น แต่เพราะทั้ง ๕ นั้น เป็นอนัตตา ใคร ๆ จึงไม่ได้ตามปรารถนาของตนว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๕ รูปได้เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตัวของเรา จึงเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อหน่ายย่อมหมดกำหนัด ครั้นหมด กำหนัดย่อมหลุดพ้น ทั้ง ๕ รูปจึงได้บรรลุอรหัตตผล ด้วยพระเทศนานี้ ๆ ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร

๖. งานประกาศศาสนา

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการช่วยประกาศพระศาสนา เพราะอยู่ในจำนวนพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกด้วยพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ สุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ผลงานที่สำคัญของท่านคือ ทำให้นายปุณณะบุตรของนางมันตานี ผู้เป็นหลานชายได้บวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมา หลานของท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระศาสนา มีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านจำนวนมาก

๗. เอตทัคคะ

พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี หมายความว่า รู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด

๘. บุญญาธิการ

ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญูรู้แจ้งธรรมก่อนใคร ๆ จึงปรารถนาฐานันดรนั้น แล้วได้ทำบุญมีทาน เป็นต้น พระปทุมุตตรศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จแน่นอน จึงได้พยากรณ์วิบากสมบัติของเขา จนมาถึงศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี เขาได้เกิดเป็นกุฏุมพี ชื่อว่า มหากาล ได้ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ด้วยบุญญาธิการดังกล่าว จึงได้รับเอตทัคคะนี้จากพระบรมศาสดา

๙. ธรรมวาทะ

ในอรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ชื่อวิสุทธชนวิลาสินี กล่าวไว้ว่า พระเถระได้แสดงธรรมแก่ ท้าวสักกะ อันมีห้องแห่งอริยสัจ ๔ ถูกไตรลักษณ์กระทบ ประกอบด้วยสุญญตา วิจิตรด้วยนัยต่าง ๆ หยั่งลงสู่อมตะ ด้วยพุทธลีลา ท้าวสักกะทรงสดับธรรมนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์จึงได้ทรงสรรเสริญว่า

เรานี้ได้ฟังธรรมอันมีรสยิ่งใหญ่ จึงเลื่อมใสยิ่งนัก พระเถระแสดงธรรมอันคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง

๑๐. นิพพาน

พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ช่วยพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาอยู่ระยะหนึ่ง บั้นปลายชีวิต ได้ทูลลาเข้าไปอยู่ในป่าหิมวันต์ จำพรรษาอยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อกาลจะปรินิพพานใกล้เข้ามา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงอนุญาตการปรินิพพาน แล้วกลับไปยังที่นั้น แล้วนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗