๐ ข้อมูลเบื้องต้น
พระสุพาหุเถระ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า
นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยต้นพุทธกาล
พระสุพาหุเถระ เป็นพระสงฆ์กลุ่มแรก ๆ ในพระพุทธศาสนา
โดยท่านเป็นพระสงฆ์ผู้เป็นสหายของพระยสเถระ เมื่อท่านบวชแล้วได้เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล
พระเถระที่ชื่อ สุพาหุ
ในพระบาลีมีอยู่ ๒ รูป คือ
๑. พระสุพาหุเถระ ที่มีกำเนิดเป็นโอรสของเจ้ามัลละองค์หนึ่งในเมืองปาวา
เป็นสหายกับโอรสของเจ้ามัลละอีก ๓ พระองค์ คือ โคธิกะ วัลลิยะ และ
อุตติยะ พระโอรสทั้ง ๔ ได้พากันไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง
ก็ในสมัยนั้น พระศาสดาเสด็จไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ในนิโครธาราม
ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรมานเจ้าศากยะ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประมุข.
ครั้งนั้น โอรสแห่งเจ้ามัลละทั้ง ๔ เหล่านั้นได้ เห็นปาฏิหาริย์เกิดความเลื่อมใส
บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา ต่อมาไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
๒. พระสุพาหุเถระที่เป็นหนึ่งใน ๔ สหายของยสกุลบุตร
พระสุพาหุเถระตามประวัตินี้หมายเอาถึงพระสุพาหุเถระที่เป็น
๑ ใน ๔ สหายของท่านพระยสเถระนั่นเอง พระสุพาหุเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรกๆ
ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้รับการบวช
จากพระบรมศาสดา ต่อจากพระยสเถระ ถ้าถือตามลำดับชื่อที่ปรากฏในพระบาลีท่านก็เป็นพระอรหันต์องค์ที่
๘ ของโลก
๐ ชาติภูมิ
พระสุพาหุเถระ เป็นบุตรแห่งเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ท่านเป็นสหายของยสกุลบุตร
ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ท่านทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชจึงคิดว่าพระธรรมวินัยของเพื่อนเราคงไม่เลวทราม
จึงไปชักชวนสหายพาไปหาพระยสะเพื่อออกบวช พระยสะจึงพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ทรงสั่งสอนจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ และไดส่งท่านเป็นพระสาวกรุ่นแรก ๆ
ไปช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนา ท่านนับเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล
๐ กำเนิดเป็นสุพาหุมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านเกิดเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ
มา ในพระนครพาราณสี มีชื่อว่า สุพาหุ เป็นหนึ่งในบรรดาสหายผู้เป็นคฤหัสถ์ทั้ง
๔ ของ ยสกุลบุตรผู้เป็นบุตรของนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวปายาส ผสมน้ำนมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าในเช้าวันวิสาขปุรณมี
เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยเลิกกระทำทุกรกิริยา และในคืนนั้นก็ทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นเมื่อวันหนึ่งยสกุลบุตรแลเห็นเหล่านางผู้เป็นบริวารนอนเกลื่อนกลาดอยู่บนเรือน
ประกอบไปด้วยกิริยาอันไม่น่าดู น่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้า บังเกิดความเบื่อหน่ายเปล่งอุทานว่า
ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ
จึงได้เดินเข้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นว่า
ยสะ ที่นี่แลไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสะ เธอจงมานั่งเถิด เราจักแสดงธรรม
ให้เธอฟัง ครั้นจบพระธรรมเทศนาแล้ว ยสกุลบุตรก็บรรลุโสดาบัน
ในวันรุ่งขึ้นเมื่อเศรษฐีบิดาของยสกุลบุตรออกมาตามบุตรที่หายไปจากบ้าน
มาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบพระพุทธองค์ ซึ่งทรงแสดงฤทธิ์มิให้เศรษฐีเห็นยสกุลบุตร
แล้วได้แสดงธรรมโปรด จนกระทั่งเศรษฐีเกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล
บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะทั้งสาม นับเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
๓ เป็นคนแรกในโลก
ส่วนยสกุลบุตรเมื่อจบพระธรรมเทศนาก็บรรลุพระอรหัต
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบันดาลให้ท่านเศรษฐีเห็นพระยสกุลบุตร
และชี้แจงจนท่านเศรษฐีเห็นชอบให้ยสกุลบุตรได้บวช และได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
เมื่อเศรษฐีคฤหบดีกลับไปไม่นาน ยสกุลบุตรก็ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์จึงทรงโปรดให้ยสกุลบุตรได้บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
จงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วได้ตรัสว่า ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น
วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จพร้อมด้วยท่านพระยสไปยังเรือนของท่านเศรษฐีผู้คหบดี
ครั้นถึงแล้วจึงทรงเทศนาโปรดนางสุชาดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านทั้งสองก็บรรลุโสดาบัน
ประกาศตนเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นับเป็นอุบาสิกาคู่แรกของโลกที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นชุดแรกในโลก
ครั้งนั้น มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสได้อังคาสพระผู้มีพระภาคและท่านพระยส
ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนๆ จนให้ห้ามภัต ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดา
และภรรยาเก่าของท่านพระยส เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะกลับไป
๐ สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของพระยสออกบรรพชา
สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยส คือ วิมล ๑
สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี
ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น
คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง
๔ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา
คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย
และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ
มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา
ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง
๔ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง
๔ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง
๔ เหล่านั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา
เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้นพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น บรรลุเป็นพระอรหันต์
สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑
องค์
๐ สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา
สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยส เป็นชาวชนบทจำนวน
๕๐ คน เป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า
ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน
ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๕๐ นั้น
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา
คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย
และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ
มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา
ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง
๕๐ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง
๕๐ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง
๕๐ เหล่านั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา
เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น บรรลุเป็นพระอรหันต์
สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑
องค์
๐ บุรพกรรมของชน ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นต้น
วันหนึ่งพระศาสดา ทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน
ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรง แสดงพระปาติโมกข์
เหล่าภิกษุบางพวกจึงกล่าวติเตียนว่า
พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่พระอัครสาวกทั้งสองโดยเห็นแก่หน้า
พระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชเป็นพวกแรกสุด
พ้นจากพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข
พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ พ้นจากภิกษุเหล่านั้น
ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด
เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกหน้า ประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาเหล่านั้น
พระศาสดาตรัสถามภิกษุทั้งหลายถึงเรื่องที่พวกภิกษุเหล่านั้นพูดกันอยู่
ภิกษุทั้งหลายทูลเรื่องที่ตนพูดกัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ ตำแหน่งที่แต่ละคนๆ
ตั้งจิตปรารถนาไว้แต่ปางก่อนแล้วๆ นั่นแล และพระศาสดาทรงเล่าถึงบุรพกรรมของชนเหล่านั้น
โดยเล่าถึงบุรพกรรมของยสกุลบุตรและสหายอีก ๕๔ คนไว้ดังนี้
กลุ่มพระยสกุลบุตรทั้ง ๕๕ คนนั้น เคยตั้งจิตปรารถนาพระอรหัต
ไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และปฏิบัติทำกรรมที่เป็นบุญไว้เป็นอันมาก
ครั้งหนึ่งในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เขาเหล่านั้นเป็นสหายกัน
ร่วมเป็นพวกกันทำบุญโดยเที่ยวจัดแจงศพคนไร้ที่พึ่ง วันหนึ่ง พวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม
จึงตกลงกันว่าจะเผาเสีย จึงนำศพนั้นไปป่าช้า เมื่อนำศพมาถึงป่าช้าแล้ว
ยสกุลบุตรกับเพื่อนอีก ๔ คน จึงอยู่ที่ป่าช้านั้นเพื่อจัดการเผาศพ
ส่วนเพื่อนที่เหลืออีก ๕๐ คนก็กลับไป
ในขณะที่ทำการเผาศพหญิงตายทั้งกลมอยู่นั้น
ยสกุลบุตรได้ใช้หลาวเขี่ยศพนั้นเพื่อพลิกศพกลับไปกลับมาให้โดนไฟทั่วๆ
ขณะที่เอาไม้เขี่ยร่างศพอยู่นั้นก็ได้พิจารณาศพที่ถูกเผา ได้อสุภสัญญาแล้ว
เขาจึงแสดงอสุภสัญญาแก่สหายอีก ๔ คนนั้นว่า นี่เพื่อน ท่านจงดูศพนี้
มีหนังลอกแล้วในที่นั้นๆ ดุจรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น น่าเกลียด สหายทั้ง
๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาในศพนั้น แล้วคนทั้ง ๕ นั้นเมื่อเผาศพเสร็จแล้วจึงได้นำอสุภสัญญาที่ปรากฏแก่ตนนั้น
ไปบอกแก่สหายที่เหลือ ส่วนยสกุลบุตรนั้นเมื่อกลับถึงเรือนแล้วก็ได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา
คนทั้งหมดนั้นก็เจริญอสุภสัญญาแล้ว
นี้เป็นบุพกรรมของคน ๕๕ คน มียสกุลบุตรเป็นต้นนั้น
เพราะฉะนั้นในสมัยปัจจุบัน ความที่เห็นว่าในเรือนของตน ที่เกลื่อนไปด้วยด้วยสตรีเป็นดุจป่าช้าจึงเกิดแก่ยสกุลบุตร
และด้วยอุปนิสัยสมบัติแห่งอสุภสัญญาที่เคยได้มานั้น การบรรลุคุณวิเศษจึงเกิดขึ้นแก่พวกเขาทั้งหมด
คนเหล่านี้ได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้วเหมือนกัน ด้วยประการอย่างนี้ หาใช่พระบรมศาสดาเลือกหน้าแต่งตั้งให้ไม่
๐ บั้นปลายชีวิต
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านนิพพานที่ใหน
และเมื่อใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว จึงนิพพาน
อ้างอิง.-
๑.กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่
23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
๒.ชีวประวัติพุทธสาวก
ประวัติพระอัจฉริยะมหาเถระเมื่อครั้งพุทธกาล เล่ม 1 จำเนียร ทรงฤกษ์
, 2542 , พิมพ์โดยสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว (สาขาวัดปากน้ำ), พิมพ์โดย
สำนักพิมพ์ธรรมสภา
๓.ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด
คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
๔.บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
๕.บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
๖.แม่กองธรรมสนามหลวง.
ธรรมศึกษาชั้นโท ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน. กรุงเทพ.
สำนักพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักพิมพ์กรมการศาสนา),
พ.ศ. ๒๕๕๐
๗.ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
๘.เว็บไซต์
84000
๙.เว็บไชต
ธรรมะ เกตเวย์
๑๐.พระอสีติมหาสาวก,
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
๑๑.http://www.dharma-gateway.com/
๑๒.http://www.manager.co.th/Dhamma/
|