O ชาติภูมิ
พระอุปวาณะนั้น มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร
เป็นบุตรใคร เกิดในตระกูลไหน เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร อยู่ในสำนักของใคร
ที่ไหน ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน
O
เหตุการณ์ก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
เรื่องราวของท่านพระอุปวาณะที่ปรากฏในปกรณ์ต่างๆ
ก็กล่าวถึงแต่เพียงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้วเท่านั้น เช่นเรืองที่ปรากฏอยู่ในสังยุตตนิกาย
มหาวรรค หน้า ๙๕ มีข้อความว่า ท่านพระอุปวาณะได้นั่งสนทนาอยู่กับท่านพระสารีบุตร
กล่าวถึง โพชฌงค์ ๗ ประการเนื้อความในเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ครั้งนั้นแล
ท่านพระอุปวาณะและพระสารีบุตร พำนักอยู่ที่โฆสิตาราม ในพระนครโกสัมพี
ขณะนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวเดินอยู่ในโฆสิตารามตามอัธยาศัย
แล้วได้เข้าไปหาพระอุปวาณะ นั่งสนทนาธรรมพอเป็นเครื่องร่าเริงใจแล้ว
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถามพระอุปวาณะว่า ดูกรท่านอุปวาณะ ท่านรู้ไหมว่าโพชฌงค์
๗ ประการ ที่บุคคลตั้งใจอบรมไว้ดีแล้ว ย่อมอำนวยผลให้อยู่เป็นสุข ท่านพระอุปวาณะตอบว่า
กระผมรู้ ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวต่อไปอีกว่า ดูกรท่านอุปวาณะ เมื่อบุคคลมาปรารภโพชฌงค์
๗ ประการ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่ละอย่างๆย่อมรู้ว่าจิตเราพ้นดีแล้ว
เราถอนถีนมิทธะได้เด็ดขาดแล้ว เราจะระงับอุทธัจจกุกกุจจะได้ดีด้วย
เราตั้งใจ ทำความเพียร ทำใจไม่ให้หดหู่ได้แล้ว อย่างนี้จึงชื่อว่า
อำนวยผลให้อยู่เป็นสุข
หลังจากนั้นไม่นานท่านพระอุปวาณะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
และท่านพระอุปวาณะนี้ได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากของพระบรมศาสดา ซึ่งมีปรากฏในตอนใกล้เวลาพระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
คือในขณะนั้น ท่านพระอุปวาณะยืนถวายงานพัดอยู่ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา
ถูกพระองค์รุกรานให้ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า "อเปหิ ภิกขุ ดูกรภิกษุ
เธอจงหลีกไป อย่ายืนอยู่ข้างหน้าเรา" ท่านพระอานนท์ได้เห็นแล้วจึงดำริว่าท่านพระอุปวาณะองค์นี้เป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระองค์มานานแล้ว
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงรุกรานให้หลีกออกไปเสีย เมื่อได้โอกาสแล้วจึงเข้าไปกราบทูลถาม
จึงได้ทราบเนื้อความนั้นว่า เพราะเทพยดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา
แต่ท่านพระอุปวาณะยืนบังเสีย พวกเทพยดาจึงพากันติเตียน พระองค์จึงให้เธอหลีกออกไปเสีย
ที่ได้นำเรื่องนี้มากล่าวเพื่อให้รู้ว่า ท่านพระอุปวาณะก็เคยเป็นพระอุปัฏฐากองค์หนึ่งด้วยเหมือนกัน
O ข้อมูลเพิ่มเติม.
พระอุปวาณเถระนี้ ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน
สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ตามประวัติที่จะกล่าวต่อไปนี้
๐ กำเนิดในสมัยพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ
เพราะอกุศลกรรมบางอย่างมาส่งผลจึงบังเกิดในตระกูลแห่งคนขัดสน เป็นคนรับจ้าง
อาศัยอยู่ในพระนครหังสวดี บรรลุนิติภาวะแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
มหาชนมาประชุมกันบูชาพระตถาคต แล้วกระทำจิตกาธารอย่างสวยงาม ครั้นเมื่อปลงพระพุทธสรีระแล้ว
มหาชนทั้งหมดก็ได้รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ที่นั้น และได้สร้างพระพุทธสถูปสำเร็จด้วยทองสูงหนึ่งโยชน์ไว้
และเหล่าเทวดา นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ และคนธรรพ์ทั้งหลายต่างก็สร้างเสริมพระสถูปให้สูงใหญ่ขึ้นไปอีกเหล่าละโยชน์
รวมเป็นพระมหาเจดีย์สูง ๗ โยชน์ ณ ที่สถูปนั้น.เทวดาทั้งหลายแต่งตั้งเสนาบดียักษ์
ชื่อว่า อภิสัมมตกะ ไว้เพื่อรักษาเครื่องบูชาที่พระเจดีย์ ยักษ์นั้นไม่ปรากฏกาย
เมื่อมนุษย์ทั้งหลายนำเครื่องบูชามาถวายสักการะยังพระเจดีย์ ยักษ์นั้นก็จะนำเครื่องสักการะนั้นเหาะขึ้นไปในอากาศเสมือนหนึ่งเครื่องสักการะนั้นได้ลอยขึ้นไปได้เองเพื่อบูชาพระบรมธาตุ
มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็เกิดปิติโสมนัส เมื่อยินดีแล้ว ย่อมไม่อิ่มต่อการบุญที่ควรกระทำในพระสถูปบรรจุพระธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้สูงสุดพระองค์นั้น
ท่านได้เห็นหมู่ชน อันปลื้มปิติต่อการได้สักการะพระมหาสถูปนั้น
ก็ปรารถนาจะทำสักการะต่อพระบรมธาตุบ้าง เพื่อจักได้เป็นทายาทในธรรมของพระองค์ในอนาคต
ท่านจึงนำเอาผ้าห่มที่ได้ซักไว้ขาวสะอาดแล้ว ผูกไว้กับไม่ไผ่ทำเป็นธง
ถวายธงนั้นเป็นเครื่องสักการะพระบรมธาตุ ยักษ์อภิสมมตกะนำธงนั้นเหาะไปในอากาศกระทำประทักษิณพระเจดีย์
๓ รอบ เขาเห็นดังนั้นได้เป็นผู้มีใจเลื่อมใสเกินประมาณ
เมื่อท่านสักการะพระบรมธาตุนั้นและกระทำจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้นแล้ว
ได้เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กราบไหว้ภิกษุนั้นแล้ว ได้สอบถามถึงผลในการถวายธง
พระเถระพยากรณ์ท่านว่า ท่านจักได้รับผลของการถวายธงนั้นในกาลทั้งปวง
ท่านจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่
๘๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้
ในแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช
จักเสด็จอุบัติในโลก ท่านอันกุศลมูลตักเตือน เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว
ประกอบด้วยบุญกรรม จักเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ท่านจักละทรัพย์ ๘๐ โกฏิ
ทาสและกรรมกร เป็นอันมาก ออกบวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
ท่านจักยังพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยบุตรผู้ประเสริฐให้โปรดปรานแล้ว
จักได้เป็นพระสาวกของพระศาสดา มีชื่อว่าอุปวาณะ
๐ กำเนิดในสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในสมัยเมื่อพระวิปัสสีสัมมาพุทธเจ้าท่านมาเกิดเป็นพราหมณ์มหาศาล
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายได้พากันสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง
บรรจุพระสารีริกธาตุสรีระอันเป็นเช่นกับแท่งทองคำทึบ คนทั้งหลายใช้แผ่นอิฐทองยาว
๑ ศอก กว้างหนึ่งคืบ หนา ๘ นิ้ว ก่อพระเจดีย์นั้นประสานด้วยหรดาลและมโนศิลาแทนดิน
ชะโลมด้วยน้ำมันงาแทนน้ำ แล้วสถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์สูงประมาณโยชน์หนึ่ง
ต่อนั้น ภุมมเทวดาก็สร้างต่อขึ้นไปอีกโยชน์หนึ่ง จากนั้น ก็อาสัฏฐกเทวดา
จากนั้น ก็อุณหวลาหกเทวดา จากนั้น ก็อัพภวลาหกเทวดาจากนั้น ก็เทวดาชั้นจาตุมมหาราช
จากนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์สถาปนาโยชน์หนึ่ง พระเจดีย์จึงสูง ๗ โยชน์
ด้วยประการฉะนี้.
เมื่อผู้คนถือเอามาลัยของหอมและผ้าเป็นต้นมา
อารักขเทวดาทั้งหลายก็พากันถือดอกไม้มาบูชาพระเจดีย์ทั้งที่ผู้คนเหล่านั้นเห็นอยู่
ครั้งนั้นท่านได้ถือผ้าเหลืองผืนหนึ่งไปเพื่อสักการะพระบรมธาตุ เทวดาก็รับผ้าจากมือพราหมณ์นั้นไปบูชาพระเจดีย์
พราหมณ์เห็นดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล
แม้เราก็จักเป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์ของพระพุทธเจ้า เช่นนี้บ้าง
๐ กำเนิดในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
ท่านเมื่อจุติจากอัตตภาพนั้น ก็ไปบังเกิดในเทวโลก
เมื่อพรามหณ์นั้นท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์โลกและเทวโลก พระกัสสปะผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จอุบัติในโลกแล้วปรินิพพาน พระธาตุสรีระของพระองค์ก็มีแห่งเดียวเท่านั้น
ผู้คนทั้งทั้งหลายนำพระธาตุสรีระนั้น สร้างพระเจดีย์โยชน์หนึ่ง พราหมณ์ก็จุติมาเป็นเป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์นั้นตามคำอธิษฐาน
๐ กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้ท่านมาเกิดในตระกูลพราหมณ์
ในพระนครสาวัตถีได้นามว่า อุปวาณะ เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพในคราวทรงรับมอบพระเชตวันวิหาร
อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างเชตวันมหาวิหารถวาย
เศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี เดิมชื่อ สุทัตตะ
ท่านเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา ได้เตรียมก้อนข้าวไว้เพื่อแจกจ่ายให้แก่คนยากจนอนาถาเสมอๆ
คนทั้งหลายจึงให้ชื่อท่านว่า อนาถปิณฑิกะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พบกับพระพุทธเจ้าครั้งแรก
ที่นครราชคฤห์ สมัยนั้นท่านเศรษฐีได้ไปสู่นครราชคฤห์ เพื่อธุรกิจการค้า
และได้ไปพักอยู่กับท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่เขยของท่าน
ในวันที่ท่านไปถึงนั้น ท่านได้เห็นท่านเศรษฐีเจ้าของบ้าน กำลังตระเตรียมอาหารเพื่อถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์
อันมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ท่านจึงทราบว่า มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว
ท่านก็เกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามาก ในวันรุ่งขึ้น
เมื่ออนาถปิณฑิกเศรษฐีได้พบพระบรมศาสดาแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาโปรด
ท่านเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต
ครั้นในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์
เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์
ให้เสด็จไปจำพรรษาที่นครสาวัตถีบ้าง ครั้นท่านเศรษฐีได้ทำธุรกิจในนครราชคฤห์เสร็จ
ก็ออกเดินทางกลับไปยังนครสาวัตถี เมื่อไปถึงนครสาวัตถี ก็เที่ยวตรวจดูสถานที่อันเหมาะสมที่จะเป็นพระอาราม
จึงเลือกได้สวนของเจ้าเชต แล้วขอซื้อด้วยราคา ๑๘ โกฏิ และสิ้นค่าก่อสร้างวิหาร
หอฉัน ฯลฯ ต่างๆ รวมทั้งหมดสิ้นเงินอีก ๑๘ โกฏิ วิหารนี้มีชื่อว่า
เชตวนาราม เพราะเป็นสวนของเชตกุมารมาก่อน
ครั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในนครราชคฤห์
พอสมควรแล้ว ก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงนครเวสาลี ทรงพักอยู่ที่นั้นพอสมควรแล้วเสด็จจาริกต่อไปจนถึงนครสาวัตถี
ประทับ ณ เชตวนาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ถวายพระอารามแก่สงฆ์ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง
ในวันที่พระพุทธองค์ทรงรับพระเชตวนารามนั้นเอง
เป็นวันที่ อุปวาณมานพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
กระทำกรรมในวิปัสสนา ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖
หมายเหตุ.-ในวันเดียวกันนั้น ก็เป็นวันที่นันทกมาณพ
ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเช่นกัน ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนาพระนันทกเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี
๐ พระเถระเป็นพุทธอุปัฏฐาก
ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากอยู่ระยะหนึ่ง
ในสมัยต้นพุทธกาล เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ
ในครั้งนั้น บางคราว พระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ
บางคราวพระอุปวาณะ.บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ
บางคราวพระเมฆิยะ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ทรงประชวร ด้วยลมในท้อง.เล่ากันมาว่า
เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำทุกกรกิริยา ๖ พรรษา ทรงนำเอาถั่วเขียวและถั่วพูเป็นต้นอย่างละฟายมือมาเสวย
ลมในพระอุทรกำเริบเพราะเสวยไม่ดีและบรรทมลำบาก สมัยต่อมา ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว
แม้เสวยโภชนะประณีตอาพาธนั้นก็ยังปรากฏตัวเป็นระยะๆ ครั้งนั้น ท่านพระอุปวาณะ
ได้เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า พระอุปวาณเถระลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง
เช่นกวาดบริเวณถวายไม้ชำระพระทนต์ จัดถวายน้ำสรง ถือบาตรจีวรตามเสด็จ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระอุปวาณะมาตรัสว่า
อุปวาณะเธอจงรู้น้ำร้อนเพื่อฉัน ท่านพระอุปวาณะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
นุ่งสบงถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของเทวหิตพราหมณ์
ได้ยินว่า ตลอดเวลา ๒๐ ปี ในปฐมโพธิกาล ป่าปราศจากควันไฟ
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังมิได้ทรงอนุญาต ที่ต้มน้ำแก่ภิกษุทั้งหลาย
ในสมัยนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่าเทวหิตพราหมณ์ เป็นสหายของพระเถระแต่ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์
อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี เขาปวารณาพระเถระด้วยปัจจัย ๔ ก็พราหมณ์นั้นเลี้ยงชีพด้วยการตั้งโรงอาบน้ำร้อน
โดยให้ทำเตาเป็นแถว ยกภาชนะใหญ่ๆ ขึ้นตั้งบนเตา ต้มน้ำให้ร้อนแล้วขายน้ำร้อนพร้อมกับผงสำหรับอาบน้ำเป็นต้นเลี้ยงชีพ
ผู้ประสงค์อาบน้ำร้อนก็จะไปในที่นั้นแล้วให้จ่ายเงินเพื่ออาบน้ำลูบไล้ด้วยของหอม
ประดับดอกไม้แล้วหลีกไป เพราะฉะนั้น พระเถระจึงเข้าไปในที่นั้น และแจ้งความประสงค์ต่อพราหมณ์นั้น
พราหมณ์นั้น ถามว่า พระสมณโคดมทรงไม่สบายเป็นอะไร
ครั้นเมื่อได้ทราบว่า เป็นโรคลมในท้อง จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พวกเรารู้จักยาในเรื่องนี้
ต่อแต่นี้ขอท่านจงเอาน้ำหน่อยหนึ่งละลายน้ำอ้อยนี้ ถวายให้ทรงดื่มในเวลาสรงเสร็จพระเสโทจักซึมออกภายนอกพระสรีระด้วยน้ำร้อน
ลมในท้องจักหายด้วยยานี้ด้วยประการฉะนี้ พระสมณโคดมจักทรงสำราญ ด้วยอาการดังว่ามานี้
ครั้งนั้น เทวหิตพราหมณ์ให้บุรุษ คนใช้ถือกาน้ำร้อน
และห่อน้ำอ้อยตามไปถวายท่านพระอุปวาณะ ลำดับนั้น ท่านพระอุปวาณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้ว
อัญเชิญให้พระผู้มีพระภาคสรงสนาน และละลายน้ำอ้อยด้วยน้ำร้อนแล้วถวายพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมื่อทรงเสวยน้ำอ้อยนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงหายประชวร
๐ พระพุทธเจ้าโปรดเทวหิตพราหมณ์
ได้ยินว่า เมื่ออาพาธที่มีในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นสงบแล้ว
ได้เกิดเรื่องพูดกันว่า เทวหิตพราหมณ์ถวายเภสัชแด่พระตถาคต โรคสงบเพราะเภสัชนั้นนั่นเอง
น่าอัศจรรย์ ทานของพราหมณ์เป็นบรมทาน เทวหิตพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว
เกิดโสมนัสว่า กิตติศัพท์ของเรานี้ขจรไปแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เอง
ประสงค์จะทราบผลแห่งทานที่ตนกระทำลงไปจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าพระทศพล
ครั้นเมื่อเทวหิตพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้ว
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรให้ไทยธรรมในบุคคลไหน ?
ไทยธรรมวัตถุอันบุคคลให้ในบุคคลไหน จึงมีผลมาก ?
ทักษิณาของบุคคลผู้บูชาอยู่อย่างไรเล่า ? จะสำเร็จได้อย่างไร ?
พระศาสดาทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ผู้ใดรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในก่อน
แลเห็นสวรรค์และอบาย บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สิ้นชาติ อยู่จบแล้วเพราะรู้ยิ่ง
เป็นมุนี พึงให้ไทยธรรมในผู้นี้ ทานที่ให้แล้วในผู้นี้มีผลมาก ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้บูชาอย่างนี้แหละ
ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เทวหิตพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า
คนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้
ข้าแต่ท่านพระโคดมข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค
กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
๐ พระพุทธองค์ขับพระเถระเพราะยืนบังเทวดา
แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำแล้ว
ในบางคราวก็ทรงโปรดให้พระจุนทะถวายการรับใช้ เช่น เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว
ทรงเสด็จไปที่เมืองกุสินารา
เมื่อพระพุทธเจ้าบรรทมบนพระแท่นที่ปรินิพพานที่สาลวโนทยานเมืองกุสินารานั้น
ท่านพระอุปวาณะก็ได้ยืนทำหน้าที่ถวายงานพัดเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์
พวกเทวดาในหมื่นโลกธาตุที่มาประชุมกันเพื่อเข้าเฝ้าถวายบังคมพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่สามารถจะเข้าเฝ้าได้ เพราะเห็นท่านพระอุปวาณะยืนขวางอยู่ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า
พระเถระนั้นท่านมีร่างใหญ่เช่นกับลูกช้าง อีกทั้งเมื่อห่มผ้าบังสุกุลจีวร
ก็ทำให้ดูเหมือนใหญ่มาก
เทวดาทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็นพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงติเตียนพระเถระ
ถามว่า ก็เทวดาเหล่านั้นไม่สามารถมองทะลุพระเถระหรือ ตอบว่า ไม่สามารถสิ
ด้วยว่า เหล่าเทวดาสามารถมองทะลุเหล่าปุถุชนได้ แต่มองทะลุเหล่าพระขีณาสพไม่ได้
ทั้งไม่อาจเข้าไปใกล้ด้วย เพราะพระเถระนั้นมีอานุภาพมาก มีอำนาจมาก
ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระเถระจึงมีอำนาจมาก ผู้อื่นไม่เป็นพระอรหันต์หรือ
ตอบว่า เพราะท่านเคยเป็นอารักขเทวดาในเจดีย์ของพระกัสสปพุทธเจ้ามาก่อน
พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุที่เทวดาติเตียนพระเถระเช่นนั้นจึงได้รับสั่งให้ท่านพระอุปวาณะออกไปจากที่เฝ้า
โดยทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป ด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น
พรเถระก็วางพัดใบตาลแล้วยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์เห็นดังนั้นก็บังเกิดความสงสัยว่า
ท่านอุปวาณะรูปนี้เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็และเมื่อเป็นเช่นนั้น
ในกาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะเช่นนั้นเป็นเพราะอะไรหนอ
ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงสาเหตุดังกล่าว
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เทวดาในหมื่นโลกธาตุมา
ประชุมกันเพื่อจะเห็นตถาคต เมืองกุสินารา สาลวัน แห่งพวกเจ้ามัลละขนาดโดยรอบถึง
๑๒ โยชน์ ตลอดตลอดทุกแห่งหนนั้นจะหาที่ว่างแม้มาตรว่าเป็นที่จรดลงแห่งปลายขนทรายแล้วมิได้มี
พวกเทวดากล่าวโทษอยู่ว่า พวกเรามาแต่ที่ไกลเพื่อจะเห็นพระตถาคต ไม่รู้ว่าเวลาหนึ่งเวลาใดในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละที่พระตถาคตจักปรินิพพาน
ก็ภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่รูปนี้ ยืนบังอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค
ทำให้พวกเราไม่ได้เห็นพระตถาคตในกาลเป็นครั้งสุดท้าย
ด้วยเหตุนี้แหละพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงขับพระเถระเพื่อมิให้ขวางการเฝ้าชมพระบารมีของเหล่าเทวดาทั้งหลาย
๐ บั้นปลายชีวิต
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านนิพพานที่ใหน
และเมื่อใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว จึงนิพพาน ตามเรื่องที่กล่าวมานี้
เข้าใจว่าท่านคงจะนิพพานภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน
อ้างอิง.-
๑.กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่
23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
๒.ชีวประวัติพุทธสาวก
ประวัติพระอัจฉริยะมหาเถระเมื่อครั้งพุทธกาล เล่ม 1 จำเนียร ทรงฤกษ์
, 2542 , พิมพ์โดยสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว (สาขาวัดปากน้ำ), พิมพ์โดย
สำนักพิมพ์ธรรมสภา
๓.ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด
คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
๔.บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
๕.บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
๖.แม่กองธรรมสนามหลวง.
ธรรมศึกษาชั้นโท ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน. กรุงเทพ.
สำนักพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักพิมพ์กรมการศาสนา),
พ.ศ. ๒๕๕๐
๗.ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
๘.เว็บไซต์
84000
๙.เว็บไชต
ธรรมะ เกตเวย์
๑๐.พระอสีติมหาสาวก,
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
๑๑.http://www.dharma-gateway.com/
๑๒.http://www.manager.co.th/Dhamma/
|