๓๒. ประวัติ พระโกณฑธานเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระโกณฑธานเถระ นามเดิม ธานะ ต่อมามีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่านเพราะผลบาปในชาติก่อนภิกษุและสามเณรทั้งหลายเห็นภาพนั้นเป็นประจำจึงตั้งชื่อท่านเพิ่มว่า กุณฑธานะ คำว่ากุณฑะ แปลว่า เหี้ย
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี

๒. ชีวิตก่อนบวช

ธานมานพ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา ต่อมาครั้นเติบโตควรแก่การศึกษา จึงได้ศึกษาตามลัทธิพราหมณ์ เขาเรียนจบไตรเพท หลังจากเรียนจบแล้วก็ไม่ได้ตั้งตัวเป็นอาจารย์สอนใคร

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นอายุย่างเข้าปัจฉิมวัย เขาไปฟังธรรมของพระศาสดาเป็นประจำเกิดศรัทธาอยากบวชในพระพุทธศาสนา จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์ ซึ่งก็ทรงประทานให้ตามปรารถนา ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว เพราะบาปกรรมในชาติก่อนของท่าน เวลาท่านอยู่ที่วัดก็ดี เข้าบ้านเช่น ไปบิณฑบาตก็ดี จะมีคนเห็นภาพสตรีคนหนึ่งตามหลังท่านไปเสมอ แต่ตัวท่านเองไม่ทราบ และไม่เคยเห็นสตรีนั้นเลย เวลาคนใส่บาตรบางคนก็บอกว่า ส่วนนี้ของท่าน ส่วนนี้สำหรับหญิงสหาย

พระภิกษุและสามเณรก็เห็นภาพนั้นเป็นประจำ วันหนึ่งพากันไปล้อมกุฏิของท่าน พูดเยาะเย้ยว่า พระธานะมีเหี้ยเกิดแล้ว ท่านอดกลั้นไว้ไม่อยู่จึงได้ตอบโต้ไปว่า พวกท่านก็เป็นเหี้ย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงไปฟ้องพระพุทธเจ้า ๆ ตรัสเรียกท่านไปพบแล้วแสดงธรรมว่า เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า ย่อมด่าตอบเธอบ้าง จะกลายเป็นการแข่งดีกันไป (สุดท้าย) ก็จะมีการทำร้ายกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ท่านลำบากใจ และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก ต่อมามีการพิสูจน์ความจริง โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องเวรกรรมของท่าน ๆ จึงได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชา เมื่อท่านได้ความอุปถัมภ์จากพระราชา ได้อาหารเป็นที่สัปปายะ พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอภิญญา ๖

๔. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระโกณฑธานเถระนี้บวชเมื่อมีอายุมากแล้ว คงไม่มีกำลังช่วยประกาศพระศาสนาได้มากนัก แต่บาปกรรมที่ท่านได้ทำเอาไว้ในชาติหนึ่ง น่าจะเป็นคติสอนใจคนในภายหลังได้ จะกล่าวพอได้ใจความดังนี้

ในกาลแห่งพระกัสสปทศพล เขาได้เกิดเป็นภุมเทวดาเห็นพระเถระ ๒ รูป รักใคร่กันมาก อยากจะทดลองว่ารักกันจริงแค่ไหน ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ทั้งสองรูปนั้นเดินทางไปลงอุโบสถ ระหว่างทางรูปหนึ่งเข้าไปทำธุระส่วนตัว ณ พุ่มไม้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็เดินออกมา เทวดานั้นได้แปลงกายเป็นหญิงสาวสวยเดินตามหลังออกมา พร้อมทำท่านุ่งผ้า เกล้าผม และปัดฝุ่นตามตัว พระเถระผู้สหายเห็นเช่นนั้นก็โกรธด่าว่าต่าง ๆ นานา แม้อีกรูปจะชี้แจงว่าผมไม่รู้ไม่เห็นอะไรอย่างที่ท่านพูดเลย ก็ไม่ยอมรับฟัง ตัดขาดไมตรีต่อกัน ไม่ยอมลงอุโบสถร่วมกัน

เทวดารู้สึกสลดใจ จึงแปลงเป็นอุบาสกเข้าไปเล่าเหตุการณ์ให้ฟังทั้งหมด ทำให้ พระเถระผู้สหายเข้าใจหายโกรธ แล้วกลับสามัคคีรักใคร่กันเหมือนเดิม เทวดานั้นได้ทำบาปนั้นไว้ จะไปเกิดในชาติใด ที่เป็นมนุษย์กรรมไม่ดีทั้งหลายก็จะตกมาถึงตน โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย ในชาติสุดท้ายเกิดเป็นมนุษย์บวชในพระพุทธศาสนา ก็มีภาพลวงตาเป็นสตรีคอยติดตาม สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก ดังกล่าวแล้ว เรื่องนี้ให้ความคิดทั้งแก่ผู้ทำกรรม และผู้จะลงโทษใครควรพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงค่อยทำและค่อยลงโทษผู้อื่น

๕. เอตทัคคะ

พระโกณฑธานเถระเป็นผู้มีบุญในเรื่องของการจับสลากเพื่อไปในกิจนิมนต์ ท่านจะเป็นผู้ได้จับสลากก่อนเสมอ พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน

๖. บุญญาธิการ

แม้พระโกณฑธานเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าก่อน ๆ หลายพระองค์ ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเขาได้ไปฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญอันสมควรแก่ฐานันดร แล้วได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพุทธองค์พระนามว่าโคดม จึงได้สร้างสมบารมีตลอดมา ชาติสุดท้ายเขาได้สมปรารถนาตามพุทธวาจาทุกประการ

๗. ธรรมวาทะ

ผู้เห็นภัย
ตัดบ่วงผูกเข้าเท้า ๕ อย่าง (สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕)
แก้บ่วงผูกคอ ๕ อย่าง (สังโยชน์เบื้องสูง ๕)
เจริญธรรม ๕ อย่าง (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)
พ้นกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง (ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ)
ท่านเรียกว่า ผู้ข้ามพ้นห้วงกิเลส

๘. นิพพาน

พระโกณฑธานเถระ ได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดำรงชีวิตต่อมาจนถึงอายุขัย แล้วได้นิพพานจากไป เหมือนกับไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไป


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗