๑. สถานะเดิม
พระกังขาเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ
แต่เพราะท่านมีความสงสัยในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ (สมควร) มากเป็นพิเศษจึงได้รับขนานนามว่า
กังขาเรวตะ แปลว่า เรวตะผู้มีความสงสัย
บิดาและมารดาไม่ปรากฏนาม มีฐานะดี วรรณะแพศย์ เป็นชาวเมืองสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
เนื่องจากเป็นลูกของผู้มีฐานะดีมีทรัพย์สินเงินทอง
จึงได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีที่สมัยนั้นจะพึงหาได้และทำได้
๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนา
ส่วนมากจะประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีเป็นเวลาถึง ๒๕ พรรษา ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน
วันหนึ่งเรวตะได้ไปยังพระเชตวันพร้อมกับมหาชน ยืนอยู่ท้ายบริษัทฟังธรรมกถาของพระทศพล
เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช เมื่อมหาชนกลับไปหมดแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชาอุปสมบท
ทรงบวชให้เขาตามปรารถนา
๔. การบรรลุธรรม
ครั้นได้บวชแล้ว ทูลขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน
ทำบริกรรมในฌาน ครั้นได้ฌานแล้ว ทำฌานนั้นให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนาพิจารณาฌานนั้น
ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นความสุขอันเกิดจากฌานนั้น
ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ซึ่งเป็นผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระกังขาเรวตเถระ ท่านมักจะเข้าฌานทั้งกลางวันและกลางคืน
บรรดาสมาบัติที่พระศาสดาพึงเข้าส่วนมากท่านเข้าได้ มีส่วนน้อยที่เว้นไว้ไม่เข้า
จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้ที่สนใจแสวงหาพระผู้ได้ฌาน ได้อภิญญา
ต่างก็มาสักการะ เคารพ นับถือ บูชากันเป็นจำนวนมาก
๖. เอตทัคคะ
เพราะพระกังขาเรวตเถระ เป็นผู้ชำนาญในการเข้าฌาน
พระศาสดาจึงทรงถือเอาคุณข้อนี้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน
๗. บุญญาธิการ
แม้พระกังขาเรวตเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน
ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในการเข้าฌาน
จึงได้บำเพ็ญกุศลเป็นการใหญ่ แล้วตั้งความปรารถนาโดยมีพระศาสดาเป็นพยานว่า
ที่ทำบุญนี้ข้าพระองค์มิได้ประสงค์สมบัติอื่น หวังจะได้ตำแหน่งแห่งภิกษุผู้ยินดีในการเข้าฌาน
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายหน้า พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา
จึงได้พยากรณ์ว่าจะสำเร็จในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม และเขาก็ได้สมปรารถนาตามพระพุทธวาจาทุกประการ
๘. ธรรมวาทะ
เชิญดูพระปัญญาคุณของพระตถาคตเถิด
พระตถาคตทรงให้แสงสว่าง ทรงให้ดวงตา ทรงกำจัดความสงสัยของคนผู้มาหา
เหมือนแสงไฟที่เจิดจ้า กำจัดความมืดในยามราตรี
๙. นิพพาน
พระกังขาเรวตเถระ ถึงแม้จะเชี่ยวชาญเรื่องเข้าฌาน
ก็หนีมัจจุมารไม่พ้น สุดท้ายก็ได้นิพพานเหลือเพียงชื่อไว้ในตำนานให้ได้ศึกษากันสืบต่อมา
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด
คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
-บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
|