๑. สถานะเดิม
พระกุมารกัสสปเถระ นามเดิมว่า
กัสสปะ เป็นนามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งให้ ต่อมาท่านบวชในพระพุทธศาสนา
เวลาพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อกัสสปะ จะถูกทูลถามว่ากัสสปะไหน จึงตรัสว่า
กุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ
บิดาและมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี
มารดาของท่านศรัทธาจะบวชตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน แต่บิดาและมารดาไม่อนุญาต
หลังจากแต่งงานแล้วขออนุญาตสามี ในที่สุดสามีอนุญาตให้บวช เธอจึงบวชเป็นภิกษุณีโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์
ครั้นอยู่มาครรภ์ได้ใหญ่ขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายรังเกียจเธอ จึงนำไปให้พระเทวทัตตัดสิน
พระเทวทัตตัดสินว่า เธอศีลขาด แม้เธอจะชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง
ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาไปเฝ้าพระศาสดา ๆ ทรงมอบหมายให้อุบาลีเถระตัดสิน
พระอุบาลีเชิญตระกูลใหญ่ ๆ ชาวสาวัตถีและนางวิสาขามาพิสูจน์ได้ว่า
นางตั้งครรภ์มาก่อนบวช ศีลของนางบริสุทธิ์
๒. ชีวิตก่อนบวช
นางภิกษุณีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย
หน้าตาน่ารัก ผิวพรรณดุจทองคำ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้เลี้ยงดูไว้
และทรงตั้งชื่อให้ว่า กัสสปะ อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายรู้จักท่านในนามว่า
กุมารกัสสปะ เพราะเป็นเด็กที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงอย่างราชกุมาร
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว พระราชาทรงประดับประดาเขาอย่างสมเกียรติ
แล้วนำไปบวชยังสำนักของพระศาสดา ตั้งแต่ท่านบวชแล้ว ก็ได้เจริญวิปัสสนาและเรียนพุทธพจน์
แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด
๔. การบรรลุธรรม
ครั้งนั้น สหายของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส
เห็นท่านลำบากในการเจริญวิปัสสนา จึงผูกปัญหา ๑๕ ข้อ แล้วบอกว่า นอกจากพระศาสดา
ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้ รุ่งขึ้นท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามปัญหาเหล่านั้น
พระศาสดาทรงแก้ให้ท่านจนถึงพระอรหัต พระเถระเรียนเองตามที่พระศาสดาตรัส
เข้าไปยังป่าอัมพวัน เจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ที่จัดว่าเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
๕. งานประกาศพระศาสนา
พระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร
สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล เช่น การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมีจริง
เป็นต้น
พระเจ้าปายาสิเห็นว่านรกไม่มี
เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง
ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร
พระเจ้าปายาสิเห็นว่าสวรรค์ไม่มี
เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ
ครั้นขึ้นมาได้ ชำระร่างกายสะอาดแล้ว คงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ
แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็นให้คนช่วยดูรอบ ๆ หม้อ ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา
พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม
แล้วทรงสุบินว่าเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป
พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง
๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ครั้นเขาตายแล้ว ทรงตรวจดู ไม่พบว่าทั้ง
๖ นั้นรู้สึกอะไรเลย พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนเป่าสังข์ คนโง่ได้ยินเสียงสังข์
จึงมาขอดูเสียงของสังข์ ค้นหาอย่างไรก็ไม่พบเสียงในตัวสังข์ จึงบอกว่าสังข์ไม่มีเสียง
ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปเถระ
ในการอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี
จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา
๖. เอตทัคคะ
เพราะพระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการอุปมาและเหตุผล
พระทศพลจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใช้ถ้อยคำอันวิจิตร
(กล่าวถ้อยคำที่ไพเราะ)
๗. บุญญาธิการ
แม้พระกุมารกัสสปเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมานาน
ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ผู้กล่าวถ้อยคำอันวิจิตร จึงได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้สร้างสมความดีที่สนับสนุนเกื้อกูลแก่ความปรารถนามาตลอดเวลา
แล้วได้มาสมความปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลายดังกล่าวแล้ว
๘. ธรรมวาทะ
เปรียบเหมือนชาย ๒ คน ชวนกันไปหาทรัพย์
ไปพบตะกั่วจึงห่อผ้านำไป ครั้นไปพบทอง ชายคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งตะกั่วเพราะถือว่าหอบหิ้วมานานแล้ว
อีกคนหนึ่ง ทิ้งตะกั่วเพราะรู้ว่ามีราคาน้อย แล้วห่อเอาทองไปเพราะรู้ว่ามีราคามาก
เมื่อกลับไปถึงบ้าน คนที่นำห่อทองไปย่อมเป็นที่ชื่นชอบยินดีของครอบครัวและญาติมิตรมากว่าคนที่นำห่อตะกั่วไป
ขอพระองค์ได้โปรดสละความเห็นผิดเดิมเสียเถิด
๙. นิพพาน
พระกุมารกัสสปเถระ ครั้นอยู่จบพรหมจรรย์ของท่านแล้ว
ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน แล้วได้นิพพานจากโลกไป
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด
คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
-บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
|