๑. สถานะเดิม
พระนันทกเถระ นามเดิม นันทกะ
บิดาและมารดา ไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี
๒. ชีวิตก่อนบวช
พระนันทกเถระ อรรถกถาต่าง ๆ
ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน
๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา
นันทกมาณพ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า
เป็นพระอระหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง
วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจึงไปเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช
จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์
๔. การบรรลุธรรม
พระนันทกเถระ ครั้นบวชแล้ว
ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียร ปฏิบัติ ในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส
๕. งานประกาศพระศาสนา
ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง
บอกว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี
๕๐๐ รูป มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี
ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรม
ภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล
๖. เอตทัคคะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง
จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
๗. บุญญาธิการ
แม้พระนันทกเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน
จนถึงกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง
ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี จึงทำความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น
อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าโคดม
และก็ได้สมจริงทุกประการ
๘. ธรรมวาทะ
ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป
ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ครั้นได้ความสลดใจ ไม่ย่อท้อ ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก
ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย ฉันนั้น
เหมือนกัน
๙. นิพพาน
พระนันทกเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน
แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน
สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป
หนังสืออ้างอิง.-
-ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด
คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
-บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
-บุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๕
-ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท,
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
|