๔๓. ประวัติ พระรัฐบาลเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์)
วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระรัฐบาลเถระ นามเดิม รัฐบาล แปลว่า ผู้รักษาแว่นแคว้น เพราะต้นตระกูลของท่านได้ช่วย กอบกู้แคว้นที่อาศัยอยู่ ซึ่งล่มสลายทางเศรษฐกิจเอาไว้ ท่านจึงได้ชื่ออย่างนั้นตามตระกูล
บิดาและมารดา ไม่ปรากฎนาม เป็นวรรณะแพศย์
เกิดที่ถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระรัฐบาลเถระ ตั้งแต่เป็นเด็กจนเจริญเติบโตได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดีจากบิดาและมารดา เพราะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว และเป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ได้แต่งงานตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่ไม่มีบุตรธิดา เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง จึงมีเพื่อนมาก

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ บ้านเกิดของท่าน ชาวกุรุได้พากันมาฟังธรรม รัฐบาลก็มาฟังธรรมด้วย หลังจากฟังธรรมแล้วประชาชนได้กลับไป ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสบอกเขาให้ไปขออนุญาตบิดาและมารดาก่อน

เขากลับไปบ้านขออนุญาตบิดาและมารดา เพื่อจะบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงอดหาร บิดาและ มารดา กลัวลูกตายสุดท้ายจึงอนุญาตให้บวชตามประสงค์ เขาไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บวชได้ โดยมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์

๔. การบรรลุธรรม

เมื่อพระรัฐบาลเถระบวชได้ประมาณ ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคม ไปประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี โดยมีพระรัฐบาลตามเสด็จไปด้วย ท่านได้พากเพียรเจริญภาวนา ใช้เวลาถึง ๑๒ ปี จึงบรรลุพระอรหัต

๕. งานประกาศพระพุทธศาสนา

พระรัฐบาลเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหันต์แล้วได้กลับไปยังแคว้นกุรุบ้านเกิดของท่าน โปรดโยมบิดาและมารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านพักอยู่ที่มิคจิรวันอันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ เจ้าผู้ครองแคว้นกุรุ

ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าโกรัพยะเสด็จประพาสพระราชอุทยานทอดพระเนตรเห็นท่านทรงจำได้เพราะเคยรู้จักมาก่อน จึงเสด็จเข้าไปหาเพื่อสนทนาธรรม ได้ตรัสถามว่า บุคคลบางพวกประสบความ เสื่อม ๔ อย่าง คือ ๑. ความชรา ๒. ความเจ็บ ๓. ความสิ้นโภคทรัพย์ ๔. ความสิ้นญาติ จึงออกบวช แต่ท่านไม่ได้เป็น อย่างนั้น ท่านรู้เห็นอย่างไรจึงได้ออกบวช

พระเถระได้ทูลตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร ธรรมุทเทศ (หัวข้อธรรม) ๔ ประการ พระศาสดาจารย์ทรงแสดงไว้แล้ว อาตมภาพรู้เห็นตามธรรมนั้น จึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ประการนั้น มีใจความว่า

๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ความตายไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่เฉพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ทุกคน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

พระเจ้าโกรัพยะทรงเลื่อมใสธรรมะของท่าน ตรัสชมเชยท่านอย่างมาก แล้วได้ทรงลากลับไป

๖. เอตทัคคะ

พระรัฐบาลเถระ เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสตั้งใจบวช บวชในพระพุทธศาสนา แต่กว่าจะบวชได้ก็แสนจะลำบาก ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา

๗. บุญญาธิการ

แม้พระรัฐบาลเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้มากมายหลายพุทธันดร จนมาได้รับพยากรณ์ว่า จะสมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ต่อจากนั้นก็มีศรัทธาสร้างความดี ไม่มีความย่อท้อ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย จึงได้ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ มีประการดังกล่าวมา

๘. ธรรมวาทะ

คนมีทรัพย์ในโลกนี้ เห็นมีอยู่ (๓ ประเภท)

(๑) ได้ทรัพย์แล้วไม่แบ่งปันให้ใคร เพราะความโง่
(๒) ได้ทรัพย์แล้วทำการสะสมเอาไว้
(๓) ได้ทรัพย์แล้วปรารถนากามยิ่งขึ้น

พระราชารบชนะทั่วแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินจนสุดฝั่งสมุทร ฝั่งสมุทรฝั่งนี้ยังไม่พออิ่มจึงปรารถนาฝั่งโน้นอีก
บุตรธิดา ภรรยาสามี ทรัพย์และแว่นแคว้น ติดตามคนตายไปไม่ได้
เงินซื้อชีวิตไม่ได้ ช่วยให้พ้นความแก่ไม่ได้

ทั้งคนจนและคนมี ทั้งคนดีและคนชั่ว ล้วนถูกต้องผัสสะ (เห็น ได้ยิน เป็นต้น) ทั้งนั้น คนชั่วย่อมหวั่นไหว เพราะความเป็นคนพาล แต่คนดีย่อมไม่มีหวั่นไหว

๙. นิพพาน

พระรัฐบาลเถระ ครั้นจบกิจส่วนตัวของท่านแล้ว ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมา สุดท้ายก็ได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ดับสังขารตามโวหารที่ว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗