๔๙. ประวัติ พระภัททิยเถระ / พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระภัททิยเถระ พระนามเดิม ภัททิยะ
พระบิดา ไม่ปรากฎพระนาม
พระมารดา พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี เป็นพระนางศากยกัญญาในนครกบิลพัสดุ์
เกิดที่พระนครกบิลพัสดุ์ ในวรรณกษัตริย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

พระภัททิยเถระ ก่อนบวชเป็นเจ้าชายเชื้อสายศากยะพระองค์หนึ่ง มีพระสหายสนิท คือ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตแห่งเมืองเทวทหะ

๓. การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่อเจ้าชายภัททิยะ เจริญเติบโตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาถูกเจ้าชายอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระสหายสนิทชักชวนให้ออกบวช จึงได้ทูลลาพระมารดา สละราชสมบัติเสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดา ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ พระองค์ คือ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต รวมทั้งนายภูษามาลา นามว่า อุบาลีด้วย จึงเป็น ๗ คน ได้ทูลขอบวชในพระธรรมวินัย โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกษัตริย์ทั้ง ๖ จะได้ทำความเคารพกราบไหว้ เป็นการทำลายมานะ คือความถือตัวเพราะชาติซึ่งมีอยู่มาก สำหรับศากยกษัตริย์ทั้งหลาย

พระภัททิยะ บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียรพยายามบำเพ็ญ สมณธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษาที่บวชนั่นเอง

๔. งานประกาศพระศาสนา

พระภัททิยเถระนี้ แม้ในตำนานจะไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นศิษย์ก็ตาม แต่ชีวประวัติของท่าน ก็นำพาให้อนุชนสนใจพระพุทธศาสนาได้มากทีเดียว ในสมัยเป็นคฤหัสถ์ท่านเป็นราชา เมื่อมาบวช ท่านสำเร็จพระอรหันต์ ท่านจะอยู่ตามโคนไม้ ป่าช้า และเรือนว่าง จะเปล่งอุทานเสมอว่า สุขหนอ ๆ ภิกษุทั้งหลายได้ ยินเช่นนั้นเข้าใจผิดคิดว่า ท่านเบื่อหน่ายพรหมจรรย์ เรียกหาความสุขในสมัยเป็นราชา จึงกราบทูลพระศาสดา พระศาสดาตรัสเรียกท่านมา แล้วตรัสถามว่า จริงหรือภัททิยะที่เธอเปล่งอุทาน อย่างนั้น ท่านกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า เธอมีความรู้สึกอย่างไรจึงได้เปล่งอุทานเช่นนั้น ท่านได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายใน และภายนอกทั่วอาณาเขต แม้ข้าพระองค์จัดการอารักขาอย่างนี้ก็ยังต้องหวาดสะดุ้งกลัวภัยอยู่เป็นนิตย์ แต่บัดนี้ข้าพระองค์ถึงจะอยู่ป่า โคนต้นไม้ หรือในเรือนว่าง ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้งต่อภัยใด ๆ เลย อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพวันละมื้อ จิตใจเป็นอิสระ ไม่มีพันธะใด ๆ ข้าพระองค์มีความรู้สึก อย่างนี้ จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระศาสดาทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงชมเชยท่าน เรื่องนี้ ให้ข้อคิดว่า อาวุธรักษา สู้ธรรมรักษาไม่ได้

๕. เอตทัคคะ

พระภัททิยเถระนี้ ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ และได้เสวยราชสมบัติเป็นราชาแล้ว ได้สละราช สมบัติออกบวชด้วยเหตุนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลาย ผู้เกิด ในตระกูลสูง

๖. บุญญาธิการ

แม้พระภัททิยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็น อุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานในพุทธุปบาทกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เกิดในตระกูลอันสมบูรณ์ ด้วยสมบัติ เจริญวัย ได้ภรรยาและบุตรธิดาแล้ว มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำเสด็จมาสู่เรือนของตน ได้ถวายภัตตาหารแล้วได้ถวายอาสนะที่ ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอันงดงาม ต่อมาได้ทำบุญ มีทาน ศีล และภาวนาเป็นประธาน ตลอดกาลยาวนาน จนได้บรรลุสาวกบารมีญาณ ในชาติสุดท้าย ฆราวาสวิสัยได้เป็นราชา ออกบรรพชาได้สำเร็จพระอรหันต์

๗. ธรรมวาทะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนโน้น ข้าพระองค์ครองราชสมบัติ ได้จัดการอารักขาไว้อย่างดี ในที่ทุกสถาน ถึงกระนั้นก็ยังอยู่ด้วยความกลัวภัย หลับไม่สนิทมีจิตคิดระแวง แต่บัดนี้ ข้าพระองค์บวชแล้ว อยู่อย่างไม่มีภัย หลับได้สนิท ไม่มีเรื่องให้ต้องคิดระแวง

๘. นิพพาน

พระภัททิยเถระนี้ ท่านได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา สิ้นชาติ สิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ กิจส่วนตัวของท่านไม่มี มีแต่หน้าที่ประกาศพระศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์และความสุขแก่สังคม สุดท้ายท่านได้ นิพพานตามธรรมดาของสังขารที่เกิดมาแล้วต้องดับไป


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗