ชาติกถา กัณฑ์ที่
๑
คำปรารภ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงประกอบด้วยสัมปทาคุณ ๓ ประการ คือ เหตุสัมปทา ๑ ผลสัมปทา ๑ สัตตูปการสัมปทา
๑
เหตุสัมปทา
ได้แก่ การที่ทรงบำเพ็ญโพธิญาณ พุทธการกบารมีธรรมสิ้นกาลนาน นับประมาณเป็นโกฎิกัป
ตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้นมา
ผลสัมปทา
ได้แก่ การที่ทรงได้รับความสำเร็จจากพุทธการกบารมีธรรมที่ทรงบำเพ็ญ
มี ๔ ประการ คือ
๑.
รูปกายสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีรูปกาย ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ
๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
๒.
ปหานสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงสามารถละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้
๓.
ญาณสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยญาณทั้งหลาย มีทศพลญาณ
เป็นต้น
๔.
อานุภาวสัมปทา ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีอำนาจในการที่จะทำสิ่งที่ทรงประสงค์ให้สำเร็จตามปรารถนาได้
สัตตูปการสัมปทา
ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาคุณในการช่วยเหลือเวไนยสัตว์ด้วยคุณสมบัติประจำพระองค์
๒ ประการ คือ
๑.
อาสยะ ได้แก่ การรอคอย หมายถึง ทรงรู้จักรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์
(สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) แห่งบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด
๒.
ปโยคะ ได้แก่ การที่พระองค์ทรงมีความเพียรพยายามในการที่จะทรงสั่งสอนผู้อื่น
ด้วยน้ำพระทัยที่ประกอบด้วยความกรุณา โดยไม่หวังผลตอบแทนจากผู้นั้น
และไม่ทรงหวาดกลัวภัยอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น
พระพุทธองค์เสด็จอุบัติในโลกเพื่อเป็นพระศาสดาสั่งสอนเวไนยสัตว์
ให้ดำเนินตามข้อปฏิบัติคือ หนทางแห่งประโยชน์ทั้ง ๓ คือ ประโยชน์ชาตินี้
๑ ประโยชน์ชาติหน้า ๑ ปรมัตถประโยชน์ คือ พระนิพพาน ๑
ทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อให้สัทธรรมทั้ง
๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นไปในโลกโดยชอบ
ทรงประกาศมรรคาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ
อันเป็นหนทางแห่งความสุขในสุคติภพ และสุขคือพระนิพพานให้เป็นวิสัยแห่งปัญญาญาณของเวไนยสัตว์
เกิดมีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปในโลกแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
เปรียบเหมือนดวงประทีปที่ชัชวาลเต็มที่แล้วมอดดับไป คงเหลือแต่พระธรรมวินัย
คือ พระพุทธศาสนาไว้ในโลก
แม้กาลเวลาที่พระองค์ทรงประสูติ
ตรัสรู้ ประกาศพระพุทธศาสนา และเสด็จดับขันธปรินิพพานจะผ่านมานานแล้วก็ตาม
แต่เมื่อพุทธมามกบริษัทผู้ศรัทธาเลื่อมใส ตั้งใจศึกษาพระประวัติของพระองค์ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า
เวลานั้นไม่ได้ผ่านไปไกลเลย ยังเหมือนกับพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
ความเลื่อมใสที่มีคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เช่นนี้ย่อมเป็นไปเพื่ออิฏฐวิบุลผลทางสุคติสวรรค์
และพระนิพพานอันเป็นวิบากสมบัติที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามต่างปรารถนา
ความเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีได้ยาก
พระพุทธภาษิตในมหาปทานสูตร
ทีฆนิกาย มหาวรรคว่า ๙๑ กัป มี พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ
๗ พระองค์ คือ ๑. พระวิปัสสีพุทธเจ้า ๒. พระสิขีพุทธเจ้า ๓. พระเวสสภูพุทธเจ้า
๔. พระกกุสันธพุทธเจ้า ๕. พระโกนาคมนพุทธเจ้า ๖. พระกัสสปพุทธเจ้า
๗. พระโคตมพุทธเจ้า
การเกิดของพระพุทธเจ้ามี
๒ สมัย คือ เกิดโดยรูปกาย ๑ เกิดโดยธรรม ๑
การเกิดโดยรูปกายมี
๒ สมัย คือ การเสด็จลงสู่พระครรภ์มารดา เรียก โอกกันติสมัย ๑ การประสูติจากพระครรภ์
เรียก นิกขมนสมัย ๑
การเกิดโดยธรรม
ได้แก่ การตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติในโลก
เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยเหตุสัมปทา ได้แก่ ทรงบำเพ็ญพุทธการกบารมีธรรมมาครบถ้วนแล้ว
ก่อนพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติประมาณ
๑,๐๐๐ ปี พวกฤษีได้แต่งตำรามหาปุริสลักษณะเอาไว้
มหาปุริสลักษณะ
๓๒ ประการ
๑.
มีฝ่าเท้าไม่แหว่งเว้า
๒.
ฝ่าเท้ามีลายกงจักร
๓.
มีส้นเท้ายาว
๔.
มีนิ้วมือ นิ้วเท้ายาว
๕.
มีฝ่ามือ ฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม
๖.
ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีลายตาข่าย
๗.
ข้อเท้าลอยอยู่เบื้องบน (ไม่ติดกับหลังเท้า)
๘.
มีแข้งเรียวเหมือนของเนื้อทราย
๙.
ยืนตามปกติ (ไม่ต้องก้ม) มือทั้งสองจับถึงหัวเข่า
๑๐.
มีอวัยวะเพศซ่อนอยู่ในฝัก
๑๑.
มีผิวดั่งทองคำ
๑๒.
มีผิวละเอียด ฝุ่นละอองไม่ติด
๑๓.
มีขนขุมละเส้น
๑๔.
มีปลายขนขึ้นเบื้องบน
๑๕.
มีลำตัวตรงดุจพระพรหม
๑๖.
มีเนื้อเต็มในที่ ๗ สถาน คือ หลังมือทั้ง ๒ หลังเท้าทั้ง ๒ จะงอยบ่าทั้ง
๒ และลำคอ
๑๗.
มีลำตัวเบื้องหน้าเหมือนของราชสีห์
๑๘.
มีแผ่นหลังเต็ม (มองไม่เห็นสะบักทั้งสอง)
๑๙.
ร่างกายกับวา (แขนทั้งสองกางออก) เท่ากัน
๒๐.
ลำคอกลม
๒๑.
เส้นเอ็นสำหรับรับรส ๗๐๐ รวมอยู่ที่คอ
๒๒.
มีคางเหมือนราชสีห์
๒๓.
มีฟัน ๔๐ ซี่
๒๔.
มีฟันเรียบเสมอกัน
๒๕.
มีฟันไม่ห่าง ชิดสนิทกัน
๒๖.
มีเขี้ยวอันขาวงาม
๒๗.
มีลิ้นอ่อนและกว้างใหญ่ (ปิดหน้าผากได้ ทำให้เล็กสอดเข้าไปในช่องจมูก
และช่องหูได้)
๒๘.
มีเสียงดังพรหม
๒๙.
มีตาดำดำสนิท
๓๐.
มีดวงตาเหมือนตาของโค
๓๑.
มีอุณาโลมสีขาวเกิดระหว่างคิ้วทั้งสอง
๓๒.
มีศีรษะเป็นปริมณฑลเรียบร้อย
ผู้มีมหาปุริสลักษณะ
๓๒ ประการ ครบสมบูรณ์มีคติ เป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก
พระเจ้าจักรพรรดิ์มีของคู่บุญเรียกว่า
รัตนะ ๗ ประการ คือ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ ดวงแก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว
๑ ปริณายกแก้ว ๑ จักรแก้ว ๑
พระโพธิสัตว์
ของเราทั้งหลายก่อนจะถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดา เกิดเป็นเทวบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
เมื่อพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์แล้ว
พระมารดาทรงมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่มีจิตปฏิพัทธ์เรื่องกามารมณ์ และบุรุษใด
ๆ ล่วงละเมิดไม่ได้
พระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์พระมารดา
๑๐ เดือน
เวลาพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาประทับยืน
ไม่ใช่นอนคลอดเหมือนสตรีทั่วไป
เมื่อคนทำความสะอาดร่างกายแล้ว
ปล่อยมือ (เพื่อให้เด็กนอน) พระโพธิสัตว์ยืนด้วยพระบาท ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร
(เหนือ) ดำเนิน ๗ ก้าว (พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า หมายถึง โพชฌงค์
๗ จะเกิดขึ้นในโลก) ทรงหยุดทอดพระเนตรทิศทั้งปวงแล้วเปล่งพระวาจาว่า
เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ชาติใหม่ไม่มี
พระโพธิสัตว์ทรงมีรูปกายสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ
๓๒ ประการ พราหมณาจารย์ทั้งหลายจึงทำนายว่ามีคติเป็น ๒ ดังกล่าวแล้ว
แต่บางท่านก็ทำนายว่า จะต้องออกบวชเป็นศาสดาเอกแน่นอน
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้
๗ วัน พระมารดาสิ้นพระชนม์ ข้อนี้เป็นธรรมดาอีกเช่นกัน เพราะพระครรภ์นั้นไม่สมควรจะเป็นที่ปฏิสนธิของสัตว์อื่นอีกต่อไป
ผลจากการทำนายของพราหมณาจารย์ทำให้พระโพธิสัตว์ได้รับการเคารพนับถือ
และอภิบาลรักษาเป็นอย่างดีจากพระประยูรญาติ
เมื่อมีพระชนม์
๗ พรรษา เมื่อพระบิดาทรงทำวัปปมงคล พระพี่เลี้ยงให้พระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นหว้าใหญ่
ทรงนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ปฐมฌาน จิตที่ประกอบด้วยองค์ ๕
คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
พระโพธิสัตว์ทรงได้รับการอภิบาลรักษาเป็นอย่างดีจากพระประยูรญาติ
ประทับอยู่แต่ในปราสาทอันเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓ พร้อมไปด้วยกามคุณที่น่าปรารถนาน่าบันเทิงใจ
เป็นนิตยกาล ตลอดเวลา ๒๙ ปี
การได้เสวยกามสุขของพระโพธิสัตว์
ทำให้เกิดประโยชน์แก่พระองค์ในภายหลัง เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
จะได้ทรงชี้ให้เห็นโทษของกามทั้งหลายว่า มีโทษอย่างนั้น ๆ และทรงเป็นตัวอย่างให้โลกิยมหาชนเชื่อว่า
กามทั้งหลายถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ปรารถนา น่าใคร่ สำหรับโลกิยชนก็จริง
แต่อาศัยการทำในใจโดยอุบายอันชอบก็สามารถละได้ จนถึงออกบรรพชาแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
อันเป็นนิรามิสสุข
อภิสัมโพธิกถา
กัณฑ์ที่ ๒
เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยได้
๒๙ พรรษา ทรงรู้สึกสลดพระทัยด้วยคิดถึง ชรา พยาธิ และมรณะ อันมีประจำแก่สรรพสัตว์
และพระองค์จะต้องได้รับอย่างแน่นอน
การคิดถึง
ชรา พยาธิ และมรณะ เป็นเหตุให้ทำลายความเมา ๓ อย่าง คือ ความเมาในวัย
หลงคิดว่าตนยังหนุ่มยังสาว ความเมาในความไม่มีโรค หลงคิดว่าตนยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
และความเมาในชีวิต ความลืมคิดถึงความตาย
ความเมาทั้ง
๓ อย่างนี้ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนประพฤติทุจริต หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นเหตุให้ลืมทำความดี
การบรรพชาเป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง
สามารถทำลายความทั้ง ๓ นั้นได้ หรือทำให้บรรเทาเบาบางลง เมื่อถึงเวลาแก่
เจ็บ หรือตาย ก็จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เหมือนคนทั่วไป ที่เรียกว่า
หลงตาย
เพราะทรงเห็นประโยชน์แห่งการบรรพชาอย่างนี้จึงเกิดกุศลฉันทะน้อมใจไปในบรรพชา
ในที่สุดได้เสด็จออกบรรพชา ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ดรุณกุมาร มีพระเกศายังดำสนิท
เมื่อเสด็จออกบรรพชา
ถือเพศเป็นนักพรตแล้ว ได้เสด็จสัญจรจาริกเที่ยวเสาะหาสันติวรบท คือ
ทางเครื่องบรรลุถึงธรรมอันระงับดับกิเลส
สมัยนั้น
แคว้นสักกะมีคณาจารย์ใหญ่ ๒ ท่าน คือ อาฬารดาบส กาลามาโคตร ๑ อุทกดาบส
รามบุตร ๑ ประชุมชนเคารพนับถือโดยคุณธรรม
พระโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปยังสำนักของอาฬารดาบส
ทรงศึกษาลัทธิสมัยได้สมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ต่อจากนั้นเสด็จเข้าไปยังสำนักของอุทกดาบส
ทรงศึกษาลัทธิสมัยได้สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
ทรงเห็นว่า
ลัทธิสมัยของอาจารย์ทั้งสองเป็นเพียงสันติวิหาร คือ อุบายเครื่องอยู่เป็นสุขทางใจเท่านั้น
ก่อให้เกิดปปัญจธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุเนิ่นช้ากับการเวียนว่ายในวัฏทุกข์
ได้แก่ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ
จากนั้น
ทรงเสาะหาอนุตรสันติวรบททางเครื่องพ้นจากกิเลสอย่างยอดเยี่ยมต่อไป
ได้เสด็จเข้าสู่แคว้นมคธ จนลุถึงอุรุเวลาเสนานิคม อันน่ารื่นรมย์สำราญจิต
สมควรจะเป็นสถานที่บำเพ็ญสัมมัปปธานวิริยะ จึงประทับอยู่ ณ ที่นั้น
ณ
สถานที่นั้น อุปมา ๓ ข้อ อันเป็นอนวัศวริยะ (ไม่เคยสดับมาก่อน) ได้มาแจ่มแจ้งเป็นวิสยญาณโคจร
(อารมณ์แห่งญาณวิสัย) แก่พระโพธิสัตว์ว่า
๑.
ไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ จะพยายามอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้
๒.
ไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้จะวางไว้บนบก ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้เช่นเดียวกัน
๓.
ไม้แห้งที่ปราศจากยาง และวางไว้บนบก หากพยายามเต็มที่และถูกวิธี ก็ย่อมสีให้เกิดไฟได้
อุปมาข้อที่
๑ เปรียบได้กับสมณพราหมณ์ผู้บริโภคกามคุณ ทั้งใจก็ยังยินดีในกามคุณนั้นอยู่
อุปมาข้อที่
๒ เปรียบได้กับสมณพราหมณ์ผู้ออกบำเพ็ญพรต แต่ใจยังรักใคร่ปรารถนาจะได้กามคุณอยู่
อุปมาข้อที่
๓ เปรียบได้กับสมณพราหมณ์ผู้ออกบำเพ็ญพรต ด้วยใจที่เบื่อหน่ายในกาม
ถ้าหากพากเพียรอย่างถูกวิธี ก็สามารถบรรลุธรรมพิเศษได้
ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
พระมหาบุรุษทรงกลัวอกุศลธรรมมีกามวิตกเป็นต้นจะครอบงำจิต
จึงทรงตั้งความเพียรอย่างแรงกล้า ๓ วาระ ดังนี้
วาระที่
๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดาน) ด้วยพระชิวหา แม้เกิดทุกขเวทนาหลายอย่างก็ยังมีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน
มีความเพียรไม่ย่อหย่อน
วาระที่
๒ ทรงประพฤติอปาณกฌาน การเพ่งไม่มีลมปราณ คือ ทรงกลั้นลมหายใจไม่ให้เดินทางช่องพระนาสิก
และพระโอษฐ์
วาระที่
๓ ทรงเสวยอาหารลดลงทีละน้อย จนเหลือมาเสวยครั้งละเท่าเยื่อในเมล็ดบัว
ทำให้พระสรีรกายซูบผอม พระมังสะหายแฟบ จนพระตจะแนบกับพระอัฐิ
ประโยชน์จากการบำเพ็ญทุกรกิริยา
พระมหาบุรุษแม้จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุสัมปทาที่ทรงบำเพ็ญมาหลายอสงไขยกัป
แต่ต้องมาประพฤติทุกรกิริยาเช่นนี้ ทั้งที่ไม่ใช่เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้
ก็มิใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การประพฤติเช่นนี้จะเกิดประโยชน์แก่พระองค์ภายหลังจากตรัสรู้แล้ว
คนบางพวกที่ศรัทธาเชื่อถืออัตตกิลมถานุโยคปฏิปทาว่าเป็น หนทางตรัสรู้และพ้นทุกข์
จะได้คลายความสำคัญผิดมิจฉาปฏิบัติยอมรับฟังธรรมคำสอนของพระองค์ แล้วนำตนไปสู่ความสวัสดีได้
ทรงเลิกทุกรกิริยา
พระมหาสัตว์ทรงปรารภถึงทุกขเวทนาอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ว่า
สมณพราหมณ์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ที่ได้รับทุกขเวทนาอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรอย่างมากที่สุดก็เท่ากับที่เราได้รับนี้เท่านั้น
จะไม่มีใครได้รับมากไปกว่านี้ แต่วิธีนี้ก็ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย หรือจะมีหนทางอื่นจากการประพฤติทุกรกิริยานี้บ้าง
ครั้งนั้น
สตานุสารีวิญญาณ คือ ความรู้แจ้งไปตามสติที่ระลึกถึงสมาธิซึ่งเคยได้ที่โคนต้นหว้าในสมัยทรงพระเยาว์
คราวที่พระราชบิดาทรงทำวัปปมงคล ว่า สมาธินั้นน่าจะเป็นทางตรัสรู้
พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกประพฤติทุกรกิริยาเสียแล้วทรงเสวยพระกระยาหารตามปกติ
เพื่อให้ร่างกายมีกำลัง จะได้บำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป
ครั้งนั้น
เบญจวัคคีย์ คือ นักบวช ๕ รูป ที่ตามเสด็จออกบวชคอยเฝ้าปรนนิบัติเพื่อหวังคำสั่งสอนหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว
ได้เห็นพระมหาสัตว์เสวยพระกระยาหาร จึงเกิดอาการเบื่อหน่าย ว่าคงจะไม่ได้ตรัสรู้จึงหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
การที่พวกเบญจวัคคีย์หนีไปเช่นนั้น
ก่อให้เกิดผลดีแก่พระมหาสัตว์ ภายหลังจากตรัสรู้แล้วว่าการประพฤติทุกรกิริยาไม่ใช่หนทางตรัสรู้
โดยมีเบญจวัคคีย์เป็นประจักษ์พยาน
ทรงตรัสรู้
เมื่อพระมหาสัตว์เสวยพระกระยาหารตามปกติ
พระกายมีกำลังแล้ว จึงทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต เจริญฌานจนได้บรรลุจตุตถฌาน
ทรงทำให้ชำนาญเป็นวสีพร้อมที่จะเป็นบาทให้เกิดอภิญญา แต่นั้นทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไประยะหนึ่ง
ครั้นถึงวันวิสาขปุรณมี
เพ็ญกลางเดือน ๖ เวลาพลบค่ำ ขณะนั่งคู้บัลลังก์บนภูมิภาคที่ลาดด้วยหญ้า
ภายใต้มหาโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา
ณ
สถานที่นั้น พระมหาสัตว์ทรงอธิษฐานจาตุรงคมหาปธาน แปลว่าความเพียรมีองค์
๔ คือ เนื้อและเลือดในกายนี้จงเหือดแห้งไป ๑ หนัง ๑ เอ็น ๑ กระดูก
๑ จงเหลืออยู่ ถ้ายังไม่ได้บรรลุผลที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย
เราจะไม่ลุกไปจากบัลลังก์นี้
จตุตถฌานเป็นบาทแห่งอภิญญา
พระมหาสัตว์ทำจิตให้ตั้งมั่นในจตุตถฌาน
ควรแก่การงานแล้ว อันดับแรกทรงน้อมไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ก็สามารถระลึกถึงขันธ์
๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เคยทรงอาศัยในกาลก่อนได้ ทรงบรรลุญาณนี้ในปฐมยาม
ต่อจากนั้นทรงพระประสงค์จะทราบจุติ
และอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย จึงน้อมไปเพื่อจุตูปปาตญาณก็ทรงได้บรรลุในมัชฌิมยาม
ทำให้ทรงทราบจุติ และอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย ญาณนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ทิพพจักขุญาณ
จตุตถฌาน (อภิญญา)
เป็นบาทแห่งวิปัสสนา
เมื่อพระมหาสัตว์มีจิตตั้งมั่นด้วยจตุตถฌาน
เป็นเหตุให้เกิดอภิญญาญาณทั้ง ๒ ประการดังกล่าวแล้ว จึงน้อมจิตไปสู่วิปัสสนา
โดยพิจารณาปฏิจจสมุปบาทว่า ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บ มรณะ ความตาย
โสกะ เศร้าใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญ ทุกข์ ไม่สบายกายไม่สบายใจ โทมนัส
เสียใจอกเสียใจ อุปายาส ตรอมใจ มาจากไหน
ทรงพิจารณาด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า
มาจากชาติ
ชาติมาจากไหน
มาจากภพ
คือ กัมมภพ ได้แก่ การสร้างกรรม
ภพมาจากไหน
มาจากอุปาทาน
(ความยึดถือด้วยอำนาจ ตัณหา และมิจฉาทิฏฐิ)
อุปาทานมาจากไหน
มาจากตัณหา
(กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
ตัณหามาจากไหน
มาจากเวทนา
(สุข ทุกข์ อุเบกขา)
เวทนามาจากไหน
มาจากผัสสะ
(จักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส)
ผัสสะมาจากไหน
มาจากอายตนะ
(บ่อเกิดอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
อายตนะ
มาจากไหน
มาจากนามรูป
(เวทนา สัญญา สังขาร ภูตรูป ๔ วัตถุรูป ๖ ชีวิตรูป ๑)
นามรูปมาจากไหน
มาจากวิญญาณ
(วิปากวิญญาณ และอวิปากวิญญาณ)
วิญญาณมาจากไหน
มาจากสังขาร
(กุศลกรรม อกุศลกรรม)
สังขารมาจากไหน
มาจากอวิชชา
(ความไม่รู้อริยสัจ ๔)
เพราะฉะนั้น
เมื่อจะดับกองทุกข์ทั้งปวงให้หมดสิ้น ก็ต้องสร้างวิชชา คือ ความรู้อริยสัจ
๔ ให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อวิชชาเกิดขึ้นแล้ว กองทุกข์ทั้งปวงย่อมดับไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อวิชชาเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์อย่างนี้
อวิชชาก็ถูกทำลาย จิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง พระองค์จึงได้บรรลุญาณที่
๓ ชื่ออาสวักขยญาณ ญาณที่ทำความสิ้นอาสวะ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้น
อรหัตมรรคญาณเป็นที่มาแห่งญาณทั้งปวง
เมื่อพระมหาบุรุษตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
พระคุณทั้งหลายแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ทรงบรรลุพระญาณมีสัพพัญญุตญาณเป็นต้น
หาประมาณมิได้ ด้วยอำนาจอรหัตมรรคญาณนั่นเอง ประหนึ่งพระราชอำนาจทั้งปวงสำเร็จแก่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า
พร้อมกับการได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์
ธัมมเทสนาธิฏฐานกถา
กัณฑ์ที่ ๓
เมื่อพระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้แล้วได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข
ณ ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ ๗ วัน ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมแล้วทรงเปล่งอุทานว่า
เมื่อใดธรรมทั้งหลายคือ
โพธิปักขิยธรรมหรืออริยสัจ ๔ มาปรากฏชัดแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ด้วยฌาน
๒ อย่าง คือ อารัมมณุปนิชฌาน (สมาบัติ ๘) และลักขณุปนิชฌาน (วิปัสสนาญาณ)
เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะเขาได้ทราบชัดธรรมคือ
กองทุกข์มีสังขาร เป็นต้น พร้อมทั้งเหตุมีอวิชชา เป็นต้น
ครั้นมัชฌิมยาม
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียวกันนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏชัด
แก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะเขาได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ครั้นปัจฉิมยาม
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียวกันนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่
พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ สถิตย์อยู่ในโลกด้วยปรีชาอันชัชวาล
เหมือนพระอาทิตย์ทำท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น
จากต้นอัสสัตถพฤกษ์ได้เสด็จไปประทับโคนต้นอชปาลนิโครธ
๗ วัน ณ ที่นั้นทรงปรารภพราหมณ์ผู้มักตวาดคนอื่นว่า หึ หึ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า
ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้วไม่ตวาดใครด้วยคำหยาบ ไม่มีกิเลสย้อมใจ
สำรวมตน ถึงที่สุดแห่งเวท (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ)
ผู้นั้นจึงควรกล่าวว่าตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม
จากโคนต้นอชปาลนิโครธ
ได้เสด็จไปยังต้นมุจจลินท์ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ๗ วัน ทรงเปล่งอุทานว่า
ความสงัดเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข สำหรับบุคคลผู้สันโดษ ผู้ได้สดับและเห็นธรรม
ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมระวังในสัตว์ทั้งหลาย เป็นความสุขในโลก
ความสิ้นราคะ คือ ความก้าวล่วงกามทั้งหลาย เป็นความสุขในโลก การกำจัดอัชมิมานะเสียได้เป็นความสุขอย่างยิ่ง
จากต้นมุจจลินท์ได้เสด็จไปยังต้นราชายตนะ
(ไม้เกต) ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ๗ วัน ณ ที่นั้น พาณิช ๒ คนพี่น้องชื่อ
ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไปจากอุกกลชนบท ได้นำสัตตุผง สัตตุก้อน
เข้าไปถวาย แต่เป็นธรรมเนียมว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงรับอาหารบิณฑบาตด้วยพระหัตถ์
และบาตรของพระองค์ก็ไม่มี ท้าวจาตุมมหาราชจึงนำบาตรศิลามาถวาย ทรงรับสัตตุผง
สัตตุก้อน ของพาณิชทั้ง ๒ ด้วยบาตรนั้น เสร็จแล้วทั้ง ๒ ได้แสดงตนเป็นอุบาสก
ถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะ เป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา
เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก
จากต้นราชยตนะนั้น
ได้เสด็จกลับไปยังต้นอชปาลนิโครธอีก ณ ที่นั้น ทรงดำริถึงธรรมที่ทรงตรัสรู้ว่า
เป็นของลึกซึ้ง ยากที่ผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่ในที่สุดทรงเห็นด้วยพุทธจักษุ
คือ อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้อินทรีย์ (สัทธา วิริยะ สติ
สมาธิ ปัญญา) แห่งสัตว์ทั้งหลายและอาสยานุสยญาน ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยและอนุสัยของสัตว์ทั้งหลายว่า
คนในโลกมี ๔ จำพวก คือ
๑. อุคฆติตัญญู ผู้รู้ผู้เข้าใจได้เร็ว เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ
พอได้สัมผัสแสงพระอาทิตย์ก็จะบานได้ทันที
๒. วิปจิตัญญู บุคคลผู้ที่ต้องอธิบายเล็กน้อยจึงเข้าใจ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำคอยเวลาพ้นจากน้ำนิดหน่อยจึงจะบาน
๓. เนยยะ บุคคลผู้ต้องอาศัยกัลยาณมิตรและการสดับตรับฟัง พากเพียร
พยายาม ฝึกฝน จึงเข้าใจเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังอยู่ภายใต้น้ำ ที่ต้องคอยดูแลรักษาแล้วสามารถบานในวันต่อไป
๔. ปทปรมะ บุคคลผู้ยากที่จะให้เข้าใจ เพราะประกอบด้วยอันตรายิกธรรม
คือ วิบาก กรรม และกิเลส เปรียบเหมือนดอกบัว (๓ ชนิดนั้น) แต่ได้รับอันตรายจากเต่าและปลา
เป็นต้น เสียก่อน จึงไม่มีโอกาสบาน
เมื่อทรงเห็นว่า
บุคคลผู้ที่จะตรัสรู้ธรรมมีมากกว่า จึงตัดสินพระทัยแสดง พระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์
เรียกว่า ทรงทำธรรมเทศนาธิษฐาน
เมื่อทรงทำธรรมเทศนาธิษฐานแล้วทรงตั้งพระทัยว่า
บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ยังไม่มีครบถ้วน และพรหมจรรย์คือพระธรรมวินัย
ยังไม่กว้างขวางเพียงไร ในระหว่างนี้พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน เรียกว่า
ทรงทำอายุสังขาราธิษฐาน
พระธรรมจักกัปปวัตนสูตร
กัณฑ์ที่ ๔
เมื่อทรงตัดสินพระทัยว่าจะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์
อันดับแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส แต่ทั้ง ๒ ท่านเสียชีวิตแล้ว
จึงทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์
หลังจากที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตามอภิรมย์แล้ว
ได้เสด็จไปเมืองพาราณสี ครั้นถึงสถานที่ระหว่างแม่น้ำกับมหาโพธิ์ อุปกาชีวกเห็นพระองค์ทรงมีพระฉวีผุดผ่อง
จึงถามว่าใครเป็นศาสดาของท่าน ได้ตรัสตอบว่า อาจารย์ของเราไม่มี เราเป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองแต่ผู้เดียว
กำลังจะไปแคว้นกาสี เพื่อขับเคลื่อนล้อธรรมให้หมุนไปในโลก เราจะตีกลองอมตเภรีแก่เวไนยชนผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
เราเป็นอนัตชินะ อุปกาชีวก กล่าวว่า อาวุโส นั่นพึงเป็นได้แต่ชื่อ
สั่นศีรษะแล้วหลีกไป
ครั้นเสด็จไปถึงเมืองพาราณสี
ได้เสด็จไปหาปัญจวัคคีย์ แต่ทั้ง ๕ คน ไม่เคารพ พูดกับพระองค์โดยใช้คำว่า
อาวุโส พระองค์ทรงห้ามและแสดงเหตุผลหลายอย่าง จนทั้ง ๕ ยอมฟังธรรม
จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก มีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ใจความโดยย่อว่า ที่สุด
๒ อย่าง (ทางไม่ดี) คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค การหมกติดอยู่กับกามสุข (การละกิเลสด้วยวิธีสนองตัณหาของตน)
๒. อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก (การละกิเลสด้วยวิธีทรมานตน)
อันบรรพชิตไม่ควรทำ
ข้อปฏิบัติสายกลาง
๘ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา
การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ การระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
ซึ่งห่างไกลจากส่วนสุด ๒ อย่างนั้น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วทำให้เกิดดวงตา
ทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความดับทุกข์
ต่อจากนั้นทรงแสดงอริยสัจ
คือ ของจริงอย่างประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย ความเสียใจ ความคร่ำครวญ ความเจ็บกาย
ความเจ็บใจ ความตรอมใจ ความต้องอยู่ร่วมกับคนหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก
ความต้องพลัดพรากจากคน หรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความผิดหวัง ล้วนเป็นความทุกข์
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขันธ์ ๕ (ร่างกายและจิตใจ) ที่ยึดถือด้วยอุปาทาน
(ตัณหา และทิฏฐิ) ก่อให้เกิดความทุกข์ ทั้งหมดนี้คือทุกขอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ
คือ ทุกข์
กามตัณหา
ความอยากได้กามารมณ์ ภวตัณหา ความอยากได้รูปภพ หรืออยากมี อยากเป็นที่ตนเองไม่มีไม่เป็น
วิภวตัณหา ความอยากได้อรูปภพ หรือความอยากจะไม่มี ไม่เป็น ในสิ่งที่ตนมีและเป็นอยู่แล้ว
ทั้ง ๓ นี้คือ ทุกขสมุทัยอริยสัจ แปลว่า ของจริงอย่างประเสริฐ คือ
เหตุที่ให้เกิดความทุกข์
ความดับไปอย่างไม่มีส่วนเหลือแห่งตัณหาทั้ง
๓ นั้น นี้คือ ทุกขนิโรธอริยสัจ แปลว่า ของจริงอย่างประเสริฐ คือ ความดับทุกข์
อริยมรรคมีองค์
๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
แปลว่า ของจริงอย่างประเสริฐ คือ ข้อปฏิบัติที่ให้ดำเนินไปถึงความดับทุกข์
ทรงแสดงต่อไปว่า
จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ทั้งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจ
เป็นปริญเญยยธรรม คือ ธรรมที่ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน (เพื่อจะได้แก้ไขได้ถูกต้อง)
พระองค์ได้เข้าใจชัดเจนแล้ว
ทุกขสมุทัยอริยสัจ
เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมที่จะต้องละหรือทำลายให้ได้ พระองค์ทรงละหรือทำลายได้แล้ว
ทุกขนิโรธอริยสัจ
เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมที่ต้องทำให้แจ้ง หมายถึง ต้องเข้าใจและไปให้ถึง
พระองค์ได้ทรงทำให้แจ้งแล้ว
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เป็นภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งต้องบำเพ็ญให้เกิด ให้มี ให้เจริญ จนถึงที่สุด
พระองค์ก็ได้บำเพ็ญให้เจริญจนถึงที่สุดแล้ว
ท่านโกณฑัญญะได้ฟังปฐมเทศนาดังกล่าวมานี้
ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (สังขาร) มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ท่านได้บรรลุโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเช่นนั้นจึงทรงเปล่งอุทานว่า
อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ คำว่า อัญญา จึงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา
อนัตตลักขณสูตร
กัณฑ์คำรบ ๕
ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พระเบญจวัคคีย์
เมื่อท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม
หมดความสงสัย แน่ใจ ไม่หวั่นไหว ไม่ต้องเชื่อใครในคำสอนของพระศาสดา
จึงขอบรรพชาอุปสมบท ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด
ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
วิธีนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อจากนั้น ทรงสั่งสอน ๔ รูปที่เหลือด้วยปกิณกเทศนา
ท่านวัปปะ และภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวชพร้อมกัน ต่อจากนั้น
มหานามะ และอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวชเป็นสุดท้าย ทรงอนุญาตให้ทั้งหมดเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เมื่อภิกษุเบญจวัคคีย์ดำรงอยู่ในเสขภูมิ
เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแล้ว มีอินทรีย์แก่กล้าสมควรเจริญวิปัสสนาเพื่ออรหัตผล
จึงตรัสเรียกมารับพระธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตร โดยไวยากรณภาษิต ใจความโดยย่อว่า
"รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ ๕) เป็นอนัตตา คือว่างเปล่าจากตัวตน
บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอัตตา คือมีตัวตน บังคับบัญชาได้ ก็ต้องได้ตามความปรารถนา
ว่าจงอย่าเจ็บไข้ จงเป็นอย่างนี้ คือเป็นอย่างที่เราต้องการ จงอย่าเป็นอย่างนั้น
คือ อย่าเป็นอะไรที่เราไม่ต้องการ
ทรงแสดงต่อไปว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
จึงไม่ควรเข้าใจว่า นั่น (ขันธ์ ๕) เป็นของเรา นั่น (ขันธ์ ๕) เป็นเรา
นั่น (ขันธ์ ๕) เป็นตัวตนของเรา"
สุดท้ายทรงสอนเบญจวัคคีย์ให้เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งในอดีต อนาคต ปัจจุบัน อันต่างโดยดีเลวเป็นต้นทุกชนิด
ล้วนแต่ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อเบญจวัคคีย์เห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงเกิดความเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ ครั้นเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด ได้บรรลุอรหัตมรรคปราศจากกิเลสเครื่องย้อมจิตทั้งหมด
ครั้งนั้น
มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ เบญจวัคคีย์
๕ ด้วยประการฉะนี้
จาริกกัณฑ์
กัณฑ์คำรบ ๖
ในเมืองพาราณสี
มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า ยศ มีปราสาท ๓ หลัง อยู่ท่ามกลางแห่งสตรีผู้บำเรอกามคุณ
คืนหนึ่งเขาตื่นขึ้นมาในขณะที่สตรีทั้งหลายนอนหลับด้วยอาการต่าง ๆ
กัน เหมือนกับซากศพที่นอนตายระเกะระกะ รู้สึกเบื่อหน่าย จึงหนีไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เวลานั้นเป็นเวลาใกล้รุ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ได้สดับเสียงอุทานของยศกุลบุตรว่า
ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ จึงตรัสเรียกให้เขาเข้าไปหา แล้วทรงแสดงอนุปุพพีกถา
เทศนาที่แสดงโดยลำดับ พรรณา ทาน ศีล สวรรค์ โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งการออกจากกาม
จบแล้วทรงแสดงสามุกกังสิกเทศนา แปลว่า เทศนาที่ทรงยกขึ้นแสดงเอง ได้แก่
ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยศกุลบุตรได้บรรลุโสดาปัตติผล
พระธรรมเทศนาอนุปุพพีกถา
และสามุกกังสิกเทศนานี้ จะทรงแสดงแก่บุคคลผู้ประกอบด้วย องค์ ๓ คือ
๑. เป็นมนุษย์ ๒. เป็นคฤหัสถ์ ๓. มีอุปนิสัยแก่กล้า ควรบรรลุโลกุตรคุณ
ต่อมาทรงแสดงอนุปุพพีกถา
และสามุกกังสิกเทศนานี้แก่เศรษฐีบิดาของเขา ผู้ออกมาตามหาบุตรชาย เศรษฐีได้บรรลุโสดาบัน
แสดงตนเป็นอุบาสกถึงรัตน ๓ เป็นสรณะ คนแรกในพระพุทธศาสนา ส่วนยศกุลบุตรฟังธรรมซ้ำอีกครั้งหนึ่งได้บรรลุอรหัตผล
เศรษฐีครั้นฟังธรรมแล้วได้บอกลูกชายว่า
แม่คิดถึงมากให้กลับบ้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกเขาว่า ยศกุลบุตรบรรลุพระอรหัตผลแล้ว
ไม่สามารถจะครองเรือนได้ เศรษฐีจึงอนุโมทนา และขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับยศกุลบุตรรับถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
แล้วกลับสู่บ้านของตน
หลังจากเศรษฐีกลับไปแล้ว
ยศกุลบุตรได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า
จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน
เวลาปุพพัณหสมัย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระยศเป็นปัจฉิมสมณะ ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐี
มารดา และภรรยาของพระยศมาเฝ้า จึงทรงแสดงอนุปุพพีกถา และอริยสัจโปรดทั้งสองได้บรรลุโสดาบัน
และแสดงตนเป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา
เสร็จภัตกิจที่นิเวศน์ของเศรษฐีแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับไปประทับที่ป่าอิสิ ปตนมฤคทายวัน ครั้งนั้นสหายพระยศชาวเมืองพาราณสี
๔ คน ชื่อ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ ได้ทราบข่าวว่าสหายออกบวชจึงมายังสำนักพระยศ
พระยศได้พาพวกเขาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจ
บรรลุโสดาปัตติผลแล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล
สหายของพระยศอีก
๕๐ คน เป็นลูกเศรษฐีชาวชนบทได้ทราบข่าวว่า ยศกุลบุตรออกบวช จึงพากันมายังสำนักของพระยศ
ท่านได้พาสหายเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอนุปุพพีกถา
และอริยสัจ ๔ พวกเขาได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท แล้วได้บรรพชาอุปสมบทและบรรลุธรรมตามนัยหนหลัง
ครั้งนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก
๖๑ องค์ พระผู้มีพระภาคทรงเจ้า ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ไปประกาศศาสนา
ด้วยพระดำรัสว่า เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่มวลชน
เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อสิ่งที่ต้องประสงค์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น
มารมาคุกคามพระองค์ว่า ท่านถูกเราพันธนาการไว้ด้วยบ่วงกามทั้งที่เป็นของเทวดาและมนุษย์
และใจของท่านก็จะต้องติดบ่วงราคะ (ความกำหนัดยินดี) ของเรา ดูก่อนสมณะท่านจะไม่พ้นมือของเราไปได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบมารว่า
ดูก่อนมาร ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ของเราหมดไปแล้ว ท่านไม่สามารถจะผูกเราด้วยบ่วงราคะได้หรอก
มารจึงอันตรธานหายไป (มั่นใจว่าจะไม่ไปติดกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
และลาภยศ)
ทรงอนุญาตติสรณคมนุปสัมปทา
ครั้งนั้น เมื่อพระอรหันต์ ๖๐
องค์ออกไปประกาศพระศาสนา เมื่อคนศรัทธาต้องการบวชจึงนำมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงบวชให้
ทรงเห็นว่าเป็นความลำบากทั้งแก่พระสงฆ์และผู้ศรัทธา จึงทรงอนุญาตวิธีบรรพชาอุปสมบทว่า
ก็แล
กุลบุตรนั้น ๆ อันท่านทั้งหลายพึงให้ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดแบบเฉวียงบ่า
ให้ไหว้เท้าภิกษุ แล้วให้นั่งกระโหย่ง ประนมมือเปล่งวาจาว่า พุทฺธํ
สรณํ คจฺฉามิ ฯเปฯ ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วิธีบรรพชาอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า
ติสรณคมนุปสัมปทา
ราชคหภัณฑ์
กัณฑ์ที่ ๗
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพิจารณาเห็นว่าประชาชนชาวมคธเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยที่จะรับธรรมเทศนาได้
จึงตั้งพระทัยที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธก่อน แต่จำเป็นต้องอาศัยพระเจ้าพิมพิสาร
พระเจ้าแผ่นดินมคธ และอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิผู้มีอายุมาก
โลกสมมติกันว่าเป็นผู้ประเสริฐมานาน เป็นกำลังช่วย จึงเสด็จออกจากพาราณสีเสด็จพุทธดำเนินไปยังอุรุเวลาประเทศ
ในระหว่างทางทรงแวะพักที่กัปปาสิกวัน ป่าฝ้าย ทรงโปรดภัททวัคคีย์สหาย
๓๐ คน ให้บรรลุผลเบื้องต่ำ ๓ บวชให้แล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา
โปรดชฎิลพันหนึ่ง
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังอุรุเวลาประเทศเพื่อโปรดชฏิล
๓ พี่น้อง คือ พี่ชายใหญ่นามว่า อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คนกลางนามว่า
นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คนเล็กนามว่าคยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐
ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะด้วยอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ให้สิ้นพยศ
เกิดความสลดใจ ได้ความเลื่อมใส ลอยชฏิลบริขาร แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พร้อมกับบริวาร
ฝ่ายนทีกัสสปะ
และคยากัสสปะ เห็นบริขารของพี่ชายคิดว่าเกิดอันตรายจึงพากันมายังสำนักของพี่ชาย
ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วพร้อมกับบริวารทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เมื่อประทับอยู่ที่อุรุเวลาตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว
พร้อมด้วยภิกษุปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ องค์ ได้เสด็จไปยังคยาสีสะประเทศ ณ
ที่นั้น ได้ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้ว ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร
เป็นไวยากรณภาษิตว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของร้อน อะไรคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ร้อน คือ ตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่มาถูกต้องกาย)
ธรรมารมณ์ (เรื่องที่ใจคิด) การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส
การได้สัมผัสถูกต้อง การคิดนึก ทั้ง ๓ อย่าง (ตา + รูป + จักขุวิญญาณ
ฯลฯ ใจ + ธรรมารมณ์ + มโนวิญญาณ) มาประจวบกันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข
เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ นี้แหละชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของร้อน
ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่
ความเจ็บ ความตาย ร้อนเพราะความเสียใจ การร้องไห้ ความทุกข์ ความโทมนัส
ความตรอมใจ
สรุปพระธรรมเทศนานี้ว่า
อายตนะภายใน ๖ ประการ อายตนะภายนอก ๖ ประการ วิญญาณ ๖ อย่าง ผัสสะคือการกระทบกันของสภาวธรรม
๓ อย่างนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
เพราะมีอุปาทาน คือ ความยึดติดอยู่กับความสุข ความทุกข์ หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นั้น
จึงถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น หรือถูกกองทุกข์มีชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น
เผาใจให้เร่าร้อน
สมเด็จพระนราสภทศพลทรงแสดงอานิสงส์แห่งวิปัสสนาปัญญา
ที่รู้แจ้งเห็นจริงความเร่าร้อนอันเกิดจากกิเลสและกองทุกข์ว่า อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
มโนวิญญาณ และเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
อันเกิดจากสภาวธรรมทั้ง ๓ นั้น มาประจวบกัน
เมื่อท่านเบื่อหน่าย
จิตย่อมหมดความกำหนัด เมื่อหมดความกำหนัดย่อมหลุดพ้น ครั้นหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว
ชาติ คือความเกิดในปัญจโวการภพ (มีขันธ์ ๕) จตุโวการภพ (มีขันธ์ ๔)
เอกโวการภพ (มีขันธ์ ๑) ย่อมสิ้นไป ชื่อว่าเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์และทำกิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลง
ภิกษุหนึ่งพันรูปก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ได้บรรลุอรหัตผล เป็นอเสขบุคคลทั้งหมดด้วยประการฉะนี้
โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
เมื่อภิกษุปุราณชฏิลบรรลุอรหัตผลแล้ว
ทรงประทับอยู่ที่คยาสีสะประเทศตามอภิรมย์พุทธอัธยาศัยแล้ว อันวิสุทธิสงฆ์องค์อรหันต์หนึ่งพันเป็นพุทธบริวารแวดล้อมเสด็จไปประทับ
ณ ลัฏฐิวโนทยานสวนตาลหนุ่มสุปติฏฐเจดีย์ พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวนั้น
พร้อมพราหมณ์ คฤหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุต เสด็จไปเฝ้า
คนเหล่านี้มีอาการทางกายและวาจาต่างกันเป็น
๕ ประเภท
๑.
บางพวกถวายอภิวาทกราบไหว้
๒.
บางพวกเพียงแต่ทักทายปราศัย
๓.
บางพวกประนมมือไหว้
๔.
บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน
๕.
บางพวกนั่งนิ่งไม่ทำประการใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่แน่ใจว่าระหว่างอุรุเวลกัสสปะกับพระสมณโคดม
ใครเป็นอาจารย์ ใครเป็นศิษย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของคนเหล่านั้น
จึงตรัสถามพระอุรุเวลกัสสปะว่า ท่านผู้ปาโมกข์แห่งคณาจารย์ทั้งหลาย
ท่านเห็นอะไรจึงเลิกละการบูชาไฟเสีย
พระอุรุเวลกัสสปะทูลว่า
ยัญทั้งหลายล้วนมุ่งหมายกามคุณ และสตรี ซึ่งล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์ทราบอย่างนี้แล้วจึงเลิกละการบูชายัญเสีย
แต่บัดนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นพระนิพพานอันสงบ ไม่มีอุปธิ คือ ขันธ์
กิเลส และอภิสังขาร ใจของข้าพเจ้าจึงยินดีในพระนิพพานนั้น แล้วท่านได้ลุกขึ้นกราบลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประกาศต่อหน้าชาวมคธว่า
สตฺถา เม ภนฺเต ภควา, สาวโกหมสฺสมิ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ
พระองค์เป็นศาสดา ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก
พราหมณ์และคฤหบดีชาวมคธ
ได้เห็นและได้ยินพระอุรุเวลกัสสปะเช่นนั้นแล้วหมดความสงสัย ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา
อนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๑๑ นหุต ได้บรรลุโสดาปัตติผล ๑ นหุต ตั้งอยู่ในสรณคมน์
พระเจ้าพิมพิสารครั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
ได้กราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบถึงความปรารถนาในกาลก่อนของพระองค์ ๕
ข้อว่า
๑.
ขอให้ข้าพเจ้าได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ในแคว้นมคธ
๒.
ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จงเสด็จมายังแว่นแคว้นของข้าพเจ้า
๓.
ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
๔.
ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
๕.
ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
บัดนี้
ความปรารถนาทั้ง ๕ ประการของข้าพระองค์ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วทุกประการ
แล้วได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์ทั้งหมด รับถวายภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น
วันรุ่งขึ้น
พระศาสดาพร้อมด้วยพระปุราณชฎิล ๑ พันองค์ ได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร
ทรงอังคาสพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขัชชโภชนาหารอันประณีต
ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพตามสัปปุริสวิสัย
เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว
ทรงคิดถึงสถานที่ประทับของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงเห็นว่าเวฬุวันอุทยานเป็นสถานที่ไม่พลุกพล่าน
หนทางไม่ไกล แต่โคจรคามเพื่อเที่ยวบิณฑบาต ควรเป็นสถานที่มีวิเวกสุขตามสมณวิสัย
จึงทรงจับพระเต้าทองอันเต็มไปด้วยน้ำ หลั่งลงเป็นนิมิตหมายแห่งการถวายเวฬุวันอุทยานแด่พระศาสดา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับแล้ว
ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จไปประทับ ณ อารามนั้น และทรงอาศัยอัตถุปปัตติ
คือ เหตุเกิดเรื่องนี้อนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับถวายอารามตามปรารถนา
เวฬุวนามรามจึงเป็นอารามแรกที่เกิดขึ้นในพุทธุปบาทกาลนี้
ทรงได้อัครสาวก
เตน
โข ปน สมเยน สมัยนั้น ปริพาชกคนหนึ่งนามว่า สญชัย อาศัยอยู่ ณ เมืองราชคฤห์
กับปริพาชกบริษัทจำนวนมาก พราหมณ์มาณพ ๒ คน ชื่อ สารีบุตร และโมคคัลลานะ
ออกแสวงหาโมกขธรรมได้ไปบวชประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสญชัยนั้น
สองสหายไม่พอใจลัทธิสมัยของสญชัย
จึงได้ทำกติกากันว่า ถ้าใครได้อมตธรรมก่อนจงบอกแก่กัน ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกได้พบพระอัสสชิกำลังเที่ยวภิกษาจารในเมืองราชคฤห์
กิริยามารยาทน่าเลื่อมใส จึงเข้าไปหาถามถึงศาสดาและอาราธนาให้แสดงธรรม
พระเถระแสดงอริยสัจ
๔ โดยย่อว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น (ว่าต้องดับที่เหตุ) พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้
สารีบุตรปริพาชกฟังธรรมแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม
คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับไปบอกแก่โมคคัลลานปริพาชก พร้อมกับแสดงธรรมให้ฟัง
โมคคัลลานปริพาชกฟังธรรมแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม จึงชวนกันลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เวฬุวัน
พร้อมปริพาชกที่เป็นบริวารของตน
สมเด็จพระบรมศาสดา
ได้โปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา ภิกษุผู้เป็นบริวารได้รับฟังธรรมของพระศาสดาได้บรรลุอรหัตผลอยู่ในพรหมจรรย์
พระโมคคัลลานเถระ
หลังจากบวชได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่กัลลวาลมุตตคาม นั่งโงกง่วงเพราะถูกถีนมิทธนิวรณ์เข้าครอบงำ
พระองค์ทรงทราบจึงเสด็จไปสอน ท่านฟังโอวาทแล้วบรรลุอรหัตผล
ฝ่ายพระสารีบุตรเถระ
บวชได้ ๑๕ วัน เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตาแสดงเวทนาปริคคหสูตรโปรดทีฆนขปริพาชก
ท่านไปถวายงานพัดอยู่ฟังธรรมไปด้วย จึงได้สำเร็จอรหัตผล ณ สถานที่นั้น
ข้อสังเกต
พระสาวกทั้งสองล้วนแต่ได้บรรลุพระอรหัตผลในสำนักของพระศาสดา
ทรงบัญญัติอุปัชฌายวัตรและอาจริยวัตร
เมื่อภิกษุบริษัทถึงความไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ
พระองค์ทรงปรารภอากัปปาจารพิบัติแห่งภิกษุใหม่บางจำพวก จึงทรงอนุญาตให้ถือนิสัยเนื่องด้วยอุปัชฌาย์และอาจารย์
และทรงบัญญัติอุปัชฌายวัตรและอาจริยวัตร เป็นต้น ตามอัตถุปปัตติเกิดเรื่องนั้น
ๆ
พุทธกิจกถา
กัณฑ์ที่ ๘
ทรงเตรียมพระองค์เพื่อบำเพ็ญสัตตูปการกิจ
สมเด็จพระบรมโลกนาถ
ผู้ประกอบด้วยพระกรุณาคุณอันใหญ่หลวง มีพระทัยใฝ่หาประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ด้วยพระอัธยาศัยอันบริสุทธิ์
พุทฺโธ ทรงเป็นผู้ตื่นแล้วจึงมาปลุกผู้อื่นให้ตื่น ทนฺโต ทรงฝึกพระองค์ดีแล้วจึงมาฝึกผู้อื่น
สนฺโต ทรงสงบระงับสรรพกิเลสเหตุเร่าร้อนทั้งปวงแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ปรินิพฺพุโต ทรงเย็นสนิทจากเพลิงกิเลสแล้ว จึงทรงสอนให้คนอื่นดับเพลิงกิเลส
ทรงบำเพ็ญสัตตูปการกิจ
๒ ประการ
พระองค์ทรงเสด็จจาริกไปในคามนิคมและราชธานีต่าง
ๆ เพื่อทรงประกอบสัตตูปการกิจ ๒ ประการ
๑.
ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมด้วยสามารถแห่งข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต
๒.
วินยํ ปญฺญาเปติ ทรงบัญญัติวินัยอุบายเครื่องฝึกสหธรรมิกบริษัท เป็นสิกขาบท
และขันธกะนั้น ๆ ตั้งเขตแดนขอบขัน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติดีงามด้วยกายและวาจา
อาการที่ทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ทั้ง
๓ คือ
๑.
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ผลดีที่จะพึงได้ประสบในปัจจุบันภพทันตาเห็น
ธรรมที่ทรงสอน คือ อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียร อารักขสัมปทา การรู้จักดูแลรักษา
กัลยาณมิตตตา มีกัลยาณมิตร สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะสม
๒.
สัมปรายิกัตถประโยชน์ ผลดีที่จะพึงได้รับในชาติหน้า ธรรมที่ทรงสอน
คือ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
๓.
ปรมัตถประโยชน์ ผลดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา ธรรมที่ทรงสอนคือ ศีล สมาธิ
และปัญญา ที่มีความลุ่มลึกไปโดยลำดับ ครอบคลุมหลักธรรมคำสอนที่มีอยู่ทั้งสิ้น
วิธีฝึกคน
๓ ประการ
อนึ่ง
เวไนยสัตว์ที่ควรฝึกก็เป็นต่าง ๆ กันโดยลัทธิวาท (การยึดถือลัทธิ)
ทิฏฐิวาท (การถือทิฏฐิ) เป็นพราหมณชาติ เดียรถีย์ ปริพาชก พาหิรบรรพชิต
ชฏิลดาบส ยักษ์ เทวดา พรหม ที่มีอัธยาศัยวิปริตถือผิดต่าง ๆ บางครั้ง
ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ บางครั้งทรงใช้อาเทศนาปาฏิหาริย์ บางครั้งทรงใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์
ทรมานฝึกสอนให้เสื่อมพยศ
วิธีสอนคฤหัสถ์ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
เมื่อจะทรงสอนคฤหัสถ์ซึ่งไม่ใช่บรรพชิตทั้งในและนอกศาสนา
ผู้มีอุปนิสัยอินทรีย์แก่กล้าควรสำเร็จมรรคผล ณ อาสนะที่ฟังธรรมนั้น
สรุปแล้วผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ๑. เป็นมนุษย์ ๒. เป็นคฤหัสถ์ ๓.
มีอินทรีย์แก่กล้า สำหรับบุคคลเช่นนี้จะทรงแสดงอนุปุพพีกถา ๕ และอริยสัจ
๔
อุบายวิธีแสดงธรรม
๔ ประการ
และการที่จะทรงสั่งสอนคฤหัสถ์บริษัทเช่นนั้น
จะทรงแสดงธรรมด้วยอุบายวิธี ๔ ประการ คือ
๑.
สันทัสสนา ทรงชี้แจงให้ผู้ฟังเห็นโทษและคุณชัดเจน เหมือนเห็นด้วยตาของตนเอง
๒.
สมาทปนา ชักชวนหรือโน้มน้าวให้ผู้ฟังเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี ควรละ สิ่งนั้นดี
ควรประพฤติ
๓.
สมุตเตชนา ชี้แจงให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญที่จะละความชั่ว ประพฤติความดี
๔.
สัมปหังสนา พรรณนาคุณแห่งการละความชั่ว และบำเพ็ญความดี เป็นต้นนั้นให้ผู้ฟังรื่นเริงบันเทิงใจ
ธรรมที่เป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งอยู่ได้นานและเป็นประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์
ธรรม
๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ
๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็นอภิญญาเทสิตธรรม ธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระปัญญาอันยิ่ง
หรือธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เกิดปัญญาอันยิ่ง
ธรรม ๓๗ ประการนี้ ภิกษุทั้งหลายเล่าเรียนให้ดี
เห็นประโยชน์ปฏิบัติเป็นประจำ ทำให้มาก ก็จะพึงทำให้พรหมจรรย์ (ศาสนา)
ตั้งอยู่ได้นาน ทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ปัญญาที่กำหนดนามรูปโดยลักษณะทั้ง
๓
เป็นคุณเบื้องสูงแห่งพรหมจรรย์
คำสอนที่เป็นไปโดยมากในพระพุทธศาสนา
ที่เรียกว่า พหุลานุศาสนี คือ ทรงสอนพุทธบริษัทให้เห็นด้วยปัญญาว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันย่อลงเป็น ๒ คือ รูป เรียกว่ารูป
ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมกันเรียกว่า นาม เป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ปัญญาที่รอบรู้ในลักษณะทั้ง
๓ นี้เรียกว่า ธัมมฐิติญาณ (รู้ความดำรงอยู่แห่งสภาวธรรม) หรือเรียกว่า
ยถาภูตญาณทัสสนะ (ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นเหตุให้เกิดนิพพานญาณ
(การรู้หรือการบรรลุนิพพาน)
ยถาภูตญาณทัสสนะเป็นเครื่องถอนคาหะความยึดถือ
๓ ประการ
ยถาภูตญาณทัสสนะ
ความรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นเครื่องถอนคาหะความยึดถือผิด ๓ ประการ
คือ
๑.
เมื่อเห็นตามเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ย่อมถอนตัณหาคาหะ ความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหาเสียได้
๒.
เมื่อเห็นตามเป็นจริงว่า สภาพนั่นไม่เป็นเรา ย่อมถอนมานคาหะ ความถือมั่นด้วยอำนาจมานะ
(เย่อหยิ่ง) เสียได้
๓.
เมื่อเห็นตามเป็นจริงว่า สภาพนั่นไม่ใช่ตัวตนแก่นสารของเรา ย่อมถอนทิฏฐิคาหะ
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เสียได้
ตัณหา มานะ
ทิฏฐิ เป็นปปัญจธรรม
ตัณหา
มานะ และทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้จัดว่าเป็น ปปัญจธรรม ธรรมที่ทำให้เกิดความเนิ่นช้า
อธิบายว่า ถ้าสัตว์ยังมีความอยากได้ ถือตัว และเห็นผิดอยู่ ก็ย่อมไม่มีปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง
เมื่อไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจะพ้นจากความทุกข์ได้
อนัตตานุปัสสนาละอัตตวาทุปาทาน
สัตว์ทั้งหลายล้วนยินดีในธรรมเครื่องเนิ่นช้าทั้ง
๓ นี้ แม้ผู้เป็นคณาจารย์บางคน จะสอนให้ละอุปาทาน ก็ละได้เฉพาะกามุปาทาน
ทิฏฐุปาทาน และสีลพตุปาทาน เท่านั้น แต่ไปยึดมั่นอยู่กับอัตตวาทุปาทาน
ว่ามีอาตมันตัวตนอยู่ จึงเห็นความจริงแต่เพียง ๒ ประการ คือ ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่มีใครเห็นอนัตตา นานเข้าจึงเวียนมาหาปปัญจธรรมด้านเดิม
คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิอีก ย่อมไม่พ้นจากวัฏฏสงสาร
ส่วนพระตถาคตทั้งหลาย
ทรงทราบความจริงทั้ง ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา
ของสังขารทั้งหลาย ถอนอุปาทานทั้ง ๔ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพตุปาทาน
และอัตตวาทุปาทาน เสียได้ จึงเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ได้บรรลุอมตมหานิพพาน
เพราะทรงมุ่งผลคือ
ความพ้นจากวัฏฏทุกข์ของเวไนยสัตว์ พระองค์จึงทรงสั่งสอนให้พิจารณาสังขาร
โดยลักษณะ ๓ ประการ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เป็นพหุลานุศาสนี
คำสอนที่มากกว่าคำสอนอย่างอื่นในพระพุทธศาสนา
พระธรรมชื่อว่า
สฺวากฺขาโต (ตรัสไว้ดี)
พระองค์ทรงแสดงธรรมสอนเวไนยสัตว์ด้วยอาการ
๓ อย่าง คือ
๑.
อภิญฺญาย ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมหวังจะให้เวไนยสัตว์ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ไม่มีปิดบังอำพราง หรือเปิดเผยแก่สาวกบางองค์ ปกปิดสำหรับสาวกบางองค์
๒.
สนิทานํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมประกอบด้วยเหตุ ควรที่ผู้ฟังจะตรองตามให้เห็นจริงได้
๓.
สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ ที่ผู้ปฏิบัติตามได้ผลดีจริง
ดังนั้น
พระธรรมที่ทรงแสดงจึงชื่อว่า สฺวากฺขาโต คือ ตรัสไว้ดีแล้ว และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมนั้น
จึงชื่อว่า สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อาการที่ทรงบัญญัติพระวินัย
เพื่อจะเป็นที่รองรับอธิกุศล
ให้บุคคลได้บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติทางพระนิพพานโดยง่าย และให้ห่างไกลจากอกุศลธุลีต่าง
ๆ จึงทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับใช้กับ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร
สามเณรี ไม่ทั่วไปในคฤหัสถ์บริษัทมณฑล
ความเป็นมาของ
ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้สำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระศาสนาเริ่มตั้งแต่ทรงแสดงพระธรรมจักร
โปรดปัญจวัคคีย์ ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม
ทูลขอบรรพชาอุปสมบทจึงทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด
ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด
เพียงเท่านี้ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา วิธีนี้เรียกว่า
เอหิภิกขุอุปสัมปทา ใช้แต่ลำพังพระศาสดาพระองค์เดียวเท่านั้น
ครั้นต่อมา
เมื่อมีพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นในโลก ๖๐ องค์ คือ ภิกษุปัญจวัคคีย์ ๕
รูป พระยสเถระและสหายของท่านอีก ๕๔ รูป ทรงส่งท่านเหล่านั้นไปประกาศพระศาสนา
มีผู้ศรัทธาต้องการบวชจึงนำมาเฝ้าเพื่อประทานอุปสมบท ทรงเห็นว่าเป็นความลำบาก
จึงทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรได้เอง เฉพาะตัวต่อตัว โดยให้เขาปลงผมและหนวด
ครองผ้าย้อมน้ำฝาด กราบภิกษุ นั่งกระโหย่งประนมมือ ว่าตามพระสงฆ์ ว่า
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิฯเปฯตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เพียงเท่านี้
ผู้นั้นก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุ วิธีนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา แปลว่า
อุปสมบทด้วยการรับไตรสรณคมน์
ครั้นต่อมา
เมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ตรัสให้พระสารีบุตรเถระ
เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพราหมณ์คนหนึ่งเป็นการสงฆ์ ด้วยวิธีสวดกรรมวาจา
๓ ครั้ง พร้อมทั้งญัตติ ๑ เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา และทรงให้ยกเลิกวิธีบวชด้วยการรับไตรสรณคมน์เสีย
ทรงอนุญาตการบรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จยังนครกบิลพัสดุ์
เพื่อโปรดพระประยูรญาติ ทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรเถระบรรพชาให้พระราหุล
โดยวิธีรับไตรสรณคมน์ เรียกว่า บรรพชาเป็นสามเณร เพราะขณะนั้นท่านยังเป็นเด็กมาก
ยังไม่เหมาะสมจะเป็นภิกษุ
ทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทเป็นภิกษุณี
ครั้งหนึ่ง
พระองค์เสด็จอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองไพศาลี ทรงอนุญาตอุปสมบทเป็นภิกษุณี
แก่พระนางมหาปชาบดี ด้วยวิธีรับครุธรรม ๘ ประการ ทรงอนุญาตอุปสมบทแก่นางสากิยาณี
๕๐๐ นาง โดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ทรงตั้งภิกษุณีบริษัทขึ้นในพระพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่อมีภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
จึงทรงอนุญาตอัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยกรรมวาจา ๘ คือ ญัตติจตุตถกรรมวาจาฝ่ายภิกษุสงฆ์
และญัตติจตุตถกรรมวาจาฝ่ายภิกษุณีสงฆ์แก่ผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุณี
วิธีบวชสามเณรี
ต่อมาทรงอนุญาตให้ภิกษุณีบรรพชาให้สตรีผู้มีอายุยังน้อยเป็นสามเณรี
ด้วยวิธีรับไตรสรณคมน์ เหมือนกับภิกษุให้บรรพชาสามเณร
สิกขมานา
ต่อมาทรงอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติแก่สามเณรี
ประพฤติให้บริบูรณ์ ๒ ปีก่อน จึงอุปสมบทเป็นนางภิกษุณีได้ ผู้ประพฤติสิกขาสมมตินี้เรียกว่า
สิกขมานา
สหธรรมิกบรรพชิต
๕
ภิกษุ
๑ ภิกษุณี ๑ สามเณรีสิกขมานา ๑ สามเณร ๑ สามเณรี ๑ เป็นสหธรรมิกบรรพชิต
๕ จำพวก ด้วยประการฉะนี้
ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์
๑๐ ประการ
บัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุ
และภิกษุณี
พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทเฉพาะภิกษุบ้าง
เฉพาะภิกษุณีบ้าง สาธารณะทั่วไปแก่ทั้งสองพวกบ้าง ซึ่งเรียกว่า วินัย
เพราะทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑.
เพื่อให้สงฆ์ยอมรับว่าดีแล้ว ชอบแล้ว
๒.
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
๓.
เพื่อข่มบุคคลผู้ไม่ละอายใจ
๔.
เพื่ออยู่สบายแห่งผู้มีศีล
๕.
เพื่อป้องกันความเสียหายในปัจจุบัน
๖.
เพื่อกำจัดเหตุแห่งความเสียหายในสัมปรายภพ
๗.
เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘.
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
๙.
เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐.
เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (สนับสนุนให้คนมีระเบียบวินัย)
ประโยชน์ที่มุ่งหมายแห่งพระธรรมวินัย
ธรรมและวินัยที่ทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้
แม้จะมีมากมาย แต่เมื่อจะกล่าวถึงผลมุ่งหมายสูงสุดก็เพื่อ วิมุตติ
คือ ความหลุดพ้นวิเศษจากสรรพกิเลส เครื่องเศร้าหมองใจอย่างเดียว
เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทรทั้งหลายที่กว้างใหญ่จะกี่มหาสมุทรก็ตาม
ล้วนมีรสเดียวกันคือ มีรสเค็ม
ทรงแสดงธรรมและบัญญัติวินัยเพื่อประกาศสัทธรรม
๓ ประการ
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติวินัย
เพื่อประกาศสัทธรรม ๓ ประการ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ให้เป็นไปในพุทธบริษัทสาวกมณฑล
ทั้งเทวดา มนุษย์ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ และบรรพชิต ตามสมควร
คำสอนอันแสดงข้อปฏิบัติคือ
ศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปริยัติสัทธรรม
การปฏิบัติตามศีล
สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม
มรรค
ผล นิพพาน ที่ได้บรรลุเพราะการปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ปฏิเวธสัทธรรม
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้สัทธรรม
๓ ประการนี้ เป็นไปในมนุษย์พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา จนบริษัททั้ง ๔ นั้นทรงคุณธรรมดำรงใน เอตทัคคสถานตามอภิสมัยสมบัติ
ดังนี้
บริษัท ๔ ผู้ตั้งอยู่ในเอตทัคคสถาน
ฝ่ายภิกษุบริษัท
พระสารีบุตรอัครสาวกท่านทรงปัญญาอันพิเศษ ให้อนุตรธรรมจักรที่พระตถาคตเจ้าให้เป็นไปแล้ว
ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ดังปรินายกรัตน์แห่งบรมจักรพรรดิฉะนั้น ท่านเป็นผู้เลิศกว่า
ภิกษุผู้มีปัญญามาก
พระมหาโมคคัลลานะ
อัครสาวกที่ ๒ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีอิทธิฤทธิ์
พระอัญญาโกณฑัญญะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รู้ราตรีนาน
พระมหากัสสปะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงคคุณ
พระอนุรุทธะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุญาณ
พระภัททิยกาฬิโคธายบุตร
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิด ณ ตระกูลสูง
พระลกุณฏกภัททิยะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีเสียงเพราะ
พระปิณโฑลภารทวาชะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาททั้งปวง
พระปุณณมันตานีบุตร
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก
พระมหากัจจายนะ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แจกเนื้อความแห่งคำย่อออกโดยพิสดารได้
พระจุลลปันถกเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายอันนิรมิตได้ซึ่งมโนมยกาย และเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏ
การพลิกปัญญา
พระมหาปันถกเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏ์ เจโตวิวัฏฏ์ การพลิกจิต
พระสุภูติเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ด้วยอรณวิหาร ไม่มีกิเลส และเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นทักขิเณยยะ
ควรรับทักขิณาทานเครื่องเจริญสุขสมปีติ
พระขทิรวนิยะเรวตเถระ
อันอยู่ในป่าไม้กระถินก็ว่า ไม้ตะเคียนก็ว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
พระกังขาเรวตเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เพ่งด้วยฌาน
พระโสณโกฬิวิสเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีความเพียรปรารภแล้ว
พระโสณกุฏิกัณณเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีวาจาอันไพเราะ
พระสีวลีเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภมาก
พระวักกลิเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้น้อมลงด้วยศรัทธา
พระราหุล
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ซึ่งสิกขา
พระรัฏฐปาลเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา
พระกุณฑธานเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ถือเอาซึ่งสลากเป็นประถม
พระวังคีสเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ
พระอุปเสนวังคันตบุตร
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบ
พระทัพพมัลลบุตร
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แต่งตั้งปูลาดเสนาสนะ
พระปิลินทวัจฉเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักเจริญจิตของเทวดา
พระพาหิยทารุจีริยะ
เลิศกว่าท่านที่เป็นขิปปาภิญญาบุคคลตรัสรู้พลัน
พระกุมารกัสสปเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้กล่าวธรรมกถาวิจิตร
พระมหาโกฏฐิตเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ถึงซึ่งปฏิสัมภิทา
พระอานนทเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายโดยคุณพิเศษถึง ๕ สถาน คือ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหุสูต
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ที่มีธิติปัญญาจำทรง เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ผู้อุปฐาก
พระอุรุเวลกัสสปเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีบริษัทใหญ่บริวารมาก
พระพากุลเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีโรคน้อย
พระโสภิตเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ระลึกได้ซึ่งปุพเพนิวาส
พระอุบาลีเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งวินัย
พระนันทกเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี
พระนันทเถระ
เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ
พระโมฆราชเถระ
เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในภิกษุบริษัทมีท่านผู้ทรงคุณพิเศษนั้น
ๆ ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญในเอตทัคคสถานโดยนิยมดังนี้
ในฝ่ายภิกษุณีบริษัทเล่า
พระนางมหาปชาบดีโคตมี
ซึ่งได้รับครุธัมมปฏิคคหณุปสมบทก่อนเป็นประถมกว่าภิกษุณีทั้งหลาย เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายบรรดาผู้รู้ราตรี
คือเป็นนางภิกษุณีก่อนกว่านางภิกษุณีทั้งปวง
นางเขมาเถรี
เป็นอัครสาวิกา เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีปัญญามาก
นางอุบลวัณณาเถรี
อัครสาวิกาที่ ๒ เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์
นางปฏาจาราเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายอันทรงไว้ซึ่งวินัย
นางธัมมทินนาเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายบรรดาที่เป็นธรรมกถึก
นางนันทาเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้เพ่งด้วยฌานสมาบัติ
นางโสณาเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้มีความเพียรปรารภแล้ว
นางสกุณเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่บรรลุทิพยจักษุญาณ
นางภัททากุณฑลเกสีเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้เป็นขิปปาภิญญามีความตรัสรู้พลัน
นางภัททกาปิลานีเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่ระลึกได้ซึ่งปุพเพนิวาส
นางภัททากัจจานาเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่ถึงซึ่งอภิญญาอันใหญ่แล้ว
นางกิสาโคตมีเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งจีวรอันเศร้าหมอง
นางสิงคาลมาตาเถรี
เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายที่น้อมลงแล้วด้วยศรัทธา
ภิกษุณีพุทธบริษัททรงคุณสมบัติดำรงในเอตทัคคสถาน
ด้วยประการฉะนี้
ฝ่ายอุบาสกบริษัท
พาณิชทั้ง
๒ คือ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ ผู้ได้สรณะเป็นเทฺววาจิกอุบาสก เมื่อเสด็จอยู่
ณ ควงไม้ราชายตนพฤกษ์นั้น เลิศกว่าสาวกอุบาสกผู้ถึงสรณะก่อน
สุทัตตคฤหบดีอนาถบิณฑิกเศรษฐีโสดาบัน
เลิศกว่าอุบาสกผู้ทายกทั้งหลาย
จิตตคฤหบดี
อนาคามีอริยสาวก อยู่เมืองมัจฉิกาสัณฑนคร เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก
หัตถอาฬวกอนาคามีอริยสาวกเป็นอุบาสกเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย
ผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔
ท้าวมหานามสักกะผู้พระสกทาคามีอริยสาวก
เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้ให้ซึ่งปัจจัยลาภอันประณีต
อุคคคฤหบดีอนาคามีอริยสาวกอยู่
ณ เมืองไพศาลี เลิศกว่ามนาปทายกอุบาสกผู้ให้สิ่งของอันให้เจริญจิต
อุคคตคฤหบดีอนาคามีอริยสาวก
อยู่ ณ บ้านหัตถีคาม เลิศกว่าสังฆุปัฏฐากอุบาสก ผู้ปฏิบัติสงฆ์
ปุรพันธเศรษฐีบุตรโสดาบันอริยสาวก
เลิศกว่าอุบาสกผู้เลื่อมใสมั่นคง
ชีวกโกมารภัจ
เลิศกว่าอุบาสกที่เลื่อมใสในบุคคล
นังกุลบิดาคฤหบดีโสดาบัน
เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายผู้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า อุบาสกพุทธบริษัทคฤหัสถ์สาวก
มีคุณสมบัติดำรงในเอตทัคคสถาน ด้วยประการฉะนี้
ฝ่ายอุบาสิกาบริษัท
นางสุชาดาเสนิยธิดาโสดาบันอริยสาวิกาได้ถึงสรณะก่อน
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ถึงสรณะก่อน
นางวิสาขามิคารมาตาโสดาบัน
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายที่เป็นทายิกาบริจาคทาน
นางขุชชุตตราโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก
นางสามาวดีโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ด้วยเมตตาวิหาร
นางอุตรานันทมาตาโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้เพ่งด้วยฌานสมาบัติ
นางสุปปวาสาโกลิยธิตาโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ให้ซึ่งปัจจัยลาภอันประณีต
นางสุปปิยาอุบาสิกาโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ปฏิบัติภิกษุไข้
นางกาติยานีโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ได้เลื่อมใสมั่นคง
นางคฤหปตานีนังกุชมาตาโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า
นางกาฬีอุบาสิกากุลฆริกาโสดาบันอริยสาวิกา
เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้ได้เลื่อมใสแล้วด้วยได้ยินตาม
อุบาสิกาพุทธบริษัทคฤหัสถ์สาวิกา
มีคุณสมบัติดำรงอยู่ในเอตทัคคสถาน ด้วยประการฉะนี้
มหาปรินิพพานสูตร
กัณฑ์ที่ ๙
พรรษาที่
๔๕ พรรษาสุดท้าย ทรงจำพรรษา ณ บ้านเวฬุวคาม เขตเมืองไพศาลี ทรงพระประชวรขราพาธแล้ว
เกิดทุกขเวทนาใกล้ปรินิพพาน ภายในพรรษานั้น
ได้ตรัสสอนพระอานนทเถระที่มีความวิตกกังวลกับการประชวรของพระองค์ว่า
ดูก่อนอานนท์ สมัยใด พระตถาคตเจ้าเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ คือ ไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวง
เพราะดับเวทนาบางเหล่า สมัยนั้น กายของพระตถาคตเจ้า ย่อมมีความผาสุก
เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีบุคคลหรือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
ทรงอธิบายว่ามีตนเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมนั้นได้แก่
เอกายนมรรค คือ สติปัฏฐานทั้ง ๔
ครั้นออกพรรษา
ประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ ทรงรับอาราธนาพระยามารว่าอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน
เรียกว่า ทรงปลงอายุสังขาร พระอรรถถกาจารย์ ถือตามพระบาลีนี้จึงกล่าวว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขารวันมาฆปุรณมี
ทรงแสดงบริษัท
๘ คือ กษัตริย์ ๑ พราหมณ์ ๑ คฤหบดี ๑ สมณะ ๑ หมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา
๑ ชั้นดาวดึงส์ ๑ หมู่มาร ๑ หมู่พรหม ๑ ซึ่งพระองค์ทรงเคยเข้าไปสนทนาและแสดงธรรมีกถาสั่งสอน
ทรงแสดงสถานที่
๑๖ ตำบล ที่ทรงทำนิมิตโอภาสอันหยาบเพื่อให้พระอานนท์ทูลขอให้ทรงอยู่แสดงธรรม
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน คือ ที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ แห่ง เมืองเวสาลี
๖ แห่ง
เมืองราชคฤห์
๑๐ แห่ง คือ ภูเขาคิชฌกูฏ ๑ โคตมนิโครธ ๑ โจรัปปปาตะ ๑ สัตตบัณณคูหา
๑ กาฬสิลา ๑ สัปปิโสณฑิกา ๑ ตโปทาราม ๑ เวฬุวัน ๑ ชีวกัมพวัน ๑ มัททกุจฉิมิคทายวัน
๑
เมืองเวสาลี
๖ แห่ง คือ อุเทนเจดีย์ ๑ โคตมกเจดีย์ ๑ สัตตัมพเจดีย์ ๑ พหุปุตตเจดีย์
๑ สารันทเจดีย์ ๑ ปาวาลเจดีย์ ๑
ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทด้วยสังเวคกถาและอัปปมาทธรรม
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วทรงสอนว่า
คนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นคนหนุ่มสาว คนแก่ ทั้งที่เป็นคนโง่ คนฉลาด ทั้งที่เป็นคนมั่งมี
และคนยากจน ล้วนแต่มีความตายรอคอยอยู่ข้างหน้า เหมือนภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำไว้
สุดท้ายก็ต้องแตกทำลาย ท่านทั้งหลาย จงให้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
เวสาลีนาคาวโลก
ทรงเหลียวกลับมาทอดพระเนตรเมืองไพศาลี
ครั้งนั้น
เวลาเช้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครไพศาลี
ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเมืองไพศาลีเป็นนาคาวโลก คือ
กลับเยื้องพระกายมาทั้งพระองค์เป็นมหาปุริสอาการอย่างหนึ่ง แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า
การดูเมืองไพศาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนะ (การดูครั้งสุดท้าย) ของตถาคต
เราไปบ้านภัณฑุคามกันเถิด
ทรงแสดงอริยธรรม
๔ ประการ
ณ
บ้านภัณฑุคามนั้น ทรงแสดงธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ
ว่าเป็นอริยธรรม (ธรรมทำความเป็นอริยะ) ทรงอธิบายว่าเพราะไม่ได้ตรัสรู้ธรรม
๔ ประการนี้ เราและท่านทั้งหลายจึงได้ท่องเที่ยวไปในภพกำเนิด ได้รับความทุกข์อันวิจิตรเป็นอเนกประการ
แต่บัดนี้ เราและท่านทั้งหลายตรัสรู้ธรรม ๔ ประการนี้แล้ว จึงทำลายโมหะ
และดับตัณหาเสียได้ การเกิดในภพใหม่จึงไม่มี
ทรงแสดงไตรสิกขาว่าเป็นปฏิปทาแห่งวิมุตติ
ทรงแสดงอานิสงส์
(คุณ) แห่งศีลว่า เป็นที่ตั้งอันใหญ่แห่งคุณพิเศษชั้นสูง เหมือนแผ่นดินเป็นที่อาศัยทำงานของมนุษย์
ศีลเมื่อบริบูรณ์ดี ย่อมก่อให้เกิดสมาธิ สมาธิที่เกิดจากศีลอันบริสุทธิ์ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่ยิ่ง
สมาธิเมื่อมั่นคงดีแล้วย่อมก่อให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดมาจากสมาธิอันแน่วแน่และบริสุทธิ์
ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่ยิ่ง คือ จะทำให้จิตมีความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อจิตรู้แจ้งเห็นจริงด้วยอำนาจปัญญาแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ทั้ง ๓ อย่างไม่มีเชื้อเหลือ
(นิรินธนพินาศ)
พระผู้มีพระภาคเจ้า
เสด็จประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ เขตโภคนคร ตรัสมหาประเทศ (เครื่องกำหนดรู้ภาษิตของพระองค์)
ฝ่ายพระสูตร เรียกว่า สุตตันติกมหาปเทส ๔ ใจความย่อว่า ถ้ามีผู้อื่นมาอ้างพระศาสดา
สงฆ์ คณะ หรือบุคคล แล้วแสดงว่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์
อย่าพึงด่วนรับรองหรือด่วนปฏิเสธ พึงสอบสวนดูกับพระวินัยและพระสูตร
ถ้าขัดแย้งกัน พึงทราบว่า นั่นไม่ใช่ธรรม วินัย และสัตถุศาสน์ ถ้าตรงกันทั้งพระวินัยและพระสูตร
พึงทราบว่านั่นเป็นธรรม วินัย และสัตถุศาสน์
วันที่นายจุนทะถวายปัจฉิมบิณฑบาต
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่โภคนครนั้นตามสมควรแก่เวลา
จึงเสด็จไปถึงปาวานคร ประทับอยู่ที่ป่าไม้มะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร
นายจุนทะได้เข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนา เชื่อกรรมและวิบากแล้ว จึงทูลอาราธนาพระองค์พร้อมทั้งพระสงฆ์เพื่อรับอาหารบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น
พระองค์ทรงรับโดยดุษณียภาพ
วันรุ่งขึ้นที่นายจุนทะได้ถวายภัตตาหารปัจฉิมบิณฑบาตทานนั้น
เป็นวันที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า
วันวิสาขปุรณีดิถีเพ็ญเดือน ๖
เสด็จสู่กุสินารานคร
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว
ทรงพระประชวรลงพระโลหิตอย่างหนัก แต่ทรงอดกลั้นไว้ด้วยอธิวาสนขันติธรรม
ครั้งนั้นได้ตรัส
เรียกพระอานนท์มาสั่งว่า
จะเสด็จไปยังเมืองกุสินารา
ในระหว่างทางได้พบกับบุตรแห่งมัลลกษัตริย์คนหนึ่ง
ชื่อ ปุกกุสะ เป็นสาวกของอาฬารดาบส กาลามโคตร ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่เขา
ทำให้เขาเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้ถวายผ้าคู่เนื้อดี เรียกว่า ผ้าสิงคิวรรณ
รับสั่งให้ถวายพระอานนท์เถระผืนหนึ่ง แต่พระเถระได้ถวายให้พระองค์ทรงนุ่งผืนหนึ่ง
ห่มผืนหนึ่ง ทำให้ผิวพรรณพระกายบริสุทธิ์ผุดผาดผ่องใส จนพระอานนท์กราบทูลสรรเสริญ
จึงตรัสแก่พระเถระว่า กายแห่งพระตถาคตย่อมบริสุทธิ์ พรรณแห่งผิวผุดผ่องยิ่งนัก
๒ ครั้ง คือ เวลาราตรีที่จะตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเวลาราตรีที่จะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
บรรทมอุฏฐานไสยา
ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไปถึงแม่น้ำกกุธานที
ได้เสด็จลงสรงและเสวยแล้ว เสด็จไปประทับยังอัมพวัน ตรัสเรียกพระจุนทกเถระให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็น
๔ ชั้นถวาย ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ตั้งพระบาทให้เหลื่อมกัน
มีสติสัมปชัญญะทำพระทัยซึ่งอุฏฐานสัญญา ความตั้งใจจะเสด็จลุกขึ้น โดยมีพระจุนทกเถระนั่งเฝ้าอยู่
ทรงดับความเดือดร้อนใจของนายจุนทะ
ณ
สถานที่นั้น ได้ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาตรัสว่า บิณฑบาต ๒ อย่าง มีผลเท่ากัน
ทั้งมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ คือ บิณฑบาตที่พระตถาคตบริโภคแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑ ที่พระตถาคตบริโภคแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
ทรงเปล่งอุทาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภการบำเพ็ญกุศลของนายจุนทะ
ได้เปล่งอุทานว่า บุญกุศลย่อมเจริญแก่ผู้บริจาคทาน ผู้สำรวมในศีล (รักษาศีล)
ย่อมไม่ก่อเวร คนฉลาดย่อมละบาปได้ เพราะความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
ย่อมเป็นผู้มีความเย็นใจ
มหาปรินิพพานสูตร
กัณฑ์ที่ ๙
ภาคหลัง
เสด็จถึงเมืองกุสินารา
บรรทมอนุฏฐานไสยา
ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี
ถึงเมืองกุสินารา ประทับ ณ สาลวัน ตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระตั้งเตียงระหว่างไม้รังทั้งคู่
ผินศีรษะไปทางทิศอุดร ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา วางพระบาทเหลื่อมกัน
มีสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีอุฏฐานสัญญามนสิการ เพราะเป็นไสยาอวสาน เรียกว่า
อนุฏฐานไสยา
ทรงยกย่องปฏิบัติบูชา
สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงปรารภการสักการบูชาของเทวดาทั้งหลาย ได้ตรัสแก่พระอานนทเถระว่า
พระตถาคตไม่เป็นอันบริษัทบูชาด้วยสักการะพิเศษเพียงเท่านี้ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ธรรมบทหน้า หมายถึง วิธีการ ธรรมบทหลัง หมายถึง เป้าหมาย ปฏิบัติชอบยิ่ง
ประพฤติตามธรรม (โลกุตตรธรรม) จึงชื่อว่าบูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ทรงแสดงสังเวชนียสถาน
๔ ตำบล
พระโลกนาถทรงแสดงสถานที่
๔ ตำบล แก่พระอานนทเถระว่า เป็นที่ควรจะดู ควรจะเห็น ควรให้เกิดสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา
คือ สถานที่ประสูติจากพระครรภ์ ๑ สถานที่ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑ สถานที่แสดงพระอนุตรธรรมจักร (ปฐมเทศนา) ๑ สถานที่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
๑
การบูชาพระพุทธสรีระเป็นกิจของคฤหัสถ์
พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนทเถระว่า
ดูก่อนอานนท์ สหธรรมิกบริษัท จงอย่าขวนขวายเพื่อจะบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเลย
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมุ่งต่อที่สุดแห่งพรหมจรรย์อยู่ทุกอิริยาบถเถิด
กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ทั้งหลาย ผู้เป็นบัณฑิต เลื่อมใสในพระตถาคตมีอยู่
เขาเหล่านั้น จักทำสักการบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเอง
วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ
พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนทเถระ
ผู้ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระว่า ชนทั้งหลายพันซึ่งสรีระของจักรพรรดิราชด้วยผ้าใหม่
แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่โดยอุบายนี้ห้าร้อยชั้น แล้วเชิญพระสรีระลงประดิษฐาน
ณ รางเหล็กอันเต็มไปด้วยน้ำมัน ปิดครอบด้วยรางเหล็กอันเป็นฝา ทำจิตกาธาร
ล้วนแต่ด้วยไม้หอม ทำฌาปนกิจแล้ว เชิญพระอัฏฐิธาตุบรรจุทำสถูปไว้ ณ
ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง ๔ ฉันใด พึงปฏิบัติในพระตถาคตเจ้าฉันนั้นเถิด
ถูปารหบุคคล
๔
ครั้นทรงแสดงอัจฉริยบุรุษรัตน์
๒ ประเภทดังนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงถูปารหบุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานสถูป
๔ ประเภท คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑
พระตถาคตสาวกอรหันต์ ๑ พระเจ้าจักรพรรดิราช ๑
ทรงแสดงข้ออัศจรรย์
๔ ประการ ในพระอานนท์
พระพุทธองค์ทรงแสดงข้ออัศจรรย์
๔ ประการในพระอานนท์เถระว่า เมื่อภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท
หรืออุบาสิกาบริษัท เข้าไปหาเพื่อจะพบพระอานนท์ บริษัทนั้นได้เห็นเธอแล้วก็มีจิตยินดี
ถ้าอานนท์แสดงธรรม บริษัทนั้นก็มีจิตชื่นชมด้วยภาษิตของอานนท์ ไม่อิ่ม
ไม่เบื่อธรรมกถาคตที่อานนท์แสดงนั้นเลย ครั้นอานนท์นิ่งหยุดธรรมกถา
บริษัท ๔ ซึ่งได้สดับนั้น ก็มีจิตยินดี ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ
ตรัสให้แจ้งข่าวปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์
ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้เข้าไปบอกพวกมัลลกษัตริย์ให้ทราบว่า
พระตถาคตจักปรินิพพาน ณ ยามสุดท้ายแห่งราตรีวันนี้ เพื่อให้มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย
จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลังว่า พระตถาคตเจ้าได้ปรินิพพานในคามเขตของเรา
โปรดสุภัททปริพาชก
ครั้งนั้น
ปริพาชกคนหนึ่งชื่อว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา มีความเชื่อเรื่องที่อาจารย์เก่า
ๆ เล่ากันต่อ ๆ มาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเกิดขึ้นในโลกเป็นบางครั้งบางคราว
และพระองค์ก็จะปรินิพพานในราตรีนี้ ตนเองยังมีความสงสัยในเรื่องครูทั้ง
๖ มีปุรณกัสสป เป็นต้น ซึ่งคนทั้งหลายสมมติกันว่าเป็นคนดี ประเสริฐ
ครูทั้ง ๖ นั้นได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนจริงหรือไม่ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ทูลถามปัญหานั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า
ดูก่อนสุภัททะ การที่ครูทั้ง ๖ จะได้ตรัสรู้หรือไม่ได้ตรัสรู้นั้น
อย่าสนใจเลย ตถาคตจะแสดงธรรมแก่เธอ ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคมีองค์ ๘
ไม่มีในธรรมวินัยใด สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ย่อมไม่มีในธรรมวินัยนั้น
อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมีอยู่ในธรรมวินัย (องเรา) นี้เท่านั้น ทั้งที่เป็นปฏิปทา
(เอปฏิบัติ) และอภิสมัย (การตรัสรู้) ดังนั้น สมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน)
สมณะที่ ๒ (พระสกิทาคามี) สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) สมณะที่ ๔ (พระอรหันต์)
ย่อมมีจริงในธรรมวินัยนี้เท่านั้น
ปัจฉิมสักขิสาวก
เมื่อพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้ว
สุภัททะได้ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่ในฐานะที่เคยเป็นเดียรถีย์อยู่ก่อน
จึงต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือน สุภัททะทูลว่าแม้จะต้องอยู่ถึง ๔
ปี ก็ยินดี เมื่อทรงทราบความจริงใจเช่นนี้ จึงตรัสแก่พระอานนทเถระว่า
ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งหลายจงบวชให้สุภัททะเถิด พระสุภัททะจึงได้ชื่อว่า
ปัจฉิมสักขิสาวก คือ เป็นสาวกรูปสุดท้ายที่ได้บวชในสำนักของพระศาสดา
ต่อมาไม่นานท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล
ทรงตั้งพระธรรมวินัยเป็นศาสดา
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์เถระว่า
ดูก่อนอานนท์ ต่อไปภายหน้าท่านทั้งหลายพึงมีความวิตกว่า ศาสนาไม่มีพระศาสดา
ข้อนั้นมิชอบมิควรเลย ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใดที่เราได้แสดงแล้ว
ได้บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
ประทานปัจฉิมโอวาท
ลำดับนั้น
พระพุทธองค์ได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้ เราตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงให้กิจทั้งปวงถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
นี้เป็นวาจาที่สุดแห่งพระตถาคตเจ้า
พระวาจานี้แสดงให้เห็นว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รวบรวมโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานแล้วเป็นเวลา
๔๕ พรรษา ลงในความไม่ประมาทอย่างเดียวเท่านั้น
ปรินิพพาน
หลังจากทรงประทานปัจฉิมโอวาทแล้ว
พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ คือ
รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญเวทยิตนิโรธ ดับจิตตสังขาร คือ สัญญา และเวทนา
ทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว ทรงเข้าสมาบัติ ๘ ถอยหลังกลับมาจากเนวสัญญานาสัญญายตนะถึงปฐมฌาน
ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน จนถึงจตุตถฌาน ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้ว
จึงดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันวิสาขปุรณมี
ผู้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น
มีผู้กล่าวคาถาแสดงธรรมเวช ความสลดใจกับเหตุการณ์ ๔ ท่าน คือ
๑.
ท้าวสหับมบดีพรหม กล่าวว่า พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาหาบุคคลเปรียบไม่ได้ในโลก
ทรงมีพลังแห่งญาณ มาดับขันธปรินิพพานในโลกใด สัตว์โลกทุกรูปทุกนามจักต้องทอดทิ้งร่างกายของตน
(ถมทับ) ไว้ในโลกนั้น (แน่นอน)
๒.
ท้าวโกสีย์เทวราช กล่าวว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดและความดับเป็นธรรมดา
(ปกติ) เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความที่สังขาร (เบญจขันธ์) เหล่านั้น
ระงับไป (ไม่เกิด) นำมาซึ่งความสุข (ไม่ต้อง แก่ เจ็บ ตาย)
๓.
พระอนุรุทธเถระ กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระทัยมั่นคง ทรงสิ้นลมปราณแล้ว
พระมุนีมิได้หวั่นไหวต่อโลกธรรม มุ่งแต่สันติอย่างเดียว ไม่ทรงระย่อต่อมรณะใด
ๆ ทรงอยู่เหนือเวทนาทุกอย่าง การปรินิพพานและความหลุดพ้นแห่งใจของพระองค์
เปรียบเหมือนประทีปอันไพโรจน์ชัชวาลเต็มที่แล้วดับไป
๔.
พระอานนท์เถระ กล่าวว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เพียบพร้อมไปด้วยความดี
เสด็จดับขันธปรินิพพาน เวลานั้นความน่าสะพรึงกลัว ความสยดสยอง ได้เกิดมีแล้วแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
(ว่าความตายไม่ละเว้นใครเลย)
ธาตุวิภัชชนกถา
กัณฑ์ที่ ๑๐
ปรินิพพานได้ ๘ วัน ถวายพระเพลิง
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน จึงได้ทำการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ตามนัยนี้ คือ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ที่ทำเช่นนี้ เพราะรอพระมหากัสสปเถระ
ผู้เป็นสาวกผู้ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น
ส่วนที่ไม่ถูกเพลิงไหม้
ครั้นพระมหากัสสปเถระพร้อมกับภิกษุสงฆ์
๕๐๐ รูป เดินทางมาถึง จึงได้ทำการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระฉวีหนังผิวภายนอก
พระจัมมะหนังภายใน พระนหารุ เส้นเอ็น พระลสิกา ไขข้อ พระมังสะ เนื้อทั้งหมดถูกเพลิงไหม้ไม่เหลือแม้แต่เถ้าและเขม่า
ส่วนพระอัฐิ
พระเกสา พระโลมา พระนขา พระทนต์ กับผ้า ๒ ผืน ยังเหลืออยู่ เพลิงมิได้ไหม้
กษัตริย์และพราหมณ์ส่งทูตมาขอพระธาตุ
ครั้งนั้น กษัตริย์และพราหมณ์ ๗ หัวเมืองได้ส่งทูตมาขอพระสารีริกธาตุ
คือ
๑.
พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ
๒.
กษัตริย์ลิจฉวี แห่งพระนครไพศาลี
๓.
กษัตริย์ศากยะ แห่งกบิลพัสดุ์นคร
๔.
ถูลีกษัตริย์ ในอัลลกัปปนคร
๕.
โกลิยกษัตริย์ ในรามคาม
๖.
มหาพราหมณ์ เจ้าเมืองเวฏฐทีปกนคร
๗.
มัลลกษัตริย์ แห่งปาวานคร
แต่มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารานคร
ไม่ยอมแบ่งให้ และทูตานุทูตจากพระนครทั้ง ๗ นั้นก็ไม่ยอมท้อถอย จวนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามสัมประหารใหญ่
โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ
ครั้งนั้น
มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ โทณะ เป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ทั้งคดีโลก คดีธรรม
เป็นที่เชื่อถือของประชุมชน เห็นว่าจะเกิดสงคราม เพราะพระสารีริกธาตุ
ซึ่งเป็นการไม่สมควร จึงได้มาเจรจาให้มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารายินยอม
โดยกล่าวในท่ามกลางกษัตริย์และพราหมณ์เหล่านั้นว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นขันติวาทะกล่าวสรรเสริญความอดทนอดกลั้น
การปรารภส่วนพระสรีระของพระองค์ แล้วประหัดประหารกันด้วยอาวุธ เป็นการไม่ดีเลย
ขอให้เราทั้งปวงสามัคคีปรองดอง ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน แบ่งพระสารีริกธาตุเป็น
๘ ส่วน ให้เท่ากันทุกพระนครเถิด
โทณพราหมณ์ได้กล่าวถ้อยคำแสดงขันติวาทะและสามัคคีธรรมจบลงแล้ว
กษัตริย์และพราหมณ์ทั้งหลายได้สามัคคีพร้อมเพรียงกันแบ่งพระธาตุเป็น
๘ ส่วน แล้วนำกลับไปสร้างสถูปบรรจุไว้เป็นที่เคารพสักการะยังพระนครของตน
โทณพราหมณ์ขอทะนานตวงพระธาตุ
เมื่อกษัตริย์และพราหมณ์ทั้งหลายยินยอมแบ่งพระธาตุนั้น
โทณพราหมณ์ได้ถือเอาตุมพะ คือ ทะนานทอง ตวงพระธาตุแจกให้ เสร็จแล้วได้ขอตุมมะนั้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้ให้ประชาชนสักการะบูชา
โมริยกษัตริย์เชิญพระอังคารไปบรรจุ
ครั้งนั้น
โมริยกษัตริย์เมืองปิปผลิวัน ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระสารีริกธาตุ แต่มาไม่ทัน
มัลลกษัตริย์จึงให้เชิญพระอังคาร (เถ้าถ่าน) ไปทำสถูปบรรจุไว้สักการะบูชา
ประเภทแห่งสัมมาสัมพุทธเจดีย์
กษัตริย์และพราหมณ์
๗ หัวเมือง ดังกล่าวมา และมัลลกษัตริย์แห่งกุสินารานคร ต่างสร้างพระสถูปเจดีย์
บรรจุพระสารีริกธาตุส่วนที่ตนได้ไปไว้ในเมืองของตน ๆ จึงรวมเป็นพระธาตุเจดีย์
๘ แห่ง
โทณพราหมณ์สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระธาตุ
เรียก ตุมพสถูป
โมริยกษัตริย์แห่งปิปผลิวัน
นำเอาพระอังคารไปสร้างสถูปบรรจุไว้ เรียกว่า อังคารสถูป
รวมทั้งหมดจึงมีพระสถูปเจดียสถานหลังประถมกาลแห่งปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่
๑๐ ตำบลด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้
สังเวชนียสถาน
๔ ตำบล เป็นพุทธเจดีย์ด้วย
อนึ่ง
สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่พระตถาคตประสูติ ๑ สถานที่ตรัสรู้
๑ สถานที่แสดงพระธรรมจักร ๑ สถานที่ปรินิพพาน ๑ ทรงแสดงแก่พระอานนทเถระว่า
เป็นสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรจะดู ควรจะเห็น ควรจะให้เกิดความสังเวช
ฉะนั้น จึงจัดเป็นเจดีย์ด้วย
พระพุทธรูปเป็นอุทเทสิกเจดีย์
ต่อมาพุทธศาสนิกบัณฑิต
ได้คิดสร้างพระพุทธรูปปฏิมา เป็นเครื่องระลึกถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ให้เกิดพุทธารมณ์ปีติใจ พระพุทธรูปปฏิมานี้ เรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์
ธรรมเจดีย์
อนึ่ง
วิญญูชนบางพวก ไม่สามารถจะสร้างพระพุทธรูปปฏิมาได้ หรือสร้างได้แต่ไม่นิยม
จึงได้สร้างพระสถูปขึ้นแล้ว นำเอาใบลานที่จดจารึกพุทธวจนปริยัติธรรม
มีปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น บรรจุไว้ภายใน เพื่อกราบไหว้บูชา สถูปนี้เรียกว่า
ธรรมเจดีย์
เจดีย์ ๒ ประเภท
เจดีย์ครั้งประถมกาลแห่งปรินิพพานของพระบรมศาสดามี
๒ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ ๑ บริโภคเจดีย์ ๑
๑.
ธาตุเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์บรรจุพระธาตุ ๘ แห่ง
๒.
บริโภคเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์บรรจุตุมพะ คือ ทะนานตวงพระธาตุ และเจดีย์บรรจุพระอังคารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เจดีย์ทั้งหมดมี
๔ ประเภท
เพราะฉะนั้น
เมื่อรวมเจดีย์ซึ่งแสดงไว้ในพระบาลี คัมภีร์อรรถกถาและฎีกากล่าวรวมเป็นอันเดียวกัน
ก็ได้เจดีย์เป็น ๔ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์
และอุทเทสิกเจดีย์
ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย
เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนทเถระในวันจะปรินิพพานว่า
เมื่อเราผู้ตถาคตปรินิพพานล่วงไปแล้ว ธรรมและวินัยจักเป็นศาสดาแห่งเธอทั้งหลาย
ในวันที่โทณพราหมณ์แจกพระสารีริกธาตุ ภิกษุเป็นอันมากมาสันนิบาตประชุมกัน
ท่านมหากัสสปะซึ่งเป็นเถระในสงฆ์ จึงได้นำการติเตียนพระธรรมวินัยอันสุภัททวุฑฒบรรพชิตเจรจากับภิกษุทั้งหลาย
มาบอกกล่าวแก่พระสงฆ์ แล้วชักชวนให้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
พระเถระคัดเลือกพระอริยสงฆ์องค์อรหันต์ได้
๕๐๐ รูป แล้วได้พรักพร้อมกัน ณ เมืองราชคฤห์ ทำสังคายนาครั้งแรกเมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้
๓ เดือน (กลางเดือน ๙) ใช้เวลา ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จปฐมสังคายนา
สังคายนาครั้งที่
๒
เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้
๑๐๐ ปี เหล่าภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองไพศาลี ละเมิดพระธรรมวินัย ได้ทั้งสหธรรมิกและคฤหัสถ์จำนวนมากเป็นฝักฝ่าย
พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป มีพระยสกากัณฑบุตรเถระเป็นประธาน ได้พรักพร้อมกัน
ณ วาลิการาม เมืองไพศาลี ชำระเสี้ยนหนามพระธรรมวินัยให้สูญไปโดยอาณาสงฆ์
ประดิษฐานธรรมวงศ์บริสุทธิ์สืบมาในมัธยมชนบทสิ้นกาลนาน
สังคายนาครั้งที่
๓
ครั้นพระพุทธศาสนาผ่านมาได้
๒๑๘ ปี สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชครองราชสมบัติ ณ ปาตลีบุตรนคร เกิดเสี้ยนหนามแก่พระธรรมวินัยอีก
เพราะเหล่าเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ
ได้พึงราโชปถัมภ์ในพระเจ้าอโศกมหาราช กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากสังฆมณฑลได้แล้ว
พร้อมกับภิกษุสงฆ ์องค์อรหันต์ ผู้ทรงธรรมวินัย ชำระวาทะซึ่งเป็นมลทินแห่งพระพุทธศาสนาเรียบร้อยแล้ว
ประดิษฐานธรรมวงศ์ให้ดำรงสืบมา
ตั้งแต่พระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานมาเป็นเวลาประมาณ
๔๕๐ ปี พุทธบริษัทได้ทรงจำพระธรรมวินัยมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำ
ไม่ได้จดบันทึกด้วยตัวอักษร
ครั้นเวลาผ่านมา
ท่านกำหนดว่าประมาณ ๔๕๐ ปี แต่พุทธปรินิพพาน พุทธบริษัทชาวสิงหล ซึ่งรับพระพุทธศาสนาจากพระมหินทเถระ
แต่ปี ๒๓๖ หลังพุทธปรินิพพาน ประชุมกันในอาโลกเลณสถาน ในมลัยชนบท ลังกาทวีป
ได้เขียนพระปริยัติธรรมเป็นอักษรจารึกลงไว้ในใบลาน คล้ายกับการสังคายนาครั้งที่
๔
สังคายนาครั้งที่
๔
พระธรรมวินัย
คือ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แพร่หลายมาจนถึงเราทั้งหลาย
โดยวิธีการดังได้พรรณนามาฉะนี้แล ฯ
ประวัติพระเถระ
๑๖ รูป
ผู้เคยเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี
มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อพาวรี
ซึ่งออกไปบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี
ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะ เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์
ได้ทราบว่าพระโอรสของศากยราช เสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก
พาวรีคิดหลากใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความแน่
จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนมีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด
ๆ ให้ไปทูลถามลองดู มาณพทั้ง ๑๖ คนลาอาจารย์แล้ว พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระศาสดาที่ปาสาณเจดีย์แว่นแคว้นมคธ
ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวด ๆ ครั้นพระศาสดาทรงอนุญาตแล้ว อชิตมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนแรก
๔ ข้อ ดังนี้ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอะไรปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด,
เพราะอะไรเป็นเหตุ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ, พระองค์ตรัสว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกนั้นให้ติดอยู่,
และตรัสว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้ง ปิดบังไว้แล้ว จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด,
เพราะความอยากมีประการต่าง ๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ,
เรากล่าวว่าความอยากเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกให้ติดอยู่, และเรากล่าวว่าทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น
อ.
พระองค์จงตรัสบอกว่า อะไรเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำ
หลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้น จะละได้เพราะ ธรรมอะไร
พ.
เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องห้ามเป็นเครื่องกั้นความอยากนั้น และความอยากนั้น
จะละได้เพราะปัญญา
อ.
ปัญญา สติ กับนามรูปนั้น จะดับไป ณ ที่ไหน ข้าพเจ้าทูลถามแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนี้แก่ข้าพเจ้า
พ.
เราจะแก้ปัญหาที่ท่านถามถึงที่ดับนามรูปสิ้นเชิง ไม่มีเหลือแก่ท่าน
เพราะวิญญาณดับไปก่อน นามรูปจึงดับไป ณ ที่นั้นเอง
อ.
ชนผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่สองพวกนี้
มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ข้าพเจ้าขอทูลถามถึงความประพฤติ ของชนสองพวกนั้น
พระองค์มีพระปัญญาแก่กล้า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพเจ้า
พ.
ภิกษุผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ต้องเป็นผู้ไม่กำหนัดในกามทั้งหลาย
มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติอยู่ในทุกอิริยาบถ
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหาที่อชิตมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว
โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหา ได้ยินว่า โมฆราชมาณพนั้นถือตัวว่าเป็นคนมีปัญญากว่ามาณพทั้ง
๑๕ คน คิดจะทูลถามก่อนแต่เห็นว่า อชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมให้ทูลถามก่อน
ครั้นอชิตมาณพถามแล้ว จึงปรารภจะทูลถามเป็นที่ ๒ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นอาการอย่างนั้นแล้วตรัสห้ามว่า
โมฆราชท่านยอมให้มาณพอื่นถามก่อนเถิด โมฆราชมาณพก็หยุดนิ่งอยู่
ลำดับนั้น
ติสสเมตเตยยมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นที่ ๒ ว่า "ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ
คือ เต็มความประสงค์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนของใครไม่มี
ใครรู้ส่วนข้างปลายทั้งสอง (คืออดีตกับอนาคต) ด้วยปัญญาแล้ว
ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง ( คือปัจจุบัน ) พระองค์ตรัสว่า ใครเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บผ้าให้ติดกันไปได้".
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมในกามทั้งหลาย ปราศจากความอยากแล้ว
มีสติระลึกได้ทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโดยชอบแล้ว ดับเครื่องร้อนกระวนกระวายเสียได้แล้ว
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ เต็มความประสงค์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนของภิกษุนั่นแลไม่มี
ภิกษุนั้นแลรู้ส่วนข้างปลายทั้งสองด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง
เรากล่าวว่าภิกษุนั้นแลเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นแลล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้
ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บผ้าให้ติดกันไปได้
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหาที่ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ปุณณกมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นที่ ๓ ว่า บัดนี้ มีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้
รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง ข้าพเจ้าขอทูลถาม หมู่มนุษย์ในโลกนี้
คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์เป็นอันมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา
ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
หมู่มนุษย์เหล่านั้น อยากได้ของที่ตนปรารถนา อาศัยของที่ชราทรุดโทรม
จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา
ป.
หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติชราได้บ้างหรือไม่.
พ.
หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภที่ตนหวัง จึงพูดสรรเสริญการบูชายัญ รำพันสิ่งที่ตัวใคร่ดังนั้น
ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่าผู้บูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ
ไม่ข้ามพ้นชาติชราไปได้
ป.
ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้น ข้ามพ้นชาติชรา เพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกหรือในมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติชรานั้นได้แล้ว
พ.
ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรน ในโลกไหน ๆ ของผู้ใดไม่มี เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก
เรากล่าวว่าผู้นั้นซึ่งสงบระงับได้ไม่มีทุจริตความประพฤติชั่ว อันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟอันจับเป็นเขม่า
ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ ข้ามพ้นชาติชราไปได้แล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๔ ว่า
ข้าพเจ้าขอทูลถาม ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความที่จะทูลถามนั้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าทราบว่า พระองค์ถึงที่สุดจบไตรเพท มีจิตอันได้อบรมดีแล้ว ทุกข์ในโลกหลายประการ
ไม่ใช่แต่อย่างเดียวนี้ มีมาแล้วแต่อะไร
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ท่านถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจักบอกแก่ท่านตามรู้เห็น
ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิคือกรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดมาก่อนแต่อุปธิ
ผู้ใดเป็นคนเขลาไม่รู้แล้ว กระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนือง
ๆ เหตุนั้นเมื่อรู้เห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้เกิดมี
ม.
ข้าพเจ้าทูลถามข้อใด ก็ทรงแก้ข้อนั้น ประทานแก่ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอทูลถามข้ออื่นอีก
ขอเชิญพระองค์ทรงแก้ อย่างไรผู้มีปัญญาจึงข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือชาติชราและโศกพิไรรำพันเสียได้
ขอพระองค์จงทรงแก้ข้อนั้นประทานแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าธรรมนั้น พระองค์คงทรงทราบแล้ว
พ.
เราจักแสดงธรรมที่จะพึงเห็นแจ้งด้วยตนเอง ในอัตภาพนี้ ไม่ต้องพิศวงตามคำของผู้อื่น
คืออย่างนี้ ๆ ที่บุคคลได้ทราบแล้วจะเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยากอันให้ติดอยู่ในโลกเสียได้แก่ท่าน
ม.
ข้าพเจ้ายินดีธรรม ที่สูงสุดนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พ.
ท่านรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ
(คืออดีต) ในส่วนท่ามกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินความยึดมั่น
ในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณของท่านจะไม่ตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
มีสติไม่เลินเล่อ ได้ทราบแล้ว ละความถือมั่นว่าของเราเสียได้แล้ว จะละทุกข์คือชาติชราและโศกพิไรรำพันในโลกนี้ได้
ม.
ข้าพเจ้าชอบใจพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว
พระองค์คงละทุกข์ได้แน่แล้ว เพราะว่าพระองค์ได้ทรงทราบธรรมนี้แล้ว
แม้ท่านผู้รู้ที่พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่เป็นนิตย์ ไม่หยุดหย่อน คงละทุกข์นั้นได้ด้วยเป็นแน่เหตุนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยตั้งใจจะให้ทรงสั่งสอนข้าพเจ้าเป็นนิตย์
ไม่หยุดหย่อนเหมือนอย่างนั้นบ้าง
พ.
ท่านรู้ว่าผู้ใดเป็นพราหมณ์ถึงที่สุดจบไตรเพท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามล่วงเหตุแห่งทุกข์ ดุจห้วงทะเลอันใหญ่นี้ได้แน่แล้ว
ครั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นคนไม่มีกิเลสอันตรึงจิต สิ้นความสงสัย ผู้นั้น
ครั้นรู้แล้วถึงที่สุดจบไตรเพทในศาสนานี้ ละธรรมที่เป็นเหตุติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เสียได้แล้ว
เป็นคนมีความอยากสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้
เรากล่าวว่าผู้นั้นแลข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่เมตตคูมาณพทูลถามฉะนี้แล้ว โธตกมาณพทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๕ ว่า ข้าพเจ้าทูลถามพระองค์
ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าอยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ ข้าพเจ้าได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
จะศึกษาข้อปฏิบัติ ซึ่งเป็นเครื่องดับกิเลสของตน
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเป็นคนมีปัญญา มีสติ ทำความเพียรในศาสนานี้เถิด
ธ.
ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ หากังวลมิได้ เที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
เหตุนั้นข้าพเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปลื้องข้าพเจ้าเสียจากความสงสัยเถิด
พ.
เราเปลื้องใคร ๆ ในโลก ผู้ยังมีความสงสัยอยู่ไม่ได้ เมื่อท่านรู้ธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสอันนี้เสียได้เอง
ธ.
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณา แสดงธรรมอันสงัดจากกิเลสที่ข้าพเจ้าควรจะรู้
สั่งสอนข้าพเจ้าให้เป็นคนโปร่งไม่ขัดข้องดุจอากาศ สงบระงับกิเลสเสียได้
ไม่อาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยวอยู่ในโลกนี้
พ.
เราจะบอกอุบายเครื่องสงบระงับกิเลส ซึ่งจะเห็นเองไม่ต้องเชื่อตามตื่นข่าว
ที่บุคคลได้ทราบแล้ว จะมีสติข้ามความอยากที่ตรึงใจไว้ในโลกเสียได้แก่ท่าน
ธ.
ข้าพเจ้าชอบใจอุบายเครื่องสงบระงับกิเลสอันสูงสุดนั้นเป็นอย่างยิ่ง
พ.
ถ้าท่านรู้ว่าความทะยานอยากทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ท่ามกลางเป็นเหตุให้ติดข้องอยู่ในโลก
ท่านอย่าทำความทะยานอยาก เพื่อจะเกิดในภพน้อยใหญ่
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่โธตกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาคำรบ ๖ ว่า ลำพังข้าพเจ้าผู้เดียวไม่ได้อาศัยอะไรแล้ว
ไม่อาจข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือกิเลสได้ ขอพระองค์ตรัสบอกอารมณ์ที่หน่วงเหนี่ยว
ซึ่งข้าพเจ้าจะควรอาศัยข้ามห้วงนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ท่านจงเป็นผู้มีสติเพ่งอากิญจัญญายตนฌาน อาศัยอารมณ์ว่าไม่มี ๆ ดังนี้
ข้ามห้วงเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นคนเว้นจากความสงสัย
เห็นธรรมที่สิ้นไปแห่งความทะเยอทะยานอยากให้ปรากฏชัด ทั้งกลางคืนกลางวันเถิด
อุ.
ผู้ใดปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ล่วงฌานอื่นได้แล้ว
อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน (คือความเพ่งใจว่า ไม่มีอะไร เป็นอารมณ์)
น้อมใจแล้วในอากิญจัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นธรรมที่เปลื้องสัญญาอย่างประเสริฐสุด
ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อมบ้างหรือ
พ.
ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อม.
อุ.
ถ้าผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อมสิ้นไปเป็นอันมาก
เขาจะเป็นคนยั่งยืนอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น หรือจะดับขันธปรินิพพาน
วิญญาณของคนเช่นนั้นจะเป็น
ฉันใด
พ.
เปลวไฟอันกำลังลมเป่าแล้วดับไป ไม่ถึงความนับว่าได้ไปแล้วในทิศไหน
ฉันใด ท่านผู้รู้พ้นไปแล้วจากกองนามรูป ย่อมดับไม่มีเชื้อเหลือ (คือดับพร้อมทั้งกิเลสทั้งขันธ์)
ไม่ถึงความนับว่าไปเกิดเป็นอะไร ฉันนั้น
อุ.
ท่านผู้นั้นดับไปแล้ว หรือว่าเป็นแต่ไม่มีตัว หรือจะเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืน
หาอันตรายมิได้ ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ได้ทรงทราบแล้ว
พ.
ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับปรินิพพานแล้วมิได้มีกิเสส ซึ่งเป็นเหตุกล่าวผู้นั้นว่าไปเกิดเป็นอะไรของผู้นั้น
ก็มิได้มี, เมื่อธรรมทั้งหลาย (มีขันธ์เป็นต้น) อันผู้นั้นขจัดได้หมดแล้ว
ก็ตัดทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึงผู้นั้นว่าเป็นอะไรเสียทั้งหมด
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่อุปสีวมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว นันทมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๗ ว่า
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีมีอยู่ในโลกนี้ ข้อนี้เป็นอย่างไร เขาเรียกคนถึงพร้อมด้วยญาณ
หรือถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิต ว่าเป็นมุนี
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวคนว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยความสดับ
หรือด้วยความรู้ เรากล่าวว่าคนใด ทำตนให้ปราศจากกองกิเลส เป็นคนหากิเลสมิได้
ไม่มีความหวังทะยานอยากเที่ยวอยู่ คนผู้นั้นแลชื่อว่ามุนี
น.
สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น ด้วยความฟัง
ด้วยศีลและพรต และด้วยวิธีเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติในวิธีเหล่านั้น
ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติชราได้แล้วบ้างหรือหาไม่
ข้าพเจ้าทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด.
พ.
สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ถึงประพฤติอย่างนั้น เรากล่าวว่า พ้นชาติชราไม่ได้แล้ว
น.
ถ้าพระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามห้วงไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกหรือในมนุษย์โลก ข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว
พ.
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ อันชาติชราครอบงำแล้วหมดทุกคน
แต่เรากล่าวว่า
สมณพราหมณ์เหล่าใดในโลกนี้ละอารมณ์ที่ตน ได้เห็น ได้ฟัง ได้รู้ และศีลพรตกับวิธีเป็นอันมากเสียทั้งหมด
กำหนดรู้ตัณหาว่าเป็นโทษควรละแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล
ข้ามห้วงได้แล้ว
น.
ข้าพเจ้าชอบใจพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงแสดงธรรมอันไม่มีอุปธิ
(กิเลส) ชอบแล้ว แม้ข้าพเจ้าก็เรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า ผู้ข้ามห้วงได้แล้ว
เหมือนพระองค์ตรัส
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่นันทมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว เหมกมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๘ ว่า ในปางก่อนแต่ศาสนาของพระองค์
อาจารย์ทั้งหลายได้ยืนยันว่า อย่างนั้นได้เคยมีมาแล้ว อย่างนี้จักมีต่อไปข้างหน้า
คำนี้ล้วนเป็นแต่ว่าอย่างนี้แล ๆ สำหรับแต่จะทำความตรึกฟุ้งให้มากขึ้น
ข้าพเจ้าไม่พอใจในคำนั้นเลย ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเหตุถอนตัณหา
ที่ข้าพเจ้าทราบแล้วจะพึงเป็นคนมีสติข้ามล่วงตัณหาอันให้ติดอยู่ในโลก
แก่ข้าพเจ้าเถิด
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ชนเหล่าใด ได้รู้ว่า พระนิพพาน เป็นที่บรรเทาความกำหนัดพอใจในอารมณ์ที่รัก
ซึ่งได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว ได้ดมแล้ว ได้ชิมแล้ว ได้ถูกต้องแล้ว และได้รู้แล้วด้วยใจ
และเป็นธรรมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว
ดับกิเลสได้แล้ว ชนผู้สงบระงับกิเลสได้แล้วนั้น ข้ามล่วงตัณหาอันให้ติดอยู่ในโลกได้แล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่เหมกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว โมฆราชมาณพ ปรารภจะทูลถามปัญหาอีก พระศาสดาตรัสห้ามให้รอก่อน
เหมือนหนหลัง โตเทยยมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นที่ ๙ ว่า กามทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในผู้ใด
ตัณหาของผู้ใดไม่มี และผู้ใดข้ามล่วงความสงสัยเสียได้ ความพ้นของผู้นั้นเป็นเช่นไร
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ความพ้นของผู้นั้น ที่จะเป็นอย่างอื่นอีกมิได้มี (อธิบายว่าผู้นั้นพ้นจากกาม
จากตัณหา จากความสงสัยแล้ว กามก็ดี ตัณหาก็ดี ความสงสัยก็ดี จะกลับเกิดขึ้น
ผู้นั้นจะต้องเพียรพยายามเพื่อจะทำตนให้พ้นไปอีกหามีไม่ ความพ้นของผู้นั้นเป็นอันคงที่ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น)
ต.
ผู้นั้นเป็นคนมีความหวังทะเยอทะยานหรือไม่มี เป็นคนมีปัญญาแท้ หรือเป็นแต่ก่อตัณหาและทิฏฐิให้เกิดขึ้นด้วยปัญญา
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านผู้มุนีนั้นได้อย่างไร ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด
พ.
ผู้นั้นเป็นคนไม่มีความหวังทะเยอทะยาน จะเป็นคนมีความหวังทะเยอทะยานก็หาไม่
เป็นคนมีปัญญาแท้ จะเป็นแต่คนก่อตัณหาและทิฏฐิให้เกิดด้วยปัญญาก็หาไม่
ท่านจงรู้จักมุนีว่า คนไม่มีกังวลไม่ติดอยู่ในกามภพ อย่างนี้เถิด
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่โตเทยยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว กัปปมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๐ ว่า
ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมซึ่งจะเป็นที่พึ่งพำนักของชนอันชราและมรณะมาถึงรอบข้าง
ดุจเกาะอันเป็นที่พำนักอาศัยของชนผู้ตั้งอยู่ในท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่นใหญ่ที่น่ากลัวเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
อย่าให้ทุกข์นี้มีได้อีก
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
เรากล่าวว่านิพพานอันไม่มีกิเลสเครื่องกังวลไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น
เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะนี้แล เป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้วเป็นคนมีสติ
มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้น ไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของมาร
ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลย
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่กัปปมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหาที่ ๑๑ ว่า
ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพระองค์ไม่ใช่ผู้ใคร่กาม ข้ามห้วงกิเลสเสียได้แล้ว
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถาม พระองค์ผู้หากิเลสกามมิได้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระปัญญาดุจดวงตาเกิดพร้อมกับตรัสรู้
จงแสดงธรรมอันระงับแก่ข้าพเจ้าโดยถ่องแท้ เหตุว่า พระองค์ทรงผจญกิเลสกามให้แห้งหายได้
ดุจพระอาทิตย์อันส่องแผ่นดินให้แห้งด้วยรัศมี ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญากว้างใหญ่ราวกับแผ่นดิน
ตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้ที่ข้าพเจ้าควรจะทราบ แก่ข้าพเจ้าผู้มีปัญญาน้อยเถิด
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ท่านจงนำความกำหนัดในกามเสียให้สิ้น เห็นความออกไปจากกามโดยเป็นความเกษมเถิด
กิเลสเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ด้วยตัณหาและทิฏฐิซึ่งควรจะสละเสีย
อย่าเสียดแทงใจของท่านได้ กังวลใดได้มีแล้วในปางก่อน ท่านจงให้กังวลนั้นเหือดแห้งเสีย
กังวลในภายหลังอย่าให้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอากังวลในท่ามกลาง
ท่านจักเป็นคนสงบระงับกังวลได้เที่ยวอยู่ อาสวะ (กิเลส) ซึ่งเป็นเหตุถึงอำนาจมัจจุราชของชนผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูป
โดยอาการทั้งปวง มิได้มี
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่ชตุกัณณีมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ภัทราวุธมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่
๑๒ ว่า ข้าพเจ้าทูลขออาราธนาพระองค์ ผู้ทรงละอาลัยตัดตัณหาเสียได้
ไม่หวั่นไหว (เพราะโลกธรรม) ละความเพลิดเพลินเสียได้ ข้ามห้วงกิเลสพ้นไปได้แล้ว
ละธรรมเป็นเครื่องให้ดำริ (ไปต่าง ๆ) คือตัณหาและทิฏฐิได้แล้ว มีพระปรีชาญาณอันดี
ชนที่อยู่ชนบทต่าง ๆ อยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ มาพร้อมกันแล้วจากชนบทนั้น
ๆ ได้ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วจักกลับไปจากที่นี่ ขอพระองค์จงทรงแก้ปัญหาเพื่อชนเหล่านั้น
เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ได้ทราบแล้ว
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
หมู่ชนนั้นควรจะนำตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่นในส่วนเบื้องบนเบื้องต่ำเบื้องขวาง
คือ ท่ามกลางทั้งหมดให้สิ้นเชิง เพราะเขาถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก มารย่อมติดตามเขาได้โดยสิ่งนั้น
ๆ เหตุนั้นเมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นหมู่สัตว์ผู้ติดอยู่ในวัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมารนี้ว่า
ติดอยู่เพราะความถือมั่นดังนี้ พึงเป็นคนมีสติไม่ถือมั่นกังวลในโลกทั้งปวง
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่ภัทราวุธมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว อุทยมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๓
ว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงนั่งบำเพ็ญฌาน
มีพระสันดานปราศจากกิเลสธุลี หาอาสวะมิได้ ได้ทรงทำกิจที่จำจะต้องทำเสร็จแล้วบรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้ทั่วถึง
ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา ความเขลาไม่รู้แจ้งเสีย
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสเสียทั้งสองอย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเป็นเครื่องห้ามความรำคาญ มีอุเบกขากับสติเป็นธรรมบริสุทธิ์
มีความตรึกกอปรด้วยธรรมเป็นเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้น (จากกิเลส)
ที่ควรรู้ทั่วถึง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชาความเขลาไม่รู้แจ้งเสีย
อุ.
โลกมีอะไรผูกพันไว้ อะไรเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าวกันว่านิพพาน
ๆ ดังนั้น เพราะละอะไรได้
พ.
โลกมีความเพลิดเพลินผูกพันไว้ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้นท่านกล่าวกันว่านิพพาน
ๆ ดังนี้ เพราะละตัณหาเสียได้
อุ.
เมื่อบุคคลมีสติระลึกอย่างไรอยู่ วิญญาณจึงจะดับ, ข้าพเจ้าทั้งหลายมาเฝ้าแล้ว
เพื่อทูลถามพระองค์ ขอให้ได้ฟังพระวาจาของพระองค์เถิด
พ.
เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนาทั้งภายในภายนอก มีสติระลึกอย่างนี้
วิญญาณจึงจะดับ
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหาที่อุทยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว
โปสาลมาณพทูลถามปัญหาเป็นที่ ๑๔ ว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา
จึงได้มาเฝ้าพระองค์ ผู้ทรงสำแดงพระปรีชาญาณในกาลเป็นอดีต ไม่ทรงหวั่นไหว
(เหตุสุขทุกข์) มีความสงสัยอันตัดเสียได้แล้ว บรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ข้าพเจ้าขอทูลถามถึงญาณของบุคคล ผู้มีความกำหนดหมายในรูปแจ้งชัด (คือ
บรรลุอรูปฌานที่เรียกว่าอากิญจัญญายตนะ) บุคคลเช่นนั้นจะควรแนะนำสั่งสอนให้ทำอย่างไรต่อไป
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
พระตถาคตเจ้าทราบภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งหมด จึงทรงทราบบุคคลผู้เช่นนั้นแม้ยังตั้งอยู่ในโลกนี้ว่า
มีอัธยาศัยน้อมไปใน อากิญจัญญายตนภพ มีอากิญจัญญายตนภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
บุคคลเช่นนั้นรู้ว่ากรรมเป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลิดเพลินยินดีเป็นเครื่องประกอบดังนี้แล้ว
ลำดับนั้น ย่อมพิจารณาเห็นสหชาตธรรม ในอากิญจัญญายตนภพนั้น (คือธรรมที่เกิดพร้อมกันกับญานนั้น)
แจ้งชัดโดยลักษณะ ๓ (คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัว) ข้อนี้เป็นญาณอันถ่องแท้ของพราหมณ์เช่นนั้น
ผู้มีพรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่โปสาลมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว โมฆราชมาณพกราบทูลว่า ข้าพเจ้าได้ทูลถามปัญหาถึง
๒ ครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินว่า
ถ้าทูลถามถึง ๓ ครั้งแล้ว พระองค์ทรงแก้ ครั้นว่าอย่างนี้แล้วทูลถามปัญหาเป็นคำรบ
๑๕ ว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์
เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้มีพระปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้
ข้าพเจ้าจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจะไม่แลเห็น
คือว่า จักไม่ตามทัน
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ท่านจงเป็นคนมีสติ พิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด
ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายอย่างนี้
ครั้นพระศาสดาทรงแก้ปัญหา
ที่โมฆราชมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๑๖
ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณสิ้นไปแล้ว ดวงตาของข้าพเจ้าก็เห็นไม่กระจ่าง
หูก็ฟังไม่สะดวก ขอข้าพเจ้าอย่าเป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพเจ้าควรรู้เป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้เสีย
พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า
ท่านเห็นว่า ชนทั้งหลายผู้ประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ
เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก
ปิ.
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เป็น ๑๐ ทั้งทิศเบื้องบนเบื้องต่ำที่พระองค์ไม่ได้เห็นแล้ว
ไม่ได้ฟังแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้รู้แล้ว แม้น้อยหนึ่งมิได้มีในโลก
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพเจ้าควรรู้ เป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้เสีย
พ.
เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ อันตัณหาครอบงำแล้ว มีความเดือดร้อนเกิดแล้ว
อันชราถึงรอบข้างแล้ว เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก
ในกาลเป็นที่สุดแห่งปัญหา
ที่พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่ตน ๆ มาณพ ๑๕ คน เว้นไว้แต่ปิงคิยมาณพ ส่งใจไปตามธรรมเทศนา
ก็มีจิตพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ส่วนปิงคิยะเป็นแต่ได้ญาณเห็นในธรรม
ได้ยินว่า ปิงคิยมาณพนั้นคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ในระหว่างที่นั่งฟังธรรมเทศนาว่า
ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่ฟุ้งซ่านเพราะความรักอาจารย์นั้น
จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นอาสวะได้ มาณพ ๑๖ คนกับทั้งบริวารนั้นทูลขออุปสมบทพระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า
ท่านทั้งหลายเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์เถิด
ดังนี้ ฝ่ายพระปิงคิยะทูลลาพระศาสดากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์แล้ว
แสดงธรรมเทศนาแก้ปัญหา ๑๖ ข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระศาสดาสั่งสอน
จึงทำจิตให้พ้นจากอาสวะได้ ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ บรรลุธรรมาภิสมัย
แต่เพียงชั้นเสขภูมิ
**************************
กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร |