โดยส่วนตัวแล้ว
เห็นว่าคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว และบอกกล่าวในสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรให้คนอื่นได้รู้
อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา ทั้งที่เราพูด เราคิด รวมถึงที่เคยได้ยินคนอื่นมักจะเอ่ยกัน
ในเวลาที่มี เหตุการณ์คับขัน แล้วพูดว่า "ช่างมัน แล้วแต่บุญแต่กรรม"
เลยได้นำมาโพสต์ไว้ เพื่อผลแห่งความเข้าใจขึ้นน่ะค่ะ...
เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้
มีจุดพลาดอยู่ 2 แง่คือ
1.ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต
ทั้งที่กรรมนั้นก็เป็นกลางๆไม่จำกัด ถ้าแยกโดยกาลเวลาก็ต้องมี 3 คือ
กรรมเก่า (ในอดีต) กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) ต้องมองให้ครบ
2.มองแบบแยกขาดตัดตอน ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด
คือไม่มองเป็นกระแสหรือกระบวนการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา แต่มองเหมือนกับว่ากรรมเก่า
เป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตามเรามาจากชาติก่อน แล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อยๆ
ถ้ามองกรรมให้ถูกต้องทั้ง
3 กาล และมองอย่างเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ในด้านเจตจำนง และการทำ-คิด-พูด
ของมนุษย์ ที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ก็จะมองเห็นกรรมถูกต้อง ชัดเจนและง่ายขึ้น
ในที่นี้ แม้จะไม่อธิบายรายละเอียด แต่จะขอให้จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ
2-3 อย่าง
1).ไม่มองกรรมแบบแยกขาดตัดตอน
คือมองให้เห็นเป็นกระแสที่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงขณะนี้ และกำลังสืบต่อไป
ถ้ามองกรรมให้ครบ
3 กาล และมองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จากอดีต มาถึงบัดนี้ และจะสืบไปข้างหน้า
ก็จะเห็นว่า กรรมเก่า (ส่วนอดีต) ก็คือ เอาขณะปัจจุบันเดี๋ยวนี้เป็นจุดกำหนด
นับถอยจากขณะนี้ ย้อนหลังไปนานเท่าไรก็ตาม กี่ร้อยกี่พันชาติก็ตาม
มาจนถึงขณะหนึ่ง หรือวินาทีหนึ่งก่อนนี้ ก็เป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต)ทั้งหมด
กรรมเก่าทั้งหมดนี้
คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) ก็คือที่กำลังทำๆ
ซึ่งขณะต่อไป หรือวินาทีต่อไป ก็จะกลายเป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) และอีกอย่างหนึ่งคือ
กรรมข้างหน้า ซึ่งยังไม่ถึง แต่จะทำในอนาคต
กรรมเก่านั้นยาวนานและมากนักหนา
สำหรับคนสามัญ กรรมเก่าที่จะพอมองเห็นได้ ก็คือ กรรมเก่าในชาตินี้
ส่วนกรรมเก่าในชาติก่อนๆ ก็อาจจะลึกล้ำเกินไป เราเป็นนักศึกษาก็ค่อยๆ
เริ่มจากมองใกล้ก่อน แล้วจึงค่อยๆขยายไกลออกไป
เช่น เราจะวัดหรือตัดสินคนด้วยการกระทำของเขา
กรรมใหม่ในปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร เราก็ดูจากกรรมเก่า
คือความประพฤติและการกระทำต่างๆ ของเขา ย้อนหลังไปในชีวิตนี้ ตั้งแต่วินาทีนี้ไป
นี่ก็กรรมเก่า ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เลย
2). รู้จักตัวเอง
ทั้งทุนที่มีและข้อจำกัดของตน พร้อมทั้งเห็นตระหนักถึงผลสะท้อนที่ตนจะประสบ
ซึ่งเกิดจากกรรมที่ตนได้ประกอบไว้
กรรมเก่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเราทุกคน เพราะแต่ละคนที่เป็นอยู่ขณะนี้
ก็คือ ผลรวมของกรรมเก่าของตนที่ได้สะสมมา ด้วยการทำ-พูด-คิด การศึกษาพัฒนาตน
และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในอดีตทั้งหมด ตลอดมาจนถึงขณะ หรือวินาทีสุดท้ายก่อนขณะนี้
กรรมเก่านี้ให้ผลแก่เรา
หรือเรารับผลของกรรมเก่านั้นเต็มที่ เพราะตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้
เป็นผลรวมที่ปรากฎของกรรมเก่าทั้งหมดที่ผ่านมา กรรมเก่านั้นเท่ากับเป็นทุนเดิมของเราที่ได้สะสมไว้
ซึ่งกำหนดว่า เรามีความพร้อม มีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจา ทางจิตใจ
และทางปัญญาเท่าไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะทำอะไรได้ดีหรือไม่ อะไรเหมาะกับเรา
เราจะทำได้แค่ไหน และควรจะทำอะไรต่อไป
ประโยชน์ที่สำคัญของกรรมเก่า
ก็คือ การรู้จักตัวเองดังที่ว่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการรู้จักวิเคราะห์และตรวจสอบตนเอง
โดยไม่มัวแต่ซัดทอดปัจจัยภายนอก
การรู้จักตัวเองนี้
นอกจากช่วยให้ทำการที่เหมาะกับตนอย่างได้ผลดีแล้ว ก็ทำให้รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไปด้วย
3). แก้ไขปรับปรุงเพื่อก้าวสู่การทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น
แน่นอนว่า ในที่สุด การปฏิบัติถูกต้องที่จะได้ประโยชน์จากกรรมเก่ามากที่สุด
ก็คือ การทำกรรมใหม่ ที่ดีกว่ากรรมเก่า
ทั้งนี้ เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนา รวมอยู่ใน ไตรสิกขา
อันได้แก่การฝึกศึกษาพัฒนาตน ในการที่จะทำกรรมที่ดีได้ยิ่งขึ้นไป ทั้ง
ในขั้นศีล
คือการฝึกกาย วาจา สัมมาชีวะ รวมทั้งการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์
(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
ในขั้นสมาธิ
คือ ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่า จิต ภาวนาทั้งหมด และ
ในขั้นปัญญา
คือ ความรู้คิดเข้าใจถูกต้อง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และสามารถใช้ความรู้นั้นแก้ไขปรับปรุงกรรม
ตลอดจนแก้ปัญหาดับทุกข์หมดไป มิให้มีทุกข์ใหม่ได้ พูดสั้นๆ ก็คือ "แม้ว่ากรรมเก่าจะสำคัญมาก
ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสยบยอมต่อมัน" แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนาชีวิตของเรา
ที่เป็นผลรวมของกรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น
ถ้าจะใช้คำที่ง่ายแก่คนสมัยนี้
ก็คือ เรามีหน้าที่
"พัฒนากรรม" กรรมที่ไม่ดีเป็นอกุศล ผิดพลาดต่างๆ เราศึกษาเรียนรู้แล้วก็ต้องแก้ไข
การปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ การพัฒนากรรม ให้เป็นกุศล
หรือดียิ่งขึ้นๆ ดังนั้น เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งแล้ว ก็พิจารณาวิเคราะห์
ตรวจสอบคุณภาพ และผลของกรรมนั้น ให้เห็นข้อยิ่ง ข้อหย่อน ส่วนที่ขาดที่พร่อง
เป็นต้น
ตามหลักเหตุปัจจัยที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน
แล้วแก้ไขปรับปรุง เพื่อวางแผนทำกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไปก็ได้
4). "อยู่เพื่อพัฒนากรรม
ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม"
ที่พูดมานี้กับบอกให้รู้ว่า
เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรมที่แยกเป็น 3ส่วนคือ กรรมเก่า-กรรมใหม่-กรรมข้างหน้า
ขอสรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง
3 ส่วนว่า
กรรมเก่า
(ในอดีต) เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เพื่อเอาความรู้จักมันนั้น
มาใช้ประโยชน์ในการแก้ไข ปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
กรรมใหม่
(ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
กรรมข้างหน้า
(ในอนาคต) เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียม หรือวางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดี
ที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบัน ที่จะพัฒนาเราให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น
จนกระทั่ง เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะสามารถทำกรรมที่ดี สูงขึ้นไปตามลำดับ
จนถึงขั้นเป็นกุศลอยางเยี่ยมยอด นี่แหล่ะคือ คำอธิบายที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า
"ทำไมจึงว่า คนที่วางใจ ว่าจะเป็นอย่างไรก็ แล้วแต่กรรม (เก่า)
นั้นแล กำลังทำกรรมใหม่ (ปัจจุบัน) ที่ผิด เป็นบาป คือ..ความประมาท..
ได้แก่การปล่อยปละละเลย
อันเกิดจาก..โมหะ.. และมองเห็นเตุผลด้วยว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้หวังผลจากการกระทำ"
ขอย้ำอีกครั้งว่า
กรรมใหม่สำหรับ "ทำ" กรรมเก่าสำหรับ "รู้" อย่ามัวรอกรรมเก่า
ที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอามาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน
จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้ในอนาคต
----------------------------
สาธุ ในคำสั่งสอนของท่าน แม้หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเพียงพื้นๆ
ที่รู้แล้วของผู้ปฏิบัติธรรม แต่สำหรับบางคน เพียงเท่านี้ก็ลึกลงไปถึงในใจ
และน่าจะเพิ่งเข้าใจ และควรทำความเข้าใจในเรื่อง "กรรม"เสียใหม่
คำสอนนี้คงจะมีประโยชน์
แม้สักนิด ก็อยากจะบอกกับ บุคคลที่ไม่สามารถพูดให้เขาเข้าใจได้ ว่า
บางสิ่งบางอย่าง ในชีวิต ดูมืดมนเหลือเกิน แต่เราสามารถแก้ไขมันให้ดีได้
เพียงแต่อย่าได้ปล่อยชีวิตของตนเอง ไปเพื่อเพียงบอกว่า..แล้วแต่บุญแต่กรรม..เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครช่วยเธอได้เลย
นอกจากตัวของเธอเอง..
ที่มา : http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/006830.htm
เราเห็นว่าเป็นปรธดยชน์ จึงได้คัดมานำเสนอ จึงขอขอบคุณเว็บดังกล่าวไว้
ณ ที่นี้
|