ทศชาติชาดก เรื่องที่ ๘ นารทชาดก (อ่านว่า นา-ระ-ทะ-ชา-ดก)
นำเสนอโดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี





เรื่องย่อ

 

เรื่องราวในชาดกโดยย่อ

          ในครั้งหนึ่ง เหล่าพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน ได้พากันทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ทรงเล่าเรื่องอดีตชาติ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นมหาพราหมณ์และปราบมารร้ายให้บรรพชาได้ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสเล่าประทาน หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศธรรมจักกัปปวัตนสูตร ณ ลัฏฐิวนอุทยานใกล้กรุงราชคฤห์
          ความเป็นมาว่าในครั้งอดีตกาล กษัตริย์แห่งมิถิลานครมีพระนามว่า "อังคติราช" ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวพระนามว่าเจ้าหญิงรุจา พระเจ้าอังคติราชได้ทรงครองเมืองโดยธรรม ทรงพระราชทานผอบดอกไม้และภูษาแพรพรรณอย่างดีให้พระธิดาทุก ๆ วัน และในทุก ๑๕ วันทรงพระราชทานทรัพย์ให้พระธิดาบริจาคทาน ทรงให้พระสนมอีกหลายร้อยหมั่นบริจาคทานอยู่เนือง ๆ ด้วยเช่นกัน

          ในพระราชวังมี ๓ เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่นามว่า อำมาตย์วิชัย อำมาตย์สุนามะ และอำมาตย์อลาตะ ซึ่งเป็นบุคคลที่พระราชามักขอให้ถวายคำปรึกษาอยู่เนืองนิจ

          ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ บนท้องฟ้าปรากฏเพ็ญเต็มดวงสว่างไสว ในสระน้ำก็เจิ่งนองสดใสเต็มไปด้วยบัวใหญ่งดงามชื่นบาน เป็นฤดูกาลที่ทั่วแคว้นดั่งแดนวิมานประดับแก้วแวววาว
พระเจ้าอังคติคราชจึงทรงมีรับสั่งว่า "ดูกรท่านอำมาตย์ทั้งสาม ในวันเป็นฤกษ์ดีแห่งฤดูกาลนี้ ท่านว่าเราควรจะประพฤติใดจึงเป็นมงคลดีสม"

          ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเห็นว่าพระองค์สมควรออกทัพตีหัวเมืองมาไว้ในครอบครองพระเจ้าข้า" อำมาตย์อลาตะกราบทูล "ขอเดชะ พระองค์น่าจะจัดมหรสพเฉลิมฉลอง ตกแต่งอุทยาน จัดมโหรีบรรเลงตลอดวันคืน ให้นางกำนัลฟ้อนถวายด้วยเครื่องประดับงดงาม จัดโภชนาการอาหารเพรียบพร้อม
ให้อภิรมย์ทั้งฤดูพระเจ้าข้า"

           อำมาตย์สุนามะทูลดั้งนั้น "ขอเดชะ พระองค์เป็นสมมติเทพผู้ไม่ยินดีในทางอภิรมย์ สมควรจะสนทนาธรรมกับปราชญ์ เพื่อให้รู้กระจ่างเห็นแจ้งในธรรมยิ่งขึ้นพระเจ้าข้า"

เมื่ออำมาตย์วิชัยกราบทูลถวายทางสงบ พระเจ้าอังคติราชก็ทรงตรัสเห็นด้วย อำมาตย์อลาตะจึงรีบทูลเอาความดีว่า "ข้าพระองค์คุ้นเคยกับท่านคุณาชีวกะ ท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรมและมีผู้ศรัทธามากพระเจ้าข้า"

          คำตอบพราหมณ์เขลา ครั้นพระราชาทรงสดับฟังแล้ว จึงให้ยกขบวนเสด็จไปยังสำนักชีต้นนั้น พระราชาทรงตรัสถามแก่คุณาชีวะเป็นปริศนาธรรมว่า "สิ่งใดควรทำสำหรับพระราชา เมื่อทำแล้วย่อมสำเร็จสู่สวรรค์ สิ่งใดมิควรทำสำหรับพระราชา ทำแล้วย่อมเป็นทางนำสู่นรก และสิ่งใดเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติต่อบิดามารดา อาจารย์ บุตรภรรยา ผู้เฒ่าผู้อาวุโส พราหมณ์และสมณสงฆ์ และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน"

          เมื่อชีเปลือยคุณาชีวกะอับจนปัญญา จึงกราบทูลตามลัทธิมิจฉาทิฐิของตนว่า ขอเดชะท่านมหาบพิตรความสงสัยของพระองค์นั้นตอบได้ดังนี้
          ๑. เรื่องของบุญนั้นไม่มีจริง บาปก็ไม่มี ภพหน้าก็ไม่มี
          ๒. เรื่องของบุพการีบิดามารดาก็ไม่มีจริง มิต้องปฏิบัติด้วยดีอย่างใด เพราะคนเราเกิดมาตามธรรมดา ดั่งเรือเล็กตามเรือใหญ่ ไม่ใช่ผู้มีบุญคุณต่อกัน
          ๓. สัตว์ทั้งหลายก็เสมอกันเช่นดั่งคน วัยผู้เฒ่าผู้อาวุโสก็เสมอเหมือนกัน มิต้องนอบน้อมบำรุงปฏิบัติหรือเกื้อกูลแต่อย่างไร
          ๔. สมณพราหมณ์ก็มิได้วิเศษใด ทำดีไปสวรรค์ ทำชั่วไปนรกมิใช่เรื่องจริง ทำทานไปก็มิได้สิ่งใดตอบแทน มิมีผลแห่งบุญหรือผลแห่งบาป
          ๕. การถือศีลก็จะทำให้หิว มิควรถือศีลการให้ทานก็คือความโง่แต่คนฉลาดคิดแต่รับทาน"

          คุณาชีวิกะเห็นพระราชานิ่งสดับฟังด้วยความทึ่งดังนั้น ก็รีบกล่าวต่อย่างลำพองใจในปัญญาอันมืดมิดของตนอีกว่า "แม้แต่ร่างกายของคนเรานั้นก็รวมกันมาจาก ๗ สิ่งคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวิต หากเมื่อสูญสลายตายไปแล้วส่วนที่เป็นไฟก็จะไปอยู่กับไฟ ส่วนที่เป็นลมก็จะล่องลอยไปอยู่กับลม สุขและทุกข์ก็ลอยไปในลมในอากาศเช่นเดียวกับชีวิต ดังนั้นการฆ่าหรือตัดชีวิตใครก็จึงมิใช่เรื่องของบาปหรือกรรม สัตว์และมนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอีกชั่ว ๖๔ กัปป์กัลล์อยู่แล้ว ต่อจากนั้นก็จะบริสุทธิ์ได้เองมิต้องถือศีลทำบุญ"
          อำมาตย์อลาตะฟังดังนั้นก็รีบทูลสนับสนุน ว่าตนเองก็เห็นจริงเช่นนั้น อ้างว่าตนระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นคนใจบาปชื่อ "ปิงคละ"ผู้ฆ่าโคขาย ชาติต่อมายังได้เกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลเสนาบดีจนมียศศักดิ์จนถึงวันนี้ มิเห็นต้องตกนรกหมกไหม้แต่อย่างใด ก็ย่อมแสดงว่าบาปบุญไม่มีจริงดังที่ท่านอาจารย์กล่าว เพราะหากบาปมีจริง ตนก็คงต้องไปตกนรกหมกไหม้แล้ว
          แต่ในทางแห่งความเป็นจริงที่เป็นมา อำมาตย์อลาตะเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลดี เนื่องจากในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ได้ถวายพวงอังกาบบูชาพระเจดีย์ เมื่อตายไปเกิดเป็นปิงคะผู้ฆ่าโคขาย และอานิสงส์ในภพที่ถวายพวงอังกาบ จึงได้มาเกิดเป็นเสนาอำมาตย์ในชาติภพนี้ แต่อำมาตย์ระลึกชาติได้ชาติเดียวจึงเห็นผิดไปว่า เรื่องการทำบาปมิได้ส่งผลให้ต้องชดใช้กรรมแต่อย่างใด

คนบาปเห็นผิดเป็นชอบ
          ในขณะนั้น บุรุษนาม "วิชกะ" บุตรช่างหม้อยากไร้ได้ฟังความด้วยก็ร่ำไห้ออกมา ครั้นพระราชาตรัสถาม วิชกะก็กราบทูลว่า ตนเสียใจนัก ตนเคยระลึกชาติว่าเป็นเศรษฐีเมตตาจิตบริจาคทานอยู่ตลอดชีวิต แต่ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นคนจนอนาถา แสดงว่าบุญและบาปไม่มีจริง ๆ แน่นอนแล้วล่ะนี่
          ซึ่งในความจริงนั้น ชาติเดิมวิชกะเป็นคนเลี้ยงโค วันหนึ่งโคหายก็พาลดุด่าพระภิกษุที่ผ่านมาถามหนทาง ตายไปจึงมาเกิดเป็นคนต่ำต้อย ซึ่งวิชกะระลึกชาติได้แค่ชาติเดียวที่เกิดเป็นเศรษฐี
          เมื่อมีผู้สนับสนุนเห็นพ้องด้วย พระเจ้าอังคติราชก็พลอยเชื่อถือคำของคุณาชีวกะ จึงตรัสแก่วิชกะว่า พระองค์ก็บริจาคทานไปแล้วเหมือนกันนับเป็นทางที่ผิด พระองค์จะหาความสุขให้ตัวเองนับแต่นี้ และไม่มาสำนักนี้อีกเลย ในเมื่อมิได้มีใครบันดาลผลบุญธรรมแก่เราทุกคน ตรัสดังนั้นก็มิทรงทำความเคารพชีเปลือยอีก ทว่าเสด็จกลับวังในทันทีนั้นเอง
          เมื่อเสด็จสู่พระราชวังพระเจ้าอังคติราชก็ทรงให้จัด มหรสพรื่นเริงให้มีดุริยางค์ขับกล่อมตลอดเวลา มีนางกำนัลตกแต่งกายยั่วยวนฟ้อนรำ จัดสุราอาหารสำราญพร้อม มิสนใจในกิจแห่งแผ่นดินอีก ทรงมุ่งแต่มัวเมาในทางกามคุณ ละเว้นโรงทานและศาลาธรรมจนสิ้น

พระธิดาช่วยเหนี่ยวรั้ง
           ครั้นเมื่อถึงวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ พระธิดารุจากุมารก็ทรงเข้าเฝ้าตามกำหนด พระราชาก็ทรงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งดั่งเดิม แต่มิได้ใส่พระทัยว่าจะนำเงินไปทำบุญหรือทำสิ่งใด พระธิดายังทรงถือศีลอุโบสถและทำทานเป็นนิจ และทรงระลึกชาติได้ ๑๔ ชาติ คือ ชาติภพเดิม ๗ ชาติ ภพหน้า ๗ ชาติ และพระนางก็คิดช่วยเหลือพระราชบิดา ด้วยว่าทั่วนครต่างก็เลื่องลือว่าพระราชา หลงอบายมุขตามลัทธิชีเปลือยไปเสียแล้วนั้น

           ครั้นถึงวันพระอีกคราว พระธิดารุจาก็เสด็จเข้าตามกำหนด ทรงให้นางกำนัลแต่งกายละลานตา ทรงได้สนทนากับพระราชาเป็นอันดี ทว่าเมื่อทรงทูลขอทรัพย์ตามปกติ พระราชจึงทรงตรัสว่า ตั้งแต่แจกทานทำบุญก็มีแต่หมดทรัพย์ แต่มิได้สิ่งตอบแทนคืน ตอนนี้พระองค์รู้ทางถูกแล้ว คนเราควรเอาเงินบำรุงบำเรอความสุขให้ตนเอง ดังนั้นขอให้พระธิดาเลิกเอาเงินไปบริจาคทานเสียทีเถิด คุณาชีวกะอาจารย์ก็ได้สำแดงลัทธิให้เข้าใจแล้ว ทาสวิชกะก็ยังยืนยันเช่นกัน
            เมื่อธิดารุจาได้ฟังก็ให้สลดพระทัยยิ่งจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระบิดา ไฉนพระองค์หลงผิดไปเชื่อความของคนที่ไร้สติปัญญาเช่นนั้น"
            พระราชบิดาตรัสตอบพระธิดาว่า "เจ้าหญิงเอ๋ย พ่อเชื่อเพราะเห็นว่าความที่คุณาชีวกะแสดงมานั้นเป็นเรื่องจริงที่น่าเชื่อถือ ทำให้พ่อหายโง่ เลิกทำบุญถือศีลซึ่งมิได้ผลดีอันใด" "หากพราหมณ์นั้นกล่าวว่าคนนั้นเสมอเหมือนกัน และการบำเพ็ญภาวนาไม่มีผลใด แล้วพราหมณ์นั้นไฉนจึงเฝ้าบำเพ็ญภาวนา เป็นอาจารย์ให้ผู้คนกราบไหว้และเชื่อฟัง ข้าแต่พระราชบิดา หากคนเราคบคนพาลย่อมเป็นพาลไปด้วย
หากคบหาบัณฑิตนักปราชญ์ก็ย่อมจะพลอยเป็นปราชญ์ไปด้วย
ชีเปลือยคุณาชีวกะก็ยังให้คนนับถือตนและบำเพ็ญกิริยาต่าง ๆ
แล้วจะมาว่าการบำเพ็ญไม่มีผลบุญบาปได้อย่างไร"

            ส่วนอลาตะและวิชกะนั้นระลึกชาติแค่ชาติเดียวเท่านั้น หม่อมฉันระลึกได้ถึง ๑๔ ชาติ ในชาติหนึ่งนั้นเกิดเป็นหญิงมีสกุลแต่คบชู้ ตายไปก็ได้เกิดเป็นบุตรมหาเศรษฐี ด้วยผลบุญก่อนยังหนุน และผลกรรมยังตามมามิทัน ยามเป็นบุตรเศรษฐีก็ทำทานถือศีลเพราะมีมิตรดี เมื่อตายไปก็ตกนรกหมกไหม้เพราะผลกรรมที่ลักลอบเป็นชู้ตามมาทัน จากนรกก็ไปเกิดเป็นลา ถูกทรมานตาย แล้วเกิดเป็นลูกลิง ถูกกัดกินจนตาย ก็ไปเกิดเป็นกะเทย จากนั้นจึงไปเกิดบนชั้นสวรรค์ เป็นพระมเหสีของพระอินทร์ ๔ ชาติ เพราะผลบุญจากชาติที่ทำทานตามมา และในชาตินี้ก็เกิดเป็นพระราชธิดาพระราชาคือพระบิดานี้เอง"

            พระราชาทรงเงียบนิ่งด้วยเพราะหาทางโต้แย้งมิได้ พระธิดารุจาจึงทูลต่อว่า "การคบคนเลวต่างหากที่จะพาให้พระบิดาตกนรก การคบหาคนดีจึงจะเสด็จสู่สวรรค์ได้ คนที่เป็นครูเป็นอาจารย์ หากอบรมสั่งสอนสิ่งชั่วร้ายเลวทรามให้แก่ศิษย์ ผู้เป็นศิษย์ก็ย่อมตกต่ำไปด้วยเสมือนดั่งใช้ใบไม้เน่าห่อปลา ปลานั้นย่อมจะเหม็นเน่าไปด้วย หากห่อปลาด้วยใบไม้หอม ปลาก็ย่อมจะหอมหวลด้วยแน่นอน ขอให้พระบิดาทรงใคร่ครวญ"

            เมื่อพระราชาสดับฟังดังนั้นก็ยังมิเปลี่ยนความเชื่อมั่น ด้วยเพราะยังคงทรงตกต่ำมัวเมาอยู่ในเพศรส มิจฉาทิฐิดังเดิม ให้ทวยเทพช่วยเหลือ พระธิดารุจาจึงทรงนมัสการ ๑๐ ทิศ แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ขอให้ทวยเทพยดาช่วยให้พระราชบิดา ให้พ้นทางมัวเมาตามมิจฉาทิฐินั้นด้วยเถิด "ข้าแต่ทวยเทพยดา ท้าวจตุโลกบาล ท้าวมหาพรหมแลสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ขอพระองค์ทั้งหลายทรงโปรดช่วยพระราชบิดาให้พ้นทางมัวเมา ให้เห็นทางสว่างพ้นจากทางผิดอันมืดมิดด้วยเทอญ"

            ยามนั้นพระนารทะมหาพรหมซึ่งคือพระพุทธเจ้านั้นเอง ได้ทรงจำแลงกายเป็นนักบวชมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอังคติราช โดยเหาะลอยมาในอากาศพร้อมทองหาบหนึ่ง พระราชาทรงตรัสถามพระมหานารทะว่า
"ไฉนพรหมจึงเหาะได"้
พระนารทะจึงทรงทูลว่า เพราะพระองค์บำเพ็ญคุณธรรม ๔ ประการ คือ รักษาสัจจะ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ประพฤติผิดในกาม และประพฤติชอบธรรมทั้งกาย วาจา ใจ คือเสียสละ

            พระราชาแคลงพระทัยนัก ทรงถามว่าภพหน้าและบาปบุญมีจริงหรือ พระนารทะทรงทูลว่า "เรื่องนั้นมีจริงพระราชาจึงทรงว่า ถ้างั้นก็ขอยืมเงิน ๑ พัน แล้วชาติหน้าจะใช้คืนให้" พระนารทะว่า พระราชาเป็นคนผิดศีล ไม่มีธรรม ตายไปก็จะเกิดในนรก ซึ่งคงไม่มีใครกล้าลงไปทวงในนรก แต่หากพระราชาเป็นคนประพฤติชอบ แม้กี่พันก็จะให้ยืม
เพราะชาติหน้าพระองค์ย่อมชดใช้โดยดี
            เมื่อพระราชาฟังแล้วเงียบนิ่ง พระนารทะจึงทรงกล่าวสืบไปว่า ถ้าพระราชาหลงผิดในทางอบายมุขละเว้นธรรมเช่นนี้ เมื่อตายไปก็จะเกิดในนรก ต้องถูกแร้งกาจิกกินจนเลือดโทรมกาย เจ็บปวดทรมานในนรกโลกันต์อันมืดมิด มีดหอกคอยทิ่มตำ มีหนามงิ้วเสียดแทง มีทั้งฝนอาวุธตกลงมาทิ่มแทงใส่กาย หากล้มไปก็ถูกนิริยบาลรุมแทง กระหน่ำย่ำเหยียบและโยนลงกะทะเดือด ในนรกมีภูเขาเหล็กลูกมหึมากลิ้งมาทับบดร่างให้แหลกยับ ถูกกรอกด้วยน้ำทองแดงจนตับไตไส้พุงขาดวิ่น ยามหิวต้องกินน้ำเลือดน้ำหนองของตนเอง บรรดาสุนัขนรกตัวเท่าช้างก็คอยมาแทะกัดกินเนื้อตัว ให้ทุกข์ทรมานมิรู้สุดสิ้น

            พระราชาทรงนิ่งสดับฟังเสร็จแล้วก็ให้หวาดหวั่นพระทัยนัก ทรงตรัสด้วยความกลัวตัวสั่นว่า "เรานี้เป็นคนหลงมัวเมาในทางผิด เรามิอยากตกในนรกเลยนะท่านนารทะ ขอให้ท่านจงช่วยชี้ทางถูกให้ข้าพเจ้าเถิด"

            จากนั้นพระนารทะจึงทรงทูลว่า ให้พระราชาทรงละมิจฉาทิฐิหมั่นบำเพ็ญกุศลทำทาน และรักษาศีลอย่างแน่วแน่ บรรดาช้าง ม้า โค กระบือที่แก่เฒ่าก็ให้ปล่อยเสีย เช่นเดียวกับอำมาตย์ชราก้ฬห้เลี้ยงดูมิต้องทำราชการอีก และให้ยึดมั่นในการรักษาศีล ๕ และศีล ๘ อันจะมีผลในภายหน้าอย่างสูงส่ง เป็นทางสู่สวรรค์ชั้นฟ้าด้วย ให้พระราชาครองราชย์โดยชอบธรรม ตั้งกายเป็นราชรถ ตั้งจิตเป็นสารถี ให้สารถีขับรถคือจิตนำกายไป ประพฤติตามกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ ละเว้นกิเลส สำรวมตน คบมิตรที่ดี และไม่ประมาทเสมอไป

            เมื่อทรงแสดงโอวาทแล้ว พระนารทะมหาพรหมก็เหาะกลับสู่วิมานแมน พระราชาและเหล่าเสนาอำมาตย์ที่พบเห็นก็แตกตื่นรีบก้มสัการะ และนับแต่นั้นมา พระเจ้าอังคติราชก็ประพฤติตามโอวาทพระนารทะ บำเพ็ญกุศลถือศีลทำทาน ปกครองเมืองโดยสงบ ร่มเย็น เมื่อเสด็จสวรรคตก็ทรงขึ้นสู่สวรรค์

คติธรรม : อดีตนิทานนี้มีว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดี ย่อมได้ผลดี ทำผิดบาป ย่อมได้ชั่วช้า สามานย์เป็นผลตอบ และการคบมิตรสหายนั้น ก็จะส่งผลดี-เลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย

************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่