สังเขปประวัติของ
พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร อินฺทโชติ)
อดีตเจ้าคณะแขวง หรือ เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ และ เจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์
ผู่ก่อตั้ง และเจ้าอาวาสรูปแรก วัดวชิรประดิษฐ์ บ้านเฉงอะ ตำบลตะเคียนทอง
อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์ ) ป.ธ.๕,น.ธ.เอก, ศษ.บ.



ภาพของ พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)
ซึ่งอัดแจกกันโดยทั่วไป

********

บทนำ

               ข้าพเจ้าได้ดำเนินการรวบรวมชีวประวัติของท่านพระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร อินฺทโชติ) อดีตเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ และเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษญ์ ซึ่งท่านมีผลงานซึ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่อนุชนมาจนทุกวันนี้ เพื่อทำให้เราทราบถึงชีวประวัติและผลงาน รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลสำคัญในท้องถิ่นที่เราตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่
               ทั้งนี้เพื่อให้เราในฐานะที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้รับทราบและตระหนักถึงชีวประวัติ ผลงาน ความรู้ ความสามารถ ความมีมานะบากบั่นพยายาม ความเสียสละ คุณธรรมจริยธรรมและวิถีการดำรงชีวิตของบุคคลที่สำคัญในท้องถิ่น แล้วจะได้ยึดถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขต่อไป
               หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติชิ้นนี้คงจะอำนวยประโยชน์ต่อผู้สนใจและคณะศิษยานุศิษย์ของท่านพระครูฯอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องด้วยเนื้อหา สาระ ตัวอักษร และ ความสำคัญในจุดใด ตรงไหนก็ตามที ทั้งที่โดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ ผู้รวบรวมข้อน้อมกราบอโหสิต่อดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านพระครู ฯ ไว้ ณ โอกาสนี้ และหากจะมีส่วนดีซึ่งเกิดขึ้นจากการรวบรวมประวัติและผลงานของท่านพระครูฯ ผู้รวบรวมก็ข้อน้อมส่วนดีนั้นสักการะบูชาพระคุณของท่านพระครู ฯ และขอให้เป็นตบะ เดชะปกป้อง คุ้มครองทุกท่านที่ได้อ่าน ได้ศึกษาประวัติและผลงานชิ้นนี้ จงมีความสุข ความเจริญ รุ่งเรืองทุก ๆ ท่านทุกทิพาราตรีกาล
               ขณะเดียวกัน ก็ขอขอบพระคุณเจ้าของหนังสือประกอบการเรียบเรียงดังมีรายการท้ายประวัติไว้เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้ด้วย

พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล
พระเปรียญและพระบัณฑิตอาสพัฒนาประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
1 กุมภาพันธ์ 2544

วัดท่าไทร ตำบลท่าทองใหม่
อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84290

สถานะเดิม

               พระครูประกาศิตธรรมคุณ หรือหลวงพ่อเพชร ท่านมีนามเดิมว่า เพชร มีเชื้อสายจีน แซ่ตั้น (ภายหลังเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล ท่านใช้นามสกุลว่า “ยี่ขาว” เกิด ณ บ้านประตูไชย เหนือ ตำบลท่าวัง อำเภอกลางเมือง หรือ อำเภอเมืองฯ ในปัจจุบัน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของ นายขาว และนางกิมล้วน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปี ฉลู พุทธศักราช ๒๓๙๕ (ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านมีพี่น้องกี่คน และท่านเป็นบุตรคนที่เท่าไรนั้นไม่ปรากฏ ทราบแต่เพียงว่าท่านมีน้องชายอยู่หนึ่งคน


ภาพถ่ายป้ายซึ่งแสดงเป้าหมายของวัดวัดวชิรประดิษฐ์
"สะอาด ร่มรื่น สวยงาม"

ชีวิตปฐมวัย-วัยหนุ่ม

               ครั้นอายุได้ ๘ ปี ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๓ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากศึกษาเล่าเรียน หนังสือ (ในสมัยนั้นเรียกว่าเรียนอักขระ) อยู่ในสำนักของท่านพระครูการาม (จู) วัดมเหยงค์ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่จนอายุได้ ๑๓ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๘ จึงลาอาจารย์ออกจากวัดมเหยงค์ ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพระศิริธรรมบริรักษ์ (ขั้น) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในขณะที่อาศัยอยู่กับท่านเจ้าเมือง ท่านได้ผู้ช่วยกิจการของพระศิริธรรมบริรักษ์ หลายอย่าง แต่ภาระกิจที่สำคัญอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ครั้งหนึ่งเกิดจีนฮ่อยึดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยตอนใต้ ท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ทราบข่าว จึงได้ส่งท่านพร้อมพรรคพวกจำนวนหนึ่งไปปราบจีนฮ่อที่มายึดเมืองไทรบุรี จนกระทั่งได้รับชัยชนะจีนฮ่อแตกหนีไป ต่อมาทางกรุงเทพ ฯ ทราบข่าวจึงแจ้งให้เจ้าเมืองส่งตัวท่านไปกรุงเทพ ฯ เพื่อต้องการดูตัว แต่ท่านไม่ต้องการที่จะไป จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านพระศิริธรรมบริรักษ์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช


ภาพมณฑปซึ่งบรรจุรูปเหมือน พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)
ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถวัดวชิรประดิษฐ์


เหรียญปั้ม เนื้ออัลปาก้า รุ่น ๑ พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

เหรียญปั้ม เนื้ออัลปาก้า รุ่น ๒ พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗


ชีวิตในมัชฉิมวัย

               จนกระทั่งอายุได้ ๓๐ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๕ บิดา มารดาถึงแก่กรรมหมด หลังจากที่ท่านออกจากบ้านพระศิริธรรมบริรักษ์แล้ว ได้หลบซ่อนตัวและประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่ที่บ้านของตนอยู่ ๑๒ ปี และในระหว่างนี้เองท่านได้ถือโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนกับท่านอาจารย์ ทางไสยศาสตร์ในด้านการอยู่ยงคงกระพันและอื่น ๆ หลังจากที่ได้เล่าเรียนแล้วกลับมามีเรื่องเล่ากันว่า
               
“ครั้งหนึ่งท่านอยากจะทดลองว่าวิชาที่ท่านได้เล่าเรียนมาโดยเฉพาะในด้านอยู่ยงคงกระพันมีความเป็นจริงอย่างไร ท่านจึงวางแผนเพื่อปล้นบ้านคฤหบดีท่านหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช โดยได้บอกกล่าวให้เพื่อน ๆ รู้ เพื่อจะได้ให้ข่าวรั่วไหลและคฤหบดีท่านนั้นจะได้เตรียมรับมือไว้รับให้พร้อม เมื่อถึงเวลาคืนเดือนมืด ท่านก็ลงมือปฏิบัติการเดี่ยว ลูกน้องพรรคพวกของคฤหบดีซึ่งได้เตรียใมตัวไว้พร้อมแลว จึงเกิดการไล่ฟันรับแทง ครั้นจวนตัวเข้าและประกบอกับตัวท่านเห็นบ่อน้ำแห่งหนึ่งเป็นเงาตะคุ่มอยู่กางทุ่งนา ท่านจึงกระโดดลงไปซ่อนตัวในบ่อน้ำนั้น เมื่อพรรคพวกของคฤหบดีซึ่งไล่ตามมาเห้นเข้าเช่นนั้น ต่างก็พุ่งอาวุธต่าง ๆ อันแหลมคมลงไปในบ่อหวังจะฆ่าให้ตาย และเมื่อทุกคนต่างก็คิดว่าท่านตายแล้ว จึงชวนกันกลับโดยตั้งใจว่าเช่าวันรุ่งขึ้นจึงจะมาดูศพ เมื่อท่านเห็นว่าสงบเสียงคนแล้วท่านก็ขึ้นมาจากบ่อน้ำกลับบ้าน โดยที่อาวุธทั้งหลายนั้นไม่สามารถจะชำแรกผ่านผิวกายและเรียกเลือดจากผิวกายของท่านได้เลย”
               
ส่วนวิชาล่องหน หายตัว กำบังกาย ได้เล่าว่า สมัยนั้น ในเมืองนครศรีธรรมราช มีการเปิดโรงบ่อนเบี้ยถั่วโปกันมาก และท่านอยากจะลองวิชานี้ โดยตั้งใจว่าจะหายตัวแล้วไปกวาดเอาเงินหน้าผู้เป็นเจ้ามือถั่วโป เมื่อท่านคิดดังนั้นแล้ว พอถึงเวลาท่านก็เอาผ้าขาวม้ามาบริกรรมเวทมนต์ แล้วนำผ้านั้นโพกศีรษะเข้าไปกวาดเงินดังกล่าว เป็นเหตุให้ความโกลาหลเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสามารถมองเห็นและจับตัวท่านได้ ทิ้งความฉงนสนเท่ห์ไว้แก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้นเสมอมา
               
ครั้นเมื่ออายุท่านได้ ๔๒ ปี หรือประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านเกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้าน จึงตัดสินใจออกเดินทางจากบ้านเพื่อจะไปเยี่ยมน้องชายซึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร พอท่านเดินทางมาได้เพียงแค่ถึงบ้านดอน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เกิดเจ็บป่วยลงอย่างกระทันหัน จนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีก จึงได้เข้าไปขอพักอาศัยและรักษาตัวอยู่กับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทรเยียวยารักษาจนกระทั่งหายป่วยเป็นปกติดีแล้วท่านก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงได้เปลี่ยนใจไม่ไปเยี่ยมน้องชายที่กรุงเทพฯ และได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายมหานิกายในเวลาต่อมาในปีนั้นเอง

บรรพชาอุปสมบท

               เมื่ออายุได้ ๔๒ ปีประมาณ พ.ศ.๒๔๓๗ ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ วัดกลาง บ้านดอน โดยมี พระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าอาวาสวัดกลาง ตำบลตลาด อำเภอเมือง ฯจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกากล่อม วัดโพธิ์ไทรงาม (หรือวัดโพธาวาส ในปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร บ้านดอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์, ได้รับฉายาว่า อินฺทโชติ ซึ่งแปลว่า ผู้รุ่งเรืองดุจพระอินทร์ (บางท่านกล่าวว่าได้รับฉายาว่า อินฺทโชโต) ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่กับ พระแดง เจ้าอาวาสวัดไทร เป็นเวลาถึง ๒ พรรษา


พระเหรียญ หลวงพ่อเพชร วัดวชิรประดิษฐ์ เหรียญรุ่นแรก


พระเหรียญ หลวงพ่อเพชร วัดวชิรประดิษฐ์ เหรียญรุ่น ๓

พระเหรียญปั้ม รูปไข่ เนื้อทองแดง รุ่น ๓ พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)

ชีวิตและผลงานหลังจากที่ท่านบวชแล้ว

               ในขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดไทร บ้านดอน ท่านหลวงพ่อเพชร ได้สร้างพระพุทธรูปสำหรับประจำไว้ที่วัด จำนวน ๓ องค์ และได้ช่วยเหลือปรับปรุงพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าพุทธบริษัทโดยทั่วไป
               
พ.ศ. ๒๔๓๙ ชาวบางกุ้งได้นิมนต์ท่านไปอยู่ที่ วัดท่าทองใหม่ ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านได้จัดการปลูกสร้างกุฎี วิหาร โรงอุโบสถ ได้สำเร็จเป็นหลักฐานแล้ว ได้จัดการผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑
               
ในครั้งนั้น นายแก้ว รัตนมุสิก อดีตมรรคนายก,นางแย้ม เมืองน้อย อุบาสิกาพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนบ้านเฉงอะ ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่บริเวณที่เป็นวัดวชิรประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ซึ่งในสมัยก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้มีหลวงพ่อเกลื้อม, หลวงพ่อพลับ, และหลวงพ่อนุ้ย ตามลำดับ ซึ่งเป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสีผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ได้เดินธุดงค์จากมณฑลนครศรีธรรมราชได้มาปักกรดพักแรมในพื้นที่นี้ซึ่งมีสภาพเป็นที่ลุ่ม มีปูแสมหรือปูเปรี้ยวอาศัยอยู่ชุกชุมมาก และบางส่วนก็เป็นที่ดอนป่าไม้ตะเคียนทอง จนชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันจนติดปากในสมัยที่พระพระธุดงค์มาอาศัยอยู่นั้นว่า “วัดดอนเปี้ยว”บ้าง, “วัดดอนตะเคียน”บ้าง, “วัดบ่อตะเคียน”บ้าง, ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีฐานะเป็นวัด สมควรที่จะจัดหาและนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ ความสามารถมาสร้างให้พื้น ที่ดังกล่าวนั้นให้เป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
 
ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ชาวบ้านเฉงอะนำโดย นายแก้ว รัตนมุสิก อดีตมรรคนายก,นางแย้ม เมืองน้อย อดีตอุบาสิกา ซึ่งเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่านจึงได้พากันนิมนต์ท่านหลวงพ่อเพชร จากวัดท่าทองใหม่ ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปอยู่ที่วัดวชิรประดิษฐ์(ขณะนั้นเรียกว่า วัดดอนตะเคียน) ท่านหลวงพ่อเพชร ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้วัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับจนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและนิยมยกย่องของชาวบ้านเป็นอันมาก
               
พ.ศ. ๒๔๔๒ พระเพชร อินฺทโชติ หรือ หลวงพ่อเพชร ได้มาอยู่ประจำที่ดอนตะเคียน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฐานะเป็นวัด เป็นเพียงแต่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “วัด” ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น ในปีแรกที่ท่านเข้ามาอยู่ที่ดอนตะเคียนนี้ ท่านได้ปรับปรุงบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งคือบริเวณส่วนหน้าของวัดวชิรประดิษฐ์ในปัจจุบัน ตั้งแต่บริเวณหน้าอาคารเอนกประสงค์ของโรงเรียนวัดวชิรประดิษฐ์ไปทางทิศตะวันตกจรดตลาดบ้านเฉงอะ ให้เป็นบริเวณวัดเป็นการชั่วคราว เพราะท่านพิจารณาเห็นว่าพื้นที่ส่วนอื่นซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของวัดเป็นที่ลุ่มลึก และมีลำคลองไหลผ่าน เป็นการยากลำบากต่อการปรับปรุงพื้นที่ในสมัยนั้นให้ใช้ประโยชน์ได้ ในขั้นแรกของการพัฒนาปรับปรุงดังกล่าว ท่านได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ไว้ทั้ง ๔ มุมของวัด พร้อมบ่อน้ำสามมุมอีก ๓ บ่อ ทั้งนี้เพื่อจะได้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ของชาวบ้านซึ่งกำลังประสบมาเป็นเวลานานให้หมดสิ้นไป และท่านยังได้นำดินที่ขุดได้นั้นไปถมบริเวณส่วนที่ลุ่มโดยทั่วไปให้สม่ำเสมอและใช้เป็นพื้นที่ปลูกสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของวัด และอำนวยความสะดวกสบายแก่พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาบำเพ็ญบุญกุศลในวัด และในปีต่อ ๆ มาท่านก็ได้ทำการก่อสร้างกุฏิ ศาลาโรงธรรม โรงฉัน ฌาปนสถาน และอุโบสถ
                มีเรื่องเล่ากันว่า “ในขณะที่ท่านกำลังทำการยกเสาเอกอุโบสถ ซึ่งเป็นเสาไม้ตำเสาขนาดใหญ่ เหลากลมตกแต่งเรียบร้อย เสาไม้ต้นนั้นได้ล้มลงมาทับขาของท่าน แต่ท่านกลับไม่ได้รับอันตรายรุนแรงอะไร นอกจากเพียงเดินเหิรขาเป๋เล็กน้อยเท่านั้นเอง” นี่ก็นับว่าเป็นอภินิหารของท่านประการหนึ่ง ต่อจากที่ท่านได้ประสบมาแล้วครั้งหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น
               
พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีฐานะเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฏหมาย โดยมีชื่อว่า “วัดวชิรประดิษฐ์ ซึ่งหมายความว่า วัดที่ท่านหลวงพ่อเพชรเป็นผู้สร้างขึ้น” ท่านได้ดำเนินการจัดการขอวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และท่านยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ และอุโบสถก็ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยในปีเดียวกันนี้
               
นอกจากท่านหลวงพ่อเพชรจะเป็นพระนักพัฒนาแล้ว ในด้านการศึกษาท่านยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเปิดสอนหนังสือไทยขึ้น โดยจัดให้บุตรหลานทั้งชายและหญิงของชาวบ้านเฉงอะและบ้านใกล้เคียงได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนวัด โดยท่านได้จัดให้ใช้กุฏิของวัดเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนชั่วคราว พร้อมทั้งจัดสร้างวัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ที่จำเป็นให้อย่างครบชุด นอกจากนี้ท่านยังได้จัดหาครูเข้าสอนโดยให้ผู้ปกครองของนักเรียนช่วยกันทำงานให้ครูเป็นค่าตอบแทนคนละ ๑ วันต่อเดือน
               
และเมื่อมีมนักเรียนมาเข้ารับการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น ท่านจึงได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นอาคารถาวรแบบยกพื้น พร้อมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ ครบชุด และยังได้ขออนุญาตตั้งให้เป็นโรงเรียนประชาบาลอย่างเป็นทางการโดยมี นายพัฒน์ กาญจนประทุม ธรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ศึกษาธิการจังหวัด) มาเป็นผู้ประกอบพิธีเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๕๐ และให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวชิราวิทยานุกูล” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ ท่านหลวงพ่อเพชร อินฺทโชติ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง
               
พ.ศ.๒๔๕๓ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์
               
พ.ศ.๒๔๕๙ หลวงศรีสุพรรณดิษฐ นายอำเภอกาญจนดิษฐ์กับพวก ได้พิจารณาเห็นว่าในเวลานั้นวัดกำแพง(ซึ่งก็คือวัดกาญจนารามในปัจจุบันนี้)ได้ทรุดโทรมลงมากจึงได้นิมนต์ท่านพระครูเพชรให้ไปอยู่เพื่อจะได้ช่วยดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ ท่านก็ตกลงรับและบอกว่าเมื่อ ได้จัดบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะลากลับ ซึ่งต่างก็ตกลงกัน ท่านจึงได้มอบให้ พระขำ อานนฺโท เป็นผู้รักษาการแทนในวัดวชิรประดิษฐ์ ส่วนตัวท่านเองก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดกำแพง(วัดกาญจนาราม) โดยได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกำแพงเป็นเวลา ๓ ปี จึงได้ลากลับไปอยู่ที่วัดวชิรประดิษฐ์ตามเดิม
               
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๖๐ (ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปี ชวด) ณ วัดสนธิ์ ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านได้นั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทแก่ สามเณรชม ทวดสิญจน์ วัดท่าไทร โดยมีพระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระปลัดล้อม (ไม่ทราบฉายา) นามสกุล บุญชู รองเจ้าอาวาสวัดท่าไทร ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีพระอนุสาวนาจารย์ชื่อ พระอธิการยิ้ม (ไม่ทราบฉายา และวัด) โดยให้ฉายาว่า คุณาราโม เมื่ออุปสมบทเสร็จจึงเป็น พระชม คุณาราโม (ต่อมาภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูดิตถารามคณาศัย วัดท่าไทร)
               
พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านหลวงพ่อเพชรได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูประกาศิตธรรมคุณ (เพชร อินฺทโชติ)
               
พ.ศ. ๒๔๖๔ กระทรวงธรรมการ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา เกณฑ์บังคับเด็กเข้าเรียน โรงเรียนวชิราวิทยานุกูล แห่งนี้จึงเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ในปัจจุบันก็คือ โรงเรียนวัดวชิรประดิษฐ์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาตินี่เอง


เหรียญปั้ม เนื้ออัลปาก้า พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)
(แจกแม่ครัว)


รูปเหมือน พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร)
ซึ่งถ่ายในระยะใกล้
จะสามารถเห็นแผ่นทองคำเปลว
ที่คณะศิษยานุศิษย์
และผู้มีจิตศรัทธา
มาสักการะอยู่เป็นประจำ


ชีวิตในปัจฉิมวัย

               พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ท่านแก่ชราลงมาก จนไม่สามารถเดินทางออกนอกสถานที่เพื่อประกอบศาสนกิจได้ คณะสงฆ์ก็ได้ยกท่านเป็นกิตติมศักดิ์ และในปีเดียวกันนี้เองท่านได้สร้างพระปฏิมากร(พระพุทธรูป) จำนวน ๑ องค์ หล่อด้วยเงินเหรียญสยามเป็นเงินที่ใช้หล่อจำนวน๒๔๗๗ บาท เท่าปี พ.ศ. เสร็จแล้วเก็บไว้ประจำที่วัด ซึ่งต่อมาคนทั้งหลายเรียกชื่อพระปฏิมา(พระพุทธรูป)องค์นี้ว่า “พระเงิน” ตราบเท่าทุกวันนี้
               
พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นระยะบั้นปลายชีวิตของท่าน ด้วยเหตุที่ท่านชราภาพลงมากและอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ปีก่อน ๆ ได้อาการทรุดหนักลงจนถึงกับลุกไปไหนไม่ได้ ในระยะนี้ท่านได้บริจาคเงินจำนวน ๑,๑๐๐ บาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่มากมายในสมัยนั้น สมบทกับรัฐบาลสร้างอาคารเรียนแบบ ค. ขนาด ๔ ห้องเรียน โรงเรียนประชาบาลบ้านเฉงอะ (โรงเรียนวัดวชิรประดิษฐ์ในปัจจุบัน) ซึ่งส่วนราชการจัดสรรเงินงบประมาณโรงเรียนประถมศึกษาแห่งนี้ไม่เพียงพอ จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยและเปิดดำเนินการในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๐
               
อาการอาพาธของท่านก็ได้ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ จนถึงกับฉันน้ำและอาหารไม่ได้ และต่อมาท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐ เวลา ๑๓.๐๕ น.สิริรวมอายุได้ ๘๕ ปี ๔๒ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลศพเป็นเวลาถึง ๓ วัน แล้วเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน ตามประเพณีและได้จัดให้มีการสวดพระพุทธมนต์(สวดศพ)ทุกวันธรรมสวนะ(วันพระ) แล้วได้จัดให้มีการพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๑ ณ วัดวชิรประดิษฐ์
               
อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ คณะศิษยานุศิษย์นำโดย พระครูกัลยานุวัตร วัดวชริประดิษฐ์ ได้ร่วมสร้างรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริงของท่าน ไว้เป็นอนุสรณ์เครื่องระลึกถึงและสักการะบูชา และได้จัดให้มีงานฉลองรูปหล่อของท่านอย่างเอิกเกริกในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๑ หลังจากที่ท่านพระครูปกาศิตธรรมคุณได้มรณภาพไปได้ ๒๑ ปี



ล๊อกเก็ต รูปหลวงพ่อเพชร ปี พ.ศ. ๒๔๘๐

คุณธรรมที่อนุชนควรถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

               พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร อินฺทโชติ) ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย เพรียบพร้อมด้วยสีลาจารวัตรและพรหมวิหารธรรม มีจิตใจที่โอบอ้อมอารีย์ มีเมตตากรุณาชอบให้การช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นรรณะ ท่านเป็นคนพูดจริงทำจริง พูดเช่นใดก็มักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ ท่านเป็นพระเถระนักพัฒนา ซึ่งไม่ว่าท่านจะไปอยู่จำพรรษาในที่แห่งใดก็ตาม ท่านก็จะชักชวน ชักนำ และเป็นผู้นำในการดำเนินการพัฒนาวัดนั้น ที่นั้นให้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือ ท่านเป็นพระเถระที่เอาจริงเอาจังในด้านการเทศนา แนะนำ สั่งสอนประชาชนทั่วไปให้ตั้งมั่นในคุณงามความดี และให้การสง เคราะห์ประชาชนพุทธบริษัทให้มีความอยู่ดีกินดีและตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม มีความสันติสุข ซึ่งท่านได้ถือปฏิบัติเป็นหน้าที่ที่สำคัญตลอดชีวิต จนเป็นที่ศรัทธาเคารพ นับถือ สักการะ บูชาของคนทั่วไปทั้งที่อยู่ในที่ใกล้และที่ไกล และบัดนี้ถึงแม้ว่าร่างกายของท่านจะได้สูญสลายไปเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีและจริยาวัตรปฏิบัติของท่านก็ญังคงปรากฏติดตา ตรึงใจและเป็นที่ยก ย่องนับถือ สักการะบูชาของประชาชนพุทธบริษัททั่วไปตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

----------------------

รวบรวมและเรียบเรียงโดย
               พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์)
               ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
               พระเปรียญและพระบัณฑิตอาสพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
               เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๖

หมายเหตุ.-
               สำหรับท่านที่มีข้อมูลเพิ่มเติม ต้องการนำเสนอภาพหลวงพ่อเพชรเพิ่มเติม หรือพิจารณาเห็นว่า ข้อมูลตรงไหน จุดใดไม่ถูกต้อง ขอเชิญส่งไปที่ "วัดท่าไทร" หรือส่ง E-Mail ไปที่ webmaster วัดท่าไทร โดยคลิ๊กที่นี่ เพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป


เอกสารประกอบการเรียบเรียง
               กัลยาณุวัตร,พระครู. กัลยาณธรรมานุสรณ์. (ฉบับพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองรูปหล่อพระครูปกาศิตธรรมคุณ), โรงพิมพ์รัตนมีศรี, สุราษฎร์ธานี ๒๕๐๑,
               คณะกรรมการจัดงานสรงน้ำหลวงพ่อเพชรและยกช่อฟ้าอุโบสถวัดวชิรประดิษฐ์, ประวัติความเป็นมาของพระครูประกาศิตธรรมคุณ(หลวงพ่อเพชร" ฉบับโรเนียวเย็บเล่มแจกจ่ายเป็นที่ระลึก. พ.ศ. ๒๕๔๐.
               บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,ประวัติพพระครูดิตถารามคณาศัย(พลวงพ่อชม คุณาราโม) วัดท่าไทร,ศูนย์ฝึกอบรมพิมพ์ดีดและคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร,สุราษฎร์ธานี, ๒๕๔๓
               บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา, คู่มืออุบาสกอุบาสิกาวัดท่าไทร, ศูนย์ฝึกอบรมพิมพ์ดีดและคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร, สุราษฎร์ธานี, ๒๕๔๐
               ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, “ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูประกาศิตธรรมคุณ”, ฉบับพิมพ์ที่ โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์(เฮ่งฮั่วฮง), เชิงสะพานเสาชิงช้า, ถนนบำรุงเมือง, พระนคร, พ.ศ. ๒๔๘๑
               ศิษยานุศิษย์วัดวชิรประดิษฐ์,คณะ. โภคทรพย์คำกลอน. (ฉบับพิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูปกาศิตธรรมคุณ, โรงพิมพ์ธรรมทาน, อำเภอไชยา, สุราษฎร์ธานี, พ.ศ. ๒๔๘๑