กิจวัตรประจำวัน
และ
ธุดงควัตรที่ถือปฏิบัติเป็นอาจิณ

ของ
ปลวงปู่มั่น
************

 


 

                ท่านปฏิบัติกิจประจำวันเป็นอาจิณณวัตร เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณณวัตรต่อไปนี้

                เวลาเช้าออกจากกุฏีทำสรีรกิจ คือล้างหน้าบ้วนปากนำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัดแล้วเดินจงกรม พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉันนุ่มห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้วจัดแจงบาตรจีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหารปัจจเวกขณะทำภัตตานุโมทนา คือยถาสัพพีเสร็จแล้วฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเก็บบริขารขึ้นกุฏี ทำสรีรกิจ พักผ่อนเล็กน้อยแล้วลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระสวดมนต์ และพิจารณาธาตุอาหาร - ปฏิกูล - ตังขณิก - อดีตปัจจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร เวลาบ่าย 3-4 โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทินแล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฏี

                เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทะยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดเฟ้นพอสมควรแล้ว ท่านก็เข้าห้องไหว้ พระสวดมนต์นั่งสมาธิแล้วพักนอนประมาณ 4 ชั่วทุ่ม เวลา 3.00 น. ตื่นนอนล้างหน้า บ้วนปากแล้วปฏิบัติกิจอย่างในเวลาเช้าต่อไป

                กิจบางประการ เมื่อมีลูกศิษย์มากและแก่ชราแล้วจึงได้อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณะประเพณีและเป็นสีลวัตร กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณ มิได้เลิกละ ท่านถือคติว่า " เมื่อมีวัตรชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ" ท่านกล่าวว่า " ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้นปลายก็ไม่ดี " ดังคำว่า " ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี " อุปมารูป เปรียบเหมือน " การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ ซึ่งผลดังนี้" ท่านจึงเอาใจใส่ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้เสมอ

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ 5 ประการ

                1. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่มห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วัน อุปสมบทมาตราบกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
                2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
                3. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด
                4. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ

                ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราวที่นับว่าปฎิบัติได้มากก็คืออรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ 25 เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณะวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอึ้งอึง ประชาชนเคารพยำเกรงไม่รบกวน